พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสุข ๒ แบบในพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนา มีหลายวิธีการที่จะทำให้คนมีความสุข ซึ่งก็จะเชื่อมต่อกับความมีอิสรภาพ ถ้าปราศจากอิสรภาพ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ เราต้องมีอิสรภาพ ดังนั้น เราจึงมีความสุขหลายลักษณะ เช่นเดียวกับมีหลายระดับ และความสุขทั้งหมดนี้ เราสามารถแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ (ความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งอื่น หรือความสุขที่พึ่งพา หรือ สามิสสุข)

๒. ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ (ความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น หรือความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา หรือ นิรามิสสุข)

ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบ สามารถแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง นักธุรกิจ หรือคนทั่วไปในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมบริโภค มีความสุขจากกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทางกาย หรือมีความสุขจากการเสพเสวยวัตถุต่างๆ ความสุขเช่นนี้ เรียกว่า ความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งอื่น บาลีเรียกว่า อามิสสุข (สามิสสุข) คนจะมีความสุขได้ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก และถ้าอยากจะมีความสุขมากขึ้น ก็ต้องมีวัตถุมากขึ้น เป็นเจ้าของมากขึ้น เมื่อแสวงหาวัตถุมากขึ้น เราจะมีความขัดแย้งกับคนอื่น และความขัดแย้งเหล่านี้ เพิ่มพูนความทุกข์ ทั้งกับตัวเองและกับคนอื่น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

ความสุขในลักษณะนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

วิธีแก้ปัญหาคือ การทำให้คนสามารถจะมีความสุขได้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อคนยิ่งมีความสุขด้วยตนเองมากเท่าใด เขาก็จะมีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้จะสำเร็จได้ด้วยความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น

ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอกมาสนองกามคุณ เป็นสาเหตุของปัญหา ไม่เพียงแต่แก่ผู้อื่น แก่โลก และแก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่เป็นปัญหาภายในของบุคคลคนนั้นด้วย เพราะว่าความสุขประเภทนี้ ไม่สามารถสนองความพอใจให้เป็นจริงได้ คนจะอยากได้มากขึ้น และบุคคลนั้นก็จะมีความสุขยากขึ้น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับวิธีสร้างความสงบและความสุข เรามีชีวิตอยู่ในโลก เราเจริญเติบโตขึ้น เมื่อเราพัฒนาตัวเอง เราก็ควรจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น แต่กลายเป็นคนที่ยากยิ่งขึ้นที่จะมีความสุข

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.