หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ประโยชน์ ๓ ประการ

เมื่อพูดแล้วว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ความจริงที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ทุกข์ได้ นำไปสู่จุดหมาย ก็ควรจะพูดถึงประโยชน์และจุดหมายด้วย ลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนาประการหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต หรือหลักการและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมาย ทีนี้ จุดหมายในทางพระพุทธศาสนาเราก็เรียนกันมาว่ามี ๓ ประการ เรียกว่า อัตถะ อัตถะ ๓ ประการ นี้ ถ้าจะแบ่งตามระดับก็คงจะได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ เรียกกันว่า ประโยชน์ปัจจุบัน

๒. สัมปรายิกัตถะ แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า

๓. ปรมัตถ์ หรือ ปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างสูงสุด

ทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ เพราะทิฏฐธัมมะแปลว่า เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ เรื่องที่มองเห็นได้ในแง่กาละ ก็คือปัจจุบัน หรือถ้าพูดในแง่ของเรื่องราวก็คือเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ปรากฏ เรื่องทางวัตถุที่เห็นกันได้ สภาพภายนอก เช่น การมีปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี อะไรต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนี้ ในชีวิตที่มองเห็นๆ กันอยู่ นี้เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาก็สอน ว่าเป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา

สัมปรายิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ที่เลยออกไปหรือต่อออกไป สัมปราย แปลว่า เลยออกไป ก็หมายถึงเบื้องหน้า เลยออกไปไกลๆ ก็คือ ภพหน้า ชาติหน้า จะไปเกิดที่ดีๆ ไม่ไปเกิดที่ชั่วๆ นี่เป็นประโยชน์หรือเป็นจุดหมายขั้นสัมปรายะ หรือถ้าไม่มองไกลมากอย่างนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตในเบื้องหน้าหมายถึงสิ่งที่ลึกเข้าไปทางจิตใจ คือ พ้นจากเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีฐานะ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ชั้นภายนอกแล้วก็มาถึงเรื่องจิตใจ เรื่องคุณธรรมต่างๆ การที่จะมีจิตใจที่สุขสบาย ซึ่งท่านบอกว่าต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธา มีความประพฤติซึ่งทำให้มั่นใจตนเอง มีศีล มีจาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสุตะ มีความรู้ได้เล่าเรียนศึกษาและมีปัญญา มีความเข้าใจรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อะไรพวกนี้ นี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเข้าไปในจิตใจ ซึ่งเมื่อมีแล้วก็เป็นเครื่องรับประกันชีวิตในเบื้องหน้าได้ทีเดียวว่า คติชีวิตจะเป็นไปในทางที่ดี นี้ก็เป็นจุดหมายประการหนึ่งในทางพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทางเสวยมากจนกระทั่งอ้วนอึดอัด พระพุทธเจ้าก็ทรงตักเตือน พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับได้ทูลพระพุทธเจ้าว่าพระองค์นี้ทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ ไม่เฉพาะเรื่องสัมปรายิกัตถะเท่านั้น ทรงอนุเคราะห์แม้แต่ในเรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย

ส่วนปรมัตถะ ก็คือประโยชน์สูงสุด ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือเรื่องนิพพาน หรือความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้น มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส

จุดหมายนี้แบ่งเป็น ๓ อย่าง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ๓ ระดับ ซึ่งอยู่ในวงหรือขอบเขตของพระพุทธศาสนา เป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ได้ระมัดระวังว่าเราจะสอนหรือแสดงหลักการของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องจำกัดเอาอย่างเดียว เมื่อใครพูดถึงเรื่องระดับอื่น ประโยชน์ระดับอื่นแล้ว ไม่ยอมรับเลย บอกว่าอันนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา มิใช่อย่างนั้น พระพุทธศาสนาครอบคลุมได้ทั้ง ๓ ระดับอย่างนี้ อนึ่ง ถ้าหากจะไม่แบ่งในแง่ระดับ จะแบ่งในแง่ประโยชน์ หรือจุดหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นด้านๆ ท่านก็แบ่งไว้อีก บอกว่าประโยชน์มี ๓ อย่าง หรืออัตถะ ๓ อย่าง คือ

๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน

๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น

๓. อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือ ประโยชน์ร่วมกัน

คำสอนประเภทนี้ก็มีเน้นอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น เน้นเรื่องการไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็แน่ละ แถมไม่เบียดเบียนตนอีกด้วย พระพุทธศาสนาย้ำ ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะที่แปลก บางทีเราไม่ได้สังเกต ท่านให้มองตัวเราไม่ใช่ในแง่ตัวตน แต่มองเป็นชีวิตหนึ่งเหมือนกับชีวิตทั้งหลาย ชีวิตคนอื่นเราไม่เบียดเบียนฉันใด ตัวเราในฐานะที่เป็นชีวิตหนึ่งซึ่งใกล้ชิดที่สุด ต้องรับผิดชอบก่อน เราก็ไม่ควรเบียดเบียนเหมือนกัน แม้แต่การจำกัดความ ความเป็นพาลเป็นบัณฑิต อะไรนี้ ท่านก็ให้มองดูที่การเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ต่อจากนั้นก็ขยายออกไปในระดับปรัตถะอย่างกว้าง

เช่น สำหรับพระภิกษุสงฆ์ สำหรับผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คำว่า ‘ปรัตถะ’ นี้ก็จะขยายออกมาในรูปที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย เพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน ซึ่งคติเรื่องประโยชน์สุขแก่พหูชนนี้มากมายเหลือเกินในพระไตรปิฎก เช่นว่า พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้มีอยู่ยั่งยืนเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน พระพุทธเจ้าส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาก็เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน การกระทำเพื่อประโชน์สุขของพหูชนนี้ก็คือ เรื่องปรัตถะในระดับสำหรับผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับสังคม หรือประโยชน์ที่กว้างไกลออกไป นี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดหมาย

ต่อจากนี้ไปในเวลาที่จำกัด อาตมภาพคิดว่าลักษณะอื่นๆ ก็คงจะได้แต่เพียงยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเท่านั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง