ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ
กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม

ตัวอย่างยังมีอยู่มาก เช่น การแสดงความเคารพกัน การแสดงความเคารพก็แสดงออกถึงลักษณะ ๒ อย่างคือ การกระทำโดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา กับการกระทำโดยวิถีทางของปัญญาและกรุณา การแสดงความเคารพด้วยการมองความหมายและคุณค่าอย่างที่ ๑ คือ วิถีของอวิชชาและตัณหานั้น จะเห็นได้เมื่อเราแสดงความเคารพเพื่อให้ผู้ที่รับความเคารพนั้น รู้สึกชมว่าเราเรียบร้อยหรือน่ารัก เขาจะได้ชอบใจเรา เมื่อชอบใจเราแล้วต่อไปเขาอาจจะช่วยให้ผลประโยชน์อะไรต่ออะไรแก่เราอีก เหล่านี้ นี่คือแรงจูงใจประเภทหนึ่ง

ทีนี้ แรงจูงใจอีกประเภทหนึ่ง ก็จะมีขึ้นในรูปที่เกิดความคิดความเข้าใจว่า การเคารพกันนี้ เป็นระเบียบแบบแผนอย่างหนึ่งของสังคม สังคมจะอยู่ได้โดยการมีระเบียบแบบแผนและการแสดงความเคารพกันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีงามในทางสังคม จะช่วยให้สังคมดำเนินไปด้วยดี การที่เราแสดงความเคารพนี้ เป็นการมีส่วนช่วยสังคมให้อยู่รอด และรักษาคุณธรรม อันเป็นหลักการที่จะดำรงสังคมนั้นให้อยู่ได้ยั่งยืน การแสดงความเคารพในความหมายแง่นี้ เป็นไปในแง่ที่ถูกต้อง

ความจริงเราอาจแบ่งซอยการปฏิบัติคุณธรรม คือความเคารพได้ถึง ๔ ขั้นด้วยกัน ในแง่ของธรรมที่มาสัมพันธ์กับระบบการมองความหมายและตีค่า ในระบบจริยธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้น หลักธรรมทุกอย่างจะมาสัมพันธ์กันได้หมด การแสดงความเคารพก็มาสัมพันธ์กับเรื่องการศึกษาตั้งแต่ขั้นมองความหมายนี้ด้วย การแสดงความเคารพที่ว่านั้น อาจแบ่งได้ถึง ๔ ขั้น คือ แบ่งเป็นขั้นอนารยะ หรือมิใช่อริยะ ๒ ขั้น และ เป็นขั้นอริยะ หรืออารยะ ๒ ขั้น

ทีนี้ ขั้นที่เป็นอนารยะหรือการแสดงความเคารพแบบที่ยังไม่เป็นอริยะนั้น เป็นอย่างไร ว่าตามความหมายทางพระพุทธศาสนา มิใช่ความหมายของชาวโลกทั่วไป

ขั้นที่ ๑ คือการแสดงเพื่อมุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นไปในทางของตัณหาอย่างแท้จริง คือ เราต้องการผลประโยชน์ เพื่อให้เขาชอบใจ และเขาจะได้เอื้ออำนวยผลประโยชน์นั้นให้แก่เรา

ขั้นที่ ๒ คือการแสดงโดยถือว่า เป็นการวัดระดับศักดิ์ศรี ตอนนี้ไม่ต้องการผลประโยชน์แล้ว แต่เรารู้สึกในภวตัณหา คือ ความยิ่งใหญ่ และความมีเกียรติ เราจะมองในแง่ว่า คนนั้นก็ไม่ดีอะไรไปกว่าเรานี้ เราก็ขนาดนั้นขั้นนั้นเหมือนกัน อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกทำนองรักษาศักดิ์ศรี และไม่ยอมแสดงความเคารพ

การแสดงความเคารพที่เป็นไปเพราะเหตุผลเพียงเท่านี้ ใน ๒ ขั้นนี้ เป็นความรู้สึกที่พ่วงด้วยเรื่องตัวตน อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นความคับแคบในจิตใจ คือ เอาตัวตนเข้าไปขวางกั้นไว้ ไม่มีความคิดเผื่อแผ่ให้กว้างขวาง เรียกว่ายังไม่เป็นอริยะ จึงยังเป็นขั้นอนารยะในความหมายทางพระพุทธศาสนา

ทีนี้ ถ้าหากจะขยายให้เป็นขั้นอริยะ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องขยายขอบเขตออกไปให้พ้นจากวงจำกัดของตัวตน คือ

ขั้นที่ ๓ ออกไปสู่ประโยชน์ร่วมกันของสังคม อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ หมายความว่าเรารู้สึกในเรื่องหลักการแห่งความเป็นอยู่ดีของสังคม ที่ต้องอาศัยระเบียบแบบแผน การที่เราแสดงความเคารพนั้นเป็นการเอื้ออำนวยต่อการอยู่ดีของสังคม เพื่อช่วยสร้างและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมไว้ นี้ขั้นหนึ่ง

ขั้นที่ ๔ ที่สูงยิ่งกว่านั้น ก็คือการกระทำด้วยความคิดความเข้าใจว่า อะไรที่เป็นความดีงามอะไรที่เป็นสิ่งแสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม เป็นคุณธรรม เราร่วมสร้างสรรค์สิ่งนั้น เราเสียสละตนเอง เพื่อมีส่วนร่วมในการเทิดทูนสร้างสรรค์ความดีงามนั้น สิ่งใดเป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม เราตกลงกันยอมยกไว้แล้ว เราแสดงความเคารพต่อสิ่งนั้นได้ เพราะเราเทิดทูนความดีงามนั้น เราแสดงออก เราสละตนเองเข้าไปเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความดีงาม และเทิดทูนความดีงามนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งแห่งความดีงาม เป็นส่วนหนึ่งแห่งคุณธรรม

นี้เป็นการกระทำโดยไม่ผูกพันในเรื่องของตัวตน เป็นการเสียสละตนเอง เป็นการเอาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตส่วนรวมด้วยกัน หรือสลายตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคุณธรรมนั่นเอง จึงไม่มีความหมายในทางความคับแคบ จิตใจเราก็เป็นอิสระในการกระทำนั้น ไม่มีการผูกมัดติดพันในเรื่องแสวงหาผลประโยชน์ทางกามตัณหา ไม่มีการบีบคั้นแบ่งตัวด้วยเรื่องรักษาศักดิ์ศรีทางภวตัณหา จึงเป็นเรื่องของอิสรภาพนำไปสู่การแก้ปัญหาและเป็นคุณธรรมอย่างแท้จริง ในขั้นนี้ท่านเรียกว่าเป็นอริยะได้ นี้คือตัวอย่างคุณธรรมที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ แม้คุณธรรมอื่นๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปก็จะวิเคราะห์ได้ในรูปอย่างเดียวกันนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจที่เข้าไปสัมพันธ์กับการมองความหมาย และการตีค่าที่ได้กล่าวมาแล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.