แง่ที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับกรรมยังมีอีกหลายอย่าง เช่น เราจะต้องมองกรรมในแง่ของกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล
กรรมเป็นเรื่องของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาถือหลักการใหญ่ที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเรื่องกรรมก็อยู่ในกฎแห่งเหตุปัจจัยนี้
หลักเหตุปัจจัยในพระพุทธศาสนา ก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาท และกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ลองไปแยกแยะปฏิจจสมุปบาทที่จำแนกเป็นองค์ ๑๒ คู่ ท่านจะสรุปให้เห็นว่า องค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการนั้น ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๓ ส่วน คือ เป็นกิเลส กรรม และวิบาก จะเห็นว่ากรรมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิจจสมุปบาทนั้น คือส่วนที่เรียกว่ากรรมในวงจรที่เรียกว่า ไตรวัฏฏ์ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก
หมวดที่ ๑ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่าเป็นกิเลส
หมวดที่ ๒ สังขาร ภพ เรียกว่าเป็นกรรม
หมวดที่ ๓ คือนอกจากนั้น มีวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ เป็นต้น เรียกว่าเป็นวิบาก มี ๓ ส่วนอย่างนี้
การศึกษาเรื่องกรรม ถ้าจะเอาละเอียดแล้วต้องเข้าไปถึง หลักปฏิจจสมุปบาท ถ้าต้องการพูดเรื่องกรรมให้ชัดเจน ก็หนีไม่พ้นที่จะศึกษาให้ลึกลงไปถึงหลักธรรมใหญ่ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ เพราะที่มาของหลักกรรมอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จะต้องแจกแจงให้เห็นว่าองค์ของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการนั้น มาออกลูกเป็นกิเลส กรรม และวิบากอย่างไร
จากนั้นก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของกิเลส กรรม และวิบาก เช่น คนมีความโลภ เป็นกิเลส เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นแล้ว ก็ไปทำกรรม เช่น ไปลักของเขา ถ้าได้มาสมหวังก็ดีใจมีความสุข เรียกว่าเป็นวิบาก เมื่อเขาจับไม่ได้ก็ยิ่งมีความกำเริบใจอยากได้มากขึ้น ก็เกิดกิเลส โลภมากยิ่งขึ้น ก็ไปทำกรรมลักขโมยอีก เลยเกิดเป็นวงจรกิเลส กรรม วิบาก เรื่อยไป
แต่ถ้าถูกขัด คือโลภ ไปลักของเขา ถูกขัดขวางก็เกิดโทสะ เป็นกิเลส ก็เกิดการต่อสู้กัน ฆ่ากัน ทำร้ายกัน เป็นกรรมขึ้นมาอีก แล้วก็เกิดวิบาก คือเจ็บปวดเดือดร้อน วุ่นวาย เกิดความทุกข์ ซึ่งอาจรวมทั้งถูกจับไป ถูกลงโทษ ดังนี้เป็นต้น
นี้เป็นเรื่องของกิเลส กรรม วิบาก ที่อยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาท คือการที่ต้องมองเรื่องกรรมตามแนวของกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล หรือเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา อันนี้ขอข้ามไปก่อน