กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ค) หลักการของประชาธิปไตย ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจทุนนิยม

ขอพูดต่อไปอีกสักนิดว่า ขณะนี้ปัญหาของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในระดับของหลักการใหญ่ๆ ยังขยายต่อไปอีก กล่าวคือ เวลานี้ แม้แต่คำว่าเสรีภาพ และความเสมอภาค ก็มีความหมายที่ออกจะผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นเพราะระบบต่างๆ ทางสังคม มีความสัมพันธ์และส่งอิทธิพลต่อกัน หมายความว่า ระบบอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะแยกขาดจากระบบอย่างอื่นในสังคมส่วนรวมได้ พูดง่ายๆ คือ เรามีระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา เป็นต้น ระบบการปกครอง ก็ไม่สามารถแยกต่างหากจากระบบเศรษฐกิจได้ และบางครั้งระบบหนึ่ง ก็อาจจะมีอิทธิพลไปครอบงำอีกระบบหนึ่ง

ขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจ จะมีกำลังแรงและเข้ามาครอบงำแนวคิดของระบบการเมืองการปกครอง

ระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันนี้ที่มีอิทธิพลมาก คือระบบทุนนิยม ที่ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ และเป็นแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งถือลัทธิตัวใครตัวมัน นิยมการแข่งขัน เมื่อสังคมประชาธิปไตยมาอยู่กับลัทธิเศรษฐกิจแบบนี้ อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ก็อาจจะเข้าไปครอบงำหรือแทรกแซงความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว

อย่างเช่นความหมายของเสรีภาพ ที่บอกว่า เป็นการเปิดช่องทาง เช่นให้ศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละคนออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคมโดยไม่ถูกปิดกั้น เป็นการสอดคล้องกับหลักการปกครอง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข

การที่เราให้ประชาชนปกครอง ก็คือ เราต้องการให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของประชาชนแต่ละคน เช่นสติปัญญาของเขา ได้มีช่องทางเปิดกว้าง ที่จะออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคม นี้เป็นจุดหมายที่เราต้องการ

แต่เวลานี้ ความหมายของเสรีภาพที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของแนวคิดเศรษฐกิจ จะหนักไปในแง่ของการมีโอกาสที่จะแย่งชิงผลประโยชน์กัน จนกระทั่งมีการเน้นในแง่ของการที่จะทำอะไรๆ ได้ตามความชอบใจของแต่ละคน โดยไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่น หรือโดยสัญลักษณ์คือ ไม่ไปล่วงละเมิดกฎหมาย แต่การเน้นในแง่ที่ว่า เสรีภาพเป็นช่องทางให้ศักยภาพของแต่ละคนออกไปร่วมสร้างสรรค์สังคมนั้น เรากลับไม่มอง อย่างนี้ก็เป็นการมองเสรีภาพในแง่ลบ

ความเสมอภาคก็เช่นเดียวกัน พอเสรีภาพเริ่มเขว ความเสมอภาคก็เขวด้วย อย่างที่ได้กล่าวเมื่อกี้ว่า ความเสมอภาค แทนที่จะเป็นเครื่องมือมาช่วยสมานสังคม ก็กลายเป็นเครื่องสร้างความแตกแยก โดยมีความหมายในเชิงแก่งแย่งผลประโยชน์ เป็นต้นว่า ถ้าเธอได้ ๕๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐ ถ้าเธอได้ ๕๐๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐๐ อย่างนี้คือความเสมอภาคที่เข้าใจกันในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดแบบทุนนิยม

เราจะต้องหันกลับไปเน้นความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาค ในแง่ที่เป็นการมีโอกาสและสามารถใช้โอกาสนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ในการนำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกไปร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เจริญงอกงามมีสันติสุข

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง