ทางสายอิสรภาพของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง

๑๖. สถาบันพุทธศาสนา และบุคคลที่รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็จะต้องไม่มัวแต่โทษรัฐและผู้บริหารการศึกษาของชาติแต่ฝ่ายเดียว แต่จะต้องยอมรับความจริงว่า เท่าที่ผ่านมานี้ วงการศาสนศึกษาก็ได้มีความบกพร่องย่อหย่อน ได้เอาใจใส่ให้ความสำคัญต่อศาสนกิจด้านการศึกษาน้อยเกินไป และมิได้ปรับปรุงระบบการศึกษาในความรับผิดชอบของตนให้ได้ผลสมสมัยทันเหตุการณ์ ชนิดต่อติดโยงกันได้กับพื้นฐานจากอดีต โดยเฉพาะไม่ได้สอดส่องติดตามดูการศึกษาพระพุทธศาสนาในหมู่กุลบุตรกุลธิดาของประชาชน ที่รัฐรวบโอนไปรับผิดชอบนั้น ว่าได้ผลดีหรือไม่เพียงไร ไม่ได้เหลือบแลทำสิ่งนี้ไว้ในสายตา และไม่ได้แสวงหาหนทางหรือวิธีการ ที่จะเข้าไปร่วมมือประสานงานกับรัฐ หรือเร้าเตือนรัฐให้ระลึกเกิดความสำนึกและตื่นตัวในเรื่องนี้

เมื่อเป็นดังที่กล่าวมา จึงถึงเวลาแล้วที่สถาบันพระพุทธศาสนาและชาวพุทธผู้มีความรับผิดชอบ จะต้องหันมาทบทวนสำรวจตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนแห่งกิจการของตน พร้อมทั้งมองกว้างออกไปถึงสภาพความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปในสังคม และสภาพการจัดการศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนาและศีลธรรมจรรยาในระบบการศึกษาของชาติ จะต้องยอมรับว่า ความผิดพลาดบกพร่องที่เกิดขึ้นนี้ ผู้มีหน้าที่บริหารการพระศาสนาก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วย การละเลยการศึกษาพระพุทธศาสนา เกิดจากความประมาทและความโทรมทรามเสื่อมถอย ในวงการพระศาสนาเป็นปัจจัยด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีโอกาสใช้สติปัญญาไตร่ตรองพิจารณาอย่างเพียงพอ มองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงเวลาวิกฤตจะมาถึงแล้วเช่นนี้ ก็ยังไม่สายเกินไป ที่สถาบันพระพุทธศาสนาและผู้นำชาวพุทธจะลุกขึ้นมา เร่งรัดปรับปรุงการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ได้ผล ทั้งในส่วนการศึกษาของวัดวาอาราม และในส่วนการศึกษาสำหรับพลเมืองไทยในสังคมใหญ่ที่ล้อมรอบตน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทของพระพุทธเจ้า และมีส่วนเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาอย่างเท่าเทียมเสมอเหมือนกัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง