หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการสำคัญของวินัย

ถ้ามองอย่างนี้ อาตมภาพว่าจะต้องจับให้ได้ ถึงสาระสำคัญของวินัยว่าได้แก่อะไร จุดสำคัญที่ควรจะมองในแง่ที่เป็นหลักการสำคัญของวินัย คือ

หลักการสำคัญข้อที่ ๑ ความหมายของวินัยนั้นมิใช่เฉพาะระเบียบความประพฤติส่วนตัวเท่านั้น แต่อาจจะพูดสั้นๆ ว่า ได้แก่ ระเบียบชีวิต และระบบสังคมทั้งหมด หรือการจัดสรรสภาพแวดล้อม เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ และกิจการทุกอย่างของชุมชน ถ้าขยายกว้างออกไปก็ได้แก่สังคมทั้งหมด อันนี้เป็นเรื่องของวินัย

ขอข้ามไปถึงหลักการสำคัญข้อที่ ๒ คือ เจตนารมณ์ อาจจะเรียกว่าสารัตถะก็ได้ เจตนารมณ์ของวินัยอย่างหนึ่งที่ท่านย้ำไว้มากในพระไตรปิฎก ก็คือ เรื่องความเคารพในสงฆ์ การถือสงฆ์เป็นใหญ่ การถือกิจการของสงฆ์หรือส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ การรับผิดชอบต่อกิจการเหล่านั้น การเอาใจใส่ในประโยชน์สุขของส่วนรวม

จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ พระพุทธเจ้าเคยบัญญัติว่า ให้พระสงฆ์มาประชุมกันอย่างน้อยทุกกึ่งเดือน การประชุมนั้นเรียกว่าอุโบสถ เพื่อซักซ้อมทบทวนเรื่องวินัย และมีบัญญัติต่อมาเกี่ยวกับเรื่องสังฆกรรมต่างๆ

เมื่อทรงบัญญัติเรื่องการประชุมนี้ครั้งแรก มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระมหากัปปินเถระ ท่านได้มาคิดพิจารณาว่า เอ! พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้มีการประชุม และการประชุมที่เป็นประจำ ก็คือการที่จะมาซักซ้อมตรวจสอบความประพฤติ เราเป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์อยู่แล้ว เราควรจะไปประชุมหรือไม่

พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาพระมหากัปปินเถระถึงที่ท่านอยู่เลย แล้วได้ตรัสว่า ถ้าเธอผู้เป็นพราหมณ์ (ในที่นี้ หมายถึงผู้บริสุทธิ์) ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์ไม่ไปร่วมประชุมแล้ว คนอื่นใครเล่าจะเอาใจใส่ที่จะไปประชุม ฉะนั้น จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ พระอรหันต์จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องที่จะเอาใจใส่ในกิจของสงฆ์นี้ ท่านก็บอกว่าจะต้องไป ท่านผู้บริสุทธิ์นี้แหละจะต้องไปอุโบสถ จะต้องไปร่วมสังฆกรรม

การถือสงฆ์เป็นใหญ่นี้ ได้เป็นประเพณีในพุทธศาสนาสืบมาแม้แต่พระอรหันต์ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งไปเสวยความสุขสงบอยู่ลำพังตลอดเวลา ๗ วัน โดยไม่ต้องฉัน ไม่ต้องทำกิจกรรมอะไร จะมีบุพพกิจอย่างหนึ่งว่า ต้องคำนึงถึงการเรียกหาของสงฆ์ คือ ก่อนที่จะเข้านิโรธสมาบัติ จะต้องคำนึงกำหนดใจไว้ว่า ถ้าหากสงฆ์เรียกหา มีกิจการของส่วนรวมขึ้น จะต้องออกได้ทันที ท่านถือว่า ครุกา สงฺฆสฺส อาณา อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่นัก หรือหนักมาก และในประเพณีพุทธศาสนาสืบมา ก็มีเรื่องราวเช่นนี้ปรากฏให้เห็นเสมอ บันทึกไว้เป็นประวัติก็มี อย่างน้อยก็ ๒ ครั้ง คือ การลงโทษพระอรหันต์ เรียกว่า ‘ทัณฑกรรม’ คือ พระอรหันต์บางองค์ บางคราวท่านหลบไปอยู่ในป่าเขาเสีย เวลาเกิดเรื่องของส่วนรวมแล้วไม่ได้มาร่วม

อย่างเรื่องในมิลินทปัญหาตอนเริ่มต้น ก็จะพบว่า ตอนนั้นพระเจ้ามิลินท์ทรงมีความเก่งกล้าในการโต้ปัญหามาก โต้วาทะ ทำให้นักปราชญ์ในทางศาสนาทั้งหลายมีความหวั่นกลัวและก็แพ้พระเจ้ามิลินท์กันไปเป็นอันมาก พระเจ้ามิลินท์ตอนนั้นเป็นคนนอกศาสนา เมื่อจะมาโต้วาทะในเรื่องศาสนา ก็กระเทือนมาถึงพระพุทธศาสนาด้วย พระสงฆ์ก็ไม่สบายใจ และก็ได้มาประชุมกันเพื่อเฟ้นหาบุคคล ที่มีความสามารถจะไปโต้วาทะกับพระเจ้ามิลินท์ได้ ในการประชุมพิจารณานั้นก็ปรากฏว่า พระอรหันต์บางองค์ไม่ได้มาร่วม ที่ประชุมจึงพิจารณาลงโทษพระอรหันต์นั้น ซึ่งไปอยู่ในป่า ไปเข้าฌาน ไปเข้าสมาบัติเสีย การลงโทษของท่านก็คือมอบหมายงานให้ทำ ซึ่งต้องทำไปจนเสร็จ นี้ตัวอย่างหนึ่ง หรือในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นเดียวกัน พระอุปคุตตเถระ ตอนนั้นท่านก็ไปเข้าฌานสมาบัติอยู่เช่นเดียวกัน ที่ประชุมสงฆ์ก็ลงโทษมอบหมายงานแก่ท่าน

ในบรรดาวัตถุประสงค์ต่างๆ หลายข้อของวินัยนั้น วัตถุประสงค์ที่มาก่อนเป็นข้อต้นๆ ก็คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงาม และเพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ส่วนรวม อันนี้เป็นสาระ เป็นหลักการ เป็นหัวใจสำคัญ เป็นเจตนารมณ์ของพระวินัย ซึ่งถือว่าให้สงฆ์เป็นใหญ่ ต้องมีความเคารพสงฆ์ อันนี้อาตมภาพจะขอผ่านไปก่อน

หลักการสำคัญข้อที่ ๓ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย ในเมื่อธรรมกับวินัยเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา เราอาจจะพูดได้ว่า ธรรมะเป็นส่วนเนื้อหา หรือเป็นหลักการที่เป็นแกนกลาง ส่วนวินัยเป็นภาคปฏิบัติ เป็นวิธีการที่จะมาจัดทำ ลงมือปฏิบัติ ให้ได้ผลตามหลักการ หรือเนื้อหานั้น หรือเอาตัวเนื้อหาคือธรรมนั้น ออกมาจัดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ ให้มันเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้น ในแง่ของธรรมะนั้น เราต้องการจะฝึกคนให้มีคุณภาพ และคนที่มีคุณภาพนั้นก็มาประกอบกันเข้าเป็นสังคมที่ดี มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ดี แต่วินัยเป็นการจัดสภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม จัดชุมชน จัดสังคม จัดระบบ ให้เกื้อกูลแก่การที่จะฝึกคนให้มีคุณภาพเช่นนั้น และเพื่ออำนวยโอกาสให้คนที่มีคุณภาพดีเช่นนั้น สามารถก้าวหน้าต่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงยิ่งขึ้นในทางธรรม

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง