ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา

ต่อไปก็คือหน้าที่ของศิษย์ ศิษย์มีหน้าที่ในทางการศึกษาอย่างไร นอกจากหน้าที่ที่สัมพันธ์กับหน้าที่ของครูอาจารย์ ในแง่ที่เป็นสิปปทายก คือการรับศิลปวิทยาจากสิปปทายกแล้วก็มาถึงหน้าที่ในทางการศึกษาโดยตรงคือ การสร้างการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ตน หรือการทำตนให้เป็นผู้มีการศึกษา

หน้าที่นี้สัมพันธ์กับหน้าที่ของครูอาจารย์ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตร แต่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกัลยาณมิตรเสมอไปหรือโดยสิ้นเชิง การสร้างการศึกษาให้เกิดแก่ตน อาจเกิดจากความช่วยเหลือเบื้องต้น และบางขั้นตอนของกัลยาณมิตรที่ช่วยจุดชนวนให้ หรือการรู้จักใช้ประโยชน์จากกัลยาณมิตร (ทั้งที่เป็นครูในระบบโดยตรงและที่เป็นบุคคลภายนอก ตลอดจนหนังสือตำรับตำราสื่อมวลชน) และการรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการของตนเอง ในอัตราส่วนต่างๆ กัน เท่าที่จะยังผลให้เกิดปัญญาที่แท้ ซึ่งพ่วงมาด้วยอิสรภาพและความกรุณา ก็ถือได้ว่าทำหน้าที่สร้างการศึกษาแก่ตน หรือเรียกสามัญว่า รับการศึกษา ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี การศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล ย่อมจะแสดงตัวออกมาให้ปรากฏในรูปที่เป็นคุณสมบัติ บุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้รับการศึกษานั้นเอง ดังนั้น เพื่อผลในทางปฏิบัติ ท่านจึงจับเอาคุณสมบัติการแสดงออก และการดำเนินชีวิตของผู้มีการศึกษามาจัดวางกำหนดไว้ถือเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาด้วย และเป็นเครื่องทดสอบสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาไปด้วยพร้อมกัน โดยวางหลักว่าการศึกษาที่ได้ผลจะต้องทำให้ผู้ได้รับการศึกษาเจริญงอกงามขึ้นในแนวทางของอัตถะ ๒ อย่าง และบรรลุอัตถะหรืออรรถะ ๒ อย่างต่อไปนี้คือ

อัตตัตถะ แปลว่า ประโยชน์ตน

ปรัตถะ แปลว่า ประโยชน์เพื่อผู้อื่น

ข้อที่ ๑ อัตตัตถะ ประโยชน์ตน คนโดยมากพอบอกว่าประโยชน์ตน ก็มักจะนึกถึงทรัพย์สิน ลาภ ยศ อำนาจ สุข สรรเสริญ ที่เกิดแก่ตน ความจริงอันนั้นไม่ใช่อันที่เราต้องการคือ อรรถประโยชน์

อรรถประโยชน์คืออะไร อรรถประโยชน์ (หรืออัตถประโยชน์) ก็คือ ความเจริญงอกงามที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา หรือความเจริญงอกงามที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา หรือความเจริญงอกงามแห่งชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา ความเจริญงอกงามนี้คืออะไร คือความงอกงามแห่งสติปัญญาและคุณธรรมปัญญาเขามีมากขึ้นไหม เขามีคุณธรรมอะไรดีขึ้นไหม มีศีล มีสุตะ มีจาคะ มีสติ มีวิริยะ มีขันติขึ้นหรือไม่ มีความสามารถที่จะพึ่งตนเอง มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีหรือยัง เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นประโยชน์ตน

ถ้าหากว่ามีประโยชน์ตนเพิ่มพูนขึ้น อย่างนี้แล้วก็จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี แล้วผลประโยชน์ที่ต้องการในชีวิตเช่น ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น ก็จะดำเนินติดตามมาเป็นผลพลอยได้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะพอดี เป็นไปเพื่อเกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเกิดโทษ ก่อความเดือดร้อนเป็นพิษเป็นภัย อันนี้เราเรียกว่าเป็นอัตตัตถะ

ข้อที่ ๒ ปรัตถะ ประโยชน์เพื่อผู้อื่น การศึกษาได้ทำให้ตัวผู้ศึกษาหรือผู้รับการศึกษานั้นเป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์ หรือสามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นหรือไม่ เช่น เขารู้จักหน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รู้จักรักษาระเบียบสังคมหรือไม่ คือชีวิตของเขานั้นได้เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตที่ร่วมกันของคนทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความดีงามที่ร่วมกันหรือไม่ หรืออย่างน้อยไม่เป็นไปเพื่อกระทบกระเทือน ทำชีวิตที่ร่วมกันหรือประโยชน์ที่ร่วมกันของสังคมนั้นให้เสื่อมสูญไป

หลักนี้ ใช้ตรวจสอบได้ไม่เฉพาะแต่ตัวผู้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ใช้ตรวจสอบผลสำเร็จของกระบวนการการศึกษา การดำเนินการการศึกษา ตลอดจนระบบการศึกษาได้ทั้งระบบ เพราะผู้รับการศึกษาเป็นผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตย่อมเป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของระบบและการดำเนินงานทั้งหมด

จุดรวบยอดและผลพิสูจน์ของการพัฒนาการศึกษาก็อยู่ที่บุคคล ๒ พวก ที่เป็นองค์ประกอบของการดำเนินการศึกษาคือ ครูกับศิษย์ หรือผู้ให้การศึกษากับผู้รับการศึกษานี้เอง การพัฒนาการศึกษาและการวัดผลการพัฒนาการศึกษา จึงน่าจะต้องเน้นที่การทำหน้าที่ของบุคคล ๒ พวก ดูว่าครูทำหน้าที่ครบถ้วน ทั้งในฐานะสิปปทายก และในฐานะกัลยาณมิตรหรือไม่ ผู้รับการศึกษาบริบูรณ์ด้วยอัตตัตถะและปรัตถะหรือไม่ เมื่อทำได้อย่างแล้วก็ถือว่า การพัฒนาการศึกษาได้เข้าถึงสาระของการศึกษาแล้ว

การเข้าถึงสาระของการศึกษานั้น มันมีจุดจบหรือว่ามันมีหลักยืนที่แท้จริงของมัน ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องมาพัฒนาในส่วนสาระเนื้อหาต่อไป ส่วนที่เราจะต้องพัฒนาก็คือรูปแบบหรือระบบวิธีต่างหาก ว่าเราจะพัฒนาระบบวิธีหรือวิธีการให้การศึกษา ในระบบก็ตาม นอกระบบก็ตาม กันอย่างไร จึงจะบรรลุถึงเนื้อหาสาระของการศึกษาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเข้าใจถึงสาระของการศึกษาแล้ว สิ่งที่จะต้องพัฒนาเรื่อยไปก็คือรูปแบบหรือระบบวิธีต่างหาก ต่อจากนี้ภารกิจของเราก็อยู่ที่ระบบ วิธีและการดำเนินงานซึ่งเป็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง

ในวันนี้ อาตมภาพได้กล่าวมาในเรื่องหลักพระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาพอสมควร แต่เป็นการกล่าวในด้านเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจกล่าวต่อไปได้ในเรื่องของรูปแบบระบบวิธี หรือการดำเนินการเพราะได้กินเวลามาพอสมควรและทั้งเป็นการพูดฝ่ายเดียวด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการน่าเบื่อ เพราะเป็นการฟังเพียงอย่างเดียว ควรจะมีการไต่ถามกันด้วย จึงเห็นว่าเป็นเวลาพอสมควรที่จะยุติได้

ท้ายสุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาแด่ทุกท่านที่ได้มาฟังเรื่องที่บรรยายในโอกาสนี้ โดยเฉพาะขออนุโมทนาแด่ชุมนุมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี ที่ได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการที่จะทำให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น เห็นทางที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในสังคมปัจจุบัน หรือแก่ชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดประโยชน์แก่วงการศึกษาและสังคมทั่วไป แล้วแต่ว่าเราจะรับได้ หรือนำไปใช้ได้แค่ไหนเพียงไร

ขออนุโมทนาในกุศลกรรม คือ การกระทำความดีของทุกท่าน ขออนุโมทนาแก่ครู อาจารย์ และนิสิตทั้งหลาย พร้อมทั้งสาธุชนทั้งปวง ที่ได้เข้ามาฟังธรรมบรรยายในโอกาสนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายผู้มีความนึกคิดแต่ในทางที่ดีงามเช่นนี้และฝักใฝ่ในประโยชน์ส่วนรวม จงได้รับพรกล่าวคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ คุณสารสมบัติทุกประการ จงงอกงามเจริญไพบูลย์ในกิจหน้าที่การงานของท่าน จะเป็นการศึกษาก็ตาม การให้การศึกษาก็ตาม หรือว่าการประกอบอาชีพอื่นใดก็ตาม ขอทุกท่านจงประสบความสำเร็จในการบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่นโดยทั่วกันตลอดกาลนานเทอญ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.