พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศีล ๕ : หลักการพื้นฐานของสังคม

เริ่มต้นพระพุทธศาสนาให้มีการรักษาศีล ๕1 คือ หลักการที่เป็นเหมือนพื้นฐานของสังคม เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม แต่มันไม่ได้ให้ความมั่นใจในเรื่องความสุขของมนุษย์ มันช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น โดยไม่มีการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น สําหรับมนุษย์ทุกคนที่อยู่ร่วมกัน และช่วยให้บุคคลแต่ละคน มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการได้ดียิ่งขึ้น

ศีล ๘ : ศีลเพื่อการพัฒนาสู่อิสรภาพ

เหนือกว่านั้น เรายังมีศีล ๘2 เพื่อช่วยเสริมส่งให้คนที่มีอามิสสุข (ความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอก ขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค) ได้ก้าวหน้าไปสู่นิรามิสสุข (ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ไม่ขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค)

ในศีล ๘ เราจะเห็นได้ว่ามีศีลเพิ่มขึ้น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่น ไม่ได้สัมพันธ์กับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต่างจากศีล ๕ ข้อแรก ศีลห้าเกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ศีลแปดแตกต่างไป

อย่างศีลข้อ ๓ ในศีลแปด หมายถึง เมถุนวิรัติ คือ งดกิจกรรมทางเพศ และเพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ศีลข้อหก งดรับประทานอาหารในยามวิกาล คือ งดอาหารตั้งแต่เที่ยงไปถึงวันใหม่ ศีลข้อที่เจ็ด เว้นจากการร้องรำ บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น และลูบไล้ร่างกายด้วยเครื่องหอม หรือตกแต่งประดับร่างกาย ศีลข้อที่แปด เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย

จะเห็นได้ว่า ศีล ๓ ข้อหลังนี้ เป็นศีลที่ใช้สําหรับฝึกฝนตนเองส่วนตัว คือ การสละความสุขทางกาม และวัตถุต่างๆ และใช้เวลาที่เหลือในการพัฒนาจิตใจ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม

เมื่อได้รักษาศีลแปดก็จะพบว่า เราก็สามารถอยู่ได้อย่างดีมีความสุข โดยไม่ต้องอาศัยกามคุณต่างๆ ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนรักษาศีลแปดเดือนละสี่ครั้ง อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่ต้องเสียอิสรภาพ อิสรภาพในที่นี้ คือ การมีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก เรามีความสุขที่เป็นอิสระจากกามคุณ ๕ และเรายังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านั้น นี่คือตัวอย่างของความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก

บุคคลควรจะได้รู้จักกับความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัย ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก เมื่อเขารักษาศีลแปด เขาสามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้น คนทั่วไป ก่อนการรักษาศีลแปด เขาอาจพูดว่าเขาต้องมีนั่นมีนี่ ถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็จะไม่มีวันมีความสุขได้เลย แต่หลังจากได้ผ่านการรักษาศีลแปดมาแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนไป มีความอยากน้อยลง คือ แม้จะไม่มีนั่น ไม่มีนี่ ที่เคยอยากได้อยากมีมาก่อน ก็รู้สึกใหม่ว่า ไม่เป็นไร อยู่ได้มีความสุขได้

1ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ความประพฤติชอบทางกาย วาจา การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว การควบคุมตนให้ตั้งตนอยู่ในความไม่เบียดเบียน ๑. เว้นจากการปลงชีวิต การฆ่า การประทุษร้ายกัน ๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔. เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง ๕. เว้นจากน้ำเมา คือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ
2ศีล ๘ หรือ อัฏฐศีล พุทธศาสนิกชนนิยมสมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ (วันพระ) จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อุโบสถศีล
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.