ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จุดหมายของคน หรือจุดหมายของงาน?

จะเห็นว่า ความหมายทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เราจะสู้งาน หรือจะหนีงาน ก็อยู่ที่ภาวะจิตใจอย่างที่ว่ามาแล้ว และในการที่จะมีสภาพจิตใจที่เอื้อต่อการทำงานนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสนับสนุนให้คนทำงานได้ผลดี ก็คือ กำลังใจ

พอพูดถึงกำลังใจ ก็มีปัญหาอีก กำลังใจจะมาได้อย่างไร กำลังใจก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงวงจรอีก มันย้อนไปย้อนมา

ถ้าเรามีกำลังใจ เราก็ทำงานได้ดี แต่ทำอย่างไรเราจึงจะมีกำลังใจ ถ้าทำงานแล้วได้ผลดี ก็มีกำลังใจ พองานได้ผลดีมีกำลังใจ ก็ยิ่งทำงาน ยิ่งทำงาน ก็ยิ่งได้ผลดี ยิ่งได้ผลดี ก็ยิ่งมีกำลังใจ เป็นการส่งผลย้อนไปย้อนมา

กำลังใจ เป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน แต่การที่จะมีกำลังใจได้ ก็อยู่ที่การเข้าใจความหมายของงานนั้นแหละ

คนที่เข้าใจความหมายของงานว่าจะทำให้ได้ผลตอบแทน หรือได้ผลประโยชน์มา ถ้าเขาได้ผลตอบแทน ได้ผลประโยชน์มา เขาก็มีกำลังใจ แล้วก็ทำงาน แต่ถ้าไม่ได้ผลตอบแทนเป็นอัตราเป็นเงินทอง ก็ไม่มีกำลังใจ

แต่อีกคนหนึ่งมองความหมายของงานว่า เป็นการได้พัฒนาตน หรือเป็นการได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เมื่อเขาได้ทำอะไรพอให้รู้สึกว่าได้ฝึกตน หรือได้ช่วยเหลือสังคม เขาก็มีกำลังใจ แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นวัตถุสักเท่าไร

กำลังใจจึงไปสัมพันธ์กับผลตอบสนองจากงาน ไม่ว่าจะเป็นผลทางวัตถุ หรือผลทางจิตใจ จะเป็นผลแก่ตนเอง หรือผลแก่ส่วนรวมก็ตาม แล้วแต่จะมองความหมายของงานอย่างไร

รวมความว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เครื่องกำกับที่แน่นอนว่าจะให้เกิดคุณค่าที่เป็นประโยชน์เสมอไป อย่างที่ว่า คนที่ทำงานมุ่งแต่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทองวัตถุ ถ้าผลตอบแทนน้อยไป ไม่ได้มากมายอย่างที่หวัง ก็จะเกิดปัญหา ไม่มีกำลังใจในการทำงาน

เพราะฉะนั้น เราจะต้องหาอะไรมาช่วยกำลังใจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เพื่อให้งานเกิดคุณค่าอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่จะมาหนุนคุณค่านี้ได้ ก็คือ ศรัทธา ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

ศรัทธา คือ ความเชื่อ ซึ่งในความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น เมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งใด ก็พอใจสิ่งนั้น มั่นใจในสิ่งนั้น และใจก็ยึดเหนี่ยว มุ่งไปหา และมุ่งไปตามสิ่งนั้น เมื่อมุ่งไปหาหรือมุ่งหน้าต่อสิ่งนั้น มุ่งจะทำและมุ่งจะตามมันไป ก็เกิดกำลังขึ้นมา บางทีอย่างที่ว่า ถึงไหนถึงกัน

ศรัทธาเป็นพลัง เมื่อเรามีศรัทธาต่อสิ่งใด เราก็จะสามารถอุทิศชีวิต ทั้งร่างกาย และจิตใจ อุทิศเรี่ยวแรงกำลังของเราให้แก่สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดกำลังใจในทางที่ดี ไม่ติดอยู่แค่ผลตอบแทนหรือสิ่งที่ตนจะได้จะเอา ก็จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นมา

ศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการเข้าใจความหมายนั่นแหละ เช่น ถ้าเราเข้าใจความหมายของงานในแง่ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นเครื่องสร้างสรรค์ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นต้น เราก็เกิดศรัทธาในงาน เพราะมองเห็นคุณค่าของงานนั้น

พอมีศรัทธาอย่างนี้แล้ว ศรัทธานั้นก็จะส่งเสริมกำลังใจ ในลักษณะที่พ่วงเอาความเป็นคุณเป็นประโยชน์เข้ามาด้วย ไม่ใช่เป็นกำลังใจล้วนๆ ที่เพียงแต่เกิดจากความสมอยากในการได้วัตถุเท่านั้น

เมื่อเข้ามาถูกทางอย่างนี้ พอมีศรัทธาแล้ว กำลังใจที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นกำลังใจที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” คือมีความดีงาม มีคุณประโยชน์พ่วงมาด้วย

นอกจากมีศรัทธาในงานแล้ว ก็ต้องมีศรัทธาในวิถีชีวิตด้วย เรื่องนี้จึงมีความหมายโยงไปหาชีวิตด้วย ว่าเรามองชีวิตอย่างไร

คนที่มองความหมายของชีวิตในแง่ว่า วิถีชีวิตที่ดี คือการหาความสนุกสนานให้เต็มที่ คนอย่างนั้นจะมาศรัทธาในความหมายของงานที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่สังคม ก็เป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น ความหมายของงานที่จะทำให้เกิดศรัทธา จึงต้องโยงไปหาความหมายของชีวิตที่ดีด้วย เช่นมองว่า ชีวิตที่ดีคือการที่เราได้ใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า และการที่ได้พัฒนาตน เป็นต้น

พอมองความหมายของงานในแนวเดียวกันนี้ ความหมายของงานนั้น ก็มาช่วยเสริมในแง่ที่เกิดความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องกัน คือ ความหมายของงาน กับ ความหมายของชีวิต มาสัมพันธ์เสริมย้ำซึ่งกันและกัน แล้วศรัทธาก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง

ทีนี้ มองต่อไปอีกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่แค่ศรัทธาเท่านั้น ถ้าเราวิเคราะห์จิตใจของคนที่ทำงาน จะเห็นว่า แม้แต่ศรัทธาก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า แรงจูงใจ

เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจทั้งนั้น ทั้งหมดที่พูดมาก็อยู่ในหลักการของเรื่องแรงจูงใจทั้งสิ้น คนเราจะทำกิจกรรมอะไร ก็ต้องมีแรงจูงใจ เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจให้มาทำงาน แรงจูงใจจึงเป็นหลักใหญ่ในการแบ่งประเภทของการทำงาน

แรงจูงใจ นั้นมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน

แรงจูงใจด้านหนึ่ง ที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือความต้องการผลตอบแทน ต้องการผลประโยชน์ ต้องการเงินทอง อันนี้เป็นแรงจูงใจที่มุ่งเข้าหาตัวเอง เป็นความปรารถนาส่วนตัว หรือเห็นแก่ตัว ทางพระเรียกว่า แรงจูงใจแบบตัณหา

ทีนี้ ต่อจากตัณหายังมีอีก เราต้องการความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จของตัวเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของตัวเราในรูปของความยิ่งใหญ่ ในรูปของการได้ตำแหน่งได้ฐานะเป็นต้น อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจในแง่ของตัวเองเหมือนกัน คือต้องการผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ในรูปของความสำคัญของตนเอง ความโดดเด่น เช่นมีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะสูง ข้อนี้เรียกว่า แรงจูงใจแบบมานะ

“มานะ” นั้นทางพระแปลว่า ถือตัวสำคัญ คือความอยากให้ตนเองเป็นคนโดดเด่น มีความสำคัญหรือยิ่งใหญ่ ไม่ใช่มานะในความหมายของภาษาไทยว่าความเพียรพยายาม

ตกลงว่า แรงจูงใจสำคัญด้านที่หนึ่งนี้ เป็นเรื่องของตัณหาและมานะ ซึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชนก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ประณีตสักหน่อย เช่นว่า

ถ้าเป็นความต้องการผลตอบแทนในขั้นธรรมดาของมนุษย์ ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตเพียงว่าสำหรับให้เป็นอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควรในโลกนี้ หรือเป็นอยู่ดี ไม่ขัดสนในปัจจัยสี่

ถ้าจะมีมานะ ก็ให้มันมาในรูปของความภูมิใจในความสำเร็จของงาน มีเกียรติมีฐานะเป็นที่ยอมรับในสังคม หรือได้รับความนิยมนับถือ คือเอาความสำเร็จมาโยงกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ที่จะไปหยามเยียดข่มเหงรังแกคนอื่น

ถ้าหากว่าความสำเร็จไปโยงกับตัวงาน มันก็ยังเป็นเรื่องของความดีงามได้ เรื่องอย่างนี้ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับความจริงของปุถุชน แต่ทำอย่างไรจะให้โยงเข้าไปหาแรงจูงใจที่เป็นธรรมให้มากขึ้น

ทีนี้ แรงจูงใจพวกที่สอง ก็คือแรงจูงใจเช่นอย่างศรัทธาที่มีต่องานที่มีคุณค่า เป็นแรงจูงใจที่ต้องการให้ความดีงามเกิดมีหรือปรากฏขึ้น ความต้องการความดีงาม ต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นแรงจูงใจที่ท่านเรียกด้วยคำศัพท์ทางธรรมอีกคำหนึ่งว่า “ฉันทะ”

ตัวอย่างเช่น คนทำงานด้วยความต้องการให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อย ความเป็นระเบียบของสังคม

ถ้าทำงานเป็นแพทย์ หรือทำงานเกี่ยวกับโภชนาการ ก็อยากให้มนุษย์ในสังคมนี้เป็นคนที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อยากให้มีแต่อาหารที่มีคุณค่า แพร่หลายออกไปในสังคมนี้ แรงจูงใจหรือความปรารถนาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น แรงจูงใจแบบฉันทะ

แรงจูงใจนี้สำคัญมาก ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า แรงจูงใจนี้สัมพันธ์กับสัมฤทธิผล หรือจุดหมาย ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น จุดหมายของคน กับ จุดหมายของงาน

แรงจูงใจแบบที่หนึ่ง ที่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทอง ต้องการเกียรติฐานะความยิ่งใหญ่นั้น โยงไปหาจุดหมายของคนที่ทำงาน ส่วนแรงจูงใจแบบที่สองจะมุ่งตรงไปยังจุดหมายของงาน

ตามธรรมดา ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร งานนั้นย่อมมีจุดหมาย เช่นว่า การทำงานแพทย์ก็มีจุดหมายที่จะบำบัดโรค ทำให้คนไข้หายโรค ให้คนมีสุขภาพดี ตัวงานนั้นมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา

ถ้าเราทำงานให้การศึกษา เราก็ต้องการผลที่เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษา จุดหมายของงานในการให้การศึกษาก็คือ การที่เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีความรู้ มีความประพฤติดี รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ได้พัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไป

งานทุกอย่างมีจุดหมายของมัน แต่คนที่ไปทำงานก็มีจุดหมายของตัวเองด้วย

ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่า เมื่อเขาไปทำงานนั้น เขาจะทำงานเพื่อจุดหมายของคน หรือทำงานเพื่อจุดหมายของงาน

ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่หนึ่ง จุดหมายที่อยู่ในใจของเขาก็จะเป็นจุดหมายของคน คือ ทำงานเพื่อจุดหมายของคน ให้ตนได้นั่นได้นี่

แต่ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่สอง เขาก็จะ ทำงานเพื่อจุดหมายของงาน ให้งานเกิดผลเป็นประโยชน์ตามคุณค่าของมัน

ทีนี้ ในการที่เป็นปุถุชน เมื่อยังมีกิเลส ก็ต้องประสานประโยชน์ คือ ต้องให้จุดหมายของคนไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับจุดหมายของงาน หมายความว่า ต้องให้ได้จุดหมายของงานเป็นหลักไว้ก่อน แล้วจึงมาเป็นจุดหมายของคนทีหลัง คือให้จุดหมายของคนพลอยพ่วงต่อมากับจุดหมายของงาน

ถ้าเอาแต่จุดหมายของคนแล้ว บางทีงานไม่สำเร็จ และเสียงานด้วย คือ คนนั้นมุ่งแต่จุดหมายของคนอย่างเดียว จะเอาแต่ตัวได้เงินได้ทอง ไม่ได้ต้องการให้งานสำเร็จ ไม่ได้ต้องการเห็นผลดีที่จะเกิดจากงานนั้น ไม่ได้มีความคิดที่จะเอาธุระ หรือเห็นความสำคัญเกี่ยวกับตัวงาน เพราะฉะนั้นจึงพยายามเลี่ยงงาน หรือหาทางลัดที่จะไม่ต้องทำงาน ขอให้ได้เงินหรือผลตอบแทนมาก็แล้วกัน

ตกลงว่า แรงจูงใจแบบหนึ่งเป็นเรื่องสัมพันธ์กับจุดหมายของคน และแรงจูงใจอีกแบบหนึ่งเป็นแรงจูงใจที่สัมพันธ์กับจุดหมายของงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อทำงานไปแล้วได้ผลสำเร็จขึ้นมา จะเป็นผลสำเร็จของคน หรือเป็นผลสำเร็จของงาน

ถ้าจะทำงานให้ถูก ก็ต้องมองไปที่ผลสำเร็จของงาน ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ผลสำเร็จของคน ถ้าจะเป็นผลสำเร็จของคน ก็ต้องให้เป็นผลที่ความสำเร็จของงานส่งทอดมาอีกต่อหนึ่ง

คนจำนวนไม่น้อยหวังแต่ผลสำเร็จหรือผลประโยชน์ของคนอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศชาติ การพัฒนาประเทศชาติ และการแก้ปัญหาของสังคม ก็ยากที่จะบรรลุความสำเร็จ และจะส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจด้วย

ดังได้พูดมาแล้วว่า สภาพจิตใจกับการทำงาน ส่งผลย้อนกลับกันไปมา คือ สภาพจิตใจที่ดี ส่งผลต่อการทำงาน ให้ทำงานได้ดี และการทำงานได้ดีมีผลสำเร็จ ก็ส่งผลย้อนกลับไปยังสภาพจิตใจ ทำให้มีกำลังใจเป็นต้นอีกทีหนึ่ง

ดังตัวอย่างที่พูดมาแล้วนี้ ที่ว่า สภาพจิตใจในด้านแรงจูงใจ ที่มุ่งจุดหมายของคน กับมุ่งจุดหมายของงาน ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมฤทธิ์ในการทำงาน แล้วก็ย้อนกลับมาบันดาลผันแปรสภาพจิตใจของคนให้เป็นไปต่างๆ กัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง