พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คำนำการจัดพิมพ์หนังสือ

สืบเนื่องจากการที่ ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้จัดสัมมนาเรื่อง “ปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 ควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการเรื่อง “พระธรรมปิฎก : ปราชญ์ทางการศึกษาของไทย” ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2538 เพื่อร่วมแสดงมุทิตาสักการะแด่ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 และเพื่อร่วมกันแสวงหาทางเลือกให้กับปรัชญาการศึกษาของไทย ในภาคเช้าของงานสัมมนา ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษาได้กราบนมัสการพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาในเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่นล้นห้องประชุม หลายๆ ท่านแสดงความสนใจไต่ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดพิมพ์ปาฐกถาของท่านออกเผยแพร่ เนื่องจากปาฐกถาเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ให้แก่นสารแนวคิดที่ลึกซึ้ง “สมสมัย” น่าจะก่อให้เกิดการตรึกตรอง น้อมรับและนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้กราบนมัสการพระธรรมปิฎก ขออนุญาตเป็นผู้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว เพื่อนิสิต นักศึกษาและผู้สนใจจะได้มีตำราทางปรัชญาการศึกษาไทยที่มีคุณค่าไว้ศึกษาค้นคว้าทั้งยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี อดีตอธิการของวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ผู้บุกเบิกแสวงหาแนวทางในการประยุกต์พุทธปรัชญามาเป็นพื้นฐานของการศึกษาไทย

พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกได้อนุญาตให้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว ทั้งยังมีเมตตาปรับปรุงขยายความงานเขียนให้สมบูรณ์ จัดหัวข้อให้อ่านง่ายชัดเจน ตรวจพิสูจน์อักษร และให้คำปรึกษาการจัดพิมพ์หนังสือด้วยความเมตตายิ่ง ในนามของผู้จัดพิมพ์หนังสือ ขอน้อมกราบนมัสการด้วยกตเวทิตาจิต และขอขอบพระคุณ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโ ที่เมตตาพิมพ์งานทั้งหมดด้วยขันติธรรม

(รศ.ดร.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี)
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง