พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

-๑-
สภาพโลกาภิวัตน์

ก่อนจะไปถึงตัวปรัชญาการศึกษาที่ต้องการจะพูด ก็มาพูดกันถึงสภาพโลกาภิวัตน์บางอย่างเสียก่อน เพื่อจะให้เห็นภาพของเรื่องที่เราเกี่ยวข้องอยู่ และที่เราจะต้องจัดการ ไม่ว่าในทางที่เป็นบวกหรือเป็นลบก็ตาม คือบางอย่างอาจจะต้องแก้ บางอย่างอาจจะต้องส่งเสริมสนับสนุน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เจ้าของบทบาทในการสร้างยุคสมัย

สภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้มีมากมายเหลือเกิน แต่อย่างหนึ่งที่เด่นชัดปฏิเสธไม่ได้ก็คือความเจริญและอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนี้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ใหญ่ที่ได้ครองโลกมาเป็นเวลานานทีเดียว เรียกว่าเป็นศตวรรษๆ แล้ว

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เราถือได้ว่าเป็นปัจจัยตัวเอกในการสร้างยุคสมัย สภาพความเจริญที่ขยายตัวขึ้นมาและเจริญแพร่หลายไปจนกระทั่งเรียกเป็นชื่อยุคสมัยของโลก เริ่มแต่ยุคอุตสาหกรรม ก็เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติมาแล้วก็ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีขึ้นมา เทคโนโลยีนั้นทำให้มนุษย์สร้างสรรค์พัฒนาอุตสาหกรรมได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ไม่สำเร็จ ยุคอุตสาหกรรมสำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันนี้ เราบอกว่าเราเปลี่ยนเป็นยุคที่พ้นจากอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นยุคข่าวสารข้อมูล ก็อีกนั่นแหละ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่เองที่เป็นตัวสร้างยุคสมัยนี้ขึ้น และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นอีก

ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีแท้ๆ ต้องมีเทคโนโลยีพิเศษทีเดียว เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการข่าวสารข้อมูลโดยเฉพาะ ดังที่เรียกกันว่า IT (information technology) เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทเป็นแกนในการสร้างยุคสมัย

ในการสร้างยุคสมัยนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสองอย่างคือ สร้างยุคสมัยขึ้น และทำให้เกิดผลดีหรือผลร้ายของยุคสมัย เราคงไม่ปฏิเสธผลดีเพราะในส่วนที่ดีก็ช่วยได้มาก แต่ข้อที่จะต้องสังเกตก็คือความไม่ครบถ้วน ยุคนี้ก็กำลังมาถึงเวลาที่คนตระหนักรู้ข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อน หรือขีดจำกัด หรือความไม่เพียงพอของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในยุคสมัยหนึ่งเมื่อเริ่มต้นนั้น มนุษย์เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่นำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ มนุษย์ถึงกับฝันเลยทีเดียว ศตวรรษที่ ๑๙ ของคริสต์ศักราชเขาถือว่าเป็นยุค scientism แปลอ่อนๆ ก็ว่ายุคนิยมวิทยาศาสตร์ ถ้าแปลแรงๆ ก็ว่ายุคคลั่งวิทยาศาสตร์ หมายความว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือศตวรรษที่แล้ว เป็นยุคที่มนุษย์มีความฝันเลยทีเดียวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นวิทยาศาสตร์ก็ได้เป็นมาตรฐานตัดสินความจริง พูดสั้นๆ ว่า วิทยาศาสตร์เป็นตัวตัดสินหรือเป็นตราชูทั้งในแง่ของความจริงและความเจริญ

ในแง่ความจริง ศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ ที่เคยศึกษากันมาในอดีต ต้องหันมาใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวตัดสิน วิชาการที่มีมาแต่สมัยสองพันสามพันปีนั้นไม่มีคุณค่าแท้จริงจนกว่าจะนำวิธีวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ เช่น วิชาการทางด้านการปกครอง การเมือง และนิติศาสตร์ มีมาสองพันกว่าปีแล้ว แต่นักวิชาการได้มาตั้งมาตรฐานวิชาการขึ้นใหม่ เรียกว่าวิชาสังคมศาสตร์ พวกวิชาการเมือง วิชาการปกครองสมัยก่อนที่มีมาตั้งสองพันปีนั้น เพราะเหตุที่ไม่ได้เคยใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถเข้าเป็นสังคมศาสตร์ได้

มนุษย์ได้เอาวิธีวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับความจริงทางวัตถุมาเป็นมาตรฐานวัดวิชาการทางสังคมด้วย ถึงยุคนี้วิชาการต่างๆ อันไหนจะภูมิใจว่าตนเป็นวิชาการที่ดีที่จริงจะต้องสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีวิทยาศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ก็บอกว่าใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ จึงได้เป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยาก็บอกว่าฉันก็ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ วิชาการอะไรจะดี จะจริง ต้องเอาวิทยาศาสตร์ โดยวิธีการวิทยาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์วัด ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ วิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมสูงสุด จนกระทั่งใช้เป็นมาตรฐานวัดความจริง และเป็นความหวังความใฝ่ฝันของมนุษย์ว่าจะทำให้มนุษย์ประสบความสุขความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปัจจุบันนี้ ความฝันอย่างที่ว่านั้นได้มาถึงจุดที่เรียกว่าสลาย โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความฝันกลายเป็นความผิดหวัง จนกระทั่งมีมนุษย์บางกลุ่มในประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเทคโนโลยีเป็นต้น อย่างน้อยก็ถือว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สมบูรณ์ แล้วก็มองในแง่ร้ายว่ามันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เช่น ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติปัจจุบัน ที่อาจจะนำมวลมนุษย์ไปสู่ความพินาศย่อยยับ

นี่ก็เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หมายความว่า แม้แต่ในเรื่องของความเป็นโลกาภิวัตน์ก็มีความเปลี่ยนแปลงในคุณค่าเป็นต้น ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน หรืออย่างน้อยในการพัฒนาเราจะเห็นว่าขณะนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว การพัฒนาโลกในยุคที่ผ่านมานั้น ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเอก โดยมุ่งความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เรียกว่าพัฒนามุ่งความสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี้คือสภาพการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา แต่เวลานี้องค์การโลกคือสหประชาชาติก็ประกาศว่า การพัฒนาแบบนี้ผิด ดังที่ได้ประกาศทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาแบบใหม่ ซึ่งหลายท่านก็คงได้ทราบแล้วว่า ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๓ จนถึง ๒๕๔๓ ซึ่งรวมทั้งขณะนี้เป็นทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติโดย UNESCO ได้ประกาศแถลงว่า การพัฒนาที่ผ่านมานั้นมีความบกพร่องเสียหายมากมายจะดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะมุ่งเศรษฐกิจโดยบทบาทของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกติเตียนรุนแรง แล้วก็ให้มีการพัฒนาแบบใหม่ที่อาศัยบทบาทของวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ โดยถือว่าต้องให้มีการพัฒนาที่มีองค์ประกอบครบถ้วนพร้อมสมบูรณ์ ไม่ใช่เอาด้านเดียว อย่างน้อยก็เป็นพัฒนาที่มนุษย์เกิดความตระหนักรู้ว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่อง ก็เลยต้องพัฒนาแบบองค์รวม เวลานี้คำว่า องค์รวม ก็มีความสำคัญได้รับความนิยมพูดกันทั่วไป

ในระยะใกล้เคียงกันนั้น (พ.ศ. ๒๕๒๙) คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่สหประชาชาติได้ตั้งขึ้น ก็ได้แถลงในทำนองเดียวกันว่า การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ผิดพลาด ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม จะนำไปสู่ความหายนะของมนุษยชาติ เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และได้เสนอแนวคิดใหม่ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ที่ให้เศรษฐกิจเจริญได้ โดยสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี

บัดนี้ การพัฒนาแนวใหม่ที่เลิกเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่หันมาให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน โดยถือคนเป็นแกนกลางการพัฒนา ได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป รวมทั้งประเทศไทยที่เน้นการพัฒนาแนวนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่กำลังวางกันใหม่ คือ ฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๕

ในยุคที่ผ่านมา เราเรียกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คือโดยหลักการถือว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มุ่งหาความจริงแท้ๆ มุ่งหาแต่ตัวความรู้ไม่เกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของมนุษย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้เกิดความสำนึกรู้ขึ้นมาเยอะว่า ที่แท้จริงวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่จะบริสุทธิ์เท่าไร เพราะการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มีจุดหมายอยู่ในจิตใจของมนุษย์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของภาวะที่เป็นอัตวิสัย หรือเป็น subjective คือมนุษย์มีจุดมุ่งหมายในการสนองความต้องการที่อยากรู้ไม่ใช่เพียงเพื่อความรู้ แต่มีความมุ่งประสงค์ของตนว่าเพื่อเอามาใช้ทำอะไร ดังที่ปรากฏว่าวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานั้นเป็นไปในเชิงรับใช้อุตสาหกรรม คือสนองความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม มีทิศทางที่ถูกกำหนด ไม่ใช่การแสวงหาความรู้แบบใฝ่รู้บริสุทธิ์อย่างไอน์สไตน์ว่าอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่า อุตสาหกรรมต้องการอะไร วิทยาศาสตร์ก็ไปค้นคว้าในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นก็จึงไม่มีความบริสุทธิ์โดยสมบูรณ์ อย่างนี้เป็นต้น เวลานี้ก็กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ถูกตีมาก แต่อย่างน้อยวิทยาศาสตร์ก็มีข้อดีที่ทำให้มนุษย์มีความคิดเป็นเหตุผลมากขึ้น รู้จักใช้สติปัญญา ไม่หลงเชื่ออะไรงมงาย อันนี้เป็นลักษณะที่ดี

