ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


สาระและจุดหมายของศิลปศาสตร์

รากฐานร่วมของศิลปศาสตร์

เป็นอันว่า ในที่นี้ ขอพูดไว้ ๖ แง่ด้วยกัน ในเรื่องที่ว่าเรามองการศึกษาศิลปศาสตร์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่าสำคัญๆ ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างไร ถ้ามีการศึกษากันอย่างถูกต้องแล้ว ศิลปศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้จะเป็นวิชาซึ่งทำหน้าที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ในแง่จุดหมายปลายทาง เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต และอย่างน้อยในระหว่างกระบวนการของการศึกษา ก็เป็นวิชาที่สร้างนักศึกษา

วิชาศิลปศาสตร์ทั้งหมด แม้จะมีหลายอย่าง ดังที่โบราณว่ามี ๑๘ ประการ หรือนับตามที่จัดแบ่งกันในปัจจุบันก็เกือบจะถึง ๑๘ ประการ ถ้าแยกย่อยออกไปเป็นรายวิชาก็เกินกว่า ๑๘ ประการ อย่างที่คณะศิลปศาสตร์นี้แยกเป็น courses ต่างๆ สงสัยว่าจะถึงหรือจวนถึง ๔๐ - ๕๐ courses นับว่ามากมายด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ศิลปศาสตร์ที่มากมายเหล่านั้นก็ต้องโยงมาบรรจบกันได้ โยงกันที่ไหน จุดรวมอยู่ที่อะไร ตอบว่า มันโยงมาหาและบรรจบกันที่รากฐานของมัน รากฐานของศิลปศาสตร์ทั้งหมดคืออะไร ก็คือ สัจจธรรม

โดยนัยนี้ ศิลปศาสตร์ ถึงจะแตกแขนงเป็นวิชาการต่างๆ มากมายหลายประการก็ตาม แต่ในที่สุดมันก็มารวมลงที่รากฐานของมันเป็นอันเดียว คือ การมีสัจจธรรมเป็นรากฐาน และดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สัจจธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา ดังนั้นหลักการทั้งหมดจึงมาบรรจบกัน ที่สิ่งซึ่งเป็นแก่นแท้ของการศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การที่จะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ศิลปศาสตร์จนถึงรากฐานคือสัจจธรรม

ความสำเร็จของศิลปศาสตร์ อยู่ที่สัจจะ จริยะ และศิลปะ

เราพูดถึงรากฐานของศิลปศาสตร์ ว่าได้แก่สัจจธรรม เมื่อเรารู้สัจจธรรม ก็คือรู้สิ่งที่เป็นแกนและเป็นรากฐานของศิลปศาสตร์ ดังนั้น เมื่อศึกษาศิลปศาสตร์แต่ละอย่าง จึงต้องศึกษาให้ถึงแก่น ให้ถึงเนื้อตัว ให้ถึงสาระของมัน คือ ให้ถึงสัจจธรรม เมื่อรู้สัจจธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร เมื่อเกิดปัญญารู้ในสัจจธรรมแล้ว นำความรู้นั้นมาใช้ ก็ปฏิบัติต่อชีวิต ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบตัว ต่อธรรมชาติ ต่อสังคมโดยถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักความจริงธรรมดาว่า คนจะปฏิบัติต่อสิ่งใดได้ถูกต้องก็จะต้องรู้จักสิ่งนั้น เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลกถูกต้อง ต่อชีวิตถูกต้อง ต่อประสบการณ์ต่างๆ ต่อสถานการณ์ต่างๆ ถูกต้อง

การนำความรู้ในสัจจธรรมมาใช้ ซึ่งทำให้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั้นเอง คือ สิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม

อนึ่ง ในการที่ปฏิบัติอย่างนั้น การที่เรามีความถนัดจัดเจนคล่องแคล่วในการปฏิบัติ คือสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ ซึ่งแทรกอยู่ในศิลปศาสตร์ ความเป็นศิลปะในศิลปศาสตร์ ถ้าไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นก็ยากที่จะทำให้ศิลปศาสตร์นั้นเกิดผลที่ต้องการได้

ความเป็นศิลปะ ก็ดังได้บอกแล้วว่า ได้แก่ ความถนัดจัดเจนแคล่วคล่อง ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ ดังนั้น คนที่มีศิลปะก็จึงสามารถที่จะนำเอาความรู้มาใช้ปฏิบัติให้เกิดผล ตรงข้ามกับคนบางคนซึ่งทั้งที่รู้แต่ไม่มีศิลปะ ทำแล้วก็ไม่เกิดผลที่ต้องการหรือไม่ได้ผลดี

ศิลปะนี้เป็นตัวแทรกสำคัญ สำหรับใช้คู่กันกับจริยธรรม จริยธรรมเป็นตัวการนำความรู้มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตตามวัตถุประสงค์ ส่วนศิลปะก็คือความแคล่วคล่องชำนิชำนาญจัดเจนในการปฏิบัติ ที่จะให้การใช้ความรู้สำเร็จผลอย่างนั้น

แต่จะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ศิลปะนั้นจะต้องให้มาคู่กันกับจริยธรรม หรือจะต้องให้มีจริยธรรมมาด้วยเสมอไป คือ จะต้องใช้ศิลปะโดยมีจริยธรรมกำกับ หรือให้ศิลปะเป็นเครื่องเสริมจริยธรรมนั่นเอง เพราะถ้าใช้ศิลปะโดยไม่มีจริยธรรม ความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายของวิชาการนั้นๆ หรือกิจกรรมนั้นๆ แต่อาจจะถูกใช้ให้บิดเบือนเบี่ยงเบนจากความมุ่งหมายแท้จริง ที่เป็นสัจจธรรมกลายเป็นการกระทำเพื่อสนองความเห็นแก่ตัว และเพื่อการทำลายในรูปต่างๆ ที่พูดสั้นๆ ว่า เพื่อสนองโลภะ โทสะ และโมหะ หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิไปก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ศิลปศาสตร์จะสำเร็จประโยชน์ตามความหมาย ตามเนื้อหาสาระ และตามความมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิผล ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนเข้าถึงสัจจธรรม แล้วปฏิบัติถูกต้องโดยเป็นไปตามจริยธรรม และลงมือจัดทำอย่างมีศิลปะ

ขอพูดถึงจริยธรรมอีกนิดว่า จริยธรรมเป็นแกนร้อยประสาน นำทางศิลปศาสตร์ทั้งหมดให้ดำเนินไปสู่จุดหมาย เพราะว่าจริยธรรมเป็นตัวทำการที่นำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม การที่จะนำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติ ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นแหละ เป็นแกนร้อยประสานศิลปศาสตร์ทุกวิชาเข้าด้วยกัน

หมายความว่า ศิลปศาสตร์ทั้งหมดมีแกนร้อยอันเดียวกัน คือการปฏิบัติให้ถูกต้องในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม ซึ่งก็คือจริยธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนั้น จริยธรรมจึงเป็นตัวนำทิศทางของศิลปศาสตร์ทั้งหมด นี้คือความสำคัญของจริยธรรม ส่วนศิลปะก็แทรกอยู่ในนี้

ผู้บรรลุจุดหมายหรือผลผลิตสุดท้ายของศิลปศาสตร์

เมื่อรู้ความจริง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามความรู้นั้น และมีความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็ได้ผลที่ต้องการ ศิลปศาสตร์ก็อำนวยคุณค่าที่แท้จริง คือ แก้ปัญหาของมนุษย์ และแก้ปัญหาของสังคมได้ ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นมา พ้นปัญหา พ้นทุกข์ ประสบความสุข มีอิสรภาพ การที่มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพนี้แหละ เป็นจุดหมายขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้และสูงสุดที่ต้องการของชีวิต

สาระสำคัญ ๓ อย่างที่กล่าวมานี้คือ คุณสมบัติของบัณฑิต คนที่ศึกษาจบจริงๆ จะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ

๑. มีปัญญา รู้ถึงสัจจธรรม

๒. ใช้ความรู้นั้นดำเนินชีวิต โดยปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมด้วยจริยธรรม โดยมีศิลปะ และ

๓. เข้าถึงจุดหมายของชีวิต คือแก้ปัญหาได้ พ้นทุกข์ พ้นปัญหา ประสบอิสรภาพ

คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ประกอบกันเข้าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นบัณฑิตที่แท้ บัณฑิตนี้เราเรียกอีกอย่างหนึ่งในขั้นที่สูงว่าเป็น “พุทธ” ในพระพุทธศาสนา คำว่า “บัณฑิต” นั้นบางครั้งเป็นศัพท์ใช้แทนกันได้กับคำว่า “พุทธ” ผู้ที่เป็นบัณฑิตที่แท้จริงก็เป็นพุทธด้วย คำว่าพุทธนั้น ไม่ใช่ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น พุทธนั้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทก็ได้ เป็น ๔ ประเภทก็ได้

๑. ผู้ที่ค้นพบสัจจธรรมได้ด้วยตนเอง ด้วยปัญญาของตนเอง ด้วยการพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง จนเข้าถึงสัจจธรรมด้วยตนเอง และเมื่อค้นพบแล้วก็ประกาศสัจจธรรมนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เราเรียกว่า “พระสัมมาสัมพุทธ”

๒. ผู้ที่ค้นพบด้วยตนเองแล้ว ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะเผยแพร่สั่งสอนแก่ผู้อื่น เราเรียกว่า “ปัจเจกพุทธ”

๓. ผู้ที่รู้ตามเมื่อเข้าใจคำสอนคำประกาศของพระสัมมาสัมพุทธแล้ว ก็เป็นพุทธเหมือนกัน เรียกว่า “สาวกพุทธ” หรือ “อนุพุทธ” คือผู้ตรัสรู้ตาม และ

๔. บางครั้งท่านเรียกแม้แต่คนที่ยังศึกษาอยู่ ยังไม่หมดกิเลส แต่มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธประกาศไว้เป็นอย่างดี ว่าเป็นพุทธประเภทหนึ่ง เรียกว่า “สุตพุทธ” จัดเป็นบัณฑิต แล้วก็จะพัฒนาไปเป็นพุทธที่แท้ในที่สุดได้ด้วย

นี่ก็เป็นความหมาย ที่มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง ของหัวข้อที่พูดไว้แต่เบื้องต้นจนถึงข้อสุดท้าย การเรียนการสอนศิลปศาสตร์ จะเป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริงจนปรากฏคุณค่า และให้สำเร็จผล ตามวัตถุประสงค์ของความเป็นศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง ก็ด้วยวิธีการศึกษา โดยมีความเข้าใจดังที่กล่าวมานั้น

ศิลปศาสตร์นำสู่รุ่งอรุณของการศึกษา

เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้องแล้ว แม้จะเป็นการเรียนการสอนที่เรียกว่าขั้นพื้นฐานหรือเป็นชั้นเบื้องต้น แต่ที่จริงแล้วกลับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะเป็นการศึกษาที่จะอำนวยผล มีอิทธิพลต่อการเรียนวิชาที่เรียกว่าชั้นสูงต่อไปโดยตลอด

ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมไว้ดี ด้วยศิลปศาสตร์แล้ว เราจะไม่เป็นผู้พร้อมและไม่มีทัศนคติที่ถูกต้อง ในการที่จะไปศึกษาเล่าเรียนวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ เช่น มีแรงจูงใจที่ผิดในการศึกษา ไม่ศึกษาไปเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อพัฒนาสังคม แต่ศึกษาไปสนองเพิ่มความเห็นแก่ตัว ศึกษาโดยขาดความใฝ่รู้ศึกษาโดยไม่รู้วิธีคิด ศึกษาโดยคิดไม่เป็น ศึกษาโดยเรียนไม่เป็น ศึกษาโดยไม่รู้จักค้นคว้าหาความแจ้งจริง กลายเป็นการศึกษาที่ผิดพลาดไป และไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ไม่นำไปสู่การที่จะรู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ตลอดจนนำความรู้วิชาชีพ และวิชาเฉพาะที่เป็นอุปกรณ์นั้น ไปใช้ในทางที่ผิดพลาด เป็นโทษแก่ชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ศิลปศาสตร์จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะเรียน ทำให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการเรียน และทำให้สามารถใช้วิชาที่เป็นอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์ที่ศึกษาอย่างถูกต้อง วิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะที่เรียกว่าชั้นสูงนั้น ก็จะไม่เกิดผลเกิดคุณค่าอำนวยประโยชน์อย่างแท้จริง บางทีก็อาจจะเกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมดังที่ได้กล่าวมา

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดขึ้น และเป็นเครื่องวัดผลการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์เองด้วย ว่าได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องนั้น แม้จะได้กล่าวถึงไปแล้วบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่มีโอกาสจะแจกแจงอธิบายในที่นี้ได้ จึงจะแสดงไว้เพียงเป็นเรื่องแทรก และระบุไว้แต่เพียงหัวข้อ พอเป็นเชื้อสำหรับการวิเคราะห์และค้นคว้าต่อไป

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษานี้ เป็นหลักธรรมที่เรียกชื่อว่า รุ่งอรุณของการศึกษา แต่เพราะมิใช่จะเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาเท่านั้น ยังเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อคน ต่อสัตว์ ต่อสิ่งทั้งหลายทั่วไปทั้งหมดด้วย จึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม แสดงไว้แต่เพียงหัวข้อ ๗ ประการ ดังนี้

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี คือ การรู้จักเลือกสรรและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเอื้ออำนวยความรู้จริงและการสร้างสรรค์ความดีงาม

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย คือ มีวินัยในการดำเนินชีวิต หรือรู้จักจัดระเบียบชีวิต เช่น รู้จักใช้เวลาแบ่งเวลา รักษาวินัยของชุมชนและสังคม และรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมให้เรียบร้อยเกื้อกูล รวมทั้งความประพฤติดีงามสุจริต ไม่เบียดเบียนก่อเวรภัยแก่สังคม เรียกสั้นๆ ว่า มีศีล

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ การรักความจริง รักความดีงาม ที่แสดงออกเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ คือ มีความมั่นใจในศักยภาพของตนที่พัฒนาได้ หรือในฐานะเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีจิตสำนึกในการศึกษา มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มที่จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพ

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล คือ มีความเชื่อถือ แนวความคิดความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ ดีงามถูกต้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ตื่นตัว และกระตือรือร้นในการเรียนรู้พัฒนาตน และเร่งรัดจัดทำการต่างๆ ไม่ปล่อยปละละเลย หรือเฉื่อยชา เรียกง่ายๆ ว่า ไม่ประมาท

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก รู้จักมองหาคุณค่าและเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ สถานการณ์ และประสบการณ์ทุกอย่าง คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัยให้เข้าถึงความจริง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และก็เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา ที่จะต้องสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ หรือรุ่งอรุณของการศึกษานี้ ให้มีขึ้นในผู้เรียน ซึ่งก็คือการสร้างความเป็น นักศึกษา นั่นเอง และคุณสมบัติที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาเหล่านี้ทั้งหมด ก็มีจุดรวมอยู่ที่การพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางของการปลูกฝังคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด

ถ้าหันหลังย้อนไปดูความหมาย และความมุ่งหมายของ Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ ตามที่ปราชญ์กรีกสมัยโบราณได้แสดงไว้ จะเห็นว่า ถ้าตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของปราชญ์กรีกออกไปแล้ว แนวความคิดทั่วไปจะสอดคล้องกัน เข้ากันได้กับเนื้อหาสาระที่ได้กล่าวมาในที่นี้ คือ ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญาและยกระดับจิตใจของผู้เรียน ทำให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม

สำหรับความหมาย ในด้านที่เป็นการแบ่งแยกชนชั้น ดังที่ปราชญ์กรีกว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาการสำหรับเสรีชน ตรงข้ามกับวิชาประเภทแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นวิชาการสำหรับชนชั้นข้าทาสนั้น ก็อาจจะดัดแปลงเสียใหม่ โดยตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นออกไปเสียทั้งหมด แล้วให้ความหมายที่เป็นไปตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่า อิสรภาพเป็นจุดหมายของชีวิต

เมื่อตกลงตามนี้แล้ว ก็จะได้ความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับหลักธรรมว่า ทุกคนควรจะพัฒนาตนให้เข้าถึงอิสรภาพ ซึ่งพูดให้เข้ากับคำศัพท์ที่ใช้ในที่นี้ว่า ทุกคนควรพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน

เสรีชน ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หมายถึงบุคคลทุกคนที่ได้พัฒนาปัญญา จนบรรลุจุดหมายสูงสุดเข้าถึงอิสรภาพแล้ว ซึ่งเรียกว่าเป็น บัณฑิต ในความหมายว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือในขั้นสูงสุด เรียกว่าเป็น พุทธ ในความหมายว่า เป็นผู้เข้าถึงปัญญาอันสูงสุดเต็มบริบูรณ์แห่งการพัฒนาศักยภาพ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเป็นเสรีชนที่แท้จริง เพราะได้บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์

ศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้ เป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่ง คือเป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ที่จะได้ศึกษาเพื่อพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน หรือเป็นบุคคลผู้เข้าถึงอิสรภาพ และศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้แหละจะเป็นศิลปศาสตร์ที่มีความหมาย และความมุ่งหมายสมบูรณ์ ตามหลักแห่งพุทธธรรม

ในที่นี้อาจให้ความหมายแบบประมวลความ ซึ่งเป็นการประสานแนวความคิดของตะวันตก เข้ากับหลักแห่งพุทธธรรมได้ดังนี้ว่า

ศิลปศาสตร์ คือวิชาการที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญา และยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้เข้าถึงอิสรภาพเป็นเสรีชน ผู้เพียบพร้อมด้วยความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม ซึ่งจะเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง

ความผิดพลาดของอดีตที่รอการแก้ไข

ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ถือกันว่าโลกได้เจริญเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาอย่างสูง แต่สังคมก็ประสบปัญหาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งกว่าแต่ก่อน จนถึงกับกล่าวกันว่า สังคมมนุษย์เดินทางผิดพลาด การพัฒนาล้มเหลว และอารยธรรมของมนุษย์ติดตัน ปัญหาและความเสื่อมโทรมต่างๆ ที่เกิดมีในยุคที่พัฒนามากแล้วนี้ รุนแรงถึงขนาดที่อาจนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศสูญสิ้นก็ได้ นับเป็นภัยที่ร้ายแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

การที่การพัฒนาผิดพลาดล้มเหลว ย่อมหมายถึงความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการทั้งหลายด้วย และความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการต่างๆ ก็บ่งชี้ไปถึงความผิดพลาดล้มเหลวของการศึกษา และถ้าการศึกษาที่ผ่านมาผิดพลาดล้มเหลว การศึกษาศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั้งหลายก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงทีเดียว จึงจะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบสภาพการเรียนการสอนศิลปศาสตร์กันใหม่ จะต้องมีการปรับปรุงการศึกษา และการปรับปรุงในวงการทางวิชาการโดยทั่วไป ตลอดจนระบบและกระบวนการพัฒนาสังคมทั้งหมด

ดังเป็นที่ยอมรับกันแล้วในระดับโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้เริ่มต้นความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนาใหม่แล้ว โดยได้ประกาศตามข้อเสนอขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ UNESCO ให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม (World Decade for Cultural Development)

สหประชาชาติได้แถลงถึงความผิดพลาด ของการพัฒนาในสมัยที่ผ่านมา ซึ่งได้มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ ในกระบวนการพัฒนา และประกาศให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาใหม่ โดยให้ยึดวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

จุดที่น่าสนใจในที่นี้ คือตัวเหตุปัจจัยว่า อะไรเป็นจุดอ่อน เป็นข้อบกพร่อง ที่ทำให้การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้ผิดพลาดไป จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

ในที่นี้ ขอเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่สำคัญในวงวิชาการ และในกระบวนการพัฒนา ที่การศึกษาจะต้องตรวจสอบและปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั่วไปจะต้องรับผิดชอบ และควรจะเข้ารับบทบาทเป็นผู้นำในการแก้ไขปรับปรุง

จุดอ่อน และข้อบกพร่องสำคัญของยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาจะต้องรู้เข้าใจและแก้ไขปรับปรุง ที่เป็นข้อสำคัญขอเสนอไว้ดังนี้

๑. วิชาการทั้งหลายที่มากมายนั้น เป็นเหมือนกิ่งก้านที่แตกออกจากลำต้นหนึ่งเดียว และมีรากเหง้าเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวว่ามีรากฐานเดียวกันคือ สัจจธรรม การที่แตกแขนงออกไป ก็เพื่อเจาะลึกความจริงให้ชัดเจนลงไปในแต่ละด้าน จะได้ทำหน้าที่หรือทำงานเช่นแก้ปัญหาแต่ละด้านๆ นั้นได้เต็มที่ แต่จะต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอว่า การที่จะให้ได้ความจริงเป็นสัจจธรรมที่สมบูรณ์ และแก้ปัญหาของมนุษย์ได้แท้จริง วิชาการเหล่านั้น จะต้องเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันและประสานงานกัน อย่างที่เรียกว่าแยกแล้วโยง เพราะวัตถุประสงค์เดิมแท้ในการแยกออกไป ก็เพื่อช่วยกันหาความจริงด้านต่างๆ มาประกอบเป็นภาพรวมของความจริงที่สมบูรณ์

แต่ในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า หรือการพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อวิชาการต่างๆ แตกแขนงออกไปแล้ว ก็มุ่งดิ่งตรงไปข้างหน้าในด้านของตนๆ มีความก้าวหน้าไปไกลมากในแต่ละด้าน ทำให้พรมแดนแห่งความรู้ขยายกว้างออกไปมากมาย พร้อมกับที่กิจการของมนุษย์ ซึ่งสนองรับความรู้ของวิชาการด้านนั้นๆ ไปใช้ทำงาน ก็ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านของตนออกไปอย่างรวดเร็วและน่าอัศจรรย์ จนมีลักษณะเด่นที่เรียกว่า เป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง

แต่ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้า แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น มนุษย์แทบไม่รู้ตัวว่า หลักการเดิมข้อใหญ่ได้ถูกละเลย มองข้าม หรือหลงลืมไป คือการแยกเพื่อโยงให้เห็นชัดเจนสมบูรณ์ วิชาการและกิจการที่เนื่องกันกับวิชาการเหล่านั้น มองความจริงและดำเนินกิจกรรมมุ่งเฉพาะแต่ในด้านของตนๆ ไม่มาเชื่อมโยงบรรจบและไม่ประสานงานกัน

มนุษย์มาเริ่มรู้ตัวถึงความผิดพลาดขึ้นในขณะนี้ ก็เพราะได้เกิดปัญหามากมาย และร้ายแรง เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าเฉพาะด้านที่ติดตันทั้งในด้านการที่จะเข้าถึงความรู้จริงในสัจจธรรม และในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมมนุษย์ เพราะวิชาการเฉพาะด้าน แต่ละอย่างมองเห็นความจริงเฉพาะในแง่ด้านนั้นๆ และในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น ไม่ทั่วตลอด

เมื่อมองเห็นความจริงไม่รอบด้าน ก็ไม่ได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริง คือไม่เข้าถึงสัจจธรรม และกิจการที่เนื่องกับวิชาการเหล่านั้น เมื่อปฏิบัติไปตามความรู้ของวิชาการนั้น ให้สำเร็จผลในด้านของตนตามประสงค์ แต่ไม่รู้ตัวว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง ที่เป็นโทษในด้านอื่นที่นอกขอบเขตความรู้หรือความสนใจของตน ล้ำเข้าไปในแดนของวิชาการและกิจการอื่นๆ อย่างน้อยการแก้ปัญหาก็เป็นเพียงการแก้เป็นจุดๆ หย่อมๆ ไม่ครบ ไม่ทั่วถึง แก้ปัญหาไม่หมด ก็คือแก้ปัญหาไม่สำเร็จแท้จริง หรือแก้ด้านนี้ แต่กลายเป็นก่อปัญหาใหม่ด้านโน้น สร้างสรรค์ด้านหนึ่งเฉพาะหน้าในวงแคบ แต่กลายเป็นทำลายอีกด้านหนึ่งในวงกว้างและระยะยาว

ปัจจุบันนี้ วิชาการเฉพาะอย่างเหล่านั้นเจริญก้าวหน้าถึงขีดสูงสุด สภาพที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้ก็ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาและรุนแรง จนมนุษย์ในสังคมที่พัฒนาแล้วต้องหันมาทบทวนตรวจสอบวิชาการ และกิจการต่างๆ ของตน และเริ่มพบสาเหตุดังได้กล่าวมานั้น และเกิดความตื่นตัวขึ้นในบางกลุ่มบางแห่งที่จะหาหนทางใหม่ในการแสวงหาความรู้และดำเนินกิจการต่างๆ ดังเช่นที่แนวความคิดแบบองค์รวม (holism) ได้เฟื่องฟูขึ้น

ในสภาพเช่นนี้ ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน เป็นศูนย์รวมของวิชาการต่างๆ ควรจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานวิชาการและกิจการต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความรู้สมบูรณ์ที่เป็นสัจจธรรม และสามารถแก้ปัญหาสร้างสรรค์ความเจริญที่กลมกลืนและสมดุล ไม่ก่อผลกระทบในทางร้ายพ่วงมาในรูปต่างๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์โดยพื้นเดิมอยู่แล้วที่จะมีบทบาทเช่นนี้ ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับสัจจธรรม

๒. ในยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านที่ว่ามานั้น แม้แต่จริยธรรมก็ได้ถูกมองให้เป็นวิชาการอย่างหนึ่ง และเป็นกิจกรรมประเภทหนึ่ง ต่างหากจากวิชาการและกิจการอย่างอื่นๆ แทนที่จะเข้าใจตามเป็นจริงว่า จริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ติดอยู่ด้วยกัน หรือซึมซ่านอยู่ในวิชาการและกิจกรรมทุกอย่างและทุกขณะของมนุษย์ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับน้ำเลี้ยงในต้นไม้ที่ซึมซ่านไปหล่อเลี้ยงกิ่งก้านทุกส่วนของมัน ดำรงความมีชีวิตของต้นไม้นั้นไว้ หรือพูดให้ถูกต้องตรงแท้กว่านั้นอีก ก็คือ การเจริญเติบโต และทำหน้าที่อย่างถูกต้องขององค์ประกอบแต่ละส่วนของต้นไม้ ที่ทำให้ต้นไม้นั้นมีชีวิตงอกงามอยู่ต่อไป

จริยธรรม ก็คือ อาการของการกระทำ หรือลักษณะของการปฏิบัติในวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ที่ถูกต้องดีงามตรงตามคุณค่าของมันนั่นเอง จึงไม่อาจแยกออกต่างหากจากวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ได้

อย่างน้อยที่สุดหรืออย่างพื้นฐานที่สุด จริยธรรมก็คือการปฏิบัติในเรื่องของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ในทางที่จะให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ เช่น วิชาการแพทย์มีความมุ่งหมายเพื่อบำบัดโรค ช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคมีสุขภาพดี จริยธรรมในกรณีนี้ก็คือ การปฏิบัติของแพทย์หรือปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่มุ่งช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคและมีสุขภาพดี ความขาดจริยธรรมเกิดขึ้นเมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ใช้วิชาการแพทย์เป็นเครื่องมือมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทำลายผู้อื่นในรูปใดรูปหนึ่ง

จริยธรรมเป็นตัวคุม และเป็นเครื่องนำทางให้วิชาการและกิจการนั้นๆ เกิดผลดีตามความมุ่งหมายของมัน หรือเป็นตัวการปฏิบัติ ที่ทำให้ความรู้ในสัจจธรรมเกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นคู่กันกับสัจจธรรม และเมื่อคู่กับสัจจธรรม ก็คู่กับวิชาการต่างๆ ทุกอย่างที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมด้วย

ในยุคที่ผ่านมา สังคมประสบปัญหาอย่างหนักเนื่องจากการปฏิบัติ ที่ไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายที่แท้ของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ วิชาการและกิจการต่างๆ ถูกบิดเบนไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ สนองความเห็นแก่ตัวบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือเบียดเบียนทำลายกันบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาบ้าง

การที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ จะต้องกำจัดความผิดพลาดของอดีตในข้อนี้ให้ได้ คือจะต้องเข้าใจความหมายของจริยธรรมให้ถูกต้อง และให้การศึกษาชนิดที่สร้างสรรค์จริยธรรมขึ้นมาผนึกผสานไว้ด้วยในเนื้อตัวของวิชาการทั้งหลาย เพื่อคุมและนำทางให้การปฏิบัติในเรื่องของวิชาการนั้นๆ เป็นไปเพื่อผลดีตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของมัน การศึกษาส่วนที่จะทำหน้าที่นี้โดยตรง ก็คือ ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม

๓. ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น มักถูกมองแยกต่างหากจากกัน ในลักษณะที่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องตรงกันข้าม เป็นคู่แข่งแย้งกัน ไปด้วยกันไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง หรือจะต้องแย่งชิงกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่จะคอยเพ่งจ้องเอาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ระแวงระวังกลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ กลัวผลประโยชน์จะถูกแย่งชิงไป ตลอดจนมีความคิดที่จะกีดกันผู้อื่นออกไป เป็นการเสริมย้ำความรู้สึกเห็นแก่ตัวให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อาการที่เป็นอย่างนี้ เกิดจากความขาดการศึกษาที่จะทำให้รู้ตระหนักถึงความจริงที่ลึกลงไป ซึ่งเป็นพื้นฐานยิ่งกว่านั้นว่า ทั้งตนและผู้อื่นนั้นมีจุดรวมร่วมกัน คือความเป็นชีวิต หรือแม้แต่แคบเข้ามาคือความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ที่เป็นคุณค่าแท้จริงนั้นคือประโยชน์ที่เกื้อกูลแก่ชีวิต ประโยชน์ต่อชีวิตเป็นประโยชน์อย่างเป็นกลางๆ เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ประโยชน์ของชีวิต ทำให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เนื่องอยู่ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตย่อมเกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ในแง่นี้ สิ่งที่เป็นผลดีแก่ตนเอง ก็เป็นผลดีแก่ผู้อื่นด้วย คือดีสำหรับชีวิตของเขา ก็ดีสำหรับชีวิตของเราด้วย

ประโยชน์แก่ชีวิต หรือประโยชน์แก่มนุษย์อย่างนี้ เป็นประโยชน์พื้นฐานที่มีคุณค่าเสมอกัน ทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น การศึกษาที่แท้จริงมุ่งให้คนเข้าถึงประโยชน์อย่างนี้ และให้ช่วยกันสร้างสรรค์ส่งเสริมประโยชน์อย่างนี้ ซึ่งเป็นสาระของระบบความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ส่วนประโยชน์ตนและประโยชน์ของคนอื่น ชนิดที่เป็นการแบ่งแยก ต้องแย่งต้องแข่งกันนั้น เป็นเรื่องที่ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังใน ๒ ระดับ เพื่อรักษาไว้ ซึ่งระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลกันนั้น

ระดับที่ ๑ คือ ระดับประโยชน์ซ้อน หรือประโยชน์ชั้นนอก พยายามไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตน เป็นไปโดยขัดแย้ง หรือกระทบกระทั่งบั่นทอนทำลายประโยชน์ของผู้อื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ และ

ระดับที่ ๒ ที่สำคัญกว่านั้น คือระดับประโยชน์พื้นฐาน จะต้องไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตนนั้น เป็นการทำลายก่อความเสียหายต่อประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ จะเป็นไปอย่างพอดี ไม่สุดโต่ง ก็ต่อเมื่อเป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา โดยมีความรู้เท่าทันธรรมดาแห่งโลกสันนิวาสประกอบอยู่ด้วย

คนที่เข้าใจตระหนักในเรื่องประโยชน์ของชีวิตหรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว จะสามารถเข้าใจได้ต่อไปถึงระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกันในวงกว้างออกไป ที่เป็นระบบใหญ่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือจะรู้ตระหนักถึงความเป็นประโยชน์ที่เนื่องกัน และความประสานเกื้อกูลอย่างอิงอาศัยกันระหว่างชีวิตกับสังคม และกับธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อใดคำนึงถึงประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์อย่างเป็นกลางๆ เมื่อนั้นก็จะได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น พร้อมกันไปอย่างเป็นอันเดียว โดยไม่มีการแบ่งแยก และพร้อมกันนั้น ประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ ก็จะโยงไปหาสังคมและธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม และประโยชน์ของธรรมชาติแวดล้อมด้วย เพราะมองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและมีผลกระทบต่อกัน แล้วมนุษย์ก็จะมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่เป็นประโยชน์พื้นฐาน คือประโยชน์ร่วมกันของระบบความสัมพันธ์ของชีวิต สังคม และธรรมชาติทั้งหมด

มนุษย์จะมีความรู้เข้าใจว่า การรักษาและส่งเสริมประโยชน์พื้นฐาน เป็นการทำให้เกิดผลเกื้อกูลแก่องค์ประกอบทุกส่วน ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่นั้น ทำให้ทั้งระบบและทุกองค์ประกอบดำรงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้มาก และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาร้ายแรงที่สังคมและโลกทั้งหมดกำลังประสบอยู่ ดังที่ได้เริ่มตื่นตัวรู้กันขึ้นแล้ว และเป็นปัญหาซึ่งการศึกษาที่แท้จะต้องเป็นเจ้าบทบาทในการแก้ไข วิชาการที่จะทำให้การศึกษาส่วนนี้ทำหน้าที่สำเร็จผลได้ก็คือ วิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้ก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมอีกอย่างหนึ่ง

คำฝากแด่อาจารย์ศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ ที่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน ก็เพราะเป็นที่รองรับไว้ซึ่งวิชาการอื่นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เรียกว่าวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ โดยเป็นหลักประกันที่จะให้วิชาการเหล่านั้นบังเกิดผลดี สมตามความมุ่งหมายที่มนุษย์ได้จัดให้มีวิชาการเหล่านั้นขึ้น และความเป็นพื้นฐานนั้น ยังมีความหมายต่อไปอีกด้วยว่า เป็นการแผ่กว้างออกไปอย่างทั่วถึง เพื่อทำหน้าที่ในการรองรับให้สำเร็จ เพราะสิ่งที่จะเป็นพื้นฐานรองรับสิ่งอื่นได้ ก็จะต้องแผ่ออกไปให้มีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอและทั่วถึง ที่จะให้สิ่งซึ่งตนเองรองรับนั้นตั้งอาศัยอยู่ และทำกิจของมันได้

ความแผ่กว้างทั่วถึงของศิลปศาสตร์ ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้ หมายถึง การแผ่ไปกว้างทั่วถึงเรื่องราวของโลกและชีวิตทั้งหมด ทั้งเรื่องของมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ทั้งความเป็นไปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งใกล้และไกล ทั้งภายในและภายนอก ทั้งเรื่องของตนเอง และเรื่องของผู้อื่น ทั้งเรื่องรูปธรรมและเรื่องนามธรรม ทั้งเรื่องวัตถุและเรื่องจิตใจ ฯลฯ กว้างขวาง หลากหลาย และมากมาย แต่ก็ไม่พร่ามัวสับสน เพราะมีหลักการที่เป็นทั้งแกนและเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตของการทำหน้าที่ ที่จะให้ภาพรวมที่กว้างขวางครอบคลุม และหยั่งลึกทั่วตลอด อันจะให้เกิดความชัดเจน ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมให้สำเร็จ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความโปร่งโล่ง ปลอดพ้นความบีบคั้นติดขัดคับข้อง บรรลุภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ขอย้ำในที่สุดว่า การเข้าถึงศิลปศาสตร์ ไม่ใช่การรู้วิชานั้นๆ แต่เพียงข้อมูล แต่ต้องเข้าถึงสาระของมัน เมื่อเข้าถึงสาระของศิลปศาสตร์แล้วก็จะทำให้เราไปศึกษาวิชาอื่นที่เรียกว่าวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างเข้าถึงสาระของวิชานั้นๆ ด้วย

ความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ อยู่ที่การประจักษ์แจ้งสัจจธรรม เกิดมีจริยธรรม และได้ความมีศิลปะ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้หลุดพ้นปลอดโปร่ง ไปถึงภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพ

ดังนั้น เราจะต้องเรียนให้เข้าถึงสัจจธรรมโดยมีจริยธรรมและมีศิลปะ หรือพูดให้สั้นที่สุดว่า เรียนให้ได้สัจจะ จริยะ และศิลปะ เราจะไม่ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์และแม้วิชาต่างๆ ทั้งหลายอย่างเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา

ถ้าเรียนไม่เป็น ศิลปศาสตร์จะเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา เป็นข้อมูลสำหรับเอามาท่องจำแล้วก็ไปถ่ายเทออกในเวลาสอบ เวลาเรียนก็ท่องไว้ จำข้อมูลเก็บไว้ รอไว้พอถึงเวลาสอบก็ไปถ่ายออก ก็จบ สอบผ่านไปแล้วก็เลิก อย่างนี้ศิลปศาสตร์ก็ไม่มีความหมาย

ศิลปศาสตร์จะเกิดคุณค่าที่แท้จริง ก็ต้องทำดังที่กล่าวมา จึงได้พูดแต่ต้นว่า การที่จะให้วิชาศิลปศาสตร์ เกิดผลที่แท้จริงแก่ผู้เรียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้สอนที่เข้าถึงวิชาศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง คือสอนวิชาศิลปศาสตร์อย่างเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของมัน เข้าถึงเนื้อตัวสาระของศิลปศาสตร์แล้ว จึงจะเป็นผู้สามารถที่จะมาสร้างนักศึกษาได้ และทำให้นักศึกษาเหล่านั้นเติบโตพัฒนาขึ้นไป เป็นบัณฑิตในที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงได้พูดไว้ว่า “จะสอนวิชาชีพและวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์” ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวมานี้

จึงขอให้ผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลาย มาช่วยกันสอนวิชาศิลปศาสตร์ โดยทำคนที่เรียนให้เป็นนักศึกษา แล้วก็เติบโตพัฒนาขึ้นไป ถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นบัณฑิต แม้กระทั่งเป็นพุทธ ซึ่งเป็นเสรีชนที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ เพื่อจะได้บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขแก่บุคคล และสังคมตามวัตถุประสงค์

อาตมภาพได้พูดมา ในเรื่องวิชาศิลปศาสตร์ตามแนวพุทธ ก็เป็นเวลาพอสมควร คิดว่า ได้เสนอความคิดเห็นสำหรับประดับปัญญาบารมีดังที่ได้กล่าวมา ถ้าประดับดีก็เกิดความงาม ถ้าประดับไม่ดีก็กลายเป็นสิ่งรุงรัง แล้วแต่ว่าที่พูดมานี้จะทำให้งามหรือรุงรัง ถ้าหากเป็นสิ่งรุงรังก็ทิ้งไป ถ้าเป็นสิ่งที่งามก็นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เสริมปัญญาบารมีที่มีอยู่แล้วนั้นให้งดงามยิ่งขึ้น

ขอถือโอกาสนี้ อวยพรแด่ทุกท่าน ในฐานะที่วันนี้เป็นวันดีเป็นวันสิริมงคลของคณะศิลปศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีอายุครบ ๒๗ ปี รอดพ้นภยันตรายอุปสรรคทั้งหลาย และประสบความเจริญงอกงามสืบมา ขอให้คณะศิลปศาสตร์เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งกุศลเจตนา ความดีงาม และประโยชน์ทั้งหลายที่ท่านได้บำเพ็ญไปแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นบุญกุศล ที่จะเกิดผลงอกเงยแก่ชีวิตของนักศึกษาทั้งหลาย

ขอให้บุญกุศลเหล่านั้น จงอำนวยอานิสงส์ให้เกิดความสุขความเจริญแก่ทุกๆ ท่าน โดยประสบจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะทำหน้าที่เพื่ออำนวยวิชาศิลปศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา เพื่อสันติสุขของชีวิตและสังคม ตลอดกาลนาน เทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง