คนไทยกับสัตว์ป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คนไทยกับสัตว์ป่า1

วันนี้ ที่บริเวณสถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม ที่เขาสำโรงดงยาง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าเขาดงยางนี้ มีการ “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ”

ญาติโยมได้เดินทางมากันเป็นจำนวนมาก ประมาณสัก ๑๐๐ ท่าน และได้ร่วมกันสละแรงสละเวลา บำเพ็ญประโยชน์ เจ้าภาพใหญ่คือ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

การมาปลูกต้นไม้ในช่วงนี้ก็เหมาะ คือเป็นฤดูฝน เรียกว่าฤดูพรรษา อีก ๔ วันข้างหน้าก็จะเป็นวันเข้าพรรษา

การปลูกต้นไม้ในช่วงนี้จึงถือว่า เป็นฤกษ์งามยามดี เป็นนิมิตหมายว่า ต้นไม้จะเจริญงอกงามเพราะได้ฝน

นอกจากทางสัตวแพทยสมาคมฯ แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วย ซึ่งอาตมภาพในฐานะผู้อยู่ที่นี้ ก็ขออนุโมทนาไว้ด้วย

หน่วยงานที่ร่วมกุศล ก็คือ สำนักงานปศุสัตว์ เขต ๒, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, คณะศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีกุหลาบธนบุรี

ทั้งนี้ก็มีคณะอนุกรรมการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วเอนกประสงค์ สภาวิจัยแห่งชาติ เป็นฝ่ายประสานงานและบำรุงรักษาดูแล

ทั้งหมดนี้ อาจารย์ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ได้ประสานงานเป็นหลักสำคัญอยู่ทาง “กองทุนป่าสายใจธรรม”

วันนี้ปลูกป่ากันไม่ใช่น้อยทีเดียว ได้ทราบว่าเป็นจำนวนต้นไม้ถึง ๒,๐๐๐ ต้น ในเนื้อที่ ๑๐ ไร่ และยังมีไม้ที่บริจาคไว้ซึ่งจะขยายได้เป็น ๑๕ ไร่

ด้วยเหตุที่สัตวแพทยสมาคมฯ เป็นเจ้าภาพวันนี้ เพราะฉะนั้น ป่าส่วนนี้ก็จะเรียกชื่อว่าเป็น “ป่าสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย” จะได้เป็นที่ระลึกหรือเป็นอนุสรณ์สืบไปภายหน้า

 

ดูเขาดงยางเป็นตัวอย่าง
ก็พอเห็นว่าสัตว์ป่าไปไหน

ป่าที่เขาดงยางนี้ความจริงเป็นป่าเก่า การที่เรามาปลูกกันครั้งนี้ เท่ากับมารื้อฟื้นของเดิม

ได้ยินว่า เมื่อก่อนนั้น เขานี้ พร้อมทั้งบริเวณโดยรอบ เป็นป่าดงดิบทึบใหญ่มาก ถอยหลังไปแค่สัก ๔๐ ปี ยังมีเสือ มีช้าง เฉพาะบนเขานี้เอง ลุงเถาะซึ่งเฝ้าอยู่ที่นี่ อายุตอนนี้ ๗๐ ปีเศษ เล่าว่าเมื่อตอนหนุ่มๆ ถอยหลังไป อย่างที่ว่าเมื่อกี้ประมาณ ๔๐ ปี เวลาเย็นๆ มีฝูงวัวแดงลงมาตามข้างเขาเพื่อกินน้ำกัน แสดงถึงสภาพของสถานที่บริเวณนี้ที่เป็นป่าเก่า

แต่สภาพป่านั้นได้หมดไปอย่างรวดเร็ว มีการทำลายโดยการหักร้างถางพง ทำไร่ไถนา และทำสวนกันหมด ปัจจุบันนี้ บริเวณรอบเขานี้ไม่เห็นป่าเลย ป่าเหลืออยู่บ้างแต่บนเขา ซึ่งเป็นป่าเล็กๆ

ความจริงตัวป่าเองแท้ๆ หมดไปแล้ว ส่วนที่เห็นนี้เป็นไม้รุ่นหลังที่เกิดงอกขึ้นมาใหม่ และเหลืออยู่เฉพาะบริเวณที่เรียกว่าเป็นป่าเล็กๆ อย่างที่ว่าแล้ว

ธรรมดาป่า ย่อมคู่กับสัตว์ป่า ที่ไหนมีป่า ก็ย่อมมีสัตว์ป่า ที่ไหนมีสัตว์ป่า ก็ต้องมีป่า แต่ป่าที่นี่แทบจะไม่มีสัตว์ป่าเลย ถ้าจะมีอยู่บ้างก็คือนก นอกจากนกก็มีไก่ป่า ซึ่งยังได้ยินเสียงขันบ้าง ตอนนี้ญาติโยมเอาไก่บ้านมาปล่อยมาก ก็เลยมีทั้งไก่ป่าและไก่บ้าน ขันกันทั้งวัน

นอกจากนั้นก็คงมีงู ซึ่งพอมีให้พบเห็นได้เรื่อยๆ เคยเดินไปเจองูกะปะ งูแมวเซาก็มี นอกจากนี้ที่ไม่มีพิษหรือมีพิษน้อยก็มีบ้าง อย่างงูเขียว และงูสิงห์ เป็นต้น งูเหลือมใหญ่ๆ ก็มี บางครั้งมากินไก่ ลิงก็มีสักตัวสองตัว ตอนนี้จะเหลืออยู่หรือไม่ก็ไม่แน่ใจ มันเคยลงมาแล้วลักกินพวกพืช เช่นฟักทอง ที่ญาติโยมปลูกไว้

สัตว์ป่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระต่ายป่า เมื่อสัก ๔-๕ ปีก่อนได้ยินว่ามีบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่ได้เห็นร่องรอยเลย สงสัยว่าจะหมดไปแล้ว เพราะคนมายิงเอาไปกิน

เวลานี้มีป่า แต่ไม่จำเป็นต้องมีสัตว์ป่า เพราะว่าสัตว์ป่าถูกทำลาย ถูกคนกำจัดหมดไป

อาตมาไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่าเท่าไร วันนี้ทางคณะผู้ดำเนินการขอให้พูดเรื่อง “คนไทยกับสัตว์ป่า”

ญาติโยมมาปลูกป่า แต่ให้พูดเรื่องสัตว์ป่า ท่านที่มาปลูกป่านั้นคือ สัตวแพทยสมาคมฯ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสัตว์ เป็นผู้มีความรู้เรื่องสัตว์ เมื่อมาปลูกป่าก็นึกถึงสัตว์ป่า ก็คงอยากจะให้มีสัตว์ป่าคู่กับป่า จึงขอให้พูดเรื่องนี้

แต่ก็อย่างที่ว่าแล้ว อาตมาไม่ค่อยรู้เลยเรื่องสัตว์ป่า คงจะพูดได้แต่ในแง่ที่ว่า เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อทำให้มีสัตว์ป่าเหลืออยู่ต่อไป หรือเพิ่มขึ้นมา แต่เมื่อไม่ค่อยมีสัตว์ป่าให้เหลือไว้ อาตมาก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า

ทีนี้ ที่ว่าสัตว์ป่าหมดไปนั้น เพราะอะไร สัตว์ป่าหมดไปด้วยเหตุสำคัญ

ประการที่ ๑ ก็คือ คนไปล่า บ้างก็ล่าเป็นอาหารโดยตรง โดยเฉพาะชาวบ้านที่มายิงสัตว์ป่ากัน ทั้งที่สัตว์ป่าเหลือน้อยอยู่แล้ว บางทีบนยอดเขาก็มีปลอกกระสุนตกอยู่ ซึ่งแสดงว่าชาวบ้านมาล่าสัตว์เอาไปเป็นอาหาร

ประการที่ ๒ คือคนมาทำลายป่า โดยที่จะเอาไม้ไปก่อสร้าง อย่างน้อยก็เอาไปทำฟืน หรือเอาไปเผาถ่าน หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ คนขยายที่ทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นเหตุให้ป่าหมดไป เมื่อป่าหมดไปสัตว์ป่าก็ไม่มีที่อาศัย สัตว์ป่าก็ย่อมหมดไปด้วย

จึงกลายเป็นว่า สัตว์ป่าหมดไปโดยตรง จากการที่ตัวมันเองถูกล่าบ้าง และหมดไปโดยทางอ้อม เนื่องจากที่อยู่อาศัยของมัน คือป่าหมดไป มันจึงไม่มีที่จะอยู่ รวมเป็น ๒ ประการ

ป่าที่นี่ แม้จะเกือบหมดไปแล้วก็ตาม แต่สัก ๔-๕ ปีมานี้ ได้ฟื้นฟูขึ้นมาบ้าง เหตุที่ฟื้นตัวขึ้นมาก็เพราะปัจจัยอย่างแรก คือ ญาติโยมขอร้อง และชาวบ้านก็ได้ร่วมมือ ในเรื่องการเลิกเผาถ่าน

ก่อนที่พระจะมาอยู่ เมื่อ ๖-๗ ปีก่อน มีการเผาถ่าน การเผาถ่านนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แม้มีไม่กี่คนเผาถ่าน แต่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ ต้องตัดทีละหลายต้น แม้แต่ตัดทีละต้นมันก็ขึ้นไม่ทัน เพราะฉะนั้นก็มีแต่จะหมดไป ป่าจึงโหรงเหรงลงไปทุกที

พอชาวบ้านร่วมมือ ปรากฏว่าต้นไม้ก็ขึ้นงอกงาม และทึบขึ้นมาก ชักจะหนาแน่นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความร่วมมือของชาวบ้าน ซึ่งน่าอนุโมทนา

ปัจจัยเสริมสร้างอย่างที่ ๒ ก็คือ ฝ่ายบ้านเมือง โดยเฉพาะฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่น ที่มีความเอาใจใส่เพิ่มขึ้น และได้มาช่วยกันห้าม มาช่วยกันป้องกัน ไม่ให้คนมาเผาป่า ไม่ให้คนมาล่าสัตว์ ในส่วนนี้ก็เป็นปัจจัยในด้านเสริมสร้าง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการทำลายอยู่เหมือนกัน เช่น ในหน้าแล้งราวเดือนห้า ยังมีการเผาป่ากันอยู่บ้าง ซึ่งบางทีก็น่าตกใจ ไฟไหม้เป็นทางยาวเป็นกิโลเมตร บางครั้งพระที่วัดก็ไปยืนดู กลัวจะลุกลามมาถึงวัด

ไฟที่เกิดขึ้นนี้ ได้ทราบว่าเนื่องจากเมื่อมีชาวบ้านมาดักจับสัตว์ บางทีเขาก็ใช้วิธีเผาไฟดักหรือล้อมไว้ เพื่อให้สัตว์หนีไม่ได้ เสร็จแล้วก็กลายเป็นการทำลายทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งทำลายสัตว์ป่า และทำลายป่าไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าหมดไปเรื่อยๆ

ตอนนี้ เมื่อกำนัน และผู้ใหญ่บ้านเป็นต้น เอาใจใส่ดูแล ก็เป็นส่วนดีงาม ที่จะช่วยให้ป่านี้ฟื้นตัวขึ้นมา

ปัจจัยประการที่ ๓ ก็คือการปลูกป่าเพิ่มเติม อย่างที่ปลูกกันในวันนี้ โดยเฉพาะ ในการที่อาจารย์ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ได้ประสานงานให้มีการมาช่วยกันปลูกเป็นครั้งใหญ่ ๓-๔ ครั้งแล้ว

ครั้งที่แล้วก็ปลูกในพื้นที่ติดต่อกันกับที่ปลูกในวันนี้ คือปลูกมาแล้วถึง ๔๐ กว่าไร่ คราวที่แล้วได้ทราบว่าปลูกตั้งหมื่นต้น วันนี้คิดว่า ถ้าดินฟ้าอากาศช่วย ก็คงจะเจริญงอกงามดี

แต่เราก็มีอุปสรรคสำคัญ คือ ต้องยอมรับความจริงว่า บริเวณนี้แห้งแล้งมาก โยมมาตอนนี้เป็นฤดูฝน มีฝนบ้างแล้ว ที่จริงฝนก็ไม่มาก ที่นี่ฝนไม่ชุกเลย ยิ่งถ้ามาหน้าแล้ง จะแห้งแล้งมาก ใบไม้จะร่วงหล่น โหรงเหรงหมด จนป่านี้โกร๋น

ต้นไม้บางทีปลูกแล้วก็ทนไม่ไหว อย่างทางด้านบนเขา ห่างจากนี่ไปนิดหน่อย ใกล้ศาลาที่เรียกว่าสายใจธรรม อาจารย์ ดร.สุรีย์ ได้ร่วมมือกันกับท่านที่มีจิตศรัทธามาปลูกต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดไว้ โดยเอาต้นโตๆ มาปลูกไว้ ปลูกกันเมื่อปีก่อนโน้น แต่เมื่อผ่านแล้งปีที่แล้วทนไม่ไหว ตายไปหลายต้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ในส่วนที่เราปลูกกันนี้ ก็ต้องบำรุงรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งต้องขออนุโมทนาคุณประจวบ แห่งสวนป่าลาดกระทิง ที่มาเอาใจใส่ดูแลอยู่เรื่อย

ต้องยอมรับความจริงว่า ธรรมชาติแวดล้อมที่นี่ไม่อำนวย ความแห้งแล้งเป็นอุปสรรคสำคัญ เป็นอันว่า มีปัจจัยทั้งฝ่ายส่งเสริม และฝ่ายตัดรอน ป่าของเราจะมีชะตากรรมอย่างไร ก็ต้องดูกันต่อไป

เขาดงยางนี้ อาจารย์ ดร.สุรีย์ บอกว่าเป็น ๑ ในบรรดา ๓๔ เขาของจังหวัดฉะเชิงเทรา หมายความว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเขาอย่างนี้ ๓๔ เขา และใน ๓๔ เขานี้ เขานี้มีป่าที่งอกงามที่สุด

ขอให้นึกดูกันว่า ขนาดป่าที่ว่าดีที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในบรรดาป่าแห่งเขา ๓๔ ลูก ดีที่สุดยังเป็นอย่างนี้แล้ว ที่อื่นจะเป็นอย่างไร และไม่เฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้จังหวัดอื่นในประเทศไทยก็คงเป็นอย่างนี้

นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาบอกว่า เขาดงยางที่ญาติโยมนั่งกันอยู่นี้ เป็นเขาลูกที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่ควรทราบไว้ด้วย

วันนี้เรามาปลูกต้นไม้กันที่ภูเขาที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด หมายความว่าจากกรุงเทพฯ เราอาจไปทางสระบุรี และโคราช เป็นต้น เมื่อวัดไปรอบกรุงเทพฯ ก็มาเจอเขานี้ใกล้ที่สุด

ทางป่าไม้เคยบอกว่า มีโครงการจะมาปลูกต้นไม้ บำรุงที่นี้ให้เขานี้ได้มีป่าที่งดงาม นี่ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าในประเทศไทยนี้

 

เมื่อสัตว์เมืองเจริญขึ้นมา
สัตว์ป่าก็ล้มหาย

ประเทศไทยนั้น เราอาจมองไปจากที่นี่เป็นตัวอย่าง อาตมาบอกเมื่อกี้ว่าบริเวณนี้เคยเป็นป่าใหญ่ แล้วก็หมดไปเพียงในเวลา ๓๐-๔๐ ปี ประเทศไทยทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้

ถ้าเราจับเอาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัดตอนได้ มีสถิติบอกว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ๖๐% ก็เป็นธรรมดาว่า เมื่อมีป่ามาก สัตว์ป่าก็ย่อมมีมาก

นับจากปีสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ ป่าเมืองไทยลดจาก ๖๐% เหลือ ๕๓% ยังมีป่า ๑๗๑ ล้านไร่ คือ ประมาณ ๒๐ ปี ลดลงเพียง ๗% แสดงว่าลดลงไปนิดเดียวเท่านั้นเอง

จากปี ๒๕๐๔ นั้น มาดูอีกทีหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๒๘ ป่าเมืองไทยลดจาก ๕๓% เหลือเพียง ๒๙.๐๑% เหลือป่าอยู่เพียง ๑๓.๑ ล้านไร่ คือประมาณ ๒๔ ปี ลดลงไปมากมายถึง ๒๓.๐๙% เป็นการลดวูบวาบ น้อยลงไปรวดเร็วอย่างน่ากลัว

จากปี ๒๕๒๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นเวลา ๑๐ ปีนี้ ไม่ทราบว่าป่าลดลงไปอีกเท่าไร2 สถิติว่า ในจำนวนป่าทั้งหมด เป็นป่าอนุรักษ์อยู่ ๑๕% รวมความว่า ป่าในเมืองไทยเราขณะนี้ร่อยหรอมาก

ในการที่ป่ากับสัตว์ป่าร่อยหรอลงไปนี้ ผู้ทำลายป่าและสัตว์ป่า หรือศัตรูสำคัญ คือใคร ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ สัตว์เมือง

สัตว์ป่านั้นคู่กับสัตว์เมือง สัตว์เมืองคือใคร ก็คือ คน คนนี่แหละเป็นสัตว์เมือง แต่ที่จริงนั้น เดิมแท้คนเรานี้กับสัตว์ป่า ก็เป็นสัตว์ป่าด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเกิดมาเดิม มนุษย์ก็เป็นสัตว์ป่า ฉะนั้นถ้ามองในแง่ว่าเป็นสัตว์ป่าด้วยกัน ก็ต้องนับว่าสัตว์ป่าที่เรียกว่ามนุษย์นี้ร้ายที่สุด เพราะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำลายสัตว์ป่าชนิดอื่นให้ร่อยหรอหมดไป จนแทบจะเหลือแต่ตัวคนเดียว

ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่า เมื่อเอาระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจุดกำหนด เราจะเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มานี้ สัตว์เมืองเจริญมาก และสัตว์เมืองนี้มีความเจริญหลายด้าน ที่ทำให้สัตว์ป่าหมดไป

แต่ก่อนนั้น เราเรียกได้ว่าเป็นยุคสัตว์ป่า เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีสัตว์ป่ามาก แต่พอมาถึงยุคนี้ ก็กลายเป็นยุคสัตว์เมือง

สัตว์เมืองเจริญมากเพราะอะไร ปัจจัยสำคัญประการแรก ก็คือ ประชากรของสัตว์เมืองเพิ่มมากมายและรวดเร็ว ถอยหลังไปเมื่อปี ๒๔๕๔ ในที่นี้ก็คงยังไม่มีใครเกิดเลย หรือจะมีบ้างก็ไม่ทราบ ถ้าเกิดปี ๒๔๕๔ เดี๋ยวนี้จะอายุเท่าไร ก็ ๘๔ ปี ถ้าอยู่ป่านนี้ก็อายุ ๗ รอบ ตอนปี ๒๔๕๔ นั้น ลองทายซิว่า ประเทศไทยมีประชากรเท่าไร ทายในใจแล้วอาตมาก็จะเฉลย ปรากฏว่าตอนนั้น มีประชากรของประเทศไทย ๘ ล้านคน

ต่อมาประชากรไทยก็เพิ่มมากขึ้นๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาถึง ปี ๒๔๙๐ กลายเป็น ๑๘ ล้านคน แต่ก่อนนี้มีเพลงปลุกใจร้องกันอยู่เสมอ ถึงเรื่องประเทศไทยมีประชากรอยู่ ๑๘ ล้านคน

ลองเทียบกันดู จากปี ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ประชากรไทยเพิ่มขึ้นจาก ๘ ล้าน เป็น ๑๘ ล้านคน คือใน ๓๖ ปี เพิ่มขึ้น ๑๐ ล้านคน

แต่จากปี ๒๔๙๐ มาถึงปีนี้ ๒๕๓๘ ประชากรประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก ๑๘ ล้าน เกือบจะถึง ๖๐ ล้านคนแล้ว คือใน ๔๘ ปี เพิ่มขึ้น ๔๒ ล้านคน นี่แหละประชากรที่เรียกว่าสัตว์เมือง ได้เพิ่มขึ้นมากมายเหลือเกิน

เมื่อประชากรเพิ่มมาก เราก็ขยายที่ทำกิน และพร้อมกันนั้น ก็มีการพัฒนาประเทศ มีการสร้างสรรค์ความเจริญ ก็ใช้ไม้มาก จึงมีการตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อหาที่ทำกิน สร้างบ้านเมือง ทำถนนหนทาง และเอาไม้มาใช้

ไม่เฉพาะใช้ในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีการค้าขาย รวมทั้งการตัดไม้ส่งไปนอกประเทศเป็นสินค้าออกด้วย ความต้องการไม้มากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ก็ทำให้มีการทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า คือทำลายป่าไปมากมาย

สิ่งที่มาช่วยส่งเสริมการทำลายป่าหรือสัตว์ป่า ก็คือ เทคโนโลยี มนุษย์ยุคนี้เจริญด้วยเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สัตว์เมืองมีเทคโนโลยีที่จะทำลายทั้งสัตว์ป่า และป่า

ยกตัวอย่าง ถ้าจะทำลายสัตว์ป่า เราก็มีปืนที่จะไปล่าสัตว์ได้สำเร็จอย่างง่ายดายและรวดเร็ว สามารถยิงทีหนึ่งๆ ได้มาก ทีนี้ถ้าจะทำลายป่าก็เช่นเดียวกัน เรามีเทคโนโลยีที่เจริญ แต่ก่อนต้องใช้เลื่อยมือ แล้วก็ขวาน ต้นไม้ใหญ่ๆ กว่าจะตัดเสร็จ ว่ากันหลายวัน แต่เวลานี้เรามีเลื่อยไฟฟ้า แม้แต่ต้นไม้ใหญ่ที่เจริญขึ้นมาใช้เวลาเป็นร้อยปี เราตัดไม่กี่นาทีก็หมด

ฉะนั้น ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายสัตว์ป่าได้ผลรวดเร็วมาก

เพราะเหตุที่ป่าและสัตว์ป่าลดหดหายไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาคนเราก็เห็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะป่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีแต่ความแห้งแล้ง มนุษย์ก็จะขาดแคลนอาหาร เป็นต้น ดินฟ้าอากาศก็จะแปรปรวน และยิ่งมาถึงสมัยนี้ ภัยอันตรายจากการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรมและทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ก็ปรากฏชัดขึ้นทุกที

เมื่อคนเห็นภัยอันตรายมาถึงตัวแล้ว ก็เห็นความสำคัญของป่า จึงพยายามที่จะหาทางอนุรักษ์ป่าพร้อมทั้งสัตว์ป่าไว้

มนุษย์จะทำอย่างไร มนุษย์ก็ต้องหันมาสู้กับมนุษย์ด้วยกันเอง หมายความว่า ตอนนี้ สัตว์เมืองต้องมาสู้กับสัตว์เมือง เพื่อจะช่วยเหลือป้องกันป่าและสัตว์ป่าไว้ เช่น มีการออกกฎหมายแผ่นดินมาป้องกัน ให้สัตว์เมืองไม่ไปตัดไม้ทำลายป่าและไม่ไปยิงสัตว์ป่า

นอกจากออกกฎหมายแล้วทำอะไร ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเป็นการใหญ่ ตอนนี้จึงเกิดมีสิ่งที่โบราณไม่เคยมี โบราณคงไม่เคยต้องออกกฎหมายมารักษาป่า ไม่เคยมีการตั้งหน่วยงานมารักษาป่า โบราณไม่เคยต้องมาเอาใจใส่ในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เป็นปีแรกที่มี พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และปี ๒๕๐๔ ก็มี พรบ. อุทยานแห่งชาติ ต่อมาก็มีการตั้งกองอนุรักษ์สัตว์ป่าในปี ๒๕๑๘

จากนั้นก็มีการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีการออกระเบียบการห้ามส่งสัตว์ป่าออกนอกราชอาณาจักร เป็นต้น

เรื่องนี้ในรายละเอียดไม่ต้องพูด เพราะอาตมาไม่ชำนาญอะไร มีท่านที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ที่เราจะหาความรู้หรือข้อมูลได้ ทั้งมีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และมีหนังสือตำรับตำรา อาตมายกมาพูดเพียงให้เห็นว่า มนุษย์เราได้เริ่มเห็นความสำคัญของป่าและสัตว์ป่า จึงมีการคุ้มครองป้องกันขึ้น

เรื่องที่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกต และเป็นความรู้ที่น่าสนใจ ดังที่ได้ยกมาพูดนิดๆ หน่อยๆ ก็คือเรื่องของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพืชพรรณและสัตว์ป่า อาจจะตั้งเป็นคำถามสำหรับทดสอบความรู้รอบตัว เช่น อาจจะถามขึ้นมาว่า อุทยานแห่งชาติแห่งแรกคือที่ไหน ตั้งขึ้นเมื่อไร

คำถามที่หนึ่ง ถ้าจะเฉลย ก็ตอบว่า ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ อุทยานแห่งชาติสถานที่แรกคือที่ไหน คือเขาใหญ่ และต่อมาแห่งที่ ๒ ลองทายซิที่ไหน ก็ปีเดียวกันนั้นเอง ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ คือที่ภูกระดึง

ต่อไปลองทายซิที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เอาแค่ห้าก็พอแล้ว มากนักก็เกินจำเป็น แห่งที่ ๓ ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ คือ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แล้วต่อมาข้ามอีก ๖ ปี จึงได้ตั้งแห่งที่ ๔ คือ ปี ๒๕๑๕ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำหนาว แล้วมาปี ๒๕๑๗ คืออีก ๒ ปีต่อมา หลังจากตั้งบนแผ่นดินมามากแล้ว ก็ออกไปตั้งนอกแผ่นดินบ้าง ที่ไหนดี ก็ที่เกาะตะรุเตา

นี้เป็นความรู้รอบตัว เผื่อว่าจะไปทายกัน ถ้าอาตมาได้ข้อมูลมาผิด โยมว่าตาม ก็ตอบผิดด้วย

เวลานี้มีสถิติที่น่าสนใจนิดหน่อยคือ เมื่อปี ๒๕๓๑ มีอุทยานแห่งชาติทั้งหมดไม่ใช่น้อย เพียงตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ มาถึง ๒๕๓๑ ปรากฏว่ามีอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน ๕๒ แห่ง รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดถึง ๑๖.๗ ล้านไร่ และตอนนั้นกำลังเตรียมการจัดตั้งอีกแห่งหนึ่ง

นอกจากอุทยานแห่งชาติแล้ว ก็ยังมีสถานที่สำคัญที่จะรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้อีก ๒๘ แห่ง และมีเขตห้ามล่าสัตว์อีก ๓๘ แห่ง มีวนอุทยานอีก ๓๕ แห่ง นอกจากนี้ยังมีสวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ และอะไรต่างๆ อีก แสดงว่าเมืองไทยเรานี้ได้พัฒนาในเรื่องนี้มาก

เวลานี้เรามีป่าประเภทต่างๆ เอาไว้สำหรับรักษาสัตว์ป่าในบ้านเรามากมายหลายประเภทหลายชนิด แต่ทั้งๆ ที่ได้พยายามตั้งกันขึ้นมาอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังยอมรับว่า ถึงแม้เราจะได้มีการจัดตั้งหน่วยราชการขึ้นมาคุ้มครองช่วยเหลือสัตว์ป่า ถึงแม้จะมีสถานที่จัดไว้เฉพาะ เช่น อุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาป่าและสัตว์ป่า และยังมีกฎหมายคุ้มครองป้องกันอีกด้วย ก็ยังปรากฏว่า ไม่สามารถหยุดการทำลายป่าและสัตว์ป่าได้

เป็นที่น่าสังเกตและเป็นที่น่าเสียดายด้วยว่า ทั้งๆ ที่เราเพียรพยายามขนาดนี้ ป่าและสัตว์ป่าก็เหลือน้อยและร่อยหรอลงไปทุกที เจ้าหน้าที่เองก็ยังยอมรับเลยว่า สู้ไม่ไหว

เป็นอันว่า ในเมืองไทยนี้ การทำลายป่าและสัตว์ป่าก็ยังมีอยู่เรื่อยไป ป่าที่ว่าลดน้อยลงแล้ว ก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก และการที่เรามาปลูกกันจะทันหรือเปล่า หลายคนคงบอกว่าไม่ทันหรอก การทำลายนั้นไวกว่าเราที่มาสร้างได้ทีละนิดหนึ่งๆ เราทำได้ทีละคืบ แต่เขาทำลายทีละวา ฉะนั้นจึงไม่ทันกัน

เวลานี้ขอความรู้รอบตัวอีกสักข้อหนึ่งว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ไหน เฉลยว่าคือ ทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด ๔,๘๓๑ ตารางกิโลเมตร ที่ว่าใหญ่ที่สุดนั้น ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะรักษาความใหญ่ไว้ได้เท่าไร เพราะในเวลาแต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป คนไทยเราก็ทำลายป่า และทำลายสัตว์ป่ากันไปตลอดเวลา

สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า นอกจากจำนวนสัตว์ป่าจะลดลงแล้ว บางชนิดยังสูญพันธุ์ด้วย

ตอนนี้จะขอความรู้รอบตัวอีกสักอย่างหนึ่งว่า สัตว์ป่าอะไรที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก และเวลานี้สัตว์ป่าชนิดนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว คำตอบคือ สมัน แต่ก่อนนี้ สมันมีมาก แถวรังสิตก็มี แต่เวลานี้หมดไปแล้ว

นอกจากนั้นก็ยังมีพวกสัตว์ป่าอื่น ที่หมดไปจากประเทศไทย แต่พอดียังเหลือที่อื่นบ้าง เช่น พวกแรด กระซู่ ละอง ละมั่ง สัตว์ป่าพวกนี้หมดจากประเทศไทยแล้ว

นอกจากสัตว์ป่าจะร่อยหรอลงไปแล้ว สัตว์อื่นๆ ก็มีจำนวนน้อยลง แล้วก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนนั้นเองที่ทำลายสัตว์ไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นกลดน้อยลงเพราะอะไร เหตุหนึ่งก็คือ การที่คนเราทำเกษตรกรรม มีการใช้สารเคมี ซึ่งทำให้เป็นพิษ นกมากินพวกสัตว์ คือหนอนต่างๆ ที่มีพิษแล้ว นกก็ตายหรือบ้างก็อาจถึงกับสูญพันธุ์

ยังมีภัยอันตรายอื่นที่กลับมาถึงคนอีก เช่น คนเราทำลายสัตว์ป่า เช่น ฆ่างู เจ้างูนี่มันกินหนู เช่น หนูในนา พองูหมดไป ไม่มีงูมากินหนูนา หนูนาก็เจริญแพร่พันธุ์กันใหญ่ แล้วมันก็มากัดกินต้นข้าว ก็มนุษย์เองนั้นแหละที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำของตัวเอง ฉะนั้น เวลานี้จึงเป็นปัญหาที่พันกันไปหมด

ทางชาติบ้านเมืองมองเห็นปัญหาและความสำคัญในเรื่องนี้ ก็ได้ดำเนินการสงวนพันธุ์สัตว์ต่างๆ เวลานี้ ทางการได้กำหนดสัตว์คุ้มครอง โดยห้ามหรือจำกัดการล่าหรือการค้าขายมากมายถึง ๒๒๘ ชนิด แต่ถึงอย่างนั้นก็ป้องกันไม่ไหว

ที่ว่ามานี้ก็เป็นความรู้ต่างๆ ที่พวกเราคนไทยควรจะทราบเกี่ยวกับบ้านเมืองของตัวเอง ถ้าต้องการรู้เพิ่มเติมก็มีตำราเยอะแยะ และมีผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งมีหน่วยราชการที่รับผิดชอบ อาตมาบอกแล้วว่าไม่ได้มีความรู้อะไรในเรื่องนี้ เพียงแต่ยกเอาเรื่องราวข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าให้กันฟัง

แต่อย่างน้อย เราควรช่วยกันกระตุ้นให้คนไทยสนใจและหันมาเหลียวแลเรื่องป่า และสัตว์ป่ากันบ้าง

 

ถ้าสัตว์เมืองยังโหด
ป่าก็ต้องหด สัตว์ป่าก็ต้องหาย

ทีนี้เรามาดูเรื่องการทำลายป่าและสัตว์ป่า ว่าเขาทำลายด้วยวิธีใดบ้าง เมื่อกี้นี้ ได้พูดไปให้เห็นเค้านิดหน่อยแล้ว ตอนนี้มาสรุปกันดูซิว่า การทำลายสัตว์ป่านี้เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร ท่านแบ่งโดยย่อไว้ ๒ อย่าง คือ ทำลายโดยตรง กับ ทำลายโดยอ้อม

ทำลายโดยตรงคือ การฆ่าสัตว์ป่านั่นเอง ส่วนทำลายโดยอ้อม ก็คือ ทำลายที่อยู่ที่อาศัยของมันด้วยการทำลายป่า

ทีนี้คนทำลายสัตว์ป่าโดยตรง ที่ว่า ทำลายโดยตรง ทำลายอย่างไรบ้าง ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ล่าเป็นอาหาร เช่น สมัน แม้จะไม่อยู่ในป่าก็คงจะหมดไปเพราะเป็นอาหารนั่นเอง ส่วนสัตว์ในป่า เช่นพวกกระต่ายป่า ก็หายากแล้ว อย่างที่พูดเมื่อกี้ ไม่แน่ใจว่าเวลานี้ที่เขานี้เหลือหรือไม่ ทั้งที่เมื่อมาอยู่ใหม่ๆ ประมาณ ๗ ปีมาแล้ว ยังมีกระต่ายป่า นี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ชาวบ้านมาหามาจับมายิงเอาไปกิน ก็ทำให้สัตว์ป่าหมดไป การล่าเป็นอาหารนี้จึงเป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง แม้จะไม่เอาเป็นอาหาร แต่ ล่าเอาอวัยวะ ของมันไปทำเป็นเครื่องประดับบ้าง ทำเครื่องใช้ไม้สอย และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น งาช้าง เขากวาง หนังเสือ เวลานี้มีการล่าเสือเพื่อเอาหนังและตัวไปทำเครื่องประดับตามบ้าน คนต้องการงาช้างเป็นเหตุให้ฆ่าช้างทั้งตัว ต้องการเขากวางเป็นเหตุให้ฆ่ากวางทั้งตัว ต้องการหนังเสือเป็นเหตุให้ฆ่าเสือทั้งตัว อย่างนี้ก็ทำให้สัตว์เหล่านั้นต้องหมดไป

อีกอย่างหนึ่งคือ กีฬาล่าสัตว์ หรือเล่นสนุก มองเห็นการล่าสัตว์เป็นเรื่องสนุกสนาน สมัยก่อนมีกีฬาล่าสัตว์ สมัยนี้เลิกไปแล้ว ถอยหลังไปเมื่อระยะสงครามเลิกใหม่ๆ ก็ยังมีการล่าสัตว์

เคยมีเด็กนักเรียนถามอาตมา เด็กมองจากสภาพปัจจุบันบอกว่า ฝรั่งนี้เขาดีนะ เขาคงจะมีวัฒนธรรมไม่ฆ่าสัตว์ เขามีเมตตากรุณา แต่คนไทยเราเป็นอย่างไรไม่รู้ ไม่มีเมตตากรุณา ชอบล่าสัตว์มาก

ที่จริงฝรั่งนี้แหละตัวดี ถอยหลังไปเมื่อก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใหม่ๆ ฝรั่งล่าสัตว์อย่างกะอะไร ฝรั่งนี่แหละเป็นผู้นำและอาจจะทำให้คนไทยพลอยนิสัยเสียด้วย พอถึงช่วงเวลาพักผ่อน ฝรั่งที่มาเป็นคนชั้นสูงอยู่ในเมืองไทย รวมทั้งนักเผยแพร่ศาสนา อย่างที่เรียกว่ามิชชันนารี หรือหมอสอนศาสนา ก็พาเอาวัฒนธรรมจากประเทศของตนมาปฏิบัติในบ้านเมืองอื่น บางท่านจึงมีนิสัยชอบสนุกสนานออกป่าล่าสัตว์

อย่างเช่น ดร.บัลค์เลย์ (Dr. L.C. Bulkley) ซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือคนไทยไว้มากในด้านการแพทย์ ประมาณ ค.ศ. 1908 (พ.ศ. ๒๔๕๑) เป็นต้นมา ก็มีชื่อเสียง ทั้งในด้านที่เป็นหมอผ่าตัดตา และเป็นนักล่าสัตว์ขนาดเขื่อง (big-game hunter) ด้วยพร้อมกัน

ทั้งนี้เพราะลัทธิศาสนาวัฒนธรรม (รวมทั้งปรัชญาสำนักใหญ่ๆ) ของตะวันตก ยอมรับ หรือไม่ก็สนับสนุนเรื่องนี้

สำหรับคนไทยก็คงเดินรอยตามอย่างฝรั่ง โดยเฉพาะชาวบ้านไทยก็อาจจะติดสอยห้อยตามไปเป็นลูกมือและลูกหาบ เป็นไปได้ไหมที่คนไทยมีนิสัยรังแกสัตว์ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการเอาอย่างฝรั่งที่ไปล่าสัตว์ อันนี้เพียงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้

เป็นที่รู้กันอยู่ว่า มนุษย์สมัยโบราณก็ออกป่าล่าสัตว์เป็นอาหาร โดยเฉพาะชาวตะวันตก อารยธรรมของเขาเจริญขึ้นมาทีหลังตะวันออกนาน เพราะฉะนั้น ระยะเวลาที่เป็นนักล่าสัตว์จึงอยู่ในประวัติศาสตร์ที่ไม่นานไกลนัก เมื่อเจริญขึ้นมาถึงยุคเกษตรกรรมแล้ว และหมดความจำเป็นที่จะต้องล่าสัตว์เป็นอาหาร ก็เกิดมีความนิยมเอาการล่าสัตว์เป็นกีฬา

ในสมัยโบราณก่อนโน้น การล่าสัตว์เป็นกีฬาของพระราชา มหาอำมาตย์ ผู้มีทรัพย์สมบัติและเวลาว่างมาก แม้เมื่อฝรั่งเจริญขึ้นแล้ว กีฬาล่าสัตว์ก็เด่นอยู่ในหมู่กษัตริย์ในยุโรป

บางพระองค์มีประวัติแสดงความสามารถจารึกไว้ เช่น พระเจ้าอีเลคเตอร์ จอห์น ยอร์จ ที่ ๒ แห่งแซกโซนี่ (ครองราชย์ ค.ศ. 1656-80 = พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๒๓) ทรงล่ากวางแดงได้รวมหมดถึง ๔๒,๖๔๙ ตัว

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ แห่งฝรั่งเศสก็โปรดกีฬาล่าสัตว์มาก เพียงใน ค.ศ. 1726 (พ.ศ. ๒๒๖๙) ปีเดียว เสด็จออกล่าสัตว์ถึง ๒๗๖ วัน

พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ไม่เบา คราวหนึ่งเสด็จออกล่าสัตว์ครั้งเดียวต่อกัน ๑๒ วัน ทรงยิงกวางเอลค์ (elk) ได้ ๓๖ ตัว กวางสแตก (stag) ๕๓ ตัว กวางโรบัค (roebuck) ๓๒๕ ตัว กระทิง ๔๒ ตัว และวัวป่า ๑๓๘ ตัว

กีฬาล่าสัตว์เป็นเรื่องบันเทิงสามัญสำหรับชาวยุโรปที่เป็นผู้ดีมีฐานะ ไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าชาวบ้านหรือนักบวช

เมื่อชาวยุโรปมาอเมริกา ความนิยมล่าสัตว์ก็ยิ่งแพร่ขยายจนถึงขั้นที่ในยุคบุกเบิกมีคติว่า “ทุกคนเป็นนักล่า” เด็กชายพอบรรลุนิติภาวะ เขาก็ให้ปืนไว้ล่าสัตว์

เมื่อฝรั่งออกล่าอาณานิคม อย่างในอาฟริกา สมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนแรกก็ล่าสัตว์เป็นอาหาร ต่อมา พอเข้าครองความเป็นใหญ่ได้แล้ว การล่าสัตว์ก็กลายเป็นกีฬา ล่ากันจนในอเมริกาเหนือทั้งทวีป แม้แต่สัตว์ที่มีมากมายดาษดื่นอย่างกระทิงก็จะหมดสิ้น แทบสงวนพันธุ์ไม่ทัน

ตอนฝรั่งขึ้นฝั่งทวีปอเมริกา ประมาณว่ามีกระทิงในทวีปอเมริกาเหนือ ๖๐ ล้านตัว แต่พอถึงยุคที่ฝรั่งมุ่งหน้าตะวันตก พาอารยธรรมสมัยใหม่แผ่ขยายไปยังฝั่งแปซิฟิก ฝรั่งผ่านไปไหน พบกระทิงมากมาย ก็ล่าฆ่าอย่างสนุกมือ กว่าจะถึง ค.ศ.แถวๆ 1900 กระทิงก็แทบเหี้ยนแผ่นดิน (Funk & Wagnalls New Encyclopedia ว่า ปี 1895 คือ พ.ศ. ๒๔๓๘ ทั้งอเมริกาเหลืออยู่ ๔๐๐ ตัว)

การล่ากระทิงนี้แหละ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อความเป็นศัตรูกันระหว่างฝรั่งกับอินเดียนแดง สำหรับกระทิงนี้ ยังสงวนพันธุ์ไว้ได้ แต่ที่ล่ากันจนสูญพันธุ์ก็มี เช่น นกพิราบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า passenger pigeon (ไม่ใช่ชนิดที่ใช้เป็น messenger) ซึ่งเคยมีมากมายหลายพันล้านตัวในอเมริกา เวลานี้หาไม่ได้แล้ว

ในเอเซีย เมื่อฝรั่งมายึดอาณานิคมได้แล้ว กีฬาล่าสัตว์ก็เป็นไปตามนิยมของเขา แต่เมื่อเทียบกับการล่าในอเมริกาและอาฟริกาแล้ว กีฬาล่าสัตว์ของฝรั่งในเอเซียอยู่ในขอบเขตจำกัดกว่ามาก (ขนาดที่ว่าเบาหน่อยก็ทำเอาสัตว์ป่าสำคัญบางชนิด เช่น เสือ และแรด ในเอเซีย แทบสูญพันธุ์)

ที่เล่าเรื่องของฝรั่งมานี้ ก็ว่าไปตามหนังสือของฝรั่งนั่นเอง โดยเฉพาะ Encyclopedia Britannica ท่านผู้ใดจะอ่าน ก็อาจจะดูที่คำว่า “hunting” และคำเฉพาะเช่น “bison”

ความนิยมในกีฬาล่าสัตว์ของฝรั่งนี้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรม ก็คงต่างกันมากกับวัฒนธรรมไทย ขอออกตัวก่อนว่าอาตมาไม่มีความรู้เรื่องคนไทยกับการล่าสัตว์ และถ้าจะค้นหาเอกสารมาพูดกัน ก็หายาก และคงต้องใช้เวลามากทีเดียว

แต่เท่าที่นึกได้ คนไทยดูเหมือนจะไม่มีความนิยมในเรื่องนี้ (ไม่เป็นวัฒนธรรม) แม้แต่พระมหากษัตริย์ จะทรงล่าสัตว์ (หรือจับสัตว์) ก็มักเป็นเรื่องเฉพาะกิจ คือทำเฉพาะครั้งเฉพาะคราวด้วยความมุ่งหมายพิเศษ เช่น จับเอาช้างมาใช้งาน หรือเอาไว้รบทัพจับศึก หรืออย่างที่พระพันวษา ทรงบัญชาให้ขุนไกร บิดาของขุนแผนล้อมฝูงกระบือ เป็นต้น (ซึ่งก็ไม่ใช่การล่า)

ส่วนชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไป ก็มีแต่การล่าเป็นอาหาร โดยส่วนมากเป็นความจำเป็นในการเลี้ยงชีพ ถ้าทำจริงทำจังก็เป็นพราน ซึ่งก็ไม่เป็นอาชีพที่นิยมกัน

สำหรับชาวบ้านทั่วไปก็มีแต่คำว่า “ยิงนกตกปลา” ซึ่งเขามักใช้พูดในเชิงติเตียน ใครชอบยิงนกตกปลา ทั้งที่เป็นการเบียดเบียนแค่สัตว์ตัวเล็กๆ น้อยๆ ก็มักเป็นที่รังเกียจ

เวลานี้มีการตกปลาเป็นการสนุกหรือพักผ่อน ทำนองว่าเป็นกีฬา ซึ่งเป็นการตามแนวทางของฝรั่งที่ถึงกับผลิตเบ็ดตกปลาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเลยทีเดียว

ได้ยินว่า บางคนถึงกับบอกว่า การตกปลาเล่นเป็นวิธีฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งก็มีส่วนถูก เพราะในการที่จะทำอะไรให้ได้ผล ก็ต้องอาศัยสมาธิทั้งนั้น อย่างโจรเข้าปล้นบ้านผู้คน แล้วจับเจ้าบ้านและคนในบ้านมัด แล้วเล็งปืนยิงเป้าทีละคน บอกว่าได้ฝึกสมาธิ ก็เป็นความจริง เพราะยิงด้วยสมาธิจึงจะแม่น แต่เมื่อวิธีฝึกสมาธิที่ดีๆ ซึ่งสร้างสรรค์ ไม่ทำให้ใครอื่นต้องทุกข์ยาก ก็มีอยู่มากมาย ทำไมจะต้องมาเลือกวิธีที่ทำคนอื่นให้เดือดร้อน

ฝรั่งได้เห็นภัยอันตรายก่อนคนไทย เขาเห็นโทษของการล่าสัตว์ และทำลายสัตว์ป่า เวลานี้ฝรั่งเลิกล่าสัตว์และเอาใจใส่ในการสงวนพันธุ์สัตว์ป่า มีการตั้งองค์กรต่างๆ พร้อมทั้งวางกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมามากมาย เพื่อจะคุ้มครองสัตว์ป่า ก็เลยกลายเป็นว่าฝรั่งนี้คล้ายๆ มีเมตตากรุณา เอาใจใส่เรื่องสัตว์ป่ามาก

แต่ที่จริง ฝรั่งนั้นเป็นตัวอย่างนำในเรื่องการล่าสัตว์เล่นเป็นการสนุกสนานเลยทีเดียว แต่ข้อดีของเขาก็คือ เวลารู้ภัยขึ้นมา เขาก็ทำอย่างเอาจริงเอาจังมาก (เพราะเวลาล่า ก็ล่ากันจริงจังมาก เวลาแก้ ก็เลยต้องจริงจังมากด้วย)

อนึ่ง คงเป็นเพราะกระแสเก่าของเขาในการล่านั้นแรงมาก การป้องกันแก้ไขจึงต้องระดมใช้มาตรการที่แรงอย่างทันกันด้วย เราจึงเห็นได้ว่าระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย และการจัดตั้งต่างๆ ในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เริ่มต้นมาจากเมืองฝรั่งแทบทั้งสิ้น

นอกจากเล่น รังแก สนุกสนานเป็นกีฬาแล้ว ก็คือ การทำเป็นสินค้า ด้านนี้ก็สำคัญมาก การค้าสัตว์ป่ากลายเป็นธุรกิจไปเลย มีการลักลอบค้าสัตว์ นำสัตว์ส่งออกนอกประเทศ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกิดการลักลอบล่าสัตว์จำนวนมาก

นอกจากนั้น ภายในประเทศของเราเอง ก็มีการจับมาขายตลาดนัด เป็นต้น และส่งร้านขายอาหาร มีการขายสัตว์ป่า ขายอาหารป่า แถมยังมีการชักจูง โฆษณา

บางทีมีคนมาจากต่างประเทศ เพื่อมากินเนื้อสัตว์ป่าที่เมืองไทย แทบทุกท่านคงทราบข่าวกันดี เป็นพวกชาวต่างประเทศที่อยากมากินอุ้งตีนหมีของไทย มากินดีงู

แม้แต่คนไทยเอง บางทีก็ชอบกินอะไรต่างๆ ที่เป็นของแปลกประหลาด แม้ว่าจะต้องการกินเพียงอวัยวะส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเหตุให้ต้องทำลายสัตว์ป่า ต้องฆ่าสัตว์ป่าทั้งตัวเพื่อให้ได้อวัยวะเล็กๆ น้อยๆ มา นี้เป็นเรื่องของการทำลายโดยตรง คือการทำลายที่ตัวสัตว์

ทีนี้ ทำลายโดยอ้อม ก็คือ ทำลายป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ชาวบ้านบุกรุกป่าหาที่ทำกิน อาจเป็นชาวบ้านที่ยากจน ตลอดจนกระทั่งถึงคนภูเขา คือชาวเขาพากันทำลายหักร้างถางพงเพื่อจะทำไร่ ปลูกต้นไม้ ปลูกพืช ทั้งปลูกกินเอง และทั้งปลูกเป็นสินค้า เป็นการบุกรุกป่า ก็ทำให้ป่าค่อยๆ หมดไป เป็นสาเหตุสำคัญแบบเป็นล่ำเป็นสันที่ใหญ่มาก

นอกจากนั้นก็คือการตัดไม้ เนื่องจากมีการค้าไม้กันมากมาย ทั้งไม้ถูกต้องและไม้เถื่อน และการเผาป่า แม้แต่เพียงเพื่อล่าสัตว์

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การพัฒนาบ้านเมือง การที่คนเราพัฒนาบ้านเมือง มีการตัดถนนหนทาง สร้างเขื่อน เป็นต้น ก็เป็นเหตุหนึ่งของการทำลายป่า

เวลาตัดถนนทีหนึ่ง ก็ต้องทำลายป่าไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เฉพาะตัดถนนเท่านั้น การทำลายป่าเพื่อตัดถนนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่พอถนนเข้าไปแล้ว คราวนี้ละก็กลายเป็นว่า ถนนนั้นนำมาซึ่งการทำลายป่าอย่างกว้างขวางออกไป ถ้าตัดป่าเฉพาะส่วนที่ทำถนนคงไม่เท่าไร แต่ถนนนั้นกลายมาเป็นต้นเหตุที่มีผลในการทำลายป่าเพิ่มขยายออกไปอีกหลายเท่า

เมื่อมีการสร้างเขื่อนพัฒนาบ้านเมืองทีหนึ่ง ก็เป็นปัญหาใหญ่มาก ดังที่มีการคัดค้านกัน เวลาสร้างเขื่อนทีหนึ่ง ป่าก็ต้องถูกน้ำท่วมไปมากมาย แล้วบางทีก็มีปัญหาอื่นติดตามมา เยอะแยะหมด จะให้ได้ประโยชน์ด้านหนึ่ง ก็ไปเสียประโยชน์อีกด้านหนึ่ง หรือหลายๆ ด้าน อย่างน้อยก็ทำให้คนแตกแยกกันเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็จะสร้างเขื่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็คัดค้าน โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเป็นปัญหาของมนุษย์ทั้งสิ้น

ตลอดจนวิธีการเกษตรสมัยใหม่ ที่พูดไปแล้วเมื่อกี้ คือการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ป่า เช่นนก ตายไป เป็นเรื่องของการทำลายสัตว์ป่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ถ้าสัตว์เมืองไม่พัฒนาจิตใจ
ใครๆ ก็ช่วยสัตว์ป่าไม่ไหว

ถ้าจะแก้ปัญหา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องแก้ตามเหตุ แต่จะทำอย่างไร ในข้อที่ ๑ ก็บอกแล้วว่า เราล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร คนไทยเราถือสืบกันมาว่า สัตว์ป่าเป็นอาหาร

ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น กระรอก เรามีคำพังเพยหนึ่งบอกว่า “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

คำพังเพยนี้แสดงว่า เราเคยเห็นกระรอกเป็นอาหาร เป็นของปกติธรรมดา จนกระทั่งเกิดเป็นคำพูดนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราเข้าไปในป่า เราเห็นกระรอก เราก็จะเอามันกิน ก็คงติดนิสัยมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นกระรอกแล้วก็จะจับจะกิน อย่างน้อยก็จะยิงเล่น

เดี๋ยวนี้ ความจำเป็นที่จะเอากระรอกเป็นอาหารไม่มี แต่เราอาจติดนิสัยเก่าที่เคยล่ามันเป็นอาหาร ก็จะต้องแกล้งมันละ มีไม้ก็ขว้างมัน ถ้าเป็นเด็กอาจมีหนังสติ๊ก ก็ยิงมัน อะไรทำนองนี้ ทั้งๆ ที่ว่าก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมันแล้ว เพราะเหตุนี้กระรอกเห็นคนจะต้องหนีทันที

ตรงข้ามกับในบางประเทศ อย่างในอินเดีย เขาไม่ทำลายสัตว์ป่าทั้งหลาย พวกกระรอกก็ตาม พวกนกทั้งหลายก็ตาม ก็อยู่กันดี เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จะเชื่อง เวลาเราเดินไปใกล้ สัตว์เหล่านี้ก็จะเดินเข้ามาหาอย่างสนิทสนมกับคน ดูมันน่ารัก คนก็ไปเล่นกับมัน

ไม่เฉพาะในประเทศอินเดีย เมืองฝรั่งก็เหมือนกัน อย่างไปประเทศอเมริกา เราไปที่มีต้นไม้ มีป่า กระรอกจะลงมาจากต้นไม้ บางทีก็เข้ามาหาคน พอเข้ามาใกล้คน มันก็มายืน ๒ ขา เอาขาหลังตั้งยืนขึ้นมา แล้วยกขาหน้าขึ้น แล้วก็ทำปากจุ๊บจิ๊บๆ คนก็ชอบไปเลี้ยงอาหารมัน ก็มีความสุขดีทั้งคนและกระรอก แต่ในเมืองไทยนี้ไม่อย่างนั้น พอกระรอกเห็นคน ก็รีบหนีทันที

ยกเว้นบางแห่ง อย่างที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรมนี้ กระรอกเชื่องพอสมควร บางตัวเชื่องมาก เมื่อมีคนเข้าไป บางทีมันก็เข้ามาเล่นด้วย

แต่บางทีคนไปแกล้งมัน พอกระรอกมาให้เล่น คนไปแกล้งมัน มันก็เลยแกล้งบ้าง เล่นบ้าง บางทีมันกัดเอา เวลาคนมา มันลงมาหาเหมือนกัน แต่มันแกล้งกัด เพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยดีเหมือนกัน เราต้องระวังว่า สัตว์พวกนี้เป็นประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม จึงอันตรายเหมือนกัน เพราะอาจเกิดมีโรคที่มีพิษร้าย เช่น โรคกลัวน้ำ ต้องระวังไว้บ้าง

รวมความว่า ถ้ามนุษย์เป็นมิตรกับมัน เราไม่แกล้ง ไม่รังแกมันๆ ก็จะเป็นมิตรกับคนเราด้วย มันจะเชื่อง

คนไทยเรานี้ ไม่รู้เป็นอย่างไร ติดนิสัยกันมา แม้แต่เด็ก ก็จะชอบรังแกนกและสัตว์เล็กๆ พอเห็นสัตว์ ก็ชอบวิ่งไล่จะฆ่ามัน จะทำร้ายมัน เอาไม้ขว้างมัน เอาก้อนดินขว้างมัน เป็นต้น อันนี้อาจติดมาจากคติเก่าที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ คงจะใช้กันมาเป็นธรรมเนียม พอเห็นสัตว์พวกนี้ ก็จะต้องทำอะไรมันสักอย่าง

พูดถึงเรื่องนี้เลยขอเล่าแทรกนิดหนึ่ง หลายปีมาแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ไปที่วิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขามีป่ามาก มีต้นไม้เยอะแยะไปหมด ตามต้นไม้ก็มีพวกกระรอกมาก

คนที่นั้นเล่าให้ฟังว่า กระรอกที่นั่นแต่ก่อนก็อยู่กันมาดีๆ แต่เวลานี้มีภัยแล้ว มีภัยอะไร ก็คือว่า มีคนลาวอพยพมาอยู่มาก พอมาอยู่เยอะ ก็จับกระรอกกินเลย ตอนนี้กระรอกจึงไม่ค่อยปลอดภัย และกระรอกไม่ค่อยเชื่องแล้ว อย่างนี้ก็เกิดปัญหา เคยกินกระรอกที่เมืองนี้ ก็ไปกินที่เมืองโน้นอีก

อันนี้เป็นข้อสังเกตในเรื่องที่ถือสืบกันมานาน แล้วเราจะแก้อย่างไร เดี๋ยวนี้เราไม่มีความจำเป็นที่จะกินกระรอกหรือสัตว์ป่าเหล่านี้ เราเจริญขึ้นมาแล้ว มีวิธีการหาอาหารอย่างอื่นต่างออกไปแล้ว ฉะนั้น เราต้องแก้นิสัย แก้ความเชื่อถือหรือธรรมเนียมเหล่านี้

ฝรั่งที่เคยชอบล่าสัตว์ เขายังเลิกได้ ทำไมคนไทยจะเลิกนิสัยจับสัตว์ป่าเล็กๆ น้อยๆ กินเล่นไม่ได้

ที่จริงปัญหาเหล่านี้มันพันกัน เหตุอย่างหนึ่งก็คือ ความยากจนขาดแคลน แม้เราจะบอกว่าสัตว์เหล่านี้น่าจะเลิกกินได้แล้ว แต่ถ้าคนยังยากจน เขาไม่มีอาหารอื่นกิน เขาก็ต้องจับมันกิน เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ปัญหาที่ลึกลงไป คือความยากจนขาดแคลนไม่มีกิน ที่ทำให้ต้องไปเอาสัตว์ป่ามากิน และเมื่อไม่มีที่ทำกิน ก็ไปบุกรุกป่าทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยทั้งสองวิธีนี้ก็คือการที่ความยากจนเป็นเหตุให้สัตว์ป่าหมดไป

ไม่เฉพาะคนยากจนที่มีความจำเป็นในการเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม แม้แต่คนที่ร่ำรวยแล้ว แต่โลภมากๆ ก็เป็นเหตุหนึ่งด้วย คือ เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ ก็เอาสัตว์ป่าไปหาผลประโยชน์ด้วยการค้าออกไปต่างประเทศ ลักลอบขายหาเงินมาเพื่อความร่ำรวยของตนเอง หรือตัดไม้ทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งๆ ที่รวยอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น คนรวยก็ร้ายมาก จึงยังมีทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งคนจนและคนรวย ช่วยกันทำลายป่า

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือความไม่รู้ว่าการทำลายป่ามีโทษอย่างไร และไม่รู้ว่าการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสียหายแล้ว ภัยจะมาถึงมนุษย์อย่างไร ถ้าเขาตระหนักเห็นภัย ก็อาจจะได้ระมัดระวังบ้าง

ความไม่รู้ หรือขาดการศึกษา จึงเป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ทางแก้ก็คือให้การศึกษาแก่คน เวลานี้เราก็ให้การศึกษากันมากขึ้น แต่จะตรงจุดหรือไม่ ก็ยังจะต้องพิจารณากันต่อไปอีก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความมักง่าย นิสัยเสียคือ เอาแต่ง่าย เอาแต่สะดวก พอเห็นสัตว์ที่พอจะเอาได้ หรือเห็นไม้ที่พอจะฟันจะโค่นได้ จะเอามาทำประโยชน์ที่ตนต้องการ ก็ไม่คำนึงว่า ทำไปแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่ตัว หรือเอาแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า

อาตมาเคยไปป่าทางภาคอีสาน อย่างที่เขื่อนสิรินธร ที่นั้นก็มีวัด พระที่วัดป่านั้น ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็ว่า ต้องรบกับชาวบ้าน คือ ต้องคอยดูแล คอยบอก คอยไล่ คอยกัน เพราะว่า ในป่าที่วัดช่วยดูแลรักษาไว้จำนวนสัก ๒,๐๐๐ ไร่นั้น ชาวบ้านมักเข้ามาหาสัตว์ป่าและพืชพรรณ ตลอดจนผลที่เกิดจากต้นไม้ เช่น รังผึ้ง เป็นต้น

บางทีชาวบ้านต้องการรังผึ้งรังเดียว ก็ตัดไม้ทั้งต้น อย่างนี้เรียกว่าความมักง่าย เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำลายสิ่งที่มีค่ามากไปทั้งหมด หรือที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ก็เช่นว่า ต้องการยิงสัตว์เล็กๆ สักตัวสองตัว ก็เผาป่า ทั้งทำลายป่าและสัตว์อื่นก็พลอยตายเพราะถูกไฟเผาไปอีกมากมาย เพื่อให้เขาได้สัตว์แค่ตัว ๒ ตัวเท่านั้น ไม้ก็หมดไป สัตว์ป่าชนิดอื่นก็หมดไป

อันนี้เป็นอันตรายที่ร้ายแรง วัดป่า เช่น วัดเขื่อน ที่อุบลฯ ตอนนี้ต้องสร้างกำแพงสิ้นเงินไปมากมาย เพื่อกันชาวบ้านที่จะเข้ามาทำลายแบบนี้

เรื่องของการชอบแกล้งสัตว์ที่ว่าเมื่อกี้ อาจจะเป็นนิสัยที่ติดมาจากการที่เคยเอาสัตว์เหล่านั้นกินเป็นอาหาร แล้วก็อาจเกิดจากค่านิยมซึ่งไม่ยืนยันที่บอกเมื่อกี้

นั้นก็คือว่า สมัยก่อนฝรั่งชอบล่าสัตว์เห็นเป็นกีฬาสนุก แล้วก็มาล่าสัตว์ในเมืองไทย ผู้ใหญ่ผู้โตในเมืองเราก็เล่นกีฬาล่าสัตว์ด้วย ต่อมาชาวบ้านก็คงมีความนิยมชมชอบอย่างเดียวกัน โดยตามฝรั่งเห็นเป็นเรื่องโก้ แต่เป็นการทำลายสัตว์ป่า เป็นเรื่องของนิสัยใจคอที่สะสมกันมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมในทางเสื่อม

นอกจากนั้นก็คือ จิตใจที่ขาดเมตตากรุณา ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ถ้ามีเมตตากรุณาเพียงอย่างเดียว ก็แก้ปัญหาได้หมด แต่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก เราพูดได้ แต่แก้ยาก แต่ก็ต้องพูดไว้ว่าเหตุอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่คนเราขาดความเมตตากรุณา ไม่เห็นแก่สุขทุกข์ของสัตว์

เวลาเห็นมันทุกข์ เราไม่มีความเห็นใจ เวลามันอยู่ดีๆ เราก็ไม่รักมัน ไม่เห็นแก่ความสุขของมัน เรียกว่าขาดความเมตตากรุณา

อีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด เป็นเรื่องของ ผลประโยชน์ขัดกันระหว่างสัตว์บ้านกับสัตว์ป่า หรือสัตว์เมืองกับสัตว์ป่า

ที่ว่าผลประโยชน์ขัดกัน ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นเราจะพัฒนาบ้านเมือง เราก็ต้องทำเขื่อน ทำถนนหนทาง ผลประโยชน์ของเราก็ขัดกับผลประโยชน์ของสัตว์ป่า

เรื่องนี้เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ก็เป็นข้อที่เสนอเพื่อพิจารณากัน เช่นการหาที่อยู่ทดแทนให้แก่สัตว์ป่า และเดี๋ยวอาจได้มาพูดกัน

 

ถ้าพัฒนาคนให้ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือหูตาของชาวบ้าน
ถ้าคนไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องหันหน้าสู้ชาวบ้าน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ความเสื่อมทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการทำลายคติความเชื่อโบราณ สมัยก่อน เรามีวิธีรักษาสัตว์ป่าพร้อมทั้งป่าด้วยอีกอย่างหนึ่ง คือการเชื่อผีสางเทวดา เทพารักษ์หรือรุกขเทวดา (เทวดาประจำต้นไม้) โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ๆ จะเรียกว่าต้นไม้เจ้าป่า ซึ่งมีในภาษาบาลี

คิดว่าคตินี้คนไทยเอามาจากภาษาบาลี คือไม่ใช่เป็นความเชื่อของพุทธศาสนาโดยตรง แต่เป็นความเชื่อที่มีมาในอินเดียแต่เดิม และท่านนำมาเล่าไว้

ชาดกบางเรื่องเล่าถึงคติความเชื่อของคนโบราณก่อนพุทธกาลว่า มีต้นไม้ใหญ่ๆ เรียกว่า วนัปปติ = วนบดี ได้แก่ ต้นไม้เจ้าป่า ซึ่งจะมีรุกขเทวดาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก สิงหรืออาศัยอยู่ คนไทยเราก็เชื่อถือสืบมา ถ้าจะไปตัดต้นไม้ใหญ่แม้เพียงต้นเดียว ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก คนจำนวนมากไม่กล้าตัด ถ้าจะตัด ก็ต้องมีพิธีบวงสรวงเป็นการใหญ่

อย่างตอนที่ตัดถนนผ่านดงพญาเย็น ก็มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า คนไปทำลายไม้เจ้าป่าแล้วเกิดอาเพศอาถรรพ์ มีอันเป็นไป คนโบราณเชื่อในเรื่องเทวดาผีสางต่างๆ อย่างนี้ จึงทำให้ชาวบ้านกลัว ไม่กล้าไปตัดไม้ทำลายป่า เพราะกลัวรุกขเทวดาจะมาลงโทษ

ต่อมาความเชื่อเก่าๆ เหล่านี้ได้ถูกทำลาย คนรุ่นหลังๆ เลิกเชื่อถือ เพราะเห็นว่าไม่จริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้เราก็จะหันมารักษาป่ากันด้วยเหตุผลแบบคนที่มีการศึกษา ซึ่งถือว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า และเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ควรจะช่วยกันบำรุงรักษา ถ้าคนเราอยู่ในเหตุผล ต้นไม้ก็อยู่ได้ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น

ปรากฏว่า ทั้งๆ ที่รู้เหตุรู้ผลว่า ถ้าทำลายต้นไม้ หรือทำลายสัตว์ป่าไป จะเกิดภัยอันตราย จะสูญเสียทรัพยากรของธรรมชาติ ธรรมชาติแวดล้อมจะเสื่อมโทรม แต่ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ เราก็เห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่า ความโลภชนะ

โลภะชนะปัญญา โลภะชนะเหตุผล ก็เลยเอาปัญญาไปรับใช้โลภะ เอาความรู้ที่มีอยู่มารับใช้ความโลภ เลยมีความสามารถในการทำลายป่าและทำลายสัตว์ป่าได้มากกว่าชาวบ้าน กลายเป็นว่าก่อปัญหาหนักขึ้น

ความเชื่อเก่าที่ช่วยรักษาป่า ก็หมดไป เหตุผลใหม่ที่จะช่วยรักษาป่า ก็ไม่เป็นผล

ที่ว่าวิธีรักษาป่าแบบเก่าหมดไป ก็คือความเชื่อและกลัวต่อผีสางเทวดาหมดไป แต่สิ่งใหม่คือเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่ยอมปฏิบัติ เราก็เลยเสียทั้ง ๒ อย่าง อันนี้ก็คือปัญหาการพัฒนา

ในที่สุด ปัญหามาอยู่ที่การพัฒนาคน ทั้งนั้น เราต้องยอมรับว่า เราพัฒนาคนไม่ทัน ถ้าคนไม่พัฒนาแล้วก็กลายเป็นว่า ให้คนยังโง่ เชื่องมงายอย่างคนโบราณดีกว่า คนโบราณที่เชื่อผีสางเทวดา กลัวรุกขเทวดาว่า ถ้าไปตัดต้นไม้ เทวดาจะมาหักคอ ยังช่วยรักษาป่าไว้ได้ แต่คนสมัยปัจจุบันนี้ จะอาศัยเหตุผลรักษาป่า ก็ใช้เหตุผลไปไม่รอด ความโลภเก่งกว่าปัญญา คนไม่พัฒนา เอาปัญญาชนะความโลภไม่ได้ กลายเป็นว่าเอาปัญญาไปเป็นข้าของความโลภ

ฉะนั้น จึงต้องให้เลือกดู เมืองไทยของเรานี้ อาจเป็นเพราะพัฒนาไม่พอดี สิ่งเก่าที่ควรจะรักษาเอาไว้ ก็ไปทำลายเสีย การพัฒนาคนในแบบใหม่ที่จะให้มีปัญญารู้จักใช้เหตุผลมาบังคับควบคุมพฤติกรรมของคน ก็ทำไม่ได้ เลยกลายเป็นเสียทั้ง ๒ ด้าน

นี่จึงกลายเป็นปัญหาที่น่าพิจารณา เช่นว่า ถ้าชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ เราควรจะสนับสนุนหรือไม่แค่ไหน แต่เวลานี้คงจะแก้ปัญหานี้ได้ยากแล้ว เพราะความเชื่อเรื่องรุกขเทวดาแทบจะไม่เหลือ ชาวบ้านเองก็ช่วยและร่วมมือทำลายป่าด้วย

ตอนนี้ การรักษาป่าและสัตว์ป่า ก็เลยมาเน้นกันมากในแง่ของการควบคุม เช่น ควบคุมการล่าสัตว์ ควบคุมการลักลอบล่าสัตว์ป่า วิธีการควบคุมนี้เป็นวิธีการที่ค่อนไปทางบังคับ การที่จะได้ผลจริงนั้น มันอยู่ที่จิตใจเอาด้วย

วิธีการแบบบังคับควบคุม ก็เหมือนกับต้องมีการต่อสู้กันตลอดเวลา ฝ่ายหนึ่งควบคุมคอยรักษา อีกฝ่ายหนึ่งก็จ้องทำลาย ถ้าใช้วิธีสู้กันแบบนี้ เห็นจะสำเร็จยาก เพราะฝ่ายที่จ้องจะทำลายมีมากกว่า คงจะชนะ ฝ่ายรักษาคงจะแพ้

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะเน้นกันแต่ในด้านควบคุมว่าจะควบคุมได้อย่างไร การควบคุมนี้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ต้องแก้ที่สาเหตุอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาใหญ่ คือความยากจน แร้นแค้นขาดแคลน

คนที่ยากจนขาดแคลนนั้นก็คือ คนที่สู้คนด้วยกันไม่ได้ คนที่เป็นสัตว์เมืองด้วยกันนี่แหละ ยังมีการแก่งแย่งกัน มีการแบ่งแยกกันเป็นคนเมืองกับคนป่า คนเจริญกับคนล้าหลัง คนเจริญแล้วก็เอาเปรียบคนที่ล้าหลัง คนเมืองก็เอาเปรียบคนบ้านนอก

เมื่อคนป่าหรือคนบ้านนอกขาดแคลน ไม่มีทางสู้ เขาสู้คนด้วยกันไม่ได้ ก็ไปรังแกสัตว์ และรังแกป่า หมายความว่า สัตว์เมืองที่สู้สัตว์เมืองด้วยกันไม่ได้ ก็ไปรังแกสัตว์ป่า

เมื่อความยากจนขาดแคลนเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนต้องไปรุกรานทำลายป่า รังแกสัตว์ป่า เราก็ต้องหาทางให้เขามีทางทำกินอย่างอื่น หรือมิฉะนั้นก็ให้เขาช่วยรักษาป่า ด้วยวิธีแก้อย่างหนึ่ง คือ เมื่อเขาจะอยู่กับป่า ก็คือเขาจะต้องพึ่งพาอาศัยป่า เราก็ถือว่าเขาจะช่วยรักษาป่า และให้เขาได้รับผลประโยชน์จากป่าเป็นการตอบแทนด้วย

วิธีนี้จะเป็นการสอดคล้องกับเหตุผลตามธรรมชาติที่ว่า แต่ก่อนนี้ คนอยู่กับป่า ชีวิตก็ขึ้นกับป่า เขาจะอยู่ดีมีความสุข จะมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ก็ต้องอาศัยป่า เมื่อเขาอาศัยป่า ก็ต้องรักษาป่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า ถ้าคนโง่เขลา ไม่พัฒนา บางทีเขาก็ทำลายประโยชน์หรือที่พึ่งอาศัยของเขาเสียเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องพัฒนาคนไปด้วย

เวลานี้ เราจะรักษาป่า แต่เรามองคนเหมือนว่าเป็นศัตรูกับป่า เราก็เลยกันคนไม่ให้เข้าไปใช้ป่า ทีนี้ เมื่อคนเขาอาศัยป่า เขาไม่ได้ประโยชน์จากป่า เขาก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะรักษาป่า และเมื่อเขายากจน ไม่มีทางหากินอย่างอื่น เขาก็จะต้องหาทางเข้าไปลักลอบเอาของในป่ามากินมาบริโภค

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เกิดการทำลายป่าทั้ง ๒ ประการ คือ ทั้งไม่ร่วมมือรักษา และหาทางลักลอบทำลาย

ฉะนั้น ในเรื่องปัญหาความยากจนข้นแค้นนี้ จะต้องพยายามให้มากว่า จะแก้ไขกันอย่างไร ไม่ให้คนจำนวนหนึ่งที่สู้คนด้วยกันไม่ได้ ต้องไปทำลายสัตว์ป่า แล้วก็ทำลายป่าให้หมดไป

อีกด้านหนึ่ง พอเราอนุรักษ์ป่า เพื่อประโยชน์ของสัตว์ป่า ให้สัตว์ป่าอยู่ได้ แต่การอนุรักษ์นั้นไปขัดกับการพัฒนาของสัตว์เมือง ไปทำลายผลประโยชน์ของสัตว์เมืองเข้า เมื่อผลประโยชน์ถูกขัดขวาง คนก็ต้องหาทางหลบเลี่ยงหรือลักลอบทำ กลายเป็นวิธีการแบบต่อสู้ ซึ่งยากจะประสบความสำเร็จ

รวมความว่า ปัญหาที่ค้างอยู่จนกระทั่งเวลานี้ก็คือ การที่จะต้องคิดกันให้ชัดในเรื่องของการพัฒนาประเทศ อย่างที่เรียกกันว่าการพัฒนาแบบยั่งยืน ทำอย่างไรจะให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ถ้าพัฒนาแบบแก่งแย่งผลประโยชน์กัน หรือทำให้ผลประโยชน์ขัดกันแบบนี้ คงไปไม่รอด

การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น คือการพัฒนาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะต้องทำให้ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ต้องประสานผลประโยชน์ และต้องประสานความร่วมมือ แล้วก็อยู่ด้วยกันไปอย่างมีความสุขร่วมกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มันก็ต้องชิงไหวชิงพริบกันตลอดไป การแก้ไขปัญหาก็จะไม่สำเร็จแน่ การพัฒนาก็ไม่ยั่งยืน

เราได้พยายามที่จะให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน เรียกว่า sustainable development แต่เวลานี้ศัพท์นี้ชักจะด้อยความนิยมลงไป ต่างกับเมื่อสัก ๒ ปีก่อน ศัพท์นี้ขึ้นมาก ไปไหนก็ได้ยิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยิน กลับมีศัพท์อื่นขึ้นมาแทน เช่น ศัพท์ว่า โลกาภิวัตน์ และรีเอ็นจิเนียริ่ง

ทั้งๆ ที่การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้คนแทบไม่เอาใจใส่แล้ว ความเป็นไปอย่างนี้แสดงว่า คนไทยเราตื่นเต้นและเอาใจใส่เรื่องอะไรต่างๆ เพียงชั่วครู่ วูบมาวาบไปเท่านั้นเอง

เรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ ต้องคิดกันให้ชัด ดังในกรณีที่การพัฒนาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ไปขัดกับผลประโยชน์ของสัตว์ป่า เป็นต้น เราทำอย่างไรจะประสานประโยชน์ให้กลมกลืนกันได้

แล้วทีนี้เรื่องนี้ก็จะโยงต่อไปอีก ยังมีปัญหาการรักษาป่าที่เราต้องตรากฎหมาย ตั้งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาทำงาน เช่น มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แต่ถ้ามองดูสภาพการณ์แล้ว มันมีลักษณะของการที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ต้องสู้กับประชาชน หรือสู้กับชาวบ้าน

ขณะนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ๑ คน รับผิดชอบเนื้อที่ป่าประมาณ ๕๘ ตารางกิโลเมตร ทางบ้านเมืองจึงมองว่าเนื้อที่มากเกินไป เจ้าหน้าที่รักษาไม่ไหว จะต้องมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่จะให้เฉลี่ยเท่าไรดี เวลานี้ ๑ คนต่อพื้นที่ ๕๘ ตารางกิโลเมตร เราใช้วิธีเพิ่มเจ้าหน้าที่จะสำเร็จผลหรือเปล่า

หัวใจของการแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน คิดว่าเพิ่มเจ้าหน้าที่เท่าไร ก็คงไม่พอ ถ้าคนของเรายังเป็นอย่างนี้ หรือยังมีสภาพอย่างนี้ คือยังมีนิสัยจิตใจตลอดจนลักษณะการหาผลประโยชน์อย่างที่ว่ามา ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ว่ายากจนข้นแค้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ความสัมพันธ์ก็จะออกมาในรูปที่ว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสู้กับชาวบ้าน ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสู้กับชาวบ้าน จะไปสู้อย่างไรไหว

แท้จริงนั้น ความสำเร็จอยู่ที่ต้องให้เกิดเป็นสภาพอย่างใหม่ว่า ชาวบ้านต้องการรักษาป่า แล้วเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาเป็นตัวแทนชาวบ้านในการดูแลป่า ถ้าอย่างนี้จึงจะสำเร็จ

ฉะนั้น ที่แท้แล้ว ต้องทำให้การรักษาป่า เป็นหัวจิตหัวใจของชาวบ้าน หรือของประชาชน แต่เพราะยังมีคนส่วนน้อยที่ทำลายป่า เราก็เลยต้องมีเจ้าหน้าที่ไว้ดูแลบ้าง นอกจากนั้น เหตุอาจมาจากเรื่องอื่นมากกว่าคน จึงทำให้เราต้องมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น ไฟป่าอาจไหม้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะทำหน้าที่พวกนี้ เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นผู้ดูแลป่าแทนหูแทนตาประชาชน โดยที่ว่าฐานอยู่ที่ประชาชนชาวบ้านมีความรักป่า

แต่เวลานี้ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านี้มาสู้กับประชาชน แล้วจะไปรอดได้อย่างไร ฉะนั้น อันนี้ต้องแก้ใหม่ และเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของการที่จะแก้ปัญหาได้

เป็นอันว่า จะต้องแก้ปัญหากันเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ถูกต้อง ให้เป็นว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือ ผู้ดูแลรักษาป่าแทนหูแทนตาประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มาสู้กับประชาชน หรือสู้กับชาวบ้าน เวลานี้ เจ้าหน้าที่อยู่ในลักษณะที่สู้กับชาวบ้าน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะแก้ปัญหา

ไปๆ มาๆ การที่จะรักษาทั้งป่า และสัตว์ป่าไว้ให้ได้นั้น ประมวลปัญหาแล้วอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตัวคนนั่นเอง คืออยู่ที่กิเลสของคน เช่น ความโลภ และการขาดเมตตากรุณา เมื่อกี้จึงบอกว่าในที่สุดปัญหาอยู่ที่การพัฒนาคน ว่าทำอย่างไรเราจะพัฒนาคนได้สำเร็จ

เป็นอันว่า ตอนนี้ก็พูดวนไปเวียนมาในเรื่องการแก้ปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า โดยเน้นสิ่งที่จะต้องทำ ๒ อย่าง คือ

๑. การพยายามประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจนด้วยวิธีประสานผลประโยชน์นี้ และการสร้างระบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างความอยู่รอดของคน กับความอยู่รอดของป่าและสัตว์ป่า ให้เด่นชัดขึ้นมา

๒. การพัฒนาคน ให้ลดความโลภความเห็นแก่ตัว และความโหดเหี้ยม โดยปลูกฝังเมตตากรุณากันแต่เด็กๆ รวมทั้งให้มีปัญญามองเห็นคุณค่าของป่า และรักป่าด้วยใจที่มีปัญญาหนุนนำ

 

เมื่อคนฝึกตนให้มีเมตตา
สัตว์ป่าก็ปลอดภัย ใจคนก็เป็นสุข

ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสัตว์เมืองก็จริง ตัวอยู่ในเมืองแต่หัวใจเป็นสัตว์ป่า และจะเป็นสัตว์ป่าที่ร้ายกว่าสัตว์ป่าชนิดไหนๆ ทั้งหมด

ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ว่า กวางไม่หมดป่าเพราะเสือกัด แต่กวางอาจจะหมดป่าเพราะคนล่า

คนนี่แหละที่ได้ทำให้ทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้สูญพันธุ์ไปแล้วมากมาย สัตว์ป่าฆ่ากันได้ก็ทีละตัว และโดยมากก็เพราะจะต้องกินอาหาร แต่คนอาจฆ่าสัตว์ป่าได้ทีละมากมาย ทั้งฆ่ากิน ฆ่าเอาไปขายหาผลประโยชน์ และแม้แต่ฆ่าเล่นสนุกมือ หรือฆ่าอวดกัน

สัตว์ป่าอย่างอื่นทำลายโลกไม่ได้ แต่มนุษย์ ที่เป็นสัตว์ป่าก็ได้ สัตว์เมืองก็ได้นี้ อาจจะทำโลกให้พินาศได้

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ไหน ทางพุทธศาสนาบอกว่า ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้

สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นสู้มนุษย์ไม่ได้ เพราะฝึกไม่ได้ โดยเฉพาะมันฝึกตัวเองไม่ได้ มันเกิดมาอย่างไร มีสัญชาตญาณอย่างไร มันก็อยู่ไปตามสัญชาตญาณนั้น จนตายก็อยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์นี้ไม่อย่างนั้น มนุษย์พัฒนาได้ ฝึกได้ ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การฝึก จนกระทั่งคนไทยเราเรียกมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ

เราพูดถูกหลัก แต่ขาดเงื่อนไขไป ต้องพูดให้เต็ม ท่านให้หลักว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่ประเสริฐ ตัดเหลือแค่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ อยู่เฉยๆ จะไปประเสริฐได้อย่างไร

ที่จริงนั้น มนุษย์แย่เต็มที มนุษย์ที่ร้ายกว่าสัตว์อื่นก็มีเยอะแยะ ฉะนั้นเราจะต้องมาทบทวนและตรวจสอบกันใหม่ เวลานี้คติความเชื่อต่างๆ มันกร่อนไป คำที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เป็นคำพูดที่ไม่เต็ม ไม่สมบูรณ์ มันตกไป พร่องไป ต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก

อันนี้แหละที่สำคัญ คือคำว่า “ด้วยการฝึก” คำนี้แหละจะทำให้เราเห็นความประเสริฐของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์นั้น เมื่อฝึกขึ้นมาจึงมีความรู้ มีความดีงาม มีสติปัญญา มีความสามารถ ทำอะไรได้อย่างที่ไม่มีสัตว์อื่นชนิดไหนทำได้เลย

ตอนแรก เมื่ออยู่ด้วยสัญชาตญาณ มนุษย์สู้สัตว์ชนิดอื่นไม่ได้เลย มนุษย์นั้น โดยสัญชาตญาณ เป็นสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด สู้สัตว์อะไรไม่ได้สักอย่าง จะอยู่ด้วยสัญชาตญาณ ก็อยู่ไม่รอด ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีพ่อแม่หรือมีผู้ใหญ่ถ่ายทอดให้ความรู้ ฝึกหัด อบรม มีการสืบต่อทางวัฒนธรรม

มนุษย์มีการศึกษาเล่าเรียนถ่ายทอดวิชา เราฝึกฝนตนเอง ให้มีสติปัญญาสามารถ จนกระทั่งไม่มีสัตว์ชนิดใดสู้ได้ ทั้งในแง่ของความดีงาม ความสามารถ สติปัญญา และความรู้ ท่านสอนว่า มนุษย์นี้ ฝึกให้ดีจนกระทั่งเป็นพุทธะก็ได้ นี่แหละ ที่เรานับถือพระพุทธเจ้าก็เพราะว่า เป็นสัญลักษณ์ของการฝึกตนของมนุษย์

เป็นอันว่า มนุษย์นี้พัฒนาได้จนกระทั่งสุดยอดเป็นพุทธะ เราจึงถือว่า การฝึกมนุษย์นี้เป็นหน้าที่สำคัญ เป็นกิจการใหญ่ เป็นวัฒนธรรม เป็นอารยธรรม การที่มนุษย์จะมีวัฒนธรรม และอารยธรรม ก็อยู่ที่การฝึกฝนหรือการศึกษานี้ ฉะนั้น มนุษย์จึงต้องฝึกฝน

ทีนี้ ถ้าไม่ฝึก มนุษย์จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ฝึก มนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่เลวร้ายที่สุด และความเลวร้ายของมนุษย์ ก็จะทำให้สัตว์เมืองนี้ร้ายกว่าสัตว์ป่า จนกระทั่งอาจจะทำให้สัตว์ป่าหมดไป และสัตว์เมืองเองก็จะหมดไปด้วย แต่มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองได้

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะแทรกเข้ามา คือว่า เมื่อมนุษย์ฝึกตัวเองได้ดีแล้ว นอกจากฝึกตัวเองแล้ว มนุษย์ยังไปฝึกให้สัตว์อื่นได้ด้วย อย่างช้างนี้ มันฝึกตัวเองไม่เป็น แต่คนฝึกมัน เอามาลากซุงก็ได้ เล่นละครสัตว์ก็ได้ ลิงก็ฝึกตัวเองไม่เป็น คนต้องเอามันมาฝึก ให้เล่นละครลิงก็ได้ เอามาขึ้นต้นมะพร้าวก็ได้

สัตว์หลายชนิดพอฝึกได้บ้าง แต่ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้ มนุษย์เป็นผู้ฝึกตัวเองได้ จึงเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ว่าประเสริฐ

ทีนี้ สัตว์ป่าทั้งหลายนั้นมันร้ายก็จริง แต่มันก็ฆ่ากันได้ทีละตัวๆ เท่านั้น และฆ่าแล้วก็แล้วกันไป

แต่คนนี้ฆ่ากันทีละมากๆ บางทีคนเดียว ฆ่าคนได้เป็นแสนเป็นล้าน ถ้าลูกระเบิดมาตกตูมเดียวเท่านั้น เช่น ระเบิดไฮโดรเจน หรือนิวเคลียร์บอมบ์ ระเบิดขึ้นมา ก็อาจทำลายโลกได้

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการขู่อาฆาตกันอีก ฆ่ากันครั้งนี้ไม่พอ ยังฆ่ากันไปจนถึงขั้นลูกหลาน อย่างเผ่านี้กับเผ่าโน้น หรืออย่างบางชาติ บางสังคม อาฆาตกันมา ฆ่ากันไม่รู้จักเลิก เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่มีในหมู่สัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นเหล่านั้นไม่มีการขู่อาฆาตจองเวรกันขนาดนี้

จากที่พูดมานี้ เป็นที่น่าสงสัยว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐหรือไม่ประเสริฐกันแน่ ขอให้พิจารณาให้ดี ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ไหน พระพุทธศาสนาได้ย้ำเตือนว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว อาจจะเลวทรามมาก แต่ถ้าฝึกแล้ว จะประเสริฐสูงสุด

ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น ก็ ฝึกคน โดยเริ่มให้มีศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ในศีล ๕ นั้น ข้อแรกคืออะไร คือการเว้นจากปาณาติบาต คือเว้นจากการฆ่ากันทำร้ายร่างกายชีวิตกัน ในทางพระพุทธศาสนา ท่านยอมรับความจริงว่า คนเราจะให้เว้นทีเดียวหมดไม่ได้ ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

ในศีลข้อ ๑ นั้น เว้นฆ่ามนุษย์ก่อน พอเว้นฆ่ามนุษย์ได้แล้ว ต่อไปก็เว้นฆ่าสัตว์ที่มีคุณความดี สัตว์อะไรที่มีคุณความดีเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เราก็อย่าไปฆ่ามัน

ท่านสอนว่า การฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก มีประโยชน์มาก เป็นบาปมาก ถ้าฆ่าสัตว์ที่มีโทษมาก มีคุณประโยชน์น้อย ก็บาปน้อย อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธมีหลักในการปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลาย อย่างช้างนี้ เรามีความใกล้ชิดกับมัน ได้อาศัยมันทำประโยชน์มามาก เราก็ไม่ควรไปรังแกมัน หรืออย่างกระรอก เวลานี้เราไม่จำเป็นต้องเอาเป็นอาหารแล้ว เราก็ควรแสดงเมตตากรุณาได้เต็มที่ และมันก็จะเป็นเครื่องประดับในธรรมชาติที่สวยงามด้วย

นี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ อย่างน้อยในขั้นต้น คือ ถือศีล ๕ ข้อที่หนึ่งว่า เราจะไม่รังแกสัตว์ เราไม่ไปทำร้ายมัน ได้แค่ศีล ๕ ข้อที่ ๑ นี้ ก็ช่วยรักษาสัตว์ป่าได้มากมาย

แต่นอกจากศีล ๕ แล้ว เรายังต้องพัฒนาคนต่อไปอีก การพัฒนาคนในทางพุทธศาสนาในแง่ที่เกี่ยวกับสัตว์ป่านี้มีหลายขั้น เริ่มด้วยการมีความรู้สึกที่ดีงามต่อสัตว์และป่า ความรู้สึกที่ดีงามส่วนหนึ่งก็คือ การมองธรรมชาติในด้านดีงาม และงดงาม

ในพระพุทธศาสนามีวรรณคดีต่างๆ ที่ให้คนมองธรรมชาติแวดล้อม ในแง่ความสวยงาม

อย่างในมหาเวสสันดรชาดก เช่น กัณฑ์จุลพน และมหาพน ซึ่งแต่ก่อนนี้ เอามาเทศน์มหาชาติกันทุกปี พอเทศน์มหาชาติ ก็มีการพรรณนาความงามของป่า และสัตว์ที่อยู่ในป่า ในด้านรูปบ้างเสียงบ้าง ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจในความงามของธรรมชาติ ทำให้เรารักสัตว์และมีความสุข

เวลาเราเห็นธรรมชาติแวดล้อมสวยงาม เราก็มีความสุข เราได้ความสุขจากธรรมชาติแวดล้อม รวมทั้งจากสัตว์ เช่น นกที่มีสีสันสวยงามต่างๆ ส่งเสียงร้องแปลกๆ กันไป ในป่าในเขา เมื่อเห็นนกบิน ได้ยินเสียงนกร้อง เราก็มีความสุข พอเรามีความสุข เราก็รักมัน ทำให้เราช่วยกันรักษาป่าและสัตว์ป่าไว้ได้

วรรณคดีพุทธศาสนา เช่นเรื่อง มหาชาติเวสสันดรชาดก ได้ปลูกฝังจิตใจ ให้คนไทยมีความรักในป่าดงพงไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แต่เวลานี้ เรื่องของวรรณคดีเหล่านี้กำลังเลือนลางจางไป เราจะทำอะไรทดแทนขึ้นมาได้ในเรื่องความรู้สึกต่อสัตว์ป่าในแง่ของความเมตตากรุณา การชื่นชมความงาม ความรักสัตว์ การอยู่อย่างเป็นมิตร คิดที่จะช่วยเหลือ อย่างน้อยไม่รังแกกัน

คนไทยเรามีวรรณคดีในพุทธศาสนาเกี่ยวกับเมตตากรุณาต่อสัตว์นี้มากมาย อย่างชาดกเรื่องหนึ่งในทศชาติ (มหาชาติก็อยู่ในทศชาตินั้นเอง แต่มหาชาติ หมายถึงเฉพาะเวสสันดรชาดก) ในชุดทศชาติ คือ ๑๐ ชาตินั้น มีชาดกหนึ่งที่เป็นเรื่องแสดงถึงความมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ป่าโดยตรง คือ ชาดกเรื่องอะไร

ขอถามเป็นความรู้รอบตัว ใครทายได้บ้าง ชาดกนั้นคือ สุวรรณสามชาดก โยมเก่าๆ หลายท่านคงเคยได้ยิน

สุวรรณสามชาดก เป็นเรื่องที่แสดงเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์เกิดอยู่ในป่า และอยู่กับสัตว์ป่าอย่างเป็นมิตร ไปไหนก็ไปด้วยกัน สัตว์ป่า เช่นกวาง เห็นสุวรรณสามแล้ว ไม่มีความหวาดกลัวเลย มีแต่เข้ามาหา มาแวดล้อม

เวลาสุวรรณสามไปเอาน้ำ ก็มีพวกกวางมาเดินไปด้วย เอาหม้อน้ำวางบนหลังกวาง แล้วก็พากันไปที่สระน้ำ ตักน้ำมาแล้วกวางก็ช่วยแบกหม้อน้ำมาที่อาศรม อะไรอย่างนี้ นี้เป็นชีวิตที่อยู่อย่างเป็นกันเอง ช่วยเหลือกัน เป็นมิตร มีความสุขด้วยน้ำใจไมตรี

ความมีเมตตากรุณาอย่างนี้ ปลูกฝังได้ เด็กของเรา เกิดมาแล้ว ก็ควรอยู่กับสัตว์อย่างเป็นมิตรกัน เช่นกระรอก ถ้าเราดีกับมัน ก็มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่อไปเราก็ไม่อยากรังแกมัน เราจะรักมันเหมือนกับเพื่อน นี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของเราในแง่การปลูกฝังเมตตากรุณา แต่เวลานี้เรากำลังขาดไป

การศึกษาต้องมาช่วยเอาชาดกพวกนี้กลับคืนเข้าสู่วิถีชีวิตของคนไทย หรือเอาเข้ามาช่วยการศึกษาของเรา เป็นการช่วยกันสร้างสรรค์

สัตว์เมืองอยู่ร่วมโลกกับสัตว์ป่า
ควรศึกษาคติธรรม และมีน้ำใจไมตรี

นอกจากนั้น ชาดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เป็นส่วนมาก ชาดกมีตั้ง ๕๕๐ เรื่อง นับถ้วนๆ จริงๆ แล้วมี ๕๔๗ เรื่อง ชาดกทั้งหมด นี้มีสัตว์เป็นพระเอกเสียเกินครึ่ง สัตว์เป็นพระเอก เพราะฉะนั้นสัตว์ต้องมีความดี

เรื่องในชาดกเล่าถึงความดีของสัตว์ต่างๆ พอเด็กได้คุ้นเคยกับการทำความดีของสัตว์ ก็รักสัตว์ ชื่นชมต่อสัตว์ ได้ทั้งคติในการทำความดี และความรู้สึกที่ดีงามต่อสัตว์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

แต่เวลานี้เหมือนว่าเราไม่ได้สนับสนุน ทำอย่างไรเราจะให้เด็กคุ้นกับเรื่องของสัตว์เหล่านี้

ในชาดกหลายเรื่อง มีสัตว์เป็นวีรชน ที่จริงต้องเป็นวีรสัตว์ ซึ่งจำนวนมากมายเป็นพระโพธิสัตว์ ในหลายเรื่อง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลิง หรือวานร สัตว์ต่างๆ ที่เป็นตัวสำคัญๆ มีความเสียสละ มีคุณธรรมความดี เป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าเด็กได้อ่านได้ฟัง ก็จะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีงาม

จะขอเล่าชาดกเรื่องหนึ่ง ที่ว่าฝรั่งนิยมการล่าสัตว์นั้น ไม่ใช่เฉพาะฝรั่ง ทางตะวันออกก็นิยม มีมาแต่โบราณแล้ว ในอินเดียก็นิยมล่าสัตว์ สมัยก่อนพุทธกาลก็มีคนที่มีอำนาจ อยู่ท่ามกลางแวดล้อมของบริวารและทรัพย์สมบัติ ชอบออกป่าล่าสัตว์เป็นเรื่องสนุกกันเป็นประจำ โดยเฉพาะพระราชาก็ชอบล่าสัตว์

อย่างในชาดกที่กำลังพูดถึงนี้ว่า พระราชาองค์หนึ่งชอบล่ากวาง ล่าเสือคงจะยากกว่า ล่ากวางง่ายดี ได้แล้วก็ทำอาหารอร่อยไปเลย พอถึงวันหยุดก็ทรงสำราญพระราชหฤทัย เสด็จออกไปล่ากวางเป็นประจำ ทำให้กวางทั้งหลายที่อยู่ในป่านั้นมีความเดือดร้อนมาก

ต่อมากวางฝูงนั้นก็เลยมาทำความตกลงกันว่า ต่อไปนี้เรามาจัดเวรกัน พอถึงวาระเป็นลำดับของกวางตัวไหน ก็เสนอกวางตัวนั้นไปให้พระราชา จะได้ไม่ต้องให้พระองค์ลำบาก ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แล้วกวางเองก็จะได้อยู่กันเป็นสุขด้วย เพราะว่า เมื่อพระราชาเสด็จออกล่านั้น กวางทั้งหลายอยู่ไม่เป็นสุขเลย ต้องวิ่งหนีหวาดเสียวสะดุ้งตกอกตกใจและบาดเจ็บกันอยู่เรื่อย เมื่อจัดเวรแล้ว กวางทั้งหลายก็ไม่ต้องตื่นตกใจวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น พอจะอยู่กันเป็นสุขได้ ให้ทยอยลำบากทีละตัวเดียวๆ

ตกลงกวางก็จัดเวรกัน ส่งเข้าโรงครัวของพระราชาประจำวัน พระราชาก็เสวยเนื้อกวางนั้น

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายมีจ่าฝูงเป็นหัวหน้า ปรากฏว่ากวางในป่านั้นมี ๒ หัวหน้า เป็น ๒ ฝูงใหญ่ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผู้ร้าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระเอก

วันหนึ่งลำดับเวรมาถึงกวางแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่ง จะต้องเสนอตัวไปให้พระราชาล่า แล้วก็ไปเป็นอาหารในโรงครัวของพระองค์

ทีนี้ฝ่ายเนื้อโพธิสัตว์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝูงหนึ่ง ก็เสียสละตัวเองไปเสนอตัวแทน ขอให้เอาตัวเองไปฆ่าก่อน เพื่อจะได้เว้นชีวิตของแม่กวางไว้ เพราะว่าแม่กวางนั้นยังลูกอ่อน จะได้มีเวลาเลี้ยงลูกให้โตก่อน

นี้แสดงถึงคุณธรรมของกวาง ซึ่งเป็นคติแก่มนุษย์ด้วย ถือเป็นตัวอย่างในการเสียสละ กวางตัวนี้มีชื่อว่า นิโครธะ แปลว่า ต้นไทร หมายความว่า กวางตัวนี้ชื่อไทร

เมื่อกวางตัวนี้สละตัวเองเข้าลำดับ ก็เลยได้ไปเจอกับพระราชา แล้วก็มีบทสนทนากัน สนทนากันไปสนทนากันมา เลยกลายเป็นว่า กวางตัวนี้สั่งสอนธรรมแก่พระราชา ในเรื่องการไม่เบียดเบียนกัน การมีเมตตากรุณา จนพระราชาพระทัยอ่อน

พระราชาทรงสำนึกในคุณธรรม ทั้งความมีเมตตากรุณาและความเสียสละ ก็เลยกลับพระทัยให้อภัยแก่ฝูงกวางทั้งหมด ป่านั้นก็เลยเป็นที่ให้อภัยแก่กวาง งดล่างดกินเนื้อกวางทั้งหมด

ชาดกเรื่องนี้ เขาบอกว่าเป็นตำนานของป่าในพุทธประวัติ ท่านที่ไปอินเดีย ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ต้องเจอป่านี้ด้วย คือ อิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งจะมาถึงในวันที่ ๑๑ อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ป่านี้ แล้วก็เป็นเหตุให้เบญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรม

ต่อมา รูปกวางหมอบก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และการทรงแสดงปฐมเทศนา ดังจะเห็นว่า พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่เป็นของเก่าแก่ในอินเดีย มีรูปกวางหมอบอยู่ที่ฐานหรือที่เบื้องล่าง

ถอยหลังไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งยังไม่นิยมสร้างพระพุทธรูป เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนทรงแสดงปฐมเทศนา ก็แสดงด้วยสัญลักษณ์ คือรูปกวางหมอบนี้

เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าและสัตว์ป่า จากร้ายกลายเป็นดี ป่าที่ล่าสัตว์ก็กลายเป็นที่พระราชทานเหยื่อให้แก่ฝูงเนื้อ เป็นที่พระราชทานอภัยแก่ฝูงกวาง ทำให้ฝูงสัตว์ในป่านั้นไม่มีภัยอันตราย อยู่กันเป็นสุข เรื่องนี้ก็เป็นตำนานเล่ามา ซึ่งแสดงถึงคุณความดีของสัตว์ เล่าไว้เป็นตัวอย่างเท่านั้น เพราะชาดกอย่างนี้มีเยอะแยะ

อีกเรื่องหนึ่ง ขอเอามาเล่าไว้ด้วย หวังว่าคงไม่เสียเวลามากนัก คือเรื่องมหาวานรชาดก พระโพธิสัตว์เกิดเป็นหัวหน้าฝูงลิง

มีเรื่องเล่าว่า ที่ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สายหนึ่ง ซึ่งกว้างพอสมควร มีต้นมะม่วงพันธุ์ดีมีผลอร่อยมากต้นหนึ่ง พระราชาทรงโปรด พอถึงฤดู ที่เรียกว่าหน้ามะม่วง ก็จะเสด็จพร้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพารไปล่าสัตว์ แล้วก็ไปเสวยผลมะม่วงอร่อยที่นั่น

ต่อมาปีหนึ่ง จำเพาะว่า พระราชากำลังจะเสด็จพร้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพารไปที่ต้นมะม่วงนี้ ก็ปรากฏว่า พอเสด็จไปถึง ได้มีพวกลิงไปถึงก่อน ลิงฝูงหนึ่งมีพญาวานรเป็นผู้นำ พากันไปกินผลมะม่วงบนต้นไม้นั้น พระราชาก็เลยพิโรธมาก เป็นเหตุให้พระองค์คิดจะกำจัดฝูงลิงเสีย

พระราชาทรงให้ทหารทั้งหลายล้อมต้นไม้ไว้ ไม่ให้มีทางที่ลิงจะลงหนีไปได้ ลิงฝูงนี้ก็เดือดร้อนมาก จะทำอย่างไร คงต้องตายกันหมด เพราะหนีไม่ได้ ไม่มีทางไป ทหารเยอะแยะล้อมไว้หมด

หัวหน้าลิงนั้น สติปัญญาไว ก็คิดได้ และมีกำลังแข็งแรงกว่าวานรตัวอื่น ก็มองไปที่ริมแม่น้ำฝั่งโน้น ที่อยู่ตรงข้าม เห็นมีต้นไม้ใหญ่ และมีเถาวัลย์ยาว

พญาวานรนั้นก็คิดว่า กำลังแรงของเราพอไหว เราจะต้องกระโจนข้ามฝั่งแม่น้ำนี้ พอไปถึงฝั่งโน้นแล้ว ก็ไปเกาะเอาเถาวัลย์สายที่ยาวที่สุด แล้วก็โยนตัวกลับมา เอาปลายเถาวัลย์ผูกเข้าที่กิ่งไม้ต้นนี้ เถาวัลย์เส้นนั้นก็จะเป็นเหมือนสะพานให้ฝูงลิงพากันข้ามไปสู่ต้นไม้ฝั่งโน้นได้อย่างปลอดภัย นี้คือปัญญาของพญาวานร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์

คิดอย่างนั้นแล้ว พญาวานรก็กระโจนสุดแรงข้ามไปที่ต้นไม้ฝั่งตรงข้าม เหวี่ยงตัวไปจับเอาเถาวัลย์บนต้นไม้นั้นได้ แล้วก็โยนตัวอีกครั้งกลับมาที่ต้นไม้บนฝั่งนี้ ที่ทหารของพระราชาล้อมอยู่ จับเข้าที่กิ่งใหญ่ของต้นมะม่วง

แต่เคราะห์ร้าย ปรากฏว่า เถาวัลย์เส้นนั้น ไม่ยาวพอที่จะเอามาผูกกับกิ่งต้นมะม่วง ขาดไปนิดเดียว พอดีกับมือพญาวานรจับถึง จะทำอย่างไร ตัวพญาวานรเองก็จะต้องจับกิ่งมะม่วงไว้อย่างนั้น คือต้องเอาตัวและมือของพญาวานรเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเถาวัลย์ด้วย แทนเถาวัลย์ส่วนที่จะผูก

เหตุการณ์จวนแจ พญาวานรก็เลยเอามือจับกิ่งต้นมะม่วงกิ่งใหญ่นี้ไว้ แล้วก็ให้ลิงทั้งหลายไต่วิ่งข้าม อาศัยตัวของพญาวานรและเถาวัลย์ข้ามไปฝั่งโน้นโดยปลอดภัย

มีเรื่องแทรกเป็นเกร็ดนิดหน่อยว่า ลิงตัวหนึ่งที่เป็นระดับรองใกล้ๆ จะเป็นหัวหน้า แข็งแรงมาก ไม่พอใจพญาวานรมานานแล้วผูกใจเจ็บไว้ แต่ทำอะไรไม่ได้ คราวนี้ได้โอกาสก็กระโดดไปเป็นตัวสุดท้าย ก่อนไปก็กระทืบตัวพญาวานร ซึ่งอ่อนแรงจะหมดกำลังอยู่แล้วจนบอบช้ำไปหมด แล้วจึงข้ามไปฝั่งโน้น พญาวานรนี้แทบขาดใจเลย

ลิงซึ่งเป็นศัตรูตัวที่กระทืบทำให้พญาวานรบอบช้ำตัวนี้คือใคร รู้ไหม ก็คือพระเทวทัต อันนี้เป็นเรื่องแทรกเข้ามา

ฝ่ายพญาลิงนี้ พอลูกน้องข้ามไปฝั่งโน้นปลอดภัยแล้ว ตัวเองก็หมดแรง ไม่สามารถหนีไปได้ ก็เลยถูกจับ พอถูกจับ พระราชาก็ทรงซักถาม สมัยก่อนถือว่าสัตว์พูดภาษาคนได้ ก็จึงมีบทเจรจาขึ้นมา

พระราชาตรัสถามว่า ท่านมีกำลังแข็งแรงกว่าใคร สามารถหนีได้ ทำไมท่านไม่หนีเสียก่อนพวกลิงทั้งหลาย

พญาวานรก็ตอบว่า ธรรมดาของหัวหน้า จะต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้ที่อยู่ใต้ความคุ้มครองก่อน ถ้าหากจะทำให้เขามีความสุขหรือปลอดภัยได้ แม้ด้วยชีวิตของตน ก็จะต้องทำ นี้คือวิสัยของผู้เป็นหัวหน้าหมู่ชน

นี้เป็นคติของหัวหน้า นี้แหละ ชาดกท่านสอนคติธรรมด้วยวิธีดังนี้

เพราะฉะนั้น ใครเป็นหัวหน้าหมู่ชน ก็จะต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเห็นแก่ความสุขของหมู่ชนที่ตนคุ้มครอง และสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตน จึงสมควรเป็นหัวหน้าที่แท้จริง

นี้เป็นคติของพระโพธิสัตว์ที่มาในเรื่องชาดก เอามาเล่าให้ฟัง ให้เห็นคุณความดีของสัตว์ป่า เด็กควรจะได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองนี้ ชาดกอย่างนี้มีมาก เมื่อเด็กได้ยินแล้ว ก็จะสร้างทัศนคติที่ดีและความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า พร้อมทั้งได้คติธรรมไปด้วย ได้ประโยชน์มากมาย ได้เล่าให้ฟังสองสามเรื่องแล้ว

ในสมัยพุทธกาลเอง ก็มีเรื่องพระพุทธเจ้ากับสัตว์ป่า สัตว์ป่าอะไรที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าที่สุด ขอถามเป็นความรู้รอบตัว ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าไปประทับอยู่ในป่า แล้วมีสัตว์ ๒ ตัว มาคอยบำรุงรับใช้ สัตว์นั้นคืออะไร คือ ๑ ช้าง ๒ ลิง โยมตอบได้แล้ว นั้นคือที่ป่าเลไลยก์ใช่ไหม

ที่จริง ป่าเลไลยก์นี้ เป็นคำเลือนมาจากภาษาบาลี คือคำว่า “ปาริเลยยกะ” เราเจอคำว่า “ปา” ของบาลี นึกว่าเป็น ป่า “ริ” ก็เป็น เร หรือ เล ไป แล้ว “เลยยกะ” ก็เป็นไลยก์ ก็เลยกลายเป็นชื่อวัดว่าป่าเรไลยก์ หรือป่าเลไลยก์ ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ

ปาริไลยก์ ที่จริงเป็นชื่อตำบล และที่ตำบลนั้นมีป่าชื่อรักขิตวัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่ารักขิตวัน ที่ตำบลปาริไลยกะนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่านั้น มีสัตว์ ๒ ตัว คือช้างและลิงมาคอยอุปฐาก เป็นเรื่องที่มีมา อันแสดงถึงความดีงามของสัตว์ และความใกล้ชิดกันด้วยเมตตากรุณา

เรื่องนี้ ทำให้ชาวพุทธมีความรู้สึกว่า แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าก็ทรงใกล้ชิดกับสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างมาก เมื่อคนไทยเราได้ยินเรื่องอย่างนี้อยู่เรื่อย เราก็จะได้ปลูกฝังความรู้สึกที่ดีงาม และความสัมพันธ์อย่างมิตรกับสัตว์ป่าไว้

 

คนไทยมีคติธรรมและสัญลักษณ์ที่คุ้นใจ
พาสัตว์ป่าเข้ามาให้รู้สึกใกล้ชิดและชื่นชมเป็นมิตร

นอกจากนั้นยังมีอีกอย่างหนึ่งคือ คติการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศ คนไทยเราถือคตินี้มานานแล้ว

ปัจจุบันนี้เขาบอกว่า เราจะต้องมองว่าสิ่งทั้งหลายในระบบนิเวศ อาศัยซึ่งกันและกัน ความจริงเราถืออย่างนี้มานานแล้ว เรามีคติเช่นว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี” อะไรทำนองนี้

คติที่แสดงการพึ่งพาอาศัยกันมีอยู่ในคัมภีร์เช่นชาดก ซึ่งไม่เฉพาะมนุษย์กับสัตว์เท่านั้นที่ต้องอาศัยกัน แม้แต่เทวดาก็ยังต้องพึ่งสัตว์ป่า เทวดาต้องพึ่งเสือและสิงห์ เพราะฉะนั้น เราพูดได้ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เทวดาต้องพึ่งเสือ

เทวดาพึ่งเสืออย่างไร ขอเล่าเรื่องอีกชาดกหนึ่งไว้ให้เห็นถึงการที่ว่าเทวดาก็ยังต้องพึ่งสัตว์ป่า ท่านเล่าว่า

ที่ป่าแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าทั้งเสือและสิงห์ เป็นธรรมดาว่าในป่าใหญ่เสือสิงห์ก็ชอบกินสัตว์อื่นๆ พอกินแล้วก็เหลือเศษชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของสัตว์นั้นไว้ ซากศพของสัตว์นั้นก็เน่าเหม็น ทำให้ป่ามีกลิ่นไม่น่าชอบใจ

กล่าวฝ่ายรุกขเทวดา ๒ ตน ตนหนึ่งเป็นรุกขเทวดาพาล อีกตนหนึ่งเป็นรุกขเทวดาดี ฝ่ายรุกขเทวดาพาลก็บ่นขึ้นมาว่า เจ้าพวกเสือพวกสิงห์นี้มันยุ่ง มันทำให้ป่าเหม็นไม่น่าอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องแกล้งไล่มันไปเสีย เทวดาพาลตนนี้ก็ออกอุบายว่า เราจะแกล้งเนรมิตเป็นรูปที่น่าสะพรึงกลัวให้เจ้าเสือกับสิงห์มันตกใจแล้วหนีไปเสีย เราจะได้อยู่สบาย

ฝ่ายรุกขเทวดาบัณฑิตก็บอกว่า ท่านจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ที่เราได้อาศัยต้นไม้อยู่ และต้นไม้เหล่านี้อยู่ได้เพราะอะไร ก็เพราะมีเสือมีสิงห์ จึงทำให้คนไม่กล้าเข้ามาลึก คนเข้ามาก็แค่ชายป่าขอบป่าเท่านั้น และได้ไปเฉพาะไม้เล็กๆ น้อยๆ ไม่กล้าเข้ามาลึก เพราะกลัวพวกสิงห์เสือ ถ้าเราไล่เสือสิงห์ไปแล้ว พวกมนุษย์ทั้งหลายไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวก็จะรุกเข้ามาทำลายป่า เดี๋ยวเราก็จะไม่มีที่อยู่

ฝ่ายรุกขเทวดาพาลนั้นไม่ยอมเชื่อฟัง ก็ได้เนรมิตรูปที่น่าสะพรึงกลัว ไล่เอาเจ้าพวกสิงห์และเสือเตลิดไป

ฝ่ายผู้คนทั้งหลายที่มาหาผลไม้พืชพันธุ์จากป่านั้น ตอนแรกก็อยู่แค่ชายป่า ต่อมา เมื่อไม่เห็นว่าจะมีภัยอันตรายอะไร ก็ค่อยๆ บุกลึกเข้ามาๆ ตัดไม้ลึกเข้ามา จนกระทั่งในที่สุดก็ตัดไม้ที่รุกขเทวดาอาศัยอยู่ รุกขเทวดาพาลจึงได้เห็นคุณค่าของเสือและสิงห์ แต่ก็สายไปเสียแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้

เป็นอันว่า แม้แต่เทวดาก็ต้องอาศัยสัตว์ป่าเหมือนกัน อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ท่านสอนคติอย่างนี้มานานแล้ว เรื่อง น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า รุกขเทวดาพึ่งเสือ หรือ พฤกษาพึ่งเสือ อะไรพวกนี้ เรื่องของสัตว์ป่านั้นมีอีกมากมาย

ในทางธรรม เรานำสัตว์มาใช้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบในทางที่ดีงาม ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบพระองค์เป็นเหมือนราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถือว่าเป็นเจ้าป่า

พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนสัจธรรมเหมือนดังราชสีห์ ที่บันลือ “สีหนาท” ออกไปแล้ว สัตว์ป่าทั้งหลายก็เงียบหมด เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ประกาศสัจจะเป็นความจริงที่ไม่มีใครเถียงได้ ทุกคนยอมรับ แม้แต่พระพุทธเจ้าจะบรรทมก็เรียกว่า “สีหไสยาสน์” คือนอนอย่างราชสีห์

ราชสีห์หรือสิงห์ ถือกันว่า เป็นสัตว์เจ้าป่า คนจึงใช้ราชสีห์หรือสิงห์นั้น เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความยิ่งใหญ่ หรือความองอาจแกล้วกล้ามั่นคงและมั่นใจ พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้เขียนศิลาจารึกประกาศธรรมไว้มากมาย ทั่วพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะ ณ สถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มักทรงประดิษฐานหลักศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐาน

หลักศิลาจารึกที่รู้จักกันมาก คือที่สารนาถ อันได้แก่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

ยอดเสาหลักศิลาจารึกที่สารนาถนี้ เป็นรูปสิงห์ ๔ ตัว หันหลังเข้าหากัน และหันหน้าออกไปสู่ทิศทั้ง ๔ ตัวละทิศ และบนหัวสิงห์ทั้ง ๔ นั้น ก็มีวงพระธรรมจักร ซึ่งหัวสิงห์ทูนไว้เป็นส่วนยอดสุด เป็นสัญลักษณ์แห่งการที่พระพุทธเจ้าทรงบันลือสีหนาทประกาศธรรมให้แพร่กระจายออกไปในทิศทั้งสี่ และอาจจะแปลความหมายแฝงไว้อีกขั้นหนึ่งด้วยก็ได้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจเป็นเครื่องรองรับเชิดชูธรรม หรืออาณาจักรรองรับเชิดชูธรรมจักร

ปัจจุบัน วงธรรมจักรบนหัวสิงห์ ได้ไปประดิษฐานเป็นส่วนใจกลางของธงชาติอินเดีย และหัวสิงห์ยอดเสาศิลาจารึกนี้ ก็ได้แยกไปเป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดีย

อีกอย่างหนึ่ง มีคำเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนโคอุสภะ ซึ่งเป็นโคที่สง่าองอาจ หรือบางครั้งเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนช้างศึก อย่างพระพุทธพจน์ในธรรมบทว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม ฯเปฯ” แปลว่า เราเป็นเหมือนช้างศึกในสงคราม ฯลฯ

พุทธพจน์นี้ก็สืบเนื่องมาจากการที่มีคนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า ทำการขัดขวางการประกาศพระศาสนา หรือแสดงความไม่ยอมรับด้วยอาการต่างๆ

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในเมืองๆ หนึ่ง มีคนรับจ้างมายืนด่าทุกสี่แยก พระพุทธเจ้ากับพระสาวกไปสี่แยกไหน ก็ถูกด่าตรงนั้น

พระอานนท์กราบทูลว่า เราไปกันเถอะ ไปเมืองโน้นดีกว่า เมืองโน้นมีคนเป็นมิตรเยอะ เมืองนี้ไม่ดีและไม่น่าอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านไปแล้ว ไปเจอคนด่าอีก จะทำอย่างไร พระอานนท์ว่าเราก็ไปเมืองอื่นต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามอีกว่า ถ้าไปแล้วไปเจอคนด่าอีก จะทำอย่างไร พระอานนท์ว่า ก็ไปต่อไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำอย่างนั้นไม่ถูก ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา “เหตุเกิดที่ไหน ต้องระงับที่นั่น”

ต่อมา พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการที่ทำให้การด่าสงบลงภายใน ๗ วัน เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงเสด็จจากไป นี้เป็นวิธีของพระพุทธเจ้า ตามหลักการว่าเหตุเกิดที่ไหนต้องระงับที่นั่น พระพุทธเจ้าไม่หนีปัญหา

ข้อความที่พระองค์ตรัสตอนหนึ่งว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม” เรานี้เหมือนช้างเข้าสู่สงคราม เมื่อเข้าสู่สงคราม ต้องเจอหอก ดาบ และแม้แต่ลูกศร ลูกธนูที่เขายิงมา เราจะไปกลัวอะไร เราต้องสู้เหมือนช้างใหญ่เข้าสู่สงครามแล้ว ไม่มีความหวาดกลัว เพราะฉะนั้น ชาวพุทธนี้เป็นนักสู้ปัญหา ต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา เหตุเกิดที่ไหน ต้องให้ระงับที่นั่น นี้เป็นคติอย่างหนึ่ง

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เอาเรื่องสัตว์มาเป็นอุปมามากมาย อุปมาหนึ่งที่ทราบกันมากคือ การเปรียบความไม่ประมาทว่าเหมือนรอยเท้าช้าง

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมที่สำคัญหลักหนึ่งคือ ความไม่ประมาท ซึ่งชาวพุทธควรจดจำ เป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเวลานี้ คนไทยชาวพุทธนี้ ถ้าไม่ระวังตัวจะเป็นคนประมาท เช่น เป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้สิ่งยาก และชอบผัดผ่อน เป็นคนที่เห็นแก่ความสนุกสนานรื่นเริง มัวเมา

ใครมีลักษณะผัดผ่อนเวลา ใครมีลักษณะชอบเพลิดเพลินหลงระเริงในความสุข ใครมีลักษณะไม่รีบป้องกันภัยอันตราย ใครมีลักษณะไม่ชอบสำรวจตรวจตราสิ่งที่เกิดขึ้นและความเป็นไป ใครมัวปล่อยปละละเลยไม่เร่งแก้ไขปัญหา และไม่เร่งทำการที่ควรทำ เรียกว่าเป็น คนประมาท

พระพุทธเจ้าตรัสหลักธรรมสำคัญไว้คือ ความไม่ประมาท โดยอุปมาเสมือนว่า รอยเท้าสัตว์บกชนิดใดก็ตาม ย่อมไม่มีอย่างไหนใหญ่กว่ารอยเท้าช้าง รอยเท้าทุกชนิดลงได้ในรอยเท้าช้าง ฉันใด ธรรมทั้งปวงก็ลงได้ในความไม่ประมาท ฉันนั้น พุทธพจน์นี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงความสำคัญของความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทเปรียบเหมือนรอยเท้าช้างอย่างไร ถ้าเรามีความไม่ประมาทแล้ว ธรรมทุกข้อที่ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนมากเรียนน้อย เรียน ๑๐ ข้อ หรือเรียน ๕ ข้อ ก็ได้รับการปฏิบัติหมด

แต่ถ้าเรามีความประมาทเสียอย่างเดียว เรียนธรรมทั้งตู้ก็ไม่ได้ปฏิบัติสักข้อเดียว เพราะเมื่อประมาทก็ผัดผ่อน นอนใจ ปล่อยเรื่อยเปื่อย ละเลย ไม่เอาใจใส่ เพราะฉะนั้น ประมาทเสียอย่างเดียว เรียนคัมภีร์มาเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ เหมือนกับว่า ธรรมทุกข้อนอนหลับอยู่ในตู้คัมภีร์ทั้งหมด

แต่ถ้าเราไม่ประมาทแล้ว เราเรียนธรรมเพียง ๔ ข้อ เราก็ปฏิบัติหมดทุกข้อ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่ประมาทนี้เป็นประดุจรอยเท้าช้าง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ชาวพุทธจะต้องเห็นความสำคัญของความไม่ประมาท และความไม่ประมาทอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะเอาใจใส่และเอาจริงเอาจังในการรักษาธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ ทรัพยากรธรรมชาติของเมืองไทยกำลังร่อยหรอมาก ธรรมชาติแวดล้อมก็มีสภาพเสื่อมโทรม มลภาวะก็สูง เวลานี้ คนไทยเราตกอยู่ในความประมาทหรือเปล่า ถ้าประมาท ไม่ช้าเราจะประสบความลำบาก ทรัพยากรธรรมชาติจะหมดไป

ขอให้มองดูประเทศข้างเคียง เช่น พม่า ลาว เขมร ธรรมชาติในประเทศของเขายังอยู่ในสภาพดีกว่าเรา ป่าและสัตว์ป่ายังมีอยู่มากมาย

ในกรุงเทพเวลานี้ อากาศร้อนขนาดไหน มลภาวะในกรุงเทพเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ เราแทบจะเป็นอันดับหนึ่ง นี้เป็นอันตรายที่มาถึงตัว สภาพอย่างนี้ ถ้าเราปล่อย ก็คือเราประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จะต้องเอาธรรมคือความไม่ประมาทนี้มาใช้ อย่ามัวผัดผ่อน อย่ามัวเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัว อย่ามัวเพลิดเพลินมัวเมา จงรีบพิจารณา อะไรเป็นภัยอันตราย ต้องรีบแก้ไขป้องกัน

นิสัยไม่ประมาท เป็นนิสัยของชาวพุทธ คนประมาทจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร เวลานี้เราต้องหยิบธรรมข้อนี้มาใช้กัน

ในคติไทยเรา ไม่เฉพาะในพุทธศาสนา เราเอาสัตว์ต่างๆ ในป่ามาใช้ ทั้งใช้งานจริง และใช้เป็นสัญลักษณ์ ใช้เป็นตราเป็นเครื่องหมายสำคัญกันมาก เราใช้ช้างม้าในสงคราม บางทีเราก็เอาสัตว์ในนิยายหรือสัตว์ในป่าหิมพานต์มาเป็นตราแผ่นดินบ้าง เอามาเป็นเครื่องหมายราชการส่วนโน้นส่วนนี้บ้าง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ตราแผ่นดินไทยก็คือ สัตว์ป่าชนิดหนึ่งในป่าหิมพานต์ ได้แก่ ครุฑ ช้างสามเศียร หรือช้างเอราวัณ ก็เคยเป็นเครื่องหมายตราแผ่นดิน

ธงชาติไทยสมัยหนึ่งก็คือ ธงตราช้าง เราเอาช้างเผือกมาเป็นเครื่องหมายในธงของเรา โดยเริ่มต้นเป็นธงเรือก่อนในสมัย ร.๒ เรือหลวงใช้ธงช้างเผือก แล้วต่อมาถึง ร. ๔ ก็ได้เป็นธงประจำชาติ เพียงแต่เอารูปจักรออกไป

นอกจากนี้ เราก็ยังมีช้างเป็นเครื่องหมายในเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ช้างก็เข้ามามีส่วนสำคัญมากในด้านตราหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ใช้กันมากมาย เป็นตราจังหวัดบ้าง เป็นตราองค์กรต่างๆ บ้าง เช่น สยามสมาคม เป็นต้น แม้แต่กรมศิลปากรก็ใช้ตราช้าง แต่ไม่ใช่ช้างแท้ ตรากรมศิลปากรนี้ หัวเป็นช้าง แต่ตัวเป็นเทวดา คือพระคเณศวร์ หรือพิฆเนศ

พระคเณศวร์ เป็นเทพบุตร ทำไมมีเศียรหรือหัวเป็นช้าง ก็มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า พระคเณศวร์นี้เป็นโอรส คือลูกของพระอิศวรหรือพระศิวะ กับเจ้าแม่อุมา ปั้นขึ้นมาจากขี้ไคล อยู่มาวันหนึ่งเจ้าแม่อุมาจะสรงน้ำ ก็อยากจะสนานพระวรกายให้สบายใจ ไม่ให้มีใครมากวน เลยให้เทพบุตรพิฆเนศเฝ้าต้นทางไว้ บอกว่าอย่าให้ใครผ่านเข้ามาได้ จนกว่าแม่จะอาบน้ำเสร็จ

ระหว่างนั้น ก็พอดีพระศิวะหรือพระอิศวรเกิดจะเสด็จมา พระคเณศวร์เทพบุตรก็เข้าขวางไว้ เป็นการทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์ เคราะห์ร้ายพระศิวะคือพระอิศวรจำพระโอรสไม่ได้ ทรงพระพิโรธว่ามาขวางทางพระองค์ ก็เลยประหารให้เศียรขาดหายเสียเดี๋ยวนั้นเลย

เจ้าแม่อุมาสนานพระวรกายเสร็จก็ออกมา พอทราบว่าพระโอรสสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ก็ทรงต่อว่าพระอิศวรว่าทำไมถึงได้ฆ่าลูกตัวเอง พระอิศวรไม่รู้จะทำอย่างไร จะต้องเอาใจพระอุมาด้วย และเพื่อจะช่วยชีวิตลูกของพระองค์เองด้วย

ตอนนี้เรื่องราวที่มีมาในตำนานต่างๆ อาจไม่ตรงกัน ตำนานหนึ่งว่า พระองค์ก็ตั้งกำหนดขึ้นมาว่า จะเอาหัวของสัตว์ที่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก หมายความว่า ตอนนั้น ถ้าใครนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก ก็จะถูกตัดเอาหัวมาใส่ให้พระคเณศวร์

พอดีวันนั้น ช้างตัวหนึ่งนอนหันหัวมาทางทิศตะวันตก พระอิศวรก็เลยตัดเอาหัวช้างนั้นเสียบต่อให้พระพิฆเนศ พระพิฆเนศก็จึงมีหัวเป็นช้างตลอดมา ทำให้พระพิฆเนศมีชีวิตเป็นเทพบุตรต่อมาได้ และเป็นตราของกรมศิลปากรสืบมา

ตกลงว่า เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่านี้ มีทั้งสัตว์ป่าแท้ๆ และสัตว์ป่าที่อยู่ในเทพนิยายต่างๆ แต่สัตว์ป่าที่สำคัญยิ่ง ก็คือสัตว์มนุษย์ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสัตว์เมือง

ความจริง สัตว์มนุษย์นั้น เดิมก็เป็นสัตว์ป่านั่นแหละ แต่เวลานี้แยกตัวออกมาเป็นสัตว์เมือง

สัตว์เมือง คือสัตว์มนุษย์นี้ยุ่งมาก เพราะว่า ในหมู่มนุษย์เองก็แบ่งแยกกัน มีการแบ่งแยกคนด้วยกัน เป็นคนเมือง กับคนป่า

แล้วสัตว์ที่อยู่ในป่า มนุษย์ก็ทำยุ่งอีก มนุษย์ที่เป็นสัตว์เมืองเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้านกับสัตว์เมือง เลยวุ่นวายสับสนหมด มีทั้งคนเองที่เป็นสัตว์เมือง ที่อยู่ป่าบ้างเมืองบ้าง มีสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ในป่า แต่บางส่วนก็มาอยู่กับสัตว์มนุษย์ที่อยู่ในเมือง

 

ไม่ว่าจะล่า หรือจะอนุรักษ์สัตว์ป่า ก็เพื่อคนทั้งนั้น
การอนุรักษ์ยั่งยืนไม่ได้ ถ้าสัตว์เมืองไร้น้ำจิตไม่จริงใจ

เวลานี้เราเห็นความสำคัญของสัตว์ป่า แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เวลานี้การอนุรักษ์สัตว์ป่ามีเหตุผลสำคัญว่า ทรัพยากรธรรมชาติของเราร่อยหรอลงไปแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม เราจะต้องอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า แต่การอนุรักษ์นั้นเขาทำด้วยเหตุผลซึ่งบางทีไม่เป็นไปด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณา คือไม่ได้มีน้ำใจดีงามหรือความจริงใจต่อสัตว์เลย

มนุษย์อาจจะอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วยความเห็นแก่ตัว เวลานี้ลองดูให้ดี การที่มนุษย์อนุรักษ์สัตว์ป่านั้น ไม่ได้อนุรักษ์เพราะเห็นแก่สัตว์ป่า คือไม่ได้มีน้ำใจต่อสัตว์ป่า มิใช่เพราะมีเมตตากรุณาต่อสัตว์เหล่านั้น

การที่มนุษย์อนุรักษ์สัตว์ป่า ก็เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตน คือ ไม่ได้รักสัตว์ แต่รักผลประโยชน์ของตนเอง หรือมุ่งหาและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เราไม่ได้เห็นแก่สุขทุกข์ของมันที่จะมีชีวิตตามธรรมชาติเลย แต่เรามีการอนุรักษ์สัตว์ป่า

แบบที่ ๑ คือ อนุรักษ์แบบพ่อค้า หมายความว่า เราอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วยการทำให้มันแพร่พันธุ์มากๆ เพื่อเราจะได้มีสินค้าที่จะเอาไปขายหาผลประโยชน์ เรามองสัตว์ป่าเหมือนสิ่งไม่มีชีวิตจิตใจ เป็นเหมือนวัตถุ และเป็นวัตถุทางการค้า คือมองสัตว์ป่าเป็นสินค้านั่นเอง เพราะฉะนั้น เราจึงเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อทำเป็นอาหารบ้าง เพื่อค้าขายบ้าง คือหาผลประโยชน์ นี้เป็นการอนุรักษ์แบบพ่อค้า

แบบที่ ๒ คือ อนุรักษ์แบบนักวิทยาศาสตร์ เช่น ทดลองผสมพันธุ์ ด้วยความอยากรู้ ว่าถ้าผสมอย่างนี้ จะเกิดเป็นอย่างไรขึ้นมา โดยที่ไม่เคยมีจิตใจรักสัตว์นั้นเลย ทำเพื่อสนองความอยากของตนเองเท่านั้น ไม่มีน้ำใจที่คิดว่าสัตว์นั้นจะมีความสุขหรือความทุกข์อย่างไร แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีน้ำใจ ก็จะมีเจตนาต่างออกไป

แบบที่ ๓ คือ อนุรักษ์แบบเครื่องเล่น มองสัตว์เป็นเครื่องเล่น หรือเครื่องประดับ คนที่เรียกกันว่ามีอำนาจวาสนาบารมี เอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ประดับบ้านแสดงความยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งเอาอวัยะของมัน เช่น หนังเสือเป็นต้น มาประดับ เอามาปูบ้าน แสดงว่าเรานี้ร่ำรวย มีฐานะโก้เก๋ สัตว์ก็กลายเป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ชนิดหนึ่ง

นี่คือ มนุษย์เราที่อนุรักษ์สัตว์ป่ากันนี้ ก็เป็นเพียงผลพลอยได้จากการหาผลประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้นเอง มนุษย์ไม่ได้ทำด้วยเห็นแก่สัตว์ เพราะฉะนั้น การอนุรักษ์แบบนี้คงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

ในการอนุรักษ์นั้น อย่างน้อยเราต้องมีน้ำใจต่อมัน เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

จุดหมายที่แท้จริงของการอนุรักษ์สัตว์ป่า จะต้องให้เป็นไปด้วยใจที่มีเมตตากรุณา คืออนุรักษ์สัตว์ เพื่อเห็นแก่สุขทุกข์ของมัน

ถ้าจะให้ดีคือ ให้มันมีชีวิตที่พึงประสงค์ตามธรรมชาติของมัน การที่จะทำได้สำเร็จก็คือ ต้องพัฒนาคน

การพัฒนาคน คือ พัฒนาจิตใจให้มีเมตตากรุณา แล้วการอนุรักษ์นั้นก็จะไม่แห้งแล้ง ถ้าไม่มีน้ำใจเมตตากรุณา การอนุรักษ์นั้นก็แห้งแล้ง เพราะเราไม่จริงใจต่อมัน เราไม่เห็นแก่สัตว์ป่า แต่เห็นแก่ตัวของเราเอง

ฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาคน โดยให้การศึกษาที่ดีอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว
๑. ให้รู้จักมีความซาบซึ้งในคุณงามความดีและความสวยงามตามธรรมชาติ
๒. ให้มีเมตตาไมตรี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่มัน มีความสงสารเมื่อเห็นมันมีความทุกข์
๓. ให้มองเห็นมันเป็นสมาชิกหรือเป็นส่วนร่วมที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยกัน แม้กระทั่งให้มีความกตัญญูต่อสัตว์

มีชาดกอีกเรื่องหนึ่ง ว่าจะไม่เล่าแล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเล่า คือ มีชายคนหนึ่งไปในป่า แล้วก็หลงหาทางออกไม่ได้ เวลาผ่านไปหลายวัน อดอยากขาดอาหารจะตาย พญาลิงตัวหนึ่งเป็นโพธิสัตว์มาเห็นเข้า ก็พยายามช่วยเหลือโดยมานำทางมนุษย์คนนี้ออกจากป่า

แต่พอใกล้จะออกจากป่าได้ นายคนนี้เห็นว่าตัวเองจะพ้นป่าปลอดภัยแน่ ก็มานึกว่า เราก็หิวมานานแล้ว ควรจะเอาลิงตัวนี้เป็นอาหารของเราเสียเลย เพราะว่า เดี๋ยวเราก็จะพ้นป่าไปแล้วและจะไม่ต้องอาศัยมันอีก

เมื่อคนคิดอย่างนี้แล้ว พอถึงเวลาที่พักผ่อนกันระหว่างกำลังเดินทาง พอลิงเผลอ คนก็เอาหินทุบหัวลิง เพื่อเตรียมจะกินมัน แต่ลิงซึ่งเจ็บแต่ยังไม่ตาย ก็ตื่นขึ้นมา แล้วมีบทสนทนาที่ลิงสอนคุณธรรมต่างๆ แก่คน เจ้าลิงนี้ร้องไห้ และพูดจาต่างๆ ทำให้มนุษย์ได้เกิดสำนึกในคุณธรรมขึ้นมา

นี้ก็เป็นเรื่องที่แสดงว่า บางทีคนเรานี้มีคุณความดีสู้ลิงก็ไม่ได้ หมายความว่ามีคุณธรรมน้อยกว่าลิง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอย่างที่บอกแล้วว่า ถ้าไม่พัฒนาคนแล้ว คนเรานี้แหละจะเป็นสัตว์ป่าที่ร้ายกาจที่สุด

จึงต้องพัฒนาคนให้มีจิตใจที่มีคุณธรรม และให้มีความรู้คิด การอนุรักษ์ป่า จะต้องอนุรักษ์ด้วยใจจริง ด้วยการพัฒนาคนให้มีเมตตากรุณา การอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าจึงจะสำเร็จ โลกจึงจะร่มเย็นเป็นสุขได้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ยากที่จะเป็นผลสำเร็จ โลกจะไม่มีทางพบสันติสุขเป็นอันขาด

เวลานี้คนก็กำลังจะทำกับคน อย่างที่คนทำกับสัตว์ป่า

เมื่อกี้ได้บอกว่า คนเราทำกับสัตว์ป่า
๑. แบบพ่อค้า คือ ขาย
๒. แบบนักวิทยาศาสตร์ คือทดลอง
๓. แบบเป็นเครื่องเล่น หรือเครื่องประดับ

เวลานี้ มนุษย์ก็กำลังทำกับมนุษย์ หรือคนกำลังทำกับคน
๑. คนขายคน เวลานี้คนขายคนกันมากทีเดียว สัตว์อื่นที่เราเรียกว่าสัตว์ป่านั้น มีไหมที่มันขายกัน แต่มนุษย์นี้ขายมนุษย์ด้วยกันเอง เอาไปทำอะไรต่างๆ มากมาย
๒. คนเอาคนเป็นสัตว์ทดลอง เพื่อสนองความอยากรู้แบบวิทยาศาสตร์โดยไร้มโนธรรม
๓. คนเอาคนเป็นเครื่องประดับ

ไปๆ มาๆ จึงบอกว่า สัตว์ป่าที่ร้ายที่สุด คือ สัตว์ป่าที่เรียกว่ามนุษย์ ไม่มีสัตว์ป่าชนิดไหนจะร้ายเท่า ถ้าไม่พัฒนาเสียอย่างเดียว สัตว์ป่าชนิดนี้จะทำลายโลก

สัตว์ป่าชนิดอื่นมีไหมที่จะทำลายโลก ไม่มีทางเลย แต่สัตว์ป่าที่เรียกว่ามนุษย์ เป็นสัตว์ป่าที่จะทำลายโลกได้อย่างแน่นอน จะทำลายทันทีทันใดด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้ ทำลายระยะยาวด้วยการทำลายสภาพแวดล้อมของธรรมชาติทั้งโลกก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องรีบพัฒนาคนก่อนที่จะสายเกินไป

เมื่อเราพัฒนาคนได้สำเร็จ คนก็จะมีความดีงาม แล้วก็ประพฤติดีต่อคน และประพฤติดีต่อสัตว์ป่าทั้งหลายด้วย แล้วตอนนี้แหละมนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ที่มีอารยธรรมที่แท้จริง

คนพัฒนาจากสัตว์ป่าเป็นสัตว์เมือง โลกยิ่งเสี่ยงภัย
ต้องให้สัตว์เมืองพัฒนาเป็นอารยชน จึงมีสันติสุขได้

เวลาเราใช้ภาษาอังกฤษ ในคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอารยธรรมนั้น คำว่า “มีอารยธรรม” เราใช้กันว่า civilized ซึ่งมีบางท่านหาคำไทยมาใช้เลียนเสียงว่า ศรีวิไล

ที่จริง ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า civilized นี้มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า city ที่แปลว่าเมือง ฉะนั้น ที่ว่า civilized ก็คือ กลายจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เมืองนั่นเอง

จึงต้องรู้เข้าใจว่า ศัพท์ฝรั่งว่า civilized ที่แปลว่ามีอารยธรรมนั้น ที่จริงแปลว่า “กลายเป็นสัตว์เมือง” คือ คนนั้นได้กลายจากสัตว์ป่า เป็นสัตว์เมือง

แต่ความเป็นสัตว์เมืองนั้น ไม่เป็นหลักประกันว่าจะเป็นสัตว์ที่ดี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยก่อนในตอนแรกๆ เมื่อศัพท์ว่า civilization เข้ามา ไม่ได้แปลว่า “อารยธรรม”

เราเคยแปลว่าอะไรทราบไหม คำว่า civilization นั้นเข้ามาเมืองไทยสมัยแรกเราแปลว่า “นาครธรรม” ซึ่งตรงความหมายที่แท้ เพราะนาครธรรม แปลว่าธรรมของคนเมือง (นาคร แปลว่าชาวเมือง) แสดงว่าท่านผู้คิดคำแปลนั้นได้ดูจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษ

ในเมื่อ civilized แปลว่า ทำให้กลายจากสัตว์ป่าหรือคนป่ามาเป็นคนเมืองหรือเป็นสัตว์เมือง คำว่า “อารยธรรม” จึงสูงกว่า civilization ที่เป็น “นาครธรรม”

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคนให้เจริญขึ้นมาจาก civilization คือจากความเป็นสัตว์เมือง ที่มีนาครธรรม มาเป็นมนุษย์ประเสริฐ ผู้มีอารยธรรม อีกทีหนึ่ง

อารยธรรมนั้น แปลว่าธรรมของสัตว์ที่ประเสริฐ “อารยะ” แปลว่า ประเสริฐ เป็นศัพท์สันสกฤต ภาษาบาลีว่า “อริย” เช่นในคำว่า อริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น

อริยะ/อารยะ แปลว่า ไกลจากกิเลส เมื่อไกลจากกิเลสจึงจะเป็นอารยชน

เวลานี้ คนมีนาครธรรม ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่า จะมีอารยธรรม ต้องขยับอีกขั้นหนึ่ง โดยพัฒนามนุษย์ให้เป็นอารยชนที่มีอารยธรรม เมื่อทำให้คนมีอารยธรรมได้แล้ว เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จ ทำให้มนุษย์อยู่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีสันติอย่างแท้จริง

อาตมภาพได้พูดมาเป็นเวลายาวนาน เกินเวลามานานแล้ว เตรียมจะยุติการพูด พอดีไปเห็นในหนังสือเล่มหนึ่ง ไหนๆ จะจบแล้ว เลยเอามาแทรก

เมื่อกี้นี้เล่าเผลอข้ามไป คือ ที่บอกว่าการเที่ยวป่าล่าสัตว์ ไม่เฉพาะมีในเมืองฝรั่งเท่านั้น ในสังคมอินเดียก็มี

ในอินเดีย พระราชาก็ชอบออกป่าล่าสัตว์หาความสุขสำราญ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่นในชาดก เป็นต้น จนกระทั่งมาถึงช่วงพุทธกาลแล้ว จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกหลังพุทธกาลก็มี แต่เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าอโศก ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อกี้เล่าข้ามตรงนี้ไป

พระเจ้าอโศกนั้น เป็นพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนจากการนิยมทำศึกสงครามมานับถือธรรม และประกาศนโยบาย ธรรมวิชัย

ในนโยบายธรรมวิชัยนี้ ปฏิบัติการทางธรรมอย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกทรงริเริ่มขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงการเที่ยวหาความสนุกจากการล่าสัตว์ มาเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นอารยธรรมอย่างแท้จริง จึงขอนำเอามาแทรกตอนจบ

ความโดยสรุปมีว่า ในอินเดีย พระราชาได้ล่าสัตว์กันมา จนกระทั่งพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จอุบัติขึ้น และหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงริเริ่มประเพณีใหม่ขึ้นมา แต่ก็ทำได้เฉพาะรุ่นพระองค์ ต่อมาราชารุ่นหลังก็คงไม่เอาด้วย

เรื่องนี้ พระองค์ได้โปรดให้จารึกไว้ในหลักศิลาจารึกอโศก เป็นจารึกฉบับที่ ๘ มีข้อความดังต่อไปนี้ โยมฟังดูแล้วจะเข้าใจว่า พระเจ้าอโศกได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างไร จารึกฉบับที่ ๘ ว่าดังนี้

“ตลอดกาลยาวนานที่ล่วงผ่านไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งหลายได้เสด็จไปในการวิหารยาตรา คือการท่องเที่ยวหาความสำราญ ในวิหารยาตรานั้น ได้มีการล่าสัตว์และการสนุกสนานหาความสุขสำราญอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (คือพระเจ้าอโศกมหาราช) เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๐ พรรษา ได้เสด็จไปสู่พระศรีมหาโพธิ์ สถานที่บรรลุสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงได้เกิดมี ธรรมยาตรา คือการท่องเที่ยวโดยทางธรรมนี้ขึ้น

ในธรรมยาตรานั้น ย่อมมีกิจดังต่อไปนี้ คือ การเยี่ยมเยียนสมณพราหมณ์ และพระสงฆ์ การเยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าผู้สูงอายุ และพระราชทานเงินทองแก่ผู้เฒ่าเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท การสั่งสอนและซักถามปัญหาธรรมแก่กัน

ความพึงพอใจอันเกิดจากการกระทำเช่นนั้น ย่อมมีเป็นอันมาก นับเป็นโชคลาภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง”

นี้คือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงริเริ่มไว้ เป็นการเปลี่ยนจากการล่าสัตว์ ที่เป็นวิหารยาตรา คือพักผ่อนหาความสนุกสนานบันเทิง มาเป็นธรรมยาตรา

ในตอนที่อาตมาได้อ่านจารึกพระเจ้าอโศกนี้ ครั้งแรกก็นึกถึงเมืองไทย โดยนึกถึงในหลวงและคนไทยทันที ว่าพระองค์ก็เสด็จในทำนองนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธรรมยาตรา เพราะในหลวงของเราเสด็จไปในถิ่นชนบททั่วแว่นแคว้น เสด็จไปหาราษฎร ไปเยี่ยมเยียน ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวบ้านชาวป่าชาวเขา ไม่ได้เสด็จไปหาความสุขสำราญ

แทนที่จะไปพักผ่อนหาความสนุก โดยปรึกษากันว่าวันนี้คราวนี้จะไปสนุกอะไรกันที่ไหน ก็มาปรึกษาหารือถามกันว่า มีปัญหาอะไรที่เราจะช่วยประชาชนแก้ไข จะสร้างสรรค์อะไรให้เกิดความสุขความร่มเย็นเจริญงอกงามได้บ้าง การเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างนี้ คือ ธรรมยาตรา

ในหลวงของเราได้ทรงมีพระราชจริยวัตรอย่างนี้ จึงได้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาราษฎร์

วันนี้ เราทั้งหลายได้มาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เป็นการร่วมถวายพระเกียรติแก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงมีพระราชจริยวัตรเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส นับว่าเป็นการร่วมบุญร่วมกุศลกับพระองค์ด้วย

กิจกรรมที่มาทำกันในวันนี้ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ เพราะฉะนั้น การที่ญาติโยมเดินทางมาวันนี้ก็จึงถือว่า ได้มาใน ธรรมยาตรา แล้ว และขอถือเอาพระราชวาทะว่าด้วยธรรมยาตราของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นคำปิดรายการครั้งนี้

ขออนุโมทนาญาติโยม ในการที่ได้มาบำเพ็ญประโยชน์สร้างสรรค์ประเทศชาติของเรา ให้มีป่าที่เจริญงอกงาม จะได้เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลาย พร้อมทั้งประชาชนก็จะได้มาอาศัยให้เกิดความรื่นรมย์และร่มเย็นสืบต่อไป

ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย รักษาให้โยมญาติมิตร เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย และมีความร่มเย็นงอกงามในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

1ธรรมกถา ของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) แก่คณะผู้ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โดยมี ดร.สุรีย์ ภูมิภมร เป็นผู้ประสานงาน ที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาสำโรงดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘
2ดร.สุรีย์ ภูมิภมร แจ้งสถิติจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ปี ๒๕๔๐ ป่าเมืองไทยเหลืออยู่ ๒๕.๖%
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง