พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการสำคัญบางอย่าง
ที่เป็นแนวทางของการจัดการศึกษา

ทีนี้ก็มาถึงตัวหลัก อย่างไรก็ตาม หลักแต่ละเรื่องนั้นยาวมาก แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะในด้านตัวหลักเคยพูดไว้บ่อย เพราะฉะนั้นแม้จะไม่พูดถึงตัวหลักการก็ได้ ในที่นี้จะพูดถึงหลักการที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ บางอย่าง ซึ่งจะให้เห็นภาพทั่วไปและแนวทางเกี่ยวกับระบบและกระบวนการศึกษาทั้งหมด เช่น บทบาทของการศึกษา

ก) การทำหน้าที่ของครู ที่สนองบทบาทของการศึกษา

การศึกษาแบ่งบทบาทใหญ่ๆ เป็น ๒ ส่วน ครูก็พลอยทำหน้าที่ ๒ ส่วนนั้นด้วย พูดแบบง่ายๆ หน้าที่ ๒ ส่วนคืออะไร

๑. หน้าที่ของสิปปทายก หรือ ศิลปทายก คือ ผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยา หรือถ่ายทอดวิชาการ ฝึกสอนความรู้ความชำนิชำนาญซึ่งมีผลต่อชีวิตของบุคคล ทำให้เขามีเครื่องมือไปเลี้ยงชีพ ทำมาหากินได้ และมีผลต่อสังคมโดยเป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดวัฒนธรรมและรักษาส่งเสริมความเจริญงอกงามของสังคม เช่นสะสมวิชาการตลอดจนอารยธรรมทั้งหมดให้แก่สังคม ครูทำหน้าที่นี้ก็เป็นการสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งแก่บุคคลและแก่สังคม

๒. หน้าที่ในการเป็นปัจจัยอุดหนุนเกื้อกูลให้บุคคลพัฒนาชีวิตของเขา หรือช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเขา หน้าที่ตามบทบาทที่สองนี้คือหน้าที่ของกัลยาณมิตร คือหน้าที่ที่ช่วยให้คนพัฒนาคุณค่าที่แท้แห่งความเป็นมนุษย์ของเขา พูดง่ายๆ ว่าทำให้คนกลายเป็นบัณฑิตตามศัพท์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

การทำให้คนเป็นบัณฑิตหมายความว่า ช่วยให้เขาพัฒนาตัวขึ้นไปเป็นคนที่มีพฤติกรรม จิตใจและปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว เป็นคนที่บรรลุถึงความดีงามของชีวิต เป็นคนที่มีสติปัญญาความสามารถมีคุณธรรมต่างๆ จนสามารถดำเนินชีวิตด้วยปัญญา พูดสั้นๆ ว่า หน้าที่กัลยาณมิตร คือสร้างบัณฑิต หรือทำให้คนพัฒนาขึ้นไปเป็นบัณฑิต จนกระทั่งเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นคำแปลหรือความหมายตามรูปศัพท์ของคำว่าบัณฑิต

ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาคือ บุคคลนั้นพัฒนาจนกระทั่งสามารถเป็นอยู่โดยไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหา ตามธรรมดามนุษย์ปุถุชนต้องอาศัยกิเลสตัณหา เช่น อาศัยความโกรธไว้ต่อสู้ อาศัยความกลัวไว้หนีภัย เป็นต้น มิฉะนั้นจะอยู่ไม่รอดเพราะปัญญายังไม่เพียงพอ แต่พอเราพัฒนาปัญญาสมบูรณ์แล้วมนุษย์ก็ไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหาอีก มนุษย์จึงเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นอิสระด้วยปัญญา และเพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาจึงเป็นบัณฑิต

เมื่อการศึกษามาพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต การศึกษาก็ทำหน้าที่ตามบทบาท ๒ ด้าน คือ
๑. ทำให้คนเป็นบัณฑิต
๒. ให้เครื่องมือแก่บัณฑิต

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต แต่ให้เครื่องมือแก่เขา คนที่ไม่เป็นบัณฑิตอาจนำเครื่องมือไปใช้ในทางร้ายก็ได้ ยิ่งเครื่องมือมีประสิทธิภาพก็ยิ่งทำลายชีวิตและทำลายสังคมได้รุนแรง ดังนั้นการศึกษาที่เน้นไปในทางถ่ายทอดศิลปะ สอนแต่ตัวความรู้ และวิชาชีพ จึงเป็นการศึกษาที่ผิวเผิน ไม่ถึงตัวแก่นของมัน เป็นเพียงการศึกษาที่ให้เครื่องมือเท่านั้น ส่วนการศึกษาที่แท้จริงต้องสอนคนให้เป็นบัณฑิต การทำคนให้เป็นบัณฑิตจะต้องมีการพัฒนาคนตามระบบสัมพันธ์ ๓ ด้าน คือ ต้องพัฒนาคนด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา

ในขั้นต้นๆ แม้แต่การที่จะฝึกวินัยให้สำเร็จก็ต้องอาศัยกระบวนการฝึกที่มีทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา จะสังเกตได้ว่า เด็กจะมีพฤติกรรมอยู่ในวินัยถ้าเขามีความสุข โดยมีความพอใจในการที่จะอยู่หรือประพฤติอยู่ในวินัยนั้น การฝึกวินัยด้วยการพัฒนาพฤติกรรมเคยชินจะเป็นไปพร้อมด้วยความพอใจอ่อนๆ ที่ค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นความติดและยึดถือ การพัฒนาวินัยด้วยการสร้างพฤติกรรมเคยชิน จึงเป็นวิธีการสร้างวินัยแบบพื้นฐานที่สำคัญและได้ผลมาก ถ้าเราทำให้จิตใจมีความสุขในการปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็ยิ่งมั่นคง ยิ่งเมื่อมีปัญญา มีความรู้ เข้าใจมองเห็นคุณค่า เห็นเหตุผลและเห็นประโยชน์ของการอยู่ในวินัย ก็ยิ่งพอใจและมีความสุขในการปฏิบัติตามวินัยนั้นยิ่งขึ้น พฤติกรรมก็ยิ่งมีความมั่นคง นี้เป็นตัวอย่างในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งต้องมีการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านประสานกัน ไม่ใช่ทำแบบแยกส่วนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง การพัฒนาแบบบูรณาการอย่างนี้เรียกว่า ระบบ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อมนุษย์พัฒนาด้วยดีอย่างนี้แล้วก็จะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ บุคคลที่สมบูรณ์ก็จะไปอยู่ในสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นองค์ร่วมที่ช่วยสืบต่อสังคมให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ขอย้ำอีกว่า มนุษย์แต่ละบุคคลในแต่ละชีวิตนั้นสามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนนั้นมีจุดหมายที่มีปลายปิด หมายความว่า ในการพัฒนาคนขึ้นไปนี้ ในชีวิตของบุคคลแต่ละคนที่เกิดมาชาติหนึ่ง เราจะต้องทำให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุด แต่สังคมมนุษย์ไม่เหมือนอย่างนั้น สังคมมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีปลายเปิด หมายความว่าต้องทำเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด สองอย่างนี้ต้องสังเกตถึงความแตกต่าง คือชีวิตคนนี้สามารถทำให้สมบูรณ์ในตัวในชีวิตหนึ่ง แต่สังคมและอารยธรรมไม่มีจุดสมบูรณ์เพราะขึ้นกับกาลเทศะ จะต้องสืบต่อไปเรื่อย

ต่อไปคือความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับบุคคล สังคมที่ดีคือสังคมที่มีสภาพเกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล หรือเป็นปัจจัยแวดล้อมเกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล และบุคคลผู้มีชีวิตที่ดีงามก็เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่บุคคลมีปลายปิดหรือทุกชีวิตควรบรรลุความสมบูรณ์ในตัว ส่วนสังคมนั้นจะต้องเจริญก้าวหน้าเรื่อยไปให้เหมาะดีที่สุดสำหรับกาลเทศะนั้นๆ อันนี้เป็นข้อสำคัญในการศึกษาอย่างหนึ่ง

ข) การประสานประโยชน์ระหว่างชีวิต สังคม และธรรมชาติ

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ จุดหมายของการศึกษา ในขั้นของการดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ร่วมในองค์รวมใหญ่ ซึ่งการศึกษาจะต้องพยายามพัฒนาคนให้เข้าถึงให้ได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ คือจะต้องให้ หนึ่ง บุคคลหรือตัวมนุษย์หมดทั้งชีวิตของเขา (ทั้งกายและใจ) สอง สังคม สาม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เข้ามาประสานประโยชน์กันให้ได้ คือให้อยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลกัน

เวลานี้ปัญหาของมนุษย์มาติดตันที่นี่ว่า ทำอย่างไรจะให้ชีวิต บุคคล สังคม และธรรมชาติแวดล้อม สามอย่างนี้มีผลประโยชน์ไม่ขัดแย้งกัน เพราะเวลานี้ทั้งสามอย่างมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน จนกระทั่งต้องมีจริยธรรมแบบจำใจ เพราะว่าจะอนุรักษ์ธรรมชาติให้อยู่ดีก็ขัดต่อผลประโยชน์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเสพสุขได้เต็มที่ เมื่อไม่สามารถมีความสุขเต็มที่ก็ต้องจำใจยอมยับยั้งตัวเอง ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ดีมนุษย์ก็เสียผลประโยชน์ ถ้าจะให้มนุษย์สุขสมบูรณ์ได้ผลประโยชน์เต็มที่ก็ต้องทำลายธรรมชาติ จะให้มนุษย์แต่ละคนได้เสพสมและสุขสมก็ต้องแก่งแย่งกันก็ทำให้สังคมเดือดร้อน ถ้าจะให้สังคมมีสันติสุขบุคคลก็ต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ แต่ถ้าเราให้มีการศึกษาที่พัฒนามนุษย์ ซึ่งหมายถึงพัฒนาอย่างถูกต้อง การพัฒนามนุษย์นั้นจะย้อนไปในทางที่ทำให้ประสานกลมกลืนกันยิ่งขึ้น เช่นพัฒนาความต้องการให้เขามีความสุขจากการให้ ก็ทำให้ความสุขมาประสานกลมกลืนกัน มีผลดีทั้งต่อชีวิตบุคคลและเกิดผลดีต่อสังคมด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อเราพัฒนาถูกทางแล้วก็ประสานประโยชน์กันทุกอย่าง สิ่งที่ดีต่อชีวิตก็ดีต่อสังคมและดีต่อธรรมชาติ สิ่งที่ดีต่อสังคมก็ดีต่อชีวิตและดีต่อธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีต่อธรรมชาติแวดล้อมก็ดีต่อชีวิตและสังคมด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เมื่อไร ก็เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสามอย่างแล้วมนุษย์ก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน สังคมที่ดีงามก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นภารกิจที่ท้าทายของการศึกษา

ค) การเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ
และจัดตั้งระบบสังคมอย่างสอดคล้อง

ต่อไป เรื่องของหลักการ เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติกับการนำมาใช้ประโยชน์ในสังคมของมนุษย์ หมายความว่า การจัดระบบของสังคมมนุษย์ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงตามกฎธรรมชาติ อันนี้เป็นหลักใหญ่

หลักการทางพุทธศาสนาประกอบด้วยองค์สอง คือธรรมกับวินัย

๑. ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดมันก็เป็นของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น นี้คือความจริงตามธรรมชาติ

๒. วินัย คือเมื่อมนุษย์เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว จะต้องสามารถเอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งเป็นรูปแบบและระบบการต่างๆ ที่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ได้ผลดีสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น

ระบบต่างๆ ในความเป็นอยู่และอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบการต่างๆ ของสังคม ระบบเหล่านี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงของธรรมชาติ จึงจะได้ผลอย่างแท้จริง และเนื่องด้วยความจริงของธรรมชาติมีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียว ระบบต่างๆ ทั้งหมดที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นจึงต้องประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนฐานของความจริงนั้น

โดยนัยนี้ ถ้ามนุษย์จะประสบความสำเร็จ มีชีวิตและสังคมที่ดีงาม ก็ต้อง

๑. รู้ความจริง เข้าถึงธรรม

๒. สามารถเอาความรู้ในตัวธรรมนั้นมาจัดสรรวินัย โดยตั้งเป็นระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ได้อย่างสอดคล้องด้วย

ขอย้ำว่า ความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่ว่า ระบบแบบแผนต่างๆ ทั้งหลายนั้น จะต้องได้ผลสอดคล้องกับธรรมคือความจริงของธรรมชาติ อันนี้เป็นความประสานสอดคล้องในจุดสุดยอด ถ้าทำไม่สำเร็จก็หมายความว่าสังคมมนุษย์จะอยู่ดีไม่ได้ และความประสานประโยชน์ระหว่างองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ ชีวิต สังคม และธรรมชาตินั้น ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ นี้เป็นเรื่องของการศึกษาส่วนที่เป็นหลักใหญ่ๆ แต่ต้องพูดอย่างย่นย่อที่สุด

ง) ลักษณะการดำเนินชีวิตของคนที่บรรลุผลของการศึกษา

นอกจากนั้น ยังมีอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อเราพัฒนามนุษย์ไปแล้ว ก็มีบททดสอบการพัฒนาของมนุษย์อย่างหนึ่ง หลักการนี้ก็สำคัญเหมือนกัน แต่เวลาไม่พอที่จะอธิบาย เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักธรรมง่ายๆ ที่พูดไว้ในพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่มาก คือเรื่องความไม่ประมาท การจะมองให้เห็นนัยของมันว่ามีความสำคัญอย่างไร ขอพูดอย่างง่ายๆ เพราะเวลาก็หมดไปแล้ว

มนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่พัฒนานั้น จะดิ้นรนขวนขวาย ที่เรียกว่า ไม่ประมาท ก็ต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม เช่น เวลาอดอยาก ยากจน แร้นแค้น ถูกภัยอันตรายบีบคั้น หรือมีคนภายนอกจะมาทำอันตราย คนจะดิ้นรนขวนขวายลุกขึ้นมาแข็งขันทำการต่างๆ

ทีนี้ พอมนุษย์ปุถุชนประสบความสำเร็จ อยู่ดีมีความสุข พรั่งพร้อมดี ก็มีความโน้มเอียงที่จะนิ่งเฉย เฉื่อยชา อยู่สบาย นอนเสพสุข มนุษย์จะมีความโน้มเอียงอย่างนั้น อันนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรของความเสื่อมความเจริญในโลกมนุษย์ ความเสื่อมความเจริญของบุคคล ของครอบครัว ของวงศ์ตระกูล ตลอดจนความเสื่อมความเจริญของสังคม และอารยธรรมของมนุษย์ อยู่ภายใต้วงจรอันนี้ คือ เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ไม่ประมาท กระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย ลุกขึ้นมาต่อสู้ทำให้เจริญได้ แต่พอมีความสุขสำเร็จแล้ว ก็นอนเสวยความสุข เพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา แล้วก็เสื่อมลงไป

พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจัดการกับเหตุปัจจัยได้ถูกต้อง เราจะสามารถป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์รักษาความเจริญได้ แต่ข้อสำคัญคือ มนุษย์จะต้องไม่ประมาท หมายความว่า เมื่อสร้างความเจริญขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรจะไม่หลงระเริงมัวเมานอนปล่อยละเลยสิ่งที่ควรทำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เสื่อมลงไปอีก อันนี้คือการพัฒนามนุษย์ที่จะให้มีความไม่ประมาทที่แท้

ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือ การอยู่ด้วยสติปัญญาที่จะทำการเพื่อป้องกันความเสื่อมและสร้างสรรค์ความเจริญตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้ามนุษย์สามารถอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คืออยู่ด้วยสติปัญญาแล้ว มนุษย์จะสามารถรักษาความดีงามความเจริญของชีวิตและสังคมไว้ได้ตลอดไป ไม่จำเป็นต้องเสื่อม

ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นหลักการสำคัญที่พระพุทธเจ้า ยกมาตรัสไว้เป็นปัจฉิมวาจาว่า สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

ความไม่ประมาท คืออยู่ด้วยสติปัญญา คืออย่างไร ก็คือ

ขั้นที่ ๑ ใช้สติคอยตรวจตรา สติหมายถึงระลึก หมายความว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อความอยู่ดี ต่อความเจริญและความเสื่อม สติจะเรียกเอามาหมด สติจะนึกจะระลึกถึงทุกอย่างที่จะมีผลเกี่ยวข้อง สำรวจไปทั่วและเอามาตรวจตรา

ขั้นที่ ๒ ส่งต่อให้ปัญญาพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัย อะไรที่จะก่อผลร้ายก็แก้ไขจัดการ ป้องกัน อะไรที่จะนำมาซึ่งผลดีก็สร้างสรรค์โดยทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น

นี้คือการที่มนุษย์จะสามารถรักษาความเจริญไว้ได้ด้วยความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทเป็นมาตรฐานสำคัญในการที่จะวัดความพัฒนาของมนุษย์ว่าจะมีชีวิตและสังคมที่ดีงาม มีสันติสุข และอิสรภาพได้สำเร็จไหม เป็นการวัดทั้งตัวบุคคลและวัดทั้งสังคมนี้ด้วย ว่าสังคมของเราและมนุษย์นี้จะไปรอดไหม นี้เป็นบทพิสูจน์ขั้นสุดท้ายอันหนึ่ง ถ้ามนุษย์ทำอย่างนี้ได้ มนุษย์ก็จะรักษาความดีงามของชีวิตและสังคมไว้ได้

วันนี้ก็ได้พูดมามากมาย เกินเวลาแล้ว แม้ว่าจะเพิ่งถึงหลักการใหญ่ที่สำคัญเพียงเล็กน้อย ก็เป็นข้อคิดสำหรับยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับนำมาใช้พิจารณาในการที่จะแก้ปัญหาการศึกษา และจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ อาจจะพอเป็นเครื่องประกอบการพิจารณาให้เห็นรูปร่างของปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม โดยยังไม่พูดถึงตัวปรัชญาการศึกษานั้นโดยตรง อาจจะเรียกว่าเป็นการกรุยทางสู่ปรัชญาการศึกษาที่แท้ ก็อนุโมทนาทุกท่าน เพียงเท่านี้ก่อน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง