ชีวิตกับการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการทำงาน

อนึ่ง ในการทำงานนี้ นอกจากหลักใหญ่คือศรัทธาที่เข้าใจในคุณค่า ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เกิดกำลังใจตลอดเวลาแล้ว ก็ยังต้องอาศัยตัวประกอบซึ่งเป็นเรื่องของการทำงานโดยตรงมาเป็นเครื่องช่วยเสริมด้วย จึงจะทำให้การทำงานนั้นได้ผลจริงในทางปฏิบัติ และเมื่อการทำงานได้ผล ก็ยิ่งเป็นเครื่องช่วยเสริมให้เรามีพลัง หรือทำให้เรามีความมั่นใจในชีวิตของเรามากขึ้น หลักการทำงานที่เป็นข้อสำคัญๆ ก็คือ เมื่อทำอะไรก็ตาม หนึ่ง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนในงานนั้น เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า การทำงานเป็นการฝึกฝน พัฒนาตนเองอย่างหนึ่ง แต่เราจะพัฒนาตนเองอย่างไรให้ได้ผล การพัฒนาตนเองอย่างง่ายๆ ก็คือทำให้เกิดความชำนิชำนาญ และความสามารถในการทำงานนั้นดีขึ้น แต่การที่จะทำให้ได้ผลจริง พัฒนาตัวเองได้จริง พัฒนางานได้จริงนั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ ความรู้ความเข้าใจชัดเจนในงานที่ทำนี้ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง จึงพูดสั้นๆ ว่า ต้องมีปัญญาด้วย รู้งานของตนเองว่างานในหน้าที่ของตนคืออะไร และทำให้ถูกต้องให้ถูกจุดให้ถูกกับตัวงานนั้น และทำให้ถูกตามวิถีของงานนั้น งานนั้นก็จะเจริญไปด้วย และตัวเองก็ได้รับการฝึกฝนพัฒนาไปด้วย เราต้องพยายามสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจนี้ให้ทันกับงานอยู่เสมอ ทำงานอะไร ก็ต้องมีหลักอันแรกว่า รู้งาน หรือรู้งานดี หมายถึงงานที่เป็นกิจเป็นหน้าที่ของเรา

ประการที่ ๒ เมื่อรู้งานดีแล้ว ถ้าเรามีศรัทธาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เราก็ย่อมมีกำลังใจในการงาน คุณสมบัติที่ต้องการในตอนนี้ก็คือ เราจะต้องพยายามทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำให้เต็มที่ของเรา การทำให้เต็มที่ของเรามีความหมายอย่างหนึ่งคือการทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง การขยันหมั่นเพียรทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีไม่บกพร่องนี้ก็เป็นหลักอย่างหนึ่งในการทำงาน เรียกว่ามีความเพียร ใช้ภาษาธรรมดาก็คือ ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง

ก้าวต่อไปคือ นอกจากรู้งานดี ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่องแล้ว ในการปฏิบัติตัวต่องานนั้น ก็มักจะมีปัญหาว่าคนนั้นทำงานอย่างสุจริต หรือไม่สุจริต ถ้าทำงานอย่างสุจริต ก็ตรงไปตรงมาต่องานนั้น ในการรับผลประโยชน์จากงาน ก็ตรงไปตรงมาตามที่ตกลงไว้ ไม่หาทางที่เรียกว่า บิดเบือน เฉโก เรียกง่ายๆ ว่า ไม่โกงหรือไม่หาผลประโยชน์ที่ผิดจากงานนั้น คือมีความสุจริต ไม่ทุจริต การทำงานถูกต้อง ตามหลักการที่ตราไว้นี้ ก็เป็นเรื่องของข้อตกลงในทางสังคมด้วย นับว่าเป็นหลักประการหนึ่งในการทำงาน เรียกว่า มือสะอาด หรือมีความสุจริต

ข้อต่อไป ในการทำงานนั้น ตามปกติเราก็ทำร่วมกับผู้อื่น การรู้จักร่วมอยู่ร่วมทำกับผู้อื่นก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้งานดำเนินไปด้วยดี จึงต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานอย่างถูกต้อง ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานก็คือ ผู้ร่วมงานมีความสัมพันธ์กันดีหรือไม่ดี ถ้ามีความสัมพันธ์ไม่ดี ก็เกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาในวงงาน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา คนเราอยู่กันมากมีนิสัยใจคอต่างๆ กัน มักจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ความไม่สอดคล้อง ไม่กลมกลืนกัน มองขัดหูขัดตา อะไรต่างๆ หรือการกระทำที่ไม่เป็นไปอย่างใจเรา อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้สึกว่าไม่ได้อย่างใจ พอไม่ได้อย่างใจก็ไม่สบายใจ แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในวงงาน ซึ่งยอมรับกันว่ามีเป็นธรรมดาเลย เมื่อเราทำงาน เมื่อเราเกี่ยวข้องกับคนมาก ก็จะต้องมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น ขั้นต้นก็ต้องทำใจได้ว่า นี้มันเรื่องของงาน เรื่องของการเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็ต้องมีความข้องขัดบ้าง ถ้าเราจะให้เป็นอย่างใจของเราทั้งหมด เราก็ต้องอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงต้องรู้เข้าใจตามความเป็นจริง แล้วยอมรับความจริงนั้น แต่เมื่อรู้ความจริงว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ต้องก้าวต่อไปสู่ขั้นที่ว่าเราจะแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด เมื่อปรับให้มีความสัมพันธ์ที่ดีเท่าที่จะเป็นไปได้ จะปรับอย่างไรก็ตาม ให้งานนี้มันดำเนินไปด้วยดีก็แล้วกัน เรายอมรับ ยอมที่จะไม่ต้องเป็นไปตามใจของเรา แต่มุ่งไปที่วัตถุประสงค์ของเรา คือทำให้งานสำเร็จ ให้งานมันสำเร็จไปได้ด้วยดีก็แล้วกัน อันนี้ก็เป็นหลักหนึ่ง คือ เอาความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นเกณฑ์ ไม่เอาใจอยากใจชอบของเราเป็นเกณฑ์ มองการณ์ไกลคิดถึงผลระยะยาว ไม่เอาความชอบใจขัดใจเดี๋ยวนั้นชั่วครู่ชั่วยาม ถ้าอย่างนี้แล้วก็แก้ปัญหาได้อีกในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือ ทำให้มีความกลมเกลียว ปรับใจปรับตัวเข้ากันได้ในระหว่างคนที่ทำงานด้วยกัน ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และความสามัคคี การที่จะมีความสุข ความสามัคคี ก็คือการที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา และการที่จะต้องรู้จักปรับตัวปรับใจเข้าหากัน เราต้องยอมรับว่า คนเรานี้มีพื้นฐานมาคนละอย่าง พื้นฐานพื้นเพไม่เหมือนกัน มีการสั่งสมอุปนิสัยใจคอกันมาต่างๆ มีประสบการณ์ต่างๆ กัน มาจากครอบครัว มาจากฐานะอะไรต่างๆ ไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่มาทำงานด้วยกันแล้ว ความไม่เหมือนกันที่มีมาแต่เดิมมันก็มาแสดงออก แล้วเกิดเป็นความไม่กลมกลืนหรือความขัดแย้งกันขึ้น ถ้าเรายอมรับความจริงนี้แล้ว เราต้องเป็นฝ่ายรู้จักปรับตัวด้วย ปรับตัวก็คือ เริ่มต้นจิตใจต้องไม่วู่วาม ไม่ถือการกระทบกระทั่งนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้มีความหมายร้ายแรง ที่จะต้องเปลี่ยนให้ได้ดั่งใจ แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องรับพิจารณาก่อน คือตอนแรกก็ยั้งคิด พอยั้งคิดแล้วก็คิดหาทางว่า จะใช้วิธีอย่างไร ที่จะปรับตัวเข้าหากันโดยเรียบร้อย แต่ข้อสำคัญอันแรกคือไม่วู่วาม ฉุกคิด ยั้งคิดก่อน คิดและก็หาวิธี การที่ยั้งคิดและหาวิธีนี้เรียกว่า ใช้ปัญญา คือใช้ปัญญาหาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันได้ถูกต้อง และโดยการพูดจากัน ถ้ายังพูดกันไม่ได้ ปรับตัวเข้าหากันยังไม่ได้ เวลายังไม่เหมาะยังไม่สะดวก โอกาสยังไม่ถึง ก็เอาแค่ว่าทำอย่างไรจะวางตัวของเราให้ดีให้ถูกต้องไว้ก่อน นี้ก็เป็นวิธีต่างๆ แต่รวมความก็คือ จะต้องมีการปรับตัวปรับใจเข้าหากันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข มีความสามัคคีกลมเกลียว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง