รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบทางสังคม

ดังได้กล่าวแล้ว พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่อาจดำรงชีวิตอย่างตัดขาดจากโลกภายนอกได้ ด้วยวินัยบังคับอยู่ ให้บำรุงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งต่อพระสงฆ์ด้วยกันและต่อสังคมคฤหัสถ์ ในหมู่พระด้วยกัน ชีวิตภิกษุแต่ละรูปต้องขึ้นต่อสงฆ์หรือชุมชนภิกษุซึ่งมีพระวินัยเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อที่ภิกษุจะอยู่ร่วมกันได้โดยสมานฉันท์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภิกษุแต่ละรูปจะเคารพรูปอื่นตามลำดับอาวุโสของสมาชิกภาพในคณะสงฆ์ ข้าวของต่างๆ ที่ได้รับมา ก็จะแบ่งกันในหมู่สมาชิกอย่างเท่าเทียม อธิกรณ์ต่างๆ จะได้รับการตัดสินกันอย่างยุติธรรม และอำนาจสูงสุดจะอยู่ในมือของสงฆ์ หรือการประชุมของชุมชนสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่ภิกษุผู้อยู่วิเวก ที่สุดก็ต้องมาร่วมประชุมสงฆ์ อย่างน้อยที่สุดทุกปักษ์1 และทุกครั้งที่มีการประชุมเพื่อประกอบสังฆกรรม2 แก่นสารของพระวินัยที่ได้รับการตอกย้ำมากที่สุดคือ การถือสงฆ์เป็นใหญ่3 และความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสงฆ์ (สังฆสามัคคี)4เอง การก่อสังฆเภท จัดว่าเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่งทีเดียว5 พระพุทธองค์ก็ทรงเคารพสงฆ์ ในสมัยเมื่อสงฆ์ขยายตัวออกไป6 ทั้งยังทรงมอบอำนาจของพระองค์ในกิจต่างๆ แก่สงฆ์ด้วย เช่น ในอุปสมบทพิธี7 เป็นต้น ความข้อนี้ยังจะเห็นได้จากสาราณียธรรม ๖ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. มีเมตตาในกายกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๒. มีเมตตาในวจีกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. มีเมตตาในมโนกรรมต่อกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันข้าวของที่ได้มาแก่เพื่อนร่วมพรหมจรรย์

๕. รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง8

๖. มีความเห็นชอบเสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้จากอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจและกรณีย์ของสงฆ์

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก พึงเคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้น

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีศีลงาม ซึ่งยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่ผาสุก9

1คือการประชุมสวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ ปักษ์ ดังที่มีบัญญัติเป็นกฎไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอ ประชุมกัน ทุกๆ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ และทุกๆ ๘ ค่ำของระยะกึ่งเดือน...เราอนุญาตให้เธอประชุมกัน...เพื่อกล่าวธรรม...เพื่อสวดปาฏิโมกข์” (วินย. ๔/๑๔๘/๒๐๓)
2ดูกรณีพิเศษใน วิสุทธิ. ๓/๓๖๘
3ตัวอย่างเช่น องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๓/๓๖๙
4ตัวอย่างเช่น องฺ.ทสก. ๒๔/๓๖/๗๘
5อง.ปญฺจก. ๒๒/๑๒๙/๑๖๕
6องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗
7วินย. ๔/๘๕/๑๐๓
8ดูรายละเอียดใน ที.ปา. ๑๑/๓๑๗/๒๕๗; องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๒๘๒/๓๒๒
9ที.ม. ๑๐/๗๐/๙๐; องฺ.สตฺตก. ๒๓/๒๐/๑๘
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง