จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติของมนุษย์ที่ทำให้ต้องมีการศึกษา

เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ขอให้มองดูตั้งแต่มนุษย์คลอดจากครรภ์มารดาเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลก เมื่อจะมีชีวิต ก็ต้องดำรงชีวิตอยู่ให้รอด แต่การที่จะอยู่รอดด้วยดีนี้จะทำอย่างไร การที่จะอยู่รอดได้ดี ก็คือการที่จะต้องปฏิบัติต่อชีวิตและสิ่งรอบตัวที่ชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง ชีวิตของเราก็อยู่รอดปลอดโปร่ง แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสิ่งนั้น ก็จะเกิดความติดขัด คับข้อง หรือบีบคั้น ความบีบคั้น ติดขัด หรือคับข้องนี้ทางพระเรียกว่า ทุกข์ ซึ่งก็คือปัญหาต่อการที่จะอยู่รอด หรือการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยดีนั่นเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้ คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายที่ต้องเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง การที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร การที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็เพราะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ตลอดจนไม่รู้ว่ามันเป็นมาเป็นไปอย่างไร เราทำกับมันอย่างไรแล้วจะเกิดผลอย่างไร ฯลฯ พูดสั้นๆ ก็คือ ไม่รู้ หรือเพราะมี ความไม่รู้ นั่นเอง สรุปว่า ทุกข์ หรือปัญหาเกิดขึ้นแก่ชีวิต เพราะความไม่รู้

เพราะฉะนั้น การที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องให้ผ่านลุล่วงไปได้ ก็ต้องมีความรู้ เช่นต้องรู้ว่ามันคืออะไร เมื่อรู้แล้วก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง ก็หมดปัญหา ทุกข์ก็ไม่เกิด หรือถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ได้ ดับทุกข์ได้ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์เกิดขึ้นมายังไม่มีความรู้ดังที่กล่าว มนุษย์เกิดขึ้นมายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองมนุษย์ก็ไม่รู้จักเลย การอยู่รอดและการมีชีวิตอยู่ด้วยดีของมนุษย์ จึงต้องอาศัยการหาความรู้ แหล่งสำคัญเบื้องต้นของการที่จะได้มาซึ่งความรู้ก็คือการได้รับการฝึกสอนจากมนุษย์อื่น เช่น พ่อแม่ ที่บอกให้รู้ว่าจะทำต่อสิ่งนั้นๆ หรือในเรื่องนั้นๆ อย่างไรๆ เมื่อรู้จักทำแล้วก็รอดก็โล่งไปได้แล้วก็จำไว้ทำต่อๆ ไป ซึ่งตรงนี้มนุษย์จะผิดกับสัตว์อื่นๆ เพราะสัตว์อื่นทั้งหลายจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณซึ่งอยู่ในฝ่ายของพีชนิยาม ได้อาศัยสัญชาตญาณเป็นเครื่องช่วยอย่างมาก เช่นสัตว์หลายอย่างพอเกิดขึ้นมาก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ สามารถช่วยตัวเองได้ แต่สำหรับมนุษย์พีชนิยามมีบทบาทน้อยกว่ากรรมนิยาม มนุษย์เมื่อเกิดขึ้นมายังช่วยตัวเองไม่ได้เลย ถ้าถูกทอดทิ้งก็ไม่สามารถอยู่ได้ คือไม่รอด

สาระสำคัญในตอนนี้สรุปเป็นหลักทั่วไปก็คือว่า เริ่มแรกมนุษย์ยังมีความไม่รู้ คือไม่รู้จักอะไร เมื่อไม่รู้จักก็ไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ หรือสถานการณ์นั้นๆ อย่างไรจึงจะผ่านลุล่วงหรือรอดปลอดโปร่งโล่งไปได้ ที่ว่ามีความไม่รู้นี้ ศัพท์วิชาการเรียกว่า อวิชชา และเมื่อไม่สามารถปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ก็เกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้นขึ้นเรียกว่า ทุกข์ เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงคู่กับทุกข์ อวิชชาเป็นมูลเดิมหรือเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ เพราะฉะนั้นธรรมชาติของอวิชชาจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต จึงจัดเป็นอกุศล (คำว่าไม่เกื้อกูลในที่นี้ศัพท์วิชาการเรียกว่าอกุศล)

ในเมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วก็จะต้องอยู่ให้รอดต่อไป แต่จะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่มีความรู้ อะไรจะเป็นตัวนำพฤติกรรม ถ้ายังไม่มีความรู้มานำ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า มนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอายตนะ หรืออินทรีย์ ติดตัวมา สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นตัวนำชีวิตมนุษย์ อายตนะเหล่านี้เป็นทางรับรู้ประสบการณ์ หรือเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล แต่อินทรีย์หรืออายตนะนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ที่ว่านี้อย่างเดียว มันทำหน้าที่ ๒ อย่างที่สำคัญมาก ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ นั่นก็คือ

๑. เป็นทางรับรู้ข้อมูล หรือเป็นทางรับความรู้ คือ รับรู้ประสบการณ์เข้ามาในลักษณะที่เป็นข้อมูล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจแล้วปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง ถ้ามนุษย์รู้จักประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์ในแง่นี้ ก็จะใช้มันในการเรียนรู้ หรือเป็นเครื่องมือ หาความรู้

สำหรับมนุษย์ที่มีการศึกษาหรือมีการพัฒนาอย่างถูกต้อง การใช้อายตนะหรืออินทรีย์ในแง่ของการเรียนรู้หรือเป็นเครื่องมือหาความรู้นี้ จะเป็นพฤติกรรมหลัก ในการดำเนินชีวิต

๒. เป็นทางรับรู้ความรู้สึก หรือเป็นที่รับความรู้สึก กล่าวคือพร้อมกับการรับรู้อย่างแรกนั้น ก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย คล้ายกับว่าสิ่งทั้งหลายเมื่อสัมพันธ์กับ ตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย ของเราแล้ว มันมีคุณสมบัติที่ทำให้เรารู้สึกสบายหรือไม่สบายหรือไม่ก็เฉยๆ ทันที ความรู้สึกนี้เรียกว่า เวทนา เมื่อเรารับรู้จึงไม่ใช่เพียงได้ข้อมูล หรือประสบการณ์เท่านั้น แต่จะมีความรู้สึกสบาย-ไม่สบายเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย เช่น เมื่อตารับรู้คือเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกสบายตา หรือไม่สบายตาเกิดขึ้นด้วย เมื่อหูได้ยินเสียงก็จะมีความรู้สึกสบายหู หรือไม่สบายหูเกิดขึ้นด้วย เป็นต้น ความรู้สึกสบายหรือเอร็ดอร่อย เรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ไม่อร่อย เรียกว่าทุกขเวทนา

การรับรู้ด้านที่เป็นความรู้สึกนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะมาเป็นตัวนำพฤติกรรมในขณะที่คนยังมีความไม่รู้ หรือไม่มีปัญญา กล่าวคือพอมีความรู้สึกสบาย (ได้สุขเวทนา) มนุษย์ก็จะมีปฏิกิริยาในแง่ที่ชอบ หรือจะเอา แต่ถ้ารับรู้แล้วไม่สบาย (เกิดทุกขเวทนา) ก็จะไม่ชอบ จะไม่เอา จะหนีหรือทำลาย ปฏิกิริยานี้เรียกว่า ตัณหา คนที่มองประโยชน์ของอายตนะหรืออินทรีย์แต่ในแง่ของความรู้สึก ก็จะใช้มันในการเสพรส หรือเป็นเครื่องมือหาสิ่งเสพ หรือสิ่งบำเรอมาสนองตัณหานี้

สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา หรือขาดการพัฒนาที่ถูกต้อง การใช้อายตนะหรืออินทรีย์เพื่อการเสพรสหรือแส่เสพหาสิ่งบำเรอ จะเป็น พฤติกรรมหลัก ของการดำเนินชีวิต เขาไม่รู้จักหรือไม่สนใจที่จะใช้อายตนะหรืออินทรีย์เหล่านั้นในการเรียนรู้หรือหาความรู้

อีกประการหนึ่ง สำหรับคนที่ยังไม่มีการศึกษาหรือยังไม่ได้มีการพัฒนาเหล่านั้น การรับรู้อย่างที่ ๒ นี้จะมีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบต่อการรับรู้อย่างแรกในหลายรูปแบบด้วย เช่น พอรับรู้และเกิดความรู้สึกพร้อมทั้งปฏิกิริยาที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจแล้ว ความสนใจจะพุ่งมารวมอยู่ที่ความชอบใจและไม่ชอบใจ แล้วคิดปรุงแต่งต่อไปต่างๆ ทำให้การรับรู้ด้านที่ ๑ หยุดหรือขาดตอน ทำให้ไม่รับรู้ความรู้ที่เป็นข้อมูลนั้นต่อไปอีก จึงไม่ได้ความรู้ที่ควรจะรู้ หรือบางทีก็ทำให้สนใจที่จะรับรู้ข้อมูลเฉพาะในแง่ที่สนองความชอบใจหรือไม่ชอบใจ จึงทำให้ได้ความรู้ที่เอนเอียง หรือบิดเบือน หรือเฉพาะจุดเฉพาะแง่ ไม่ตรงตามความเป็นจริง และไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงสรุปให้เห็นชัดได้ว่า

มนุษย์นั้น เมื่อมีการรับรู้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้นด้วย คือ รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ความรู้สึกที่สบายเรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา พอรับรู้เข้ามาและเกิดมีเวทนานี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มนุษย์ที่ยังมีอวิชชาก็จะมีปฏิกิริยาคือ ถ้าเวทนาสุขสบายก็ชอบใจ อยากจะเอา เรียกว่ายินดี ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ ขัดใจ เรียกว่ายินร้าย ปฏิกิริยายินดียินร้ายนี้เรียกรวมว่าตัณหา ความยินดีและยินร้ายนี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทำให้ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเอาอันไหนและอย่างไร ตรงนี้เองเป็นจุดที่มีเจตนาเข้ามาเกี่ยวข้องคือตรงที่มีปฏิกิริยาชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง หมายความว่า การชอบหรือไม่ชอบและจะเอาอย่างไรนั้นมีเจตนาเป็นตัวตัดสินใจเลือก และเจตนาที่ตัดสินใจเลือกนั้นก็จะเลือกไปตามแรงผลักดันของตัณหา ตอนนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการของกรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เป็นอันว่า เมื่อไม่มีความรู้หรือไม่ใช้ความรู้ (ปัญญา) ตัณหาก็จะมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม คือทำไปตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา การที่ต้องใช้ตัณหาเป็นตัวนำทางพฤติกรรมอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีปัญญา เขาจึงอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเห็นได้ว่า การกระทำของมนุษย์ส่วนมาก ก็เนื่องมาจากการที่จะหาสุขเวทนา และหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป ที่ไม่มีการศึกษา หรือยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา

ทีนี้ ก็เกิดปัญหาว่า การที่มนุษย์เป็นอยู่โดยใช้ตัณหาเป็นตัวนำนั้นจะทำให้ตนเองอยู่รอดด้วยดีหรือไม่ ถ้าอยู่รอดด้วยดีก็หมดเรื่อง แต่ปรากฏว่ามันไม่ดี เพราะว่าถ้าจะทำอะไรๆ เพียงแค่ตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาหรือหลีกเลี่ยง ทุกขเวทนาเท่านั้น ก็จะเกิดปัญหาหลายขั้นตอน คือ

๑. อันตรายต่อชีวิตของตน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ

๒. อันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หรือสังคม

๓. อันตรายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทีนี้ ก็ลองมาดูว่า ถ้าเราเอาตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม จะเกิดคุณหรือเกิดโทษอย่างไร โดยดูจากปัญหาหรืออันตราย ๓ ประการนี้ เริ่มตั้งแต่ในด้านชีวิตของตนเอง จะเห็นว่าในระดับต้นๆ พฤติกรรมแบบสนองเวทนาจะช่วยได้มาก เช่น มองเห็นอะไรไม่สบายตา มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนานั้นเป็นอันตรายต่อสายตาหรือต่อร่างกาย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเห็นแล้วสบายตา สิ่งนั้นก็มักจะเกื้อกูลต่อชีวิต แต่พอเอาเข้าจริงก็ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอนเสมอไป ต่อมาเราจะรู้ว่ามันใช้เป็นหลักไม่ได้จริง ยกตัวอย่าง อะไรก็ตามที่สบายลิ้น คืออร่อย ตามปกติเราก็ถือว่าดี ใช้ได้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตร่างกายของเรา แต่ที่ว่านั้นไม่จริงเสมอไป เพราะบางอย่างที่อร่อยสบายลิ้นแต่เป็นโทษแก่ชีวิตก็มี ซึ่งตรงนี้เองที่เราเริ่มพบความไม่แน่นอน จะเอาเวทนาและตัณหาเป็นเกณฑ์ตัดสินเด็ดขาดไม่ได้ เราใช้มันเป็นตัวนำทางเบื้องต้นได้บ้างแต่ว่าไม่ปลอดภัย พอมาเจอปัญหาว่าสิ่งที่อร่อยจะเป็นคุณต่อชีวิตจริงหรือไม่ ก็ชักจะไม่แน่เสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วเราจะเอาอะไรเป็นหลักตัดสินว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อชีวิตกันแน่

ถ้าเราใช้ตัณหาซึ่งในที่นี้คือความอยากเสพรสอร่อยเป็นตัวนำ ก็หมายความว่า เราก็ต้องกินตามความอร่อย และเมื่อยังอร่อยก็ต้องกินเรื่อยไป ก็เลยกินจนเต็มที่ แต่ปรากฏว่าการกินตามความอร่อยนี้ ทำให้กินมากเกินไป เลยเกิดอาการอาหารไม่ย่อย หรืออ้วนเกินไปก็เสียสุขภาพ บางคนชอบอาหารจำพวกไขมัน เมื่อกินสนองความอร่อยได้รับไขมันเข้าไปมาก ก็เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางทีถึงกับไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หรือเด็กบางคนกินแต่อาหารอร่อยที่ตัวชอบ เช่นกินแต่ขนม กินมากและสิ้นเปลืองเงินมาก แต่กลายเป็นโรคขาดอาหาร แล้วยังเกิดปัญหาทางจิตใจด้วยเนื่องจากมีความขุ่นเคืองคับข้องเมื่อได้อาหารไม่อร่อยอย่างที่อยาก ทำให้จิตใจงุ่นง่านดิ้นรนจะไปหา เมื่อไม่ได้ก็ไม่ยอม เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นตัวอย่างของอันตรายต่อชีวิตของตนเอง ที่เกิดจากการให้ตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม นอกจากนั้น ในแง่สังคม เมื่อกินสนองตัณหาเพื่อมุ่งความอร่อยแล้ว ก็ทำให้บุคคลมุ่งหาสิ่งอร่อยเพื่อสนองความอยากให้มากที่สุด การหามาเสพสนองความอยากนั้น ไม่มีขอบเขต และไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนกัน เกิดปัญหาในทางสังคม เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกัน ยิ่งกว่านั้น การที่คนเราบริโภคสนองความอยากอย่างไม่มีขอบเขตก็ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมตามมาอีก รวมความว่าการบริโภคเกิดมีปัญหาขึ้นมาจากการที่ปล่อยให้พฤติกรรมเป็นไปตามแนวทางของตัณหา

เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้จะทำอย่างไร เราจะปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่อไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องรู้ว่าอะไรแค่ไหนเป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิตของตนแล้วทำตามความรู้นั้น คือเอาความรู้มาเป็นตัวนำพฤติกรรม เช่นจะบริโภคอาหารก็ไม่ใช่เอาแต่ความอร่อย ที่เป็นสุขเวทนา แต่บริโภคด้วยความรู้ในคุณค่าของอาหารนั้นๆ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มที่จะเข้ามาสู่การพัฒนามนุษย์หรือการศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.