ปรัชญาการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การคิดอย่างเสรี

ขอให้สังเกตว่า การกระตุ้นความคิดแก่ศิษย์นี้มาลงกันกับหลักปรัญชาการศึกษาสมัยปัจจุบันด้วย คือในการศึกษาปัจจุบันเขามีความเห็นกันว่า ครูมีหน้าที่กระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดและคิดอย่างเสรี ทีนี้การกระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดนั้น หมายถึงความคิดอย่างมีเหตุผล เราต้องการกระตุ้นให้ศิษย์รู้จักคิดเอง คิดอย่างมีเหตุผล แต่การคิดอย่างมีเหตุผลก็มีปัญหาอีก เหตุผลที่เราต้องการคือเหตุผลอย่างไร การมีเหตุผลบางทีก็เป็นเหตุผลอย่างเลื่อนลอย เราหวัง เราต้องการให้ศิษย์คิดอย่างเสรีไปในแนวทางของเหตุผลเหล่านั้น ไม่ต้องการให้ครูไปบังคับควบคุมวิถีทางแห่งความคิดของศิษย์

ในทางพระพุทธศาสนาก็เห็นด้วยในแง่นี้ คือเห็นว่าควรกระตุ้นให้ศิษย์คิดและคิดอย่างมีอิสระเสรี แต่ดูเหมือนว่า ความหมายของคำว่าอิสระเสรีนั้นจะไม่เหมือนกันกับที่ปรัชญาการศึกษาตะวันตกเข้าใจ เพราะที่ว่าอิสระเสรีนั้นมิใช่ว่าจะไม่มีแนวทางและไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย หรือสร้างเหตุผลเลื่อนลอยพะนอตน

ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าการคิดอย่างเสรีนั้นมีแนวทาง แต่แนวทางที่ว่านี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกกำหนดควบคุม ตามความต้องการของครูหรือของอาจารย์ แต่เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หรือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ หมายความว่า เราจะต้องกระตุ้นความคิดของเด็กให้เดินเข้าไปสู่ความจริง ความจริงนั้นคืออะไร ความจริงก็คือสิ่งที่มีอยู่โดยกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ เราจะกระตุ้นศิษย์ให้เกิดความคิดที่จะเดินเข้าไปสู่ความจริงที่เป็นไปอยู่เองตามธรรมดาของธรรมชาติ

อันนี้ พูดให้ลัดใกล้จุดเข้าไปอีกหน่อยว่า การคิดอย่างเสรี เป็นการคิดของจิตที่มีอิสรภาพ และอิสรภาพของจิตนี้มิใช่สิ่งที่จะนึกจะวาดเอาเอง แต่เป็นภาวะที่เป็นความจริงหรือสัจจภาวะ มีหลักเกณฑ์ตามวิถีทางของธรรมชาติ เมื่อจิตมีอิสรภาพแล้ว การคิดอย่างเสรีย่อมมีได้เองและดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องเองโดยอัตโนมัติ นี้คือการคิดอย่างเสรี ตามความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนา ทีนี้มันจะมาสัมพันธ์กับเรื่องที่กำลังพูดอย่างไร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง