พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๒ -
กรุยทางสู่ปรัชญาการศึกษาที่แท้

การศึกษาที่แท้จริงบอกแล้วว่าจะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ สภาพที่เป็นโลกาภิวัตน์เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งสิ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามันไปสัมพันธ์ในทางที่สอดคล้องกลมกลืนหรือว่าขัดแย้ง และถ้าขัดแย้งมนุษย์มีความสามารถที่จะทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นความประสานกลมกลืนหรือไม่ การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้เราสามารถทำให้สิ่งที่เป็นความแตกต่างนั้น กลายเป็นความประสานกลมกลืนได้ เพราะสิ่งที่เป็นองค์รวมทั้งหลายก็เกิดจากส่วนประกอบที่แตกต่างกัน และความแตกต่างก็มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ความแตกต่างที่เป็นความขัดแย้ง กับความแตกต่างที่เป็นส่วนเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน

มนุษย์ที่มีการศึกษา มีความสามารถที่จะทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความประสานกลมกลืนด้วยการเป็นสิ่งเติมเต็มซึ่งกันและกัน แม้แต่ตัวมนุษย์เองกับสังคมก็ต้องใช้ความสามารถนี้มาประสาน แต่การพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษาที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้ใช้ศักยภาพไปในทางที่ทำให้เกิดความแตกต่างที่เป็นความขัดแย้งเสียมากกว่า อันนี้ก็เป็นหัวข้อที่เราจะต้องพูดกันต่อไป

สาเหตุของปัญหา ที่ซ่อนอยู่ในสภาพโลกาภิวัตน์

ก่อนจะพูดถึงตัวปรัชญาการศึกษาที่เป็นหลักการใหญ่ ขอพูดถึงจุดเน้นสำหรับยุคสมัย ซึ่งโยงไปถึงตัวสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกาภิวัตน์ต่างๆ สภาพโลกาภิวัตน์ที่เป็นมา ดังที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ได้ก่อให้เกิดปัญหา และมีปัญหาแฝงอยู่ ซึ่งก็ต้องมีเหตุปัจจัยของมัน หรือมีจุดของปัญหาอยู่ในนั้น จึงจะยกตัวอย่างมาให้ดูเพื่อให้เห็นแง่มุมที่เราจะไปแก้ปัญหา โดยที่ว่าสิ่งนี้จะเป็นเครื่องตรวจสอบให้เห็นถึงปรัชญาการศึกษาด้วย แม้ว่าจะยังไม่ถึงตัวหลักการใหญ่ เหตุปัจจัยที่ยอมรับกันมากในปัจจุบันนี้ ก็ดูได้ที่ตัวโลกาภิวัตน์สำคัญๆ อย่างเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย สืบสาวลงไปถึงระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ตลอดจนความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มีเบื้องหลังทั้งสิ้น คือเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งมนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประสบปัญหามาก่อน เมื่อเขาสืบลึกลงไปก็ได้พบเหตุปัจจัย ๒ ชั้น คือ เหตุปัจจัยระดับปฏิบัติการ กับเหตุปัจจัยระดับแนวความคิดหรือตัวที่ทางพระเรียกว่าทิฏฐิ

เหตุปัจจัยในระดับปฏิบัติการนั้นมองไม่ยาก พฤติกรรมของมนุษย์ในการเป็นอยู่ในสังคม เราทำอะไรอย่างไร เช่นเรามีการบริโภคมีการผลิต การบริโภคที่เกินสมควรก็ทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอไป การผลิตก็ทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติแวดล้อม เวลานี้ต้องเข้าใจว่า คำว่า ผลิต นี้คือการทำลายชนิดหนึ่ง การผลิตทุกครั้งคือการทำลาย แต่ก่อนนี้ถือว่าการผลิตดี เป็นการสร้างสรรค์ แต่เดี๋ยวนี้ต้องยอมรับแล้วว่าการผลิตทุกครั้งคือการทำลาย เมื่อมนุษย์ทำการผลิตสิ่งหนึ่งขึ้นมาทางเศรษฐกิจ เขาก็จะต้องทำลายสิ่งที่มีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทำลายโดยตรง และทำลายโดยอ้อม ทำลายโดยอ้อมคืออย่างไร คือเมื่อเอาวัตถุดิบเข้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเราทำลายสิ่งนั้นจากธรรมชาติไปขั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้นในกระบวนการผลิตก็จะเกิดของเสียขึ้นมา เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย ซึ่งเป็นผลเสียโดยอ้อม หรือเป็นการทำลายโดยอ้อมอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเป็นพฤติกรรมที่ทำลายธรรมชาติมาก ทีนี้ก็จะเห็นว่าระบบอุตสาหกรรม ตลอดจนความเจริญทางวิทยาศาสตร์อะไรต่างๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ พฤติกรรมเหล่านี้มองเห็นไม่ยาก พฤติกรรมในการบริโภคและการผลิตนี้เรียกว่าเป็นเหตุปัจจัยในระดับปฏิบัติการ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง