ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

       ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา1

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

ปิโย ครุ ภาวนีโยวตฺตา จ วจนกฺขโม
คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตาโน จฏฺฐาเน นิโยชเยติ.

วันนี้ ท่านพระเถรานุเถระ สหธรรมมิก ผู้เป็นสพรหมจารีทั้งหลาย พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา สาธุชนจำนวนมาก ได้เดินทางมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ชา สุภทฺโท หรือเจ้าคุณพระโพธิญาณเถร เป็นการมาบูชาพระคุณของท่าน ผู้เป็นครูอาจารย์ หรือในฐานะท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ เรียกว่าเป็นอาจริยบูชา และเถรบูชา และการบูชานั้นก็ไม่ใช่เป็นเพียงการนำดอกไม้จันทน์ไปเคารพศพท่าน หรือบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น แต่มากกว่านั้น ถ้าพูดโดยทั้งหมดในสถานที่นี้ ผู้ที่ได้มาเข้าปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา ตลอดลงไปจนถึงตั้งต้นแต่ทาน รวมเรียกว่า บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนาในช่วงเวลานี้ เรียกได้ว่าเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติ หรือปฏิบัติบูชา จึงเป็นการบูชาด้วยการบูชาอย่างเยี่ยมยอด ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ

ปฏิบัติก็ดี สอนก็เด่น

หลวงปู่ชานั้น ท่านเป็นผู้ที่มีเกียรติคุณปรากฏอยู่ว่า เป็นผู้ที่เคร่งครัดด้วยศีลาจารวัตร นอกจากนั้นก็เป็นผู้ที่มีความชำนาญช่ำชองในการเจริญภาวนา เป็นพระป่า เป็นพระกรรมฐาน ได้บำเพ็ญทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา มีความสามารถจนกระทั่งว่า มิใช่เฉพาะท่านจะปฏิบัติด้วยตัวท่านเองเท่านั้น แต่ยังได้สั่งสอนแนะนำพุทธบริษัททั้งฝ่ายภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ให้เจริญในธรรม เจริญในการทำกรรมฐาน ในการบำเพ็ญภาวนาด้วย จึงเป็นที่เคารพนับถือเป็นอันมาก

ในการสั่งสอนของท่านนั้น มีข้อเด่นเป็นพิเศษที่ว่า ท่านสอนจี้จุดได้ตรงใจ คำสอนแม้จะสั้น แต่ว่ากินใจประทับใจ จึงได้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นคนไทยเท่านั้น ท่านที่เป็นคนต่างประเทศก็ได้มาฟังคำสอนของท่าน มานับถือ มาบวชเป็นพระภิกษุอยู่กับท่านก็มีจำนวนมาก และท่านเหล่านั้นมาโดยที่ว่าเริ่มต้น ตนยังไม่รู้ภาษาไทย และตัวพระอาจารย์เอง ท่านก็ไม่รู้ภาษาต่างประเทศ ก็ยังหาทางสื่อสารกัน จนกระทั่งสามารถเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษ เป็นความสามารถชนิดที่ว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว

เมื่อท่านได้สั่งสอนจนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างนี้ ก็ปรากฏผลขึ้นมา คือการที่ได้มีสำนักปฏิบัติ สำนักเผยแพร่พระศาสนาที่ขยายกว้างขวางออกไป เป็นสาขาของวัดหนองป่าพงมากมาย ทั้งในประเทศ และยังได้ขยายไปยังต่างประเทศด้วย พระฝรั่งที่เป็นลูกศิษย์ก็มีจำนวนมาก ดังปรากฏในช่วงเวลาที่มีงานพระราชทานเพลิงศพนี้ มีจำนวนที่ได้ทราบว่ามากันถึง ๗๐ กว่ารูป นับว่าเป็นจำนวนพระภิกษุต่างประเทศมากมายเป็นประวัติการณ์

ไม่ยอมให้มืด ให้แต่ดวงประทีป

คำสอนของหลวงพ่อชานั้น มีลักษณะพิเศษอย่างที่ได้กล่าวมานี้ และนอกจากนั้น ท่านยังมีลักษณะที่น่าสรรเสริญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องเครื่องรางของขลัง แม้ว่าท่านจะเป็นพระอาจารย์ที่ได้รับความเคารพนับถือในเรื่องกรรมฐาน ซึ่งคนทั่วไปมักจะเอาไปสัมพันธ์โยงใยกับอำนาจจิตพลังจิต และมักจะมองไปในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ และเลยไปจนกระทั่งถึงเรื่องวัตถุมงคล เครื่องที่จะนำเอาโชคเอาชัยมาโดยวิธีที่เป็นของขลัง แต่หลวงปู่ชาท่านไม่ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏว่า แม้แต่ในพิธีพระราชทานเพลิงศพนี้ ก็ไม่มีการจัดในเรื่องนี้ขึ้น อันนี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ถือว่าเป็นแบบอย่างได้ดีทีเดียว

ถ้าว่าโดยรวบรัด หลวงปู่ชานั้นก็คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นพระเถระเป็นมหาเถระองค์สำคัญ ที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านั้นเอง แต่ว่าเป็นลูกศิษย์ที่มีความสามารถ นอกจากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยตนเองแล้ว ก็ยังสามารถเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแจกจ่ายชี้แจงสั่งสอนแนะนำผู้อื่นให้เข้าใจตาม และปฏิบัติตามด้วย เรียกได้ว่าเป็นผู้เชิดชูประทีปธรรม หรือดวงประทีปแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าให้สุกใสสว่างต่อไป ฉะนั้นเมื่อท่านสามารถเชิดชูดวงประทีปนี้ขึ้น ให้ส่องสว่างได้แล้ว ท่านทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็ส่งต่อดวงประทีปนี้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาหรือคนรุ่นหลัง เพื่อช่วยกันทำหน้าที่เชิดชูดวงประทีปนั้น เอาไปส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป

บัดนี้ หลวงปู่ชาได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว ท่านก็ส่งต่อดวงประทีปนี้มาให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ท่านที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย จะต้องนึกถึงหน้าที่ในการที่จะนำเอาดวงประทีปนี้ มาส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สมตามความมุ่งหมายต่อไป อย่างน้อยก็นำมาส่องสว่างแก่ทางดำเนินชีวิตของตนเอง และถ้าสามารถก็นำไปส่องสว่างทางชีวิตให้แก่โลกให้แก่สังคม เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป

สังเวช คือ ได้เครื่องกระตุ้นเสริมแรง

วันนี้ เรามาทำอาจริยบูชาและเถรบูชา เป็นการเตือนใจเรา ว่าจะต้องพยายามปฏิบัติให้เกิดผลเกิดประโยชน์จริงจังขึ้นมา เมื่อท่านผู้เป็นที่เคารพนับถือจากไป ท่านเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็มาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้าจากพุทธศาสนิกชนไป พระองค์ก็ได้ตรัสให้พุทธศาสนิกชนมีหลักเป็นที่เคารพบูชา เราเรียกว่า สังเวชนียสถาน ๔ คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน สถานที่เหล่านี้ เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช

มาบัดนี้ หลวงปู่ชา ท่านได้ถึงมรณภาพไปแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานกันขึ้นมานี้ ก็ได้จัดสิ่งที่เป็นเครื่องระลึกเตือนใจ ให้นึกถึงประวัติหลวงปู่ชา เช่น หนังสือเป็นต้น ตลอดจนสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในเบื้องหน้าของท่านทั้งหลาย ก็คือสถานที่ที่ใช้เป็นเมรุนี้ ซึ่งเป็นสถูปเป็นเจดีย์ที่ระลึกถึงท่าน และเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านต่อไป อันนี้ก็เป็นวัตถุอย่างหนึ่งแห่งความสังเวช หรือเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช แม้แต่การที่หลวงปู่ชาถึงมรณภาพไปแล้วนั้น ก็เป็นเหตุการณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช

แต่คำว่า สังเวช นั้นเป็นอย่างไร หลายคนเข้าใจแคบๆ ว่า สังเวช หมายถึงสลดหดหู่ใจ ถ้าสลดหดหู่ใจก็หมดแรง เพราะคนที่สลดหดหู่เสียแล้ว ก็เกิดความท้อถอย ใจแห้งเหี่ยว ไม่มีแรงจะทำอะไร แต่ความจริงนั้นสังเวชไม่ได้มีความหมายว่าหดหู่ใจ ไม่ได้หมายความว่าหมดแรง แต่ตรงข้าม สังเวชหมายความว่าเกิดกำลังขึ้น สังเวชนั้นมาจากภาษาบาลีว่า “สํเวค” เวคะ แปลว่าเรี่ยวแรงกำลัง และ สํ แปลว่าพร้อม สังเวคะ คือมีกำลังแรงพรั่งพร้อมขึ้นมา หมายความว่า เหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธประวัติก็ดี เกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือสำคัญๆ ก็ดีนั้น เป็นสิ่งที่เตือนใจให้เกิดความสังเวช คือเกิดแรงหรือกำลังใจขึ้นมาในการที่จะปฏิบัติกิจหน้าที่ ไม่ได้หมายความว่าให้หมดแรง

เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวชที่ชัดเจนก็คือ ความตาย หรือการสิ้นสุดแห่งชีวิต ได้แก่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และในที่นี้ก็คือ การมรณภาพของหลวงปู่ชา อันนี้เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เพราะทำให้ระลึกโยงมาถึงความตายของพวกเราแต่ละคน ซึ่งทางภาษาพระท่านเรียกว่า ทำให้เกิดมรณสติ

มรณสติ คือ สติระลึกถึงความตาย ให้มองเห็นธรรมดาของชีวิต ว่าความตายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปที่แน่นอนของชีวิตนี้ ที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีความเจริญขึ้นแล้วก็มีความเสื่อมคือชรา และในที่สุดก็อวสานด้วยมรณะคือความตาย เมื่อเห็นธรรมดาของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้เกิดความรู้เท่าทัน มีสติมองเห็นอนิจจัง เมื่อมองเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ความไม่คงอยู่กับที่ ความที่จะต้องเกิดจะต้องดับและแตกสลายไป พอมองเห็นธรรมดาอย่างนี้ เห็นความเกิดขึ้นความดับไปอย่างนี้แล้ว ผู้ที่ระลึกถึงอย่างถูกต้อง จะไม่เกิดความเศร้าสลดหดหู่ใจ แต่จะเกิดความได้คิด มองเห็นความจริงของชีวิต แล้วก็เกิดพลัง เกิดเรี่ยวแรงกำลัง ที่จะทำกิจหน้าที่ ซึ่งพระท่านเรียกว่า ความไม่ประมาท ส่วนผู้ที่ระลึกไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดความเศร้าสลดใจ หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดความหวาดกลัว พรั่นพรึง อันนั้น ท่านเรียกว่าทำใจผิด ไม่มีโยนิโสมนสิการ

ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ ระลึกถึงความตาย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปตามธรรมดาของชีวิต ก็ทำให้เกิดความไม่ประมาท เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน กาลเวลาผ่านไปนั้น เป็นไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะรีรอนอนคอยเวลาอยู่ไม่ได้ จะเป็นคนเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะเวลาไม่รอเรา และความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งรัดตนเองในการที่จะทำกิจหน้าที่ ทำกุศลทำความดีต่างๆ

การที่เกิดความได้คิดขึ้นแล้วหันมาเตือนใจตนเอง ให้กระตือรือร้นทำการต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท อันนี้แหละเรียกว่า สังเวช คือทำให้เกิดความได้คิด และเกิดมีกำลังในการที่จะทำความดีงาม ในการที่จะทำกิจหน้าที่ เพราะฉะนั้นควรจะทำความเข้าใจในคำที่เรียกว่า “สังเวช” ให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่หมายความว่าสลดหดหู่และหมดแรงใจ แต่ตรงข้าม หมายถึงเกิดพลังในการที่จะทำในสิ่งที่ดีงามถูกต้องต่อไป

ผู้ที่ไปนมัสการสังเวชนียสถานนั้น ถ้าไปแล้วได้เห็นสถานที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ เกิดความสลดหดหู่ใจขึ้น จะได้ประโยชน์อะไร ความหดหู่ใจนั้นเป็นอกุศล ดีไม่ดีก็จะเป็นถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นความเจริญก้าวหน้าของจิตและกีดขวางความเจริญของปัญญา เป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ไม่ก้าวหน้าในธรรม ผู้ที่ระลึกถูกต้องเกิดสังเวชนั้น จะต้องทำให้จิตใจเป็นกุศล ถ้าเกิดเป็นอกุศลเป็นความหดหู่เสียแล้วก็กลายเป็นตรงข้าม แทนที่จะปฏิบัติธรรม ก็กลายเป็นเสื่อมถอยจากธรรม เพราะฉะนั้นการไปสังเวชนียสถานก็เป็นการไปเห็นสถานที่ ที่จะเตือนใจเราให้เกิดกุศลธรรมในใจ คือเกิดพลังแรงในการที่จะเจริญในกุศลธรรมให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อก่อนนี้ไม่เคยนึกถึงความตาย มัวแต่สนุกสนานรื่นเริง ใช้เวลาอย่างไม่เป็นประโยชน์ มุ่งแต่บำรุงบำเรอความสุขให้แก่ตนเอง จนไม่นึกถึงว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ก็ไม่ตั้งอยู่ตลอดกาล แต่เมื่อได้ระลึกถึงมรณะคือความตาย เกิดมรณสติขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้เกิดความได้คิด หยุดเลิกจากการที่มัวแต่ลุ่มหลงระเริงต่างๆ นั้น เปลี่ยนใหม่ หันมาตั้งอยู่ในความไม่ประมาท หันมาทำกุศล ทำความดีต่างๆ การที่ได้ความได้คิด และเกิดกำลังแรงในการทำความดี นี้เรียกว่า สังเวช

การบูชาที่มีผลยั่งยืน

กรณีของหลวงปู่ชานี้ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะต้องระลึกให้ถูกต้อง เพื่อปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ชีวิต นี้คือการเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้ระลึกถึงความจริง ความเป็นไปตามธรรมดาของชีวิตของสังขารทั้งหลาย แล้วหันมาเร่งรัดทำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นกุศลต่อไป โดยเฉพาะถ้าเราระลึกถึงใคร เราก็เอาธรรมของผู้นั้นมาเป็นจุดรวมใจในความระลึกถึง

ท่านผู้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ เป็นครู เป็นอาจารย์ ท่านมีคำสอนที่ดีงามไว้เป็นอันมาก เมื่อเราระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับชีวิตของท่าน ระลึกถึงการถึงมรณภาพของท่านแล้ว ก็เตือนใจเราว่าจะต้องรีบเอาคำสอนของท่านนั้น มาประพฤติปฏิบัติกันต่อไป เราทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า เกิดผลจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง และนี่ก็จะเป็นการบูชาท่าน ซึ่งเป็นการบูชาที่ทำได้ต่อเนื่องเรื่อยไป ไม่ใช่มาบูชาได้เฉพาะในวันนี้ เอาดอกไม้จันทน์มาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่าน หรือมากราบมาไหว้ แต่ถ้าท่านบูชาด้วยการระลึกถึงเกี่ยวกับมรณภาพของหลวงปู่ หรือระลึกถึงประวัติชีวิตของท่าน แล้วเตือนใจให้ระลึกถึงคำสอนของท่าน แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ การระลึกถึงอย่างนี้จะทำได้เสมอ ทำได้ตลอดไป และจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแท้จริง เป็นการบูชาที่เราบูชาได้ทุกขณะและตลอดกาลเรื่อยไปชั่วชีวิตของเรา อันนี้จะเป็นการบูชาที่มีผลยั่งยืน เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

พระพุทธเจ้าและครูอาจารย์เป็น
กัลยาณมิตรของเรา

ทีนี้ หลวงปู่ชานั้น ที่ท่านได้สั่งสอนอะไรต่างๆ มา ได้กล่าวแล้วว่าท่านทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ดำเนินตามพระพุทธปฏิปทาหรือจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นพระศาสดา เป็นพระบรมครู การที่เป็นพระบรมศาสดา หรือเป็นพระบรมครู ก็คือ เป็นครูอาจารย์ ฐานะความเป็นครูอาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองในพระสูตรหนึ่ง มีพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิด มีความแก่ มีความตายเป็นธรรมดา ก็พ้นไปได้จากความเกิด ความแก่ ความตาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา ก็พ้นไปได้จากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส”

อันนี้หมายความว่า พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย คือของพวกเราทั้งหลาย การที่พระองค์ทรงสั่งสอนธรรมนั้น ทรงทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรผู้สูงสุด พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ตลอดจนพระเถระ ครูอาจารย์ต่างๆ ก็ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ลดหลั่นกันลงมา

กัลยาณมิตรนั้น ทำหน้าที่อย่างไร แปลตามตัวอักษร กัลยาณมิตร ก็คือ เพื่อนที่ดี พระพุทธเจ้าก็เป็นเพื่อนที่ดีของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อนที่ดีเป็นผู้ที่ห้ามปรามจากความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี สั่งสอนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยฟัง สิ่งใดที่เคยรู้เคยฟังแล้ว ก็ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้เป็นต้น

แม้แต่เพื่อนที่เรียกว่า เป็นมิตรสหายธรรมดา ถ้าหากว่าเป็นคนดีจริงๆ ก็สามารถทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ได้ เป็นแต่ว่าทำได้ในสัดส่วนแตกต่างกันไป แม้แต่ในหลักทิศ ๖ ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องมิตร ก็มีคำสอนทำนองนี้ ในเรื่องของมิตรแท้มิตรเทียม มิตรสหายทั่วๆ ไป ที่เราคบหานี้ ก็ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ และพระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่นี้จนถึงที่สุด จนกระทั่งว่า ไม่ใช่เฉพาะจะห้ามปรามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดีธรรมดาเท่านั้น แต่ทรงทำจนกระทั่งว่าให้เว้นอกุศล ให้บำเพ็ญกุศลเจริญขึ้นไปจนเลยโลกียกุศลไปถึงโลกุตรกุศล จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ ก็คือการที่ทรงมาช่วยเหลือเรานั่นเอง เราเรียกว่าพระองค์ช่วยเหลือเรา

กัลยาณมิตรช่วยเราได้แค่ไหน

แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องรู้เข้าใจขอบเขตของการเป็นกัลยาณมิตรว่า ที่พระพุทธเจ้าตลอดจนครูอาจารย์ทั้งหลายมาช่วยเรานี้ ท่านช่วยได้แค่ไหนเพียงไร อะไรช่วยได้อะไรช่วยไม่ได้ หมายความว่า ส่วนใดท่านช่วยเราได้ ส่วนใดเราต้องทำเอง อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็หวังพึ่งกัลยาณมิตรเรื่อยไป อะไรๆ ก็จะให้ท่านทำให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง อย่างที่เราเคยได้ยินกัน เช่นที่ตรัสว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ที่แปลว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก อันนี้เป็นเครื่องเตือนให้มองขอบเขตให้ชัดเจนว่า กัลยาณมิตรมาช่วยอะไรเรา ทำอะไรให้เราได้แค่ไหน และในส่วนไหนแค่ใดเราจะต้องทำเอง

หน้าที่ของกัลยาณมิตรก็คือ เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้ให้คำสอน เป็นผู้ชี้ทางให้ แต่ตัวความเพียร ตัวเหตุปัจจัยที่จะให้ผลที่ต้องการสำเร็จนั้น เราจะต้องทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เป็นกัลยาณมิตร พระองค์ก็ตรัสสอนพุทธพจน์มากมายเตือนเรา แม้ตอนใกล้ปรินิพพาน ก็ตรัสเตือนไว้บ่อยว่า อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา แปลว่า เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีตนเป็นสรณะ เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยมีธรรมเป็นสรณะ อันนี้เป็นหลักเตือนใจที่สำคัญ

ในที่สุด ที่ว่ากัลยาณมิตรมาช่วยมาบอกมาสั่งสอนนั้น ท่านสั่งสอนให้เราช่วยตัวเอง แต่ที่สำคัญก็คือ แต่ก่อนเราช่วยตัวเองไม่เป็น ท่านมาสอนมาช่วยแนะนำให้เราช่วยตัวเองเป็น แต่ไม่ใช่ว่าท่านมาทำอะไรให้เราไปเสียหมด อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

ท่านช่วยแล้ว ทำไมเราต้องทำเองด้วย

บางทีอาจคิดว่า โอ ! คำสอนในพระพุทธศาสนานี้ ดูแห้งแล้ง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ช่วยเราเลย เราจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง ไม่เหมือนอย่างบางลัทธิ บางศาสนา บางคำสอนให้อ้อนวอนเอาได้ อะไรๆ เทพเจ้าก็ช่วยหมด อย่างนี้ดีเหลือเกิน หลายคนก็คงจะชอบ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริงก็น่าชอบใจสิ ได้มาง่ายๆ ไม่ต้องทำอะไร ก็น่าเอา เพราะฉะนั้นใครๆ ก็อยากจะได้อย่างนั้น แต่มันเป็นจริงหรือเปล่า ความจริงของธรรม คือ ความจริงแท้นั้น หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ความจริงของธรรมเป็นอย่างไร ความจริงของธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

สิ่งทั้งหลายนั้น จะสำเร็จเพียงด้วยความปรารถนาได้หรือเปล่า การอ้อนวอนขอเอานั้นเป็นเพียงเครื่องปลอบใจเท่านั้นเอง บางทีไปเหมาะจังหวะเข้าโดยบังเอิญโดยเหตุประจวบเหมาะ ก็เลยสำเร็จผลตามที่ต้องการ แต่ถ้าหากว่าไม่เกิดเหตุบังเอิญขึ้นมา ก็ไม่สำเร็จผลตามประสงค์ กลายเป็นอยู่อย่างเลื่อนลอย มัวแต่รอให้เขาทำให้ เวลาก็ผ่านไป ตัวเองก็อยู่กับที่เท่าเดิม สิ่งที่แน่นอนก็คือความเป็นจริงของธรรม และความเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนว่า ให้เราพึ่งตนเอง รู้จักฝึกตนเอง เอาตนเป็นสรณะ

พึ่งตนคือพึ่งธรรม

และการที่ว่าเอาตนเองเป็นสรณะคืออย่างไร ก็คือเอาธรรมเป็นที่พึ่ง พึ่งตนคือพึ่งธรรม หรือเอาตนเป็นที่พึ่ง เอาตนเป็นสรณะก็คือเอาธรรมเป็นสรณะ หมายความว่าให้เอาธรรมเข้ามาใส่ไว้ในตน เอาธรรมมาใส่ตนแล้วตนก็เป็นที่พึ่งได้ ความหมายอย่างง่ายๆ ที่สุด ก็คือเอาธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้า และครูอาจารย์ที่สืบๆ กันมานี้ ท่านสอนเรา ท่านบอกแนะนำวิธีแก้ปัญหา แนะนำวิธีปฏิบัติ วิธีดำเนินชีวิตให้เราแล้ว เราก็เอาคำสอนเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม นี่คือเอาธรรมมาใส่ตัว เมื่อเราทำตามคำสอนของท่านก็สำเร็จผล เราก็พึ่งตนเองได้ อันนี้ก็คือการที่ว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม เมื่อเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นหลักในการครองชีวิต เราก็พึ่งตนได้ อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง เป็นความหมายอย่างง่ายๆ

ทีนี้ลึกเข้าไปอีกจะเห็นว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้พึ่งตนเองและพึ่งธรรมนั้น ความหมายว่าพึ่งธรรมของพระองค์ ลึกลงไปจนกระทั่งหมายถึงการที่ว่า มีสติครองใจ มีสติกำกับความคิดความเคลื่อนไหวของชีวิตจิตใจทุกขณะตลอดเวลา ไม่ให้จิตใจของเรานี้ ถูกความยินดียินร้าย อารมณ์ต่างๆ เข้ามาครอบงำ ไม่ตกเป็นทาสของความเป็นไปภายนอก ถ้าทำได้อย่างนี้ โดยมีสติครองใจอยู่ตลอดเวลา ก็เรียกว่าพึ่งตนได้ หลักการนี้ก็คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างมาเป็นอรรถาธิบายของการที่มีตนเป็นที่พึ่ง ได้แก่มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเราปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำกับครองจิตครองใจได้ทุกขณะทุกเวลา เราก็พึ่งตนเองได้ ชีวิตก็จะมีความผาสุก ปลอดภัยไร้อันตราย อันนี้เป็นความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้ไม่มีเวลาที่จะอธิบายความหมายของการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานให้ละเอียดพิสดาร แต่ให้เราเข้าใจความหมายทั่วๆ ไปว่า การเอาสติมาเป็นหลักครองชีวิต มากำกับความคิด ความเคลื่อนไหว ความเป็นไปของชีวิตจิตใจได้ทุกขณะทุกเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการพึ่งตน

ความหมายที่จะใช้ทั่วไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมนั้น ก็คือความจริงของธรรมดา ความจริงของธรรมดาก็คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่เราจะพึ่งตนให้ถูกต้องก็คือพึ่งธรรม พึ่งธรรมคืออย่างไร ก็คือเราต้องรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่ต้องการย่อมเกิดขึ้นจากการทำที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่หวังเลื่อนๆ ลอยๆ ลมๆ แล้งๆ อยากจะได้อะไรแล้วก็ไม่ต้องทำ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่พึ่งธรรม ถ้าไม่พึ่งธรรม ก็พึ่งตนเองไม่ได้ มันก็ไม่สำเร็จผล ถ้าใครจะพึ่งตนให้สำเร็จผล ก็ต้องรู้จักธรรม รู้จักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย รู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม รู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ แล้วทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้น อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมก็ละเว้นเสีย ป้องกันเสีย แก้ไขกำจัดเสีย อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ก็เร่งรัดจัดทำให้สำเร็จ อันนี้ เราก็พึ่งธรรม แล้วก็พึ่งตนได้

ทำถูกธรรม ไม่ต้องขอ ผลก็เกิดเอง

สิ่งทั้งหลายจะสำเร็จขึ้นได้ ผลที่ต้องการจะสัมฤทธิ์ต้องอาศัยการทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย นี้คือการปฏิบัติถูกต้องตามธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องการผลสำเร็จ แม้ภิกษุทั้งหลายที่เจริญกรรมฐาน บำเพ็ญภาวนา ก็ต้องการผลสำเร็จ คือความหลุดพ้นของจิต ต้องการเจโตวิมุติ ต้องการปัญญาวิมุติ แต่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเองโดยลำพังความปรารถนา หรืออ้อนวอนให้ใครบันดาลให้ได้หรือเปล่า ก็ไม่ได้ ต้องทำที่เหตุปัจจัย ถ้าทำที่เหตุปัจจัยถูกแล้ว ไม่ต้องไปอยาก ไม่ต้องไปปรารถนา มันก็สำเร็จเอง

พระพุทธเจ้าเคยตรัสอุปมาไว้ว่า แม่ไก่ฟักไข่ ต้องการที่จะให้ไข่นั้นเป็นตัวเป็นลูกไก่ออก จะทำอย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่ ทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ก็คือขึ้นนั่งฟัก ฟักไข่ กกไข่ เสร็จแล้วเมื่อถึงเวลา ไข่นั้นก็จะเป็นตัวลูกไก่ขึ้นมา แล้วลูกไก่นั้นก็จะเอาจะงอยปากกระเทาะจิกเปลือกไข่ออกมาได้ ก็เป็นลูกไก่สำเร็จรูป แต่ถ้าหากว่า แม่ไก่ไม่ฟักไข่ ไม่ขึ้นกกไข่ แล้วแม่ไก่นั้นจะไปอ้อนวอน ปรารถนา จะไปร้อง ไปขัน ไปตีปีกอย่างไรก็ตาม จะให้ไข่นั้นเป็นตัว แล้วก็เป็นลูกไก่ เอาจะงอยปากจิกไข่ กระเทาะเปลือกออกมา ก็ไม่สำเร็จ อันนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว ตรงตามเหตุปัจจัยแล้ว แม้ไม่ปรารถนา ไม่อ้อนวอนหวังผล ผลที่ต้องการก็ย่อมเกิดขึ้นมาเอง เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ ก็สำเร็จ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรม แม้จะปรารถนา แม้จะอ้อนวอน ตั้งความปรารถนาประการใดก็ตาม ก็ไม่มีทางสำเร็จได้

ข้อนี้เป็นหลักเตือนใจ จัดเป็นการพึ่งธรรมอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติตามหลักความจริงของธรรมดา ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เป็นหลักที่ใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่การปฏิบัติธรรมเบื้องสูง ถึงความหลุดพ้นจากกิเลส บรรลุพระนิพพาน ลงมาจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน

ถ้าช่วยถูก คนถูกช่วยก็เก่งขึ้นด้วย

ในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ได้รับคำเตือนจากกัลยาณมิตรผู้สูงสุดว่าให้พึ่งตนพึ่งธรรมแล้ว ก็จะต้องใช้หลักการพึ่งตนพึ่งธรรมนี้ให้ถูกต้อง คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น อาจจะมีผู้มองดังได้กล่าวแล้วว่า บางทีชาวพุทธบางคนรู้สึกว่าแห้งแล้ง เหมือนเราไม่มีใครช่วย ความจริงการช่วยวิธีนี้แหละ กล่าวคือ การช่วยของกัลยาณมิตรแบบพระพุทธเจ้านี้ เป็นการช่วยที่ดีที่สุดแล้ว ท่านช่วยแล้ว เรายิ่งเก่งยิ่งเข้มแข็งขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าท่านยิ่งช่วย เรายิ่งอ่อนแอลง จนในที่สุดทำอะไรไม่เป็นเลย นอกจากนั้น เราไม่ได้แห้งแล้งเลย เพราะกัลยาณมิตรที่ถูกต้อง จะมีคุณสมบัติที่ท่านกล่าวไว้ ๗ ประการด้วยกัน ดังที่อาตมาได้ยกเป็นคำขึ้นต้นไว้ในการกล่าวบรรยายธรรมครั้งนี้ว่า ปิโย ครุ ภาวนีโย เป็นต้น

น่ารัก น่าเคารพ น่าทำตาม

ประการที่ ๑ ปิโย แปลว่า กัลยาณมิตรนั้น เป็นผู้น่ารัก หรือเป็นที่รัก หมายความว่า ท่านประกอบด้วยเมตตา ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อน ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำใจ ไม่อ้างว้างว้าเหว่ กัลยาณมิตรที่ดีจะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทำให้พระสาวกมีความสดชื่น มีความอบอุ่นใจ มีความสบายใจ ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เหมือนกับท่านทั้งหลาย ที่มีครูอาจารย์ที่ดี ท่านมีเมตตา ท่านมีลักษณะเป็น ปิโย ก็จะรู้สึกสบายใจ ชุ่มฉ่ำใจ เหมือนมีเพื่อนดูแลอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นประการที่ ๑

ประการที่ ๒ ครุ เป็นที่เคารพ ท่านมีความหนักแน่น มีคุณธรรมเป็นหลักให้เราได้ เมื่อเป็นหลักให้เราได้ เราก็รู้สึกว่ามั่นคง มีความรู้สึกปลอดภัย มีหลักมีที่เกาะเกี่ยว ที่จริงนั้นท่านก็มาช่วยอะไรเราให้ถึงที่สุดไม่ได้หรอก กัลยาณมิตรนั้นมาสอนเรา ให้ธรรม แต่ถ้าเราไม่ฟัง หรือฟังแล้วไม่คิดไม่พิจารณา พิจารณาแล้วไม่เอาไปปฏิบัติ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็เกิดขึ้นไม่ได้

ครูอาจารย์จะสอนใคร จะเอาปัญญามาใส่สมองให้ไม่ได้ คนนั้นจะต้องทำปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่กัลยาณมิตรหรือครูอาจารย์ก็ช่วยได้ โดยการบอกกล่าวสั่งสอน เอาคำสอนมาบอกให้ แล้วยังแนะนำชี้แจงอธิบายด้วย ถ้าเราช่วยตัวเราเอง โดยทำหน้าที่ของเรา ด้วยการรู้จักฟังรู้จักพิจารณา ปัญญาก็เกิดขึ้นกับตัวเรา ฉะนั้นกัลยาณมิตรจึงช่วยได้มาก ไม่ใช่ช่วยไม่ได้เลย แต่ต้องรู้ขอบเขตอย่างที่ว่า ท่านช่วยเราแค่ไหน เราจะต้องทำแค่ไหน ตกลงว่ากัลยาณมิตรที่ดีประการที่ ๒ ก็เป็นครุ เป็นที่เคารพ เป็นหลักให้ ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีหลักเป็นที่เกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยว

ประการที่ ๓ ภาวนีโย แปลว่า เป็นที่เจริญใจ เป็นแบบอย่างให้เราได้ เราได้ครูอาจารย์ เราได้ท่านผู้ที่มีคุณธรรม มีความประพฤติดีงาม เราก็เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า จรรโลงใจ มีกำลังใจ เห็นแบบอย่าง อยากจะทำตาม ก็ทำให้มีความก้าวหน้าได้ ฉะนั้นกัลยาณมิตรนี้ ช่วยได้มาก

คอยสอน ทนให้ซัก ชักนำให้ยิ่งดี

ประการที่ ๔ นอกจากจะให้เกิดความรู้สึกอยู่ในใจแล้ว ยังออกมาเป็นรูปธรรมด้วย คือ วตฺตา จ เป็นผู้ที่บอกกล่าว เอาคำสอนมาบอกเล่า มาแนะนำเรา หรือคอยบอกเกี่ยวกับเรื่องการประพฤติปฏิบัติของเราว่าควรจะเป็นอย่างไร และเราทำถูกหรือทำผิด อันไหนที่เราทำไม่ถูก ท่านก็แนะนำตักเตือนให้ แนะนำบอกวิธีแก้ไขให้ อันไหนเราทำดีถูกต้องท่านก็ส่งเสริมบอกวิธีทำให้ดียิ่งขึ้นไป เราก็ได้ธรรมเพิ่มขึ้น การบอกกล่าวนี้สำคัญมาก นี่คือเป็นผู้ที่สั่งสอน ซึ่งช่วยเราได้ ทำให้เรารู้จักพึ่งตนอย่างแท้จริง

ประการที่ ๕ วจนกฺขโม บอกกล่าวแล้วบางทีก็ยังไม่ชัดเจน เราก็ยังสงสัย ไปซักไซ้ไต่ถาม ท่านก็อดทนต่อการพูดของเรา ที่จะซักไซ้ไล่เลียง ท่านก็พยายามช่วยชี้แจง จนกระทั่งเราเกิดความเข้าใจชัดเจน ทั้งไม่ท้อถอย และก็ไม่ปล่อยปละละเลยต่อลูกศิษย์ เอาใจใส่อดทนต่อการที่จะแนะนำสั่งสอน

ประการที่ ๖ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา เป็นผู้ที่กล่าวแถลงเรื่องลึกซึ้งได้ คำกล่าวสอนธรรมดาสามัญ ก็เป็นความดีของกัลยาณมิตรอยู่ทั่วไปแล้ว แต่กัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างแท้จริงก็คือ ผู้ที่สามารถนำให้เข้าถึงสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าเรื่องลึกซึ้งขึ้นไป ท่านไม่สามารถแนะนำได้ เราก็อยู่ในระดับธรรมดา ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ไม่เป็นไปเท่าที่ควร ไปไม่ไกล หรือไม่ถึงที่สุด จึงจะต้องมีคุณลักษณะข้อที่ ๖ คือ สามารถที่จะแถลงชี้แจงเรื่องลึกซึ้งได้ด้วย ตลอดจนกระทั่งว่า สิ่งที่ลึกซึ้งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ท่านก็ใส่ใจเอามาบอกกล่าวแนะนำชักจูงเราให้ปฏิบัติ บำเพ็ญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้

ประการที่ ๗ ข้อสุดท้าย ก็มีกรอบจำกัดไว้อีกว่า นอกจากจะมาช่วยแนะนำในข้างดีที่จะให้ได้ความรู้เข้าใจเกิดความรู้สึกในทางที่ดีงามและปฏิบัติถูกต้องแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีกรอบในทางที่ไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้น คือ โน จฏฺฐาเน นิโยชเย แปลว่าไม่ชักจูงในสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ หรือในทางที่เสียหาย อันนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจ ปลอดโปร่ง ปลอดภัยขึ้นมาว่า ท่านจะไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย และเฉออกไปผิดทาง

ท่านช่วยเราดีที่สุด คือช่วยให้เราทำเองได้

นี่คือคุณสมบัติของกัลยาณมิตร ผู้ที่มีกัลยาณมิตรอย่างนี้ จะมีความรู้สึกเป็นสุขในเบื้องต้น และมีความมั่นใจเกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติ พร้อมทั้งได้ข้อปฏิบัติอันถูกต้อง ที่จะนำมาใช้ในการที่จะพึ่งตนเองต่อไป เพราะฉะนั้น การพึ่งตนเองนั้น จึงไม่ใช่เป็นความแห้งแล้ง แต่เป็นไปอย่างมีความรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจว่า มีผู้คอยช่วย คอยโอบอุ้มเราอยู่ เป็นแต่ว่าการช่วยเหลือนี้ เป็นไปในขอบเขตที่ท่านจะทำได้จริงๆ ทำให้ตัวเราเองเก่งขึ้นแข็งขึ้น ไม่ใช่ให้เราอยู่กับความหวังที่งมงายลมๆ แล้งๆ และอ่อนแอลงไปทุกทีๆ

เป็นอันว่า กัลยาณมิตรนั้นท่านช่วยเรา ด้วยการช่วยอย่างประเสริฐ คือ ช่วยให้เราพึ่งตนช่วยตัวเองได้ และช่วยให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น ถ้าการช่วยเหลือใดทำให้เราอ่อนแอลง และยิ่งต้องหวังพึ่งเขาเรื่อยไป การช่วยนั้นก็ไม่ประเสริฐ ไม่ทำให้คนเป็นอิสระ ผู้ที่ช่วยอย่างนั้นไม่ใช่กัลยาณมิตรแท้จริง

พุทธศาสนิกชนนั้น จะต้องระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรานั้นคือทรงทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ คือการที่เป็น อกฺขาตาโร ตถาคตา เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำชี้ทางให้ เราทั้งหลายจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง ฉะนั้นจะต้องทำให้ตรงตามความจริงที่จะต้องเอาธรรมมาใส่ตน จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการแห่งธรรม คือความจริงแห่งธรรมดา ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ดังที่กล่าวมาอย่างนี้

ถ้ายังรู้สึกว่ามีความเข้มแข็งไม่พอ ก็ให้ระลึกต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือนึกว่า คนที่ไม่คิดจะทำอะไรด้วยตนเอง ไม่เพียรพยายามด้วยตนเอง หวังพึ่งอำนาจภายนอกมาดลบันดาล อยู่ด้วยความอยากความปรารถนานั้น เท่ากับเป็นคนที่ดูถูกตนเองด้วย คือดูถูกความสามารถของตนเอง เหมือนกับเป็นคนไม่มีความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่ว่าความจริงนั้น คนเราทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรให้ตนเองได้

ระลึกถึงพระพุทธเจ้าถูก
ความสามารถของเราก็เป็นประโยชน์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ความจริงมันก็เป็นหลักตายตัว ตั้งอยู่โดยธรรมดาตามธรรมชาติ ว่าอย่างนั้นๆ ตถาคตเพียงแต่ได้ค้นพบหลักความจริงอันนั้น แล้วนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย

พุทธพจน์นี้มีหมายความว่า สัจจธรรมความจริงมีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าเองมีฐานะเป็นผู้มาค้นพบความจริงนั้น แล้วพระองค์ก็มาบอกกล่าวแก่ผู้อื่น คนอื่นก็มีความสามารถจะเข้าถึงความจริงนั้นเช่นเดียวกัน เราทุกคนมีความสามารถนี้อยู่ ที่จะเข้าถึงความจริงนี้ได้ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ต้องอาศัยคำบอกกล่าวชี้แจงอธิบายของท่าน เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ดูถูกความสามารถของตนเอง คนที่หวังจะพึ่งคนอื่น หวังอำนาจดลบันดาล หวังอำนาจความศักดิ์สิทธิ์มาช่วยดลบันดาลนั้น เป็นคนดูถูกความสามารถของตน ไม่พัฒนาตัวเอง เราจะต้องสำนึกถึงศักยภาพของตนเอง

พระพุทธเจ้าที่เราระลึกถึงนั้น เพื่ออะไร ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ เป็นเครื่องเตือนใจว่าพระองค์เป็นตัวแบบ หรือเป็นแบบอย่างให้แก่เรา เตือนใจเราให้ระลึกถึงศักยภาพของมนุษย์ว่า คนเราทุกคนนี้ มีความสามารถที่จะพัฒนาตนได้ จนกระทั่งเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐสุด แม้แต่เทวดาที่มนุษย์ชอบไปไหว้ไปวอน ก็ยังมากราบไหว้มนุษย์ที่ประเสริฐอย่างนี้ พระพุทธเจ้าของเรานั้น แต่เดิมพระองค์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่พระองค์พัฒนาพระองค์เองจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า เป็นบุคคลที่สูงสุด เป็นบุคคลที่ควรเคารพบูชา เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ได้ ข้อนี้เป็นเครื่องเตือนใจ ทำให้เราเกิดกำลังใจว่า เราก็เป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนได้อย่างนั้น

ประการที่ ๒ นอกจากให้เกิดกำลังใจแล้ว ก็เตือนใจให้ระลึกถึงหน้าที่ด้วยว่า ในเมื่อเป็นมนุษย์ก็มีหน้าที่ที่จะพัฒนาตน พัฒนาศักยภาพของตนเอง อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญมาก ที่พุทธศาสนิกชนจะต้องเพียรพยายามนำมาประพฤติปฏิบัติ พระพุทธศาสนาจะสำเร็จประโยชน์ได้ก็ด้วยทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างนี้

ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา พึงเข้าใจฐานะความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดา และเข้าใจต่อมาตลอดจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับกัลยาณมิตร ที่เป็นครูอาจารย์ทั้งหลาย ถ้าเรามองขอบเขตความสัมพันธ์นี้ให้ถูกต้องแล้ว ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ก็จะเกิดผลสำเร็จตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ในการที่พระองค์เป็นกัลยาณมิตรมาช่วยเหลือเรานั้น ขอบเขตของการช่วยเหลือก็คือ พระองค์มาทรงบอก ประทานหลักความจริง เปิดเผย ส่องประทีปให้เราหายมืด และบอกทางให้เรา แต่การที่จะทำผลสำเร็จให้เกิดขึ้นนั้น เราต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักความจริงที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น ถ้าทำตามหลักนี้ เราก็เพียรทำหน้าที่ของเรา คือ ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ความเพียรเธอทั้งหลายจะต้องทำ ตถาคตทั้งหลาย เป็นเพียงผู้บอก นี้คือการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วก็จะเข้าหลักที่กล่าวมาแล้ว คือการที่พึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม

ถ้าจะกตัญญู ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราได้มาประชุมกัน ได้มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้ว เราทั้งหลายมาระลึกถึงหลวงปู่ชาในฐานะที่ท่านเป็นกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่สำคัญ เป็นกัลยาณมิตรที่ดำเนินตามปฏิปทาของกัลยาณมิตรผู้สูงสุด คือพระพุทธเจ้า เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อท่าน ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรนั้น ให้ท่านเป็นเครื่องเตือนใจเรา ในฐานะที่เป็นผู้ให้คำสอน แสดงหลักที่ดีงาม และปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แล้ว ให้เราดำเนินตาม เราระลึกถึงท่านในฐานะที่ว่า เมื่อยังอยู่ได้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร โดยมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม

เริ่มด้วยท่านมีความเป็น ปิโย เป็นผู้ที่น่ารัก ประกอบด้วยเมตตา ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ชื่นใจ มีความชุ่มฉ่ำใจ มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนคอยช่วยเหลืออยู่ ไม่อ้างว้างว้าเหว่ เรามีความรู้สึกนี้ เราจึงมีความกตัญญูระลึกถึงท่าน มาประชุมกัน นี้เป็นประการที่ ๑ และเรามองเห็นท่านเป็น ครุ เป็นผู้มีคุณธรรมน่าเคารพ เป็นผู้หนักแน่น เป็นผู้มั่นคง พลอยทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ามั่นคง เป็นหลักให้แก่เรา เราได้เกาะเกี่ยวกับท่านอยู่ กับทั้ง ภาวนีโย ท่านเป็นแบบอย่างให้เรา เป็นที่เจริญใจ ระลึกถึงท่านเมื่อไร ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้าในธรรมยิ่งขึ้น แล้วก็ วตฺตา ท่านเป็นผู้บอกกล่าวชี้แจงแนะนำคำสอนไว้ให้แก่เราแล้ว เราก็เอาคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม

นอกจากนี้คุณสมบัติอื่นอีก คือ ความเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ความเป็นผู้ที่แถลงแนะนำชี้แจงเรื่องราวที่ลึกซึ้ง การที่ท่านไม่ชักนำในอฐานะ ในเรื่องราวเหลวไหลไร้สาระอะไรต่างๆ ก็เป็นที่ปรากฏประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่ ในเมื่อหลวงปู่ชาท่านมีความเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าวมานี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ทั้งหลาย ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงท่านแล้ว ก็มีน้ำใจตอบแทน จึงพากันมาบูชาคุณของท่าน ดังที่ปรากฏวันนี้ว่า มีจำนวนมากมายเหลือเกิน นี้เป็นน้ำใจที่เราทั้งหลายแสดงออกตอบแทนต่อท่านที่เป็นครูอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรของเรา จึงเป็นที่น่าอนุโมทนา

แต่ข้อสำคัญก็คือว่า เมื่อระลึกถึงกัลยาณมิตร มีความกตัญญูต่อท่านแล้ว กระทำการบูชาท่าน ก็จะต้องกระทำการบูชานั้นให้ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติบูชาให้ได้ คือต้องเข้าใจหลักความเป็นกัลยาณมิตร ตลอดขึ้นไปจนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำพร่ำสอน เราจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง จะต้องพึ่งธรรม จึงจะพึ่งตนได้สำเร็จ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

มาอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า
ก็ลืมตาของเราออกดู

วันนี้ ที่จริงนั้นไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะมากล่าวธรรมกถากับญาติโยม เพราะว่าเพียงแต่จะมาเพื่อได้ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ เดิมนั้นท่านผู้จัดเตรียมงานก็นิมนต์จะให้มาแสดงธรรมเหมือนกัน แต่รายการนั้นล้มเลิกไปแล้ว การมาคราวนี้ที่จริงๆ นั้น มาเพื่อจะร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างเดียว แต่พอดีว่าไม่มีเครื่องบินที่จะกลับได้ทัน ก็เลยว่าจะกลับพรุ่งนี้ มีเวลาอยู่ถึงคืนนี้ ท่านก็คงคิดทำนองว่า ไหนๆ มาแล้ว มีเวลาก็พูดกับญาติโยมหน่อย ฉะนั้นวันนี้จึงถือว่าขึ้นมาพูดทักทายกะญาติโยม ได้มาปราศัยพูดจากันบ้าง ก็อย่าให้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร เพียงเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจ และเป็นสัมโมทนียกถาแก่ญาติโยมทั้งหลายเท่านั้น

เวลาบัดนี้ก็ล่วงเลยไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสำหรับตอนพิธีเกี่ยวกับการที่จะประชุมเพลิง เผาสรีระของหลวงปู่ชาท่านในขั้นสุดท้ายต่อไป ขออนุโมทนา ท่านพระเถรานุเถระ สพรหมจารีทั้งหลาย พร้อมทั้งญาติโยมสาธุชน อุบาสกอุบาสิกาทุกท่าน ที่ได้มาร่วมพิธีนี้ และดังที่กล่าวแล้วว่า ได้มาบำเพ็ญการบูชาด้วยการปฏิบัติ ก็ขอให้การปฏิบัติที่เป็นการบูชาอันถูกต้องดำเนินสืบต่อไป ด้วยการที่เราทั้งหลายระลึกถึงคำสอนคำเตือนของท่านที่ให้ไว้ และนำไปใช้ประโยชน์ให้เป็นการถือประทีปนำทางสืบต่อไป และเอาคำสอนของท่านนั้นเป็นเครื่องโยงตัวเราไปหาพระพุทธเจ้า เพราะโดยแท้จริงในขั้นสุดท้ายแล้ว พระอาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้ที่เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาถ่ายทอดให้พวกเรา เป็นผู้ที่โยงเราเข้าไปหาพระพุทธเจ้า หรือว่านำเราไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านอุตส่าห์บอกทางที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือมาจูงเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บางคนไปถึงแล้ว ไปอยู่ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วหลับตาเสียนี่ ไม่ลืมตามอง เลยไม่เห็นพระพุทธเจ้า เข้าเฝ้าแล้วไม่ได้พบพระพุทธเจ้า หรือว่าอย่างน้อยท่านบอกทางเดินให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เราไม่เดินไปตามทางที่ท่านบอก ไม่ได้ใช้คำพูดของท่านให้เป็นประโยชน์ ก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อท่านมาทำหน้าที่ที่บอกทางหรือจูงเราเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ขอให้เราได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้จริงจัง เฝ้าพระพุทธเจ้าจริงก็คือได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

วันนี้คิดว่าจะพูดสักเล็กๆ น้อยๆ พูดไปพูดมาก็ชักจะยืดยาว เดี๋ยวจะเกินเวลาอันสมควร จึงขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ขอทุกท่านจงประสบความสุขสวัสดิ์โดยทั่วกัน และขอกุศลที่ทุกท่านได้บำเพ็ญในโอกาสนี้ อันเป็นการบูชาทั้งในส่วนอามิส และในส่วนการปฏิบัติ จงเป็นปัจจัยอันมีกำลังนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทุกท่านโดยทั่วกัน ตลอดกาลนาน เทอญ

1 พระธรรมเทศนา แสดงในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ชา วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง