พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวา ส่วนผู้ที่เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้

ม.ม. ๑๓/๔๕๑/๔๑๑ : ขุ.เถร.๒๖/๓๘๘/๓๗๗

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมได้เคยคุยกับท่านดาไลลามะเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ดูเหมือนว่าท่านมีความลังเลอยู่บ้างที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะท่านไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องธุรกิจ ในขณะเดียวกัน จากหนังสือของท่านเจ้าคุณฯ ท่านยอมรับว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของสังคม วิธีการดําเนินธุรกิจก็มีความสำคัญมากสำหรับสังคม พฤติกรรมของพวกนักธุรกิจมีความสำคัญกับสังคม ซึ่งผมกําลังค้นคว้าเรื่องคุณค่า ข้อดีข้อเสีย จริยธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ ผมจึงอยากสนทนากับท่าน เพื่อปรึกษากับท่านว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง1

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาก็มีความรู้น้อยในเรื่องธุรกิจ แต่อาจพูดถึงหลักการทั่วไปในเรื่องธุรกิจ

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมได้อ่านหนังสือของท่านเรื่อง Buddhist Economics2 และได้ใช้ข้อมูลในหนังสือเล่มนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีบางตอนระบุว่า ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกจากนั้น หนังสืออีกเล่มหนึ่งของท่าน เรื่อง A Constitution for Living (ธรรมนูญชีวิต) ท่านได้พูดถึงหลักการ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะนักบวช แต่สำหรับผู้ครองเรือน ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมคิดว่าช่วยได้มาก

พระพรหมคุณาภรณ์

จากพื้นฐานนี้ เราจะค่อยๆ พูดขยายความไปถึงธุรกิจต่อไปจะดีไหม

นายมิวเซนเบิร์ก

ครับ...ผมควรกล่าวถึงหัวข้อต่างๆ ในหนังสือที่ผมเขียน แล้วนำมาเป็นแนวของคำถาม

บทที่ ๑ หนังสือเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า การเพิ่มพูนความคาดหวังของผู้บริโภค ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมไทย หากเป็นสังคมโลกทั่วทั้งหมด รวมถึงพฤติกรรมในการทำธุรกิจของนักธุรกิจในทิศทางที่เคร่งเครียด

บทที่ ๒ ว่าด้วยธุรกิจมีผลตอบสนองอย่างไรต่อความหวังนั้น การตอบสนองต่อความต้องการนั้น

บทที่ ๓ เกี่ยวกับบทบาทและพฤติกรรมของรัฐบาล อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล

บทที่ ๔ คำถามเรื่องการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ และธุรกิจ

จากนั้นไปถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัญหาหนึ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนั้น จนมาถึงหัวข้อ ความมั่งคั่ง ความสุข การบริโภค และการงาน

บทต่อไปคือ อิทธิพลของบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก พวกเขาควรทำอะไรบ้างเพื่อที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ดี และบทสุดท้าย เกี่ยวกับการฝึกฝนจิต การปฏิบัติสมาธิภาวนา เพราะการพัฒนามนุษย์จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการฝึกฝนทางด้านจิตใจ

ผมได้ส่งต้นฉบับถวายท่านดาไลลามะในเดือนเมษายน เราได้ review ต้นฉบับนี้ และคาดว่าจะทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายนปีหน้า ดังนั้น จึงยังมีโอกาสปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกมาก นี่คือความเป็นมาทั้งหมดครับ

สำหรับท่านเจ้าคุณฯ ได้ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ และเรื่องเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เมื่อผมทำการวิจัยเรื่องนี้ ก็พบว่า คนมักเห็นว่า เศรษฐศาสตร์ ก็คือ เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่ไม่เห็นเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องว่ามีส่วนสัมพันธ์กันเหมือนอย่างที่ท่านเห็น ดังนั้น จึงไม่มีจริยธรรมในเศรษฐศาสตร์ เรากําลังพยายามทำให้ ๒ ศาสตร์นี้รวมกัน และผมก็ได้พยายามดูไปถึงรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา สำหรับทัศนะทางศาสนา ผมได้ศึกษาแต่ในแง่มุมของพระพุทธศาสนาและส่วนที่เกี่ยวข้อง และหนังสือของท่านก็คือกุญแจดอกหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ของผม

คำถามแรกที่ผมอยากจะถาม ทัศนะของท่านในเรื่องธุรกิจเป็นอย่างไรบ้างครับ

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาได้บอกคุณแล้วแต่ต้นว่า อาตมาเองไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ พอรู้บ้างในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เราอาจคุยกันถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ แล้วเราค่อยพูดถึงเรื่องธุรกิจ

1หนังสือเล่มดังกล่าว ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๕๕๑ ในชื่อว่า The Leader's Way: The Art of Making Right Decision in our Lives, Our Organizations and the Larger World มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยแล้ว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชันบุ๊คส์
2ชื่อภาษาไทย คือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ แปลโดย ธรรมวิชัย (นามปากกา) ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ จากวัดป่านานาชาติ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง