กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน

อีกแง่หนึ่งคือ ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลและสังคม หลักการนี้ยังหาผู้ปฏิบัติได้ผลจริงได้ยาก จะเห็นได้ว่าระบบสังคมต่างๆ มักมีปัญหาในเรื่องที่ว่า ถ้าให้บุคคลได้ สังคมก็ต้องเสีย ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็ต้องยอมสละ ทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์กันได้

อุดมคติอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคม

เมื่อกี้ได้พูดไปแล้วว่า ในสังคมประชาธิปไตย เราพยายามจัดสรรสังคมให้เป็นสภาพที่เอื้อโอกาสอย่างดีที่สุดแก่บุคคล เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของเขาได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมกันนั้น นอกจากเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของชีวิตได้อย่างดีที่สุดแล้ว เขาก็จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากสังคมของเขาด้วย

แต่อีกด้านหนึ่ง พร้อมกับที่คนพัฒนาศักยภาพได้ดี สามารถมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข และได้รับประโยชน์สูงสุดจากสังคมนั้น เขาก็จะยิ่งเป็นส่วนร่วมที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมนั้นได้มากขึ้นด้วย

ยิ่งคนพัฒนาดีเท่าไร เขาก็ยิ่งมีศักยภาพในการที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ดีขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกัน พอสังคมดี สังคมนั้นก็เป็นสภาพเอื้อ ให้คนแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาตนได้ดี จึงเป็นวงจรที่ดี แต่ทำอย่างไรจะให้วงจรอย่างนี้เกิดขึ้นได้ นี่ก็คือการประสานประโยชน์ ระหว่างบุคคลกับสังคม

ในทางปฏิบัติจริงปรากฏว่า สังคมประชาธิปไตยยังคงมีปัญหาเรื่องนี้มาก คือยังประสานประโยชน์ไม่ค่อยได้ ปัญหาก็ยังคงอยู่อย่างเดิมว่า ถ้าให้บุคคลได้ สังคมก็เสีย ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็เสีย ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ที่ในยุคที่ผ่านมาถึงกับแตกกัน พวกหนึ่งเป็นสังคมแบบประชาธิปไตยทุนนิยม ที่เอาประโยชน์ของบุคคลเป็นใหญ่ กับอีกพวกหนึ่งเป็นสังคมนิยมที่เอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ กลายเป็นสุดโต่ง ทำอย่างไรเราจะประสานให้ลงตัวพอดีได้

ประชาธิปไตยที่แท้จะต้องเดินทางมาถึงจุดนี้ให้ได้ คือจุดที่ว่า ให้บุคคลกับสังคมประสานประโยชน์กันให้ได้ โดยเป็นตัวเอื้อแก่กัน

สังคมยิ่งดีก็ยิ่งช่วยให้บุคคลมีโอกาสบรรลุความดีงามและประโยชน์สุขสูงยิ่งขึ้น และยิ่งบุคคลพัฒนาดี ก็ยิ่งมาช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคมให้มาเสริมกันนั้น มีบททดสอบพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่งที่จะให้เห็นว่าประชาชนในสังคมนั้นๆ มีคุณภาพเพียงพอที่จะทำให้คุณค่าของประชาธิปไตยข้อนี้บรรลุผลได้หรือไม่

บททดสอบนี้ ก็คือ ความประสานสมดุลในการปฏิบัติตามหลักการแห่ง

  1. สิทธิ กับ หน้าที่
  2. เสรีภาพ กับ ความรับผิดชอบ

คู่กับการมีสิทธิที่จะได้และเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้นั้น บุคคลก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อเป็นส่วนร่วมที่จะธำรงรักษาและสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตยนั้นด้วย

ถ้าอยากใช้สิทธิ ก็ควรปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี และเมื่อมีการทำหน้าที่ด้วยดี สังคมประชาธิปไตยก็จะได้รับการรักษาไว้ เพื่อให้คนมีโอกาสที่จะใช้สิทธิได้ต่อไป

คู่กับเสรีภาพที่จะทำการต่างๆ ตามปรารถนาของตน บุคคลจะต้องรู้จักรับผิดชอบ ต่อการกระทำและผลการกระทำของตน และใช้เสรีภาพนั้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

แม้แต่ในขั้นพื้นฐานนี้ก็ยังเห็นกันได้ทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตยยังบกพร่องกันมากมาย แน่นอนว่าความบกพร่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขด้วยการศึกษา และจะต้องเป็นการศึกษาที่แท้ ซึ่งพัฒนาคนได้จริง ดังนั้น บททดสอบนี้จึงเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของการศึกษา ที่เป็นกิจการของสังคมนั้นด้วย ว่าเป็นการศึกษาที่จะดำรงรักษาสังคมประชาธิปไตยไว้ได้หรือไม่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง