คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล1

พ่อแม่นั้นมีอุปการคุณแก่เรามากมาย ในทางพระศาสนาท่านบรรยายไว้นานัปการ แม้กวีทั้งหลายก็ได้เขียนบรรยายกันไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรากฏเป็นคำกลอนและคำประพันธ์ต่างๆ ที่บรรยายถึงคุณของบิดามารดา เพื่อให้ลูกได้รู้ตระหนักมองเห็นความสำคัญและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน

เมื่อว่าโดยย่อ ตามหลักพระศาสนา พ่อแม่นั้นทำหน้าที่สำคัญ คือ

๑. ท่านห้ามปรามเราไม่ให้ทำความชั่วช้าเสียหาย ป้องกันเราไม่ให้ตกไปในทางที่ต่ำทรามมีอันตราย

๒. ท่านสั่งสอนแนะนำเราให้ตั้งอยู่ในความดี ชักนำเราให้มุ่งไปในทางที่จะพบความสุขความเจริญ

๓. ท่านให้เราได้เล่าเรียนศิลปวิทยามีความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพการงานเพื่อตั้งตัวให้เป็นหลักฐานต่อไป

๔. ถึงเวลาถึงวัยที่จะมีครอบครัวท่านก็เป็นธุระเอาใจใส่จัดแจงช่วยเหลือ โดยรับที่จะทำด้วยความเต็มใจ

๕. ทรัพย์สมบัติของท่าน ก็เป็นของลูกนั่นเอง ซึ่งท่านจะมอบให้ในเวลาอันสมควรเป็นระยะๆ ไป จนครั้งสุดท้ายที่เรียกว่ามรดก

ทั้งหมดนี้ เป็นที่รู้กันตามหลักการของพระศาสนา แต่ที่จริงนั้นท่านเพียงวางไว้ให้เป็นหัวข้อหรือรายการปฏิบัติที่สำคัญๆ เท่านั้น การปฏิบัติปลีกย่อย ยังมีอีกมากมาย รวมความก็คือ พ่อแม่นั้นทำทุกอย่างเพื่อลูกด้วยความรัก ว่าโดยคุณธรรมก็คือ การกระทำที่ออกมาจากพรหมวิหาร ๔ ประการนั่นเอง คือ

๑. ใจของพ่อแม่นั้นประกอบด้วยความรักความปรารถนาดี เอาใจใส่เลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตและงอกงามมีความสุข คือ มีเมตตา

๒. ประกอบด้วยกรุณา มีความสงสาร คอยช่วยเหลือให้พ้นจากความยุ่งยากเดือดร้อน ช่วยแก้ไขปัญหา และปลดเปลื้องความทุกข์

๓. มีมุทิตา คอยส่งเสริม ให้กำลังใจ และพลอยยินดีเมื่อลูกประสบความสำเร็จ ประสบความก้าวหน้า หรือทำความดีงามถูกต้อง

๔. มีอุเบกขา ในเวลาที่สมควร เช่น เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเอง หรือควรรู้จักฝึกหัดทำอะไรด้วยตนเอง ท่านก็จะให้โอกาสแก่ลูกที่จะพัฒนาตัวเอง คือไม่ใช่จะทำให้ไปหมดทุกอย่างจนกระทั่งลูกทำอะไรไม่เป็น อันนี้เรียกว่า วางอุเบกขา

นี่คือหลัก พรหมวิหาร ๔ เรารู้กันว่าพ่อแม่นั้น เป็นตัวอย่างของคนที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ แต่ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า เราเน้นกันมากในพรหมวิหารข้อที่ ๑ เมื่อพูดถึงผู้ใหญ่ ว่าผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตา แล้วก็มักจะตามด้วยข้อ ๒ คือกรุณา ว่ามีเมตตากรุณา และบุคคลผู้มีเมตตากรุณา ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ก็คือ พ่อแม่ของเรานี่แหละ

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้ แสดงเมตตา กรุณา และมุทิตา ได้ง่าย หรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็น หรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักรับผิดชอบ พรหมวิหารข้อสุดท้ายนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องใช้ปัญญา จึงต้องศึกษาให้ดี ตอนแรกจะพูดเป็นแนวไว้ก่อน

พ่อแม่มีเมตตา ในยามปกติ เมื่อลูกเจริญเติบโตอยู่ดีตามที่ควรจะเป็น (เขาปกติ)

พ่อแม่มีกรุณา ยามลูกมีทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือมีเรื่องลำบากเดือดร้อน (เขาตกต่ำ)

พ่อแม่มีมุทิตา ยามเมื่อลูกทำอะไรได้ดีมีสุขหรือประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้ที่ดีๆ สอบเข้างานได้ หรือได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง (เขาขึ้นสูง)

แต่ในบางกรณี พ่อแม่ไม่อาจใช้เมตตา กรุณา หรือมุทิตา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น อาจจะเสียหายแก่ชีวิตของลูกเอง หรือเสียธรรม ในกรณีอย่างนั้น จะต้องรู้จักวางอุเบกขา โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ คือ

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อจะฝึกหัดให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเอง จะได้ทำอะไรๆเป็น และพึ่งตนเองได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนา เช่น ให้เดินเอง ทำการบ้านเอง โดยพ่อแม่วางทีเฉยดูให้เขาทำ แต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อถึงเวลา หรือเป็นที่ปรึกษาให้

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกสมควรต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา เช่น ลูกทำความผิด ลูกทะเลาะกัน พ่อแม่วางตัวเป็นกลาง เพื่อให้มีการพิจารณา วินิจฉัย ตัดสิน และให้เขาปฏิบัติหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกรับผิดชอบตนเองได้ เช่น เรียนจบแล้ว มีการงานทำเป็นหลักฐาน ออกเรือนมีครอบครัวของตัวเขาเอง พ่อแม่รู้จักวางตัววางเฉย ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตส่วนตัวของครอบครัวของเขา

จากคุณธรรมในใจที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พ่อแม่ก็แสดงออกมาภายนอก ด้วยการลงมือทำ คือปฏิบัติต่อลูกโดยทำการเลี้ยงดู และฝึกหัดอบรมสั่งสอน พร้อมทั้งทำหน้าที่ต่างๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ๕ ข้อนั้น การปฏิบัติทั้งหมดนี้เรียกว่าการสงเคราะห์ ซึ่งสรุปได้ตามหลักสังคหวัตถุ เป็น ๔ อย่าง คือ

๑. พ่อแม่มีแต่การให้แก่ลูก ที่เรียกว่า ทาน

๒. พ่อแม่พูดจาด้วยน้ำใจปรารถนาดี และอบรมสั่งสอนให้คำแนะนำ ชี้แจงบอกเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ เรียกว่า ปิยวาจา

๓. พ่อแม่ลงมือลงแรง เอาแรงกายของท่านทำโน่นทำนี่ให้ โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็กอยู่ทำอะไรเองไม่ได้พ่อแม่ก็ทำให้ ตั้งแต่อุ้มเรา จูงเรา ป้อนข้าว อาบน้ำ แต่งตัวให้ ฯลฯ การเลี้ยงดูต่างๆ ท่านต้องลงมือปฏิบัติโดยใช้เรี่ยวแรงของท่านช่วยเราทั้งนั้น การเอาแรงกายเข้าช่วยนี้ เรียกว่า อัตถจริยา

๔. พ่อแม่อยู่กับลูก ร่วมสุขร่วมทุกข์กับลูก ทำตัวเข้ากับลูกได้ ปฏิบัติต่อลูกทุกคนอย่างเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลายกับลูก ไม่ถือเนื้อถือตัว อย่างลูกสมัยปัจจุบันนี้ บางทีเล่นศีรษะพ่อแม่ข้ามไปข้ามมา ท่านก็ไม่ถือสา แต่คนอื่นมาทำอย่างนั้นไม่ได้พ่อแม่จะโกรธเอา ข้อนี้เรียกว่า สมานัตตตา

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติที่ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ ซึ่งพ่อแม่มีต่อลูกเป็นประจำ แต่ทั้งหมดนั้น โดยสรุปแล้วก็รวมเป็นการสงเคราะห์ ๒ ประเภท คือ

๑. อามิสสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยอามิสคือวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

๒. ธรรมสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยธรรมคือการแนะนำสั่งสอน ให้รู้จักชั่วดี บาปบุญ เหตุผล ให้เจริญด้วยคุณธรรมความดี มีสติปัญญา พัฒนายิ่งขึ้นไป รวมทั้งการแสดงเมตตากรุณาที่ท่านปฏิบัติต่อลูกอยู่ตลอดเวลา มีความรักความเอาใจใส่ มีความอดทนต่อลูก ลูกจะทำอะไรเป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องวุ่นวายยุ่งยาก ท่านก็อดทน เป็นต้น

จากการสงเคราะห์ของพ่อแม่นี่แหละ ลูกก็จะเอาไปเป็นแบบอย่างในการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน สิ่งที่ควรย้ำไว้ก็คือการสงเคราะห์นั้น ประการสำคัญอยู่ที่ต้องให้ครบทั้งสองอย่างคือ อย่ามีเพียงอามิสสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของอย่างเดียว ต้องมีธรรมสงเคราะห์ด้วย จึงจะมีความเจริญพัฒนาที่สมบูรณ์

1ธรรมกถานี้แสดงเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๕
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง