ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตายดีคืออย่างไร และสําคัญอย่างไร?

ลองมาดูในแง่ของพระศาสนา การสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่า ความตายนั้น ท่านก็เห็นความสําคัญอย่างมาก ในคัมภีร์พุทธศาสนาพูดถึงอยู่เสมอว่าอย่างไรเป็นการตายที่ดี ท่านมักใช้คําสั้นๆ ว่า “มีสติ ไม่หลงตาย” ข้อความนี้ท่านเน้นอยู่เสมอ หมายความว่า ในการดําเนินชีวิตที่ดีนั้น การสิ้นสุดของชีวิตก็ถือว่าเป็นตอนที่สําคัญ

ที่ว่าตายดีนั้น ไม่ใช่เฉพาะตายแล้วจะไปสู่สุคติเท่านั้น แต่ขณะที่ตายก็เป็นจุดสําคัญ ที่ว่าต้องมีจิตใจที่ดี คือมีสติ ไม่หลงตาย ท่านใช้คําว่า “อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ”

ที่ว่าไม่หลงตาย คือมีจิตใจไม่ฟั่นเฟือน ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว จิตใจดีงาม ผ่องใส เบิกบาน แล้วก็ขยายความไปถึงการที่ว่า จิตใจนึกถึงหรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ดี เราจึงได้มีประเพณีที่ว่าจะให้ผู้ตายได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงาม เช่น บทสวดมนต์ หรือคํากล่าวเกี่ยวกับพุทธคุณ อย่างที่เราใช้คําว่า “บอกอะระหัง” ก็เป็นคติที่ให้รู้ว่าเป็นการบอกสิ่งสําหรับยึดเหนี่ยวในทางใจ ให้แก่ผู้ที่กําลังป่วยหนักในขั้นสุดท้าย ให้จิตใจเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวอยู่กับคุณพระรัตนตรัย เรื่องบุญกุศล หรือเรื่องที่ได้ทําความดีมา เป็นต้น

ไม่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องดีงาม ทําให้จิตใจสดชื่นผ่องใส เราก็พยายามยกเอามาบอก เอามาแนะให้เป็นที่เกาะเกี่ยว หรือเรียกว่า เป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตของผู้ป่วยอยู่กับสิ่งที่ดีงามนั้น จิตใจจะได้ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว แล้วก็มีสติ ไม่เป็นจิตใจที่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย หรือขุ่นมัวเศร้าหมองอยู่กับความทุกข์ทรมาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตายที่ดีกว่านั้นอีก คือให้เป็นการตายที่ใจมีความรู้ หมายถึงความรู้เท่าทันชีวิต จนกระทั่งยอมรับความจริงของความตาย หรือความเป็นอนิจจังได้

เพียงแค่ว่าคนที่จะตายมีจิตยึดเหนี่ยวอยู่กับบุญกุศลความดี ก็นับว่าดีแล้ว แต่ถ้าเป็นจิตใจที่มีความรู้เท่าทัน จิตใจนั้นก็จะมีความสว่าง ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีความยึดติด เป็นจิตใจที่โปร่งโล่งเป็นอิสระแท้จริง ขั้นนี้แหละถือว่าดีที่สุด

ในเมื่อเราถือว่าจะต้องให้ตายดีที่สุด สําหรับคนที่เกี่ยวข้อง เราก็จึงพยายามว่าทําอย่างไรจะช่วยให้เขาไปถึงภาวะแห่งการตายอย่างดีที่สุดนั้น

ขอแทรกนิดหนึ่งคือ มีคติที่เกี่ยวกับเรื่องจิตตอนที่จะตาย ที่ท่านสอนว่าให้จิตไม่เศร้าหมอง มีสติ ไม่หลงตายนั้น นอกจากความหมายในขณะที่ตายแล้ว ก็ยังมีความหมายโยงไปถึงภพที่จะเกิดใหม่ด้วย อย่างที่พุทธศาสนิกชนจํานวนมากคงจําได้ถึงพุทธภาษิตที่ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังทุคติได้ ในทางตรงข้ามก็มีพุทธพจน์ว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเ สุคติ ปาฏิกงฺขา” เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้

นี้เป็นพุทธพจน์ ที่ทําให้เราเห็นความสําคัญของการที่จะทําให้จิตใจผ่องใสดีงามในเวลาที่จะตาย เพราะว่า แม้แต่คนที่ทํากรรมมาไม่ดี ตามปกติก็จะมีจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว แต่ในตอนที่ตาย ถ้าโดยบังเอิญจิตเกิดไปยึดเหนี่ยวสิ่งที่ดี นึกถึงเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล จิตผ่องใสขึ้นมา เวลานั้นกรรมกลายเป็นอาสันนกรรม คือกรรมใกล้ตายฝ่ายดี แทนที่จะไปทุคติจากการที่ได้ทํากรรมชั่วมาตลอดเวลาหลายๆ สิบปีในชีวิต ก็กลับไปดีเสียนี่ เพราะฉะนั้นทางพระศาสนา จึงให้ความสําคัญกับเรื่องของจิตใจตอนที่จะตายนี้มาก

เมื่อสภาพจิตในเวลาตายมีความสําคัญอย่างนี้ เราก็จึงพยายามช่วยให้คนตายได้ตายอย่างดี นอกจากไม่ฆ่าเขาแล้วก็หาวิถีทางที่จะช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุดด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง