ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิต งาน และธรรม: อิสรภาพภายในเอกภาพ

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่อง “ชีวิตนี้เพื่องาน และงานนี้เพื่อธรรม" ทั้งหมดนี้ ก็เป็นนัยหนึ่งของความหมาย แต่ถ้าจะวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง ชื่อหัวข้อที่ตั้งไว้ ได้แยกชีวิตกับงานออกเป็นคำ ๒ คำ

เมื่อกี้เราได้ดึงเอาชีวิตกับงาน มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ในแง่ของความเป็นจริง มันก็ยังเป็นคำพูดคนละคำ ชีวิตก็เป็นอันหนึ่ง งานก็เป็นอันหนึ่ง เพียงแต่เรามาโยงให้เป็นเอกภาพ

ทีนี้ แง่ที่ชีวิตกับงานเป็นคนละคำ ยังเป็นคนละอย่าง และยังมีความหมายที่ต่างกัน ก็คือ งานนั้นมีลักษณะที่จะต้องทำกันเรื่อยไป ไม่สิ้นสุด ยังไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้นที่แท้จริง เพราะว่า งานนั้นสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกาลเทศะและของชุมชน

สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะฉะนั้น งานจะไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม แต่ชีวิตของคนมีความจบสิ้นในตัว จะไม่ไปกับงานตลอดไป อันนี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่ง

ตามที่พูดไปแล้ว แม้ว่าชีวิตกับงานจะเป็นเอกภาพกันได้ แต่ในแง่หนึ่งก็ยังมีความต่าง อย่างที่ว่างานสำหรับสังคมนี้คงดำเนินต่อไป แต่ชีวิตของคนมีการจบสิ้นได้ และจะต้องจบสิ้นไป

แม้ว่า เราจะไม่สามารถทำให้งานมีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น แต่ชีวิตของคนเราแต่ละชีวิต เราควรจะทำให้สมบูรณ์ และชีวิตของเราในโลกนี้ เราก็สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ด้วย ทำอย่างไรจะให้สมบูรณ์

ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตไว้ ๓ ขั้นว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นมานั้น แม้ว่ามันจะไม่มีจุดหมายของมันเอง เราก็ควรทำให้มีจุดหมาย

เราอาจจะตอบไม่ได้ว่า ชีวิตนี้เกิดมามีจุดมุ่งหมายหรือไม่ เพราะเมื่อว่าตามหลักธรรมแล้ว ชีวิตนี้เกิดมาพร้อมด้วยอวิชชา

ชีวิตไม่ได้บอกเราว่ามันมีจุดมุ่งหมายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็สามารถตั้งความมุ่งหมายให้แก่มันได้

ด้วยการศึกษาและเข้าใจชีวิต ก็มองเห็นว่า ชีวิตนี้จะเป็นอยู่ดี จะต้องมีคุณภาพ จะต้องเข้าถึงสิ่งหรือสภาวะที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่มันอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ ทางพระจึงได้แสดงไว้ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตของเราควรเข้าถึงจุดหมายระดับต่างๆ เพื่อให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้แก่ชีวิตของเราเอง ให้มันมีให้มันเป็นได้อย่างนั้น

ประโยชน์ หรือ จุดหมาย นี้ แบ่งเป็น ๓ ขั้น

จุดหมายที่หนึ่ง เรียกว่า จุดหมายที่ตามองเห็น จุดหมายของชีวิตที่ตามองเห็น โดยพื้นฐานที่สุด ก็คือ การมีรายได้ มีทรัพย์สินเงินทอง มีปัจจัย ๔ พอพึ่งตัวเองได้ การเป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

เรื่องผลประโยชน์และความจำเป็นต่างๆ ทางวัตถุและทางสังคมเหล่านี้ ชีวิตของเราจำเป็นต้องพึ่งอาศัย เราปฏิเสธไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือการพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เกิดให้มี

ทุกคนควรจะต้องพิจารณาตัวเองว่า ในขั้นที่หนึ่ง เกี่ยวกับการมีทรัพย์ที่จะใช้สอย มีปัจจัยที่พออยู่ได้ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคม เรื่องของความอยู่ดี พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตามองเห็นนี้ เราทำได้แค่ไหน บรรลุผลไหม นี่คือขั้นที่หนึ่งที่ท่านให้ใช้เป็นหลักวัด

ต่อไปขั้นที่สอง จุดหมายที่เลยตามองเห็น หรือประโยชน์ซึ่งเลยไกลออกไปข้างหน้า เลยจากที่ตามองเห็น ซึ่งรวมถึงเลยจากโลกนี้ไปด้วย ก็คือด้านในหรือด้านจิตใจ หมายถึงการพัฒนาชีวิตจิตใจ รวมทั้งการมีความสุขในการทำงาน การมองเห็นคุณค่าของงานในแง่ความหมายที่แท้จริง ว่าเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อสันติสุข ความประพฤติสุจริต ความมีน้ำใจพร้อมที่จะสละจะทำจะให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการช่วยเหลือต่างๆ

คุณค่าและคุณธรรมเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจและเอิบอิ่มภายในจิตใจ มั่นใจถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องหวั่นหวาดกลัวภัยโลกหน้า เป็นความสุขที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่เลยจากตามองเห็น

คนหลายคน แม้จะมีประโยชน์ที่ตามองเห็นพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่ไม่มีความสุขที่แท้จริงเลย เพราะพ้นจากที่ตามองเห็นไปแล้ว จิตใจไม่พร้อม ไม่ได้พัฒนาเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องมองว่า ในส่วนที่มองไม่เห็น คือเลยไปกว่านั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่ง แล้วส่วนนั้นเรามีแค่ไหนเพียงไร

สุดท้าย จุดหมายที่พ้นเหนือโลก หรือจุดหมายที่พ้นเป็นอิสระ เรียกว่า ประโยชน์สูงสุด คือประโยชน์เหนือทั้งที่ตามองเห็น และที่เลยจากตามองเห็น

ประโยชน์ในขั้นที่สองนั้น แม้จะเลยจากที่ตามองเห็นไปแล้ว ก็ยังเป็นเพียงเรื่องของนามธรรมในระดับของความดีงามต่างๆ ซึ่งแม้จะสูง แม้จะประเสริฐ ก็ยังมีความยึดความติดอยู่ในความดีความงามต่างๆ เหล่านั้น และยังอยู่ในข่ายของความทุกข์ ยังไม่พ้นเป็นอิสระแท้จริง

ส่วนจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายนี้ ก็คือการอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นขึ้นไป คือความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์เป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต

ตอนนี้ แม้แต่งานที่ว่าสำคัญ เราก็ต้องอยู่เหนือมัน เพราะถึงแม้ว่า งานกับชีวิตของเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตราบใดที่เรายังมีความติดในงานนั้นอยู่ ยังยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา งานแม้จะเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่า เป็นประโยชน์ แต่เราก็จะเกิดความทุกข์จากงานนั้นได้ มันยังอาจจะเหนี่ยวรั้งให้เราเอนเอียงได้

จึงจะต้องมาถึงขั้นสุดท้ายอีกขั้นหนึ่ง คือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่างาน

ในขั้นนี้เราจะทำงานให้ดีที่สุด โดยที่จิตใจไม่ติดค้างกังวลอยู่กับงาน ไม่ว่าในแง่ที่ตัวเราจะได้ผลอะไรจากงานนั้น หรือในแง่ว่างานจะทำให้ตัวเราได้เป็นอย่างนั้นๆ หรือแม้แต่ในแง่ว่างานของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ

การมองตามเหตุปัจจัยนั้น เป็นตัวต้นทาง ที่จะทำให้เรามาถึงขั้นนี้ ในเวลาที่ทำงาน เราทำด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด มุ่งแน่วเด็ดเดี่ยวว่าต้องให้สัมฤทธิ์ผลบรรลุจุดหมายนั้นๆ

แต่พร้อมกันนั้น ก็มีท่าทีของจิตใจที่ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำการให้ตรงเหตุปัจจัย มองไปตามเหตุปัจจัย ถ้างานนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไป ไม่ใช่เรื่องของตัวเราที่จะเข้าไปรับกระทบ เข้าไปอยาก เข้าไปยึด หรือถือค้างไว้

เรามีหน้าที่แต่เพียงทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด ด้วยความรู้ที่ชัดเจนที่สุด มีแต่ตัว รู้ คือ รู้ว่าที่ดีงามถูกต้องหรือเหมาะควรเป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นคืออะไร แล้ว ทำตามที่รู้ คือ ทำเหตุปัจจัยที่รู้ว่าจะให้เกิดผลเป็นความดีงามถูกต้องเหมาะหรือควรอย่างนั้น

เมื่อทำเหตุปัจจัยแล้ว มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยนั้นแหละที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา เราหมดหน้าที่แค่นั้น ไม่ต้องมายุ่งใจนอกเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปอยากไปยึด ตอนนี้ใจของเราก็เรียกว่าลอยพ้นออกมาได้ส่วนหนึ่ง

เมื่อใดเราเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์แล้ว จิตใจของเราก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ทำงานนั้นได้ผลสมบูรณ์ โดยที่พร้อมกันนั้นก็ไม่ทำให้ตัวเราตกไปอยู่ใต้ความกดทับ หรือในการบีบคั้นของตัวงานนั้นด้วย แต่เราสุขสบายโปร่งใจอยู่ตามปกติของเรา

อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุดในขั้นสุดท้าย ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์ในตัว

ดังได้กล่าวแล้วว่า งานไม่ใช่เป็นตัวเรา และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง แต่งานนั้นเป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด

งานนั้น เราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แท้จริง เพราะมันขึ้นกับผลที่มีต่อสิ่งอื่น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป

แต่ชีวิตของเราแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ และเราสามารถทำให้สมบูรณ์ได้ แม้แต่ด้วยการปฏิบัติงานนี้แหละอย่างถูกต้อง

เมื่อเราปฎิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้อง มีท่าทีของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะนั้นนั่นเอง นี่คือประโยชน์ในระดับต่างๆ จนถึงขั้นสูงสุดที่ทางธรรมได้สอนไว้

รวมความว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว หรือเอกภาพ ที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้ว ยังแยกได้เป็น ๒ ระดับ

ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในเวลาทำงาน ชีวิตจะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ เพราะชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันเดียวกัน พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ด้วยในตัว แต่ลึกลงไปในจิตใจ ก็ยังมีความยึดติดถือมั่นอยู่ว่างานของเราๆ พร้อมด้วยความอยากความหวังความหมายมั่น และความหวาดหวั่นว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นเถิด มันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่หนอ เป็นต้น จึงยังแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกซึ้งในภายใน

ขั้นนี้ยังเป็นเอกภาพที่มีความแยกต่างหาก ซึ่งสิ่งที่ต่างหากกันเข้ามารวมกัน มีตัวตนที่ไปรวมเข้ากับสิ่งอื่น หรือฝังกลืนเข้าไปในสิ่งนั้นงานนั้น ซึ่งเมื่อมีการรวมเข้า ก็อาจมีการแยกออกได้อีก

ส่วน ในอีกระดับหนึ่ง ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ เป็นไปพร้อมด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงานเป็นต้น ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องอยากไม่ต้องยึดถือสำคัญมั่นหมาย ให้นอกเหนือ หรือเกินออกไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างจริงจัง

ขั้นนี้เป็นภาวะของอิสรภาพ ซึ่งเอกภาพเป็นเพียงสำนวนพูด เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรแยกต่างหากที่จะต้องมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากไม่มีตัวตนที่จะเข้าไปรวมหรือแยกออกมา เป็นเพียงความเป็นไปหรือดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนในความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย

ที่แท้ก็คือความโปร่งโล่งเป็นอิสระ เรียกว่าภาวะปลอดทุกข์ไร้ปัญหา เพราะไม่มีช่องให้ความคับข้องติดขัดบีบคั้นเกิดขึ้นได้เลย

ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ดังได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ทำงานมีชีวิตเต็มสมบูรณ์เสร็จสิ้นไปในแต่ละขณะ ที่เป็นปัจจุบันนั้น ว่าที่จริงแล้ว เมื่อถึงขั้นสุดท้าย ก็ตรงกันกับภาวะของการมีชีวิตที่เป็นอิสระอยู่พ้นเหนืองาน ที่กล่าวถึงในที่นี้นั่นเอง

ทั้งนี้เพราะว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น หมายถึงความสัมพันธ์ที่กลมกลืนเสร็จสิ้นผ่านไปในแต่ละขณะ ไม่ใช่เป็นการเข้าไปยึดติดผูกพันอยู่ด้วยกัน ซึ่งแม้จะอยู่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นแยกต่างหาก จึงมารวมหรือยึดติดกัน

แต่ในภาวะที่เป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์แท้จริง ผู้ที่ทำงาน มีชีวิตเป็นงาน และมีงานเป็นชีวิตในขณะนั้นๆ เสร็จสิ้นไป โดยไม่มีตัวตนที่จะแยกออกมายึดติดในขณะนั้น และไม่มีอะไรค้างใจเลยไปจากปัจจุบัน จึงเป็นอิสรภาพในท่ามกลางแห่งภาวะที่เรียกว่าเป็นเอกภาพนั้นทีเดียว

เป็นอันว่า ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม และลึกลงไปอีก ชีวิตนี้ก็เป็นงาน และงานนี้ก็เป็นธรรม และชีวิตก็เป็นธรรมเองด้วย จนกระทั่งในที่สุด ชีวิตนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้าย คือเป็นชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน แต่ก็เป็นอิสระอยู่พ้นเหนือแม้แต่งาน

ก็เป็นอันว่าถึงความจบสิ้นสมบูรณ์ ถ้าถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่า เป็นประโยชน์สูงสุดในประโยชน์สามขั้น ที่เราจะต้องทำให้ได้

พระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า คนเราเกิดมาควรเข้าถึงประโยชน์ให้ครบสามขั้น และประโยชน์ทั้งสามขั้นนี้แหละคือเครื่องมือ หรือเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดผลของตนในการดำเนินชีวิต

ถ้าเราดำเนินชีวิตของเราไปแล้ว คอยเอาหลักประโยชน์ หรือจุดหมายสามขั้นนี้มาวัดตัวเองอยู่เสมอ เราก็จะเห็นการพัฒนาของตัวเราเอง

ไม่ว่าเราจะมองชีวิตเป็นการพัฒนาตนเอง หรือเป็นการสะสมสร้างสรรค์ความดีก็ตาม หลักประโยชน์สามขั้นนี้สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป ใช้ได้จนถึงขั้นสมบูรณ์เป็นอิสระ จบการพัฒนา อยู่พ้นเหนือการที่จะเป็นทุกข์ แม้แต่เพราะความดี

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง