ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

๒. ทีนี้เรื่องที่ว่านั้น จะมีผลดีขึ้นมาได้อย่างไร ทำอย่างไรจะให้คนมีความซื่อตรงต่อธรรมชาติ ทำอย่างไรจะให้คนเห็นความดีเป็นผลดีต่อชีวิตแทนที่จะเห็นแต่เพียงวัตถุ หรือความพรั่งพร้อมในทางทรัพย์สมบัติ เป็นต้น อันนี้ก็จะต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งลงไป ความเข้าใจในเรื่องอะไร คือความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย

ปัญหาคือ มนุษย์เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายเพื่ออะไร โดยปกติเราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเห็นว่า จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเราและเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา เราได้ประโยชน์จากสิ่งใด เราก็เข้าไปหาสิ่งนั้น และพยายามใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ หมายความว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าแก่ตัวเอง สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นบุคคลก็ตาม เป็นธรรมชาติก็ตาม เราเห็นว่ามีคุณค่าสนองต่อความต้องการของเรา เราก็เข้าไปเกี่ยวข้อง พยายามนำเอาคุณค่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา

แต่ว่าคุณค่าที่เราต้องการนั้นคืออะไรแน่ และคุณค่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง อันนี้เป็นตัวปัญหา มิใช่ว่าต้องการประโยชน์ ต้องการคุณค่าแล้ว เมื่อได้มาสมปรารถนาจะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างแท้จริง บางทีประโยชน์หรือคุณค่านั้น มิได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริงเลย

ขอให้ลองมาช่วยกันคิดดูว่า ประโยชน์หรือคุณค่าที่เราต้องการนั้น อันไหนเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อชีวิตของเราอย่างแท้จริงบ้าง

เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาหาร เราต้องการกินเพื่ออะไร เพื่อประทังชีวิต หรือเพื่ออร่อย เพื่อคุณค่าสองแบบนี้แหละ มนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาหาร ตามหลักแท้ๆ เรากินอาหารเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีการกินเพื่อความสนุกสนาน โก้หรู ครึกครื้น ในกรณีทั้งสองนี้ผลที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกันออกไป คุณค่าในกรณีที่หนึ่งนั้นเรียกว่า คุณค่าพื้นฐานสำหรับชีวิต เป็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ต่อชีวิต อีกกรณีหนึ่งเป็นคุณค่าที่เราเสริมสร้างขึ้นมาเพื่อขยายตัวอัตตาของเราให้ใหญ่ขึ้นเป็นคุณค่าเทียม เพื่อสนองความต้องการของตัวตน คุณค่าสองประการนี้ จะทำให้คนเรามีพฤติกรรมต่างกันออกไป

เพื่อสนองคุณค่าประการที่หนึ่ง ท่านอาจจะต้องการหรือมองอาหารในแง่ว่า อาหารนี้มีคุณค่าทางอาหาร มีประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรแล้วท่านอาจจะต้องเสียเงิน (ในทางเศรษฐกิจ) เพื่อรับประทานอาหารมื้อนั้นสัก ๑๐ บาท แล้วท่านจะอิ่ม ได้คุณค่าที่ต้องการ

ในคุณค่าประการที่สอง ท่านต้องการความเอร็ดอร่อย ความโก้หรู ความสนุกสนาน ท่านอาจจะต้องเข้าไปนั่งในภัตตาคาร ท่านอาจจะต้องเสียเงินเพื่ออาหารนั้นตั้ง ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท แล้วคุณค่าที่มีต่อชีวิตนั้นก็เท่ากันกับอาหาร ๑๐ บาท

มนุษย์จะแสวงหาคุณค่าจากสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในสองแบบนี้โดยทั่วไป แม้ท่านจะใช้เสื้อผ้าก็ใช้เพื่อคุณค่าสองประการนี้คือ เพื่อความอบอุ่น เพื่อปกปิดอวัยวะจากหนาวร้อน ลมแดด สัตว์ที่รบกวนหรือเพื่อป้องกันความละอายเป็นต้น ในฐานะเป็นคุณค่าที่แท้จริง หรือเพื่อคุณค่าอีกประการหนึ่ง คือ ความสวยงาม ความโก้หรู เป็นต้น ท่านมีรถยนต์ ท่านมีเพื่ออะไร มีเพื่อไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้รวดเร็วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพื่อความโก้หรู เป็นเครื่องวัดฐานะของกันและกัน จากการปรารถนาในคุณค่าที่ต้องการนี้ ก็นำมาซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกต่างๆ ปัญหาของมนุษย์ตามมาจากเรื่องอะไร ตามมาจากการพยายามสนองคุณค่าประการที่สองมากที่สุด เราเรียกว่าคุณค่าเทียม คุณค่าที่เกิดจากตัณหา หรือคุณค่าที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของอัตตา และเพื่อสนองความต้องการของอัตตาที่ขยายตัวออกไปนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คือเรื่องคุณค่าที่แท้กับคุณค่าที่เทียม

คุณค่าเทียมนี่แหละเป็นตัวก่อปัญหาใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อคนอาศัยตัณหาเป็นพื้นฐานก็ต้องการขยายตัวตนที่สร้างขึ้นมาพอกพูนให้มันใหญ่ขึ้น ยิ่งตัวมันใหญ่โตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องหาคุณค่าเทียมมาสนองความต้องการของตัวตนมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น แต่ถ้าเราพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ที่มันมีกับชีวิตของเราอย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะเข้าถึงคุณค่าที่แท้ การกระทำของเรา พฤติกรรมต่างๆ จะเป็นไปเพื่อสนองปัญญา เราจะรู้จักพิจารณาว่า การกระทำนี้หรือสิ่งที่ต้องการนี้ก่อให้เกิดความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิตของเราอย่างไร อันนี้อย่างน้อยสำหรับปุถุชนก็เป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้มัวเมาหลงใหลจนเกินไป

จริงอยู่เรายอมรับว่าปุถุชนย่อมมีความต้องการในสิ่งที่เราเรียกว่าคุณค่าเทียม เช่น ความสวยงาม เป็นต้น อยู่บ้าง แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีสติยับยั้งเสียเลย ก็จะทำให้เกิดความมัวเมา จากความมัวเมานั้นก็จะยิ่งเร้าตัณหาเพิ่มพูนความทุกข์ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ในทางพระนี่ถ้าบวชเข้ามาแล้ว ท่านจะสอนตั้งแต่ต้นทีเดียว ให้ปฏิสังขาโย ให้ปฏิสังขาโยอะไร คือให้พิจารณาในการที่จะใช้สอยบริโภคปัจจัย ๔ เช่นบอกว่า เวลาจะฉันอาหารต้องให้พิจารณาว่าเราฉันเพื่ออะไรแน่ เพื่อสุขภาพให้มีกำลังทำหน้าที่ของเราได้อยู่สบาย ไม่ใช่เพื่อสนุกสนานเฮฮา ใช้เสนาสนะ ใช้เครื่องนุ่งห่ม ก็เช่นเดียวกัน ต้องพิจารณาปฏิสังขาโย

คติเกี่ยวกับคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมที่กล่าวมานั้น จะมีความหมายเกี่ยวข้องถึงพฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั่วไป แม้แต่การรับเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เราก็จะรับเพื่อสนองหรือเอาคุณค่าจากมันในสองแง่นี้ เช่นอย่างท่านจะมีไมโครโฟนไว้ใช้ ท่านจะมีเพื่ออะไร ถ้าท่านเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เราก็จะรับเพื่อสนองหรือเอาคุณค่าจากมันในสองแง่นี้ เช่น อย่างท่านจะมีไมโครโฟนไว้ใช้ท่านจะมีเพื่ออะไร ถ้าท่านเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการสนองปัญญา ท่านก็คิดว่าจะใช้เพื่อกิจกรรมอะไรที่เป็นการเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ที่ร่วมกัน เช่น การศึกษา การเผยแพร่ทางวิชาการ แล้วจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางนั้นให้เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราจะใช้สนองความต้องการในด้านตัณหาเพื่อคุณค่าที่เทียมก็ได้ คือเพียงเพื่อความโก้หรู สนุก ปรนเปรอตัว จากนี้แหละจะเป็นจุดแยกแห่งปัญหาของมนุษย์ มนุษย์เรานี้แหละเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ด้วยกัน จากพื้นฐานความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ แม้เราจัดกิจกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นก็จะเป็นไปในรูปนี้คือ กิจกรรมที่สนองความต้องการทางปัญญา เป็นไปเพื่อคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตประการหนึ่ง เป็นไปเพื่ออัตตาของเรา เป็นไปเพื่อสนุกสนานหรือคุณค่าเทียมอีกประการหนึ่ง วิธีการที่สนองตัณหานั้นจะเป็นไปเพื่อเพิ่มทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์แก่เราฝ่ายเดียว อาจเพิ่มทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอันมาก และไม่มีประโยชน์อะไรที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสำหรับชีวิตปุถุชนแล้ว ควรจะเตือนตนอยู่เสมอในเรื่องอย่างนี้ว่าเรารับอะไรมาใช้จะมีคุณค่าอะไรที่แท้ที่เทียม เราจะสนองคุณค่าเทียมแค่ไหนและคุณค่าที่แท้จริงแค่ไหน ถ้าหากว่าเราจะจัดกิจกรรมขึ้นมา กิจกรรมนั้นจะเป็นไปเพื่อชีวิตที่ดีร่วมกัน และสนองปัญญาแค่ไหน กิจกรรมนี้จะเป็นไปเพื่อสนองตัณหา เพื่อตัวตนของเราและอาจจะกระทบกระเทือนชีวิตที่ดีร่วมกันหรือไม่ เราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติมาปรนเปรอตนเอง แล้วก่อให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นหรือไม่ กิจกรรมทุกอย่างเราจะพิจารณาได้เสมอ แม้กิจกรรมในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ก็จะเป็นไปในรูปนี้ ถึงจะไม่เต็มที่ล้วนๆ ทั้งสองแง่ ก็จะเป็นไปในรูปที่ว่า หนักในแง่ไหนมาก เป็นเครื่องสำหรับเตือนสติตนเองอันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง สรุปสั้นๆ ว่ามีคุณค่า ๒ อย่างคือ คุณค่าแท้ กับคุณค่าเทียม เป็นคุณค่าเพื่อชีวิตกับคุณค่าเพื่อตัวตน หรือคุณค่าเพื่อสนองปัญญา กับคุณค่าที่สนองตัณหา ฝ่ายแรกเป็นไปเพื่อแก้ปัญหากำจัดทุกข์ คือสิ่งบีบคั้นที่แท้จริงของชีวิต ฝ่ายหลังเป็นไปเพื่อสร้างเสริมปัญหา เพิ่มพูนทุกข์ แล้วมันเกี่ยวกับการศึกษาอย่างไร ก็จะได้พูดกันต่อไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.