คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว
มักพัฒนาอย่างเสียดุล เพราะขาดบูรณาการ

ในสังคมที่ปฏิบัติธรรมไม่ครบ จะเกิดความเสียดุล สังคมที่มีเมตตากรุณามาก จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจมาก คนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งก็เป็นข้อดี ทำให้จิตใจคนมีความอบอุ่น ชุ่มฉ่ำ ร่มเย็น มีความสุข สบาย แต่ผลเสียก็มีได้ คือ ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุม ก็เสียดุล

๑. คนจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น คือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่มีกิเลสของปุถุชน เมื่อหวังพึ่งผู้อื่นได้ว่าจะมีคนมาช่วย ก็จะไม่ดิ้นรนขวนขวาย เขาชอบคิดว่า ถ้าเราลำบาก ขาดแคลน ขัดสน ก็ไปหาผู้ใหญ่คนโน้น ไปหาญาติผู้นี้ หาเพื่อนคนนั้น เขาก็ต้องช่วยเรา ความที่คอยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เรื่อย ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีน้ำใจ มักเสียดุลไปทางอ่อนแอ คนมักหวังพึ่งผู้อื่น ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย และอาจจะตกอยู่ในความประมาท

๒. ไม่สามารถรักษาหลักการได้ เพราะคนจะช่วยกันจนกระทั่งละเมิดกฎหมายก็เอา ลองจะช่วยเสียอย่าง กฎหมายก็ไม่มอง ความเป็นธรรมก็ไม่เอาทั้งนั้น ช่วยกันอย่างเดียวจนเสียความเป็นธรรม และเสียหลักการ

ส่วนสังคมที่ขาดสาม หรือเพียงสองข้อต้น คือไม่มีเมตตากรุณา จะเป็นสังคมที่ไม่มีน้ำใจ คนไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อุเบกขาจะขึ้นมาเด่น แต่อาจจะเป็นอุเบกขาแบบไม่มีปัญญาก็ได้ คือ เฉยไม่เอาเรื่อง ตัวใครตัวมัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง พอมีปัญญาขึ้นมาหน่อยก็วางกติกาสังคมไว้ว่า แกจะทำอะไรก็เรื่องของแกนะ แกทำไปได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกติกาหรือกฎหมาย ถ้าแกละเมิดกฎเมื่อไร ฉันจัดการทันที แต่ถ้าไม่ละเมิดก็ปล่อยแกทำไป แต่ฉันไม่ช่วยนะ

ทีนี้คนที่ไม่มีใครช่วยนี่ เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นสุดฤทธิ์สุดกำลัง เพราะถ้าไม่ดิ้นก็ไม่รอด จึงทำให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และเพราะเอากติกา เอากฎหมาย หรือหลักการเป็นใหญ่ ก็รักษาหลักการและกฎกติกาได้ แต่เมื่อไปสุดโต่ง ก็กลายเป็น สังคมที่เอาแต่กฎเข้าว่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีน้ำใจ

สังคมไทย นี่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อเมตตากรุณามาก ก็เสียดุล ทำให้อ่อนแอ แล้วก็ไม่สามารถรักษาหลักการและความเป็นธรรม ส่วนสังคมแบบอเมริกันก็ค่อนข้างขาดในด้านเมตตากรุณา คือขาดน้ำใจ และหนักในอุเบกขา ทำให้คนดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้เข้มแข็ง และทำให้รักษาหลักการกติกาได้ แต่เป็นสังคมที่แห้งแล้ง เครียด จิตใจมีความทุกข์ ขาดความอบอุ่น ได้อย่างเสียอย่าง

เพราะฉะนั้น เพื่อให้พอดี จึงต้องมีครบทั้งสี่ข้อ แต่ในระดับสังคมนี่แสนยากเหลือเกินที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีครบทั้งสี่ข้อ มันก็เลยได้เว้าๆ แหว่งๆ ได้หนึ่งบ้าง ได้สองบ้าง ได้สามบ้าง ที่จะครบ ๔ อย่างพอดีได้ดุลนั้นหาได้ยาก

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต เพราะฉะนั้นจึงต้องไปโดนอุเบกขาจากที่อื่นมาช่วย ถึงจะเข้มแข็ง เช่นอยู่เมืองไทยนี้พ่อแม่ทำให้หมด ให้คนใช้ทำให้หมด ก็เลยทำอะไรไม่เป็น แต่พอส่งไปอยู่เมืองฝรั่ง โดนอุเบกขาของฝรั่งเข้า ตอนนี้เข้มแข็ง ทำเป็นทุกอย่าง ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องได้ดุล โดยเฉพาะพ่อแม่นี่สำคัญที่สุด

พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป แต่ปัญญานี้ยาก มันไม่เหมือนความรู้สึก มันต้องคิดและพิจารณาว่า เออ อะไรที่ลูกของเราควรจะทำให้เป็น ควรจะฝึกรับผิดชอบ คิดแล้วมองเห็นแล้วก็มาดูให้เขาทำ ซึ่งจะเป็นการรักลูกระยะยาว ถ้ารักลูกมากด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเกินไป จะกลายเป็นว่ารักลูกระยะสั้น มองการณ์ใกล้ สายตาสั้น แล้วจะปิดกั้นการพัฒนาของเด็ก

เมตตากรุณาสามารถปิดกั้นการพัฒนาของเด็กได้ เพราะเมื่อไม่มีอุเบกขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ฉะนั้นบางทีเด็กที่ถูกปล่อยถูกทิ้งนี่แหละ ถูกอุเบกขาเข้าเต็มที่ ถ้าไม่เสียก็เก่งไปเลย เขาจะเข้มแข็ง จะช่วยตัวเองได้ดี แกร่งกล้า สามารถเจริญเติบโตงอกงามในสังคม

ควรจะยอมรับกันว่าดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ประการนี้เสียไปแล้วในสังคมไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้จะต้องเน้นการปฏิบัติคุณธรรมชุดนี้ให้ครบชุดที่ว่า ต้องมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เป็นตัวโยงปัญญามารักษาดุลยภาพไว้ให้เกิดความสมบูรณ์ในชีวิตและในสังคม ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป

พ่อแม่บริหารครอบครัว บางท่านก็บริหารหน่วยงาน องค์กร ตลอดจนประเทศชาติ แต่โลกคือสังคมมนุษย์นี้ ทุกคนร่วมกันบริหาร มนุษย์ทุกคนผู้บริหารโลกนี้ จึงต้องเป็นพรหมผู้มีพรหมวิหารให้ครบทั้ง ๔ ประการ

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะสัมพันธ์กันดี คือมีเมตตากรุณาและมุทิตาต่อกัน แต่ถ้ามนุษย์ไม่รักษาอุเบกขา พากันละเลยละเมิดธรรม โลกมนุษย์นั้นก็จะวิปริตแปรปรวน ตั้งอยู่ดีไม่ได้

ถ้าทุกคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา โดยมีอุเบกขากำกับอยู่ ก็จะมีน้ำใจช่วยเหลือส่งเสริมกันด้วยความสัมพันธ์อันดี พร้อมทั้งดำรงรักษาความเป็นธรรมในสังคม และความเข้มแข็งรับผิดชอบในตัวคนไว้ได้ และก็จะอภิบาลโลก ดำรงรักษาสังคมให้มีสันติสุข ตั้งแต่สังคมเล็กในบ้าน ไปจนถึงสังคมสากลของมวลมนุษย์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง