สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาพที่ควรมีให้เขามอง

ทีนี้ เมื่อพูดถึงภาพที่อยากให้เขามองแล้ว ก็ต้องพูดเลยไปถึงภาพที่ควรมีให้เขามองเรา หรือภาพที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรตามที่มันควรจะเป็น อันนี้แหละคือจุดที่สำคัญที่สุด และจะได้เอามาใช้วินิจฉัยแก้ข้อเมื่อกี้ได้ คือข้อที่ว่า ภาพที่อยากให้เขามองนั้น เป็นสิ่งถูกต้องแล้วหรือยัง เราจะต้องพยายามวินิจฉัยให้ได้ว่า เราควรจะมีภาพอะไรให้เขามอง ถ้าเราวินิจฉัยภาพอันนี้ได้แล้ว จะแสดงตนและทำบทบาททำภารกิจต่างๆ ได้โดยถูกต้องสมกับภาวะหน้าที่ของพระ

พระสงฆ์นั้นเป็นสถาบันอันหนึ่งของสังคม สถาบันต่างๆ ในสังคมนี้ ย่อมมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แต่ภารกิจของสถาบันต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสังคมนั้น ย่อมไม่เหมือนกัน ในการที่จะทำประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมนั้น สถาบันหนึ่งๆ ย่อมมีกิจมีหน้าที่ของตน ถ้าสถาบันต่างๆ มีหน้าที่ทำภารกิจเหมือนกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสถาบันต่างๆ กัน ก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสีย หรือเราก็เปลี่ยนอันหนึ่งไปเป็นอีกอันหนึ่งที่เขาทำอยู่แล้วก็หมดเรื่องไป แต่การที่มีสถาบันต่างๆ กัน ก็เพราะว่าแง่มุมที่จะทำหน้าที่ในการสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมนั้นมันไม่เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นสถาบันสงฆ์เราก็จะต้องมีภารกิจมีหน้าที่ต่อสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากสถาบันอื่น พระสงฆ์เรากำหนดได้หรือไม่ว่า หน้าที่อันเป็นส่วนเฉพาะ หรือจะเรียกภาษาสมัยใหม่ว่าเป็น เอกลักษณ์ ของสถาบันของเรานี้ ที่มีต่อสังคมนั้น คือหน้าที่และบทบาทอะไร อันนี้คือจุดสำคัญอันหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับข้อที่ว่า ภาพที่พระสงฆ์ควรจะมีให้เขามองตนเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง