โครงสร้างพระไตรปิฎก และความหมายในภาษาอังกฤษ และแนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์1

บรรยายเมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระศรีวิสุทธิโมลี ได้เปิดสารบรรณเพื่อมองเห็นแนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ดังนี้

คัมภีร์ที่ ย่อว่า มาจาก อยู่ในเล่มที่
๑. สํ สังคณี ๓๔
๒. วิ วิภังค์ ๓๕
๓. ธา ธาตุกถา ๓๖
๔. ปุ ปุคคลปัญญัตติ ๓๖
๕. กถาวัตถุ ๓๗
๖. ยมก ๓๘-๓๙
๗. ปัฏฐาน ๔๐-๔๕

 

อภิธรรม เป็นคำอธิบายต่อเนื่องแสดงเนื้อหาทางวิชาการแท้ๆ นำธรรมในสุตตันตปิฎกมาอธิบายอย่างมีระเบียบ จัดเป็นข้อๆ เป็นเรื่องๆ ไป

สุตตันตปิฎก มีเนื้อหาไม่ปะติดปะต่อกัน กล่าวถึงเรื่องหนึ่งจบแล้ว ก็ไปพูดเรื่องอื่นต่อไป สุดแต่จะมีบุคคลหรือเหตุการณ์อะไรมาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องแรกๆ เลย

คัมภีร์ที่ถือว่าสำคัญที่สุดในอภิธรรม คือเล่มหัวและเล่มท้าย ท่านกล่าวไว้ว่าใครเข้าใจเล่มท้ายคือ ปัฏฐาน ก็แปลว่าเข้าใจธรรมหมด เพราะเป็นคัมภีร์ที่มีอรรถอันลึกซึ้งและมีขนาดใหญ่จริงๆ ๖ เล่มแรกรวมกันแล้วก็ยังเล็กกว่าปัฏฐาน

คัมภีร์ที่ ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี (Enumeration of the Dhammas)

คัมภีร์นี้มี มาติกา (Matrix or Schedule) เป็นบทนำ แล้วแจกออกเป็น ๔ กัณฑ์ ดังนี้

  • ๑) จิตตุปปาทกัณฑ์ (Chapter on the arising of consciousness)
  • ๒) รูปกัณฑ์ (Chapter on corporeality)
  • ๓) นิกเขปกัณฑ์ (Chapter on summary)
  • ๔) อัตถุทธารกัณฑ์ (Chapter on synopsis)

มาติกา คือ แม่บท เป็นหัวข้อใหญ่ซึ่งเป็นต้นแบบสำหรับนำไปขยายความสรุปธรรมะให้เหลือหัวข้อน้อยๆ แต่กินความมากๆ เช่น ธรรมะทั้งหมด เมื่อย่อลงแล้วก็เหลือสังขตธรรมและอสังขตธรรมเท่านั้นเป็นมาติกาหนึ่ง หรือโลกียธรรม กับโลกุตตรธรรม ก็เป็นมาติกาหนึ่ง หรือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรมก็เป็นแม่บทคือมาติกาหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

มาติกา มีทั้งหมด ๑๖๔ ชุด แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ

  • ทุกมาติกา (หมวด ๒) (Dyad) มี ๑๔๒ ชุด
  • ติกมาติกา (หมวด ๓) (Triad) มี ๒๒ ชุด

ทุกมาติกา แยกย่อยเป็น ๒ แบบ คือ

  • แบบอภิธรรม มี ๑๐๐ คู่ รวมเรียก อภิธัมมมาติกา
  • แบบพระสูตร มี ๔๒ คู่ รวมเรียก สุตตันตมาติกา ส่วนมากเป็นพวกรวมความหมายไว้ไม่หมด (ไม่ comprehensive)

ติกมาติกา มี ๒๒ ชุด คือหมวดที่เรานำใช้เป็นบทสวด เรียกกันว่า สวดมาติกา

ขยายความ

๑. จิตตุปปาทกัณฑ์ บทที่ว่าด้วยการเกิดของจิต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Chapter on consciousness and its concomitants คือบทที่ว่าด้วยจิตและเจตสิก แสดงควบกันไป เพราะจิตต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมด้วยเสมอ

๒. รูปกัณฑ์ บทที่ว่าด้วยรูป ในบทนี้ขอให้สังเกตไว้ว่า หทัยวัตถุ ไม่มีในอภิธรรมปิฎกเลย

กัณฑ์ที่ ๑ และ ๒ แสดงจบปรมัตถธรรม ๔ (จิต เจตสิก รูป นิพพาน)

กัณฑ์ที่ ๒ ได้กล่าวถึง นิพพาน เพียงครั้งเดียว ในคำว่า อสงฺขตา จ ธาตุ

๒ กัณฑ์นี้อธิบายมาติกา ธรรมสังคณี หมดแค่มาติกาที่ ๑ เท่านั้น คือ อยู่ในหัวข้อ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา คืออะไร เท่านั้น

๓. นิกเขปกัณฑ์ เป็นการแสดงคำจำกัดความโดยย่อของธรรมในมาติกาทั้งหมด เช่น

สงฺขตา ธมฺมา คือ ธรรมใน ขันธ์ ๕

อสงฺขตา ธมฺมา คือ ธรรมที่พ้น ขันธ์ ๕ แล้ว เป็นต้น

ต้องการทราบความหมายของธรรมอะไร ก็ไปเปิดดูในกัณฑ์ที่ ๓ นี้จะเข้าใจดี มี ๑๖๔ ชุดด้วยกัน

๔. อัตถุทธารกัณฑ์ บทที่แสดงคำจำกัดความเหมือนกัน แต่แสดงต่างแนวกันไป ให้คำจำกัดความเพียงอภิธรรมมาติกาเท่านั้น มี ๑๒๒ ชุด (ไม่ครบเหมือนนิกเขปกัณฑ์) เป็นคำอธิบายของพระสารีบุตรเถระ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัฏฐกถากัณฑ์ คือเป็นการแก้ความของมาติกาในแบบอรรถกถา (พระสารีบุตรเถระเป็นต้นแบบของการแต่งคัมภีร์แบบอรรถกถา เพราะท่านได้แต่งคัมภีร์นิทเทส ปฏิสัมภิทามัคค์ นิทเทสเป็นคำอธิบายสุตนิบาตซึ่งเป็นพุทธพจน์ จึงถือว่าท่านเป็นผู้มีความคิดริเริ่มในการแต่งอรรถกถาและท่านเป็นผู้แสดงสังคีติสูตรจึงถือว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มความคิดในการสังคายนา)

คัมภีร์ที่ ๒ วิภังค์ (Analysis of the Dhammas)

เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๑๘ บท แต่ละบทต่อท้ายด้วยคำว่า วิภังค์ (การจำแนกแยกแยะ) หลักธรรมะใหญ่ๆ มีอยู่ในวิภังค์ทั้งสิ้น คัมภีร์นี้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาพระสูตรด้วย หลักธรรมะที่อธิบายก็เป็นประเภทที่เรียกว่า ปัญญาภูมิ อันเป็นหลักธรรมที่ช่วยให้เกิดประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนา เห็นสภาวะความเป็นจริง แบ่งออกดังนี้

๑. ขันธ์ ๕ (Aggregates)

๒. อายตนะ ๑๒ (Sense-bases)

๓. ธาตุ ๑๘ (Elements)

๔. สัจจะ ๔ (Truths)

๕. อินทรีย์ ๒๒ (Faculties or Controlling faculties)

๖. ปัจจยาการ (ปฏิจจสมุปบาท) ๑๒ (Dependent origination)

ต่อไปเป็นธรรม ภาคปฏิบัติ

๗. สติปัฏฐาน ๔ (Foundations of mindfulness)

๘. สัมมัปปธาน ๔ (Right striving)

๙. อิทธิบาท ๔ (Bases of accomplishment)

๑๐. โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้ (Enlightenment factors)

๑๑. ฌาน ๔ (Absorptions)

๑๒. มรรค ๘ (Path factors)

๑๓. อัปปมัญญา ๔ (Ilimitables)

๑๔. สิกขาบท (เบญจศีล ๕) (Precepts or Training rules)

ต่อไปเป็นผลของการปฏิบัติและเบ็ดเตล็ด

๑๕. ปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉาน) ๔ (Analytic insight)

๑๖. ญาณ ๑๐ (Knowledge)

๑๗. ขุททกวัตถุ (Small items) อกุศลธรรม เช่น อาสวะ-กิเลส-สังโยชน์-โอฆะ ฯลฯ

๑๘. ธัมมหทัย แสดงข้อธรรมสำคัญๆ ที่เป็น Heart of the teaching or doctrine

ตัวสภาวะ หลายข้อซ้ำกับวิภังค์ต้นๆ เป็นการทวนไปด้วยในตัว วิธีอธิบาย แบ่งเป็น ๓ ตอนในแต่ละบท

ก. สุตตันตภาชนีย์ การอธิบายตามแบบพระสูตร (Analysis according to the discourses) ลอกมาจากพระสูตร

ข. อภิธัมมภาชนีย์ การอธิบายตามแบบอภิธรรม (Analysis according to the Abhidhamma)

ค. ปัญหาปุจฉกะ ถาม-ตอบปัญหา (Interrogation or Catechism)

มาติกากลับมาใช้การอีก ณ ตอนนี้

๑. ติกมาติกา ๒๒ (Triad or Triplet)

๒. ทุกมาติกา ๑๐๐ (Dyad or Couplet)

ถ้ามีปัญหา ก็มาตัดสินได้ด้วยมาติกาในตอนนี้ ทุกปัญหาตัดสินด้วย ๑๒๒ มาติกา เช่น อะไรเป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต เป็นต้น

คัมภีร์ที่ ๓ ธาตุกถา (Discourse on the elements)

คัมภีร์นี้ ถือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นหลัก มีธรรมอีก ๑๖ หมวดเป็นบริวาร ธรรมข้อใดๆ จักต้องจัดเข้าในหลักสามหลักนั้น แสดงให้เห็นว่าจัดเข้าได้หรือไม่ เรียกว่า สงฺคโห แปลว่า สงเคราะห์ได้ อสฺงคโห แปลว่า สงเคราะห์ไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น

รูปขันธ์ สงเคราะห์เข้าในขันธ์ได้ไหม? อายตนะได้ไหม? ธาตุได้ไหม?

ถ้าตอบว่าเข้าได้ ก็ต้องสงเคราะห์ให้เห็นว่าเข้าในข้อไหนได้

จึงเรียกคัมภีร์นี้เต็ม ตามชื่อว่า “ขนฺธายตนธาตุกถา

แต่เนื่องจากชื่อยาวนัก จึงตัดออกเหลือเพียง “ธาตุกถา” เป็นภาคต้นของคัมภีร์ เล่มที่ ๓๖

ธรรม ๑๖ ข้อ

  1. สติปัฏฐาน ๔ (Foundations of mindfulness)
  2. สมัปปธาน ๔ (Right striving)
  3. อิทธิบาท ๔ (Bases of accomplishment)
  4. ฌาน ๔ (Absorptions)
  5. อัปปมัญญา ๔ (Illimitables or Unbounded states)
  6. อินทรีย์ ๕ (Faculties)
  7. พละ ๕ (Powers)
  8. โพชฌงค์ ๗ (Enlightenment factors)
  9. มรรคมีองค์ ๘ (Noble eightfold path)
  10. ผัสสะ (Impression or Contact)
  11. เวทนา (Feeling)
  12. สัญญา (Perception)
  13. เจตนา (Volition)
  14. จิต (๘๙-๑๒๑) (Consciousness)
  15. อธิโมกข์ ๑ (Decision)
  16. มนสิการ ๑ (Attention)

ธรรมข้อ ๑๐-๑๖ ยังไม่ต้องแยกจำนวน คือกล่าวรวมๆ เป็นข้อเดียวไปก่อน

คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลปัญญัตติ (Description of individuals)

บัญญัติ ๖

  1. ขันธ์ ๕ (Aggregates)
  2. อายตนะ ๑๒ (Bases)
  3. ธาตุ ๑๘ (Elements)
  4. อินทรีย์ ๒๒ (Faculties)
  5. สัจจะ ๔ (Truths)
  6. บุคคล (Individuals)

คัมภีร์นี้ไม่บรรยายใน ๕ ข้อต้น บรรยายแต่ข้อที่ ๖ จึงได้ตั้งเป็นชื่อคัมภีร์เสียเลย

บัญญัติ ๕ ข้อต้น ได้บรรยายไว้ในวิภังค์หมดแล้ว จึงไม่บรรยายถึงอีก

บัญญัติ คือคำจำกัดความให้ความหมายแก่ชื่อบุคคล เช่น อรหันต์คืออะไร? ตอบว่า คือผู้ที่ได้กำจัดสัญโญชน์หมดสิ้นแล้ว เป็นการบัญญัติความหมายที่เกี่ยวกับบุคคลทั้งนั้น จึงมีประโยชน์มากในการศึกษาเรื่องบุคคลผู้เกี่ยวข้องในธรรมะชั้นสูงว่า มีความหมายอย่างไร

ท่านแบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด หมวด ๑ คน ถึง หมวด ๑๐ คน นำบุคคลมาให้คำจำกัดความตามลำดับจำนวนรวมทั้งหมดได้ ๑๔๒ กลุ่ม แยกเป็นบุคคลได้ ๓๘๖ คน คล้ายในพระสูตรหลายสูตรแห่งอังคุตตรนิกาย แต่มีเลขถึง๑๐ เท่านั้น (อังคุตตรนิกายหมวดสุดท้ายมีถึง ๑๑) เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการความหมายกะทัดรัด เป็นคัมภร์ที่เล็กที่สุด รวมอยู่ด้วยกันกับธาตุกถาในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ ซึ่งยาวเพียงราว ๒๐๐ หน้าเท่านั้น (ต้องเอากระดาษเปล่ามาเสริม) ไม่ใช่ absolute truth แต่เป็น conventional truth

คัมภีร์ที่ ๕ กถาวัตถุ (Subjects of discussion)

แปลตามตัวหนังสือว่า เป็นเรื่องที่นำมาอภิปรายกัน แต่จะเข้าใจความหมายจริงๆ ต้องทราบเรื่องที่มีมาว่า เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓ พุทธศาสนาแตกออกเป็น ๑๘ นิกาย (เถรวาทเป็นนิกายหนึ่งในนั้น) จึงทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๓ ขึ้น โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน เพื่อแสดงว่านิกายอีก ๑๗ นิกายนั้นผิด เถรวาทเท่านั้นถูก จึงสร้างคัมภีร์กถาวัตถุขึ้นเพื่อแก้ความคิดเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็น สัมมาทิฏฐิ เป็นการอภิปรายกันแบบปุจฉาวิสัชชนา ที่เรียกว่า สกวาทีปรวาที (เถรวาทชนะทุกทีไป) ทั้งหมดนี้นำมารวมไว้และตอบแก้มี ๒๑๙ เรื่อง จึงมี ๒๑๙ กถา อ้างคัมภีร์ในพระสูตรมาสนับสนุนเป็นส่วนมาก จัดวรรคได้ ๒๓ วรรค

คัมภีร์นี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๘ ถึง ๒๓๖ เป็นคัมภีร์ที่แสดงความเห็นที่แตกแยกออกไป (Points of Controversy) พร้อมทั้งเหตุผลหักล้างความเห็นแตกแยกเหล่านั้น

คัมภีร์ที่ ๖ ยมก ธรรมที่แสดงโดยตั้งคำถามเป็นคู่ๆ (The Book of pairs)

เป็นการแสดงเหตุผลแบบตรรกศาสตร์ โดยตั้งคำถามเป็นคู่ๆ มี ข้อความย้อนกัน เช่น

ตัวอย่างที่ ๑

กุศลธรรมทั้งปวงเป็นกุศลมูล (อโลภะ อโทสะ อโมหะ) ? หรือ กุศลมูลทั้งปวงเป็นกุศลธรรม?

คำตอบก็คือ กุศลมูลทั้งปวงเป็นกุศลธรรม แต่กุศลธรรมทั้งปวงไม่ใช่กุศลมูลทั้งหมด

ตัวอย่างที่ ๒

รูปขันธ์ทั้งปวงเป็นรูป? หรือ รูปทั้งปวงเป็นรูปขันธ์?

คำตอบก็คือ รูปขันธ์ทั้งปวงเป็นรูป แต่รูปทั้งปวงไม่ใช่รูปขันธ์ทั้งหมด

เป็นการนำให้ใช้ความคิดเทียบเคียงหาเหตุผล โดยยกธรรมคู่หนึ่งขึ้นมาตั้งเป็นปัญหา แล้วนำคู่นั้นมากลับกัน แล้วตั้งคำถามซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งชัดลงไปทั้งสองแง่ มี ๑๐ บท คือ

  1. มูลยมก (Pairs of roots)
  2. ขันธยมก (Pairs of aggregates)
  3. อายตนยมก (Pairs of bases)
  4. ธาตุยมก (Pairs of elements)
  5. สัจจยมก (Pairs of truths)
  6. สังขารยมก (Pairs of formations)
  7. อนุสัยยมก (Pairs of dispositions)
  8. จิตตยมก (Pairs of consciousness)
  9. ธรรมยมก (Pairs of Dhamma)
  10. อินทรีย์ยมก (Pairs of faculties)

วิธีการตั้งคำถาม แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ดังนี้

๑. ปัญญัติวาร (Section on delimitation) ว่าด้วยการวางหลักหรือแสดงความหมายหลัก แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

ก. อุทเทสวาร (Enumeration) ยกคำถามขึ้นตั้ง

ข. นิทเทสวาร (Answer) ไขความ คือ ตอบคำถาม

๒. ปวัตติวาร (Section on the process) ว่าด้วยกระบวนความเป็นไปของธรรมนั้นๆ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

ก. อุปปาทวาร (Arising) แสดงความเกิดว่าธรรมนั้นเกิดแก่ใคร ในที่ใดบ้าง เช่น

รูปขันธ์เกิดแก่ผู้ใด เวทนาขันธ์เกิดแก่ผู้นั้นด้วยหรือ?
ตอบ ไม่เสมอไป ถ้ารูปขันธ์เกิดแก่อสัญญีสัตว์ก็จะไม่เกิดเวทนาขันธ์ หรือ

เวทนาขันธ์เกิดแก่ผู้ใด รูปขันธ์เกิดแก่ผู้นั้นด้วย?
ตอบ ไม่แน่เช่นกัน เพราะรูปพรหมเกิดเวทนาขันธ์ได้โดยไม่มีรูปขันธ์

ข. นิโรธวาร (Cessation or Extinction) แสดงความดับว่า ดับ แก่ใคร ที่ใด เป็นต้น

ค. อุปปาทนิโรธวาร (Arising and extinction) แสดงทั้งความเกิด และความดับ

๓. ปริญญาวาร (Section on penetration) ว่าด้วยการกำหนดรู้

แสดงให้เห็นความรู้ในธรรมข้อหนึ่งๆ ที่เนื่องกันกับความรู้ในธรรมข้ออื่นๆ

คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (The Book of relations)

เป็นคัมภีร์ที่แสดงปัจจัยของธรรม ๒๔ แบบ ใหญ่มาก จึงเรียก มหาปกรณ์ (The Great Book)

แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายทุกแง่ทุกมุม ว่ามีเหตุมาจากอะไร เป็นปัจจัยแก่อะไร มีความสัมพันธ์แก่กันอย่างไรบ้าง เน้นให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ได้เป็นอยู่มีอยู่โดยตัวของตัวเอง ต้องเป็นอยู่มีอยู่ด้วยเหตุด้วยปัจจัย ช่วยรับรองหลักปฏิจจสมุปบาทให้ชัดยิ่งขึ้น ช่วยให้เรามองดูโลกและตัวเราเองได้ชัดเจนและถูกต้อง จึงเป็นคัมภีร์ที่ให้ความแจ่มกระจ่างแก่ผู้ศึกษาพุทธธรรมเพื่อแทงตลอดความจริง

ยกตัวอย่างเช่น โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้โดยปัจจัยอะไร? เหมือนกับเราศึกษาว่า ต้นไม้กับเมล็ดพืชมีความสัมพันธ์แก่กันโดยเป็นปัจจัยแก่กัน อย่างไร ดินกับน้ำ ตากับรูป ฯลฯ เป็นต้น

สอนให้รู้จักใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ เพื่อเห็นตัวเหตุด้วยตัวผลตัวปัจจัยที่ต้องอาศัยกันและกันอย่างไรบ้าง

แนวทางที่จะตั้งปัญหานั้น คือตั้งคำถามเป็นรอบๆ ไปตามหลักดังนี้

ใช่กับใช่ ไม่ใช่กับไม่ใช่

ใช่กับไม่ใช่ ไม่ใช่กับใช่

แต่ละอย่างนี้ คูณด้วยปัจจัย ๒๔ คูณด้วยมาติกา ๑๒๒ ชุด (อภิธรรมมาติกา) เท่ากับปัญหารอบหนึ่งต้องถามนับหมื่นครั้ง ต่อไปนี้จะแสดงปัจจัย ๒๔ คือ

  1. เหตุปัจจัย (Root - condition)
  2. อารัมมณปัจจัย (Object - condition)
  3. อธิปติปัจจัย (Dominance - condition)
  4. อนันตรปัจจัย (Proximity - condition)
  5. สมนันตรปัจจัย (Immediacy - condition)
  6. สหชาตปัจจัย (Co-Nascence - condition)
  7. อัญญมัญญปัจจัย (Mutuality - condition)
  8. นิสสยปัจจัย (Support - condition)
  9. อุปนิสสยปัจจัย (Decisive - support - condition)
  10. ปุเรชาตปัจจัย (Pre-Nascence - condition)
  11. ปัจฉาชาตปัจจัย (Post-Nascence - condition)
  12. อาเสวนปัจจัย (Recurrence - condition)
  13. กัมมปัจจัย (Kamma - condition)
  14. วิบากปัจจัย (Result - condition)
  15. อาหารปัจจัย (Nutriment - condition)
  16. อินทรียปัจจัย (Faculty - condition)
  17. ฌานปัจจัย (Absorption - condition)
  18. มัคคปัจจัย (Path - condition)
  19. สัมปยุตตปัจจัย (Association - condition)
  20. วิปยุตตปัจจัย (Dissociation - condition)
  21. อัตถิปัจจัย (Presence - condition)
  22. นัตถิปัจจัย (Absence - condition)
  23. วิคคตปัจจัย (Disappearance - condition)
  24. อวิคคตปัจจัย (Non-Appearance - condition)

ตอนนี้ ถึงวาระที่ต้องนำ มาติกา มาแสดงอีกครั้งหนึ่ง แสดงในรูปรับและปฏิเสธ ดังนี้

  1. อนุโลมปัฏฐาน (Relation according to positive method)
  2. ปัจจนียปัฏฐาน (Relation according to negative method)
  3. อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน (Relation according positive - negative method)
  4. ปัจจนียอนุโลมปัฏฐาน (Relation according negative - positive method)

และยังมีการถาม-ตอบ ในหมวดเดียว และสลับหมวดกันอีก ดังนี้

  1. ติกปัฏฐาน (Origination of triads)
  2. ทุกปัฏฐาน (Origination of dyads)
  3. ทุก-ติกปัฏฐาน (Origination of dyads & triads combined)
  4. ติก-ทุกปัฏฐาน (Origination of triads & dyads combined)
  5. ติก-ติกปัฏฐาน (Origination of triads & triads combined)
  6. ทุก-ทุกปัฏฐาน (Origination of dyads & dyads combined)

จับหลักได้จะทราบแนวทั้งหมด

1เนื้อหาเรื่องนี้เป็นการถอดบทบรรยายโดยญาติโยมผู้ฟัง อาจมีความผิดพลาดในการฟัง, จับความ, สะกดคำศัพท์ จำนวนไม่น้อย จึงควรใช้เพียงเพื่อเรียนรู้เบื้องต้น ได้เห็นภาพรวมอย่างรวดเร็ว เพื่อศึกษาต่อในรายละเอียด ไม่ควรใช้เนื้อหานี้เป็นข้อมูลอ้างอิง
อนึ่ง เนื้อหาในเว็บไซต์แห่งนี้ ได้รับจัดรูปแบบอักษรและย่อหน้าต่างจากต้นฉบับเดิม ตามความจำเป็นของสื่อเว็บไซต์ และเพื่อความสะดวกในการอ่าน
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง