หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วินัยเป็นเครื่องมือของธรรม

ฉะนั้น ธรรมกับวินัยนี้เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยแก่กันและกัน เราอาจจะกล่าวว่า วินัยเป็นเครื่องมือของธรรม ที่จะเอาหลักการของธรรมนั้นมาจัดสรรให้เกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้น และเป็นที่แสดงออกของธรรม คือ ธรรมที่สอนกันนี้ก็อาจจะพูดไปปาวๆ แต่จะออกมาสู่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตก็จะออกมาในรูปที่เราเรียกว่าเป็นวินัยนี้ด้วย วินัยเบิกช่อง คือ เมื่อจัดขึ้นมาแล้วก็เป็นสิ่งที่ช่วยเบิกช่องให้คนเดินไปสู่จุดหมายที่ธรรมวางไว้ด้วย

นี่คือสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นหลักการของวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาตมภาพเห็นว่าน่าจะยกขึ้นมาเน้น ส่วนในแง่ของหัวข้อหรือองค์ประกอบของหลักการเช่นนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว สิ่งที่จะพึงทำในเรื่องวินัยในกรณีนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาศึกษารายละเอียด เพราะอันนั้นเป็นวินัยที่จัดออกมาเป็นรูปแบบแล้วสำหรับชุมชนหนึ่ง สิ่งที่จะพึงทำก็คือการศึกษาให้เข้าใจหลักการหรือสารัตถะหรือเจตนารมณ์ของวินัยนี้ แล้วจัดสรรในทางปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นตามหลักการนั้น

อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า แม้แต่เมื่อพูดถึงวินัยของพระ เราก็จะนึกถึงระเบียบความประพฤติส่วนตัวของท่านว่า เคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ จริงอยู่ อย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะต้องจัดให้เกิดให้เป็นขึ้น แต่เมื่อจัดได้อย่างนั้นแล้วก็ควรจะก้าวต่อไปสู่ขั้นที่ ๒ ที่เป็นหลักการของวินัย คือ การถือกิจการของส่วนรวมเป็นสำคัญ ถือประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ก็เป็นที่แสดงออกของเจตนารมณ์นี้ แต่เราจะเห็นว่า แม้แต่ในหมู่สงฆ์เอง เรื่องสังฆกรรม หรือกิจการส่วนรวมก็ได้เลือนมาอยู่ในรูปของพิธีกรรมแทบทั้งหมด จนกระทั่งเรามองไม่เห็นสาระของมัน คือการที่เอาสงฆ์เป็นใหญ่ การประชุมที่มาพิจารณาเรื่องราว เช่นอย่างการอุปสมบทเป็นต้น ก็เหลืออยู่ในรูปของพิธีกรรมเท่านั้น

ในที่นี้ ไม่ต้องการจะพูดเรื่องของฝ่ายพระสงฆ์ แต่จะเน้นว่าในแง่ของสังคมใหญ่คือของคฤหัสถ์ น่าจะมีการกำหนดกันได้หรือไม่ ว่าเราจะเอาอย่างไร ระเบียบแบบแผน ระเบียบชีวิตของชาวพุทธ สังคมพุทธ ระบบต่างๆ ในสังคมพุทธนี้ ควรจะเป็นอย่างไร การที่จะกำหนดได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมะนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ศึกษาตัวธรรมะนั่นแหละ แล้วก็เอาธรรมะนั้นมาใช้ เอาความเข้าใจในธรรมะนั้นมากำหนดว่าธรรมะต้องการอะไร จะให้ชาวพุทธแต่ละคนเป็นอย่างไร ให้สังคมพุทธเป็นอย่างไร เอาหลักการและเจตนารมณ์นั้นมาจัดวางเป็นระบบของสังคม ระเบียบการดำเนินชีวิตขึ้น เป็นอันว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการปกครอง การวางรูปองค์กร สถาบันอะไรต่างๆ ในรูปแบบที่เป็นไปตามคำสอนในพุทธศาสนา ก็อยู่ในหลักการที่เราเรียกว่าวินัยนี้

อาตมภาพคิดว่า การจัดในแนวนี้คงจะได้เคยมีมาแล้ว การดำเนินงานของพระเจ้าอโศกมหาราช อาจถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ได้เคยนำธรรมะมาจัดออกเป็นรูปของวินัย คือ ระเบียบแบบแผนของสังคม ของการปกครอง ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า แบบแผนการปกครองของพระองค์นั้นก็ได้ถือตามหลักธรรม แม้แต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ก็ยังมีตำแหน่งทางธรรม เช่น พวกธรรมมหาอำมาตย์เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับธรรม อย่างนี้เป็นต้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง