ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความขาดเอกภาพ: ลักษณะเด่นแห่งการศึกษาของคณะสงฆ์

ทีนี้ สภาพปัจจุบันที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ก็คือสภาพที่เรียกว่า ความขาดเอกภาพในการศึกษาของคณะสงฆ์ ปัจจุบันนี้ การศึกษาของคณะสงฆ์ อยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีระบบซ้อนระบบ และหลายระบบซ้อนๆ กัน ยิ่งกว่านั้น แต่ละระบบนั้น ก็ไม่อิงอาศัย ไม่เกื้อกูลกัน ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างทำกันไปคนละทิศละทาง บางทีก็ขัดแย้งกัน สร้างความขัดแย้งทั้งในจิตใจของพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน และสร้างความขัดแย้งในการดำเนินกิจการโดยทั่วไปด้วย

การศึกษาของคณะสงฆ์ ที่ว่าไม่มีระบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองมามองดูว่า ปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ของเรามีทางเล่าเรียนอะไรกันบ้าง ที่เราเห็นกันอยู่เวลานี้ เช่น เราเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ในเวลาที่ผ่านมา ก็มีพระเถระผู้ใหญ่หลายท่านไม่ยอมรับ และไม่สนับสนุนให้เล่าเรียน อีกด้านหนึ่งเราก็มีระบบการศึกษาแผนเดิม คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และ แผนกบาลี มองกว้างออกไปอีก ก็ยังมีระบบการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งต่างออกไปอีกมิติหนึ่งเลย แล้วก็มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา มีอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง

ทีนี้ เราลองมาดูระบบการบริหารและสังกัดว่าเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้สังกัดที่ไหน ฝากเป็นการบ้านไปคิดดู มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้สังกัดอะไร เรื่องเคยมี ตอนนั้นไปร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ฉบับก่อน พอร่างเข้ามาถึงรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ก็รับหลักการโดยมติเป็นเอกฉันท์ คือรัฐบาลเป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ. นั้น เสร็จแล้วก็นำไปพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อปัญหาอันหนึ่งที่พิจารณาก็คือว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้มีฐานะสังกัดอะไร คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเรื่องนี้เสียเวลาพอสมควร แต่ว่า โดยหลักการก็คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องการความเป็นอิสระ แต่ให้รัฐไปคิดดูว่า สังกัดอะไร

นอกจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็มีการศึกษานักธรรมบาลี อันนี้ก็เข้าสังกัดของคณะสงฆ์เอง โดยมีแม่กองธรรม และแม่กองบาลี ต่อจากนั้นก็มีโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร อันนี้สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ต่อไปอีก โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาสังกัดที่ไหน อันนี้ตามระเบียบให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ถือว่าสังกัดกรมการศาสนา รวมความว่ามีหลายสังกัด สังกัดคณะสงฆ์บ้าง สังกัดกรมการศาสนาบ้าง สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนบ้าง สังกัดอิสระบ้าง

ทีนี้ นอกจากหลายสังกัดแล้ว แต่ละสังกัดก็ไม่มาโยงหรือเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร มีพระเณรเรียนจำนวนมาก ได้รับความนิยมอันดับสูงสุดก็ว่าได้ ปรากฏว่าไม่มีชื่อในรายงานการศาสนาประจำปี กรมการศาสนานี้ ทำหนังสือรายงานการศาสนาประจำปีทุกปี ปีละเล่ม แต่ในหนังสือรายงานนี้ ไม่มีชื่อการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งๆ ที่ว่า การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นการศึกษาระบบใหญ่ระบบหนึ่ง มีพระเณรเรียนจำนวนมาก ขอให้ลองคิดดู ในเมื่อสถาบันที่รับผิดชอบการพระศาสนา ไม่ถือว่าการศึกษาระบบนี้เป็นการศึกษาทางพระศาสนา ก็ย่อมไม่เอาใจใส่ เมื่อไม่เอาใจใส่ ก็ปล่อยแล้วแต่มันจะเป็นไป เมื่อเราปล่อย ไม่รับผิดชอบเลย มันก็อยู่ในสภาพที่ว่า ใครเป็นเจ้าของงานนั้น (คือกรมการศึกษานอกโรงเรียน) เขาจะทำอะไรก็ทำไป ผมเคยถามกรมการศึกษานอกโรงเรียน อยากจะขอสถิติพระเณรที่เรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ว่ามีจำนวนเท่าไร เขาหาให้ไม่ได้ เพราะอะไรจึงหาให้ไม่ได้ เขาบอกว่า ตัวเลขพระเณรเหล่านี้ ไม่ได้ถือเป็นพระเณร คือถือว่าเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อถือเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ ก็มีฐานะเหมือนกันกับนักศึกษาอื่นๆ ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ พระนักเรียนรูปหนึ่งเข้าไป เขาก็ไม่ได้แยกออกว่าเป็นพระเณร เพราะฉะนั้น จึงหาสถิติพระเณรเรียนศึกษาผู้ใหญ่ไม่ได้ ถ้าท่านอยากจะได้สถิติ ท่านต้องไปนั่งนับเอาเอง ผมก็ยังไม่ได้นับเหมือนกัน แต่ผมเคยได้ตัวเลขไว้บ้าง เป็นสถิติสมัยก่อน ในระยะปีแรกๆ ที่ตั้ง พอหาสถิติได้ ระยะนั้น ตัวเลขเพิ่มรวดเร็ว จนกระทั่งขึ้นไปเป็นห้าหมื่น แต่ระยะหลังๆ มานี้ ไม่อยากทำความเพียรมากนัก ก็เลยหลุดไป ที่จริงก็อยากให้ช่วยกันรวบรวมสถิติไว้ เคยฝากให้บางท่านไปช่วยสอบถามไปช่วยนับหน่อย แต่ดูจะเงียบไป ถ้าพวกเรามีหลายๆ คน ก็ไปนับได้ ยอมอดทนเอาหน่อยเพราะเป็นสิ่งที่น่ารู้ ไปที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน ขอบัญชีแต่ละโรงเรียน แล้วก็เอามานับ ไม่ยากเท่าไรหรอก แต่ตอนแรกให้รู้ว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร แล้วเราก็เอามาแยกของเราเอง ก็จะได้สถิติออกมา

เท่าที่พูดมานี้ก็แสดงถึงการที่ว่า การศึกษาของพระสงฆ์นี้ มีมากมายหลายระบบ และไม่เอื้อ ไม่เกื้อกูลแก่กันและกัน ไม่เชื่อมโยง ไม่ประสานกัน สภาพเช่นนี้ทำให้การดำเนินการในการส่งเสริมอะไรนี้ ลำบากยากเย็นไปหมด แม้แต่ในจิตใจของพระเณรแต่ละองค์ก็มีความขัดแย้ง และสับสน ในวัดเดียวกันมีหลายระบบ พระเณรบวชเข้ามา คิดว่าจะเรียนทางไหนดี เดี๋ยวอาจารย์มาบอกว่า นี่นะเณร เธอต้องเรียนบาลี แต่อีกเดี๋ยวหนึ่งเณรรุ่นพี่ก็บอกว่า อย่าไปเรียนเลยบาลี ไม่ได้เรื่องหรอก ยากก็ยาก มาเรียนศึกษาผู้ใหญ่ดีกว่า เณรองค์นั้นก็เกิดความขัดแย้งในใจ คิดว่าเราจะเรียนอะไรดี หลวงพ่อก็บอกให้เรียนนักธรรม ให้เรียนบาลี แต่เณรรุ่นพี่มาชักชวนแนะนำให้เรียนศึกษาผู้ใหญ่ อันนี้ก็เป็นความขัดแย้งในจิตใจ ส่วนด้านภายนอกก็มีความขัดแย้งในการบริหาร พระผู้ใหญ่ หรือเจ้าอาวาสบางวัดก็สนับสนุนการศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร เอาไปจัดในวัดของตนเอง บางวัดก็ไม่สนับสนุน แต่วางเฉยใครจะเรียนก็เรียนไป ไม่เรียนก็ไม่ว่า บางวัดก็คัดค้าน บางวัดถึงกับวางกฎว่า ถ้าใครไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระเณร ก็จะไล่ออกจากวัดไปเลย เป็นอันว่า รวมแล้วก็มีหลายแบบ นี่ก็เป็นการขัดแย้งในการบริหารการพระศาสนาด้วย ในเมื่อขาดเอกภาพอย่างนี้แล้ว การดำเนินกิจการก็มีปัญหาไปหมด จะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ฉะนั้น ทิศทางด้านหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือการสร้างเอกภาพในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์

พูดถึงระบบการศึกษาของคณะสงฆ์นี้ นอกจากตัวระบบที่มีมากมายแล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยลงไปก็ยังมีปัญหาในระบบอีกมากมาย เช่น ระบบการบริหารก็ไม่รัดกุม ปล่อยแล้วแต่จะทำกันไป ไม่มีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ ฝากงานไว้กับฝ่ายปกครอง และในการให้การศึกษา ทางคณะสงฆ์ท่านก็ถือว่า ท่านไม่มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษา ท่านมีหน้าที่ในการจัดสอบอย่างเดียว ทางคณะสงฆ์ถืออย่างนี้ ไม่ว่านักธรรมหรือบาลี ตกลงว่าไม่มีผู้รับผิดชอบในการให้การศึกษานักธรรมและบาลี เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพจะเป็นอย่างไรก็ลองคิดดู

หลักสูตรก็มีแต่แบบเรียน หลักสูตรที่ชัดเจนลงไปไม่มี ในความเข้าใจของคณะสงฆ์ ที่เรียกว่าหลักสูตร ทางบ้านเมืองเขาเรียกว่าแบบเรียน เราบอกว่านักธรรมชั้นตรี เรียน (๑) นวโกวาท (๒) พุทธประวัติเล่ม ๑-๓ (๓) พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑ อันนี้ เราเรียกว่าหลักสูตรนักธรรมตรี แต่ทางฝ่ายบ้านเมืองเขามาฟังแล้ว เขาไม่เข้าใจ เพราะความเข้าใจคำว่าหลักสูตรของเขานั้นต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงหลักสูตรนักธรรมตรี ก็หมายความว่าเขาต้องการให้รู้ว่า ในนักธรรมตรีนั้นเรียนอะไรบ้าง ไม่ใช่ใช้หนังสืออะไร ฉะนั้น มันก็เลยเกิดปัญหา แต่ที่จริงของเราใช้มาก่อน ของเราถูกกว่า อย่าไปดูถูกของท่าน ของเราใช้มาเป็นความหมายเดิม คือเราใช้คำว่าหลักสูตรหมายถึงหนังสือเรียน แต่ทางบ้านเมืองเอาคำว่าหลักสูตรไปบัญญัติใหม่ ใช้ในความหมายว่ารายการสิ่งที่ให้เรียน ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อทางบ้านเมืองเขาใช้หลักสูตรในความหมายใหม่ว่าอย่างไร พระเราก็ต้องรู้เข้าใจเท่าทันตามนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม หลักสูตรในความหมายที่เข้าใจในวงการศึกษาทั่วไปในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่า คณะสงฆ์เราไม่มี

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง