จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในการพัฒนามนุษย์

เมื่อเกิดปัญหาจากตัณหาก็ทำให้มนุษย์ต้องคิดหาทางออกที่จะแก้ปัญหาให้ถูกต้อง แล้วก็ได้มองเห็นว่า ในการบริโภคนั้น มนุษย์จะต้องรู้ว่าสิ่งนั้นๆ มีคุณค่าต่อชีวิตจริงหรือไม่ อาหารอะไรมีคุณค่าต่อชีวิต และกินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิต ไม่ใช่กินไปตามตัณหาที่อยากเสพสุขเวทนาของรสอร่อยเท่านั้น เมื่อรู้คุณค่าของอาหารและความต้องการของชีวิตแล้ว เราจึงจะรู้จักเลือกกินได้ถูกต้องให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ในการศึกษา เราจึงต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา เริ่มแต่ให้รู้ความมุ่งหมายของการบริโภค ว่าเรากินเพื่ออะไร เช่น ถามปัญหากับตนเองว่า กินเพื่ออะไร เรากินเพื่อสนองความต้องการที่จะได้เสพรสเอร็ดอร่อยหรือ เราควรจะเอาความเอร็ดอร่อยมาเป็นตัวตัดสินการบริโภคอย่างนั้นหรือ หรือแม้กระทั่งที่พัฒนายิ่งไปกว่านั้นอีกในทางลบ คือ เอาการบริโภคมาเป็นเครื่องแข่งขันวัดฐานะกัน เป็นการกินเพื่ออวดโก้ ในการศึกษาก็จะฝึกให้รู้จักพิจารณาว่า การกินเพื่ออวดฐานะกันนี้เป็นวิธีบริโภคที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นแล้วเรากินเพื่ออะไร ก็จะได้คำตอบว่า เรากินเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ได้ เพื่อจะดำรงชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยดี ให้มีสุขภาพดี และเพื่อให้เรามีชีวิตที่ผาสุก ตลอดจนที่ทางพระพูดว่าเพื่อเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม หรือเพื่อเกื้อหนุนการบำเพ็ญกิจอันประเสริฐ คือการทำหน้าที่ และทำประโยชน์ต่างๆ

เมื่อมองเห็นวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมานี้ เราก็เริ่มมีตัวตัดสินแล้ว ถึงตอนนี้ ปัญญา เกิดขึ้นแล้ว พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนแปลงไป เราจะมองไปในแง่ที่ว่า กินอะไรแค่ไหนอย่างไรร่างกายจึงจะอยู่ได้สบาย สุขภาพจึงจะดี แข็งแรง ไม่มีโรค กินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิตร่างกายของเรา เราจะต้องดูว่าอาหารอะไรมีคุณค่าแก่ชีวิต และมีปริมาณมากเท่าไรจะพอดี นี่คือการใช้ปัญญา ในแง่ทำหน้าที่รู้คุณค่าของอาหาร และรู้ความประสงค์ในการกินในการบริโภค ปัญญานี้จะมาเป็นตัวนำพฤติกรรมตัวใหม่ ปัญญา จะมากำหนดพฤติกรรมแทนตัณหา เมื่อปัญญามานำ เราก็ไม่ต้องทำตามตัณหา เพราะเรามองเห็นคุณค่าที่แท้จริงที่ต้องการแล้ว เราก็ไม่เอาแค่สุขเวทนา แต่เราจะเอาคุณค่าที่แท้จริงนั้น เราก็จึงเปลี่ยนมาปฏิบัติตนตามที่ปัญญาบอก โดยให้ปัญญาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ตัวที่เริ่มต้นก็คือโยนิโสมนสิการ ที่หักเหกระแสความคิดออกจากตัณหา โดยนำเอาปัญญามาใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้อง แล้วทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป

เมื่อปัญญาทำให้รู้ถึงคุณค่าแท้จริงที่ต้องการหรือตัวประโยชน์ที่แท้แล้ว ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง คือ เกิดความอยากประเภทที่ ๒ ที่คู่กับปัญญา ซึ่งอยากจะทำให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงนั้น เป็นความอยากที่อาศัยความรู้คือปัญญาเป็นฐาน ความอยากประเภทที่สองนี้เป็นกุศล คือเกื้อกูลต่อชีวิต เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งตรงข้ามกับความอยากประเภทที่ ๑ ที่เป็นอกุศล ซึ่งไม่เกื้อกูลต่อชีวิต ที่เรียกว่า ตัณหา

ในการศึกษา คนทั่วไปมักแยกไม่ออก ความอยาก ๒ ประเภทนี้ แล้วก็พูดกราดไปว่าความอยากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ความอยากประเภทที่ ๒ คือ ฉันทะนี้ เป็นความอยากที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม เป็นองค์ธรรมสำคัญมาก ในการที่จะบำเพ็ญไตรสิกขา หรือทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีฉันทะ ถ้าขาดฉันทะไปก็สำเร็จได้ยาก แต่ฉันทะต้องอาศัยปัญญา ปัญญา รู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะ ก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาคือไม่รู้ ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ต่างจากตัณหาที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น ตัณหาจึงอยู่ด้วยกันกับอวิชชา แต่พอปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าสิ่งที่ถูกใจนั้นเป็นโทษเป็นอันตรายต่อชีวิตตัณหาก็หายไป ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะก็เกิดขึ้นในสิ่งนั้น ดังนั้นปัญญาพัฒนาไป ฉันทะก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย ในทางการศึกษา ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็พูดได้เลยว่า การศึกษานั้นพลาด เสียหลักไปแล้วตั้งแต่ต้นทาง จึงยากจะสำเร็จผลด้วยดี

เพื่อให้รู้จักแยกระหว่างความอยาก ๒ ประเภทนี้ อาจให้ความหมายอย่างง่ายๆ ว่า

๑. ตัณหา คือ ความอยากในรสชาติที่เวทนาบอกเสนอ (=ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา)

๒. ฉันทะ คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา)

คนเกิดมา ไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องพัฒนาเลย ก็มีตัณหา สามารถอยากเสพรสสุขเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ แต่พฤติกรรมที่เป็นไปตามบงการของตัณหา จะมีผลในทางเพิ่มทุกข์ ก่อปัญหาไม่คุ้มกับความสุขที่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ไม่เป็นอยู่อย่างมืดบอดด้วยอวิชชา และวิ่งพล่านไปด้วยตัณหา เมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาขึ้น เกิดปัญญารู้ว่าอะไรดีแท้จริง ก็เกิดฉันทะอยากในสิ่งนั้น แล้วทำไปตามฉันทะนั้น ก็ทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็แก้ปัญหานั้นได้ เรียกว่า ไร้ทุกข์ หรือปลอดทุกข์ (นิยมใช้กันมาว่าดับทุกข์)

จากที่กล่าวมา จึงสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ได้เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ (ไร้การศึกษา): อวิชชา + ตัณหา -------------→ พฤติกรรมสร้างทุกข์ (ก่อปัญหา)

แบบที่ ๒ (มีการศึกษา): ปัญญา + ฉันทะ --------------→ พฤติกรรมสลายทุกข์ (แก้ปัญหา)

กระบวนการแบบที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ คือทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดเขาก็เริ่มมีการศึกษา และเมื่อนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น ตัวแกนสำคัญของการพัฒนาก็คือปัญญา เพราะทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายและรู้ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร แต่พร้อมกับที่ปัญญาเกิดขึ้นนั้นก็มีการปรับตัวเกิดขึ้นทั้งองคาพยพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพครบทั่วองค์รวม คือมิใช่พัฒนาแต่ปัญญา พฤติกรรมก็พัฒนาด้วย พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป แล้วจิตใจก็พัฒนาด้วย คือจิตใจเปลี่ยนไป เช่นเปลี่ยนจากความอยากด้วยตัณหามาเป็นความอยากด้วยฉันทะเป็นต้น และมีความสุขความพอใจอย่างใหม่เกิดขึ้น นั่นคือพอใจเมื่อได้ทำตามที่ปัญญาบอก ได้ทำตามเหตุตามผลที่ดี เกิดความสุขความพอใจด้วยฉันทะ เป็นการพัฒนาจิตใจ เพราะฉะนั้น การพัฒนาจะเป็นไปพร้อมกันทั้ง ๓ ด้าน คือ พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา การพัฒนาทั้ง ๓ อย่างนี้จะต้องอิงอาศัยและเสริมซึ่งกันและกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ในกระบวนการพัฒนามนุษย์

ถึงตอนนี้ เราสามารถให้ความหมายของการศึกษาได้ในระดับหนึ่งว่า การศึกษา คือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหาที่จะดิ้นรนแสวงหาสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ที่ทำให้เวียนวนอยู่ในตาข่ายของการก่อปัญหาเพิ่มทุกข์ ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้เกิดมีฉันทะ ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา

ขอสรุปว่า ในพุทธศาสนามีหลักการให้การศึกษามนุษย์ด้วยการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักรับรู้และรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เรียกว่าทำให้ไร้ทุกข์ การศึกษาหรือการพัฒนาคนนี้ ก็ดำเนินไปตามหลักของกรรมนั่นเอง เพราะหลักกรรมถือว่าสิ่งที่เป็นผลจะเกิดขึ้นจากเหตุ คือเป็นกฎแห่งเหตุและผล แต่เป็นกฎเหตุผลในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ ตามหลักกรรมนั้น การกระทำเป็นเหตุ สิ่งที่ต้องการเป็นผล ฉะนั้นผลสำเร็จที่ต้องการจึงเกิดจากการกระทำ ในการกระทำนั้นความพากเพียรพยายามเป็นแรงขับเคลื่อน การที่มนุษย์จะสามารถทำการต่างๆ อันเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่ผลที่ต้องการได้นั้น มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายามในการกระทำ ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมจะหวังผลสำเร็จจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุตามผล

หลักกรรมเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในการศึกษาหรือพัฒนามนุษย์นั้น เราเอาองค์ประกอบที่ดีซึ่งเป็นกุศลเข้ามา เริ่มแต่เอาปัญญาเข้ามา เอาฉันทะและกุศลอื่นๆ เข้ามา ทำให้กระบวนการของกรรมเป็นกระบวนการของกรรมที่ดีที่เป็นกุศล เมื่อคนมีพฤติกรรมที่เป็นกุศลประกอบด้วยกุศลมีปัญญาและฉันทะเป็นต้น ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือไร้ทุกข์ เป็นการเปลี่ยนจากกระบวนการแห่งอกุศลกรรมที่มีอวิชชาและตัณหาเป็นมูลเหตุนำไปสู่ปัญหาหรือความทุกข์

พุทธศาสนาปฏิเสธความเห็นผิดที่ว่าทุกอย่างเป็นไปเพราะกรรมเก่า แต่ไม่ปฏิเสธเรื่องของกรรมเก่าในความหมายที่ถูกต้องว่า กรรมเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของกรรม คือ เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งส่งผลเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการสะสมกรรม ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็เกิดจากการสะสมกรรมของเรานั่นเอง ฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม การสะสมกรรมของเราก็จะส่งผลสืบทอดมาแม้กระทั่งเป็นตัวอิทธิพลชักนำให้คิดนึกในแนวไหน ให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เรามีความสามารถในขอบเขตใด ทำอะไรได้แค่ไหน แต่ในกระบวนการของกรรมนั้น กรรมส่วนที่เราต้องเกี่ยวข้องสำคัญมากที่สุด และควรเอาใจใส่มากที่สุด ก็คือ กรรมปัจจุบัน ที่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรในบัดนี้และต่อจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของเราที่ว่าจะเลือกตัดสินใจ หรือตั้งใจอย่างไร บุคคลใดมีปัญญา ฉลาดในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย รู้อดีตได้ดีด้วย มองเห็นปัจจุบันชัดเจนด้วย เล็งอนาคตได้เก่งด้วย ก็จะยิ่งทำกรรมปัจจุบันได้ผลดี ซึ่งจะส่งผลเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้าได้มากที่สุด

จากที่กล่าวมานี้จะทำให้มองเห็นภาพทั่วๆ ไปของพฤติกรรม ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อยู่ในเรื่องของกรรมนั่นเอง ส่วนเรื่องของจริต ๖ กับบุคคล ๔ ที่เคยถามถึงนั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งก็เกิดจากการสั่งสมกรรมในรูปแบบต่างๆ จริต ๖ เป็นผลจากการสั่งสมคุณสมบัติเฉพาะด้านนั้นๆ จนกลายเป็นแบบแผนนิสัยของจิตใจและพฤติกรรมแต่ละแบบๆ คือสั่งสมให้เกิดความเคยชินของจิตใจที่จะคิดอย่างนั้นๆ และแสดงออกเป็นพฤติกรรมอย่างนั้นๆ ส่วนบุคคล ๔ ประเภท เป็นความแตกต่างที่เกิดจากการสั่งสมกรรมประเภทที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของคน เช่น มีการศึกษาพัฒนาตัวไว้ดี ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาอยู่เสมอๆ มีการสั่งสมสติปัญญาไว้มาก ก็ทำให้เกิดเป็นบุคคลประเภทที่ ๑ คือ อุคฆฏิตัญญู เป็นบุคคลที่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งทำให้เขาเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และฉับไว ในที่นี้ เมื่อเราพูดถึงหลักการทั่วไป หรือหลักใหญ่ เรื่องจริต ๖ [๒๙/๗๒๗; วิสุทฺธิ.๑/๑๒๗] และเรื่องบุคคล ๔ [๒๑/๑๓๓] ก็กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.