ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


ความหมาย ขอบเขต
และความเป็นมาของศิลปศาสตร์

ชื่อที่ตั้งไว้ว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธ” นี้ เป็นคำที่แปลก คงจะมีการถามกันว่า “มีด้วยหรือศิลปศาสตร์แนวพุทธ?” “ในพุทธศาสนามีศิลปศาสตร์หรืออย่างไร?” หรืออย่างน้อยก็ถามว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร?”

เพื่อจะไม่ให้ต้องสงสัยกันมาก ตอนนี้ ก็ขอให้ความหมายสั้นๆ ไว้ก่อนว่า ศิลปศาสตร์แนวพุทธ ในที่นี้ต้องการให้หมายความว่า เป็นการศึกษาศิลปศาสตร์ตามแนวทางที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ที่รู้ ตื่น และเบิกบานด้วยปัญญา ถ้าจะให้ชัดกว่านั้นก็คือ เป็นศิลปศาสตร์ที่ศึกษาในแนวทางที่ถูกต้อง จนกระทั่งทำให้ผู้ที่ศึกษานั้นกลายเป็นพุทธขึ้นมาเลย ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่บรรลุจุดหมายสูงสุด

ความหมายของศิลปศาสตร์

เมื่อได้ให้ความหมายสั้นๆ ของคำว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธ” ไปแล้ว ก็ต้องหวนกลับมาตั้งต้นที่คำว่าศิลปศาสตร์กันใหม่ ก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป ก็มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำว่า อะไรเรียกว่าศิลปศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คือวิชาการประเภทไหนบ้าง เพื่อจะให้มีความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่องถ้อยคำ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจร่วมกันในเรื่องถ้อยคำแล้ว จะพูดอะไรต่อไปก็ยาก

“ศิลปศาสตร์”นี้ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต แยกเป็น ศิลฺป กับ ศาสฺตฺร หรือ พูดง่ายๆ ว่า ศิลป+ศาสตร์ เมื่อตัดแยกคำออกอย่างนี้แล้ว จะมาอธิบายคำว่าศิลฺป กับ ศาสฺตฺร ต่อไปอีก คงเป็นเรื่องยืดยาว แล้วทั้งหมดนั้น ก็ดูจะไม่เกี่ยวกับชื่อศิลปศาสตร์ของคณะนี้ด้วย

ถ้าจะลัดเรื่องให้ตรงทีเดียว ก็ต้องพูดไปตามความที่เป็นมา ซึ่งปรากฏว่า คำว่า ศิลปศาสตร์ที่เราใช้ในกรณีนี้นั้น เป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นมาในสมัยใหม่นี้เอง เพื่อให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แก่คำว่า Liberal Arts เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงความหมายของคำว่าศิลปศาสตร์ ในที่นี้ เราจะมาพูดถึงความหมายในภาษาไทยแท้ๆ หรือแม้แต่ตามหลักภาษาเดิมที่เป็นบาลีสันสกฤต ก็คงไม่ได้ จะต้องพูดกันตามความหมายของศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เราต้องการบัญญัติให้ตรงกันนั้น คือคำว่า Liberal Arts ว่าคืออะไร แล้วเราก็ต้องเข้าใจความหมายของศิลปศาสตร์ตามนั้น เพราะคำว่าศิลปศาสตร์นั้นเป็นศัพท์บัญญัติ เหมือนการเข้าใจความหมายของคำภาษาไทยหลายคำ ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นศัพท์วิชาการที่บัญญัติขึ้นใหม่ เช่น คำว่าปรัชญา เราบัญญัติขึ้นใหม่สำหรับคำว่า Philosophy เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่าปรัชญาว่าเป็นอะไร ก็ต้องไปดูว่า Philosophy คืออะไร ไม่ใช่ไปดูความหมายของคำว่า ปฺรชฺา เดิมในภาษาสันสกฤต

นี่ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อคำว่าศิลปศาสตร์เป็นคำที่บัญญัติขึ้นสำหรับคำว่า Liberal Arts ก็ต้องกลับไปดูว่า Liberal Arts นั้นคืออะไร แล้วจึงจะมีความเข้าใจร่วมกันได้ ตอนนี้แหละที่จะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือ ตอนที่มาพูดถึงความหมายของคำว่า Liberal Arts แต่ถึงอย่างไรก็เลี่ยงไม่ได้ จึงขอทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน

Liberal Arts เป็นชื่อเรียกวิชาการ หรือความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนกันหมวดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามระบบการจัดแยกประเภทวิชาตามแบบตะวันตก มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันโบราณ ถ้าแปลเฉพาะตัวศัพท์เอง Liberal เดิมแปลว่า free คือ เสรี หรือ อิสระเสรี Arts ก็แปลว่า ศิลปะ รวมกันเป็น “ศิลปเสรี” แต่คำว่า Arts ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งใช้ในความหมายของศิลปะ อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน มันหมายถึงวิชาการที่เล่าเรียนศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้น Liberal Arts เขาจึงแปลว่า “วิชาการสำหรับเสรีชน” อันนี้คือความหมายเดิม และในสมัยกรีกนั้น คำว่า Liberal Arts ก็ใช้คู่กับคำว่า Servile Arts ซึ่งแปลว่าวิชาการสำหรับคนที่เป็นข้าทาส เพราะว่าในสมัยนั้นกรีกแบ่งคนเป็นชนชั้น คือ มีพวกเสรีชน แล้วก็มีชนชั้นข้าทาส บางทีก็เรียก Servile Arts หรือ วิชาการสำหรับข้าทาสนี้ว่า Practical Arts แปลว่า วิชาการภาคปฏิบัติหรือลงมือทำ

เป็นอันว่า ในสมัยกรีกโบราณ ได้แบ่งวิชาการออกเป็น ๒ พวก อย่างที่ว่ามานี้ ในยุคนั้นคนที่เป็นปราชญ์สำคัญก็คือ เพลโต และอริสโตเติ้ล ท่านทั้งสองนี้เป็นผู้ให้ความหมายที่เป็นสาระสำคัญแก่คำว่า Liberal Arts ให้หมายถึงวิชาสำหรับฝึกฝนพัฒนา ให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญา และศีลธรรม โดยเฉพาะในความหมายที่แคบเข้ามาก็มุ่งให้มีความชำนาญในการใช้ภาษาแสดงออก สื่อสาร รู้จักพูด และคิดเหตุผลได้ดี นี้เป็นความหมายที่นักปราชญ์กรีกในสมัยโน้นได้พูดไว้

วิชาที่ตรงข้าม เป็นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแบ่งชนชั้นด้วย ก็คือ Servile Arts หรือ Practical Arts ซึ่งเป็นวิชาจำพวกใช้ฝีมือ และแรงกาย ได้แก่งานอาชีพประเภทต่างๆ

เพื่อขยายความในเรื่องนี้ เขาบอกว่า การที่จะเป็น Liberal Arts ได้นั้น จะต้องมีหลักสำคัญ ๓ ประการ หรือจะเรียกว่าเป็นความหมายสำคัญของ Liberal Arts ที่เรามาบัญญัติกันว่า “ศิลปศาสตร์” นี้ก็ได้ หลักสำคัญ ๓ ประการที่กล่าวไว้ในสมัยกรีก คือ

๑. เป็นวิชาที่เหมาะสมสำหรับเสรีชน คือสำหรับชนชั้นสูง พวกผู้ดี พวกที่จะเป็นผู้นำของสังคม

๒. เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญาอย่างสูง คือ ในการที่จะศึกษาเล่าเรียน ต้องใช้สติปัญญาสูง ไม่ใช่ใช้แต่แรงงานฝีมือไปฝึกฝนเอาเท่านั้น ถ้าใช้แค่แรงงานฝีมือฝึกฝนเอา ก็จะเป็นประเภทที่ ๒ เรียกว่า Servile Arts หรือ Practical Arts ซึ่งเป็นวิชาชั้นต่ำ

๓. เป็นวิชาการที่ยกระดับจิตใจของผู้เรียน และผู้ปฏิบัติ ทำให้จิตใจ สมองและสติปัญญาสูงขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงให้สิ่งตอบแทน เป็นความสุขสะดวกสบายทางวัตถุเท่านั้น ต่างจากวิชาชีพทั้งหลาย ซึ่งโดยมากมุ่งแสวงหาผลตอบแทนทางด้านวัตถุ ให้ได้ความสะดวกสบายต่างๆ ที่เรียกว่า ผลประโยชน์ แต่วิชาพวก Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์นี้ จะต้องมีลักษณะที่ยกระดับจิตใจด้วย

เมื่อเทียบกับวิชา Liberal Arts ที่เป็นอย่างนี้แล้ว ฝ่ายตรงข้าม คือ Servile Arts ก็มีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ๓ ข้อ คือ

๑. เป็นวิชาสำหรับชนชั้นข้าทาส คนที่ใช้แรงงาน ใช้ฝีมือ

๒. เป็นวิชาที่ไม่ต้องใช้สติปัญญา ความสามารถ ใช้แค่แรงงานฝีมือฝึกเอา

๓. เป็นวิชาการที่ไม่ได้ยกระดับจิตใจมนุษย์ เป็นเพียงให้ความสุขสะดวกสบายทางวัตถุ หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น

นี่เป็นการแบ่งวิชาการของคนในสมัยกรีก ซึ่งในบางแง่บางมุมก็ยังใช้ได้แม้กระทั่งปัจจุบัน คือ ถ้าเราแยกความหมายในแง่ที่เกี่ยวกับชนชั้นออกไปแล้ว ก็คิดว่าความหมายอื่นๆ ยังใช้ประโยชน์ได้มาก หลักสำคัญทั้ง ๓ ข้อ ยังมีประโยชน์ในการที่จะพิจารณาเรื่องวิชาศิลปศาสตร์ แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน

เนื้อหาและขอบเขตของศิลปศาสตร์

ในด้านตัววิชาการ ในสมัยกรีกเดิมก็ยังไม่ได้กำหนดจำนวนแน่นอน ว่าศิลปศาสตร์คือวิชาการอะไรบ้าง จนกระทั่งก่อนคริสต์ศักราช ๑๐๐ ปี หรือ ๑ ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช จึงได้เริ่มต้นจัดให้มีวิชาศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts ทั้ง ๗ ซึ่งกลายเป็นประเพณีในวัฒนธรรมตะวันตก เรียกว่า the Seven Liberal Arts ดังมาปรากฏชัดเจนมากในสมัยกลางของยุโรป ที่ได้แบ่งวิชา Liberal Arts นั้น ออกเป็น ๒ หมวด คือ

หมวดที่ ๑ เรียกว่า Trivium แปลว่า วิชาหมวด ๓ หรือ ตรีบท ได้แก่วิชาไวยากรณ์ (รวมวิชาวรรณคดี) ตรรกศาสตร์ และวาทศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาชั้นต้น ต่อมามีการให้ degree และนำไปสู่ bachelor degree ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า ปริญญาตรี

หมวดที่ ๒ เรียกว่า Quadrivium แปลว่า วิชาหมวด ๔ หรือ จตุบท ได้แก่วิชา เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และดนตรี นำไปสู่ปริญญา master degree

นี้เป็นการจัดแบ่งประเภทวิชา ที่ก้าวหน้ามาตามกาลเวลาจนถึงยุคสมัยกลาง (the Middle Ages) อย่างไรก็ตาม ในสมัยกลางของยุโรปโดยเฉพาะตอนต้นที่เรียกว่ายุคมืด (the Dark Ages) การศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ได้เสื่อมโทรมหยุดนิ่ง ชะงักงัน ไม่ก้าวหน้าและมีการปิดกั้นในทางสติปัญญา จนถึงยุคสมัย Renaissance จึงได้มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการกันขึ้นใหม่ และมีการขยายความหมายของคำว่า Liberal Arts ให้กว้างขึ้น ได้ความหมายอย่างง่ายๆ ไม่จำกัดเฉพาะ ๗ อย่าง แต่หมายถึงวิชาการทุกอย่างที่ให้ความรู้ในลักษณะที่เป็นการศึกษาแบบทั่วๆ ไป ซึ่งมิใช่เป็นวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ คือ เป็น General Education อันนี้เป็นความหมายที่ใกล้กันมากกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน

ในที่สุดพอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ Liberal Arts ก็กระจายขยายกว้างออกไป บางทีก็ให้ความหมายโดยแจกแจงเป็นวิชา ได้แก่วิชาจำพวกวรรณคดี ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ให้เรียนเป็นฐานของการศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ที่จะลงลึกเฉพาะด้านต่อไป เป็นวิชาการที่มุ่งให้ความรู้ทั่วไป และพัฒนาความสามารถทางปัญญา ตรงข้ามกับวิชาชีพและเทคนิคต่างๆ ในปัจจุบันนิยมจัดพวกศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts นี้เป็น ๓ หมวดวิชาใหญ่ๆ หรือ ๓ สาขา คือ

๑. หมวดมนุษยศาสตร์ หรือ The Humanities ได้แก่วิชา วรรณคดี ภาษา ปรัชญา ประณีตศิลป์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ และดนตรี เป็นต้น

๒. หมวดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ (Natural) Sciences and Mathematics ได้แก่วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เลขคณิต เรขาคณิต เป็นต้น

๓. หมวดสังคมศาสตร์ หรือ the Social Sciences เช่น วิชาสังคมวิทยา รัฐศาสตร์ (การปกครอง) กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

อันนี้เป็นการแบ่งวิชาที่มาจัดกันขึ้น โดยเอาไปเทียบกับ Liberal Arts หรือ ศิลปศาสตร์ การที่นักวิชาการบางพวกมาจัดแบ่งเป็น ๓ หมวดอย่างนี้ ก็เป็นความนิยมขึ้นมาในระยะหลัง

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทราบว่า นักศึกษาทุกคนเมื่อเข้าเรียนใหม่ๆ จะต้องเริ่มต้นโดยการเข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ ในคณะศิลปศาสตร์ เป็นการเรียนร่วมกันของนักศึกษาใหม่ทุกคน เท่ากับว่าเอาศิลปศาสตร์เป็นวิชาการพื้นฐาน คือ เป็นพื้นฐานของการเรียนวิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่อไป ในกรณีนี้เราจะได้ความหมายที่เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ทั้ง ๒ แง่คือ

๑. เป็นการจัดแบ่งวิชาการเป็น ๒ ประเภท คือ วิชาการประเภทพื้นฐานทั่วไป กับวิชาการประเภทวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ

๒. เอาวิชาการประเภทพื้นฐานทั่วไป มาเรียนเป็นพื้นเริ่มต้น ก่อนที่จะไปเรียนวิชาชีพและวิชาเฉพาะ

การให้นักศึกษามาเรียนร่วมกันนี้เป็นผลดี นอกจากในแง่วิชาการก็คือ การได้มารู้จักสังสรรค์คุ้นเคยในฐานะผู้ร่วมสถาบันเดียวกัน แม้ว่าจะแยกย้ายไปเรียนในคณะต่างๆ ต่อไปภายหลัง ก็เคยมีชีวิตร่วมกัน ศึกษาร่วมกันในคณะศิลปศาสตร์นี้ คณะศิลปศาสตร์จึงเท่ากับเป็นที่รวม เป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกคน ตอนนี้ขอยุติความหมายของศิลปศาสตร์อย่างที่เราบัญญัติตามวิชาการของตะวันตก

ศิลปศาสตร์ในสายวัฒนธรรมตะวันออก

ความจริง คำว่าศิลปศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยมาแต่เดิมก็มี ถ้าเราไม่เอาศิลปศาสตร์ไปผูกมัดกับคำจากตะวันตก คือไม่เอาไปพูดในฐานะเป็นศัพท์บัญญัติที่แปลจาก Liberal Arts ก็จะเห็นว่า ที่จริงแล้วทางตะวันออกก็มีศิลปศาสตร์เหมือนกัน ในสมัยโบราณเราพูดถึงวิชาการต่างๆ ที่ได้ศึกษากันมา เช่น ในคัมภีร์อย่างราชนีติ และโลกนิติ เป็นต้น ก็มีการกล่าวถึงศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ แสดงว่าคำว่า “ศิลปศาสตร์” นี้ มีในรากฐานของวัฒนธรรมสายตะวันออกด้วย

ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนี้ ที่จริงไม่ได้เรียกศิลปศาสตร์ ตัวศัพท์แท้ๆ เรียกแค่ศิลปะเท่านั้น คือเรียกว่า สิปฺป ในภาษาบาลี และ ศิลฺป ในภาษาสันสกฤต ศิลปะนั้นเป็นวิชาการอยู่ในตัวของมันเอง คือเรียกวิชาการทั้งหมดว่าเป็นศิลปะ ซึ่งก็แปลกที่ไปตรงกับภาษาอังกฤษ ที่ว่าในสมัยโบราณนั้นฝรั่งก็เรียกวิชาการต่างๆ ที่ศึกษาว่า Arts เท่านั้น เพิ่งจะมีคำว่า Sciences ขึ้นมาในตอนหลังนี้เอง แต่ก่อนโน้นวิชาการที่เรียนกันเป็น Arts ทั้งนั้น จึงมาตรงกับฝ่ายตะวันออกที่เรียกวิชาการที่ศึกษาว่า “ศิลปะ” เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป ในความหมายเดิมจึงไม่ใช่เป็นศิลปะอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับความงาม แต่เป็นเรื่องของวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนทั้งหลายทั้งหมด

เป็นอันว่าทางตะวันออกในสมัยโบราณเรียกวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนกันว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป มีศิลปะที่นิยมเรียนกันทั้งหมดเรียกว่า ศิลปะ ๑๘ ประการ แม้แต่พระพุทธองค์ของเราก็มีประวัติว่า ก่อนที่จะได้ออกบรรพชาก็ได้ทรงเล่าเรียนจบศิลปะ ๑๘ ประการ ซึ่งเรามาเรียกกันว่าศิลปศาสตร์

ทำไมศิลปะจึงกลายมาเป็นศิลปศาสตร์ คำว่า ศาสตร์ ที่ต่อท้ายศิลปะนั้น แปลว่า ตำรา ถ้าเป็นบาลีก็เป็น สิปฺปสตฺถ คำว่า ศาสตร์ ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า สตฺถ ซึ่งแปลว่า ตำรา สิปฺป แปลว่า วิชาการที่ศึกษาเล่าเรียน สตฺถ แปลว่า ตำรา เพราะฉะนั้น สิปฺปสตฺถ ก็แปลว่าตำราที่บรรจุวิชาการต่างๆ แต่ไปๆ มาๆ คำว่า สตฺถ หรือตำรา มีความหมายแปรไป กลายเป็นตัวความรู้ไปเสียเอง ผลที่สุดคำว่าศาสตร์ก็ได้ความหมายเป็นวิชาความรู้เหมือนกัน

เมื่อชักจะยุ่งนุงนังและสับสน ตอนหลังก็มีการบัญญัติหรือทำความเข้าใจกันใหม่ ทำให้คำว่า “ศิลปศาสตร์” หรือ “สิปฺปสตฺถ” มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. คำว่าศิลปศาสตร์ หรือ สิปฺปสตฺถ ในความหมายที่สืบจากเดิม คือ เป็นตำราว่าด้วยวิชาความรู้ที่จะศึกษาเล่าเรียนซึ่งมี ๑๘ ประการ ในแนวทางของวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะสายอินเดีย

๒. คำว่า ศิลปศาสตร์แยกออกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ศิลปะ และ ศาสตร์ ใกล้กับความหมายของคำว่า Arts and Sciences อย่างที่นิยมจัดประเภทวิชาการกันในสายตะวันตกยุคปัจจุบัน

ในสมัยหลังๆ ที่มีการแยกศิลปศาสตร์ ออกเป็นศิลป กับ ศาสตร์ นี้ ก็ได้มีการกำหนดความหมายแยกให้ต่างจากกันด้วย เช่น มีการจำกัดความ “ศิลป” ว่าเป็นวิชาการที่มุ่งต่อความงาม หรือเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับการใช้หรือแสดงฝีมือ ส่วน “ศาสตร์” หมายถึง วิชาการที่มุ่งต่อความจริง

สำหรับศิลปะ ๑๘ ประการ หรือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสายวัฒนธรรมตะวันออกนั้น เท่าที่พบในตำราเก่าๆ เขียนไว้ลักลั่น สับกันบ้าง เพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็มีหลายอย่างที่ตรงกัน และมีบางอย่างที่คงจะคลาดเคลื่อนไปเพราะกาลเวลาล่วงไปยาวนาน จะยกเอามากล่าวไว้สักชุดหนึ่งเป็นตัวอย่าง ได้แก่วิชานิติศาสตร์ โบราณคดี แพทย์ ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ การประพันธ์ นาฏศิลป์ คำนวณ การบริหารร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับกฎธรรมเนียมต่างๆ วิชาช่างเครื่องยนต์ การยิงธนู ตำรับพิชัยสงคราม มนต์ (วิชาความรู้การอันทำให้เกิดมงคล) และความรู้ทั่วไป ที่กล่าวนี้เป็นคำแปลจากภาษาบาลี-สันสกฤต

เพื่อเป็นความรู้ประกอบ สำหรับประดับปัญญาบารมี จะขอนำชื่อวิชาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มาแสดงไว้สักชุดหนึ่ง คือ

๑. สูติ ความรู้ทั่วไป

๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียมต่างๆ

๓. สังขยา การคำนวณ

๔. โยคยันตร์ การช่างยนต์

๕. นีติ นีติศาสตร์

๖. วิเสสิกา ความรู้การอันทำให้เกิดมงคล

๗. คันธัพพา วิชานาฏศิลป

๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย

๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู

๑๐. ปุราณา โบราณคดี

๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์

๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์

๑๓. โชติ ดาราศาสตร์

๑๔. มายา วิชาพิชัยสงคราม

๑๕. ฉันทสา การประพันธ์

๑๖. เกตุ วาทศิลป์

๑๗. มันตา วิชามนต์

๑๘. สัททา ไวยากรณ์

ศิลปศาสตร์ แบบตะวันออก หรือแบบตะวันตก

มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสมัยโบราณนี้ หรือถ้าจะเรียกตามคำเดิมแท้ๆ ว่า ศิลปะ ๑๘ ประการนี้ ถ้าเทียบกับการจัดแบ่งประเภทวิชาการแผนปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่า แม้ว่าหลายอย่างเข้าเกณฑ์ที่จะเรียกว่าเป็นวิชาศิลปศาสตร์ อย่างที่จัดกันว่าเป็นวิชาพื้นฐาน แต่อีกหลายอย่างเป็นจำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะ กล่าวได้ว่า คำว่าศิลปศาสตร์ หรือที่เดิมเรียกว่าศิลปะนั้น ในวัฒนธรรมสายอินเดียแต่เดิมมาเป็นคำเรียกวิชาการที่นิยมนับถือกันว่า สูงหรือสำคัญโดยทั่วไป การแยกประเภทคงจะไม่เหมือนกับในวัฒนธรรมตะวันตก และในแง่ที่เกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของคน สังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออกในสมัยนั้น ก็ไม่เหมือนกันในขณะที่สังคมกรีกแบ่งคนเป็นพวกเสรีชน กับคนชั้นข้าทาส แต่สังคมอินเดียแบ่งเป็น ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร การแบ่งชนชั้นที่ต่างกัน ย่อมมีผลต่อความแตกต่างทางการศึกษาด้วย

ข้อสังเกตนี้เป็นเครื่องเสริมย้ำความที่ว่า เรื่องศิลปศาสตร์ที่เราจะพูดกันในที่นี้ จะต้องว่าไปตามความหมายของศิลปศาสตร์ ในฐานะเป็นศัพท์ที่บัญญัติสำหรับ Liberal Arts ตามคติแห่งการจัดแบ่งประเภทวิชาการแบบตะวันตก ที่เรานำมาใช้ในปัจจุบัน การนำเรื่องศิลปศาสตร์แบบตะวันออก อย่างสมัยโบราณมาพูดไว้ในที่นี้ ถือได้ว่าเป็นเพียงการบรรยายประดับความรู้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้สังเกตไว้พร้อมกันด้วยว่า การที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า ในสายวัฒนธรรมตะวันออก จะไม่มีการศึกษาวิชาการชนิดที่เป็นพื้นฐาน แท้จริงแล้ว การศึกษาพื้นฐานเช่นนั้น เป็นสิ่งที่เน้นย้ำมากในวัฒนธรรมสายตะวันออก โดยเฉพาะในคติแห่งพระพุทธศาสนา แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมย่อมหมายถึงความแตกต่างแห่งการจัดระบบความคิด และบัญญัติทางภาษาด้วย สาระแห่งศิลปศาสตร์อย่างสมัยใหม่ที่พูดกันในที่นี้ อาจปรากฏในชื่ออื่นในระบบความคิดของตะวันออก

เพราะฉะนั้น แม้ว่าต่อไปนี้จะพูดถึงเรื่อง ศิลปศาสตร์ตามบัญญัติอย่างตะวันตก หรืออย่างสมัยใหม่ แต่สาระทางความคิด ก็ใช้ได้สำหรับการศึกษาวิชาการอย่างตะวันออกด้วยเช่นกัน หรืออาจจะเป็นไปในทางกลับกันด้วยซ้ำ คือ เป็นการกล่าวถึงสาระแห่งการศึกษาตามแนวคิดแบบตะวันออก ในโฉมหน้าหรือภายในรูปแบบของการจัดประเภทอย่างตะวันตก

อย่างไรก็ตาม สาระตามแนวคิดแบบตะวันออกที่ว่านั้น ก็มิใช่จะผิดแผกแตกต่างเป็นคนละเรื่องออกไปเลย เพราะเบื้องหลังโฉมหน้าและรูปแบบที่แตกต่างนั้น ก็มีสาระอย่างเดียวกันอันเป็นสากล คือ ความเป็นการศึกษาของมนุษย์ หรือการศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของชีวิตและสังคม และจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานอันเดียวกัน กล่าวคือ สัจจธรรม ดังจะได้กล่าวข้างหน้าต่อไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง