เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาคผนวก

อุบาสกธรรม (คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา) ๕

๑. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย

๒. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕

๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง ของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์

๔. ไม่เแสวงหาทักขิไณย์นอกหลักคำสอนนี้

๕. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา

ชาวพุทธที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ นี้ ท่านเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตน์ อุบาสิการัตน์ (อุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว)

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๕/๒๓๐)

 

มหาโจร ๕

มหาโจรพวกที่ ๑ ผู้มีพฤติกรรมเหมือนกับมหาโจรที่รวบรวมพวกได้บริวารจำนวนร้อยจำนวนพันเข้าไปก่อความเดือดร้อน ฆ่า ปล้น เอาไฟเผาในคาม นิคม ราชธานี ได้แก่ ภิกษุบางรูปที่พาภิกษุจำนวนร้อยจำนวนพันเป็นบริวารจาริกไปในคาม นิคม ราชธานี ให้คฤหัสถ์ และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม พร้อมทั้งได้ปัจจัยสี่

มหาโจรพวกที่ ๒ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว กล่าวอ้างว่าเป็นของตนรู้เอง (เพื่อยกชูตัวขึ้นไป)

มหาโจรพวกที่ ๓ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้ใส่ความกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมูล

มหาโจรพวกที่ ๔ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร เช่น อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียงตั่ง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปสงเคราะห์ ประจบเกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์

มหาโจรพวกที่ ๕ ได้แก่ ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ภิกษุนี้จัดว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อน ข้าวของราษฎร ด้วยอาการแห่งขโมย

(วินย.๑/๒๓๐/๑๖๙)

ปาฏิหาริย์ ๓

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐีใกล้เมืองนาลันทา ครั้งนั้น เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่ง สมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญชาให้ภิกษุรูปหนึ่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ โดยอาการอย่างนี้ ชาวเมืองนาลันทา จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้

เมื่อเกวัฏฏะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเกวัฏฏะบุตรคฤหบดีว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่คฤหัสถ์ ...

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ อนุศาสนีปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ . . . เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์ . . . จึงเอียน ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ ก็ อาเทศนาปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความคิด ทายความไตร่ตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ . . . เราเห็นโทษในอาเทศนาปาฏิหาริย์ จึงเอียน ระอา รังเกียจอาเทศนาปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงคิดอย่างนี้ อย่าคิดอย่างนั้น จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงบำเพ็ญสิ่งนี้ . . .

ดูก่อนเกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนหนอ ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิ ชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วทางไปสู่เทวโลกก็ปรากฏ ครั้นแล้วภิกษุเข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ ได้ถามพวกเทวดาเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน พวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ต่อแต่นั้น ภิกษุได้เข้าไปหาหมู่พรหม เข้าไปหามหาพรหมแล้ว ถามว่า มหาภูตรูป ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมได้กล่าวตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น . . . ข้าพเจ้าถามท่านว่ามหาภูตรูป ๔ . . . ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ต่างหาก

ดูก่อนเกวัฏฏะ ลำดับนั้นท้าวมหาพรหมจับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านภิกษุ หมู่พรหมเหล่านี้ รู้จักข้าพเจ้าว่า อะไรๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง เป็นอันไม่มี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูป ๔ . . . ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหานี้เถิด . . .

(เกวัฏฏสูตร, ที.สี.๙/๓๓๙/๒๗๓)

(สาระสำคัญว่า แม้จะมีฤทธิ์มากมาย แต่ก็ไม่อาจรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถแก้ข้อสงสัยในใจของตนได้ ในที่สุดก็ต้องอาศัยอนุศาสนีปาฏิหาริย์จึงได้ปัญญารู้ความจริง)

พุทธบัญญัติห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมและห้ามแสดงฤทธิ์

"ภิกษุใด ไม่รู้ประจักษ์ กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม (เช่น ว่าตนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น) . . . โดยน้อมเข้ามาในตน . . . ภิกษุนี้เป็นปาราชิก . . ."

(วินย.๑/๒๓๑/๑๗๒)

“ภิกษุใด บอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิใช่ภิกษุ หรือภิกษุณี เช่น บอกแก่คฤหัสถ์) ถ้ามีจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๓๐๕/๒๑๑)

“ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นอุตริมนุสธรรม แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ภิกษุใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๓๓/๑๖)

“ภิกษุไม่พึงเรียนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ . . . ภิกษุไม่พึงสอนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดสอน ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๘๓-๔/๗๑)

พุทธพจน์ให้นับถือพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาแทนพระองค์

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

(ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)

พุทธพจน์ให้เคารพสงฆ์

“เราสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เราได้ตรัสรู้นั้นเองอยู่ และเมื่อใดสงฆ์เติบใหญ่ขึ้นแล้ว เมื่อนั้นเราย่อมมีความเคารพแม้ในสงฆ์”

(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗)

พุทธบัญญัติห้ามพระภิกษุขอ

“ภิกษุใดขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชายหรือหญิง ผู้มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา (คือผู้ไม่ได้นิมนต์หรือพูดเปิดโอกาสไว้ให้ขอ) ได้มา ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่สมัย คือจีวรถูกลักไปหรือสูญหาย”

(วินย.๒/๕๔/๓๘)

“ภิกษุใดขอด้ายมาเอง ให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๑๕๓/๑๓๓)

“ภิกษุใด ไม่อาพาธ ขอโภชนะประณีต อันมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เอามาฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๑๗/๓๔๑)

“ภิกษุไม่อาพาธ พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นแต่เขาปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๕๖/๓๗๑)

“ภิกษุพึงสำเหนียกว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ขอกับแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตน มาฉัน (ถ้าขอต้องอาบัติทุกกฎ)”

(วินย.๒/๘๓๖/๕๔๗)

พุทธบัญญัติป้องกันมิให้ความสัมพันธ์กับสตรี
เป็นไปในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสีย

“ภิกษุใดเสพเมถุน โดยที่สุด แม้ในสัตว์ดิรัจฉาน เป็น ปาราชิก”

(วินย.๑/๒๒/๔๐)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง . . . ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๓๗๕/๒๕๓)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง . . . ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๓๙๗/๒๗๔)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม . . . ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๔๑๔/๒๘๘)

“ภิกษุใดชักสื่อชายหญิงให้สมสู่กัน . . . แม้แต่กับหญิงโสเภณีที่อยู่ร่วมเพียงชั่วขณะ ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๔๒๖/๓๐๒)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตาพอจะทำกรรมได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับอาบัติ ๓ อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”

(วินย.๑/๖๓๒/๔๓๓)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับหูที่พอจะพูดเกี้ยวกันได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับ อาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”

(วินย.๑/๖๔๔/๔๓๙)

“ภิกษุใด นอนในที่มุงที่บังอันเดียวกันกับผู้หญิง แม้เพียงเริ่มราตรี ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๒๙๔/๒๐๑)

“ภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้หญิง เกินกว่า ๕-๖ คำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย”

(วินย.๒/๓๐๐/๒๐๖)

“ภิกษุใด นั่งในอาสนะปกปิดในที่ลับกับผู้หญิง (ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน) ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๓๙/๓๕๖)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตัวต่อตัวกับผู้หญิง ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๔๓/๓๕๙)

“ภิกษุใด ชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้ชั่วระยะหมู่บ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ (เว้นแต่ทางมีอันตราย)”

(วินย.๒/๖๕๙/๔๒๙)

“ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ จะเป็นภิกษุชั่วทรามก็ตาม จะเป็นภิกษุที่สิ้นกิเลสแล้วก็ตาม ย่อมเป็นที่ระแวง เป็นที่รังเกียจ คือ ไปมาหาสู่(โคจร)หญิงแพศยา ๑ ไปมาหาสู่หญิงหม้าย ๑ ไปมาหาสู่สาวเทื้อ ๑ ไปมาหาสู่กระเทย ๑ ไปมาหาสู่ภิกษุณี ๑”

(วินย.๘/๙๗๙/๓๒๕)

ภิกษุเป็นผู้อโคจร (ไปมาหาสู่บุคคลและสถานที่อันไม่สมควรแก่ภิกษุ) (๘) คือ ไปมาหาสู่หญิงแพศยา . . . หญิงหม้าย . . . สาวเทื้อ . . . กระเทย . . . ภิกษุณี . . . ร้านสุรา คลุกคลีกับคฤหัสถ์อย่างไม่สมควร . . . คบหาตระกูลที่มุ่งร้ายไม่ศรัทธาต่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

(อภิ.วิ.๓๕/๖๐๔/๓๓๒)

พุทธบัญญัติบางอย่างที่ควรทราบเกี่ยวกับการแต่งกายของภิกษุ

“ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฎเราอนุญาตให้ไว้ผมได้ ๒ เดือน หรือยาว ๒ องคุลี”

(วินย.๗/๑๓/๖)

“ภิกษุไม่พึงแต่งหนวด ไม่พึงไว้หนวด ไม่พึงไว้เครา . . . รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๕๐/๖๐)

“ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ . . . รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ”
“ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ . . . รูปใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๖๙-๑๗๐/๖๖)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง