พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความปรารถนาที่ดีงามคือฉันทะ

พระพรหมคุณาภรณ์

เมตตารวมอยู่ในนี้ด้วย อาตมาพูดให้กว้างออกไป แต่ที่จริงมันเป็นลักษณะจิตใจอันเดียวกัน เมื่อคนพัฒนาขึ้นไปมันจะมาด้วยกันเอง และมันปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เราแยกลักษณะความอยาก ความปรารถนา (ตัณหา vs. ฉันทะ) เป็น ๒ อย่าง คือ Skillful Desire กับ Unskillful Desire

Unskillful Desire คือ ตัณหา หรือความอยากได้กามคุณ สิ่งเสพสิ่งบําเรอ สิ่งที่มาตอบสนองผัสสะ ความต้องการชนิดนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดปัญญา

ส่วนความปรารถนาอีกอย่างคือ Skillful Desire ในภาษาบาลีเรียกว่า ฉันทะ ฉันทะ คือ ความปรารถนาในสิ่งที่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวเรา ไม่เป็นอย่างที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น self-centered แต่เป็นความปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ความสมบูรณ์ในเชิง Objective ตัวอย่าง เช่น เราเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เราอยากให้มันเจริญเติบโต แข็งแรง ในภาวะสมบูรณ์ของมัน หรือเมื่อเห็นบุคคลคนหนึ่ง เราก็อยากให้เขาอยู่ดี มีสุขภาวะ นี่คือ ฉันทะ หรือ Wholesome Desire

ความปรารถนาในลักษณะเช่นนี้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือ เมื่อคนๆ นั้นอยู่ในสภาวะปกติ ความปรารถนาเช่นนี้ เรียกว่า เมตตา หรือ Friendliness หรือ Loving-kindness และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป บุคคลนั้นเกิดประสบทุกข์ มีปัญหา ความปรารถนาของเราก็เปลี่ยนไปอีก เราอยากฉุดให้เขาพ้นจากทุกข์ จากปัญหา จากความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งหลายที่เขาประสบอยู่ อยากช่วยเขาให้เขาพ้นทุกข์ ความปรารถนานี้เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กรุณา หรือ Compassion เป็นความปรารถนาอันเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปอีก เมื่อบุคคลนั้นประสบความสำเร็จในชีวิต ในการกระทำสิ่งที่ดี มีความเจริญ เราก็จะรู้สึกพลอยยินดีในความสำเร็จนั้นของเขา ความปรารถนาชนิดนี้เรียกว่า มุทิตา หรือ Sympathetic joy: Altruistic joy เป็นข้อที่ ๓ ในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ (Sublime States of Mind) เราจะเห็นว่า ความปรารถนาอันเดียวนั้น เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ๓ อย่าง

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมสนใจหลักธรรมหัวข้อ ปฏิจจสมุปบาท (Dependent Origination) ผมได้อ่านหนังสือของท่านดาไลลามะ หนังสือของเจ้าคุณฯ เอง และหนังสือของท่านพุทธทาส ผมพบว่าหลักธรรมข้อนี้น่าสนใจ และอยากจะถามเกี่ยวกับการแบ่งสาเหตุจากเงื่อนไขต่างๆ และผมอยากเสนอหลักปฏิจจสมุปบาทแตกต่างไปจากที่มีอยู่ ๑๒ ขั้น ผมอยากสนทนาในเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักธุรกิจ เพราะถ้าผมนำไปใช้ทั้งหมดตามแบบเดิม มันก็จะยากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจได้

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาคิดว่ามันก็ยากนะที่จะทำให้ง่าย

นายมิวเซนเบิร์ก

สำหรับผม ในฐานะส่วนตัว ผมมีความสนใจในการตีความที่หลากหลายของท่านพุทธทาส หรือแม้แต่ของท่านซึ่งแตกต่างกัน หลักปฏิจจสมุปบาท ที่พูดถึงวงจรชีวิตหนึ่ง อีกอันหนึ่งเป็นสามวงจรชีวิต ผมสนใจจะคุยเรื่องนี้

ผมมีคำถามอีกคำถามคือ เป็นไปได้ไหม? ที่จะพบหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันนี้ในพุทธศาสนาสายธิเบต และเราจะพบได้อย่างไร แน่นอนว่ามีหลักเหตุ ปัจจัย ผล เหมือนกัน แต่การตีความเหมือนกันหรือไม่ คำถามนี้เป็นคำถามง่ายๆ ว่าเราจะไปค้นข้อมูลได้ที่ไหน ผมรู้ว่าท่านรู้ เพราะท่านระบุว่า ท่านพบคำสอนที่อ้างถึงเหล่านี้ที่ไหน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะสนทนา

พระพรหมคุณาภรณ์

คุณอยากรู้แหล่งที่มาด้วยใช่ไหม แหล่งข้อมูลทั้งหมดของทางฝ่ายธิเบตด้วยใช่ไหม

นายมิวเซนเบิร์ก

ใช่ครับ เพราะในหนังสือของท่าน ท่านระบุว่าเรื่องนี้เรื่องนั้น ท่านเอามาจากพระสูตรไหน สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจมาก คือ เมื่อผมเสนอเรื่องนี้กับท่านดาไลลามะ และพระผู้ใหญ่อื่นๆ พวกท่านกลับไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ทำให้ผมประหลาดใจมาก เพราะพื้นฐานน่าจะเหมือนกัน คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ น่าจะเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.