ชีวิตที่เป็นอยู่ดี: ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบทั้ง ๔

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา

ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดา และการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ
“เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย”

[ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]

มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ
“อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น”

[ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ.
“ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว”

[ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส.
“ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา”

[สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
“ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก”

[ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]

มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ1 สมาหิตํ ...
เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ . . . . . . . . .

“พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”

[องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]

คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น

ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ

ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้นแปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน

เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักยภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา

เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา

สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ

1ทันตะ มาจาก ทมะ ที่แปลว่า การฝึก ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้แทนสิกขาได้ ถ้าเป็นคนผู้ที่จะต้อง(ได้รับการ)ฝึก เป็น ทัมมะ (อย่างในบทพุทธคุณที่ยกมาให้ดูข้างต้น) ถ้าเป็นคนที่ฝึกหรือศึกษาแล้ว เป็น ทันตะ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง