ชีวิตกับการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะ

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์: สมัยเมื่อผมไปพิมพ์หนังสืออยู่ที่โรงพิมพ์ศิวพร ซึ่งขึ้นชื่อมากสมัยนั้น เจ้าของโรงพิมพ์เห็นว่า พอตกเย็น พนักงานมักจะกินเหล้า เล่นไพ่ พอถึงปีใหม่ก็เลย นิมนต์เจ้าคุณปัญญานันทะมาเทศน์ ท่านก็บอกว่าอบายมุข มันเลวอย่างนั้น มันเลวอย่างนี้ ก็พนมมือฟังกันเงียบ พอท่านฉันเพลเสร็จ กลับวัด ตกเย็นก็กินเหล้า เล่นไพ่ ตามปกติ ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยัดเยียด คงจะต้องขึ้นอยู่กับการฝึก การปฏิบัติมากกว่า

พระเทพเวที: จิตใจมันเครียดในงาน งานก็ทำให้เครียด พอเครียดในงาน ก็ไปหาทางผ่อนคลาย อบายมุขก็มาเป็นตัวคลายให้ ทำให้หายเครียด ทีนี้ ถ้าเราทำงานอย่างมีความสุขและพอใจในงานแล้ว มันก็คลายไปแล้วไม่ต้องมาคลายอีก แต่บางคนบอกว่าเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เขาอาจจะเถียงว่า ผมทำงานก็มีความสุขดี แต่เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ไปกินเหล้าเสีย ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า เปลี่ยนเสียบ้าง

อนันต์ วิริยะพินิจ: บางคนเขามีความรู้สึกว่าชีวิตนี้เขาทุกข์เหลือเกิน บางครั้ง ถ้าเขามีความสุขสักนิดหนึ่ง จากการดื่มสุรา หรือความสุขสักนิดหนึ่งจากการเสพอบายมุข เขาบอกว่าขอให้เขาทีเถอะ ทัศนะเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นความสุขที่ชั่วคราว เป็นความสุขที่ไม่แท้ ท่านจะกรุณาขยายความก็จะเป็นพระคุณ

พระเทพเวที: ก็อย่างที่ว่า มันเป็นวิธีสับเปลี่ยน แต่ที่จริงเป็นการหนี ลักษณะที่หนึ่งก็คือหนีจากทุกข์อันนี้ ไปหาอะไรที่ทำให้ลืมความทุกข์นั้นไป อันนี้ก็เป็นลักษณะของความไม่กล้า คล้ายๆ กับว่า เผชิญกันจนกระทั่งกลัวมัน ไม่กล้า เลยหนี ดีกว่า แต่ก็แก้ความทุกข์นี้ไม่ได้เพราะไม่ได้กำจัดเหตุ ความทุกข์นั้นมันก็อยู่ตามเดิม เพราะว่าหนีไปผ่านไปได้ชั่วครู่แล้ว กลับมาเจอตามเดิมอีก คือไม่ได้แก้ที่ตัวทุกข์ เพราะฉะนั้น ในหลักการที่แท้จริง การที่จะมีชีวิตดีงามมีความสุขก็คือ ไปแก้ที่ตัวทุกข์ ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ตัวความทุกข์นั้น จิตใจที่เป็นทุกข์ การที่เป็นทุกข์จากเรื่องนั้น นี้จะแก้ไขอย่างไร ไม่ต้องหนี ไม่ต้องแฉลบไปแฉลบมา ไม่เข้าถึงตัวเรื่องนั้นสักที ก็เป็นวิธีเลี่ยงนั่นเอง ซึ่งบางทีก็กลับไปเติมปัญหา คือนอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว บางทีก็ไปเพิ่มปัญหาในรูปอื่น คือบางทีขอลองนิดๆ หน่อยๆ แต่พอต่อไปมันติด พอติดแล้วทีนี้มันกลายเป็นสิ้นเปลืองเงินทอง แล้วเติมปัญหาอีก อันหนึ่งคือปัญหาจากเงินทองไม่พอใช้ บางทีหยิบยืมเป็นหนี้ ปัญหาเก่ามีแล้วก็เติมให้มันมากขึ้น ก็หนักเข้าไป ทีนี้ถ้าเกิดว่ากินเหล้ามากเข้า สุขภาพไม่ดี ก็เกิดปัญหาใหม่อีกแล้ว หาปัญหาให้แก่ตนเอง บางทีไม่เจอขณะนี้แต่ไปเจอระยะยาว จนกระทั่งอายุมากชักแก่ลงไปๆ แก่ตัวจึงมีปัญหา หรือแม้แต่ในตอนนั้นเอง สมมติว่าเกิดเรื่องรุนแรงไปทะเลาะวิวาทกัน ก็สร้างปัญหาใหม่อีกรูปหนึ่ง เรียกว่า ทางที่จะเกิดปัญหาใหม่นี้มันมากมาย แต่อย่างน้อยก็คือไม่แก้ปัญหาโดยตนเอง เพราะไปเลี่ยงหลบอยู่

อ.สุลักษณ์: อบายมุขเท่าที่ผมสังเกตมีคน ๓ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง มันยากจนเหลือเกิน มันเป็นหนี้เป็นสิน มันก็หนีไปกินเหล้า หนีไปเล่นการพนันโดยหวังว่าคงจะรวยมาใช้ได้ เล่นหวยรัฐบาล เล่นหวยเถื่อน เป็นเยอะเลยพวกคนยากคนจน กินเหล้าเพราะไม่อยากเจอปัญหา มันรู้ สภาพเดิมมันก็รู้แต่มันไม่อยากเผชิญ นี้พวกที่จนมาก อีกประเภทหนึ่ง มันรวยมาก เป็นเยอะเลยในเมืองนอก เป็นเยอะเลยที่อังกฤษ รอบๆ วัดท่านสุเมโธ คนรวยอยู่ทั้งนั้นเลย แถบคนรวยอยู่นอก London ๖๐% ติดเฮโรอีน ลูกคนรวยนะ และโรงเรียนในอเมริกามีเยอะเลยที่ขายเฮโรอีน รูปโปสเตอร์มีทิ้งไว้ที่บ้าน มันติดกัน ก็พยายามสูบกัน บ้านเรานี่ก็เป็นมาก มันเบื่อ ทำได้ทุกอย่างเลย มันทำอะไรก็ได้ มันหนี สูบไปแล้วมันฝันมันเพลิน รู้นะเรื่องสุขภาพนี่รู้ อันที่สามนี้พวกเราโดยตรง ทำงานถ้าจับเรื่องเครียดนี่ช่วยได้ ทำแล้วบางทีมันเครียด ทำแล้วบางทีมันเบื่อ ทำแล้วบางทีแหมเงินเดือนไม่เห็นขึ้น ทำแล้วเป็นหนี้ อะไรอย่างนี้ มันก็ต้องหนี เพราะฉะนั้น อย่างที่ว่ากันนิดหน่อยๆ เสร็จแล้วมันหนัก อันตรายมันอยู่ตรงนี้

พระเทพเวที: ในการแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ทุกขณะนี้ เราเรียกว่าปัจจุบันแต่ละขณะให้มันมีความสุข เพราะไม่งั้นมันก็เป็นการหนีอยู่เรื่อย หนีออกจากขณะที่เป็นอยู่ หรือขณะที่เป็นอยู่นี้เป็นขณะที่ไม่มีความสุข ความสุขนั้นมันอยู่ข้างหน้าๆ เราอยู่ข้างหลังก็ไล่ตามความสุขกันอยู่เรื่อยไป ก็ไม่พบ ทีนี้ทำอย่างไรจะให้แต่ละขณะทุกขณะนี้มันมีความสุข มันก็จะเต็มอิ่มไปเลย เห็นไหม คนเราแก้ปัญหาไม่ถูกก็ตรงนี้ โดยปกติทั่วไปไม่สามารถอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็ตามในขณะนั้นๆ ให้มีความสุขไปเลย มีความพอใจ แต่ถ้าจะปลอบใจเบื้องต้น อย่างน้อยคนที่มีงานทำนี้ ก็ยังดีขั้นหนึ่งแล้ว เรื่องเงินเดือน พอไม่พอก็ว่ากันอีกเรื่อง หาเหตุกัน แต่อย่างน้อยมองคนที่ไม่มีงานทำเหมือนตัวเอง เราก็ได้เปรียบกว่าเยอะแยะ ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คนว่างงานในสังคมมีมาก เราก็เป็นคนโชคดีมาก แต่อันนี้ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้เลย เป็นแต่เพียงปลอบใจเท่านั้นเอง ที่แท้ต้องมาถึงขั้นนี้ คือทำอย่างไรให้มีความสุขความพอใจในการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละขณะ

อ.สุลักษณ์: แต่วิธีแก้มันต้องปรับ ๒ ระดับ ครับ
- ระดับหนึ่งส่วนบุคคล ที่ท่านเทศน์ พยายามมีทัศนะที่ถูกต้อง เรียกร้องจากชีวิตให้น้อย มีความสุขในการทำงาน
- อีกระดับหนึ่งในหน่วยงาน ก็จะต้องปรับเหมือนกัน ก็เปิดโอกาสให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้คนออกสิทธิ์ออกเสียงมากขึ้น บางทีมันก็จะช่วย ในที่บางแห่งเขาใช้ระบบเครดิตยูเนียนมาช่วย รู้จักการออมทรัพย์ให้เป็น รู้จักวิธีว่าจะเผชิญหนี้สินอย่างไร เผชิญเหตุการณ์อย่างไร คือมีทางออกและชนะได้ ก็จะมีกำลังใจมากขึ้น ทีนี้ ไอ้เรื่องอบายมุขอะไรต่างๆ นี้ ในสังคมมันยั่วยุมากเหลือเกิน โฆษณาเหล้า โฆษณาเบียร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ บุหรี่ แม้กระทั่งโคคาโคล่า อะไรต่างๆ อบายมุขทั้งนั้นเลย แต่ว่าไม่รู้สึกนะ มันเอาโคเคนใส่เข้าไป ดีกรีมันอาจจะอ่อน ทั้งฟาสท์ฟู๊ดอะไรต่างๆ ทั้งนั้น หมายถึงเยอะแยะที่ไม่รู้เท่าทัน ก็สอนให้รู้เท่าทันไอ้พวกนี้ด้วย

พระเทพเวที: การให้โอกาสแก่ผู้อื่น เอาใจใส่ผู้อื่น เอาใจใส่ความสุขของผู้อื่นนี้ มันทำให้ลืมเรื่องตัวเองไป แล้วก็ทุกข์น้อยลง คนที่ไปคอยเอาใจใส่ผู้อื่นบ้าง มองความทุกข์ความสุขของผู้อื่น แล้วก็ทำให้จิตใจของเราโปร่ง ทีนี้ ถ้าหากว่า มองแต่เรื่องตัวเอง ตัวยังไม่ได้นั่น ตัวยังไม่ได้นี่ จิตใจก็บีบคั้นตลอดเวลา มันแคบ ก็ไปมองว่า เอ! คนอื่นเขาเป็นอย่างไร สุขสบายดีหรือเปล่า ไม่ใช่มองในแง่ที่จะอิจฉาริษยา คนเรานี้ ถ้าไปมองในแง่แต่จะได้ไม่ได้ พอมองคนอื่นก็มองในแง่อิจฉาริษยา ว่าเขาได้มากกว่าเรา เราทำไม่ได้ ทีนี้ถ้าทำใจเปลี่ยนท่าทีปั๊บ กลับไปมองคนอื่น เอ๊ะ! นี่เขามีความทุกข์ลำบากอะไรหรือเปล่า เขาจะมีความสุขไหม ทำไมเขาจึงไม่มีความสุข คนเรารักคนอื่น ก็เหมือนกับพ่อแม่รักลูก เห็นลูกมีความสุขเราก็มีความสุข แต่ถ้าเราไม่รัก เห็นเขามีความสุข เราอาจจะทุกข์เพราะว่าเราอิจฉา แต่ถ้าเรารักเขาปั๊บ เขามีความสุข เราก็สุขด้วย ทีนี้ ถ้าเราขยายความรู้สึกเอาใจใส่ต่อผู้อื่นนี้ออกไป โอกาสที่จะมีความสุขก็มากขึ้น แต่ถ้าเราเหลือตัวคนเดียวเมื่อไร ทุกข์ยิ่งมากขึ้น ถ้าเรามองแต่ตัวเองคนเดียว พอเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นอีกคน เราก็มีโอกาสที่จะทุกข์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เพราะเราจะต้องขัดแย้ง หรือต้องแข่งกับเขา เราก็มีตัวทุกข์เพิ่มมาหนึ่ง พอไปเจออีกคนหนึ่งก็เจออีกทุกข์หนึ่งเรื่อยไป ยิ่งเจอคนมากก็ยิ่งทุกข์มาก หรือมิฉะนั้น ก็จะเป็นไปในทางแบ่งแยกเป็นฝ่ายเป็นพวก คือขัดแย้งกับคนหนึ่งแล้ว ก็เข้ากับอีกคนหนึ่งเพื่อเอามาช่วยขัดแย้งแข่งด้วย ก็กลายเป็นพวกเป็นฝ่าย ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น แต่ถ้าเราเอาใจใส่ผู้อื่น หมายความว่าสร้างความสุขด้วยการให้ หรือให้ความเอาใจใส่ ซึ่งก็เป็นการให้อย่างหนึ่ง มีความรักคือความต้องการให้เขามีความสุข เพิ่มคนเข้ามาเท่าไรก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น เรื่องก็อยู่ที่นี้ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนท่าทีของจิต เราก็มีความทุกข์ได้มาก เพราะฉะนั้น การพัฒนาตัวก็อยู่ที่นี้ด้วย พัฒนาจิตใจให้มองกว้างออกไป มองเพื่อจะให้ความเอาใจใส่ ความสุขก็เพิ่มมากขึ้น

หรินทร์ สุขวัจน์: ท่านครับ บุคคลที่ทำงานอยู่ในกิจการที่รู้สึกเป็นโทษทางสังคม เช่น กระทำอยู่ในโรงเหล้า โรงบุหรี่ แล้วจะทำให้มีความสุขในการทำงาน ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยกับทางสังคม แล้วเขาจะมีความสุขในการทำงานอย่างไรครับ

พระเทพเวที: นี้แหละอย่างที่ว่าเมื่อกี้ มันมีหลายระดับ ตอนแรกศรัทธาในงานไม่มีเลยใช่ไหม ศรัทธาในงานว่างานนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ ศรัทธาในงานไม่มี อันนี้เป็นจุดอ่อนอันดับที่หนึ่ง ทำให้ท้อถอย ไม่มีกำลังใจ งานนั้นไม่มีคุณค่าทางสังคม เราก็รู้สึกว่า มันไม่มีคุณค่าต่อชีวิตนี้ด้วย ไม่ทำให้ชีวิตนี้มีคุณค่า แต่กลับเป็นว่าชีวิตของเรากลายเป็นโทษแก่คนอื่น การที่ไปทำงานนี้ก็คล้ายกับเอาชีวิตนี้ไปเป็นส่วนร่วมในการทำให้เกิดโทษ ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องมองลึกลงไป หมายถึงว่า อย่างน้อยการทำงานนั้นเป็นการฝึกฝนพัฒนาตน การทำงานนั้นให้ดีก็เป็นการพัฒนาตนเองเสมอตลอดเวลา ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้สบายใจได้ แต่จะไปลืมเสียเลยไม่ได้นะ เดี๋ยวไปลืมว่างานนี้เป็นโทษจริงๆ เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งถ้าว่าตามหลักของทางศาสนาก็คือ เราก็ต้องหาทางออกด้วย แต่ในกรณีที่ยังทำอยู่ด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ต้องทำใจอย่างนี้ว่า เราทำงานของเรา ทำให้ถูกต้อง วางเจตนาที่จะไม่ให้ไปเห็นดีเห็นงามร่วมส่งเสริมความชั่วร้ายนั้นด้วย แต่มุ่งช่วยผ่อนเบาความชั่วร้ายที่มีอยู่หรือทำกันอยู่ในงานนั้น ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง และก็ได้พัฒนาตัวในเวลานั้นด้วย อันนี้ก็ทำให้จิตใจสบายได้ ก็มีหลักอยู่

อ.สุลักษณ์: ทีนี้มันไม่ใช่เฉพาะโรงงาน โรงเหล้า หรือโรงฆ่าสัตว์นะ หลายต่อหลายครั้งงานทุกอย่างที่ทำแล้วไม่มีคุณค่า อันนี้สำคัญ ยกตัวอย่าง ครูมีปัญหามาก พวกครูรู้สึกว่าเขาสอนไม่มีความหมาย เด็กมันก็ไม่เชื่อเขา มันไปเชื่อโทรทัศน์มากกว่า เงินเดือนเขาก็น้อย ปัญหาอยู่ตรงนี้ ต้องจับที่เจ้าคุณท่านว่าให้ได้ อย่างน้อยงานของเรามีคุณค่า หรือไม่มีคุณค่า เราต้องพัฒนาความคิด พัฒนาวิธีการของเราให้ชัด และพยายามหาคุณค่าในสิ่งนั้น ยกเว้นอาชีพที่ไม่สุจริตหรืออาชีพที่มันเป็นโทษเสียแล้ว หลายอย่างมันเป็นประโยชน์ได้ ในแง่หนึ่ง นวนิยายมีคนอ่านนี้ บางทีอาจจะหวังดี บางคนอาจจะอ่านเป็นเพื่อนก็ได้ นี้เราต้องพยายาม พยายามมองท่าทีให้ถูกต้อง

อนันต์: หลายกิจการ อย่างกิจการด้านสุรานี้ อาจจะเป็นภาพที่เห็นชัดว่าเป็นกิจการที่ค่อนข้างขัดแย้งกับศีลธรรม แต่มีหลายกิจการที่มันอยู่เบื้องหลังของกิจการเหล่านี้ เช่น ธนาคาร เป็นต้น ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้โรงเหล้า ซึ่งความจริงแล้วกิจการธนาคารนี้ใครๆ ก็คิดว่าเป็นกิจการที่มีเกียรติ เป็นการดำเนินงานที่ดูคล้ายๆ ว่าไม่มีโทษ ถ้าเรามองในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกลงไป กรณีที่โรงเหล้า ตอนนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน ปรากฏว่า ธนาคาร ๓-๔ แห่งต้องเข้าไประดมทุนหลายพันล้านบาทอยู่เบื้องหลัง ในแง่ของการประกอบการแล้วคงต้องพิจารณาให้ลึกลงไปว่า เอื้อต่อสังคมหรือส่วนรวมมากเพียงใด ซึ่งพนักงานระดับล่างคงจะไม่รู้สึก หรือรู้สึกก็ทำอะไรไม่ได้เพราะระบบมันใหญ่เกินตัวเอง นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว

อ.สุลักษณ์: ท่านเห็น ท่านเห็นปัญหา เพราะฉะนั้น คนทำงานธนาคาร ๙๙% ไม่เห็นปัญหาหรอกเพราะเขาปิดด้วย และโบนัสมันแพงด้วย วิธีซื้อ วิธีดึง แล้วโอกาสกินกันมาก โอกาสฉ้อฉลก็มีมาก มันอันตรายมาก

พระเทพเวที: อันนี้เป็นกรณีซับซ้อน กรณีซับซ้อนนี้ ถ้าเราอยู่ในสถานะนั้น อยู่ท่ามกลางแต่เราเป็นตัวกลไกเล็กนิดเดียว เราไปบิดผันอะไรไม่ได้ เราจำเป็นต้องทำส่วนของเราให้ดีก่อน และถ้ามีโอกาสเราก็หันเห เบนงานนั้นไปในทางที่ให้เกิดคุณค่า หรือหาทางทำให้เกิดประโยชน์จากงานนั้น แต่อย่างน้อยการพัฒนาตนไว้ ก็มีประโยชน์ไม่เฉพาะขณะนั้น แต่พอถึงโอกาสเมื่อไร ความพร้อมที่เราสะสมไว้ ที่จะทำงานอื่นที่มีคุณค่าได้ เมื่อโอกาสนั้นมาถึงเรา เราก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เหมือนอย่างเราอยู่ในธนาคารหรือในกิจการใดก็ตามที่มันสองแง่สองง่าม มันอาจจะเกิดโทษ ตอนนี้เราไม่มีโอกาสที่จะทำส่วนที่จะแก้ไขสภาพเหล่านี้ได้ แต่ด้วยการฝึกปรือตัวเราเอง พัฒนาตนในการทำงานนั้นไว้ดี เราก็จะไปถึงจุดหนึ่งหรือสถานะอะไรก็ตาม ที่เราจะมีความสามารถขึ้นมาในตอนใดตอนหนึ่ง ถ้าเรามีความพร้อมจากการพัฒนาตนอยู่เสมอ ตอนนั้นเราก็จะได้ทำสิ่งที่เราเห็นว่า มีคุณค่า คือแก้ไขได้ แต่ถ้าเรามัวไปงอมืองอเท้า เห็นว่า งานนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่า มันเป็นโทษ แล้วตัวเองก็ไม่พยายามฝึกฝนมาตั้งนาน ให้ตัวเองมีความสามารถในงานนั้น แล้วก็ไม่รู้จักทนทานที่จะไปแก้ไข ก็เลยไม่มีโอกาสจะไปแก้ไขได้เลย จะมีโอกาสหรือไม่มีโอกาส อะไรมันจะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้หรือขณะนั้นทำให้เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุด พอไปถึงจุดหนึ่ง ความพร้อมที่สั่งสมไว้เกิดประโยชน์เองนะ อันนี้เรียกว่าหลัก “ปุพเพกตปุญญตา” มันก็ต้องมี “ถึงทีฉันบ้าง” อะไรทำนองนี้ แต่ "ถึงทีฉันบ้าง” จะมาได้เมื่อไร ถ้าตัวเองไม่รู้จักพัฒนาตน ไม่ใช้ขณะปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ขณะปัจจุบันให้ดีที่สุด

อ.สุลักษณ์: แต่ที่อนันต์ว่า ให้เข้าใจถึงประเด็นนี้มันยาก และส่วนมากจะไปนึกถึงอย่างอื่น ยกตัวอย่างง่ายๆ บางคนนี้เคยมีที่ขายไม่ได้ แล้วที่มีราคาเป็นล้านขึ้นมาก็ขายที่ถวายวัด วัดก็ไม่รู้อีกว่าเป็นผลจากไอ้ความอะไร ความไม่ถูกต้องในสังคม แต่คนที่จะรู้เท่าทันนี้น้อย นี้เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งเราจะต้องแก้ กรณีวัดธรรมกายเห็นชัดเลย มันนึกว่าการซื้อที่ไม่เป็นการเสียหายอะไร ชาวบ้านเดือดร้อนนะ พอไม่รู้นี่มันอันตราย

อนันต์: ที่ผมเสนอเมื่อสักครู่นี้ เห็นด้วยกับท่านที่ว่า มันยากที่จะไประบุประเภทของงาน เพราะมันมองได้ยากที่จะวินิจฉัยความดีชั่ว ที่ยกตัวอย่างธนาคาร ในระดับพนักงานเขาไม่สนใจเรื่องพวกนี้ เขาก็คงทำไปตามหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด เหมือนกับคนที่จะทำงานโรงงานเหล้า หรือทำงานโรงฆ่าสัตว์ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง บรรษัทข้ามชาติบรรษัทหนึ่ง เวลาลูกไก่ล้นตลาด ราคาไข่ไก่และไก่มันจะตก เขาแก้ปัญหาอย่างไร เขาแก้โดยเอาลูกไก่เป็นแสนๆ ตัวนี้ไปทิ้งทะเล ซึ่งเขาก็ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องบาป เพราะเขามองในฐานะทุนนิยม เป็นเรื่องธุรกิจ ถ้าไม่เอาลูกไก่เป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวนี้ไปถ่วงน้ำแล้วละก็ หายนะมันจะตามมา ระบบชีวิตสังคมปัจจุบัน มันหนีเรื่องต่างๆ เหล่านี้พ้นยากเหลือเกิน

อ.สุลักษณ์: ต้องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เศรษฐศาสตร์มันอธรรม เศรษฐศาสตร์มันอธรรมปั๊บ มันทำทุกอย่าง อาจารย์ประเวศเขียนไว้ รัฐบาลหมดพื้นฐานทางจริยธรรมแล้วหรือ รัฐบาลพยายามจะผลิตบุหรี่ให้มากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายรุ่นใหม่พยายามรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ก็จะผลิตเหล้าให้มากขึ้น จับเหล้าเถื่อน ไม่ใช่อะไรนะ ที่จับเหล้าเถื่อน ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นห่วงราษฎรจะกินเหล้าเถื่อนแล้วจะเป็นอันตราย จับเหล้าเถื่อนเพื่อว่ากูจะผลิตเหล้าขาย (กูจะได้เพิ่มผลผลิต) อันตรายมาก

พระเทพเวที: อย่างนี้ต้องแยกออกเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขในระดับไหน กรณีอย่างนี้ถือเป็นปัญหาระดับซับซ้อน ยากกว่าการแก้ปัญหาระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ ต้องมีผู้รู้เท่าทันที่จะให้ปัญญาแก่สังคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือแม้แต่การจัดสรรวางระบบใหม่ในวงกว้าง ทีนี้ เราอยู่ในส่วนย่อยมันอีกระดับหนึ่ง (อนันต์ ซึ่งยากที่จะไปแก้เรื่องต่างๆ เหล่านั้น) ต้องรู้ว่า อันนี้มันเป็นปัญหาของระดับไหน ถ้าเราอยู่ในส่วนย่อยนี้ เราไปกังวลมากกับปัญหาระดับใหญ่ เราว้าวุ่นใจด้วยความขัดแย้งใจมาก ยิ่งทำใจไม่ถูกก็ลำบาก ก็ต้องวางใจให้ถูกที่ ว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน ทำอย่างไรให้ดีที่สุด แล้วจังหวะของปัญหาการแก้อยู่ที่ตรงไหน ผิดจังหวะผิดระดับมันก็ยุ่งเหมือนกัน อันนี้ก็อยู่ที่ผู้ให้ปัญญาแก่สังคม เพราะการแก้ปัญหาในระดับซับซ้อนนี้ ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เท่าทันกัน ก็อย่างที่ว่า คนจำนวนมากเขาก็เป็นคนดี แต่เขาก็ไม่รู้ว่าที่เขาทำนั้น มันทำให้เกิดโทษเกิดภัยมารูปไหน ก็ต้องมาชี้แนะกัน ทำความเข้าใจ ถ้าเป็นคนดีที่แท้จริงก็คิดว่าเขาก็รับฟัง รวมความแล้วก็อย่างที่ว่า เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน ต้องมีปัจจัยแก้หลายอย่าง ที่สำคัญคือ ความรู้เท่าทันปัญหาจริยธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเข้มแข็งพอที่จะไม่หาผลประโยชน์จากสิ่งที่ก่อความทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์หรือปัญหาแก่สังคม และการจัดระบบที่เอื้อต่อความดีงามและประโยชน์สุขของประชาชน มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งว่า ถ้าทุกคนงดดื่ม ไม่มีใครกินเหล้า โรงงานสุราก็ไม่มี เพราะไม่รู้จะผลิตให้ใครกิน ในทางตรงข้าม ถ้าจำกัดการผลิต ไม่ส่งเสริมให้ขยายโรงงานสุรา ไม่โฆษณาชวนดื่ม คนติดเหล้า ก็มีทางน้อยลง ควรจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน หรือจะใช้ทั้งสองอย่างประสานกัน นี่ก็เป็นตัวอย่างให้พิจารณาดู ข้อสำคัญขอให้ทำ มิใช่ว่าอย่างไหนก็ไม่ทำ ไม่จริงจังอะไรสักอย่าง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง