พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาฉันทะ ลดละตัณหา

วิธีการพัฒนาความสุข คือ วิธีการพัฒนาให้ลดละตัณหาหรือความอยากที่ผิดทาง เป็นอย่างแรก ก่อนที่จะถึงความสุขที่เป็นอิสระจากตัณหา ก่อนอื่นการพัฒนาให้เกิดความสุข คือ การพัฒนาเรื่องความอยาก (ตัณหา vs. ฉันทะ) ถ้าเราอยากให้นักธุรกิจเปลี่ยนแปลง เราต้องสอนให้เขาเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาความอยากของเขาเอง เมื่อเขามีความ 'อยากให้' แก่เพื่อน 'อยากให้' เพื่อนมนุษย์มีความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเขาชอบและอยากให้เป็นเช่นนั้น เขาจะมีความสุขได้เมื่อทำได้สําเร็จ เพราะนั่นคือความสําเร็จของเขานั่นเอง และมันก็คือความพอใจ จากการที่ได้สนองความต้องการของเขาเอง

ถ้าเขาไม่มีความปรารถนาอะไรเลย มันจะเป็นความขัดแย้งแน่นอน เพราะในความเป็นจริง เขาปรารถนากําไรในทางธุรกิจ แต่ก็มีแรงบีบจากสังคมให้เขาต้องมาห่วงใยสังคม ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

ในความเป็นจริง ความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่ความรู้สึกห่วงใยสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เขาไม่ได้สนใจความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น ความปรารถนาที่แท้จริงของเขาคือ การทำกําไรให้ได้มากที่สุด มันจึงเป็นความขัดแย้ง จากความขัดแย้ง ก็เกิดความกดดันในใจ เขาก็ไม่เป็นสุขจริง แต่กลายเป็นสุขแฝงทุกข์ เราจึงต้องทำให้เขาปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของคนอื่น ของสังคม เมื่อเขาปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคม ความอยู่เย็นเป็นสุขของโลก ความอยู่เย็นเป็นสุขของมนุษยชาติทั้งปวง จะกลายเป็นความสุขของพวกเขา ถ้านักธุรกิจต้องการความสุขที่แท้จริง ที่ไม่เกิดปัญหาความทุกข์จากความขัดแย้งในตัวเอง เขาไม่มีทางเลี่ยง เขาจะต้องพัฒนาความอยาก หรือความต้องการอันนี้ขึ้นมา

นี่คือสิ่งเดียวกันกับปัญหาของพวกผู้ปกครอง รัฐบาล กษัตริย์ ฯลฯ จำนวนมากในโลกนี้ ที่มีความปรารถนา ความร่ำรวยและอำนาจ แต่ไม่ได้ปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของมวลมนุษย์

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ปกครอง รัฐบาล กษัตริย์ ฯลฯ ที่ปรารถนาความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน เมื่อพวกเขาปรารถนาเช่นนี้ ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนก็คือความสุขของพวกเขา พวกเขาจะมีความสุข ก็เมื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนเป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้ายังไม่เป็นไปเช่นนั้น พวกเขาก็จะยังไม่มีความสุข ความสุขของคนพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับความปรารถนาเหมือนกัน แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก เขาได้ยกระดับความสุขขึ้นมาจากความสุขระดับล่าง ที่ขึ้นอยู่กับความยินดีทางกามคุณ

กษัตริย์ หรือผู้ปกครอง ที่ปรารถนาความมั่งคั่งและอำนาจ ต้องแสวงหาความสุขที่ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก ความมั่งคั่ง และอำนาจ แล้วก็ต้องมาเจอกับปัญหาความขัดแย้งอย่างที่ว่านั้น แต่เมื่อพวกเขามีความสุขจากการตระหนักรู้ว่า ประชาชนของเขาอยู่เย็นเป็นสุข ความสุขของเขาได้เปลี่ยนระดับไป ถึงขั้นเป็นอิสระจากความยินดีทางกามคุณ แต่ก็ยังคงขึ้นอยู่กับความปรารถนาอยู่ แต่ความปรารถนานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นความปรารถนาชนิดใหม่ คือ ความปรารถนาจะเห็นความอยู่เย็นเป็นสุขของปวงชน เราสามารถพัฒนาความปรารถนานี้ ให้สูงขึ้นถึงระดับปัญญา

นายมิวเซนเบิร์ก

วิธีอธิบายของท่าน ดูคล้าย แต่ก็ไม่เหมือนความเมตตา มันอันเดียวกันหรือไม่ครับ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง