จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วินัยคือการจัดสรรให้เกิดโอกาสในการพัฒนา

อนึ่ง ขอแทรกว่า ในการฝึกระดับศีล หรือพัฒนาศีลนั้น ตามปกติจะใช้วินัยเป็นเครื่องฝึก แต่เมื่อพูดถึงวินัย หลายคนจะมีภาพในใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เสียผลต่อการศึกษา จึงควรจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำความเข้าใจกันสักหน่อย กล่าวคือ เราจะต้องเน้นการมองวินัยในแง่บวก คือวินัยนั้นในความหมายที่ถูกต้องจะไม่เป็นเรื่องของการบังคับ ซึ่งเป็นนัยลบ แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรให้เกิดโอกาสในการพัฒนานั่นเอง

แนวทางที่จะทำให้มองวินัยในทางบวกนั้นมีหลายอย่าง

วินัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเรามีวัตถุประสงค์ที่มุ่งประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม เช่น เราต้องการที่อยู่อาศัยที่เรียบร้อยอยู่สบาย ต้องการโอกาสในการที่จะทำงาน ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ ต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราจึงดำเนินการจัดข้าวของอุปกรณ์ให้เป็นที่เป็นทางไม่เกะกะและใช้สะดวก จัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในบ้าน ในที่ทำงาน ในท้องถนน จัดลำดับการใช้เวลาเป็นต้น เมื่อเราจัดระเบียบดีและพากันปฏิบัติตามระเบียบนั้น เราก็มีเวลาและโอกาส ตลอดจนความคล่องตัวมากขึ้นในการทำงาน และทำการต่างๆ ที่ปรารถนา เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์โดยแท้ของวินัย คือ การจัดสรรโอกาส ให้มนุษย์สามารถทำอะไรๆ ได้สะดวกและมากขึ้น อันเป็นการเอื้อโอกาสต่อการพัฒนา

อนึ่ง วินัยนั้นสัมพันธ์กับจิตสำนึกของมนุษย์ คือจิตสำนึกในการพัฒนาตน ถ้ามนุษย์มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน วินัยก็จะได้ผลและจะเกิดผลดีทางจิตใจด้วย เช่น มีความสมปรารถนา ความภูมิใจ และมีความสุข แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง ก็จะเสี่ยงต่อการฝืนใจ แล้วความทุกข์ก็ตามมา คำว่าจิตสำนึกในที่นี้หมายความว่า เรามองเห็นหรือยึดถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผูกพันกับตนเอง ว่าเราจะต้องฝึกตัว การฝึกตัวเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เพื่อชีวิตที่ดีงามขึ้นเราจำเป็นต้องฝึกตน คือมองเห็นประโยชน์ คุณค่า ความสำคัญของการฝึกที่จะต้องเอาตัวเข้าไปปฏิบัติ เมื่อมีจิตสำนึกอย่างนี้ เขาก็จะมองเห็นว่าการฝึกนั้นเป็นเรื่องที่เราได้ และการฝืนใจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อพบสิ่งที่ทำยาก พอนึกว่าเราจะได้ฝึกตัว ความยากนั้นก็กลายเป็นการได้ขึ้นมาทันที เขาจะรู้สึกอิ่มใจที่จะทำสิ่งนั้น ดังนั้นองค์ประกอบทางด้านจิตจึงเข้ามาสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการรักษาวินัยอยู่เรื่อยๆ และปัญญาจะทำให้รู้ว่าวินัยนั้นช่วยจัดสรรโอกาสให้แก่การมีชีวิตที่ดีอย่างไรๆ เมื่อได้เห็นคุณค่าเช่นนั้น ก็ยิ่งเกิดความพอใจ ดังนั้นการฝึกพฤติกรรมจึงมีความสัมพันธ์กับปัญญา ด้วยเหตุนี้ ทางที่ดีก่อนจะวางระเบียบจึงควรต้องชี้แจงให้เห็นเหตุผล ให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ ก่อน

อีกอย่างหนึ่ง วินัยมีความหมายเป็นกติกาของสังคม คือเป็นข้อตกลงว่า เพื่อการอยู่ดีร่วมกัน ทุกคนจะถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางกันไว้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรๆ อย่างไรๆ ถ้าใครไม่ทำตามหรือล่วงละเมิดจะต้องได้รับโทษอย่างไร ตรงนี้เป็นวินัย ในความหมายของกติกาสังคม คือสิ่งที่หมายรู้ร่วมกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวหรือวางตัวได้ถูกต้อง สำหรับคนที่ยังไม่พัฒนาก็จะรู้สึกว่ากติกาเหล่านี้เป็นเครื่องปิดกั้นบีบคั้นตนเอง แต่สำหรับคนที่พัฒนาแล้วมีปัญญามองเห็นเหตุผลกลับมองว่า กติกาเหล่านั้นเป็นเครื่องช่วยให้เขาทำตัวได้ถูกต้อง มันเป็นเพียงสิ่งหมายรู้ร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร เพราะถ้าคนมาอยู่ร่วมกันมากๆ แล้วไม่มีกติกา แต่ละคนก็จะอึดอัดขัดข้องทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นวินัยในความหมายหนึ่งจึงเป็นกติกาของสังคมหรือสิ่งหมายรู้ร่วมกันเพื่อช่วยให้ปฏิบัติตัววางตนและทำกิจการต่างๆ ได้ถูกต้อง ดังนั้น วินัยจึงต้องอาศัยปัญญาด้วย และวินัยนั้นจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความถูกต้อง จึงจะสัมฤทธิ์ผลให้เกิดศีลตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.