แต่ในสังคมที่กำลังพัฒนานั้น เพราะเหตุที่ตนเองไม่ได้สร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาเอง เวลาได้รับอิทธิพลความเจริญของวิทยาศาสตร์ก็จะได้รับมาพร้อมกับเทคโนโลยี หลายสังคมรู้จักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยรู้จักเทคโนโลยีก่อน และจุดสนใจไปอยู่ที่เทคโนโลยี แทนที่จะไปอยู่ที่วิทยาศาสตร์

ในประเทศที่เจริญโดยพัฒนาเองนั้น จุดเริ่มเขาอยู่ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งมาเป็นปัจจัยในการสร้างเทคโนโลยี แต่ของเรากลับตรงกันข้าม ไปเอาเทคโนโลยีมาเป็นจุดเด่นจนกระทั่งคนในสังคมที่กำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเอาเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมที่กำลังพัฒนา ฉะนั้นอย่าพูดถึงจะไปเข้าใจความบกพร่อง จุดอ่อน และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์เลย แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าจะแก้ไขปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์โดยรู้จักที่จะจัดการกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ ก็ต้องรู้จักแยกได้ด้วย ถ้าแยกไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร

ทีนี้ เมื่อแยกไม่ได้ก็จะมีปัญหาขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าไปมีอิทธิพลในวิถีชีวิตของคนในสังคม ก็เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา เมื่อเป็นวัฒนธรรมแล้วก็เกิดแยกเป็นสองส่วน คือมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ กับวัฒนธรรมเทคโนโลยี ปรากฏว่าคนในสังคมหลายสังคม ไม่รู้จักว่าอันไหนเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ อันไหนเป็นวัฒนธรรมเทคโนโลยี และเมื่อแยกไม่ถูก แล้วเกิดไปเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเทคโนโลยีเข้าแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะว่าสิ่งที่ต้องการที่จะสร้างสรรค์สังคมได้อันเป็นส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของวิทยาศาสตร์นั้นก็คือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร คือการที่มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยความรู้คิด ความรู้จักใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่าย ไม่หลงงมงาย ไม่ได้ฟังข่าวและตื่นข่าวไปง่ายๆ แต่เป็นคนที่มีจิตใจใฝ่รู้ มีความรู้จักคิดเหตุผลและนิยมเหตุผล เพราะฉะนั้น คนในสังคมแบบนี้ ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบนี้ ก็จะเป็นคนที่รู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

สิ่งที่คู่กันกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็คือวัฒนธรรมเทคโนโลยี วัฒนธรรมเทคโนโลยีนั้นมักมีความโน้มเอียงไปในเชิงของการบริโภค เพราะเป็นเรื่องของสิ่งที่มาประยุกต์ใช้ เราอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและทำกิจการงาน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ จนวิถีชีวิตส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และอาจกลายเป็นมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยเทคโนโลยี

ระหว่างสองอย่างนี้จะต้องแยกให้ออกว่า ในยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ เราอยู่ในวัฒนธรรมไหนแน่ ถ้าเราข้ามขั้น ไปมีแต่วัฒนธรรมเทคโนโลยีโดยไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาศาสตร์ ก็คือเราแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว ก่อนที่จะก้าวไปสู่การที่จะมีปรัชญาการศึกษาที่แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ได้ ขอให้วิเคราะห์สังคมไทยของเราก่อนว่าเราเป็นอย่างไร เรามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์หรือวัฒนธรรมเทคโนโลยี เพราะดังได้บอกแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้เป็นตัวสร้างยุคสมัย ถ้าเราไม่ได้มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เราก็เสียฐานที่สำคัญไป หมายความว่าแม้แต่วิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้นมานี้เรายังเข้าไม่ถึงเลย นี่เป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอพิจารณาก่อน ยังไม่ถึงเรื่องปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาการศึกษา จะต้องเกี่ยวข้องลงไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตและแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้หยั่งได้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก่ออิทธิพลและผลในทางร้ายและดีต่อชีวิตและสังคม ต่อโลกมนุษย์และโลกธรรมชาติ พร้อมทั้งให้ปัญญาที่จะทำให้เห็นทางออกหรือแก้ปัญหาและทำให้เกิดผลดีได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพูดต่อไปข้างหน้า

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง