เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา และบรรยากาศแห่งวิชาการ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๑ -
จิตใจของนักวิชาการ

วิชาการต้องมีชีวิตชีวา จึงจะมีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง

ได้บอกเมื่อกี้ว่า ปัญญาเป็นคุณสมบัติเยี่ยมยอดของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นเป็นอยู่ด้วยอาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น มนุษย์ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เข้าใจ จึงจะดำเนินชีวิตให้ดีได้ ในเมื่อปัญญาเป็นคุณสมบัติสูงสุด มันก็โยงไปหาคุณสมบัติอื่นในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถ้ามีการประสานหรือสัมพันธ์กับคุณธรรมหรือคุณสมบัติอื่นอย่างถูกต้อง ตัวปัญญา และกระบวนการพัฒนาปัญญานี่แหละ จะทำให้คุณธรรมเกิดขึ้นมาเอง หมายความว่า ถ้ากระบวนการพัฒนานั้นถูกต้อง มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม บางทีเหมือนกับว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่กลายเป็นว่า กระบวนการแสวงปัญญาในวงวิชาการ บางครั้งกลับทำให้เกิดมีปัญหาทางคุณธรรม การที่เป็นอย่างนั้นแสดงว่า กระบวนการพัฒนาปัญญานั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง คุณธรรมจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แล้วก็ทำให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคม พูดง่ายๆ ว่า ผลดีที่เราต้องการก็เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องนี่เอง

เริ่มต้น ขอให้ลองมองดูปัญหาในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเรื่องวิชาการ บางทีเราเกิดความรู้สึกทำนองว่า เป็นเรื่องแห้งแล้ง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา บางทีก็ได้แต่รูปแบบ ขอยกตัวอย่าง ในทางวิชาการมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานอย่างนั้นๆ เช่น เราจะทำงานวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์ ก็จะต้องมีขั้นตอน มีลำดับ มีองค์ประกอบ มีวิธีการอ้างอิงอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างนี้ๆ เป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้งานมีคุณภาพ แต่ถ้าเราอยู่กับรูปแบบ เช่น กฎเกณฑ์ เป็นต้น อย่างเดียว ขาดองค์ประกอบที่จะสร้างความมีชีวิตชีวาที่แท้จริง รูปแบบก็เป็นเพียงรูปแบบ คนก็ทำพอให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มันก็จะคล้ายๆ กับเป็นต้นไม้เทียม

ต้นไม้เทียมก็เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานว่า ใบจะต้องมีรูปร่างอย่างนี้ มีดอก กิ่ง สีสันอย่างนี้ มองดูก็สมเป็นต้นไม้ แต่มันไม่มีชีวิตชีวา มันไม่สามารถผลิดอกออกผลขึ้นมาจริงๆ เพราะชีวิตมันไม่มี

วิชาการก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่รูปแบบ ก็แห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา จะได้ผลเพียงระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้คุณค่าที่แท้จริง

ทีนี้จะทำอย่างไรให้วิชาการมีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง ไม่เป็นแต่เพียงรูปแบบ เช่นเพียงเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา แต่ให้รูปแบบมาเป็นตัวหนุน เป็นตัวเสริม ช่วยให้ดอกผลที่เราต้องการเกิดมีขึ้นมาจริงๆ คือมาช่วยเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น แต่หลักประกันที่แท้ที่จะให้เกิดผลจริงพร้อมด้วยความมีชีวิตชีวา จะต้องมาจากตัวคน อะไรทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง

เมื่อเราพูดถึงวิชาการในปัจจุบัน เรามักจะมองอย่างหนึ่งว่า การศึกษาหาความรู้จะต้องมีลักษณะที่เรียกว่า เป็น objective โดยเฉพาะวิชาการทางวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นจุดที่อาจจะพลาด คือต้องระวัง ความเป็น objective นี่ บางทีก็ทำให้เราแยกออกจากความมีชีวิตชีวาไปสู่เรื่องของรูปแบบ กฎเกณฑ์ กติกา อย่างเดียว แล้วความเป็น objective นั้น ก็เลยเป็นการขาดชีวิตชีวาไปด้วย ลักษณะที่เป็น objective นี้ จะเห็นชัดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาหาปัญญาที่เน้นความเป็น objective มาก คือ ไม่ขึ้นต่ออัตวิสัย ไม่ขึ้นต่อตัวเอง ไม่ขึ้นต่อเรื่องคุณค่า แต่เอาความจริงที่สังเกต พิสูจน์ ทดลองได้

แต่ความเป็น objective ที่ว่านี้ ซึ่งจะใช้ภาษาไทยว่าเป็นปรวิสัย หรือสภาววิสัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ความจริงมันไม่ได้แยกจากคุณค่าในใจของคน ความมีชีวิตชีวาที่อยู่ในจิตใจคนนี้มีความสำคัญ แต่ทำอย่างไรจะให้สองอย่างนี้มาสัมพันธ์เอื้อต่อกันได้

ศรัทธาสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่วิชาการ

ลองไปดูนักวิทยาศาสตร์เอง ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็น objective ในการที่จะศึกษาหาปัญญา ให้รู้วิชาการที่เป็น objective นั้น ตัวผู้ศึกษาเป็นอย่างไร เขาก็ต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง ลองยกไอน์สไตน์เป็นตัวอย่าง

ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ผลงานของเขาก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนก็ต้องเป็น objective เป็นวิชาการที่เป็นสภาววิสัย แต่ตัวนักวิชาการหรือตัวนักวิทยาศาสตร์ คือ ไอน์สไตน์เองนั้น ดูซิว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร

ไอน์สไตน์มองว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้ ผู้หาความรู้วิทยาศาสตร์ หรือค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาตินั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดคุณสมบัติภายในที่เขาถือว่าสำคัญมาก คือ ศรัทธา ไอน์สไตน์จึงเน้นศรัทธามาก และ ณ จุดนี้เขาได้โยงศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์ แต่หมายถึงศาสนาในความหมายที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ในความหมายที่ออกมาเป็นสถาบัน คือหมายถึงศาสนาที่เป็นสภาพจิตใจ เป็นตัวสภาวะทางธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์ และจิตใจมนุษย์นั้นก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ในด้านคุณสมบัติคือสภาพจิตใจที่เป็นธรรมชาตินี้ มาดูกันว่าจิตใจอย่างไรที่จะแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าไม่มีสภาพจิตใจนี้ การหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น ไอน์สไตน์บอกว่า จะต้องมีจิตใจที่ประกอบด้วยศรัทธา ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านศาสนาของมนุษย์ แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นศาสนาในความหมายที่แท้ทางนามธรรม ไม่ใช่ศาสนาในความหมายที่เป็นรูปแบบ

ศรัทธา ที่ต้องการในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คืออะไร ไอน์สไตน์บอกว่า คือ ความเชื่อในระบบของธรรมชาติว่า ต้องมีความเป็นไปที่แน่นอนแห่งความเป็นเหตุเป็นผล คือต้องมีกฎเกณฑ์ ด้วยความเชื่อนี้ จึงทำให้เขาแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์บอกว่า

“. . . ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลย ที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”1

ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ คนก็ไม่ค้นหาความรู้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่เกิดขึ้น ศรัทธาหรือความเชื่อนี้แยกเป็น ๒ ชั้น คือ

ชั้นที่ ๑ เชื่อว่า ในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นเหตุเป็นผล และ

ชั้นที่ ๒ เชื่อว่า กฎเกณฑ์ คือความเป็นไปในธรรมชาตินี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญามนุษย์

ที่ว่านี้ หมายความว่า เชื่อทั้งในธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาติ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือเชื่อว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้ด้วยปัญญา ความเชื่อยิ่งมั่น ก็ยิ่งทำให้ค้นคว้าหาความรู้จริงจัง ฉะนั้นไอน์สไตน์จึงย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคน มีตัวความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ที่เรียกว่าศรัทธานี้ และยังเขียนต่อไปอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการอธิบายที่ยิ่งชัดขึ้นไปอีกว่า

บุคคลที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคน มีความเชื่อมั่นทางศาสนาอย่างแท้จริง (truly religious conviction -- ศาสนาในความหมายของไอน์สไตน์นะ ไม่ใช่ความหมายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ)ว่า สากลจักรวาลของเรานี้เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล ถ้าศรัทธา (conviction) นี้ไม่เกิดเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าขึ้นมาแล้ว...บุคคลเหล่านั้น ก็คงยากที่จะเกิดมีความมุ่งมั่นอุทิศตนอย่างไม่ลดละถดถอย ซึ่ง(เป็นคุณสมบัติ)เอกอันเดียว ที่ทำให้คนสามารถบรรลุผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาได้2

นี่เป็นวาทะของไอน์สไตน์

เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติในตัวมนุษย์ คือ ศรัทธา ที่นำไปสู่การแสวงปัญญา อันนี้คือความสัมพันธ์ที่น่าสังเกตระหว่าง ศรัทธา กับ ปัญญา ขอแทรกนิดหนึ่งว่า เราจะต้องเห็นความสำคัญของศรัทธาในกระบวนการพัฒนาปัญญา ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด เพราะปัญญาไม่สามารถพัฒนาแยกต่างหากจากด้านอื่นๆ ของชีวิต

ศรัทธาเป็นไฟชนวนในกระบวนการพัฒนาปัญญา

การพัฒนาปัญญาอาศัยศรัทธาอย่างไร? ศรัทธาอย่างของไอน์สไตน์นี้คือ ความเชื่อมั่นในความจริงของกฎธรรมชาติ ว่าต้องมีกฎเกณฑ์ความเป็นระเบียบในธรรมชาติ และปัญญามนุษย์ก็เข้าถึงความจริงนั้นได้

ในวิชาการอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีศรัทธา เราเชื่อว่าวิชาการที่เรากำลังศึกษา จะทำให้เราได้ปัญญา และจะทำให้เกิดความดีงามในสังคมได้จริง คือสามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมมนุษย์ได้ จะทำให้เด็กของเราเป็นคนดีได้ ถ้านักการศึกษามีศรัทธาคือความเชื่อมั่นอันนี้ว่า สิ่งที่เขาเรียนจะทำให้เขาเกิดปัญญาที่สามารถมาจัดสรร สั่งสอน อบรมเด็กให้เป็นคนดีได้ ซึ่งเป็นจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ หรือการศึกษาเล่าเรียนนั้น ถ้าเขามีความเชื่ออันนี้ เขาจะตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิชาการอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่มีศรัทธานี้ เขาก็จะเรียนอย่างแห้งแล้ง กฎเกณฑ์ว่าอย่างไรก็ทำไปพอให้ได้ตามกฎเกณฑ์ และเป็นครูอาจารย์เพียงรูปแบบ

ฉะนั้น ศรัทธาจึงสำคัญอย่างยิ่ง แต่จะต้องระลึกไว้ว่า ศรัทธามี ๒ แบบ

แบบที่ ๑ คือศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญา

แบบที่ ๒ คือศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา

ศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญาหรือขัดขวางการพัฒนาปัญญา ได้แก่

ก) ศรัทธาแบบงมงาย หรือศรัทธาตาบอด คือ ความเชื่องมงาย แล้วแต่เขาจะบอก ความยอมเชื่อไปเสียหมด ตามข้อที่เขากำหนดมาให้ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องค้น ไม่ต้องสอบ ไม่ต้องถาม ไม่ได้ใช้ปัญญาของตนเอง

ข) ศรัทธาแบบบังคับ หรือศรัทธาปิดตา คือศรัทธาที่ถามไม่ได้ ห้ามสงสัย บังคับให้เชื่อ ด้วยอำนาจที่มองเห็นก็ตาม มองไม่เห็นก็ตาม เช่น ขู่ว่าเป็นบาป ถ้าสงสัยว่าอันนี้อันนั้นมีจริงหรือเปล่าก็เป็นบาปไปหมด จะตกนรก หรือถูกลงโทษ ถามไม่ได้เลย อย่างนี้ก็เป็นศรัทธาที่ปิดกั้นขัดขวางปัญญา

ศรัทธาที่แท้จริงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างปัญญา เป็นตัวเกื้อหนุนและจำเป็นในกระบวนการพัฒนาปัญญา อย่างศรัทธาของไอน์สไตน์ที่ว่าเมื่อกี้

ตามหลักพุทธศาสนา กระบวนการของการศึกษา เริ่มต้นด้วยศรัทธาพื้นฐาน ที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โพธิสัทธา” แปลว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ กล่าวคือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ ได้แก่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ฝึกฝนพัฒนาได้ จนสามารถบรรลุสัจจธรรมและมีชีวิตที่ดีงามสูงสุด ที่เรียกว่าเป็น “พุทธะ” บุคคลผู้มีศรัทธานี้จะสามารถก้าวหน้าต่อไปในกระบวนการศึกษาแห่งการพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา

จะเห็นชัดว่า โพธิสัทธา เป็นศรัทธาที่เชื่อมต่อกับปัญญาโดยตรง เพราะเป็นความเชื่อในตัวปัญญานั้นเอง โดยโยงสู่จุดหมายคือการบรรลุความเป็นพุทธะ ผู้รู้ความจริงและมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ โดยนัยนี้ ศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา จึงแยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ คือ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาปัญญาของตน จนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

๒. ศรัทธาในความจริงของธรรมชาติ คือ เชื่อว่าธรรมชาติหรือสรรพสิ่งมีภาวะและความเป็นไปอันเป็นระเบียบแน่นอน ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มนุษย์ควรจะรู้ และด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น จะทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

เมื่อมีศรัทธาขั้นพื้นฐานนี้แล้ว ก็ก้าวไปสู่ศรัทธาในระดับปฏิบัติการ โดยมีศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา หรือเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา ซึ่งจะทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ

๑. ศรัทธาเป็นตัวจับจุดให้ พอเรามองเห็นว่าในบรรดาสิ่งที่เราพบเห็น หรือได้ยินมากมายนี้ อันไหนมีเค้าว่าจะทำให้เราบรรลุผลที่ประสงค์ ที่เราต้องการ เช่นจะทำให้ได้ผลสำเร็จในการที่จะไปพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี ศรัทธาก็จับที่จุดนี้ คือเกิดความเชื่อว่าอันนี้จะให้ผลที่ต้องการได้ พอเกิดความเชื่อนี้ตั้งเค้าขึ้นมานิดหน่อย ท่านเรียกว่าเป็น “อาการวตี สทฺธา” แปลว่าศรัทธาที่มีเค้า ศรัทธาก็จับจุดเป็นเป้าให้แก่ปัญญาแล้วก็เจาะที่นี่ แต่ถ้าไม่มีศรัทธา ศรัทธาไม่จับจุดให้ ปัญญาก็จับจด อันโน้นก็เอา อันนี้ก็เอา ไปเรื่อยๆ ไม่เจาะลึกลงไป แต่พอศรัทธาจับให้ปั๊บ ปัญญาก็เจาะที่นั่นเลย

๒. ศรัทธาช่วยให้ปัญญามีทิศทาง และเดินหน้าไปในทิศทางสู่เป้าหมายที่ต้องการ เพราะเชื่อว่าอันนี้แหละจะให้ผลที่เรามุ่งหมาย ให้เกิดความสำเร็จ เช่นอย่างนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ถ้าค้นไปถึงนั่นได้ เราจะเข้าใจธรรมชาติได้ เราจะสามารถตอบปัญหา หรือคลายปมที่เราติดอยู่ได้ อันนี้แน่แล้ว เราค้นมุ่งหน้าไปให้ถึงนั่นเถอะ ศรัทธาก็กำหนดทิศทางให้ เราก็แน่วไป

๓. ศรัทธาทำให้เกิดพลัง เป็นธรรมดาว่าคนมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น จะเกิดกำลัง การที่จะแสวงปัญญาได้สำเร็จจะต้องมีพลัง มีความเข้มแข็งในการที่จะเอาจริงเอาจัง ถ้าไม่มีความจริงจัง ไม่มีความเข้มแข็งอันนี้ ความเพียรพยายามก็ไม่มา ไม่อยากจะไปเคลื่อนไหวทำการต่างๆ แต่พอมีศรัทธาว่า อันนี้แหละคือสิ่งที่ให้คุณค่าหรือความหมายสูงสุดแก่ชีวิต หรือว่าอันนี้แหละจะให้บรรลุจุดหมายที่ใฝ่ปรารถนา ก็เกิดแรงใจ เป็นพลังยิ่งใหญ่ แม้แต่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไป บุกป่าไป ไปขั้วโลก ก็เอาหมด สละชีวิตให้ก็ยังได้เลย ฝรั่งเขาปลูกฝังคุณสมบัตินี้ไว้ได้มาก เขาต้องการความรู้อะไร สามารถที่จะยอมสละชีวิตให้ทั้งชีวิต สามารถที่จะเดินทาง บุกป่าฝ่าดงกันดาร ถึงจะมีภัยอันตรายก็เสี่ยงไปได้ เพื่อหาความรู้ด้วยศรัทธา ฉะนั้น คุณสมบัติในใจที่ว่าเป็นตัวสร้างพลัง ก็คือศรัทธานี่แหละ

ตกลงว่า ศรัทธาให้ทั้งจุดที่ปัญญาจะเจาะ ทั้งให้ทิศทางที่ปัญญาจะเดินก้าวไปสู่จุดหมาย และทั้งให้พลังในการที่จะเดินหน้าไปด้วย แต่ก่อนอื่นต้องแยกได้ ระหว่างศรัทธา ๒ อย่าง คือ ศรัทธาที่ขัดขวางปิดกั้นปัญญา กับศรัทธาที่เป็นตัวเกื้อหนุนปัญญา ในทางที่ถูกต้องนั้น ศรัทธาเป็นองค์ประกอบและเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในกระบวนการพัฒนาปัญญา

ความใฝ่รู้คือรุ่งอรุณของการพัฒนาปัญญา

อย่างไรก็ดี ลึกลงไปศรัทธายังต้องอาศัยคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง ทำไมไอน์สไตน์จึงต้องก้าวมาสู่การมีความเชื่อมั่นในความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ และศรัทธาในศักยภาพของตัวเอง โดยเชื่อมั่นว่าตนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ ก่อนที่จะมาถึงขั้นศรัทธานั้น เขามีอะไร ตอบว่าเขามีความอยากรู้ในความจริง เมื่อเขามีความอยากรู้แล้วศรัทธาจึงมาเสริมมาช่วย เมื่ออยากรู้ หรือใฝ่รู้แล้ว จึงต่อมาสู่ขั้นที่เชื่อว่าจะสามารถรู้ได้ ความอยากรู้หรือใฝ่รู้นี้ไม่ใช่อยากรู้เฉยๆ แต่อยากรู้ให้ถึงความจริงแท้ของสิ่งนั้นๆ อยากรู้ความจริงว่ามันเป็นอะไรแน่

ความอยากรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงนี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ก่อน คืออยากรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วศรัทธาก็มาช่วยเสริมว่ามีนะความจริง มีนะกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ศรัทธามีความเชื่อมั่นในความจริงนั้น และเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้รู้ความจริงนั้นได้ แต่ความอยากรู้ที่เป็นแรงในตัวเองต้องมีก่อน ความอยากรู้นี้เป็นพลังขึ้นมาข้างใน ส่วนศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมตัวเรากับสิ่งที่ต้องการรู้ข้างนอก

ความอยากรู้ความจริง หรืออยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ นี้ ถ้ามีกำลังแรงก็จะถึงขั้นที่ทำให้บอกว่า ฉันจะต้องรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ได้ ถ้าไม่รู้ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด ต้องขนาดนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ต้องมีคุณสมบัตินี้ในใจ คือมีความปรารถนา ความอยาก ความใฝ่รู้ต่อความจริงอย่างแรงกล้า (อย่าทิ้ง “ใฝ่รู้” ไว้ลอยๆ)

ใฝ่รู้ความจริงคือ ปรารถนาจะเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด พอมีความใฝ่รู้แล้ว ศรัทธาก็มาช่วย คือเชื่อมั่นว่าในสิ่งที่ต้องการรู้นั้นมีความจริง มีกฎเกณฑ์ที่รู้ได้ และตัวเองก็มีความสามารถที่จะรู้ ก็จึงค้นคว้าไป อย่างที่ไอน์สไตน์มุ่งหน้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ตัวความใฝ่รู้ หรืออยากจะรู้นี้ เรียกว่า ฉันทะ เราไม่ค่อยเห็นศัพท์นี้ ฉันทะเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะหายไป หรือถูกมองข้าม ฉันทะนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี ฉันทะนี้มาเมื่อไร ชีวิตที่ดีเริ่มต้นเมื่อนั้น ถ้ามีฉันทะก็มั่นใจได้เลยว่าชีวิตที่ดีงามจะมา หรือถึงรุ่งอรุณของการศึกษา

ฉันทะ คือความใฝ่รู้ อยากจะรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ฉันทะนี้เป็นตัวริเริ่ม เป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นพลังเริ่มแรกที่ผุดขึ้นภายใน แล้วจึงอาศัยศรัทธามาโยงออกไปหาสิ่งที่ต้องการ ศรัทธามาเป็นพลังหนุนหรือผลักดันปัญญา ช่วยให้เดินหน้าไป แต่เราต้องมีฉันทะนี่มาเป็นตัวเริ่มงาน เพราะฉะนั้นไอน์สไตน์จึงไม่ได้พูดแค่ว่าศรัทธาหรือความเชื่อ แต่พูดต่อไปถึงความใฝ่รู้ เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ก็โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจความจริง อันนี้คือ ฉันทะ ตัวนี้สำคัญที่สุด เป็นฐานก่อนศรัทธา เมื่อพูดมาถึงฉันทะ จึงครบที่ไอน์สไตน์พูด

อาตมาจะขออ่านให้หมดอีกทีหนึ่ง ให้เห็นทั้ง ฉันทะ และทั้ง ศรัทธา ตามที่ไอน์สไตน์พูดไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์นั้นจะรังสรรค์ขึ้นมาได้ ก็จำเพาะแต่โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนา (aspiration) ต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจถึงความจริง อย่างไรก็ดี แหล่งที่มาของความรู้สึกนี้เกิดจากแดนของศาสนา และในแดนของศาสนาด้วยเช่นกัน ก็มี ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลยที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”3

คำกล่าวนี้ระบุชัดทั้งฉันทะและศรัทธา แล้วก็โยงมาสู่ปัญญาที่เราต้องการ

ที่พูดถึงไอน์สไตน์ก็เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการแสวงหาความรู้ แสวงปัญญา หรือการพัฒนาวิชาการในยุคสมัยใหม่ ที่ใกล้ตัวของนักการศึกษาและนักวิชาการปัจจุบัน และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทัศนะของนักแสวงปัญญาและนักค้นพบผู้ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบันท่านนี้ ก็ตรงกันกับหลักการที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ที่ยกวาทะของไอน์สไตน์มาอ้างที่นี้ มิใช่เพราะเป็นคำพูดของไอน์สไตน์ แต่ยกมาอ้างเพราะไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างของนักวิชาการยุคปัจจุบันที่มองเห็นหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาตินี้ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า แม้แต่บุคคลที่สำคัญยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าเป็นวิทยาการนำสุด ในการแสวงหาความรู้อย่างเป็น objective ได้รู้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมหรือคุณค่าทางจิตใจต่อการแสวงหาความจริงนั้นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเราคงไม่จบเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์มุ่งหาความจริง เป้าหมายของเขาอยู่ที่นั่น แต่คนที่รู้และเห็นความจริงแล้ว ยังมีการก้าวต่อไป

พอเราเริ่มรู้ว่านี้เป็นอะไร ความรู้นั้นจะทำให้เราแยกได้ ว่าสิ่งนี้อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นของมันไหม เมื่อเรารู้ว่าภาวะที่เต็มหรือดีงามสมบูรณ์ของมันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ต่อไปว่า ภาวะที่มันเป็นอยู่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เต็ม มันยังไม่อยู่ในภาวะที่ดี เช่นเราจะแยกได้ว่าต้นไม้ต้นนี้อยู่ในภาวะที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ในภาวะที่ดีงาม ที่ควรจะเป็น ความรู้ทำให้เราก้าวไปสู่ขั้นที่แยกเห็นความต่างระหว่างภาวะที่ควรจะเป็นกับภาวะที่ไม่ควรจะเป็น พอเราแยกอันนี้ได้ เราเห็น เรารู้ความแตกต่าง ความรู้นั้นก็จะทำให้เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือเราจะนึกถึงภาวะที่ควรจะเป็น ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร คือมันควรจะมีภาวะที่เต็มสมบูรณ์ดีงามอย่างไร

เมื่อกี้เรามีความใฝ่อยากรู้ความจริง ตอนนี้เมื่อเราเกิดมีความรู้แล้ว เราก็จะอยากอีกขั้นหนึ่ง คือ อยากจะให้มันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่ควรจะเป็นนี้ เราพูดสั้นๆ ว่า “ภาวะที่ดีงาม” หรือภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็แล้วแต่ พอเราอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่ดีงาม กระบวนการทางจิตก็เดินหน้าต่อไปว่า ทำอย่างไรมันจึงจะกลายเป็นสิ่งที่ดีงามได้ เมื่อมันยังไม่เป็น เราก็อยากทำให้มันเป็น อยากทำให้มันดีงาม พออยากทำให้เป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็ต้องทำ การกระทำก็เกิดขึ้น การกระทำให้ดีงามนี้เราเรียกว่า “การสร้างสรรค์”

เป็นอันว่า จากความใฝ่รู้ ก็ตามมาด้วยความใฝ่ดี คืออยากให้สิ่งทั้งหลายดีงาม จากใฝ่ดีก็ไปสู่การทำให้ดีงาม ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า การสร้างสรรค์ มันโยงกันหมด เพราะเป็นกระบวนการเดียวกันอันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกันมาเอง ถึงตอนนี้เราก็ ใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี

เมื่อการศึกษาที่แท้เดินหน้า ความสุขก็พัฒนาตามไป

ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะมีความสุขตามมาด้วยทุกตอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ที่พัฒนาถูกต้อง จะพัฒนาคุณธรรมไปพร้อมกับความสุข กล่าวคือ คนเรานั้นมีความสุขจากการสนองความต้องการ เมื่อเราใฝ่รู้เราก็เกิดความต้องการใหม่ คือ ต้องการรู้ เมื่อเราได้สนองความต้องการที่จะรู้ เราก็มีความสุข คือมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถอยู่กับงาน อย่างชนิดลืมกินลืมนอนได้ โดยไม่หาความสุขจากการบำรุงบำเรอร่างกายตัวเองเลย เขาอยู่กับงานที่เขาค้นคว้าได้ เพราะเขามีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้

คนที่สร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาอยากให้มันดี เขาก็อยากทำให้มันดี เมื่อเขาทำให้มันดี เขาก็ได้สนองความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นเขาจึงมีความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) คนสามารถมีความสุขจากการสนองความต้องการรู้ ด้วยการเรียนรู้ และสนองความต้องการในการใฝ่ดีหรือความใฝ่สร้างสรรค์ด้วยการกระทำ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้และการกระทำจึงเป็นความสุขได้ เรื่องนี้มีความหมายสำคัญในกระบวนการของการศึกษาทั้งหมด

ในกรณีของเด็ก ถ้าการศึกษาก้าวมาถึงขั้นนี้ จะปลอดภัยมาก เพราะว่าปัญหาของมนุษย์ก็คือ ในขั้นต้น เมื่อยังไม่มีการศึกษา เขาจะอยู่กับความสุขจากการเสพคือ เสพด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ตาได้ดูรูปที่สวยงามสบายตา หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะสบายหู ลิ้นได้ลิ้มรสอร่อยสบายลิ้น คนจะหาความสุขจากการเสพ หรือจากการบริโภค พูดง่ายๆ ว่า สุขจากเสพ ซึ่งมีความหมายว่า ต้องเจอสิ่งที่ชอบใจ เพราะสิ่งที่ชอบใจทำให้สบาย ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบใจก็คือ สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง ที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดจากไม่สบาย คือมันทำให้เราไม่สบาย เราจึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ เราก็ไม่สบาย มันย้อนกลับ ตอนแรกเจอสิ่งที่ไม่สบาย จึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่สบาย รวมความว่าความสุขความทุกข์ของมนุษย์ในระดับนี้ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ เขาจะหมุนเวียนอยู่ในวงจรที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” แห่งความสุขจากสิ่งที่ชอบใจ และทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ

แต่พอเริ่มมีความใฝ่รู้ เขาก็เริ่มมีความสุขจากการเรียนรู้เพื่อสนองความใฝ่รู้นั้น และที่สำคัญก็คือ ตอนนี้เกิดมีมิติใหม่ว่า การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะสิ่งชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ทั้งนั้น ฉะนั้นความสุขจากการเรียนรู้จึงไม่ขึ้นต่อความชอบใจหรือไม่ชอบใจ เพราะความสุขของเขาเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ

เมื่อคนพัฒนามากขึ้น เขาจะสามารถมีความสุขจากการเผชิญปัญหา ที่จริงปัญหาเป็นสิ่งที่น่าท้อใจ น่าจะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะปัญหาเป็นภาวะบีบคั้น ขัดข้อง เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้ว แต่คนที่พัฒนาตนเองสามารถมีความสุขจากปัญหา คือจากทุกข์นั่นเอง เขาสามารถหาความสุขจากความทุกข์ได้ เพราะเมื่อเขาพยายามแก้ปัญหา เขาได้คิด ได้ค้น ได้สนองความใฝ่รู้ เขาก็ยิ่งชอบใจ เขาจึงมีความสุขจากการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา ฉะนั้น เขาจึงพ้นจาก สังสารวัฏแห่งสุขทุกข์จากความชอบใจไม่ชอบใจ

เป็นอันว่า เมื่อบุคคลเริ่มมีการศึกษา เขาก็เริ่มใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็น ทั้งคนที่มีการศึกษาและคนไม่มีการศึกษาก็ใช้สิ่งเดียวกัน แต่ใช้เพื่อความมุ่งหมายคนละอย่าง คนไม่มีการศึกษาใช้อะไร คนที่มีการศึกษาก็ใช้อันนั้น และการศึกษาก็เริ่มที่นั่น คือ เริ่มที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

ก. เมื่อยังไม่มีการศึกษาก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อเสพสิ่งที่ชอบใจ เพื่อให้เกิดความสบาย ที่เรียกว่าสุขเวทนา ชีวิตของเขาอยู่ในระดับของการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเสพ และสุขทุกข์ของเขาก็อยู่ที่สิ่งชอบใจ และไม่ชอบใจ

ข. แต่พอเริ่มมีการศึกษาเขาก็เริ่มใช้ ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อการเรียนรู้ และเขาก็มีความสุขใหม่จากการเรียนรู้ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจหรือไม่ชอบใจ ประสบการณ์ทุกอย่างสามารถเป็นสิ่งเรียนรู้ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ความสุขจากทุกประสบการณ์

ตรงนี้เป็นความก้าวหน้าและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการศึกษา และคนก็เริ่มพัฒนา

พอถึงจุดนี้ คือพอเขาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น เราเรียกว่าคนเริ่มมีการศึกษา การศึกษาตั้งต้นที่นี่

เมื่อคนใฝ่เสพ งานคือทุกข์ เพราะต้องทำ
เมื่อคนใฝ่สร้างสรรค์ งานคือสุข เพราะสมใจที่ได้ทำ

อย่างที่บอกเมื่อกี้ ว่าการศึกษามีการก้าวต่อ มันไม่ได้หยุดแค่รู้ พอรู้แล้วความรู้นั้นทำให้เห็นว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร ก็ก้าวไปสู่ความใฝ่ดี ใฝ่ดีแล้วก็อยากทำให้มันดี อยากทำให้มันดีก็คืออยากสร้างสรรค์ พออยากทำแล้ว เมื่อได้ทำก็มีความสุขจากการกระทำนั้น ซึ่งตรงข้ามกับพวกที่ใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ พวกที่ใช้อินทรีย์เพื่อเสพนั้นความสุขเกิดจากการเสพสิ่งที่ชอบใจอย่างเดียว และทุกข์ก็เกิดจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วอะไรตามมาอีก

นอกจากสุขทุกข์ของเขาเกิดจากสิ่งชอบใจไม่ชอบใจแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือ ความสุขจากการเสพนี้ คือการที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้รับการบำเรอคือทำให้สบาย ความหมายที่แฝงอยู่ คือ จะได้สบายไม่ต้องทำอะไร ความสุขจากการเสพ คือ การที่ได้รับการบำรุงบำเรอให้สบาย ไม่ต้องทำอะไร แล้วผลที่ตามมาก็คือ การกระทำเป็นความฝืนใจจำใจ เป็นความทุกข์ พวกที่ไม่พัฒนาในการศึกษาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ เขาจะสุขต่อเมื่อได้รับการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขของเขาคือ การได้รับการบำเรอ ไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำคือความทุกข์ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จะทำอะไรก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข ว่าถ้าคุณไม่ทำแล้ว คุณจะไม่ได้สิ่งเสพ ใจเขาเองไม่อยากทำเลย แต่เขาต้องทำเพราะมันเป็นเงื่อนไขที่จะให้เขาได้สิ่งเสพ เพราะฉะนั้นการกระทำคือการฝืนใจและความทุกข์ เขาจึงทำด้วยความจำใจและด้วยความทุกข์ทรมาน

ส่วนคนที่มีการศึกษา พอพัฒนาตัวขึ้นมามีความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี เมื่อได้ทำ การกระทำนั้นก็สนองความต้องการของตัวเอง เขาจึงมีความสุขจากการกระทำ ความสุขชนิดใหม่ก็เกิดขึ้น คือ ความสุขจากการกระทำ นี่แหละคือความสุขชนิดที่เราต้องการในการศึกษา คือความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) ซึ่งเป็นทางแยกกันคนละทิศกับความสุขจากการเสพ หรือความสุขจากการไม่ต้องทำ ของผู้ยังไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเห็นว่า การศึกษามีความหมายในเชิงความสุขด้วย คือเมื่อคนยังไม่มีการศึกษาความสุขเกิดจากการเสพ แล้วสุขทุกข์ก็วนเวียนอยู่ที่สิ่งชอบใจไม่ชอบใจ พร้อมทั้งมีทุกข์จากการกระทำ แต่พอมีการศึกษา ก็มีความสุขจากการศึกษา คือจากการเรียนรู้ ต่อจากนั้นก็สุขจากการสนองความใฝ่ดี และทำให้มันดี คือ สุขจากการสร้างสรรค์

ฝ่ายหนึ่งใฝ่เสพก็หาความสุขจากสิ่งเสพ อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และใฝ่สร้างสรรค์ ก็มีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ถูกต้องจึงมาพร้อมด้วยความสุข และเมื่อกระบวนการของความสุขพัฒนาไป ก็เห็นได้ชัดเจนว่าจะเกิดคุณธรรมพ่วงมาด้วยในตัว

ปัญหาก็คือ เกิดความไม่สอดคล้องในกระบวนการ ถ้าคนยังใฝ่ปรารถนาสุขจากเสพ แล้วเขาต้องมาศึกษา และในกรณีที่การศึกษานั้นไม่ใช่เป็นการศึกษาที่เกิดจากชีวิตจิตใจ คือ ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการศึกษาโดยรูปแบบภายนอก เขาก็เล่าเรียนไปเพียงตามรูปแบบ จิตใจก็ไม่สอดคล้องกัน เขาก็ไม่มีความสุขจากการศึกษา และไม่มีความสุขจากการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น จึงเกิดความขัดแย้งตั้งแต่ภายในตัวบุคคล คือในจิตใจ พอออกไปสู่สังคมก็วุ่นวาย

เอาความจริงของธรรมชาติมาใช้
การพัฒนาคนก็อยู่ไม่ไกล

ขอย้อนกลับมา ได้พูดไปแล้วว่า การแสวงปัญญาของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการพัฒนากระบวนการของชีวิตทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา และในบรรดาคุณสมบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น องค์ประกอบสำคัญคือศรัทธา ได้แก่ความเชื่อมั่น ทั้งต่อสิ่งที่จะเข้าไปศึกษานั้น ในแง่ที่ว่ามันจะมีความจริงให้แก่เรา และมันจะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งดีงามที่ต้องการให้สำเร็จได้ แล้วก็เชื่อมั่นในความสามารถ หรือศักยภาพของตัวเองว่าจะเข้าถึงความจริง และสามารถทำให้มันดีได้ด้วย ต่อมาก็สืบลึกลงไปอีกว่า

นอกเหนือจากศรัทธา ก่อนนั้นจะต้องมีความใฝ่รู้ และใฝ่ดี ที่เรียกว่า ฉันทะ ฉันทะนี้แปลว่าใฝ่รู้ และใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดีขึ้น รวมเป็นฉันทะ ๓ ขั้น พร้อมทั้งมีความสุขพัฒนาขึ้นมาด้วยในทุกขั้น รวมเป็น ๔ ข้อ

๑. ใฝ่รู้ หมายถึง ใฝ่รู้ความจริง คือ ต้องการเข้าถึงความจริงให้ได้

๒. ใฝ่ดี หมายถึง อยากในภาวะที่ดีงาม ที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าตัวเราจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดีไปหมด และ

๓. ใฝ่ทำให้มันดี หรือ ใฝ่สร้างสรรค์ หมายถึงอยากทำทุกอย่างให้ดีให้สมบูรณ์ หรือให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น และ

๔. ความสุข ซึ่งจะเกิดตามมาเมื่อได้สนองความใฝ่คือความต้องการนั้นๆ ในทุกขั้นตอนตามธรรมดาของมันเอง เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ

ที่จริงนั้น ความใฝ่ดีนี้มีเชื้ออยู่แล้วในทุกคน แต่บางทีเราไม่ได้ใช้และไม่พัฒนามัน เหมือนอย่างเด็กทุกคน ก็มีมือ มีเท้า มีแขน มีขา มีหน้า มีตา เขามีมือเขาก็อยากให้มือของเขาสมบูรณ์ เป็นมือที่เรียบร้อย แข็งแรง มีเนื้อมีหนัง เอิบอิ่ม หน้าตาของเขา เขาก็อยากให้เอิบอิ่ม สมบูรณ์ น่าดู ให้มันดี ให้มันงาม เขามีความปรารถนาดี มีความรัก มีความใฝ่ อยากให้มันดี ถ้าเราพัฒนาให้ตรงจุดนี้ เวลาเด็กไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ขยายความใฝ่ดี หรืออยากให้มันดีนี้ออกไป เรามีมือ เราก็อยากมีมือที่แข็งแรง ที่ใช้งานได้ดี แข็งแรง สมบูรณ์ เอิบอิ่ม เมื่อไปเกี่ยวข้องกับถ้วยชาม ก็อยากให้ถ้วยชามมันดี อยากให้ถ้วยชามสะอาดเรียบร้อย ไปเจอแก้วน้ำ ก็อยากให้แก้วน้ำนั้นสมบูรณ์ ไม่เว้าไม่แหว่ง ไม่แตกร้าว ใสสะอาด ไปเจอที่นั่ง ไปเจอบริเวณบ้าน ก็อยากให้มันสะอาดเรียบร้อย ไปเจอต้นไม้ ก็อยากให้มันเจริญงอกงามเขียวขจี ไม่ว่าไปเจออะไรก็อยากให้มันสมบูรณ์ดี ตัวนี้แหละถ้าพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นความใฝ่ดี

ความใฝ่ดีอีกด้านหนึ่ง มาจากความใฝ่รู้อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า พอรู้ว่า ภาวะที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร ความใฝ่ดีก็ตามมา ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น และพอใฝ่ดีแล้ว ความใฝ่อยากทำให้มันดี คือ ใฝ่สร้างสรรค์ก็ตามมาด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่พัฒนาด้านนี้ เรากลับไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก เช่นกระตุ้นว่า เอาอันนี้สิสวย อันนั้นสิสวยกว่า อันนี้ดีอร่อยกว่า อย่างนี้ก็จบเลย เป็นการปิดกั้นฉันทะของเด็ก เด็กจะเขวออกจากการศึกษาไปอีกทางหนึ่งเลย ตรงนี้เป็นจุดแยก จึงบอกว่าการศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน พ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ถ้าพ่อแม่ไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก ไปกระตุ้น ไปหนุน ไปเร้าด้านนั้น เด็กก็ไม่พัฒนา แต่ถ้ากระตุ้นในทางใฝ่รู้และใฝ่ดี การศึกษาก็เริ่มต้น

สรุปในตอนนี้ว่า สิ่งที่เป็นจุดเริ่มและเป็นที่รองรับกระบวนการแสวงปัญญา ก็คือ ฉันทะ ที่แปลว่า ใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้คนพัฒนาความสุขชนิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ถ้าไม่มีฉันทะ ก็ขาดแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงามก็จะไม่ตามมา และขาดรุ่งอรุณของการศึกษา การศึกษาก็ไม่ตามมา เพราะฉันทะเป็นตัวเริ่มจุดไฟหรือเป็นต้นกระแส ถ้าศรัทธาเป็นไฟชนวน ฉันทะก็เป็นผู้จุดไฟชนวนนั้น เมื่อเกิดฉันทะ คือความอยาก หรือความปรารถนาอย่างที่ว่านี้มาแล้ว คนก็จะก้าวเข้าสู่การศึกษา และเดินหน้าไปในชีวิตที่ดีงาม

เมื่อการศึกษาถูกหลักสิกขา
ปัญญาก็พัฒนาคู่มากับคุณธรรม

ในการพัฒนาชีวิต โดยเฉพาะในการพัฒนาปัญญา ฉันทะนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐาน จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญ บางทีในความหมายของคนทั่วไปเราอาจจะไม่นึกว่าฉันทะเป็นคุณธรรม เพราะคุณธรรมในความหมายของคนไทย มักจำกัดแคบโดยมองแค่ความดีความชั่วที่สัมพันธ์กับการแสดงออกหรือปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ที่จริง คุณธรรม ก็คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นคุณแก่ชีวิต ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยดี เป็นคุณทั้งแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมและแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเราไปพูดกับบางคนว่าความใฝ่รู้เป็นคุณธรรม เขาอาจจะสงสัยหรือถึงกับปฏิเสธ แต่ที่จริงมันเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา . . . สพฺเพ ธมฺมา” (องฺ.ทสก.๒๔/๕๘; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖) ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล คือเป็นรากเหง้าหรือต้นตอหรือแหล่งที่มา ถ้าขาดฉันทะแล้วธรรมหรือคุณสมบัติอื่นๆ มาได้ยาก เพราะขาดราก

น่าแปลกใจว่า ในสังคมไทยนี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร คุณธรรมข้อนี้หายไป คนไทยแทบไม่รู้จักเลย แล้วยังแถมปฏิเสธความอยากเสียด้วย สังคมไทยที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธนี้ มีการพูดว่าเป็นพุทธแล้วอยากไม่ได้ ถ้าอยากแล้วไม่ถูกต้อง เข้าใจเอาว่าความอยากมีแต่ตัณหา ถ้าอยากแล้วแสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธหรือปฏิบัติผิด ต้องละ ต้องลด ต้องกำจัดความอยาก นี่สุดโต่ง

ความอยากนั้น พุทธศาสนาให้แยกเป็น ๒ คือ

๑. ความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ ได้แก่ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์

๒. ความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา ได้แก่ ใฝ่เสพ ใฝ่ได้ ใฝ่เอา

คนไม่ต้องมีการเรียนรู้ ไม่ต้องมีปัญญา ก็สามารถมีตัณหาได้ เพราะมันอยู่ที่ความรู้สึก รู้สึกสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ นี่คือเรื่องของตัณหา แต่ฉันทะจะเกิดก็ต่อเมื่อมีความรู้ เพราะมันพัฒนาร่วมกับปัญญา พอปัญญารู้ว่าอันนี้ดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ก็จึงอยากให้เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นกินอาหาร ก็มีการกินแบบสนองตัณหากับแบบสนองปัญญา หรือสนองตัณหากับสนองฉันทะ คนเราเมื่อยังไม่ได้เรียน ไม่มีการศึกษา ยังไม่รู้จักคิดและไม่ต้องใช้ปัญญา ก็รู้สึกได้ว่านี่อร่อยลิ้น แล้วก็กิน การสนองความต้องการแบบนี้เรียกว่าสนองตัณหา แต่พอเราเริ่มใช้ปัญญาพิจารณาว่าเรากินเพื่ออะไร พอถามว่ากินเพื่ออะไร โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้น

พอโยนิโสมนสิการเกิด ถามว่ากินเพื่ออะไร แล้วคิดพิจารณามองเห็นว่าที่จริงเราไม่ได้กินเพื่ออร่อยนะ เรากินเพื่อซ่อมแซมและบำรุงร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี พอมองเห็นว่าอันนี้ใช่แล้ว ความมุ่งหมายของการกินอยู่ที่นี่ นี่คือ การเรียนรู้เกิด พอความรู้เกิด ปัญญาเกิด ความอยากชนิดใหม่ก็เกิดตามมาด้วย แต่ก่อนนี้อยากกินแต่อาหารที่รู้สึกอร่อย ตอนนี้อยากกินอาหารที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่ทำให้มีสุขภาพดี และเจ้าฉันทะนี่ก็จะมาถ่วงดุลกับตัณหา

ฝ่ายตัณหาต้องการกินอาหารอร่อย แต่ฉันทะต้องการกินอาหารที่มีคุณค่า พอปัญญามากขึ้น ฉันทะแรงขึ้น ก็มาคุมตัณหาอยู่ ตัณหาก็ครอบงำเราไม่ได้เต็มที่

การกินอาหารตามอร่อยนั้นไม่มีขอบเขตเมื่ออร่อยก็กินเข้าไปๆ จนกระทั่งเป็นผลร้ายต่อร่างกาย ในขณะเฉพาะหน้า ก็อาหารไม่ย่อย อึดอัด ท้องแน่น อืดเฟ้อ ระยะยาวก็สุขภาพเสีย เป็นโรค และเมื่อกินอาหารโดยไม่พิจารณาคุณค่า เอาแต่อร่อยเข้าว่า อาหารมีคุณค่าเป็นประโยชน์ไม่กิน ไปกินแต่อาหารที่อร่อยแต่เป็นโทษ ก็เข้าลักษณะที่เรียกว่า กินไม่พอดีทั้งปริมาณและประเภทอาหาร ยิ่งกว่านั้น ยังอาจจะมุ่งเอาความโก้เก๋ กินของนอกของแพงตามค่านิยมอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ก่อขยะและมลภาวะมาก ทำลายธรรมชาติแวดล้อมอีกด้วย เรียกว่าเป็นการกินด้วยโมหะ

แต่พอมีปัญญาขึ้นมา รู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ ก็จำกัดปริมาณในการกินแค่ให้ร่างกายแข็งแรง แล้วก็เลือกประเภทอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ก็เกิดการกินพอดีขึ้นมา คือพอดีทั้งในแง่ปริมาณและประเภทของอาหาร การกินพอดีจึงเป็นการกินด้วยปัญญา คือรู้ว่า วัตถุประสงค์ของพฤติกรรมนั้นเพื่ออะไร พฤติกรรมการกินจึงถูกปรับให้พอดี หมายความว่าปัญญามาปรับพฤติกรรมในการกิน และฉันทะก็มาสนองปัญญานั้น คืออยากกินเพื่อสุขภาพ จะเห็นว่า ถ้าไม่มีปัญญามา ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ความอยากประเภทฉันทะนี้เป็นความอยากที่ต้องอาศัยปัญญาและสนองปัญญา

เป็นอันว่า เรามีตัณหาเป็นความอยากประเภทที่อาศัยอวิชชา คือความโง่เขลาไม่รู้ กับฉันทะซึ่งเป็นความอยากประเภทที่อาศัยปัญญา ยิ่งพัฒนาปัญญาไป ฉันทะก็พัฒนาไปด้วย แต่ก่อนเคยเห็นว่าสิ่งนี้ดี เราก็มีฉันทะในสิ่งนั้น แต่พอปัญญาพัฒนาต่อไป สิ่งที่เคยรู้ว่าดี ยังไม่ดีจริง ฉันทะก็พัฒนาเปลี่ยนไปตามนั้น

ขอวกกลับมาเรื่องนี้อีกทีว่า ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ฉันทะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ฉันทะเป็นมูลของกุศลธรรมทั้งปวง ก็คือ เป็นที่มาของปัญญาด้วย เมื่อเราพัฒนาฉันทะขึ้นมา ฉันทะยิ่งเกิดก็ยิ่งทำให้ชีวิตพัฒนาด้วย คุณสมบัติต่างๆ เช่นปัญญาก็ตามมาด้วย การทำงานสร้างสรรค์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ งานทางด้านเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง หรือด้านใดก็ตาม ก็จะดำเนินไปด้วยความจริงใจและอย่างจริงจัง ชนิดที่ถ้ายังไม่สำเร็จจะไม่ยอมหยุด ถ้ายังไม่ดีจะไม่ยอมเลิก โดยเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาบังคับควบคุม พร้อมกันนั้นความสุขก็ขยายกว้างออกไป เพราะเราได้เพิ่มมิติใหม่แห่งความสุข และเป็นความสุขที่เกื้อหนุนจริยธรรมด้วย

ขอย้ำว่า ชาวพุทธเราในเมืองไทยนี้คงต้องยอมรับว่าพลาด ที่เอาความอยากไปเป็นตัณหาหมด ก็เลยบอกว่าจะต้องละต้องลดความอยาก ทำให้ชาวพุทธไม่กล้าอยาก ความจริงพระพุทธเจ้าสอนให้อยากแบบฉันทะ ถ้าอยากแบบฉันทะนี้ ยิ่งอยากยิ่งดี

ขอแทรกนิดหนึ่ง มีความต่างระหว่างตัณหากับฉันทะอีกอย่างหนึ่ง คือในที่สุดทั้งอยากแบบตัณหาและอยากแบบฉันทะ เราจะต้องละด้วยกันทั้งคู่ ท่านว่า

๑. ตัณหา ละด้วยการทำให้หายไป คือ กำจัด ละ ลด หรือคุม หรือเบน หรือเปลี่ยนให้มันเป็นปัจจัยแก่คุณธรรมตัวอื่นไป แต่

๒. ฉันทะ ละด้วยการทำให้สำเร็จตามที่อยาก ท่านว่าอย่างนั้น แปลกไหม ละด้วยการทำให้สำเร็จ หมายความว่า พอเราทำให้สำเร็จตามอยากแล้ว เราก็ละความอยากหมดไปด้วย เพราะบรรลุจุดหมายของมันแล้ว คือ ฉันทะนั้นละด้วยการทำให้บรรลุผลของมัน พอบรรลุผลของมันแล้ว มันก็หมดหน้าที่ไป

เพราะฉะนั้นจำไว้ พอเรามีฉันทะแล้ว เอาเลย ละด้วยการทำให้สำเร็จตามนั้น นี้เป็นเรื่องที่ท่านแยกไว้เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะ

เมื่อฉันทะและศรัทธาในใจทำให้คนมีชีวิตชีวา
สังคมก็มีบรรยากาศทางวิชาการ และงานทุกอย่างก็มีผลเลิศ

เมื่อมีฉันทะแล้ว ชีวิตชีวาก็มาทันที จิตใจจะมีกำลังสดชื่น ยิ่งถ้าศรัทธาตามมาด้วย การใฝ่แสวงปัญญาก็มีชีวิตชีวาเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีฉันทะ และไม่มีศรัทธา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ปฏิบัติการในการแสวงหาความรู้ที่เรียกว่าวิชาการจะแห้งแล้ง ได้สักแต่ว่ารูปแบบ ทำไปพอได้เกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ เป็นเหมือนต้นไม้พลาสติก หรือต้นไม้เทียม บรรยากาศทางวิชาการที่แท้จริงก็ไม่มี เพราะมันไม่มีชีวิตชีวา

บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญที่มาหนุน บรรยากาศทางวิชาการแท้จริงจะมีได้ก็ต่อเมื่อคนมีฉันทะ เพราะฉันทะจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นสุขในตัวคน และความมีชีวิตชีวาในสังคม แต่ถ้าไม่มีฉันทะ กำลังเรี่ยวแรงความมีชีวิตชีวาก็ไม่มี บรรยากาศทางวิชาการที่แท้ก็ไม่มี และตัวคนเองก็ไม่มีความสุข ได้แต่แสวงหาความรู้และทำงานวิชาการไปอย่างฝืนจิตจำใจ ต่อไปอาจจะเกิดความรู้สึกแปลกแยก และมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง

อีกด้านหนึ่ง ถ้าคนไม่มีความสุขในทางวิชาการ เขาก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของความใฝ่เสพ แล้วก็เกิดความขัดแย้งในตัวเอง แทนที่ใจจะมุ่งไปที่ความสำเร็จในการแสวงปัญญา เขาก็จะต้องคิดถึงความสุขที่จะได้มาด้วยการไปหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตน หรือหาผลประโยชน์ต่างๆ จึงไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เมื่อไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ก็เสียทั้งตัวเองเสียทั้งวิชาการ ซึ่งจะไม่บรรลุผลที่แท้จริง พร้อมกันนั้นความสัมพันธ์กับศิษย์และผู้ร่วมงาน ก็เสียหมด

อาจารย์ที่จะมาให้การศึกษาแก่ลูกศิษย์ ก็คือจะมาทำงานพัฒนาคน หรือมาช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขา เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็จะต้องมีความใฝ่ดีต่อศิษย์ คือ อยากให้ชีวิตของเขาเป็นอย่างนั้นๆ ที่จะบรรลุจุดหมายที่ดีงาม ที่สมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าฉันทะที่ใฝ่ดีต่อชีวิตของลูกศิษย์ เพื่อความดีงามความสมบูรณ์ที่เป็นวัตถุประสงค์นั้นไม่มี ความสนใจใฝ่ใจก็ไปอยู่ที่เรื่องของตัวเอง ก็ทำงานสอนอย่างไม่มีความสุข ความสัมพันธ์กับศิษย์ที่จะดี ก็เป็นไปได้ยาก บรรยากาศก็จะเสียโดยทั่วไป แล้วก็ไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการที่แท้จริง ครูอาจารย์ก็จะทำงานทางวิชาการเพียงแค่ให้ได้ตามกฎเกณฑ์ กติกา รูปแบบ

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีฉันทะตัวนี้ ที่ใฝ่รู้ความจริงและใฝ่ทำให้มันดีอย่างแรงกล้า ถึงขนาดที่ว่า ถ้ายังไม่ถึงความจริงหรือยังหาทางทำให้มันดีไม่ได้ จะไม่ยอมหยุด หรือถ้าเป็นการทำหน้าที่ในการสั่งสอนก็ต้องใฝ่ดีที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของลูกศิษย์ว่า ถ้าลูกศิษย์ยังไม่รู้จริงและยังไม่เป็นคนดี ฉันก็หยุดไม่ได้ นี่คือฉันทะของมนุษย์ผู้ประเสริฐเช่นพระโพธิสัตว์ ที่ถือว่า เมื่อเห็นเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว ก็จะต้องเพียรไปให้ถึงความจริงและความดีงามสมบูรณ์จนสุดชีวิต ผู้ที่ทำงานศึกษาค้นคว้าวิจัยจะต้องมีฉันทะถึงขั้นนี้

ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ จะต้องมี “ฉันทะ” เป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่ง และฉันทะนั้นจะต้องยิ่งใหญ่ เป็นความใฝ่ปรารถนาที่มีพลังแรงยิ่ง จึงจะบำเพ็ญบารมีจนปัญญาพัฒนาเป็นโพธิญาณได้สำเร็จ (เช่น สุตฺต.อ.๑/๔๖; จริยา.อ.๓๒๙)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงมีฉันทะที่แรงเข้ม ดังที่ท่านใช้คำว่า “ไม่มีความลดถอยแห่งฉันทะ” ซึ่งเป็นพระคุณสมบัติข้อที่ ๑๐ ใน “พุทธธรรม ๑๘ ประการ” (ที.อ.๓/๑๘๘)

ขอย้ำว่าไม่ใช่แค่รู้ แต่รู้เพื่อมาทำให้มันดี เราต้องการทำชีวิตให้ดีงาม ต้องการทำให้สังคมดีงาม ฉันจะต้องทำให้มันดีให้ได้

ในการที่จะทำให้มันดีให้ได้นั้น ก็ต้องรู้วิธีที่จะทำให้มันดี จึงต้องแสวงหาความรู้และคิดจัดสรรทุกอย่างที่จะมาทำให้มันดี ความใฝ่ดีจึงนำไปสู่การแสวงปัญญาและปฏิบัติการในทางวิชาการทุกอย่าง ชนิดที่จริงจังและมีชีวิตชีวาตามกระบวนการของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ฉันทะจึงเป็นฐานของกระบวนการทั้งหมด ทั้งอยากรู้ความจริง ชนิดที่ต้องให้ถึงความจริงให้ได้ ทั้งอยากทำให้มันดี ชนิดที่ต้องหาทางทำให้มันดีให้ได้

วิชาการทั้งหลายมีจุดหมายอยู่ที่ ๒ อย่างนี้ คือ

๑. รู้ความจริง

๒. หาทางทำให้มันดี

เมื่อมีฉันทะก็ได้ทั้งคู่ ขอให้สังเกตว่า ตัวความหมายที่แท้ของฉันทะอยู่ในขั้นทำ เพราะ ฉันทะ ได้แก่ “กัตตุกัมยตา” (“กัตตุ” = ทำ “กัมยตา” = ความปรารถนา หรือใคร่) แปลว่า ความปรารถนาที่จะทำ หมายถึงอยากทำให้มันดี ก็คือ ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มีความสุขจากการกระทำนั้นด้วย

เมื่อฉันทะนี้มาแล้วไม่ต้องกลัว อย่าว่าแต่เป็นอาจารย์เลย แม้แต่เป็นคนงาน ถ้ามีฉันทะแล้วไม่ต้องไปคุม นอกจากดูแลในเรื่องวิธีปฏิบัติตามระบบ แต่ไม่ต้องคุมตัวคน เพราะแรงข้างในตัวคนนั้นแหละจะไขและคุมตัวเขาเอง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร เขาก็อยากทำให้มันดีไปหมด จะไปทำท่อน้ำ จะตอกตาปู จะขันนอต ก็อยากทำให้มันดี ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ยอมหยุด ลองคิดดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นฉันทะนี้จะต้องสร้างขึ้นในตัวคนให้ได้ เมื่อสร้างฉันทะได้ ก็คือสร้างคนสำเร็จ แล้วคนนั้นก็จะไปสร้างทุกอย่างให้ดีทั้งหมด

เป็นอันว่า เราได้พูดถึงฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนา ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม คือความอยากที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศล ที่เรียกว่าฉันทะนี้ พอได้ฉันทะมา ความเป็นเลิศทางวิชาการก็เกิดเอง เพราะเราต้องการรู้ความจริงและทำให้มันดีให้ได้ ถ้ายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ดีที่สุด จะไม่ยอมหยุด แล้วจะไม่เป็นเลิศได้อย่างไร เพราะความเป็นเลิศคือจุดหมายที่อยู่ในตัวอยู่แล้ว และการบรรลุจุดหมายของฉันทะนั้นแหละคือความเป็นเลิศ

จะเอาดีแค่ตามฝรั่ง หรือจะรู้จักฝรั่งทั้งส่วนที่ร้ายและที่ดี

ฝรั่งที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ก็เพราะเขามีฉันทะ แต่ฉันทะของเขานั้นโดยพื้นฐานเกิดขึ้นจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม คือแรงบีบคั้นในธรรมชาติ และประวัติศาสตร์แห่งความบีบคั้นทางสังคม ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางปัญญาและคุณธรรมภายในโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงยุคนี้ พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ฝรั่งจึงเริ่มเสื่อมจากฉันทะ แล้วกำลังจะกลายมาเป็นนักเสพบริโภค สังคมฝรั่งกำลังโอดครวญกันอย่างหนักว่า คนรุ่นใหม่ของเขาอ่อนแอลง สำรวย หยิบโหย่ง ใจเสาะ เปราะบาง เพราะเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภคนิยม เสื่อมจาก work ethic จริยธรรมในการทำงานกำลังจะหายไป สังคมโทรมทรุดลง

ในเมืองไทยเรานี้ คนจำนวนมากชื่นชมความเจริญก้าวหน้าของสังคมตะวันตก แล้วอยากให้คนไทยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง ความปรารถนานี้เป็นเหตุให้คนไทยไม่น้อยนิยมทำตามวิถีชีวิตของชาวตะวันตก และบางทีก็จะเอาอย่างลักษณะนิสัยจิตใจของชาวตะวันตกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในบางช่วงของยุคสมัยมีบางท่านพูดและเขียนแนะนำตลอดจนกระตุ้นเร้าส่งเสริมให้คนไทยมีคุณสมบัติที่คำฝรั่งเรียกว่า “ambition” ซึ่งมักแปลกันเป็นภาษาไทยว่า “ความทะเยอทะยาน” โดยเข้าใจว่าคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ฝรั่งสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ

ที่จริง ambition ซึ่งจะแปลว่า ความทะเยอทะยาน ความใฝ่ฝัน ความใฝ่สูง หรืออะไรก็ตาม เป็นตัวอย่างของคุณสมบัติที่เราควรจะศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจฝรั่ง และเหตุปัจจัยแห่งความเด่นและความด้อยของเขา มากกว่าจะไปเอามาตามอย่าง อย่างน้อยขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ambition” ที่นิยมแปลว่า ความทะเยอทะยานนั้นไว้ว่า

๑. ความทะเยอทะยาน หรือ ambition นี้เป็นตัวอย่างของความมีพลังทางจิตใจโดยขาดความชัดเจนทางปัญญา คือเป็นความอยากที่ไม่แบ่งแยกออกไปให้ชัดระหว่างอยากในทางดีหรืออยากในทางร้าย พูดง่ายๆ ว่า อาจจะเป็นความอยากแบบตัณหาก็ได้ หรือเป็นความอยากแบบฉันทะก็ได้ เป็นคำที่กำกวมหรือก้ำกึ่ง ดังจะเห็นว่า พจนานุกรมต่างๆ ของฝรั่งให้ความหมายของคำนี้ชนิดที่เป็นไปได้ทั้ง ๒ ทาง คือ อาจจะเป็นความอยากได้ทรัพย์ สถานะ และอำนาจ ก็ได้ เป็นความอยากทำการสร้างสรรค์บางอย่างให้สำเร็จ ก็ได้

ความใฝ่ฝันของฮิตเลอร์ที่จะล้างแค้นชาวยิวเป็นต้นและสถาปนาอาณาจักรไรค์ที่ ๓ อันยิ่งใหญ่ด้วยมหาสงคราม ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาของพระเจ้าอโศกที่จะเผยแพร่ธรรมออกไปด้วยสันติวิธีให้ชาวโลกรู้ความจริงความดีงามและอยู่กันอย่างสันติสุข ฝรั่งก็เรียกว่า ambition ความใฝ่ฝันของนโปเลียนที่จะครอบครองยุโรปทั้งหมด ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเมธีชนทั้งหลายที่จะใช้วิธีการทางปัญญาจัดวางระบบที่ชอบธรรมเป็นธรรมขึ้นในการดำเนินกิจการของมวลมนุษย์ ก็เรียกว่า ambition คนผู้หนึ่งมีความใฝ่ฝันอยู่อย่างเดียวที่จะให้ตนได้เป็นเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของประเทศหรือของโลก ก็เรียกว่า มี ambition อีกคนหนึ่งมีความมุ่งมั่นจะสร้างสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพเป็นแบบอย่างขึ้นให้ได้ ความปรารถนาของเขาก็เรียกว่า ambition

จริงอยู่ ฝรั่งก็ปฏิเสธหรือประณามความทะเยอทะยานฝันใฝ่ในทางร้ายที่ก่อผลเป็นภัยรุนแรง แต่นั่นเป็นการแยกได้เพียงขั้นหยาบๆ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมสามัญ หรือไม่ก็เป็นการแยกโดยระดับความรุนแรงหรือดูที่ผล ไม่ใช่เป็นการแบ่งจำแนกโดยประเภทตามธรรมชาติของความอยาก พูดง่ายๆ ว่าฝรั่งมองความอยากปนเปกันไปหมด แยกไม่ได้ระหว่างความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา กับความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ

๒. แนวคิดทางการศึกษาและจิตวิทยาของฝรั่ง มอง ambition ที่แปลว่า ความทะเยอทะยานนี้ ว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีควรส่งเสริม เป็นแรงขับที่นำไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่าฝรั่งมองปนเป แยกไม่ออกระหว่างฉันทะกับตัณหา อารยธรรมตะวันตกจึงได้รับผลที่ปะปนกันไปของความอยากทั้งสองประเภทนั้น ตนเองก็ประสบผลทั้งในด้านความเจริญก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และในด้านปัญหาต่างๆ ทั้งทางชีวิตจิตใจทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มพูนขึ้นจนในปัจจุบันได้สงสัยกันว่าจะคุ้มกับความเจริญที่ได้สร้างขึ้นมาหรือไม่ และยังนำเอาภัยพิบัตินั้นไปหยิบยื่นให้หรือแผ่ขยายไปให้แก่โลกส่วนอื่น เริ่มแต่ลัทธิอาณานิคม จนถึงปัญหาชนิดที่เป็นโลกาภิวัตน์ คือทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน

ในขณะที่ฝรั่งมองความอยากปนเปกันไป ทั้งฉันทะ และตัณหา แล้วส่งเสริมทั้งสองอย่าง คนไทยก็มองความอยากปนเปกันไปทั้งสองอย่างเช่นเดียวกัน แต่เข้าใจไปว่าการปฏิบัติที่ถูก คือ ต้องลดละหรือกำจัดความอยากให้หมด ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะกดระงับ ดับความอยากให้สิ้นทั้งสองอย่าง ฝรั่งกับไทยก็เลยไปสุดคนละทาง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงไม่ใช่อยู่แค่นั้น เพราะเหตุที่การระงับความอยากทั้งหมดเป็นภาวะที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติของปุถุชน ในสังคมไทยก็เกิดมีการหาทางออกโดยมาแบ่งแยกวิถีชีวิตเป็น ๒ แบบ คือ เป็นทางโลก กับ ทางธรรม แล้วก็ถือว่า ใครอยู่ทางธรรมก็ให้ลดละกำจัดความอยากทั้งหมด (เท่ากับหมดไปด้วยกันทั้งฉันทะและตัณหา) ส่วนผู้ใดอยู่ทางโลกก็ไม่ต้องลดละความอยากนั้น บางทีก็สนับสนุนส่งเสริมความอยากนั้นด้วย แต่ความอยากทางโลกที่เข้าใจและส่งเสริมนี้มุ่งไปที่ตัณหาอย่างเดียว

ยิ่งกว่านั้น คนไทยบางท่าน เมื่อชื่นชมความเจริญของฝรั่ง แต่เพราะความที่มองไม่ชัด ก็ไปจับเอามาเฉพาะความอยากแบบตัณหาของเขา ส่วนความอยากแบบฉันทะที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สร้างสรรค์ความเจริญของเขา กลับมองข้ามไปเสีย เลยมาส่งเสริมกระตุ้นเร้าคนไทยให้อยากแบบตัณหาให้มากๆ

ถ้าจะพูดให้เห็นเป็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่าง เช่น วัฒนธรรมตะวันตกหนุนฝรั่งให้เป็นทั้ง acquisitive (มักได้ หรือใฝ่เอา) และ inquisitive (ชอบสอบถามหาความรู้ หรือใฝ่รู้) ไทยไม่เอาทั้ง acquisitive และ inquisitive แต่ต่อมาเมื่อจะเอาอย่างฝรั่ง ก็หนุนคนให้ acquisitive (ใฝ่เอา) แต่ไม่ได้ใส่ใจหนุนกันให้ inquisitive (ใฝ่รู้หรือให้มี spirit of inquiry)4

ไปๆ มาๆ ในสังคมไทย ท่าทีต่อความอยากนอกจากสับสนพร่ามัวครึ่งๆ กลางๆ แล้ว ความอยากฝ่ายฉันทะกลับถูกกดหายไป เหลือแต่ความอยากแบบตัณหาอย่างเดียวที่มีบทบาทโดดเด่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผลต่อชีวิตและสังคมจะเป็นอย่างไร ก็ไม่จำเป็นจะต้องบรรยาย

๓. ที่จริงนั้น จะมองแค่ ambition หรือความทะเยอทะยานฝันใฝ่เท่านั้นไม่พอ ลึกลงไป สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ambition ก็คือ แนวคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด เป็นพลังหล่อเลี้ยง เป็นเครื่องกำหนดลักษณะรูปแบบและทิศทางของ ambition ในสังคมหรือหมู่ชนนั้นอีกต่อหนึ่ง ยกตัวอย่าง ในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยุคกำเนิดวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา the idea of (inevitable) progress คือ คติแห่งความก้าวหน้า (ที่มิอาจหลีกเลี่ยง) ได้เป็นพลังหลักที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ambition ของชาวตะวันตก มองแคบเข้าไปอีก โดยเฉพาะในอเมริกา the myth of frontier คือคติแห่งการบุกฝ่าพรมแดน ได้เป็นพลังฝังใจที่สร้างเป้าหมายให้แก่ ambition แล้วยังมี American dream คือฝันอเมริกัน ซึ่งกำหนดรูปลักษณ์แห่งความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน ดังนี้เป็นต้น

ถ้าจะเอาประโยชน์จากฝรั่งมาใช้ก็ควรจะศึกษาเหตุปัจจัยในวัฒนธรรมของเขาให้ชัดเจน จะได้เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ไม่ใช่ผลีผลามจับเอามา อย่างน้อยก็แยกเอามาใช้เฉพาะ ambition ฝ่ายกุศลที่เป็นฉันทะ ซึ่งเราเองมีแหล่งแห่งหลักการสร้างสรรค์ที่ชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ พร้อมกันนี้ก็ต้องพูดยืนยันสำทับไว้ว่า บรรยากาศแห่งวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาการจะเกิดขึ้นได้ด้วยฉันทะเท่านั้น จะไม่อาจเกิดขึ้นด้วยตัณหาได้เลยอย่างแน่นอน

เมื่อขาดฉันทะ นอกจากสร้างสรรค์ไม่ได้
ตัณหาก็จะเข้ามาทำลายและก่อปัญหา

ถ้าขาดฉันทะ หรือถ้ามีแต่ความใฝ่เสพ เป็นนักบริโภค นอกจากไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ประโยชน์ที่ต้องการสร้างสรรค์แก่สังคม และแก่ชีวิตที่แท้จริง ก็ไม่สำเร็จ การที่จะนำเอาวิชาการมาช่วยเป็นส่วนสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาสังคม ก็เลยไม่ค่อยได้ผล ความได้ผลก็สูญเสียไป และต่อไปก็สิ้นเปลืองทั้งทรัพย์สินเงินทอง และสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ถึงแม้จะมีทรัพยากรคนมาก แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เงินทองก็ต้องใช้มากโดยใช่เหตุ ทั้งจ้างคนทำ ทั้งจ้างคนคุม ถมเข้าไปๆ ก็ละลายหายหมด

ทำไมจึงว่าสิ้นเปลืองมาก แต่ไม่ได้ผล ก็เพราะว่าเมื่อขาดฉันทะ คนที่ทำงานด้วยตัณหา ก็คือทำงานเพื่อผลตอบแทน เมื่อเป้าหมายอยู่ที่ผลตอบแทน เขาก็ต้องหาทางให้ได้ผลตอบแทนให้มากที่สุด และไม่คำนึงถึงผลดีต่อชีวิตและสังคม

ตรงข้ามกับคนที่มีฉันทะซึ่งไม่ต้องใช้จ่ายสิ้นเปลือง เพราะใช้เงินเพื่องานแท้ๆ ตัวเองไม่มีมูลค่าราคาที่จะเอามาแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้ได้สนองความใฝ่รู้ความจริงและใฝ่สร้างสรรค์นี้ให้สำเร็จ ก็บอกแล้วนี่ว่าแม้แต่สละชีวิตก็ยอมได้ คนขนาดยอมสละชีวิตได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลัว มันไม่เอาอะไรแล้ว เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์จึงไม่เห็นแก่เรื่องสิ่งเสพบำรุงบำเรอ หรือเรื่องวัตถุอะไรทั้งนั้น ใจมุ่งอยู่แต่ว่า ทำอย่างไรจะรู้อันนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีฉันทะตัวนี้ก็เป็นอันว่าวิชาการต่างๆ จะไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่จะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาในกระบวนการอย่างมากมาย และคุณธรรมต่างๆ ก็ไม่มา แต่จะมีความเสียหายต่างๆ มาแทน

ถ้าเป็นไปตามแนวทางของฉันทะ คุณธรรมจะเรียกร้องตัวของมันขึ้นมาเอง พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาปัญญา เพราะเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ

ในที่สุด เมื่อคนขาดฉันทะ แม้จะอยู่ในยุคไอทีที่แสนจะเจริญ มีข่าวสารข้อมูลแพร่หลายทั่วถึงจนท่วมท้น เป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญา แต่คนก็ไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าของข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น แทนที่ข่าวสารข้อมูลที่มากมายจะช่วยให้เกิดปัญญา ก็กลับกลายเป็นเครื่องเพิ่มโมหะและกระตุ้นเร้าอกุศลอื่นๆ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อมากกว่าได้ประโยชน์ อาจจะตกเป็นทาส หรือก่อทุกข์ภัยขึ้นจากไอที เช่น ผู้ผลิตและผู้แพร่มุ่งในแง่หาผลประโยชน์สนองโลภะ ผู้บริโภคก็มุ่งหาแต่สิ่งบันเทิงเริงรมย์สนองความใฝ่เสพและค่านิยมที่เป็นโมหะ ทั้งสองฝ่ายเหมือนดังสมคบกันใช้ไอทีทำลายชีวิตและสังคมของตน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการสัมพันธ์กับสื่อมวลชนด้านข่าว ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ “เสพข่าว” (ดูฟังอ่านข่าวเพื่อสนองความอยากตื่นเต้น เพื่อเอามาพูดจาเล่าขานสนุกปากกันไป) มากกว่าจะเป็นผู้ “ศึกษาข่าว” (ดูฟังอ่านข่าว เพื่อหาความรู้ หาความจริง เพื่อรู้เข้าใจสถานการณ์และเพื่อคิดแก้ไขจัดการ) และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวข่าวสารแบบ “วิจารณ์ทิ้ง” (วิจารณ์เพื่อเสพรสอร่อยในการถกเถียงแล้วก็ผ่านไป) ไม่เป็นการ “วิจารณ์เพื่อทำ” (วิจารณ์เพื่อสนองฉันทะที่จะหาทางทำการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง)

สภาพทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่ประชาชนส่วนมากเป็นเพียงผู้เสพข่าวสารข้อมูล ไม่เป็นผู้ศึกษาข่าวสารข้อมูล มักไหลไปตามกระแสข่าวสารข้อมูล และตกอยู่ใต้อิทธิพลของสื่อมวลชนที่จะนำกระแสนั้นไป แต่ในขณะเดียวกันนั้นสื่อมวลชนก็มักยอมตัวปล่อยตนให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมวลชนที่เสพข่าว คือผลิตหรือนำเสนอข่าวสารข้อมูลเพียงเพื่อเสริมสนองความต้องการของมวลชนในการเสพข่าว ไม่ก้าวขึ้นไปสู่อุดมคติในทางสร้างสรรค์ที่สูงกว่านั้น โดยนัยนี้ ทั้งมวลชนผู้เสพข่าวสารข้อมูล และสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าวสารข้อมูล ก็มาเป็นปัจจัยเสริมแก่กันและกัน ในการสร้างวงจรในทางเสื่อมลงแห่งคุณภาพชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนคุณภาพดียังมีน้อย และสื่อมวลชนจำนวนมากยังเป็นสิ่งแวดล้อมในทางลบ จึงจะต้องเอาจริงเอาจังในการพัฒนาคนให้มีฉันทะและประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัยและสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงจากไอทีของยุคนี้ คือสร้างคนที่สามารถสรรหาสาระและสร้างสรรค์ประโยชน์ได้แม้แต่จากข่าวสารข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ

ที่พูดมาในตอนนี้เป็นการเน้นเรื่องฉันทะ คือความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำให้มันดี หรือใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์

จากฉันทะต่อทุกสิ่ง สู่เมตตากรุณาต่อทุกคน

ทีนี้หันมาพูดถึงครู อาจารย์ และวงการการศึกษา เรื่องไม่จบเท่านี้ ไม่จบแค่ฉันทะ และไม่จบแค่ศรัทธา ในวงวิชาการยังมีอะไรอีก

ในวงการการศึกษาและในวงการทางวิชาการ เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้และความจริงในกฎธรรมชาติอย่างนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น และเราก็มิใช่เพียงจะมาสร้างสรรค์วัตถุให้มันดีเท่านั้น แต่เรายังมีองค์ประกอบที่ต้องเกี่ยวข้องมากกว่านั้นอีก คือ เราต้องเกี่ยวข้องกับคน คือให้การศึกษาแก่มนุษย์ ที่ว่าเราต้องการให้ชีวิตของเขาดีงาม

ชีวิตของคนที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น ถ้ามองในสายตาของคนที่สมบูรณ์แล้ว ก็เห็นว่าเขายังบกพร่องคือยังทุกข์อยู่ เมื่อเห็นคนอื่นมีทุกข์อยู่ คุณธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้มองเห็นก็คือ กรุณา ซึ่งสืบเนื่องมาจากเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดีต่อชีวิตของผู้อื่น

ที่จริงก็ฉันทะนี่แหละ พอมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เข้า มันก็เปลี่ยนชื่อไป ฉันทะ แปลว่า อยากให้มันดี พอไปเจอเพื่อนมนุษย์ ความอยากให้มันดีไปแสดงออกที่คน ก็กลายเป็นอยากให้คนนั้นเขาดี เช่น อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีงาม เป็นคนดี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุข เอิบอิ่ม ฉันทะที่ว่าใฝ่ดี คือ ปรารถนาดี เมื่อมาแสดงต่อมนุษย์ก็กลายเป็นเมตตา ฉะนั้นเวลาท่านอธิบายเมตตา ท่านจะโยงไปหาฉันทะ เพราะโดยพื้นฐานที่แท้ฉันทะเป็นจุดเริ่มของเมตตา (เช่น วิสุทฺธิ.๒/๑๒๕; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖)

ขอให้จับจุดนี้ให้ได้ จับที่รากเหง้าต้นตอเลย ฉันทะนี่เอง อยากให้มันดี ไปเกี่ยวข้องกับวัตถุ ก็เรียกฉันทะ พอมาเกี่ยวข้องกับคน ก็เปลี่ยนศัพท์ใหม่ เรียกว่าเมตตา คือปรารถนาดีหรือใฝ่ดีต่อเพื่อนมนุษย์

เป็นอันว่า ครูอาจารย์ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ตัวความรู้ และไม่ได้เกี่ยวข้องแค่วัตถุสิ่งของ แต่เรามาเกี่ยวข้องกับคน ก็เลยต้องขยับมาสู่คุณธรรมที่เรียกว่าเมตตา

เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็อยากให้เขามีความสุข เรียกว่า เมตตา ต่อจากนั้นเมื่อเขามีปัญหา มีความทุกข์ เราก็อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากปัญหานั้น เมตตาก็เปลี่ยนไปเป็นกรุณา เมตตาใช้ในภาวะปกติ ส่วนกรุณาใช้ในภาวะที่คนนั้นตกต่ำ เดือดร้อน

ทีนี้สำหรับผู้ที่มองในแง่ของภาวะที่เลิศสูงสุดหรือสมบูรณ์ ก็จะมองคนทั่วไปว่ายังไม่สมบูรณ์ เมื่อมองเห็นว่าไม่สมบูรณ์ กรุณาก็จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา เช่นในการปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนนั้น เราจะเห็นว่าคุณธรรมหรือพระคุณของพระพุทธเจ้าข้อนี้คือมหากรุณา เราไม่เรียกว่ามหาเมตตา เพราะเอาความสมบูรณ์เป็นมาตรฐาน หรือเป็นตัวตั้ง คือมองที่จุดสมบูรณ์ว่า มนุษย์ทั้งหลายยังไม่สมบูรณ์ เมื่อยังไม่สมบูรณ์ ท่าทีของจิตใจต่อคนที่ยังบกพร่องก็คือ กรุณา เพราะฉะนั้นพระคุณที่สำคัญในการช่วยเหลือมนุษย์ คือ จะพัฒนาเขาให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ขึ้นไปสู่ความดีงามสมบูรณ์ จึงเรียกว่ากรุณา

ครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ในใจ อยากให้ชีวิตของผู้เรียนผู้ศึกษาพ้นจากความบกพร่อง พ้นจากปัญหา ขึ้นไปสู่ความดีงาม จนมีความสมบูรณ์ คุณธรรมที่เกิดในใจนี้ก็คือกรุณา เมื่อมีกรุณา ก็คือฉันทะมาแล้ว และจะทำให้การปฏิบัติงานของครูอาจารย์ได้ผลเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ที่สอน หรือเป็นครูอาจารย์ที่บริหารก็ตาม เมื่อกรุณามาแล้ว ฉันทะทำหน้าที่ ก็ต้องพยายามทำเด็กให้ดีให้ได้ ถ้าเด็กยังไม่ดีก็จะไม่ยอมหยุด ถ้าเด็กยังไม่หมดปัญหาก็จะไม่ยอมหยุด ถ้ามีคุณธรรมนี้อยู่เป็นแรงในใจ การศึกษาก็ต้องพัฒนา เดินหน้าแน่นอน เพราะฉะนั้นครูอาจารย์จึงไม่ใช่อยู่แค่วิชาการ แต่โยงเอาวิชาการมาสู่คนอีกขั้นหนึ่งด้วย คือทำให้วิชาการเกิดผลเชิงปฏิบัติการในชีวิตของคน โดยฉันทะโยงความรักวิชาการมาสู่การสอนคนด้วยกรุณา

ตอนนี้ก็ได้พูดมาแล้วหลายเรื่อง

๑. เรื่องการพัฒนาปัญญาในกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เป็นระบบปัจจัยสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

๒. เรื่องปัญญาที่อาศัยศรัทธา เพื่อจะจับจุดให้ บอกทิศทางให้ และเพิ่มกำลังให้

๓. เรื่องที่ว่าการพัฒนาปัญญาต้องอาศัยจุดเริ่มหรือรากฐาน คือ ฉันทะ ได้แก่ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดี พูดง่ายๆ ว่า ใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์ และ

๔. เรื่องการพัฒนาความสุข ที่พ่วงมาด้วยในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น

ทุกข์นั้นเพื่อรู้ทัน จะได้จัดการถูกที่
สุขนี้เพื่อให้มีสภาพคล่องในการสร้างสรรค์

ขอเน้นว่า เรื่องความสุขนี้สำคัญมาก ถ้าความสุขไม่มา การพัฒนามนุษย์จะสำเร็จยาก พุทธศาสนาเน้นเรื่องความสุขมาก ฝรั่งเข้าใจผิด แม้แต่คนไทยไม่น้อยก็หลงนึกว่าพระพุทธศาสนาทำไมสอนแต่เรื่องทุกข์ นี่คือจับไม่ถูก

พุทธศาสนาสอนอะไรจะต้องมีข้อปฏิบัติต่อสิ่งนั้น อย่างอริยสัจ ก็มีหน้าที่ต่ออริยสัจ ทุกข้อ คือต้องมีหน้าที่ต่อทุกข์ หน้าที่ต่อสมุทัย หน้าที่ต่อนิโรธ หน้าที่ต่อมรรค

หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร คือ ปริญญา เดี๋ยวนี้เราเอาปริญญามาพูดกันถึงปริญญาเอก ที่จริงนั้น ปริญญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกข์ ปริญญาสำหรับรู้เท่าทันทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้ทุกข์ คือรู้เท่าทันมัน พูดได้สั้นๆ ว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้า ด้วยปัญญาที่รู้ ต้องรู้ปัญหาจึงจะแก้ปัญหาและทำให้คนมีความสุขจริงได้ เหมือนแพทย์ต้องการช่วยให้คนมีสุขภาพดี ก็ต้องรู้จักโรค และร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค

เป็นอันว่า ทุกข์เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้ทันมัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทุกฺขํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์เป็นสิ่งที่จะพึงกำหนดรู้ รู้ทัน รู้จักมันให้ถูกต้อง พอจับมันได้ ทันมันแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวมันอีก ส่วนในการปฏิบัติ เรามีแต่ห่างทุกข์และเป็นสุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์สำหรับเรารู้ แต่สุขสำหรับเราเป็น พอปฏิบัติไปมีแต่สุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ ปฏิบัติก้าวหน้าไปกับความสุข

แม้แต่สมาธิก็ต้องอาศัยสุข ถ้าไม่สุขแล้วสมาธิเกิดยาก คนที่มีความทุกข์อยู่ภายใน จิตใจย่อมดิ้นรน พลุ่งพล่าน ว้าวุ่น กระวนกระวาย เดือดร้อน จึงไม่สามารถจะสงบ ไม่สามารถจะตั้งแน่วแน่ลงได้ เพราะทุกข์มันบีบ ทำให้ดิ้น ทีนี้พอมีสุข ใจก็สงบลง โน้มไปสู่ความแน่วแน่มั่นคง เพราะไม่ถูกกวน เพราะฉะนั้นท่านจึงให้หลักไว้ว่า สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน (เช่น ที.ปา.๑๑/๓๐๒; วิสุทฺธิ.๑/๑๐๕) และพอได้สมาธิแล้วก็ยิ่งสุข

แต่พอสมาธิทำให้เกิดสุขแล้วจะต้องระวัง อาจเกิดโทษ คือพอสุขปั๊บก็เพลิน คนเรานี้พอทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบาย ทั้งที่เป็นโอกาสดีที่จะทำงานได้คล่องและสะดวก เพราะไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดหรือรบกวน แต่กลับมีความโน้มเอียงที่จะหยุด จะเฉื่อยหรือเนือยลง จะนอน จะเสวยสุข คือ ขี้เกียจ ตกอยู่ในความประมาท ไม่ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นท่านจึงเตือนไว้ว่า สมาธินี้เข้าพวกกันกับความเกียจคร้าน (วิสุทฺธิ.๑/๑๖๔) เมื่อสมาธิมา นอกจากสงบอยู่ตัวเข้าที่แล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความเกียจคร้านด้วย เรียกว่าเป็นที่มาของโกสัชชะ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพ คือ ถ้ามีสมาธิ ต้องเอาวิริยะมาเข้าคู่

วิริยะ คือความเพียร เป็นภาวะจิตที่คึกคักเข้มแข็ง จะก้าวไปข้างหน้า วิริยะ มาจากวีระ แปลว่า แกล้วกล้า คนมีวิริยะก็คือคนที่ใจสู้ บุกฝ่า จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ยอมหยุด วิริยะนี้พาเดินหน้า ส่วนสมาธินั้นสงบ จะหยุดจะนิ่ง ถ้าวิริยะมากไปก็เดินหน้าแบบพลุ่งพล่าน เอาแต่จะเดินหน้าไป อาจจะกลายเป็นว้าวุ่น กระวนกระวาย ก็เสียผล ส่วนสมาธิทำให้สงบมั่นคงแน่วแน่ แต่ก็จะหยุดนิ่ง อาจจะกลายเป็นนอนนิ่งอย่างแน่วแน่ แต่พอวิริยะกับสมาธิมาเข้าคู่กัน ก็จะเดินหน้าอย่างแน่วแน่ อย่างสงบ และอย่างมั่นคง ทำให้ทำการต่างๆ อย่างได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพในการปฏิบัติธรรม ถ้ามีสมาธิปั๊บ วิริยะต้องเข้ามา นี้เป็นเรื่องแทรก

รวมความว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย

๑. พัฒนาพฤติกรรม เรียกว่า ศีล

๒. พัฒนาจิตใจโดยมีสมาธิเป็นแกน จึงเอาสมาธิมาเป็นชื่อเรียก ในฐานะเป็นตัวแทนของกระบวนการพัฒนาจิต โดยเรียกว่า สมาธิ

๓. พัฒนาปัญญา ซึ่งคงเรียกชื่อว่า ปัญญา

กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าชีวิตของเราต้องอยู่ในไตรสิกขา คือ ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนานี้ตลอดเวลา ข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมทั้งหลาย อยู่ในกระบวนการที่เรียกว่าไตรสิกขานี้ทั้งหมด ไตรสิกขาคลุมหมด

เราเห็นชัดว่าไตรสิกขาเป็นกระบวนการที่คืบเคลื่อนไปสู่จุดหมาย เมื่อคืบเคลื่อน ก็ต้องเดินหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติธรรมข้อไหนไม่เห็นความสัมพันธ์ว่า ข้อปฏิบัติหรือธรรมข้อนี้ส่งผลในกระบวนการของสิกขา ให้เดินหน้าไปอย่างไร ก็แสดงว่าเราจับจุดไม่ได้ และการปฏิบัติก็ต้องผิด ซึ่งกลายเป็นว่าธรรมมาดึงเราให้หยุด เช่นปฏิบัติสมาธิแล้วกลายเป็นหยุด นอนสบาย หรือแม้แต่เข้าสมาธิหาความสงบสุขทางจิตใจ แล้วหลบปัญหา หลบทุกข์ กลายเป็นว่าเอาสมาธิเป็นยากล่อม ก็แสดงว่าไม่ถูกต้อง

ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ธรรมทุกข้อจะต้องมีผลสัมพันธ์ส่งต่อในกระบวนการเดินหน้าในไตรสิกขา อันนี้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา เพราะคุณสมบัติและข้อปฏิบัติคือธรรมทุกอย่างในพุทธศาสนา หรือที่จริงคือในธรรมชาติ อยู่ในกระบวนการของไตรสิกขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทุกข้อจะต้องจับให้ได้ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อข้อปฏิบัติอื่นที่จะมารับช่วงต่อไป เช่น สมาธิเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อมที่จะทำงาน (เป็นกัมมนีย์ หรือกรรมนีย์) และจะต้องส่งผลต่อปัญญา หรือสุขจะมาช่วยให้เกิดสภาพคล่องในกระบวนการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติผิด สุขมาทำให้เราติด เพลิน สยบ หยุด ก็กลายเป็นประมาท พอประมาทก็พลาดหมด

1Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York : Bonanza Books, 1954), p.46.
2Ibid., p.52.
3Ibid.,p.46.
4ย้อนหลังไปนานไกลในอดีตสมัยกลางของยุโรป ฝรั่งคนไหน inquisitive (ชอบสอบถามมากนัก) ก็มีหวังถูกจับขึ้น Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) แต่เพราะถูกบีบถูกกดด้วย Inquisition ก็ยิ่งทำให้ฝรั่งมีนิสัย inquisitive มากขึ้น
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง