ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา

ที่ว่ามานั้นไม่ใช่เป็นการตัดสินว่าผิด แต่เสนอให้คิดว่า อาจจะผิดก็ได้ ที่นี้ถ้ายอมรับว่าผิด ก็ลองมาคิดกันใหม่

๑. เริ่มต้นเราลองมาทบทวนความหมายของคำว่าชีวิตก่อน ชีวิตที่ดีนั้นเรามักจะนึกถึงชีวิตของเราแต่ละคน แต่ความหมายของคำว่าชีวิตนั้นจะต้องกว้างขวางยิ่งกว่านั้น มันหมายถึง ชีวิตที่เป็นกลางๆ คำว่าชีวิตเป็นของกลางๆ ไม่ได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นของคนทุกคน และชีวิตนั้นเนื่องต่อกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน อย่าว่าแต่ชีวิตของมนุษย์เลย แม้แต่ชีวิตของสัตว์และพืช ก็เป็นชีวิตที่เนื่องกับเราทั้งสิ้น ถ้าดึงความหมายเข้าตัว เป็นชีวิตของเรา ก็ต้องนึกแผ่ออกไปถึงชีวิตเขาอื่นด้วย ชีวิตที่ดีที่เราต้องการก็คือ ความเป็นอยู่ที่ดีทั่วๆ ไป และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน ถ้าหากเราให้ความหมายชีวิตที่ดีในแง่ที่เป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว เวลาจะทำอะไรเราจะนึกถึงประโยชน์แก่ชีวิตคือ ความเป็นอยู่ ไม่ใช่ของชีวิตคือตัวเรา แก่ชีวิตมนุษย์ที่เป็นกลางๆ ไม่จำกัดว่าชีวิตเรา ชีวิตเขา นึกถึงสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือไม่ มีผลกระทบกระเทือนแก่ชีวิตกลางๆ หรือไม่

ถ้าจะแย้งว่าจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อชีวิตของคนนั้นต้องพยายามแสวงหา เพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของชีวิตแต่ละชีวิต และในการสนองความต้องการของชีวิตแต่ละชีวิตนี้เราก็ต้องมีความเห็นแก่ตัว แม้แต่ในแง่นี้ก็เช่นเดียวกัน เรามีโอกาสที่จะขยายความเห็นแก่ตัวให้เป็นความเห็นแก่ชีวิตกลางๆ คือเห็นแก่ส่วนรวมได้ ในกรณีที่ต้องการผลประโยชน์อะไร เพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของเรา เราก็พิจารณาได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนรวม การแก้ปัญหาชีวิตของเราชีวิตหนึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาชีวิตส่วนรวมไปด้วยส่วนหนึ่ง การที่เราได้รับผลสนองความต้องการของชีวิตของเรา หรือการที่เราช่วยชีวิตของเรานั้น เป็นการช่วยชีวิตส่วนรวมไปด้วยคือ ทำให้เราพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นปัญหา ไม่พลอยเป็นภาระแก่ชีวิตที่ร่วมกัน หรือเป็นเครื่องถ่วงเครื่องดึงหรือก่อความบกพร่องแก่ชีวิตส่วนรวม และอันนี้เป็นเครื่องวินิจฉัยประโยชน์ส่วนตนที่แสวงหาหรือได้รับด้วย ว่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตหรือไม่ คือ ถ้าสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ส่วนตัวนั้นช่วยเสริม หรือช่วยแก้ส่วนบกพร่อง หรือช่วยผ่อนภาระของชีวิตที่เป็นกลาง ก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ถ้าสิ่งนั้นกระทบกระเทือนบั่นทอนหรือก่อความเสียหายแก่ชีวิตส่วนรวม ก็ถือว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต

ถ้าความหมายของชีวิตเป็นไปในลักษณะเป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว มันจะช่วยเราอยู่เสมอในการที่จะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะว่าการกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ที่ร่วมกัน มันก็เกิดจากความรู้สึกนึกคิดในทางที่ไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อกัน หรือความไม่รับผิดชอบต่อชีวิตนั้นเอง แล้วการแสวงหาของแต่ละคนก็นำมาซึ่งความกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น หรือชีวิตที่เป็นกลางๆ แล้วก็เกิดความขัดแย้ง แล้วก็เกิดภาวะที่เรียกว่าการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงเป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตที่เป็นกลางๆ ขึ้นมาแล้ว เวลาทำการอะไรก็จะเป็นไปในแง่ที่มีการเตือนสติตนเองว่า ผลได้ที่เราได้มานี้เป็นผลได้ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตส่วนรวม หรือเกื้อกูลแก่ชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือไม่ อย่างน้อยถ้าเราจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็จะเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตเรา ไม่ให้เป็นปัญหาสร้างภาระแก่ชีวิตส่วนรวมนั้น นี่เป็นข้อที่พึงพิจารณาในเรื่องความหมายเกี่ยวกับชีวิต

ข้อต่อไป อะไรเป็นผลดีแก่ชีวิตหรืออะไรที่ชีวิตต้องการ ผลดีที่ต้องการนั้นไม่ควรจะเป็นผลดีที่มาสนองแต่ความต้องการของตน ในการที่จะมาห่อหุ้มตัวอัตตาของเราให้หนาขึ้น ให้มันใหญ่ขึ้น ถ้าเราขยายตัวอัตตาของเราให้ใหญ่โต มันก็มีโอกาสกระทบกระเทือนกันมากขึ้น คนที่อัตตาใหญ่ ยึดมั่นในอัตตา ได้อะไรมา ได้สมบัติมา ก็ขยายตัวอัตตาให้ใหญ่ไปตามสิ่งที่ได้มานั้น มันก็มีโอกาสถูกกระทบกระเทือนมากขึ้น เรามีโต๊ะตัวหนึ่ง เรายึดมั่นในโต๊ะนั้นว่า โต๊ะนี้เป็นของเรา พอใครมากระทบกระทั่งโต๊ะ ตัวของเราก็ขยายไปรับการกระทบ ความขัดแย้งก็เกิดมีขึ้น คนเรามักขยายตัวตนออกไปเสมอ เพราะความยึดมั่นของตนเอง

อีกอย่างหนึ่งคือ ในการแสวงหาอำนาจ พอมีอำนาจก็มีความยึดมั่นในอำนาจ ตัวเราก็ขยายใหญ่ตามอำนาจนั้นขึ้นไป พอมีความกระทบกระเทือนบีบคั้น หรือมีอะไรท้าทายอำนาจนั้น ก็หมายถึงตัวตนถูกกระทบกระเทือนบีบคั้น ถูกท้าทาย เมื่อตัวตนถูกกระทบกระเทือนก็ยิ่งทำให้มีความยึดมั่นหวงแหนเป็นทุกข์ที่จะต้องพยายามรักษาอำนาจไว้ พยายามกระทำการต่างๆ เพื่อปกป้องอำนาจนั้น โดยไม่คำนึงถึงความกระทบกระเทือนต่อชีวิต ก็ทำให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้อื่น แก่สังคม หรือแก่ชีวิตมนุษย์นั่นเอง การขยายอัตตาแบบนี้เป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ชีวิต เรียกว่าเป็นปมซ้อนขึ้นภายใน ก่อความทุกข์ให้แก่ตนและก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นเพิ่มพูนขยายออกไปทุกที เรามีอำนาจ เราหวงอำนาจ ก็ถูกกระทบกระเทือนเพราะอำนาจ ทำให้อัตตาขยายใหญ่ขึ้นไป ทีนี้พอมีการกระทบกระเทือนก็มีความหวาดระแวง เราก็มีความทุกข์ใจ ทำให้เกิดความคับแค้นใจบ้าง ทำให้เกิดความเศร้าโศกใจเสียบ้าง จากความเศร้าโศกเสียใจที่เป็นอวิชชา ก็นำมาเป็นความคิดหวงแหน เป็นไปในทางที่จะทำลายผู้อื่น ทำให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นขยายออกไป

ความทุกข์ของมนุษย์นั้นก็เป็นไปในรูปนี้เป็นอันมาก อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง สิ่งที่พึงย้ำในที่นี้ก็คือ จะต้องเข้าใจว่าผลดีต่อตัวตนและผลดีต่อชีวิต หรือสิ่งที่ตัวตนต้องการ กับสิ่งที่ชีวิตต้องการนั้นคนมักเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ที่จริงมีความหมายไม่เหมือนกัน

๒. ทีนี้ต่อไปคือ สิ่งบีบคั้น ความขัดข้อง อะไรเป็นสิ่งบีบคั้นอย่างแท้จริงของชีวิต อะไรเป็นสิ่งบีบคั้นที่ไม่แท้จริง คือเป็นเทียมๆ หมายความว่าสิ่งบีบคั้นมีทั้งของจริงและของไม่จริง อย่างที่ว่าข้างต้นนั้นบางอย่างเราทำให้เกิดเป็นความขัดข้องแก่ชีวิตเพราะกิเลสคือความโง่ของเราเอง เราอยากได้เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้ก็เป็นความขัดข้องของเรา ถ้าหากจะต้องสนองความต้องการส่วนตัวอย่างนี้ตลอดไปแล้ว เราไม่มีทางที่จะถึงจุดจบ การศึกษาก็ไม่สามารถช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาความขัดข้องอย่างนี้ได้หมด เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะมาใช้สนองทันความอยากของมนุษย์ คนหนึ่งต้องการมากอีกคนหนึ่งก็ต้องเสียโอกาสไป การแย่งชิงเบียดเบียนกันก็ไม่มีจุดจบ แล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง แล้วปัญหาความขัดข้องอย่างนี้มันเป็นของเทียม เราได้สิ่งของสิ่งนั้นมา ตอนแรกเรายังไม่ได้สิ่งนั้น เราต้องการ เรารู้สึกเป็นการบีบคั้นขัดข้องในการที่ยังไม่มีหรือยังไม่ได้ เมื่อได้มาแล้วเราเกิดความเบื่อมัน ความเบื่อนั้นกลายเป็นความบีบคั้นขัดข้อง เพราะฉะนั้นการขัดข้องบีบคั้นนี้ เราอาจจะสร้างมันขึ้นมาเอง จะต้องแยกกันให้ออก ระหว่างสิ่งบีบคั้นขัดข้องต่อชีวิตอย่างแท้กับอย่างเทียม ปัญหาที่เราสร้างขึ้นจากอัตตาที่ยึดมั่นเอง เป็นความบีบคั้นอย่างเทียม พูดอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่บีบคั้นชีวิตเป็นสิ่งบีบคั้นแท้ แต่สิ่งที่บีบคั้นตัวตนเป็นสิ่งบีบคั้นเทียม

๓. ต่อไปคือตัวปัญญา ปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ความหมายของปัญญาจะสอดคล้องกับความหมายของถ้อยคำที่กล่าวมาข้างต้น การแสวงหาแบบที่มุ่งสนองความต้องการหรือความอยากของตัวตนนั้น ทางพระท่านเรียกว่า ตัณหา คือความทะยานอยากในกาม เป็นความต้องการที่เห็นแก่ตน ทีนี้ปัญญาที่เราจะมีในกรณีนี้ก็คือ ความรู้ความฉลาดต่างๆ ที่จะเป็นอุปกรณ์ เพื่อแสวงหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอตัวตัณหานั้น ปัญญาที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นปัญญาเพื่อรับใช้ตัณหา เป็นปัญญาที่ช่วยขยายตัวอัตตาและสะสมทุกข์ให้มากขึ้น อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลาจะได้พูดข้างหน้าในตอนที่ว่าด้วยพระพุทธศาสนาโดยตรง

คำที่กล่าวมานั้น เป็นคำที่มีความหมายควรที่เราจะศึกษา และทำความเข้าใจให้ถูกต้องและชัดเจนทั้งสิ้น อาตมภาพเสนอเพียงเป็นข้อคิดที่ควรพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าท่านทั้งหลายจะต้องเห็นด้วย แต่ถ้าสมมติว่าเห็นด้วย เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ถ้าหากเห็นด้วยว่าวิธีการให้ความหมายถ้อยคำต่างๆ ในรูปที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นทางของการสร้างเสริมขยายอัตตาหรือตัวตน หรือความเห็นแก่ตนให้มากมายใหญ่โตขึ้นถ้าเห็นว่าความหมายอย่างนี้เป็นความหมายผิดพลาดแล้ว ก็จะต้องกำหนดความหมายที่ถูกต้องขึ้นมา และสร้างสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า หรือค่านิยม หรือรูปแบบความเจริญงอกงามต่างๆ ในขบวนการศึกษา ให้เป็นชนิดซึ่งจะไม่มาห่อหุ้มขยายพอกพูนตัวอัตตานี้ให้มันใหญ่กว้างออกไป ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มทุกข์ แต่จะต้องเป็นไปในรูปที่ว่าจะให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำหรับชำระล้างให้ตัวอัตตานี้หดหายไป ให้หมดตัวตนที่สร้างขึ้นมาเป็นปมซ้อนอยู่ในชีวิต ให้เหลือแต่ชีวิตแท้ๆ ชีวิตที่บริสุทธิ์ มิให้เป็นการศึกษาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์มาปรนเปรอสนองความต้องการของตัวตน แต่ให้เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต พูดสั้นๆ ว่า มิใช่เป็นการศึกษาเพื่อตัวตน แต่เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต

วิธีนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เป็นข้อที่เราควรจะพิจารณาต่อไป ซึ่งก็หมายความว่าการศึกษาที่พึงประสงค์ในที่นี้ ควรจะมาตกลงกันก่อน ว่าให้เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาตัวปัญญาที่บริสุทธิ์ หาความเจริญงอกงามภายในจิตใจ เช่นความเจริญงอกงามของปัญญาและคุณธรรมต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต แล้วจากการที่เรามีภายในที่ดีและการดำเนินชีวิตที่ดีแล้วนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นส่วนสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างได้ผลดี เป็นการเกี่ยวข้องที่บริสุทธิ์ และเป็นผลดีร่วมกัน นี้เป็นผลดีของชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือชีวิตที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน จะเรียกว่า การศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อสังคม และเพื่อธรรมชาติก็ได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.