ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ควรทำงานกันอย่างไร?

 

ทีนี้ เมื่อคนทำงานไปตามความหมายและความเข้าใจของเขา ความหมายของงานตามที่เขาเข้าใจนั้น ก็มีผลต่อพฤติกรรมในการทำงาน และส่งผลต่อความรู้สึกและต่อสภาพจิตใจในการทำงานของเขาด้วย

เราเข้าใจการทำงานอย่างไร เราก็มุ่งหวังผลสนองไปตามความหมายนั้น ถ้าเกิดผลสนองตามความมุ่งหมาย เราก็เกิดความพึงพอใจ ถ้าไม่สนองตามความมุ่งหมาย ก็เกิดความเศร้าเสียอกเสียใจ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในความหมายของงานจึงมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของเรามาก

ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานในความหมายที่เป็นเพียงเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ให้ได้ผลตอบแทน ให้ได้ผลประโยชน์ ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์มาก หรือได้มาน้อยไป เขาก็จะรู้สึกไม่สมหวัง ไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะว่าความมุ่งหมายในการทำงานของเขา ไปอยู่ที่ผลประโยชน์ตอบแทน คือเรื่องเงินทองเป็นต้น การที่เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ ก็อยู่แค่นั้น

ทีนี้ ถ้ามองความหมายของงานไปในแง่ว่า เป็นการทำหน้าที่หรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติ สำหรับคนที่มองอย่างนี้ บางทีแม้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนอาจไม่มากนัก แต่ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่ว่า งานนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ดังนั้น ถ้าเห็นว่างานของเขาได้ช่วยสังคม เขาก็มีความสุข ความรู้สึกในใจจึงสัมพันธ์กับการมองความหมายของงาน

คนที่มองงานในแง่ของการพัฒนาตน หรือพัฒนาศักยภาพ เวลาทำงานก็จะเพลินไปกับงาน เพราะในเวลาที่ทำงาน เราได้ฝึกตัวของเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำงานไป เราก็ได้ความรู้ ความสามารถ เพิ่มพูนความชำนาญมากขึ้น ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อย เราจะไม่คำนึงมากนัก แต่เราจะมีความพึงพอใจ ในการที่ได้พัฒนาตนเองให้ศักยภาพเพิ่มขยาย

เพราะฉะนั้น การเข้าใจความหมายของงาน จึงมีผลสำคัญมากต่อสภาพจิตใจ

ตอนนี้ อยากจะพูดถึงความรู้สึกพื้นฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานสักนิดหนึ่ง

เมื่อพูดถึงความหมายของงาน ถ้ามองดูวัฒนธรรมไทย และนำไปเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตก จะเห็นว่าแตกต่างกัน และความแตกต่างนั้น ก็แสดงถึงพื้นฐานการสั่งสมฝึกอบรมจิตใจของวัฒนธรรมที่ต่างกัน

คนไทยเรามองคำว่า “งาน” กันอย่างไร ก่อนที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา คนไทยเราใช้คำว่า งาน ในความหมายที่ไม่เหมือนปัจจุบัน เรามีงานวัด เรามีงานสงกรานต์ เรามีงานกฐิน เรามีงานทอดผ้าป่า ฯลฯ

คำว่า “งาน” ในความหมายของคนไทย เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความบันเทิง อย่างงานวัดก็เป็นเรื่องสนุกทั้งนั้น มีมหรสพ มีละครหนังลิเก ในงานสงกรานต์เราก็ไปสนุกกัน เอาน้ำไปอาบให้กัน ไปเล่นอะไรต่ออะไรกันครึกครื้น

แต่ความจริง งานมีความหมายที่ซ้อนอยู่ลึกกว่านั้น คือ เป็นเรื่องการทำความดี กิจกรรมที่เป็นหลักเป็นแกนของงาน ก็คือ การทำบุญ ทำการกุศล หรือบำเพ็ญความดีบางอย่าง โดยเฉพาะการมาร่วมกันทำประโยชน์บางอย่างเพื่อส่วนรวม แม้แต่งานสงกรานต์ ที่ถือว่าเป็นการสนุกสนานรื่นเริง ก็มีกิจกรรมที่เป็นการทำบุญทำกุศลอยู่ รวมทั้งการขนทรายเข้าวัด

ดังนั้น การทำงานจึงมีความหมายในเชิงที่เป็นกิจกรรมในการทำความดีบางอย่าง หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา แต่ส่วนหนึ่งที่ปนอยู่ด้วย ก็คือความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป็นส่วนที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในคนไทยส่วนมาก

พูดรวบรัดว่า ความหมายของงานที่เป็นไปตามวัฒนธรรมไทยนี้ เหลือมาในรูปของความสนุกสนานเป็นหลัก

ทีนี้ ในแง่ของสังคมตะวันตก การทำงานแบบตะวันตกเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง

ตามความหมายแบบตะวันตก งานคืออะไร

งานในความหมายของตะวันตกนั้น เรียกว่า work และมีคำสำคัญที่คู่กับ work เป็นคำที่ตรงข้ามกับ work ซึ่งช่วยให้ความหมายของ work เด่นชัดขึ้นมาด้วย คือคำว่า leisure แปลว่า การพักผ่อนหย่อนใจ

งานในความหมายของฝรั่ง เป็นคู่กัน และตรงข้ามกับการพักผ่อนหย่อนใจ

เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมตะวันตกจึงมองงานว่าเป็นเรื่องของความเหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำ เป็นเรื่องที่ต้องทนทำด้วยความทุกข์ยาก และก็จึงต้องมีสิ่งที่เป็นคู่กันเพื่อชดเชยทดแทน คือการพักผ่อนหย่อนใจ

ตามวัฒนธรรมของฝรั่งนี้ คนเราต้องทำงาน เสร็จแล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อช่วยทดแทนชดเชยหรือผ่อนระบาย ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้มาก และถ้าเราตั้งท่าไว้ไม่ดี มีท่าทีของจิตใจที่ไม่ถูกต้อง คือไม่มีความรักงาน เราก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยหน่าย และอยากจะหนีงาน งานกลายเป็นสิ่งที่หนักหนา ต้องเผชิญ ต้องผจญ ต้องต่อสู้

เมื่อมองอย่างนี้ คนก็จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงไปเสียจากงาน ต้องการให้งานเลิก หรือจะหนีจากงานเพื่อไปหาการพักผ่อน อันเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีจริยธรรมที่เข้าชุดเป็นคู่กัน คือว่า คนในวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งทำงานแบบตะวันตก จะต้องสร้าง นิสัยรักงาน ขึ้นมาให้ได้ พอรักงาน ก็มีใจสู้ และทนต่อความหนักความเหน็ดเหนื่อยของงานได้

เป็นอันว่า ความหนัก และความเหน็ดเหนื่อย เป็นลักษณะงานแบบตะวันตก คนไทยรับเอาความหมายของคำว่า “งาน” ในแง่ที่เป็นความหนักน่าเหนื่อยมาจากตะวันตก โดยไม่ได้รับเอา นิสัยรักงาน มาด้วย แต่เรามี นิสัยรักสนุก ที่สั่งสมมากับความหมายของงานในวัฒนธรรมของไทยของเราเอง

ในสภาพแห่งความนุงนังและสับสนของวัฒนธรรมอย่างนี้ ถ้าปรับตัวไม่ดี เราจะเสียทั้งสองด้าน คือ ตัวเองก็รักความสนุกสนานแบไทยๆ ตามความหมายของงานแบบเก่า เราจะมุ่งหาแต่ความสนุกสนาน พอเจองานแบบตะวันตกที่หนักและไม่สนุก ตัวไม่มีนิสัยรักงาน ก็อยากจะหนีงานไป แต่เมื่อต้องทำ หนีไม่ได้ ก็ต้องจำใจ ฝืนใจ หรือสักว่าทำ

ลงท้าย ที่ว่าเสียทั้งสองด้าน คือ งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ความหมายที่ดีของเราในวัฒนธรรมเก่าว่า งานเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมีความสนุกสนานเป็นผลพ่วงมา หรือเป็นผลพลอยได้ เราก็รักษาไว้ และในเวลาเดียวกัน งานในความหมายที่ยากที่หนัก ต้องสู้ต้องทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยนี้ เราก็ยินดีต้อนรับ ไม่ถอยหนี

จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้การทำงานเป็นไปด้วยดี ทั้งยังมีน้ำใจเผื่อแผ่นึกถึงส่วนรวมไว้ แล้วก็มีนิสัยรักงานสู้งานมาช่วยสนับสนุนด้วย

ถ้าแก้ให้เป็นอย่างนี้ได้ ก็จะกลับร้ายกลายเป็นดี แทนที่จะเสียทั้งสองด้าน ก็กลายเป็นได้ทั้งสองทาง คือ งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง