พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาความสุขโดยพัฒนาความต้องการ

ทีนี้ต่อไป จะขอพูดเรื่องที่พูดมาครั้งหนึ่งแล้วคือ เมื่อกี้ได้พูดโยงถึงจริยธรรมแห่งความสุข และได้บอกว่าการพัฒนาคนนั้นเป็นกระบวนการคืบเคลื่อน (dynamic) เมื่อเราพัฒนาคน คนจะเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ความสุขก็มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความหมาย ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุข และแหล่งหรือช่องทางแห่งความสุขก็เปลี่ยนแปลงไปหมด

ความสุขนั้นมีสองแบบ คือ
๑. ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ
๒. ความสุขที่ไม่มีความต้องการจะต้องสนอง

ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ เป็นความสุขที่เราเห็นกันทั่วไป คนมักจะพูดว่าความสุขอยู่ที่ความพอใจ หรือความสุขคือความพอใจ เมื่อพอใจก็สุข ถ้ายังไม่พอใจก็ไม่สุข แต่ตัวที่ทำให้พอใจอยู่ที่ไหน ก็คือการสนองความต้องการ ถ้าเราได้สนองความต้องการเมื่อใด เราก็เกิดความพอใจเมื่อนั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาว่ามนุษย์ได้เพิ่มขยายดีกรีและปริมาณของความต้องการนี้ให้สูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าใจความสุขแบบตายตัว (static) ว่า ความสุขเกิดจากการเสพวัตถุ จึงต้องเพิ่มขยายการเสพวัตถุให้เพิ่มขึ้น ในการพัฒนามนุษย์นั้น ในเมื่อความสุขประเภทที่หนึ่งเกิดจากการสนองความต้องการ การพัฒนาความสุขจึงหมายถึงการพัฒนาความต้องการด้วย

คำว่าพัฒนาความต้องการไม่ใช่หมายความว่าเพิ่มพูนความต้องการ คำว่าพัฒนาในโลกสมัยใหม่ในทางวิชาการ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงความต้องการนั้นในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มปริมาณ คือไม่ใช่ความต้องการอันเดิมนั้นเพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่ว่าพัฒนาได้ คือเปลี่ยนแปลงได้ เวลานี้โลกพัฒนา แต่ถ้ามนุษย์ไม่สามารถพัฒนาความต้องการ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความต้องการนี้ มนุษย์จะขัดแย้งกับความเจริญของโลก และปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ว่า โลกพัฒนา แต่คนไม่พัฒนา ความหมายของการพัฒนามนุษย์นั้นต้องรวมถึงการพัฒนาความต้องการด้วย ถ้าความต้องการไม่เปลี่ยน มนุษย์ต้องแย่แน่ เช่น ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยการสนองความต้องการเสพวัตถุให้มากที่สุด ก็ต้องเกิดความขัดแย้ง ทั้งปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราของการพัฒนาทางวัตถุ เรามีวิธีการในการพัฒนาความต้องการ กล่าวคือ ด้วยการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง ความต้องการก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย ดังตัวอย่างที่ยกมาเมื่อกี้แล้ว

การพัฒนาความต้องการของมนุษย์ ด้วยการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในความต้องการนั้น ขอยกมาให้ฟัง ๓ ตัวอย่าง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง