ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา

ความต้องการให้โรงเรียนสอนศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน กับการที่เด็กนักเรียนมาจากครอบครัวซึ่งนับถือนิกายศาสนาต่างๆ ที่สอนหลักศีลธรรมไม่เหมือนกัน เป็นสภาพขัดแย้งและเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเรื่อยมาในสังคมอเมริกัน การหาทางออกด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมที่เป็นกลางๆ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้ถึงจุดที่พอจะลงตัวครั้งหนึ่ง เมื่อโรงเรียนทั้งหลายพากันเริ่มใช้ “ประมวลหลักศีลธรรม” (morality codes) ที่สถาบันธรรมจรรยาศึกษา (Character Education Institute) ซึ่งตั้งขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ได้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดขึ้น

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นก้าวใหม่ก็ได้เริ่มขึ้นอีก ในเมื่อจอห์น ดิวอี มองเห็นว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ควรจะทำให้เรียบร้อยได้ผลดียิ่งกว่านั้น คือ ไม่ใช่ทำได้แค่เก็บเอากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมจากที่นั่นที่นี่มารวมกันไว้ แต่ควรจะมีหลักปรัชญาเป็นแกน

ดังนั้นจริยธรรมสากลในสังคมอเมริกัน จึงได้พัฒนาครั้งสำคัญขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งตามแนวความคิดของจอห์น ดิวอี คราวนี้ จริยธรรมสากล พ้นจากลักษณะที่เป็นกลางๆ อย่างค่อนข้างเลื่อนลอย มาสู่ความมีหลักการอย่างเป็นตัวของตัวเอง คือมีเป้าหมายที่จะเสริมศรัทธาในหลักการแห่งประชาธิปไตย แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ก็กลายเป็นการทำให้จริยธรรมสากลนั้นมีลักษณะที่แคบเข้าด้วย โดยมีความหมายผูกพันกับระบบประชาธิปไตย และสังคมอเมริกันโดยเฉพาะอย่างชัดเจน ซึ่งในที่สุดก็มีผู้ตั้งชื่อเฉพาะให้ว่าเป็นศาสนาประชาราษฎร์ หรือ ศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา (the civil religion หรือ The American Civil Religion)

ถึงตอนนี้ จริยธรรมสากลก็เหมือนจะกลายเป็นศาสนาเฉพาะขึ้นมาอีกศาสนาหนึ่ง (มีผู้ที่กล่าวว่าอย่างนี้ ในประเทศอเมริกาเอง1) โดยมีความจำกัดเฉพาะทั้งในแง่ของหลักการคือเป็นศาสนาประชาธิปไตย และในแง่ของประเทศหรือสังคมที่มุ่งให้ได้รับประโยชน์ คือเป็นศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกา เมื่อถึงขั้นนี้ คนในประเทศอื่น ที่ต้องการตามอย่างในการที่จะมีจริยธรรมสากล ก็ต้องหยุดอยู่แค่หลักการแห่งการสร้างจริยธรรมสากล ด้วยการเก็บรวบรวมหลักจริยธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วๆ ไป ชนิดที่เหมือนๆ กัน มาประมวลเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นวิธีการพื้นฐานในเรื่องนี้

เมื่อไม่นานมานี้ มีบุคคลสำคัญในวงการจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่ง ได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง บุคคลท่านนี้คือ ลอเรนซ์ โกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg, 1927-1987) โกลเบอร์ก ได้เสนอทฤษฎีพัฒนาจริยธรรม หรือพัฒนาการทางศีลธรรม (moral development) ซึ่งทำให้จริยธรรมสากลได้ปรากฏตัวขึ้นมาอีกอย่างมีฐานะอันสำคัญ กล่าวคือทฤษฎีนี้ถือว่า การพิจารณาวินิจฉัยในทางจริยธรรมโดยถือความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล (universal ethical principle) เป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นสูงสุด

โกลเบอร์กถือว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นพัฒนาการทางปัญญา ซึ่งแสดงออกในการคิดหาเหตุผลและทำการตัดสินใจทางจริยธรรม จริยศึกษาจึงหมายถึงการช่วยเอื้ออำนวยโอกาสให้เด็กพัฒนาตนเอง ในการคิดหาเหตุผล และตัดสินใจในทางจริยธรรมสูงขึ้นไปตามระดับขั้นตอนของพัฒนาการนี้ โกลเบอร์กจัดลำดับพัฒนาการทางจริยธรรมนี้เป็น ๓ ระดับ และซอยแต่ละระดับเป็น ๒ ขั้น รวมทั้งหมดเป็นพัฒนาการ ๖ ขั้น23 คือ

๑. ระดับก่อนบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามคำของผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่า)

ขั้นที่ ๑ ถือการลงโทษและการเชื่อฟังเป็นหลัก (คำนึงถึงผลตอบสนองทางร่างกาย ยึดถือ และทำดีเว้นชั่ว ตามคำสั่งของผู้ใหญ่ เพราะกลัวถูกลงโทษ และอยากได้รางวัล)

ขั้นที่ ๒ ถือความที่กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือสนองประโยชน์ตนเป็นหลัก (ยึดถือกฎศีลธรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ตนได้รับผลตอบแทนตรงกับการกระทำในการทำดีและเว้นชั่ว)

๒. ระดับบัญญัติ (ถือดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยอมรับกฎศีลธรรมตามกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม)

ขั้นที่ ๓ ถือการยอมรับและการทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้อื่นเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี ด้วยมุ่งจะให้ผู้อื่นสบายใจ พึงพอใจ โดยที่ตนเองได้ความยอมรับว่าเป็นเด็กดี)

ขั้นที่ ๔ ถือการรักษากฎระเบียบเพื่อธำรงสังคมเป็นหลัก (คิดและเลือกที่จะเว้นชั่วทำดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานของสังคม โดยถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเคารพกติกา เพื่อธำรงความเรียบร้อยของสังคม)

๓. ระดับเหนือบัญญัติ (ถือว่าจริยธรรมที่แท้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม แต่อยู่ที่ความดีงามถูกต้อง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบัญญัตินั้น)

ขั้นที่ ๕ ถือกฎเกณฑ์ในฐานะสัญญาประชาคมเป็นหลัก (รู้ตระหนักว่ากฎเกณฑ์ที่บัญญัติกันไว้เป็นเพียงเครื่องมือจัดสรรสังคมให้บรรลุความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สุข จะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยวิจารณญาณ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และประโยชน์สุขของสังคมนั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่อาจนำไปสู่การแก้ไขกฎเกณฑ์ของสังคมได้ และทำให้คนที่ดีมีปัญญาวางข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันได้ แม้ในกรณีที่ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้)

ขั้นที่ ๖ ถือจริยธรรมสากลเป็นหลัก (แยกได้ชัดระหว่างตัวจริยธรรมที่แท้กับกฎเกณฑ์ที่เป็นบัญญัติของสังคม เช่นกฎหมาย เป็นต้น ความถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามหลักจริยธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาปฏิบัติให้ถูกต้องในแต่ละสถานการณ์หรือเป็นเรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป)

ขั้นทั้ง ๖ นี้ ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดพัฒนาการทางจริยธรรมของเด็ก (รวมทั้งคนทั่วไป) แต่ขั้นที่ ๖ เป็นขั้นที่น้อยคนเหลือเกินจะก้าวไปถึง และโกลเบอร์กได้ตัดออกจากการใช้วัด เพราะเขาไม่พบตัวอย่างในกลุ่มคนที่ใช้ทดลอง

ทฤษฎีของโกลเบอร์กนี้ ช่วยขยายความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลของตะวันตกออกไป โดยมีแง่ที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งเป็นข้อสำคัญ ๒ อย่างคือ

๑. มีการแยกได้ ระหว่างกฎเกณฑ์ความประพฤติที่เป็นบัญญัติของสังคม กับตัวจริยธรรมที่แท้ที่เป็นนามธรรมซึ่งจะต้องเข้าใจด้วยปัญญา หรือพูดง่ายๆ ว่าระหว่างบัญญัติธรรม กับจริยธรรมที่เขาเรียกว่าจริยธรรมสากล

๒. มองพัฒนาการและปฏิบัติการทางจริยธรรม เป็นระบบและกระบวนการ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยระหว่างพฤติกรรมภายนอกกับองค์ประกอบภายใน (ซึ่งในที่นี้ได้แก่ปัญญา) ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าการมีพฤติกรรมตามมาตรฐานของสังคมด้วยการยึดถือเคร่งครัดตามบัญญัติของสังคมนั้นๆ

อีกอย่างหนึ่ง มีท่าทีคล้ายกับว่าโกลเบอร์กได้ช่วยให้จริยธรรมสากล มิใช่เป็นสากลเพียงในความหมายว่าเป็นหลักความประพฤติที่เป็นกลางๆ เท่านั้น แต่ช่วยให้ความเป็นสากลนั้นโน้มเข้ามาสู่ความหมายในแง่ที่เป็นความจริงมากขึ้น

1เช่น Daniel A. Spiro, "Public Schools and the Road to Religious Neutrality," Phi Delta Kappan, June 1989, pp. 759-763. (ต้นฉบับหนังสือระบุไว้ว่า "เช่นที่ 2" -- ผู้จัดทำเว็บไซต์)
2แนวความคิดในเรื่องพัฒนาการทางจริยธรรมของโกลเบอร์กนี้ ในวงการจิตวิทยาการศึกษา ถือกันว่าสืบมาจากจีน พีอาเจต์ (Jean Piaget) แต่การแบ่งระดับของพัฒนาการนั้นดำเนินตามจอห์น ดิวอี (John Dewey) ที่จริง โกลเบอร์กมีความคิด (ดูใน Philosophy of Moral Development, 1981) ที่จะขยายทฤษฎีของเขาออกไปอีก ให้มีพัฒนาการถึงขั้นที่ ๗ (โกลเบอร์กสิ้นชีวิตแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐) แต่ในทางปฏิบัติ แม้แต่ขั้นที่ ๖ เขาก็ต้องยอมตัดออกไป เพราะมีคนน้อยนักที่จะทำการตัดสินใจในขั้นนี้ และเขาเองก็ยอมรับว่าขั้นที่ ๖ นี้เป็นขั้นที่เขาเองคิดสร้างขึ้นจากสถานการณ์สมมติ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงอุดมคติที่วาดไว้
3Rom Harre and Roger Lamb, p. 399. และดูประกอบ เช่น ใน
Susan R. Stengel, "Moral Education for Young Children," Young Children, September 1982.
Christina Hoff Sommers, "Ethics Without Virtue: Moral Education in America," The American Scholar, Vol. 53, No. 3, Summer, 1984.
สุรางค์ โค้วตระกูล. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, หน้า 49-53 และดูแหล่งความคิดเดิมใน
L. Kohlberg. Philosophy of Moral Development. New York: Harper & Row, 1981.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง