ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปรัชญาการศึกษา
ตามหลักพระพุทธศาสนา
(มองจากภาคปฏิบัติ)

(หมายเหตุ: ทางเว็บไซต์ ได้จัดปรับวรรคตอนและแบ่งซอยย่อหน้าให้มากขึ้นกว่าในหนังสือต้นฉบับ เพื่อความสะดวกในการอ่าน)

ท่านอาจารย์และท่านนักศึกษาทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาพบกับท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ และมาพูดเรื่องธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสิริมงคลและเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่เรื่องที่จะพูดในวันนี้รู้สึกว่าเป็นหัวข้อใหญ่เหลือเกิน คือเรื่องพุทธศาสนากับปรัชญาการศึกษา ปรัญชาการศึกษานั้นถือว่าเป็นวิชาใหญ่โต มีเนื้อหาที่ต้องทำความเข้าใจกันมาก และพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาใหญ่เหมือนกัน มีหลักคำสอนมากมาย

ทีนี้เราจะมาเปรียบเทียบกันในแง่ที่ว่า พระพุทธศาสนามีหลักที่จัดว่าเป็นปรัชญาการศึกษาหรือไม่ หรือเข้ากันได้กับปรัชญาการศึกษาอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือมองปรัชญาการศึกษาในแง่ของพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนามีหลักปรัชญาการศึกษาอย่างไรนั่นเอง

ได้กล่าวแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะมาพูดในเวลาเพียงเท่านี้ก็ย่อมเป็นการไม่เพียงพอ เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดให้กว้างขวางครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ทำอย่างไรจึงจะพูดได้พอสมควร ปัญหาก็มีว่าหลักธรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้เป็นหลักปรัชญาการศึกษานั้น มีมากมายหลายหัวข้อ นั้นก็ประการหนึ่งแล้ว ประการที่สอง คำศัพท์ต่างๆ ที่แสดงถึงหลักธรรมเหล่านั้น ก็เป็นคำที่จะต้องมาศึกษาความหมายกันอีก มิใช่ว่าพอพูดถึงหลักธรรมต่างๆ แล้ว เราจะเข้าใจกันทันที เพราะฉะนั้นความยากก็เกิดมีขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ประการ อาตมภาพจึงเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดกันในที่นี้ถึงหลักธรรมใหญ่ๆ ที่เราถือว่าเป็นปรัชญาการศึกษาของพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ อะไรเหล่านี้

ทีนี้จะทำโดยวิธีใด ก็เห็นอยู่วิธีหนึ่งที่พอเป็นไปได้ คือมาเริ่มจากภาคปฏิบัติ ได้แก่หน้าที่หรือภาระรับผิดชอบของครูนี้เอง แล้วชักสัมพันธ์ไปหาเนื้อหาในทางปรัชญา โดยวิธีการเช่นนี้ อาตมภาพบรรยายไป จะมีเนื้อปรัชญาเป็นอย่างไร ก็จะให้เป็นข้อสำหรับพิจารณาของนักศึกษาเองเป็นสำคัญ ส่วนสาระส่วนใหญ่ที่เป็นเนื้อหาปรัชญาแท้ๆ ในขั้นพื้นฐานนั้นเราคงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพูดถึง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.