จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรม

ได้พูดถึงหลักการใหญ่โดยทั่วไปอย่างกว้างๆ มาแล้ว คราวนี้จะพูดจำกัดวงแคบเข้ามา โดยเน้นการพัฒนาในระดับพฤติกรรม จะขอเริ่มด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับการฝึกความรับผิดชอบก่อน แล้วจะพูดถึงข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรมโดยทั่วไป

ในการฝึกหรือพัฒนาคนให้มีความรับผิดชอบนั้น ถ้าเริ่มจากศีลก็จะเป็นเรื่องของการวางข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ระเบียบ เป็นวินัยขึ้นมา โดยมากจะใช้วินัยนี้เป็นฐานก่อน ทำให้คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต้องมีความรับผิดชอบ โดยที่เขาต้องทำตามกฎเกณฑ์กติกานั้น แต่ในขณะนี้ถ้าความสำนึกในจิตของเขายังไม่มี การปฏิบัติของเขาก็ได้แค่พฤติกรรมที่แสดงออกมาในขั้นศีลเท่านั้น ศีลอย่างนี้ยังไม่มั่นคง เพราะไม่ได้เกิดจากจิตสำนึก ไม่มีการพัฒนาด้านจิตมาช่วยหนุน จึงต้องฝึกด้านจิตเข้ามาร่วมด้วย เช่น ให้มีบรรยากาศที่ดีงาม มีความสบายใจ มีความสุขในการทำงานที่ตนรับผิดชอบ และถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็มีปัญญามาช่วยอีกด้วย คือให้เขาเห็นประโยชน์หรือคุณค่าในการที่เขาทำอย่างนั้น ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดชี้แจงอบรมทางด้านความรู้ให้เขาเห็นเหตุผลในการที่จะต้องมีความรับผิดชอบ แต่ในเบื้องต้นของการฝึกจะเริ่มด้วยส่วนที่เป็นรูปธรรมที่เป็นของหยาบมองเห็นง่าย ศีลจึงมาก่อน เพื่อสร้างพฤติกรรมเคยชินไว้ เมื่อพฤติกรรมมีความเคยชินแล้วก็ถือได้ว่าสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่งคือในขั้นของศีล

ในเรื่องศีลนี้มีหลักการอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ต้องมีการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนไหวนั้นก็ต้องเป็นไปในรูปลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเคลื่อนไหวในรูปลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นแล้ว พอจะมีการเคลื่อนไหวเช่นนั้นใหม่อีกเขาก็มักจะดำเนินตามรูปลักษณ์ของการเคลื่อนไหวอย่างนั้นซ้ำอย่างเดิม และเมื่อทำอย่างนั้นต่อๆ ไป การเคลื่อนไหวในรูปลักษณ์นั้นก็จะกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน พอเป็นพฤติกรรมเคยชินแล้วก็แก้ไขยาก ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปตลอด แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีก็เป็นการเสียหายแก่ชีวิตของเขา เช่นเสียบุคลิกภาพ น่ารังเกียจ เสียความรู้สึกของผู้พบเห็น หรือสร้างความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็จึงเป็นจุดช่วงชิงที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีได้ก่อน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ เรื่องนี้สำคัญมาก การยืนเดินนั่งนอน กิน ดื่ม ฯลฯ เป็นที่จับของพฤติกรรมเคยชินได้ทั้งนั้น ดังนั้น การวางระเบียบวินัยต่างๆ ในความหมายหนึ่งก็คือระบบการสร้างพฤติกรรมเคยชินที่มุ่งให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดี และพฤติกรรมเคยชินที่ดีนี่แหละเป็น ศีล ซึ่งแปลว่าพฤติกรรมดีงามที่เป็นปกติของเขา เมื่อคนปฏิบัติตามวินัยแล้ว ความประพฤติอย่างนั้นก็ลงตัวกลายเป็นความเคยชินเป็นปกติของเขาอย่างนั้น เช่นมารยาทในการขับรถ มารยาทของคนเดินถนน เป็นต้น

ดังนั้น จุดสำคัญที่จะต้องตั้งเป็นเป้าหมายอันดับแรกก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กหรือคนที่เข้ามาใหม่ได้พฤติกรรมเคยชินที่ดีติดตัวไป โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพในการฝึกน้อย พอเคยชินอย่างไรก็จะอยู่แค่พฤติกรรมนั้น จะติดจะยึดอยู่กับพฤติกรรมเคยชินนั้น จะแก้ไขปรับใหม่ได้ยากหรือไม่ได้เลย จะพัฒนาเหนือกว่านั้นยาก ต่างจากคนที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง ซึ่งสามารถปรับปรุงตัวเองได้เสมอ ไม่อยู่ในความครอบงำของความเคยชิน แต่คนประเภทนี้มีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง เราจะต้องระลึกไว้ว่าในแง่ของสังคมนั้นเราพูดถึงคนส่วนใหญ่ เรากำลังเอาหลักการนี้มาใช้กับคนส่วนใหญ่ซึ่งชีวิตติดอยู่ในกรอบของพฤติกรรมเคยชิน การพัฒนาในระดับศีลจึงมีความสำคัญมาก เราจึงต้องเน้นเรื่องการสร้างพฤติกรรมเคยชินที่ดี

สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ว่านั้น เมื่อเขามีพฤติกรรมเคยชินอย่างไรแล้ว ก็จะเกิดการยึดติดว่าอันนี้แหละดี เขาเคยทำมาอย่างนี้ ใครทำอย่างอื่นจะแปลก เขาจะไม่เห็นด้วย คนพวกนี้อาจจะไม่ใช้ปัญญา อาจจะไม่ยอมคิดพิจารณาเลยด้วยซ้ำ เขาเพียงแต่ยึดติดในสิ่งที่ตนเองเคยทำมาเท่านั้น ในเมื่อมนุษย์อยู่ในสภาพอย่างนี้มาก เราจึงต้องใช้หลักธรรมชาติเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ คือชิงสร้างระบบพฤติกรรมเคยชินที่ดีให้สะสมขึ้นมาก่อน เรื่องของแบบแผน ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงาม ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาในรูปของบัญญัติทางสังคมเป็นกฎหมายเป็นต้นนั้น ก็รวมอยู่ในหลักการนี้ ถ้าเราวางระบบให้ดี จนลงตัวติดเป็นพฤติกรรมเคยชินของคนรุ่นหนึ่งได้แล้ว มันก็จะเกิดการสะสมและถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามๆ กันไป แล้วก็จะส่งผลไปที่จิตใจให้เกิดความชื่นชมและยึดถือด้วย เวลาจะประพฤติอย่างนั้นความชื่นชมยึดถือในจิตใจก็จะส่งแรงเสริมเจตจำนงให้เจตนามุ่งไปที่จะทำที่จะประพฤติอย่างนั้น

เป็นอันว่า การฝึกฝนพัฒนาในขั้นศีลเป็นขั้นที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าบุคคลเกิดพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีแล้ว การที่จะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือหลักสิกขาแห่งการฝึกฝนพัฒนาคน การปรับปรุงพัฒนาแม้จะทำได้ยาก ก็ถือว่าต้องพยายามทำ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ก็สามารถทำได้โดยใช้หลักไตรสิกขานี่แหละ เพราะไตรสิกขานั้นเมื่อมองในแง่ของการพัฒนา สิ่งที่จะต้องทำอย่างหนึ่งก็คือการแก้ไขปรับปรุงความเคยชิน ด้านหนึ่งนั้นมันเป็นการสร้างพฤติกรรมที่ดี แต่พร้อมกันนี้อีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องของการแก้ไขพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีด้วย

ยิ่งกว่านั้นยังก้าวต่อไปสู่การปรับปรุงแม้แต่พฤติกรรมเคยชินที่ดีอยู่แล้ว ให้เป็นไปด้วยจิตใจและปัญญาที่ถูกต้องให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่น วัฒนธรรมของสังคมที่ถ่ายทอดกันมาด้วยความเคยชินจนเป็นแบบแผนนั้น เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก บางอย่างในวัฒนธรรมนั้น ที่ว่าดีในสมัยหนึ่ง เมื่อผ่านมาถึงอีกสมัยหนึ่ง อาจกลายเป็นไม่ดี หรือบางอย่างที่ดีอาจตกมาถึงปัจจุบันในรูปที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปแล้ว หรือบางอย่างที่ว่าดีอาจเหลืออยู่เพียงรูปแบบภายนอก แต่สาระหรือความหมายที่แท้จริงสูญหายไปแล้ว หรือยิ่งกว่านั้นอาจจะมีความหมายอื่นที่เป็นโทษเข้าไปแทนที่ ดังนี้เป็นต้น

ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนและโทษเหล่านี้ บางทีเราก็ไม่รู้ จนกระทั่งมีผู้มีสติปัญญามาชี้ให้เห็นจุดเห็นแง่ที่จะปรับปรุงแก้ไข (บางทีสติปัญญาไม่พอดี ก็ชี้ผิดเสียอีก) จึงได้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนากันต่อไป (บางทีผู้ที่ติดก็ต้านอย่างหนัก) เรื่องพฤติกรรมเคยชินของมนุษย์แม้แต่ในระดับสังคม ก็ต้องมีการแก้ไขพัฒนาอยู่เรื่อย ถ้าพูดถึงในระดับบุคคลก็ยิ่งต้องพัฒนากันตลอดเวลา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนมากมักจะได้แค่พฤติกรรมเคยชิน จะพัฒนาเหนือกว่านั้นไปได้ยาก คนที่พัฒนาตนเองได้ดีก็คือคนที่สามารถอยู่เหนืออำนาจของความเคยชิน คนประเภทนี้จะปรับตัวพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถพิเศษ

พฤติกรรมที่ลงตัวโดยเคยชินอย่างละเอียดอ่อน เรียกว่า วาสนา (แปลว่า การสั่งสมอบรมมา ซึ่งก็คือการสั่งสมพฤติกรรมเคยชินนั่นเอง) ได้แก่ แบบแผนพฤติกรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมมากับตนเองจนกลายเป็นลักษณะประจำตัวของเขา เช่น จังหวะท่วงทีในการเดิน การพูด คำติดปาก เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกแตกต่างกัน ถือเป็นวาสนาของแต่ละคน

เมื่อบุคคลมีวาสนาอย่างไร วาสนานั้นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำชีวิตของเขาไปในแนวทางหนึ่งโดยเฉพาะ แม้แต่ความเคยชินทางความคิดที่เป็นพฤติกรรมทางจิต เช่นว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เป็นต้น ก็เป็นวาสนาเช่นเดียวกัน เมื่อเขามีวาสนาเกี่ยวกับอะไรในทางใด มันก็ชักจูงเขาไปในทางนั้นไปหาสิ่งนั้น วาสนาก็เลยกลายเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเขาไป

นอกจากนั้น วาสนายังเป็นตัวกระทบที่ทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาต่อเขาในรูปใดด้วย เช่นดึงดูดหรือผลักไล่ ทำให้ชอบหรือทำให้เกลียด ในความสัมพันธ์กับคนหมู่มากหรือเป็นปฏิกิริยาเฉพาะตัวกับบางคน ดังจะเห็นได้ในลักษณะการพูดของแต่ละบุคคล บางคนพูดสละสลวยรื่นหู บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก บางคนพูดแล้วคนชอบฟัง บางคนพูดแล้วคนรำคาญ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อความเป็นไปในชีวิตของเขาทั้งนั้น

วาสนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขยาก เพราะเป็นสิ่งที่ลงร่องลึก ผู้ที่ละวาสนาได้หมดมีเพียงบุคคลเดียวคือพระพุทธเจ้า หมายความว่าพฤติกรรมเคยชินหมดไป เพราะพฤติกรรมอยู่ภายใต้การนำของสติปัญญาอย่างเดียว คือทำไปด้วยสติปัญญา ไม่ได้ทำไปโดยความเคยชิน ส่วนพระอริยบุคคลอื่นแม้แต่พระอรหันต์ ก็แก้ไขละได้แต่เฉพาะวาสนาร้ายแรงที่เป็นโทษต่อชีวิตและสังคม ส่วนวาสนาที่ไม่ร้ายแรงก็ยังคงอยู่ เช่นบางท่านพูดจาไม่เพราะหู บางท่านเดินไม่ค่อยชวนดู เป็นต้น รวมความว่า เรื่องของวาสนามีทั้งดีและไม่ดี และวาสนานั้นก็เป็นผลกรรมส่วนหนึ่ง

ในเรื่องกรรมนั้น พอเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว เจตนาที่เป็นตัวกรรมก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากการอยู่ใต้บงการของตัณหา มาอยู่ใต้การชี้นำของปัญญา จนในที่สุด เจตนาเองก็จะหมดหน้าที่ไปด้วย ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่ชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยปัญญา นี่คือภาวะที่เรียกว่าสิ้นกรรม เพราะพฤติกรรมไม่ต้องอยู่ในบงการของเจตนาที่มุ่งที่เลือกว่าตัวเราจะเอาอย่างไร แต่เปลี่ยนมาเป็นอยู่และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ หรือปฏิบัติการด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิบัติการด้วยความจำนงจงใจ ว่าตัวเราต้องการเอาอย่างนั้นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม ในระดับของปุถุชนที่ยังไม่พ้นจากพฤติกรรมที่เป็นไปด้วยเจตนา เมื่อมีการศึกษาพัฒนาตนขึ้น ปัญญาก็จะเข้ามาช่วยชี้ทาง ทำให้มีการเลือกตัดสินใจที่ดีงามถูกต้อง ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจและความมีเหตุผลมากขึ้น และทำการต่างๆ ด้วยฉันทะ ที่จะนำไปสู่ความไร้ทุกข์ลดปัญหา ตลอดจนมีอิสรภาพและสันติสุขทั้งในชีวิตและในสังคมมากขึ้นๆ ตามระดับของการพัฒนา

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.