ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาพุทธศาสนา
บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก

ในการพูดนี้ อาตมาคิดว่าจะมีข้อเสียเปรียบเล็กน้อย คือในสมัยปัจจุบันนี้ เรารู้สึกตื่นเต้น เรารู้สึกสนใจในคำศัพท์แสงที่เป็นภาษาตะวันตก และเนื้อหาวิชาแบบตะวันตก ทีนี้วิชาที่อาตมาพูด เป็นเรื่องฝ่ายพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพื้นบ้านของเราเอง คำศัพท์ต่างๆ ก็รู้สึกเก่าๆ พูดขึ้นมาแล้วก็อาจจะไม่กระตุ้นความสนใจเท่าที่ควร อันเป็นข้อเสียเปรียบประการหนึ่ง แต่ก็ทำใจไว้ก่อนว่าวันนี้เราจะมาศึกษา หันมามองดูในสิ่งที่เราเรียกว่าเก่าๆ สิ่งเก่าๆ จะมีเนื้อหาสาระที่ควรแก่ความสนใจอย่างไรบ้าง หรือนอกจากความเก่าแล้วจะมีแง่คิดที่ยังใหม่อย่างไรหรือไม่ หมายความว่าเรากำลังจะมองกลับมาค้นหาสิ่งที่ดีภายในของเราเอง ที่มีอยู่แล้ว

และเป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคนี้ ได้มีความสนใจที่จะหันกลับมาสู่การแสวงหาภายในสิ่งที่เรามีอยู่กันบ้างแล้ว พระพุทธศาสนานี้ก็เป็นจุดสนใจอันหนึ่งที่นักปรัชญาการศึกษาบ้าง นักวิชาการด้านอื่นเช่น สังคมวิทยาบ้าง หันมาสนใจ แต่น่าสังเกตว่าความสนใจเหล่านี้มักจะเริ่มด้วยการจับเนื้อหาไปเปรียบเทียบกับวิชาการฝ่ายตะวันตก หรือพิจารณาโดยยึดเอาความรู้ของฝ่ายตะวันตกเป็นหลัก

ทีนี้พูดเฉพาะในแง่การศึกษา ผู้ที่มองพระพุทธศาสนาและนำหลักการในทางพระพุทธศาสนามาใช้ ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการยกเอาปรัชญาของตะวันตกขึ้นมาเป็นหลักเปรียบเทียบ หรือมองพระพุทธศาสนาจากพื้นความรู้ของฝ่ายตะวันตก และก็เริ่มจากหลักการของฝ่ายตะวันตกนั้น นำเอาพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบว่า พระพุทธศาสนามีหลักการในทางปรัชญาอย่างนั้นบ้างหรือไม่ หรือมีส่วนคล้ายคลึงกันหรือไม่ เมื่อเปรียบแล้วเห็นว่าเข้ากันได้ หรือคล้ายคลึงกัน ก็ดีใจ อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า นักวิชาการของเรารู้วิชาการของตะวันตกมากกว่าความรู้พื้นบ้าน หรือความรู้เรื่องของตนเอง และถึงอย่างไรเราก็ยังติดยังนิยมความรู้ของฝ่ายตะวันตกอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่เกิดมีความสนใจของเก่า หรือของที่เรามีเองแล้ว และเริ่มศึกษากันขึ้นมาบ้างเช่นนี้ ก็ต้องนับว่าเป็นนิมิตดีอย่างหนึ่ง ทำให้มองเห็นทางที่จะรู้จักตัวเอง มีทางที่จะแก้ปัญหาของตนเองได้ดีขึ้น และสิ่งที่มีค่าในถิ่นของตนเองจะได้รับการขุดค้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ ท่านที่ริเริ่มทำเช่นนี้ ถึงจะยังบกพร่องบ้างหรือยังเข้ามุมไม่ถูกก็ควรแก่การอนุโมทนาอยู่ดี

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.