ความเป็นอนิจจังของสังขารกับอิสรภาพของสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความเป็นอนิจจังของสังขาร
กับ
อิสรภาพของสังคม1

ขออำนวยพร ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอาจารย์ นักศึกษา และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

การประชุมในวันนี้ นับว่าเป็นการประชุมที่พิเศษครั้งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่เรียกกันว่า “วันปรีดี พนมยงค์” โดยเฉพาะการประชุมในปีนี้นับว่ามีความพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อเป็นวาระที่อัฐิของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้รับการอัญเชิญกลับจากประเทศฝรั่งเศส มายังประเทศบ้านเกิดของท่าน และได้มีการจัดพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึง และน้อมใจอุทิศกุศลแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส

อาตมภาพได้สังเกตดูกำหนดการต่างๆ เกี่ยวกับงานนี้ เกิดความรู้สึกว่ามีเรื่องหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระศาสนา เกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระสงฆ์มาก คือ พิธีกรรมก็จัดที่วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพิธีกรรมในทางพระศาสนา มีพระเถรานุเถระเกี่ยวข้อง ตลอดกระทั่งการบรรยาย การปาฐกถา ก็นิมนต์พระมาพูด ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโส คงจะมีความโน้มมาทางธรรม มีความใกล้ชิดพระศาสนาอยู่มาก บางท่านอาจจะบอกว่า นี้เป็นเรื่องของผู้จัดงานซึ่งจัดลับหลังท่าน ท่านล่วงลับไปแล้วไม่รู้อะไรด้วย แต่การจัดงานทั้งหมดนี้ก็มีท่านผู้หญิงเป็นหลัก เป็นผู้รับทราบอยู่ในงานด้วยโดยตลอด ท่านก็คงแนะนำหรืออย่างน้อยก็อนุมัติในการจัดกิจกรรมต่างๆ ท่านผู้หญิงย่อมเป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นอย่างดี ท่านก็คงจะได้ให้งานเป็นไปโดยสอดคล้องกับอัธยาศัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสนั่นเอง

แม้ว่าการจัดงานนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจากไป โดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัฐิของท่าน อันแสดงถึงการที่ท่านได้ ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งโดยปกติก็เป็นเรื่องของความเศร้าโศกอาลัย แต่การที่ท่านทั้งหลายผู้มีความเคารพนับถือ มีศรัทธาในตัวท่าน ได้แสดงออกโดยพร้อมเพรียงกัน แม้พระเถรานุเถระหลายท่านก็ได้มาร่วมในพิธี เริ่มต้นตั้งแต่ไปรับอัฐิที่สนามบินดอนเมือง

ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ทรงแสดงน้ำพระทัยที่ทรงมองเห็นความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโสมาโดยตลอด นับแต่ได้ประทานคติธรรมและพระธรรมเทศนาในวาระครบ ๑๐๐ วัน แห่งการอสัญกรรมของท่าน และเมื่อถึงดิถีตรงกับวันเกิดของท่านในปีต่อมา ที่เรียกว่า วันปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เสด็จไปประทานพระโอวาทปราศรัย แม้ในการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวด้วยอัฐิของท่านรัฐบุรุษอาวุโสครั้งนี้ ก็ได้ทรงเมตตานุเคราะห์ที่จะเสด็จไปเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะเสด็จนำขบวนเชิญอัฐิเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เป็นแต่ขัดข้องด้วยปัญหาพระสุขภาพพลานามัยที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องมาจากทรงพระชรา และการที่ทรงฟื้นจากการประชวร อันไม่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ จึงจำต้องทูลขอให้ระงับการเสด็จเสีย แต่ถึงกระนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ได้มีเมตตาไปร่วมนำในพิธีโดยตลอด

นักศึกษาทั้งหลาย ทั้งที่ต้องเผชิญอุปสรรคจากฝนที่ตกอย่างหนักยิ่ง ก็ไม่ท้อถอย ได้มาต้อนรับอัฐิของท่านอย่างมากมาย เป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือศรัทธาในตัวท่านอย่างหนักแน่นจริงจัง ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นข้อที่ควรแก่ความปลาบปลื้มยินดี

สำหรับอาตมภาพ ผู้ที่จะพูดในวันนี้นั้น นับว่าเป็นบุคคลรุ่นหลัง ถ้าเทียบกับตัวท่านรัฐบุรุษอาวุโสแล้วก็ห่างกันมาก กว่าที่อาตมภาพจะเติบโตรู้ความได้ดี ท่านก็ลี้ภัยออกไปอยู่ในต่างประเทศเสียแล้ว เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับท่านก็เป็นเรื่องพร่าๆ ไม่สู้จะชัดเจน เป็นเสียงพูดข้างหลังเป็นส่วนมาก อาตมภาพได้มารู้จักสัมผัสท่านรัฐบุรุษอาวุโส ก็ต่อเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เวลานั้นยังเป็นเณรอยู่

ที่ว่าสัมผัสนั้น ก็ไม่ได้สัมผัสโดยการที่ได้พบกับตัวท่านหรอก เป็นการสัมผัสในทางความคิด คือได้อ่านหนังสือของท่าน คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นั้น อาตมภาพไปได้หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งมา ซึ่งเป็นผลงานของท่าน ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเกิดความรู้สึกติดมาตั้งแต่บัดนั้นว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์นี้ มีความสนใจในทางธรรมด้วย นับแต่นั้นมา ชื่อของท่านเมื่อใครเอ่ยถึงก็ตาม อาตมภาพจะจำติดมาพร้อมกับชื่อหนังสือที่ว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม นั้น และความรู้สึกที่ว่าท่านมีความสนใจธรรมะด้วย

แม้จนกระทั่งเมื่อท่านผู้หญิงได้ไปนิมนต์มาพูด อาตมภาพก็ยังปรารภกับท่านถึงหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม นี้เป็นเหตุให้ท่านได้ส่งหนังสือชื่อ อนุสรณ์ปาล พนมยงค์ มาถวาย ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยสังคมปรัชญา มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์กว่าหนังสือเล่มเล็กๆ ที่อาตมภาพได้ไปนั้น

แม้ในวันนั้นเองที่ท่านไปนิมนต์ เมื่อท่านผู้หญิงกลับไปจากกุฏิแล้ว อาตมภาพก็ได้ไปค้นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม ออกมาดู เป็นหนังสือที่ได้มาเมื่อ ๒๘ ปีก่อนโน้น ก็เปิดออกดู มองเห็นบันทึกของตัวเอง ลงวันที่อ่านไว้ว่าวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๑ พร้อมทั้งบันทึกเกี่ยวกับความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรบ้าง แต่เมื่อพลิกดูไป ปรากฏว่าบันทึกลงวันที่อ่านนั้นมีเพียงแค่หน้า ๓๓ แสดงว่าหยุดอ่านเสีย ไม่จบเล่ม ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน จำไม่ได้ว่า ทำไมจึงได้หยุดอ่าน อ่านไม่จบ อาจเป็นได้ว่าเรื่องราวที่ท่านเขียนไว้ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมะที่ตัวเองได้เรียนในสมัยที่ยังเป็นเณรนั้น คงจะมีเพียงเท่านั้น ส่วนนอกเหนือจากนั้นแล้วยังรู้ไม่ค่อยถึง ความสนใจยังมีไม่เพียงพอ ก็เลยหยุดอ่านเสีย

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็เป็นอันว่านามของท่านรัฐบุรุษก็ติดมาในจิตใจของอาตมภาพ พร้อมด้วยชื่อของหนังสือเล่มนี้ และความรู้สึกที่ว่า ท่านมีความสนใจในธรรมด้วย

ทีนี้ เรื่องอนิจจังนี้ ก็เป็นหลักธรรมสำคัญหลักหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา มาในชุดที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ที่แจงออกไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

คำว่า “อนิจจัง” นี้เป็นคำที่คนทั่วไปมักนึกถึงหรือพูดออกมา เมื่อได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการล่วงลับจากไป หรือเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกสลายอะไรทำนองนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดี คนเราเลยกลัวคำว่าอนิจจัง

แต่ความจริงแล้ว อนิจจังเป็นเรื่องของธรรมะ คือเรื่องธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วในตัวของมันเอง สุดแต่ว่าเราจะนำมาใช้อย่างไร จะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ มันก็เป็นคุณมหาศาล จะเห็นได้ว่า ท่านรัฐบุรุษก็มองหลักอนิจจังนี้ในแง่ดีท่านหนึ่ง คือมองในแง่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ทีนี้ ถ้าจะพูดถึงเรื่องอนิจจัง แม้จะเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับบางคน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะก็เป็นเรื่องที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเองสนใจ การนำเรื่องที่ท่านสนใจมาพูดต่อออกไปอีก ก็คงเป็นที่พอใจของท่านด้วย อย่างน้อยในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการ ก็คงจะพอใจให้เรื่องที่ท่านชอบหรือสนใจอยู่นั้น ได้รับการนำมาพิจารณาศึกษา เป็นทางแห่งการเจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป

เรื่องความเป็นอนิจจังของสังคมในหนังสือของท่านนั้น โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง ได้พูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคม โดยเปรียบเทียบแนวคิดของวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ กับแนวคิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวถึงวิถีวิวัฒน์ของสังคม จากสังคมที่เรียกว่าสังคมปฐมสหการ หรือบางคนเรียกว่าสังคมบุพกาล ถัดต่อมาเป็นสังคมทาส ต่อมาเป็นสังคมศักดินา ต่อมาเป็นสังคมธนานุภาพ หรืออย่างเดียวนี้มักเรียกว่าสังคมทุนนิยม แล้วลงท้ายด้วยสังคมกิจ ซึ่งเป็นคำที่ท่านใช้ อาจจะใช้อีกอย่างหนึ่งว่า สังคมอุดมสหการ หรืออะไรในทำนองนั้นก็ได้ ซึ่งสุดท้ายก็คือบรรลุถึงสังคมอุดมคติที่พึงปรารถนา ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความสุขความสันติไมตรี ไม่มีการเบียดเบียนข่มเหงกัน นี่เป็นแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์สังคม

ส่วนแนวความคิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ก็มีวิวัฒน์ของสังคมเช่นเดียวกัน สังคมจะผ่านขั้นตอนต่างๆ มา จนกระทั่งจุดเด่นก็คือ มาถึงยุคที่เรียกว่า มิคสัญญี ที่มนุษย์ทั้งหลายจับอาวุธขึ้นมารบราฆ่าฟันกัน จนกระทั่งตายไปเป็นอันมาก เมื่อผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้วสังคมก็กลับเจริญขึ้น จนกระทั่งได้เป็นสังคมพระศรีอาริย์ มีพระศรีอริยเมตไตรยมาโปรด เป็นสังคมในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ร่วมมือกัน มีความเสมอภาค จนกระทั่งมีสภาพอย่างที่บอกว่า ลงบันไดบ้านไปแล้วก็แยกไม่ออก ดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร พอกลับขึ้นบ้านแล้วจึงจะรู้ว่าเป็นผู้นั้น ผู้นี้

ก็เป็นอันว่า แนวความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมนั้น ในทัศนะของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเห็นว่า ในทางคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ก็ดี ก็รวมลงเป็นอันเดียวกัน คือดำเนินไปสู่สังคมอุดมคติดังกล่าวนั้น

อนิจจังทำให้เกิดกระบวนการที่แน่นอน

ทีนี้ อาตมภาพก็เกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความคิดทางสังคมทั้งสองแบบ หรือการกล่าวถึงวิวัฒนาการทั้งสองแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบของคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ตาม แบบของวิทยาศาสตร์สังคมสมัยใหม่ก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องของความเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่มองดูแล้ววิวัฒนาการนั้นเหมือนกับว่ามีกำหนดตายตัวแน่นอน คือสังคมจะต้องผ่านขั้นตอนนั้นๆ ไป จะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ไปตามลำดับ จนในที่สุดก็กลายเป็นสังคมอุดมคติ ดูจะเป็นเรื่องตายตัว อย่างที่เรียกว่าเป็น Deterministic ทำให้เกิดข้อสังเกตเป็น ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ อนิจจังที่ว่าเป็นความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอนนั้น จะเข้ากันได้อย่างไรกับหลักวิวัฒนาการของสังคมที่เป็นเรื่องตายตัวแน่นอน อนิจจังเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่ที่กล่าวมาว่าสังคมจะต้องวิวัฒนาการไปสู่ขั้นนั้นๆ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าตายตัวแน่นอน ถึงกับว่าทำนายล่วงหน้าได้ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะเข้ากันได้อย่างไรกับความเป็นไปที่เที่ยงแท้แน่นอน ความไม่คงที่จะเข้ากันได้อย่างไรกับการถูกกำหนดตายตัว

ประการที่ ๒ ถ้าหากว่าวิวัฒนาการของสังคมเป็นไปอย่างแน่นอนตายตัว เหมือนกับถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร สังคมก็ต้องผ่านเข้าสู่ขั้นตอนนั้นๆ เป็นเรื่องของมันเองแน่นอนอยู่แล้ว ทำอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นและไม่มีผลอะไร เพราะมันก็จะต้องเป็นของมันอย่างนั้น นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นข้อสังเกตของอาตมภาพ

ก่อนจะตอบเรื่องนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของอนิจจังก่อน อนิจจังนั้นแปลว่า ไม่เที่ยง คือไม่คงที่ ไม่คงที่หมายความว่าเกิดแล้วดับไป เกิดอย่างนี้ดับไปอย่างนี้ แล้วเกิดใหม่เป็นอย่างนั้น เราเรียกว่ากลับกลาย เกิดดับกลายเป็นกลับกลาย กลับกลายก็คือการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น อนิจจังความไม่เที่ยงนั้น เรามองดูในรูปหยาบ ก็เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงหรือเกิดดับนั้นมีการสืบต่อด้วย คือเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาใหม่มันจะสืบทอดคุณสมบัติที่มีอยู่เดิมมาด้วย นี่เป็นประการหนึ่ง ประการที่สอง สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า สิ่งหนึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นในการที่ต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ นอกจากจะเกิดขึ้นมาในลักษณะที่อาศัยการสืบทอดคุณสมบัติเดิมแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยเกี่ยวข้อง หรือองค์ประกอบอื่นที่เข้ามาสัมพันธ์อีกด้วย

จึงกลายเป็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เลื่อนลอย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มันก็มีผลรวมออกมา คือมีความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น เรื่องอนิจจังที่ว่าไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอนนั้น ก็กลับเป็นความแน่นอนขึ้นมาอย่างนี้ เพราะอาศัยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัยนี้ ก็คือหลักที่เรียกว่า ธรรมนิยาม ธรรมนิยามในแง่นี้ ก็คือหลักที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา

ถ้าเราเข้าใจหลักนี้ และถ้าเรารู้องค์ประกอบทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เราก็ย่อมสามารถทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ทีนี้โลกก็ดี ชีวิตของเราก็ดี จิตใจก็ดี มีองค์ประกอบของมันจำกัดอยู่ อย่างเช่นโลกของเรานี้มันก็มีความเกี่ยวข้องกับดวงดาวอื่นๆ และดวงอาทิตย์ กับดาวเคราะห์ต่างๆ ในสุริยจักรวาลและในสากลจักรวาลทั้งหมด แม้แต่ภายในโลกเอง ก็มีแร่ธาตุต่างๆ จำนวนจำกัด ชีวิตของเราก็มีอวัยวะต่างๆ มีร่างกาย มีจิตใจ มีอะไรต่างๆ จำนวนจำกัด แม้แยกละเอียดเข้าไปในจิตใจของเรา มันก็มีองค์ประกอบต่างๆ จำกัดอยู่ เช่นอย่างในทางพระพุทธศาสนาก็มีสาขาของการศึกษาอันหนึ่งเรียกว่า พระอภิธรรม มีการจำแนกจิตออกไปโดยละเอียดเป็นจิตเท่านั้นประเภท เป็นเจตสิกเท่านี้อย่าง มันก็มีจำกัดอยู่เท่านั้น

ทีนี้ ถ้าหากว่าเรารู้องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งจะเข้ามาสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างครบถ้วน และรู้ว่ามันเป็นเหตุปัจจัยแก่กันในลักษณะใดๆ แล้ว เราก็สามารถบอกได้ว่า เมื่อองค์ประกอบไหนสัมพันธ์กับองค์ประกอบไหนอะไรจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรๆ ได้สำเร็จแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของการที่เรารู้องค์ประกอบที่เข้ามาเป็นเหตุปัจจัยได้เพียงไรเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาที่ว่า มีความรู้เข้าใจชัดเจนทั่วถึงเพียงไร

ถ้าว่าในด้านปัจจัยทางวัตถุ ซึ่งเป็นของหยาบ ก็อาจจะเห็นง่าย ยกตัวอย่างเช่นว่า เอาน้ำมาใส่ภาชนะตั้งบนไฟ ภายในความกดอากาศที่แน่นอน อย่างว่าระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ มิลลิบาร์ หรือ ๗๖๐ มิลลิเมตรปรอท พอถึง ๑๐๐ องศาเซลเซียส มันก็เดือด แต่ถ้าเราเอาไปตั้งในที่สูงขึ้น ที่มีความกดอากาศต่ำ สมมติว่ามีความกดอากาศ ๑๐๐ มม. ปรอท พอถึง ๕๑ ํC ก็เดือดแล้ว นี้ก็หมายความว่า หลักการอยู่ที่การรู้เข้าใจองค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์กัน

ทีนี้ ถ้าหากว่าองค์ประกอบเหล่านั้นมีจำกัด มนุษย์รู้ทั่วถึง เราก็ตอบได้ชัดเจน เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายทายอะไรๆ ได้หลายอย่าง ในเมื่อองค์ประกอบที่มีจำนวนจำกัดนั้น เข้ามาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

แต่ในกรณีที่มีองค์ประกอบมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องร่วมกันอย่างซับซ้อน บางทีเราก็ทำนายได้ยาก เช่นเรื่องเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ว่าวันนี้จะมีฝนหรือจะไม่มีอย่างนี้ เป็นต้น แต่นี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นไม่แน่นอน หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็แน่นอนของมันตามเดิม แต่เป็นที่เราเองไม่รู้ทั่วถึงเหตุปัจจัยเหล่านั้น เราอาจจะรู้ปัจจัยตัวยืนบางอย่าง แต่ไม่รู้ถึงปัจจัยตัวแปรครบถ้วน เราก็เลยบอกผิดไป

ทีนี้ ในทางวัตถุนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยยังเป็นเรื่องหยาบ ก็พอจะตามสืบได้ แม้กระนั้นเราก็ยังต้องพยายามศึกษาค้นคว้ากันไปอีกมากมาย ทีนี้เหตุปัจจัยในทางสังคมนั้นก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ครั้นละเอียดขึ้นไปถึงขั้นเหตุปัจจัยในจิตใจมนุษย์ ก็ยิ่งซับซ้อนหนักเข้าไปอีก

ยิ่งกว่านั้น เรื่องสังคมและเรื่องจิตใจของมนุษย์ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังตัวอย่างเมื่อกี้นี้ เรื่องจุดเดือดของน้ำ ที่องศาเท่านั้น ในความกดอากาศเท่านั้น ทีนี้หันมามองดูจุดเดือดของคน จะพบว่าจุดเดือดของจิตใจนาย ก. กับจุดเดือดของจิตใจนาย ข. ไม่เท่ากัน นาย ก. อาจมีจุดเดือด คือโกรธจนกระทั่งทนไม่ได้ ต้องแสดงออกมา ในระยะขีดจำกัดของแรงกระทบเท่านี้ แต่นาย ข. อาจจะมีจุดเดือดของการแสดงอารมณ์ต่างออกไป ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจโครงสร้างของจิตใจของคนนั้นๆ ก่อน จะต้องรู้ว่านายคนนี้มีกิเลสเท่าไร มีสติปัญญาเท่าไร มีการสั่งสมคุณสมบัติความเคยชินของจิตใจของตนไว้อย่างไร เป็นต้น

แต่รวมแล้วก็เป็นอันว่า นี้คือหลักอนิจจัง ซึ่งแสดงถึงความไม่เที่ยง และความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ก็จึงมีความเป็นไปที่แน่นอนตามเหตุปัจจัย

กระบวนการที่แน่นอน ทำให้มนุษย์มีอิสรภาพ

ทีนี้ก็เกิดปัญหาต่อไปอีกว่า ถ้าหากว่าขบวนการของสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแน่นอนแล้ว มนุษย์จะมีอิสรภาพหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญมากเกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์ถูกจำกัดด้วยกระบวนการของเหตุปัจจัยที่แน่นอนแล้ว มนุษย์ก็จะกำหนดความเป็นไปของตนเองไม่ได้ และจะทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามที่ตนต้องการไม่ได้ ข้อสรุปเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ มนุษย์มีอิสรภาพหรือไม่?

ก่อนตอบคำถามนี้ ก็ขอพูดแทรกเป็นเกร็ดนิดหน่อยเกี่ยวกับคำว่าอิสรภาพนั่นเอง คำว่า “อิสรภาพ” นี้ เป็นคำภาษาไทยคำหนึ่งที่เราได้ใช้คลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมกันมานาน คือ เราใช้คำว่า อิสรภาพ ในความหมายว่า ความปลอดพ้นจากเครื่องบีบคั้นบังคับกีดกั้นจำกัด ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งอื่นหรือใครอื่น พร้อมที่จะทำอะไรตามต้องการหรือตามที่เห็นสมควร อันนี้คือความหมายที่เราเข้าใจกัน และเราก็อาจจะนำไปเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยแปลอิสรภาพว่า freedom

แต่ความจริงนั้น คำว่า “อิสรภาพ” เป็นคำภาษาบาลี มาจาก อิสฺสร+ภาว อิสฺสร ตรงกับสันสกฤตว่า อีศฺวร หรือ อิศวร ซึ่งแปลว่า เป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าใหญ่ เราได้ใช้คำว่าอิสรภาพนี้คลาดเคลื่อนกันมาโดยตลอด

ทีนี้ ก็จะต้องถามว่า แล้วในภาษาเดิม คือบาลีสันสกฤต เขาใช้คำอะไรกันในความหมายว่า ความปลอดพ้นจากเครื่องบีบคั้นบังคับจำกัดขัดขวาง ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น พร้อมที่จะทำอะไรๆ ตามต้องการ หรือตามที่เห็นสมควร

คำที่ใช้ในภาษาบาลีสันสกฤตแต่เดิม ก็คือคำว่า “วิมุตติ” หรือ วิมุกติ หรือวิโมกข์ หรือ โมกษะ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำที่ใช้ในทางศาสนาเป็นประจำมานานแสนนาน เป็นคำที่คุ้นตาคุ้นหูกันมาก การที่อาตมภาพยกคำนี้ขึ้นมาพูด ก็เพราะต้องการให้เห็นว่า ความจริงนั้น “อิสรภาพ” หรือความหมายที่เราใช้ด้วยคำว่าอิสรภาพนั้น เป็นสิ่งที่ทางพระศาสนาได้พูดถึงกันอยู่เสมอ เป็นคำที่สนใจใส่ใจกันในวงการของนักศาสนาปรัชญามานานตั้งหลายพันปีแล้ว เราจะได้โยงเรื่องนี้เข้าหากันได้

คำว่า “วิมุตติ” หรือ วิมุกติ นั้น ถ้าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ตรงกับคำว่า freedom

ถ้าท่านไปเปิดพจนานุกรมบาลี-สันสกฤตดู จะพบว่า อิสรภาพ ไม่ได้แปลว่า freedom แต่ “อิสรภาพ” แปลว่า mastership หรือ overlordship หรือ supremacy หรือ sovereignty ซึ่งไม่ใช่อิสรภาพอย่างที่เราเข้าใจเลย เป็นเรื่องของความเป็นใหญ่ทั้งนั้น มีแต่พจนานุกรมไทย-อังกฤษเท่านั้น ที่แปลอิสรภาพว่า freedom

แต่ถ้าใช้ “วิมุตติ” ก็จะมีความหมายเป็น freedom หรือ liberation ที่บางคนแปลว่า การปลดปล่อย หรือ release หรือ emancipation หรือที่ในศาสนาตะวันตกเขาใช้สำหรับคติทางศาสนาของเขาว่า salvation

เป็นอันว่าคำที่เราต้องการแท้ๆ ก็คือคำว่า “วิมุตติ วิโมกข์ หรือโมกษะ” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เราได้ใช้คำว่าอิสรภาพมาจนติดเสียแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ในการบรรยายครั้งนี้ อาตมภาพก็จำเป็นต้องใช้คำว่าอิสรภาพในความหมายของความปลอดพ้นนั้นตลอดไป แต่ขอเพียงว่า

๑. เมื่อพูดถึงคำว่าอิสรภาพ ก็ให้เข้าใจตามเรื่องราวและความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวมาแล้ว

๒. เมื่อได้ยินคำว่าอิสรภาพคราวใด ก็ขอให้นึกถึงคำว่า วิมุตติ วิโมกข์ โมกษะ ไว้ในใจด้วย จะได้โยงกับความหมายในทางพระศาสนา

อย่างไรก็ตาม คำว่า “อิสรภาพ” นั้นก็มีแง่อยู่บ้างเหมือนกัน ที่จะใช้ได้กับความหมายในเชิงว่า เป็นการทำอะไรได้ตามต้องการ เพราะคำว่าอิสรภาพนั้นแปลว่าความเป็นใหญ่ เมื่อเราจำกัดความหมายของความเป็นใหญ่ในที่นี้ว่า ความเป็นใหญ่ในตัวเอง ความเป็นไทแก่ตัว มันก็มีลักษณะที่ว่า สามารถทำอะไรได้ตามต้องการโดยไม่ขึ้นกับสิ่งอื่นเหมือนกัน

แต่คำว่าอิสรภาพมีข้อเสียในแง่ที่ว่า มันมักมีความหมายเลยไปถึงว่า จะเข้าไปกดขี่บังคับครอบงำคนอื่นมีอิทธิพลเหนือเขาได้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำที่มีความหมายไม่พอดี ไม่ตรงกับที่ต้องการทีเดียว ความหมายของคำว่าอิสรภาพก็ขอพูดเพียงเท่านี้

ทีนี้ก็กลับมาถึงปัญหาที่ว่า ในเมื่อกระบวนการของสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว มนุษย์เราจะมีอิสรภาพหรือไม่ ก็ตอบได้ว่า มนุษย์นั้นมีอิสรภาพ

การมีอิสรภาพของมนุษย์ก็คือการที่มนุษย์สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง และมนุษย์นี้ก็เป็นปัจจัยตัวสำคัญด้วยในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น

มนุษย์เข้าไปเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างไร คำตอบก็คือ มนุษย์เอาการกระทำของตัวนั้นเอง เข้าไปเป็นปัจจัยผลักดัน หรือกีดกั้น หรือจัดสรรปัจจัยอื่นๆ ให้เป็นไปตามต้องการ อันนี้คือการที่มนุษย์มีอิสระ ที่ว่ามีอิสระก็มีอิสระอย่างนี้แหละ แต่จะให้มีอิสระแบบที่ว่านึกเอาจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไรตามชอบใจนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าคำว่าอิสระมีความหมายถึงอย่างนั้น ก็เรียกว่ามนุษย์ไม่มีอิสรภาพ คือว่าจะเอาตามชอบใจตัวเองโดยไม่เข้าไปเป็นเหตุปัจจัยด้วยนั้น ทำไม่ได้

การเป็นอิสระของมนุษย์ ก็คือ การที่ตัวจะต้องเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย

อีกประการหนึ่ง การที่มนุษย์จะมีอิสรภาพนั้น นอกจากจะหมายถึงว่า มนุษย์สามารถทำอะไรๆ ได้แล้ว ยังจะต้องมี ความหมายต่อไปอีกด้วยว่า การกระทำของมนุษย์นั้นจะต้องมีผล ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่แน่นอน ไม่เป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัย เป็นไปอย่างเลื่อนลอย ไม่มีกฎเกณฑ์ การกระทำของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีผล มนุษย์จะทำอะไรไปก็ไม่มีความหมาย การกระทำของมนุษย์ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา มนุษย์ก็คาดหมาย หวังหรือล่วงรู้ผลแห่งเหตุปัจจัยจากการกระทำของตนไม่ได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้มนุษย์ก็ไม่มีอิสรภาพ

มนุษย์มีอิสรภาพ ก็เพราะสามารถทำการเป็นปัจจัยให้เกิดผล โดยอาศัยความเป็นไปอย่างแน่นอนตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

ที่ว่ามนุษย์เป็นอิสระ โดยเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนแห่งเหตุปัจจัยนั้น ปัจจัยในฝ่ายของมนุษย์มีอะไรบ้าง

อย่างที่หนึ่งซึ่งเห็นชัดก็คือ “การกระทำ” ของมนุษย์นั้นแหละเป็นตัวปัจจัยอันหนึ่ง ทีนี้มองต่อไป ที่บอกว่าเราทำอะไรๆ เพื่อให้เป็นไปตามต้องการ ก็มีปัจจัยอีกตัวหนึ่งในฝ่ายมนุษย์คือ “ความต้องการ”

เป็นอันเห็นแล้วว่า ปัจจัยฝ่ายมนุษย์ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้นมี ๒ อย่าง ได้แก่ การกระทำ และ ความต้องการ และเราก็เข้าไปร่วมกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น โดยเอาการกระทำของตนเป็นปัจจัยทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามต้องการ

แต่แค่นี้ยังไม่พอ ถ้าได้เพียงสองอย่างนี้ เราก็มองข้ามปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งอีกตัวหนึ่งไป ปัจจัยอีกตัวหนึ่งในฝ่ายของมนุษย์นั้นคือ ความรู้ เราอาจไม่พูดถึงมันเลย คือเราพูดเพียงแค่ว่าเราทำการให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามต้องการ ไม่มีคำว่า “ความรู้” แต่เราจะทำสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามต้องการได้อย่างไร เราต้องรู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ต้องรู้ปัจจัยอื่นๆ ที่เราจะเข้าไปผลักดัน เข้าไปปิดกั้น เข้าไปจัดสรร เราจึงจะทำการให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้

เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ ความรู้ หรือ ปัญญา ปัญญานี่แหละเป็นปัจจัยตัวเอกที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระ หากไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ เราจะทำอะไรได้ เราทำอะไรมันก็ไม่เป็นไปตามต้องการ หรือทำลงไปแล้วอาจได้ผลตรงข้ามกับความต้องการก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวการสำคัญที่เป็นปัจจัยทางฝ่ายมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์เป็นอิสระหรือมีอิสรภาพ ก็คือ “ปัญญา”

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอก เป็นแกนหลักที่จะทำให้เกิดวิมุตติ ดังจะเห็นได้ว่า ท่านกล่าว ถึงลำดับหลักธรรมในกระบวนการของการศึกษาไว้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ต่อจากปัญญาจึงเป็นวิมุตติ ขาดปัญญาแล้วหลุดพ้นไม่ได้ ปลอดพ้นเป็นอิสระไม่ได้

ไม่ต้องพูดถึงวิมุตติที่กล่าวถึงในหลักธรรมขั้นสูงสุด แม้แต่การที่เราจะปลอดพ้นเป็นอิสระจากภัยธรรมชาติ จากโรคภัยไข้เจ็บ จากการเบียดเบียนในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เราก็ต้องอาศัยปัญญาความรู้

เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่อยู่แวดล้อมตัว ที่จะมาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องทำให้เกิดภัยธรรมชาติเป็นต้นนั้นแล้ว เราก็เข้าไปผลักดัน ปิดกั้น จัดสรรปัจจัยเหล่านั้น เพื่อทำให้เป็นไปตามปรารถนา ถ้าเรามีความสามารถที่จะเป็นปัจจัยได้อย่างถูกต้อง ก็ทำได้สำเร็จ

แม้แต่การที่เรามีวิชาการต่างๆ เช่น วิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ลัทธิอะไรต่างๆ ขึ้นมา เราร่ำเรียนกันไปก็เพื่อจะได้เอาความรู้มาใช้ในการจัดสรรปัจจัยต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะทำให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นตัวการสำคัญเป็นปัจจัยเอกในการที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ คือในเวลาใช้จริง เราเรียนรู้ศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ เหล่านั้น เรานึกว่าเราเก่งกล้าสามารถ เราเป็นอิสระที่จะทำอะไรๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่บางทีเราก็ไม่ได้ใช้ศาสตร์วิทยาเพื่อผลในการที่จะให้เกิดอิสรภาพ เรากลับใช้มันในทางที่จะทำมนุษย์ให้ตกเป็นทาสยิ่งขึ้นไปอีกก็มี

อันนี้เหตุผลเป็นเช่นไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงอิสรภาพในตัวของมนุษย์เอง ซึ่งจะต้องพิจารณากันต่อไป

ปัจจัยที่ส่งเสริม / ขัดขวางอิสรภาพ

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องปัญญา ที่บอกว่าปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอกในการที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ จะเรียกว่า อิสรภาพหรือวิมุตติก็ได้ ปัญญานั้นเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในโครงสร้างของชีวิตจิตใจมนุษย์ ในทางพระศาสนาท่านใช้ศัพท์เรียกว่าเป็น สังขาร2อย่างหนึ่ง

บรรดาองค์ประกอบซึ่งอยู่ ในโครงสร้างชีวิตจิตใจของมนุษย์ ที่เรียกว่า สังขาร นั้น มิใช่มีแต่ปัญญาเพียงอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นด้วยอีกหลายอย่าง

ขอกล่าวถึงความหมายของ สังขาร ก่อน สังขารนั้นแปลว่า ตัวปรุงแต่ง ปรุงแต่งอะไร ปรุงแต่งจิตใจ ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งการกระทำ ถ้าจะใช้ภาษาสมัยใหม่ก็แปลว่า เครื่องมือประกอบการฝ่ายนามธรรมของมนุษย์ เพราะว่าสังขารเหล่านี้ เช่น ปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องมือประกอบการ หรือเป็นเครื่องมือในการกระทำของเราที่จะช่วยให้เราได้รับอิสรภาพ (หรือจะให้ไม่ได้รับอิสรภาพก็ได้)

สังขารนั้นมีมากมาย สังขารอย่างอื่นก็มีทั้งฝ่ายที่เป็นตัวช่วยให้เกิดอิสรภาพก็คือช่วยปัญญา และสังขารที่เป็นฝ่ายร้าย ฝ่ายขัดขวาง ฝ่ายกีดกั้น กำจัดทำลายอิสรภาพ

สังขารที่เป็นฝ่ายช่วย ก็ยกตัวอย่างเช่น สติ สติเป็นเครื่องช่วยให้ปัญญานี้ กระทำการโดยรอบคอบ กระทำโดยถูกจังหวะ เมื่อถึงจังหวะจึงทำ ยังไม่ถึงจังหวะก็ไม่ทำ เพราะบางทีทั้งๆ ที่รู้ แต่ทำผิดจังหวะก็ไม่สำเร็จ แล้วสติก็เป็นตัวช่วยให้ทำได้ถูกต้องรอบคอบไม่ผิดพลาด หรืออย่าง ศรัทธา ความซาบซึ้ง ความมีจิตใจผ่องใสมั่นใจ ก็ทำให้เรามีกำลังที่จะกระทำได้ต่อไป หรืออย่าง วิริยะ ความเพียร ก็ทำให้ไม่เกิดความท้อถอย ทำให้เข้มแข็งแกล้วกล้า ต่อสู้ วิ่งไปข้างหน้า หรือ สมาธิ ก็ทำให้เกิดความมั่นคงแน่วแน่ เป็นต้น

สังขารที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เป็นฝ่ายช่วย หากว่ามีปัญญาแล้ว ได้อาศัยสังขารอย่างที่ว่ามาแล้วนี้เป็นองค์ประกอบ การทำงานเพื่ออิสรภาพก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ก็มีสังขารฝ่ายตรงข้าม จะเรียกว่าฝ่ายร้ายก็ได้ เรามักจะเรียกว่า กิเลส ซึ่งเป็นตัวขัดขวางหักล้างทำลาย อาจจะทำให้ปัญญาทำงานไม่สำเร็จ หรืออาจจะเข้ามาครอบงำเสีย ทำให้เดินไปในทางตรงข้าม ออกนอกลู่นอกทางไปเสีย หรือแม้แต่แทนที่จะนำไปสู่อิสรภาพ ก็กลับนำไปสู่ความหมดอิสรภาพ

กิเลสเหล่านี้มีมากมาย แต่ที่ควรนำมากล่าวในที่นี้ ก็คือสังขารกิเลสที่สำคัญ ๓ อย่าง ได้แก่ กิเลสที่ผูกพันกับตัวตน หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า กิเลสพันตัว ๓ อย่าง กิเลสพันตัว ๓ อย่างนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนทั้งนั้น มันมีบทบาทในสังคมมนุษย์มากเหลือเกิน ได้แก่

  1. ความเห็นแก่ตัว ภาษาพระเรียกว่า ตัณหา
  2. ความถือตัว ภาษาพระเรียกว่า มานะ
  3. การยึดติดในความเห็นของตัว ภาษาพระเรียกว่า ทิฏฐิ

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ เป็นกิเลสพันตัว ผูกพันอยู่กับเรื่องตัวตน จะเอาแต่ตัว ในเมื่อเอาแต่ตัว ก็ไม่เกื้อกูลสังคม จะนำไปสู่อิสรภาพของสังคมไม่ได้ มีแต่จะขัดขวางอิสรภาพของสังคม ไม่เฉพาะขัดขวางอิสรภาพของสังคมเท่านั้น มันมัดตัวคนนั้นเองไม่ให้มีอิสรภาพด้วย คือ แม้แต่เจ้าตัวคนนั้นเองก็ไม่มีอิสรภาพ

ความเห็นแก่ตัวหรือ “ตัณหา” ทำให้มนุษย์เที่ยวแสวงหาสิ่งเสพ กอบโกยแย่งชิงผลประโยชน์กัน อันเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่มีบทบาทมากในสังคมของเรา

อย่างที่สอง ความถือตัวหรือ “มานะ” ทำให้มนุษย์ชิงดีชิงเด่นกัน อยากยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น แข่งขันกันเพื่อความเป็นใหญ่ แสวงหาอำนาจ แล้วก็พยายามครอบงำข่มขี่ซึ่งกันและกัน และ

อย่างที่สาม การยึดติดในความเห็นของตัว ที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” ก็ทำให้คนเอาแต่ความเห็นของตัว ถือรั้นไม่รับฟังผู้อื่น ไม่ฟังเหตุผล งมงายคลั่งในลัทธินิยมอุดมการณ์ อาจถึงกับไปบีบบังคับคนอื่น ให้ยอมรับนับถืออย่างตน โดยไม่ยอมให้เขาใช้ปัญญาที่จะยอมรับโดยเหตุผล

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นเป้าของกิเลส ๓ อย่างนี้ก็ได้แก่ เรื่องผลประโยชน์ (กาม) เรื่องอำนาจ และเรื่องลัทธินิยมอุดมการณ์ความคิดเห็น อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมส่วนมากก็พัวพันอยู่กับเรื่องเหล่านี้

กิเลส ๓ ตัวนี้ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะนำสังคมของตัวเองไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระตามที่มุ่งหมายได้

ผู้ทำงานจำนวนมากบอกว่า ตนทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคม หรือจะเรียกว่า ปลดปล่อยสังคม นำสังคมไปสู่ความอยู่ดีสงบสุขไร้การเบียดเบียน ปลอดพ้นจากความเบียดเบียน ก็คือความเป็นอิสรภาพ

อย่างไรก็ดี ผู้ทำงานมักจะมองแต่ฝ่ายศัตรูหรือฝ่ายปรปักษ์ว่า พวกนั้นมีความกระหาย มีความยึดติดในอำนาจ ในผลประโยชน์อะไรต่างๆ บางทีก็ลืมมอง ลืมสำรวจตัวเอง หรือว่าตัวเองสำรวจตัวเองแล้ว ไม่มีกิเลสผูกพันตัวตนเหล่านั้น แต่ผู้ร่วมงานมี บางทีผู้ร่วมงานก็มีมากๆ ด้วย ก็เลยทำงานไม่สำเร็จ

อีกอย่างหนึ่ง หรือว่าบางทีตอนแรก ทั้งตัวเองและผู้ร่วมงานก็ไม่มี ต่างก็ตั้งใจทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมอย่างแท้จริง แต่ทำต่อไป ทำไปทำมา ตัวเองมีขึ้นมา หรือผู้ร่วมงานมีขึ้นมา ก็ทำไม่สำเร็จอีก ก็เลยกลายเป็นว่า พฤติกรรมของตนเองหรือของผู้ร่วมงานหรือของหมู่คณะที่ทำงานนั่นเอง กลายเป็นอุปสรรคทำลายล้างอุดมการณ์ ทำให้การทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมไม่สำเร็จผล

สังขารที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ มนุษย์จะเป็นอย่างไร จะทำอะไร และทำอย่างไร ก็อยู่ที่ปัจจัยอันเรียกว่าสังขารที่อยู่ในตัวเหล่านี้

ในเมื่อเราถือว่ามนุษย์เป็นปัจจัยตัวสำคัญในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคม เราก็ต้องรู้จักตัวมนุษย์ให้ดี การที่จะรู้จักตัวมนุษย์ได้ดี ก็คือรู้จักเจ้าตัวปัจจัยสังขารทั้งหลายที่อยู่ในตัวมนุษย์นั้น แล้วก็พยายามจัดการกับปัจจัยเหล่านั้นให้เกิดผลดี คือจัดการกับสังขารฝ่ายดี เช่นอย่างปัญญานี้ โดยส่งเสริมขึ้นมาให้เจริญงอกงาม ส่วนสังขารในฝ่ายร้ายที่กำจัดขัดขวางอิสรภาพ ก็ต้องแก้ไขลบล้างทำให้หมดไป

เพราะฉะนั้น ในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมนั้น จะรู้จักปัจจัยทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ด้วย เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้คือตัวแปร ที่อาจทำให้เราเดินออกไปนอกลู่นอกทาง หรือทำงานล้มเหลว

พูดเป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่ง ก็บอกว่า ถ้าคนปราศจากอิสรภาพจากสังขารแล้ว อิสรภาพของสังคมก็คงไกลสุดเอื้อม คือไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากสังขาร โดยเฉพาะจากกิเลสที่พันตัว ๓ อย่างนั้น

รวมความว่า ในการทำงานเพื่อช่วยให้สังคมหลุดรอดปลอดพ้นจากการบีบคั้น ข่มเหง เบียดเบียนนั้น

ประการที่ ๑ เราจะต้องเรียนรู้ปัจจัยทั้งหลายในภายนอก และพัฒนาความสามารถในการที่เราจะเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนการทางสังคมนั้น

ประการที่ ๒ ต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ แล้วพัฒนาความสามารถและความมั่นคงในการที่จะเป็นอิสระจากสังขารที่เป็นเครื่องกำจัดขัดขวางอิสรภาพเหล่านั้น

พูดอีกนัยหนึ่งว่า คนที่จะไปปลดปล่อยสังคมนั้น ก็ต้องไม่ประมาทที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการครอบงำของกิเลสข้างในตัวด้วย หรือทำตัวเองให้เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเครื่องผูกพันตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ มิฉะนั้นแล้วตัวเองจะถูกพันธนาการ ถูกผูกมัด และก็จะพลอยทำให้สังคมถูกผูกมัดไปด้วย

วัตถุกำหนดจิต หรือจิตกำหนดวัตถุ

อาตมภาพพูดไปๆ ก็เข้ามาทางจิตใจมากขึ้น เมื่อเข้ามาถึงเรื่องจิตใจ ก็จะมีข้อแย้งขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างจิตกับวัตถุ คือมีปัญหาว่า วัตถุกำหนดจิต หรือ จิตกำหนดวัตถุ

บางคนบอกว่าวัตถุกำหนดจิต อย่างในเรื่องสังคมนี้ มันอยู่ที่สภาพแวดล้อม ถ้าหากว่าเราจัดสังคมนี้ให้เรียบร้อยดี คนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีปัจจัยยังชีพพร้อมบริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน ความเห็นแก่ตัว มันก็จะหมดไปเอง คนก็คงจะหมดกิเลส อันนี้เป็นเหตุผลถกเถียงในฝ่ายที่ว่าวัตถุกำหนดจิต

ในแง่นี้ก็มีความจริงอยู่เหมือนกัน แต่เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเป็นธรรมดาว่า สภาพแวดล้อมย่อมทำให้จิตใจคนผันแปรไปได้ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโอกาสนั่นเอง แต่ก็อย่างที่บอกแล้วว่า มันเป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง

ตามแนวความคิดนี้ มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจ ๓ อย่าง คือ

๑. ในเรื่องว่าวัตถุกำหนดจิตจริงหรือไม่ การที่จะพูดว่า วัตถุกำหนดจิตหรือจิตกำหนดวัตถุนั้น อันที่จริงเป็นเรื่องของการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าจะพูดให้เด็ดขาดลงไปอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เสมือนกับพูดว่า ไก่มีก่อนไข่หรือไข่มีก่อนไก่ สองอย่างนี้ ถ้าจะเถียงกันไป เถียงจนสิ้นใจก็ไม่จบว่าไข่มีก่อนไก่หรือไก่มีก่อนไข่ แต่ความจริงนั้นมันไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือมันไม่ใช่ปัญหาว่า ไก่มีก่อนไข่หรือไข่มีก่อนไก่ มันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่มีปัญหาเลยว่าไก่จะมาก่อนไข่หรือไข่จะมาก่อนไก่ ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องเถียงกันอย่างนั้น

ในเรื่องว่าวัตถุกำหนดจิตหรือจิตกำหนดวัตถุก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องที่จะพูดเด็ดขาดลงไปอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

อีกอย่างหนึ่ง การที่พูดว่า ถ้าสภาพแวดล้อมของสังคมดีแล้ว จิตใจคนจะดีเองอะไรทำนองนั้น เป็นการพูดที่เข้าทำนองโพล่งถึงปลายโดยไม่มีโคน เมื่อไม่มีโคนเราจะมีปลายขึ้นมาได้อย่างไร เราบอกว่าสังคมดีเรียบร้อยแล้วจิตใจก็จะดีเอง แต่ว่าสังคมที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราไม่พูดถึงโคนเข้ามา ก็จะพูดถึงปลายเสียแล้ว อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ขอตั้งข้อสังเกต

๒. ที่บอกว่าเป็นความจริงบางส่วนนั้น หมายความว่า เรื่องสภาพแวดล้อมในทางสังคมนั้นแน่นอน ย่อมมีอิทธิพลต่อสภาพทางจิตใจ จิตใจคนย่อมอาศัยสภาพแวดล้อมด้วย ถ้าหากว่าสภาพแวดล้อมดี เช่น อยู่ในที่สงบ บรรยากาศผ่องใส ปลอดโปร่ง จิตใจคนก็มีความเป็นไปได้มากที่จะเป็นจิตใจที่ดีงาม พลอยสงบผ่องใสปลอดโปร่งไปตามด้วย

นอกจากนั้น การที่เรามาอยู่ ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ทำให้ห่างจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้า เมื่อปราศจากสิ่งยั่วยุกระตุ้นเร้าแล้ว กิเลสบางอย่างก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น (ว่าที่จริงคือ ไม่โผล่ ไม่ฟู หรือไม่แสดงฤทธิ์ขึ้น) หรือแม้จะเกิดก็เกิดได้น้อย

เพราะฉะนั้น อิทธิพลของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมก็มีมาก เราจึงได้พยายามที่จะจัดสรรสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกื้อกูลแก่การที่จะได้มีจิตใจดีงาม แต่หลักการนี้ก็เป็นเพียงหลักหรือวิธีการอันหนึ่ง ในการที่จะแก้กิเลสของคน ซึ่งมิใช่มีเพียงเท่านั้น

ขอพูดลัดให้ง่ายตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าการละหรือกำจัดอาสวะ ท่านบอกว่า อาสวะที่จะต้องละด้วยการหลีกเว้นก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการรู้จักบังคับควบคุมตัวเองก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการรู้จักบริโภคใช้สอยสิ่งของโดยวางจิตให้ถูกต้องก็มี อาสวะที่จะต้องละด้วยการเห็นด้วยปัญญาก็มี

นี่หมายความว่าวิธีการที่จะแก้ทางจิตนั้น มันไม่ใช่เป็นอันเดียว การแก้ด้วยวิธีหลีกเว้นนั้นก็คือวิธีที่เรียกว่า ใช้สภาพแวดล้อมทางวัตถุเป็นเครื่องกำหนดหรือเอื้ออำนวย ซึ่งก็ได้ผลมาก แต่ไม่ใช่ว่าได้ผลหมดทุกอย่าง แต่ใช้ได้สำหรับกิเลสบางอย่าง บางจำพวก บางระดับ

พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งว่า การใช้วัตถุเป็นอิทธิพลจัดการกับจิตนั้นทำได้ส่วนหนึ่ง เหลือจากนั้นจะต้องแก้จิตด้วยจิต เช่นเดียวกับที่เราสามารถใช้จิตเป็นอิทธิพลจัดการกับวัตถุได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือจากนั้น ก็ต้องใช้วัตถุด้วยกันแก้หรือจัดการกับวัตถุ แดนของจิตกับวัตถุนั้นก่ายเกยกันอยู่ อิงอาศัยเป็นปัจจัยมีอิทธิพลต่อกัน แต่ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน

๓. ที่เราบอกว่าวัตถุกำหนดจิตนั้น บางที่เรามองดูผิวเผิน คือเป็นการที่วัตถุมีอิทธิพลต่อจิต ในระดับของรูปแบบที่ยักย้ายเปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะภายนอกเท่านั้น หมายความว่าไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในขั้นเนื้อหา เนื้อหาอาจจะคงเดิม แต่รูปลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เราอาจจะใช้กิเลสตัวเดียวกันทำให้คนมีลักษณะนิสัยต่างกัน โดยสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต ปัจจัยดำรงชีพ เป็นต้น

กิเลสอย่าง มานะ การถือตัว การเชิดชูตัวให้ยิ่งใหญ่ ถ้าเราเอามาใช้บวกกับปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรเข้าผสม เช่น ใช้กับลัทธิชาตินิยม เราเอาความถือตัว การเชิดชูตัวให้ยิ่งใหญ่ผนวกกับลัทธิชาตินิยม บวกกับความรู้สึกรักพวกพ้อง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเราเคร่งวินัย ก็แสดงว่าชาติเรานี้ยิ่งใหญ่มาก เก่งมาก แน่มาก หรือแม้แต่มองแค่ตัวเองว่าฉันเป็นคนเก่ง รักษาวินัยได้เคร่งครัด เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เราเป็นคนเคร่งครัดวินัยได้ เพราะฉะนั้น มานะอาจจะทำให้คนเคร่งครัดวินัยขึ้น เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าฉันเก่ง พวกฉันเก่ง ประเทศชาติฉันเก่งก็ได้

แต่ในทางตรงข้าม มานะตัวเดียวกันที่ว่าเป็นการถือตัว ต้องการยิ่งใหญ่นั้นเอง เอามาใช้กับคนอีกคนหนึ่ง โดยเอาตัวแปรที่เป็นปัจจัยอื่นมาผสมเข้า เป็นการถือตัวในลักษณะที่จะแสดงให้เห็นว่า ฉันนี้ใหญ่ ทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ มันก็กลายไปเป็นการแสดงความเป็นเสรีแบบไร้ระเบียบวินัยไปเลย

เพราะฉะนั้น กิเลสตัวเดียวกัน เนื้อหาตัวเดียวกัน เอามาผสมกับปัจจัยตัวแปรคนละอย่าง อาจจะทำให้ออกรูปเป็นลักษณะนิสัยคนละอย่างเป็นตรงกันข้ามไปก็ได้ อย่างที่พวกหนึ่งกลายเป็นคนเคร่งวินัย แต่อีกพวกหนึ่งกลายเป็นพวกไร้วินัยโดยสิ้นเชิง เพราะพวกหนึ่งเอาแง่ว่า ยิ่งเคร่ง ก็ยิ่งเก่ง อีกพวกหนึ่งเอาแง่ว่า ยิ่งทำได้ตามใจฉัน ก็ยิ่งเก่ง

อีกทางหนึ่ง หรืออย่าง ตัณหา ความอยาก ความเห็นแก่ตัว มองไปข้างนอก มองหาสิ่งเสพ ก็ทำให้เกิดลักษณะพฤติกรรมที่ว่า เที่ยวพล่านหาสิ่งเสพทั่วไปหมด แต่ถ้าไม่มองออกไปข้างนอก ให้มองเข้าข้างใน ก็กลับทำให้หาความสุขด้วยการเกียจคร้านเอาแต่นอน เป็นต้น กลายเป็นลักษณะอาการตรงกันข้าม ทั้งที่กิเลสเนื้อหาตัวเดียวกัน

ดังนั้น ที่ว่าวัตถุกำหนดจิตนั้น โดยปกติมักเป็นเรื่องของการกำหนดโดยอิทธิพลในระดับที่เรียกว่า เป็นการสำแดงตัวในรูปแบบภายนอกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อหาอันเดิม

อุปมาเหมือนอย่างดินเหนียว ดินเหนียวนั้นเราจะปั้นให้เป็นหมูก็ได้ และดินเหนียวก้อนเดียวกันนั้นเอง เราจะปั้นให้เป็นเสือก็ได้ แต่มันก็ยังคงเป็นดินเหนียวเหมือนกัน ถึงหากถ้าเราไม่ปั้น มันก็ยังคงเป็นดินเหนียวอยู่ แต่มันมีศักยภาพที่จะรับการปั้นให้เป็นเสือหรือเป็นหมูได้ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ กิเลสนั้นก็จะยังอยู่และรอโอกาสที่จะแสดงตัวเป็นสิ่งต่างๆ ตามปัจจัยตัวแปรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป

เป็นอันว่า การแก้ปัญหาในเรื่องกิเลสเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตในขั้นหนึ่ง สภาพแวดล้อมทางวัตถุเป็นเครื่องช่วยแก้ไข ซึ่งมีอิทธิพลได้มากอย่างที่กล่าวมา แต่เป็นการแก้ไขที่ไม่เด็ดขาด จึงต้องมีการแก้ขั้นต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิตใจโดยเฉพาะ เหมือนอย่างการแก้ดินเหนียวโดยการเอาไปเผาให้เป็นอิฐ หรือมิฉะนั้นก็แยกธาตุจนดินนั้นไม่มีเหลือเลย

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นแง่ที่เกี่ยวกับวัตถุกำหนดจิต ว่าเป็นไปได้แค่ไหนเพียงไร

ทีนี้ ในทางตรงกันข้าม จิตก็กำหนดวัตถุ สำหรับจิตกำหนดวัตถุนี้ ก็มองเห็นง่าย ไม่ต้องพูดกันมาก เพราะการที่เราจะมีพฤติกรรมต่างๆ จะทำอะไร อย่างไร โดยปกตินั้นก็เกิดจากความคิดในจิตใจของเราให้แสดงออก สั่งออกมา แม้แต่การประดิษฐ์ต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยการปรุงแต่งทางใจ แต่เมื่อสืบกันแล้ว ก็เป็นเรื่องอิงอาศัยกัน เพราะต้องอาศัยมีข้อมูลทางวัตถุเป็นที่อ้างอิงหรือเป็นกรอบให้ด้วย แล้วก็สัมพันธ์กลับกันไปกลับกันมาอยู่อย่างนี้

แต่ในลักษณะหนึ่งนั้น จิตก็มีความเป็นอิสระจากวัตถุ อย่างที่พอมองเห็นง่ายๆ ก็เช่นว่า ในสภาพสังคมอย่างหนึ่งๆ ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมระดับใด ระบบใด เราก็สามารถมีบุคคลบางคนที่พัฒนาจิตพัฒนาปัญญาของตนขึ้นมาเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นได้ คือเป็นอิสระจากสังขารที่กล่าวมานั้น ดังที่เรามักจะพูดถึงท่านเหล่านั้นว่าเป็นศาสดา เป็นเจ้าลัทธิ หรือเป็นมหาบุรุษต่างๆ นี้ก็เป็นการมองในลักษณะที่ว่า ท่านเหล่านั้นเป็นคนที่พัฒนาตัวเองพัฒนาจิตพัฒนาปัญญา จนเป็นอิสระจากสภาพสังคมในยุคนั้น นี้เป็นแง่ที่แสดงว่า สามารถทำจิตให้เป็นอิสระจากวัตถุได้อย่างหนึ่ง นี้เป็นประการที่ ๑

ยิ่งกว่านั้น การแก้ปัญหาสังคมหรือการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางวัตถุนั้น มันก็เริ่มมาจากบุคคล คือบุคคล ที่เป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมทางสังคมนั้นแหละ กลับมาเป็นปัจจัยตัวนำที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นให้เป็นอิสระได้ต่อไป นี่เป็นประการที่ ๒ ในแง่ที่ว่า จิตเป็นอิสระจากวัตถุ เพราะเป็นตัวที่กลับมาแก้ปัญหาทางวัตถุหรือทางสภาพแวดล้อมนั้น

ประการที่ ๓ ในระดับต้นๆ หรือมองอย่างกว้างๆ เราจะเห็นว่า วัตถุหรือสภาพแวดล้อมกำหนดจิตได้มากอย่างที่พูดมาข้างต้น แต่ถ้าเรายิ่งพัฒนาจิตขึ้นไป จิตก็ยิ่งเป็นอิสระจากวัตถุ คือเป็นอิสระจากอิทธิพลของวัตถุมากขึ้น จนกระทั่งไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเลย หมายความว่า จิตที่ยิ่งพัฒนามาก ก็ยิ่งพ้นจากอิทธิพลของวัตถุมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงคนส่วนใหญ่ เราต้องมองอย่างกว้างๆ เมื่อเรามองดูสังคมในเวลาใดเวลาหนึ่ง เราจะเห็นว่า คนทั้งหลายหรือมนุษย์ทั้งปวงนี้ อยู่ในระดับแห่งการพัฒนาจิตและปัญญาที่ต่างกัน เมื่อเรากำหนดจับลงไปที่ระดับใดระดับหนึ่ง แล้วเทียบกับระดับอื่นที่เหลืออยู่ คนในระดับนั้นก็มีน้อย โดยเฉพาะคนที่พัฒนาในระดับสูง ก็ยิ่งมีจำนวนน้อยเป็นธรรมดา

อันนี้มันจะเกี่ยวถึงปัญหาที่ว่าสังคมจะวิวัฒน์ตามขั้นตอนต่างๆ เหมือนกับกำหนดตายตัว อย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป

เป็นอันว่า ได้พูดมาถึงทั้งอิสรภาพของบุคคล และอิสรภาพของสังคม ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอาศัยซึ่งกันและกัน หมายความว่าบุคคลก็จำเป็นต้องพัฒนาตัว ให้มีอิสระปลอดพ้นจากกิเลสที่ครอบงำทางจิตใจ โดยเฉพาะกิเลสพันตัวทั้ง ๓ อย่าง ที่เรียกว่าตัณหา มานะ ทิฏฐินั้น จึงจะสามารถทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมได้สำเร็จ

อีกทั้งในเวลาเดียวกัน อิสรภาพของสังคมจะเกิดขึ้นได้ คนก็จะต้องใช้ปัญญาเรียนรู้เข้าใจปัจจัยต่างๆ รู้จักองค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์กันแล้ว เข้าไปร่วมเป็นปัจจัย ในการที่จะจัดสรรกีดกั้นผลักดันปัจจัยอื่น เพื่อให้ดำเนินไปตามความมุ่งหมายที่ตนต้องการ

อิสรภาพเกิดจากความรู้อนิจจัง

ทีนี้ อิสรภาพทั้ง ๒ อย่างนั้น มีหลักการใหญ่ร่วมกัน หลักใหญ่ร่วมกันก็คือว่า อิสรภาพของบุคคลก็ดี อิสรภาพของสังคมก็ดี ต้องอาศัยความรู้ในอนิจจังด้วยกันทั้งนั้น ความรู้ในอนิจจังนี้หมายรวมไปถึงความรู้ในหลักการที่ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ที่ว่าจะต้องรู้อนิจจังจึงจะเป็นอิสระได้นั้น ด้านที่หนึ่ง ในแง่ของอิสรภาพส่วนบุคคลหรืออิสรภาพทางด้านจิตปัญญาของบุคคล เรารู้อนิจจังของสังขารทั้งหลาย3 ก็คือการที่เรารู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควร และไม่อาจจะเข้าไปยึดติด มัวเมา หลงใหล เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่คงอยู่หรือเป็นไปตามที่เราอยากเรายึด เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จิตก็จะได้เป็นอิสระจากกิเลส ๓ ตัวที่ทำให้เอาแต่ตัวเอง คือ เห็นแก่ตัว ถือตัว และยึดติดในความเห็นของตัวนั้น เมื่อพ้นจากพันธนาการของกิเลสเหล่านี้แล้ว เราก็พร้อมที่จะปฏิบัติการหรือทำการต่างๆ ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ หรือด้วยเหตุผลบริสุทธิ์

ปัญหาของมนุษย์ในขณะนี้ก็คือว่า พอเรามีปัญญาเรียนรู้ปัจจัยภายนอกในทางสังคมแล้ว เราก็มาติดตันตรงที่ว่าไม่สามารถทำการด้วยปัญญาบริสุทธิ์หรือเหตุผลบริสุทธิ์ เพราะมีอะไรเข้ามาผูกมัดรั้งดึงไว้ นั่นก็คือ เจ้า ๓ ตัวเมื่อกี้นี้ ได้แก่ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้ามาครอบงำ ปัญญาก็เลยหมดประสิทธิภาพ ทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมไม่สำเร็จ

ด้านที่หนึ่ง เรารู้อนิจจังก็เพื่ออันนี้ คือเพื่ออิสรภาพทางจิตปัญญา ในการที่ว่า จิตใจก็เป็นอิสระ ไม่มีความมัวเมาหลงใหล และปัญญาก็เป็นอิสระ ใช้ปัญญาล้วนๆ บริสุทธิ์ พ้นจากกิเลส ๓ ตัวที่ผูกมัดนั้น

ด้านที่สอง ในแง่ของสังคม เรารู้อนิจจังเพื่ออะไร เรารู้อนิจจังก็เพื่อไม่ประมาท เพื่อจะศึกษาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทั่วถึง จะได้เตรียมการวางแผนที่จะทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้องครบถ้วน อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า เข้าไปเป็นปัจจัยร่วมในการที่จะผลักดัน กีดกั้น จัดสรรปัจจัยอื่นๆ แล้วก็นำมนุษย์ไปสู่สังคมที่มีอิสรภาพ คือสังคมที่ปลอดพ้นจากความเบียดเบียน อยู่ดีมีสุขตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างที่ทางพระเรียกว่า “อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก” ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก หรือแปลอย่างสำนวนสมัยใหม่ว่า ความสุขในสังคมคือภาวะไร้การเบียดเบียน หรือภาวะไร้การเบียดเบียนคือความสุขในสังคม

เป็นอันว่า ในเมื่ออิสรภาพของบุคคลก็ดี อิสรภาพของสังคมก็ดี ล้วนต้องอาศัยความรู้ในอนิจจัง เราก็ต้องมีการปฏิบัติต่ออนิจจัง หรือต่อความรู้ในอนิจจังอย่างถูกต้อง

อาตมภาพขอนำกลับเข้ามาสู่หลักการของพระพุทธศาสนา ขอเล่าให้ฟังถึงพุทธพจน์ ๒ แบบที่เกี่ยวกับอนิจจัง โดยทั่วไปนั้น พุทธพจน์ที่เกี่ยวกับอนิจจังมี ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ ขอเล่าเรื่องให้ฟังก่อน ในพระสูตรหนึ่งเรียกว่า มหาสุทัสสนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล มีพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง พระนามว่ามหาสุทัศน์ ครอบครองอาณาจักรกว้างขวางจดมหาสมุทรทั้ง ๔ ทิศ แล้วพระองค์ก็พรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรืองของอาณาจักรของพระเจ้าจักรพรรดินั้นว่า มีพระราชวังโอ่อ่าสง่างามอย่างไร มีราชรถวิจิตรตระการตาอย่างไร มีนครน้อยนครใหญ่และพระราชสมบัติมั่งคั่งพรั่งพร้อมอย่างไรๆ

แล้วสุดท้ายพระองค์ก็ตรัสว่า บัดนี้พระเจ้ามหาสุทัศน์ก็ได้สวรรคตล่วงลับไปแล้ว อาณาจักรของพระองค์ก็สลายหมดไปแล้ว ความรุ่งเรืองหรูหราสง่างามต่างๆ ก็สูญสิ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็ตรัสเป็นคาถาว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

แปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา มันมีขึ้นแล้วก็ดับหาย ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

คาถานี้ที่จริง เราได้ยินบ่อย เราไปวัด เวลามีงานศพ พระก็ต้องบังสุกุลด้วยคาถาบทนี้ ได้ยินกันเป็นประจำ ซึ่งมีเนื้อความดังที่กล่าวมานี้

อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ พระองค์ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูสิ ภูเขาข้างหน้าเรานี้ บัดนี้ชื่อว่าภูเขาเวปุลละ และเผ่าชนที่อยู่ในถิ่นนี้เขาเรียกว่าชาวมคธ แต่ย้อนหลังไปในสมัยหนึ่ง มันไม่ได้ชื่อนี้ มันชื่อว่าเขาปาจีนวังสะ และประชาชนที่อยู่ในถิ่นแดนแคว้นนี้ก็หาได้ชื่อว่าชาวมคธไม่ แต่มีชื่อว่า ชาวตีวระ แล้วย้อนหลังไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ภูเขานั้นก็ไม่ได้ชื่อว่าเวปุลละหรือปาจีนวังสะ แต่ชื่อว่าภูเขาวงกต และเผ่าชนที่อยู่ในถิ่นนี้ก็มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าโรหิตัสสะ ย้อนหลังต่อไปอีกยุคสมัยหนึ่ง ทั้ง ๓ ชื่อนั้นก็ไม่ได้เป็นชื่อของภูเขาลูกนี้ แต่ภูเขาลูกนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าเขาสุปัสสะ และประชาชนที่ครอบครองดินแดนแห่งนี้ก็มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าสุปปิยะ

แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า แม้ชื่อว่าเวปุลละนี้ ต่อไปก็จะไม่มี เผ่าชนที่ชื่อว่ามคธ ก็จะไม่มี และนี่เวลาผ่านไป ๒,๕๐๐ ปีเศษ ก็เป็นอย่างนั้น บัดนี้แคว้นมคธก็ไม่มีเหลือ เป็นแต่ชื่อทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนี้เขาเรียกว่า แคว้นพิหาร และภูเขาลูกที่ว่านั้น ก็ไม่มีชื่อว่าเวปุลละ ต้องไปสืบค้นในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาล แล้วก็บอกว่า นี้นะ สมัยพุทธกาลเขาเรียกว่าเวปุลละ ตรัสให้เห็นอย่างนี้แล้ว พระองค์ก็ตรัสสรุปท้ายว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา... อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ท้าวสักกะที่เราเรียกว่าพระอินทร์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสักกะก็นำเอาคาถาบทนี้มากล่าว บอกว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ฯลฯ

ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง จะได้มีเรื่องเป็นตัวอย่างมากๆ หน่อย ท่านเล่าว่า เทวดาตนหนึ่งมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ในสวนนันทวัน นันทวันนั้นเป็นสวนสวรรค์สำคัญอยู่ในดาวดึงส์ เทวดาองค์นี้มีความสนุกสนานมาก และมีความลำพองใจ จึงได้กล่าวเป็นความร้อยกรองออกมาว่า

“นันทวัน สวนสวรรค์ของนรเทพผู้ยิ่งใหญ่ ใครไม่ได้มาเห็นนันทวัน คนนั้นไม่รู้จักความสุข”

เทวดาองค์หนึ่งกล่าวขึ้นมาอย่างนี้ แต่ในทันใดนั้นเอง เทวดาอีกองค์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ก็ได้กล่าวแย้งขึ้น ต่อว่าเทวดานี้โดยฉับพลันว่า นี่แน่ะ ท่านเทวดาโง่ ท่านไม่รู้จักถ้อยคำของพระอรหันต์ทั้งหลายหรือว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ฯลฯ นี้เป็นวาทะที่เทวดาตนนั้นเตือนเทวดาอีกตนหนึ่ง ไม่ให้หลงใหลมัวเมา

นี่เป็นพุทธพจน์ในหลักอนิจจัง แบบที่ ๑ ขอผ่านไปก่อน

แบบที่ ๒ พุทธพจน์แบบที่ ๒ นั้น ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ในมหาปรินิพพานสูตร คือ ตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ถึงตอนสุดท้ายพระองค์ได้ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลาย เป็นวาจาฝากฝังก่อนที่จะปรินิพพานว่า

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”

แปลว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือบางทีแปลว่า จงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

พุทธพจน์นี้เราเรียกว่าเป็น “ปัจฉิมวาจา” เพราะเป็นคำตรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เป็นวาจาที่สำคัญมาก เหมือนเป็นคำฝากของพ่อต่อลูกทั้งหลาย หรือเป็นการสั่งเสีย แต่เป็นการสั่งเสียในรูปของการตักเตือนและสั่งสอน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่บางทีชาวพุทธเราก็มองข้ามไป ไม่ได้ถือเอามาใช้เป็นหลักปฏิบัติอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในวันวิสาขบูชานี้ ก็เป็นวันที่เราระลึกถึงเหตุการณ์คราวประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งมีการปรินิพพานเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในสามประการนั้น พุทธพจน์ว่า “จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” นี้ก็ควรจะเป็นพระโอวาทที่เราน่าจะนำมากล่าวเตือนกันให้มาก

เป็นอันว่า มีพุทธพจน์เกี่ยวกับอนิจจังนี้เป็น ๒ แบบ สองแบบนี้ต่างกันอย่างไร ขอให้สังเกตอย่างง่ายๆ

พุทธพจน์แบบที่ ๑ เป็นคำกล่าวของผู้อยู่ พูดถึงสิ่งที่ล่วงลับดับหายไป อาจจะเป็นสิ่งทั้งหลายที่ล่วงสลายไปแล้ว หรือกล่าวถึงคนที่จากไป อย่างที่ท้าวสักกะกล่าวถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพาน หรือพระพุทธเจ้าตรัสถึงท้าวมหาสุทัศน์และดินแดนแคว้นกุสาวดีที่สูญสลายไปแล้ว การกล่าวถึงสิ่งที่ล่วงลับไปแล้วด้วยคติอย่างนี้ ก็เพื่อให้จิตใจของผู้ที่ยังอยู่ รู้เท่าทันธรรมดา ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความเศร้าโศก มีความสงบ เป็นอิสระจากกิเลส อันนี้เป็นเรื่องของความรู้เท่าทัน

พุทธพจน์แบบที่ ๒ เป็นคำของผู้จากไป กล่าวกับผู้อยู่ คือ พระพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จปรินิพพานจากไป ตรัสเตือนผู้อยู่ คือภิกษุและสาวกทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยงนะ สิ่งทั้งหลายผันแปรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่าประมาท จงรีบทำกิจทำหน้าที่ อย่าได้ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเสียเปล่า หรือปล่อยให้สิ่งทั้งหลายผันแปรไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ โดยไม่ได้หรือไม่ทันเข้าไปเป็นปัจจัยให้มันเป็นไปในทางที่สมควรจะเป็น

จากข้อสังเกตนี้ เมื่อเรานำมาใช้ในการปฏิบัติ โดยมองดูที่ตัวเราเองแต่ละคน เอาตัวเราแต่ละคนเป็นหลัก ก็จะได้คติจากหลักอนิจจังนี้เป็น ๒ แบบ

แบบที่ ๑ หันออกไปมองข้างนอก เมื่อเรามองออกไปยังสิ่งทั้งหลายทั่วไปโดยรอบตัว (รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์อำนาจ) จะต้องมองด้วยความรู้ที่เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่และดับไป มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อย่าได้ยึดติดหลงใหลมัวเมาในสิ่งใด จนกระทั่งเกิดกิเลสขึ้นมาครอบงำจิตใจตัวเอง ให้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน เป็นอิสระปลอดโปร่งอยู่เสมอ จะได้มีปัญญาที่จะทำอะไรด้วยเหตุผลบริสุทธิ์ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ นี้เป็นขั้นที่หนึ่ง

แบบที่ ๒ หันมามองตัวเอง ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นมาแล้วก็สลายไป แม้ตัวเรานี่ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วันเวลาอย่าให้เปล่าปราศจากประโยชน์ จะรีรอเวลาอยู่ไม่ได้ จะต้องไม่ประมาท รีบทำสิ่งที่ควรทำ อย่าถลำไปในทางที่ผิดพลาด โอกาสมีมาที่จะทำสิ่งดีงามแล้ว ก็ต้องรีบกระทำ เร่งศึกษากระบวนการของสิ่งทั้งหลายให้เข้าใจอย่างถูกต้องและละเอียดรอบคอบ แล้วทำการให้ตรงเหตุตรงปัจจัยด้วยความรู้ที่ชัดเจนรอบด้าน

ถ้าพูดในแง่ของอิสรภาพก็คือ จะต้องรีบปฏิบัติเพื่ออิสรภาพของตนเองทางจิตใจและปัญญา และเร่งทำการเพื่ออิสรภาพของสังคม ให้สังคมนี้อยู่ดีมีสุข ไร้การเบียดเบียน ดังที่กล่าวมาแล้ว อันนี้ก็เป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง

เข้าสู่หลักเรื่องอิสรภาพของบุคคลและสังคมที่กล่าวมาแล้ว โดยสรุปก็คือ อาตมภาพได้กล่าวให้เห็นว่า ความเป็นอนิจจังของสังขาร กับความเป็นอนิจจังของสังคมนั้น เป็นเรื่องที่เนื่องถึงกัน ประการหนึ่ง

เมื่ออนิจจัง ๒ ด้านนั้นสัมพันธ์กัน หันไปดูเรื่องอิสรภาพของบุคคล กับอิสรภาพของสังคม อิสรภาพทั้ง ๒ อย่างนั้นก็เนื่องอาศัยกันอีก

แล้วประการสุดท้ายก็มาบรรจบกันที่ว่า อิสรภาพของบุคคล ก็ดี อิสรภาพของสังคม ก็ดี ล้วนมีได้ สำเร็จได้ ด้วยการรู้อนิจจัง

เพราะฉะนั้นอนิจจังก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับอิสรภาพ หรืออิสรภาพก็อาศัยความรู้ในอนิจจัง

อิสรภาพภายในกระบวนวิวัฒน์ ที่เสมือนตายตัว

เมื่อกล่าวมาถึงเพียงนี้ ก็ขอย้อนโยงไปถึงเรื่องของสังคมและบุคคลที่พูดมาแต่แรก

ถ้าเรามองอย่างกว้างๆ แล้ว สังคมนี้ก็มีวิวัฒนาการผ่านขั้นตอนในวิถีวิวัฒน์ของมัน เหมือนกับว่าเป็นขั้นตอนที่ตายตัว อย่างที่บอกว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้กล่าวถึงวิถีวิวัฒน์ของสังคมที่ว่ามีสังคมปฐมสหการ สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมธนานุภาพหรือนายทุน และสังคมกิจหรือสังคมอุดมสหการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หรือในทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวถึงเรื่องมิคสัญญี ตลอดจนสังคมอุดมคติในยุคพระศรีอาริย์

ทั้งหมดนี้นั้น เมื่อเรามองอย่างกว้างๆ ก็เหมือนกับว่ามันเป็นขั้นตอนที่กำหนดตายตัว

แต่อีกแง่หนึ่ง เมื่อมองลึกเข้าไปในส่วนย่อย เราก็จะเห็นว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒน์ที่ว่านั้น ความจริงมันไม่ตายตัวเสียเลยทีเดียว มันมีความยืดหยุ่นอยู่ไม่น้อย เช่นว่า บางทีแทนที่จะเข้าถึงขั้นตอนนั้นช้าหน่อย มันก็เร็วขึ้น หรือแทนที่จะเข้าเร็ว มันกลับช้าลงไป หรือเมื่อเข้าถึงขั้นตอนใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนดีหรือร้าย ความพยายามของมนุษย์ก็มีผลทั้งนั้น บางทีมาถึงขั้นตอนที่ไม่สู้ดีนัก แต่เราสามารถทำให้สังคมนั้นอยู่ในระดับครึ่งดีหรือฝ่ายดีของขั้นนั้น ไม่ใช่อยู่ในครึ่งเสีย หรืออาจจะชะลอการที่จะเข้าถึงสภาพที่ร้ายหรือที่เป็นฝ่ายข้างเสียให้ช้าลงก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องของความยืดหยุ่น และความยืดหยุ่นเหล่านี้ก็ขึ้นต่ออิสรภาพในจิตใจของมนุษย์ ที่จะทำการเพื่ออิสรภาพของสังคมนั้นเอง

ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าสังคมจะวิวัฒน์ไปสู่ขั้นตอนใดๆ ก็จะมีมนุษย์บางคนบางจำพวก ที่สามารถพัฒนาตนเองจน กระทั่งมีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญา ที่หลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมทางสังคมได้ และมนุษย์พวกนี้แหละก็จะช่วยให้คนอื่นๆ หรือชักนำคนอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมาก เป็นกลุ่มหนึ่งบ้าง คณะหนึ่งบ้าง ช่วยให้สังคมในยุคนั้นมีอิสรภาพในขอบเขตหนึ่ง หรือเป็นสังคมที่ดีพอสมควร หรือทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าถึงอิสรภาพได้ แม้ในท่ามกลางสังคมที่อยู่ในวิวัฒนาการเพียงขั้นนั้น นี้ก็คือการที่อิสรภาพของบุคคลเข้ามาเป็นตัวแปรในขบวนการแห่งวิวัฒนาการของสังคม

ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้มนุษย์ทั้งหมด มีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญาได้ทั้งหมด มนุษย์ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงผลักดันสังคม ให้ก้าวข้ามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการไปได้ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนไม่ให้เป็นอย่างไรๆ ในวิถีวิวัฒน์นั้นก็ได้ แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะพัฒนาจิตปัญญาของตนเองให้เป็นอิสระอย่างที่กล่าวมานั้นได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาตามเหตุปัจจัยอีกนั่นแหละ

ดังนั้น เราจึงมีเพียงบุคคลบางคนบางกลุ่มในแต่ละยุคเท่านั้น ที่เข้าถึงอิสรภาพ และบุคคลบางคนบางกลุ่มที่เป็นอิสระในแต่ละยุคนั่นแหละ ที่ได้ช่วยให้สังคมนั้นๆ เป็นสังคมที่มีความรอดพ้นพอสมควรในยุคสมัยของตน

ยกตัวอย่างแม้แต่ในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ได้หักข้ามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของสังคมไปไม่ใช่น้อยทีเดียว ถ้าจะเปรียบเทียบกับสังคมอย่างที่ท่านเรียกว่าสังคมกิจนี้ สังคมที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้น ก็เป็นสังคมแบบสังคมกิจในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการที่บุคคลผู้เข้าถึงอิสรภาพแล้วมาทำการหักข้ามขั้นตอนของวิวัฒนาการของสังคม พาสังคมบางส่วนให้เข้าถึงอิสรภาพ ทั้งๆ ที่สภาพสังคมขณะนั้นๆ ไม่เอื้อ

เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็จึงมีอิสรภาพอยู่ด้วย ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนของสังคมนั้น และอิสรภาพทั้ง ๒ อย่างนั้นก็ไปด้วยกันได้ ดังที่กล่าวมานี้

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับอิสรภาพของสังคม

ตามประวัติของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์นั้น นับว่าท่านเป็นตัวอย่างหนึ่งของบุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างความเป็นอิสรภาพของสังคม โดยที่ว่าในขณะเดียวกัน ตัวท่านเองก็ได้พยายามรักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ หรืออิสรภาพของบุคคลไว้ด้วย ท่านได้พยายามที่จะสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคม โดยมีความมุ่งหมายที่จะช่วยให้ประชาชนในสังคมไทย เข้าถึงอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการปกครอง และในทางสังคมโดยทั่วไป ตั้งต้นแต่ได้ร่วมริเริ่มในการที่จะนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองตนเอง

เมื่อท่านทำงานอะไรก็ตาม ก็พยายามที่จะให้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์สังคมซึ่งไร้การเบียดเบียน มีความสงบสุขอยู่ด้วยดี เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีประวัติว่าได้ริเริ่มวางระบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นรู้จักปกครองตนเอง ครั้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ เป็นการปลดเปลื้องเครื่องบีบคั้นจำกัดทำให้เกิดอิสรภาพแก่ประเทศชาติอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็ได้ยกเลิกภาระให้ประชาชนพ้นจากการต้องจ่ายเงินรัชชูปการ จัดปรับปรุงวางระบบภาษีอากรใหม่ และวางรากฐานในการตั้งธนาคารชาติ

โดยเฉพาะสถานที่นี้ ก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านได้ตั้งขึ้นและเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชนพ้นจากความไม่รู้และเกิดมีแสงสว่างแห่งปัญญา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำมาซึ่งอิสรภาพทั้งส่วนบุคคลและสังคม

ต่อมา เมื่อประเทศชาติเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรบพุ่งสงครามขึ้น ท่านก็เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย ในการที่จะแก้ไขช่วยให้ประเทศชาติพ้นจากภาวะเป็นผู้แพ้สงคราม อันนับว่าเป็นงานสำคัญเพื่ออิสรภาพของประเทศชาติ เป็นอิสรภาพทางสังคมอย่างหนึ่ง

กล่าวโดยรวมแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์ได้ดำรงฐานะที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จ ราชการแผ่นดิน และเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และที่สำคัญลึกลงไปก็คือ ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ทั้งหมด จนกระทั่งแม้หลังจากนั้นไปแล้ว ตราบเท่าถึงอายุขัย ท่านได้พยายามที่จะดำรงรักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้เป็นอย่างดี

เมื่อเวลาอยู่ในฐานะใหญ่โต มีอำนาจ มีโอกาสมาก ก็ไม่เห็นแก่ตัว ไม่แสวงหาผลประโยชน์กอบโกยลาภผลเข้ามาแก่ตัวเอง ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อจะข่มขี่ข่มเหงผู้อื่น แต่พยายามใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ไม่ยึดติดคลั่งไคล้ในลัทธิความคิดเห็นของตนจนกระทั่งไม่ยอมรับฟังผู้อื่น แต่เปิดให้มีการแสดงลัทธิความคิดเห็น ตลอดจนขัดแย้งคัดค้านทิฏฐิของตนด้วยวิธีการแห่งเหตุผลตามแบบประชาธิปไตย นี่เป็นเครื่องแสดงถึงการที่ท่านได้พยายามรักษาอิสรภาพในทางจิตปัญญาของตน

แม้เมื่อพ้นจากอำนาจหน้าที่ทั้งหลายไปแล้ว ก็ได้พยายามรักษาจิตใจของตนเองให้อยู่ดีได้ ถึงจะมีภัย มีเรื่องบีบคั้นต่างๆ ก็ดำรงตนให้ผ่านพ้นไปได้โดยเกษมสวัสดี

แต่มองอีกแง่หนึ่ง ในการที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสพยายามทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมนี้ ตัวท่านเองกลับประสบสภาพที่เสมือนว่าไม่ค่อยได้รับอิสรภาพทางสังคม อยู่ในประเทศไทยก็มีภัยต้องหลบไปอยู่ต่างประเทศ เท่ากับถูกจำกัดในเรื่องที่อยู่อาศัย จะกลับมาประเทศของท่านเอง ก็กลับมาไม่ได้ เพราะมีภัยบ้าง เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองบ้าง เห็นแก่ลูกศิษย์ลูกหา เห็นแก่ผู้อื่นบ้าง เป็นอันไม่ได้กลับมาประเทศไทย จนกระทั่งถึงอายุขัยในต่างประเทศ ในแง่นี้จึงเรียกได้ว่า ท่านไม่สู้จะมีอิสรภาพทางสังคมเท่าไรนัก

แต่กระนั้นก็ตาม ท่านก็ได้พยายามรักษาอิสรภาพทางจิตใจและอิสรภาพทางปัญญาของท่านไว้ โดยที่ว่าได้ดำรงรักษาจิตใจไว้เป็นอย่างดี แม้จะมีสิ่งภายนอกบีบคั้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ และความระทมทุกข์ แต่ท่านก็มีสติสามารถดำรงจิตใจให้มีความสงบสุขอยู่ในคุณธรรมได้ นับเข้าในด้านอิสรภาพทางจิตใจ และการที่ท่านพยายามใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ คิดพิจารณาและแนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจในทางที่จะช่วยเหลือสังคมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักอิสรภาพทางปัญญา

ในสังคมปัจจุบัน เราต้องการบุคคลที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสังคมปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นเตือน ยั่วยุให้คนถลำไถลไปในทางที่เสื่อมเสียเป็นอันมาก ถ้าปล่อยกันไปในรูปนี้ วัตถุจะกำหนดจิตได้มาก เพราะว่าจิตของบุคคลไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีพลังในการต้านทานหรือเรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน

แต่จะทำให้คนมีภูมิต้านทานโดยมีพลังจิตสูงได้อย่างไร เพื่อว่าวัตถุจะกำหนดจิตได้ยาก การมีบุคคลแบบอย่าง ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง บุคคลแบบอย่างที่สามารถสร้างสรรค์พัฒนา รักษาอิสรภาพทางจิตและทางปัญญาของตนไว้ได้ดีนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม จากไปแล้วก็ตาม จะเป็นหลักให้คนอื่นได้ยึดถือ และจะเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจให้อนุชนรุ่นหลังมีพลังในการที่จะยืนหยัด ไม่เป็นไปตาม ไม่คล้อยไปตามอิทธิพลของวัตถุหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่จูงลงต่ำ เราก็จะได้บุคคลที่มีจิตเข้มแข็งที่สามารถต้านทานควบคุมวัตถุ หรืออยู่ในฝ่ายจิตกำหนดวัตถุได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการมีอิสรภาพทางจิตและทางปัญญา

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของประวัติชีวิตที่เป็นแบบอย่างอันหนึ่ง ซึ่งคงจะช่วยเป็นเครื่องชักนำให้กำลังใจแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการที่จะสร้างสรรค์รักษาอิสรภาพทางจิตปัญญาของตนเองไว้ และรู้จักคิดที่จะช่วยทำการเพื่อสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมต่อไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นที่น่ายินดีว่า ชีวิตของท่านเมื่อยังอยู่ ก็ได้ทำประโยชน์แก่สังคมแล้ว ครั้นล่วงลับจากไป ประวัติของท่านก็ยังเป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไปชั่วกาลนาน

มีพุทธพจน์ซึ่งควรนำมาอ้างในที่นี้ว่า

ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในโลกนี้ ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อจะคิด ย่อมคิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คิดการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

และอีกแห่งหนึ่งตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย สัปปุรุษทั้งหลายเกิดมาในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก คือ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา แก่คนรับใช้คนงาน แก่หมู่มิตรและเพื่อนร่วมงาน แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แก่พระราชา แก่เหล่าเทวดา แก่สมณะชีพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก

นี่เป็นคติจากพุทธพจน์ ซึ่งควรจะได้นำมากล่าวในโอกาสนี้ด้วย

สิ่งที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้ทำไว้เป็นประโยชน์ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว เหล่านี้แล ก็คืออนุสรณ์ที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นเครื่องรำลึกถึงตัวท่านตลอดไป โดยเฉพาะสถาบันที่เป็นประจักษ์หลักฐานยืนยันอยู่ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ และอีกแห่งหนึ่ง คือ วัดพนมยงค์ สองสถานนี้กล่าวได้ว่า เป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่ยิ่งยืนยงของท่านรัฐบุรุษอาวุโส

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นสถาบันที่ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเอง ถ้าหากว่า คนที่อยู่ในสถาบันแห่งนี้ กล่าวคือ คณาจารย์ นักศึกษาทั้งหลาย จะได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย ที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ก็จะเป็นการเชิดชูเกียรติของทานรัฐบุรุษอาวุโสต่อไปชั่วกาลนาน

ส่วนวัดพนมยงค์นั้น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่ก็เป็นวัดอันเป็นที่มาและเป็นเหมือนที่จารึกชื่อตระกูลของท่านไว้ ซึ่งบรรพบุรุษของท่านก็ดี ตัวท่านเองและหมู่ญาติบุตรหลานก็ดี ก็ได้มีความสัมพันธ์เป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้อยู่ ได้ช่วยสร้างศาสนวัตถุสถานขึ้นไว้ที่วัดนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานอุทิศแก่ท่านไว้ที่วัดนั้นอีก สิ่งเหล่านี้ย่อมจะเป็นอนุสรณ์ เป็นอนุสาวรีย์สำหรับท่านต่อไป

โดยเฉพาะถ้าหากว่า วัดพนมยงค์นั้น สามารถประกอบศาสนกิจตามวัตถุประสงค์ของพระศาสนาที่ว่า บำเพ็ญกรณีย์เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่พหูชน ด้วยการชักนำให้เกิดความเจริญงอกงามในทางธรรมแล้ว ก็จะเป็นเครื่องส่งเสริมเกียรติแก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส สมกับเป็นอนุสาวรีย์ที่ยืนยงอยู่สืบต่อไป

บัดนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้มาเป็นผู้ร่วมจัดงานบ้าง ร่วมกิจกรรมในงานบ้าง ต่างก็มาด้วยความระลึกถึงคุณงามความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโส โดยรำลึกถึงความดีอันเป็นส่วนอุปการคุณที่ท่านมีเป็นส่วนตัวแก่ตนเองบ้าง เช่น เป็นญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาโดยได้เรียนกับท่าน ตลอดกระทั่งว่า ได้เรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่านก่อตั้งขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนที่ทำให้มีความสัมพันธ์ต่อกัน แต่บางท่านก็อาจจะมาโดยมองเห็นความดี เห็นคุณธรรมของท่าน เห็นประโยชน์ที่ท่านได้ทำไว้แก่ประเทศชาติ แก่สังคม เป็นส่วนรวม

การมาประชุมกันเช่นนี้เรียกได้ว่า เป็นการแสดงออกที่ประกอบด้วยศรัทธา และความกตัญญูกตเวที การแสดงออกซึ่งคุณธรรมเช่นนี้ และการจัดกิจกรรมรำลึกต่างๆ นับว่าเป็นการบูชาท่านอย่างหนึ่ง ตามคติในทางพระพุทธศาสนาเข้าหลักที่ว่า

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

แปลว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นอุดมมงคล หรือมงคลอันสูงสุด

แต่ในทางพระศาสนานั้น จำแนกการบูชาเป็น ๒ อย่าง คือการบูชาด้วยสิ่งของวัตถุ เรียกว่า อามิสบูชา และการบูชาด้วยการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิบัติบูชา

ในที่นี้ การกระทำของท่านทั้งหลายที่ได้แสดงออกมานั้น ส่วนที่เป็น อามิสบูชา ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว แต่ส่วนที่จะต้องทำต่อไปทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้าก็คือ ปฏิบัติบูชา ซึ่งในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการบูชาอย่างสูงสุด

“ปฏิบัติบูชา” นี้ทำได้อย่างไร วิธีทำปฏิบัติบูชาก็คือ ท่านมีคุณความดีอะไรที่ได้ทำไว้ เราได้รับทราบ ได้เรียนรู้แล้ว ก็นำเอาคุณความดีเหล่านั้นมาทำตามสืบต่อไป นี่ก็เป็นการปฏิบัติบูชาอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่จะทำความดีอย่างอื่นๆ ที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม สมตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหวังของท่าน ก็เป็นการปฏิบัติบูชาเช่นกัน ขอให้ทุกท่านได้มาร่วมกันบูชาโดยถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ตามความหมายของหลักธรรมดังที่กล่าวมานี้

อาตมภาพขออนุโมทนาต่อท่านทั้งหลาย ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้ ทั้งในส่วนพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ ขอร่วมอุทิศกุศลแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ขอให้ท่านประสบความสงบสุขในสัมปรายภพ และขอให้คุณธรรมที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญ มีศรัทธาและกตัญญูกตเวทิตาธรรม เป็นต้น จงเป็นปัจจัยเสริมส่งให้ท่านทั้งหลายมีกำลังกาย กำลังใจ พร้อมบริบูรณ์ ในการที่จะทำกิจหน้าที่ เพื่อความเจริญงอกงามในธรรม และเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมสืบต่อไป ทั่วทุกท่าน เทอญ...

คำนำสำนักพิมพ์

เรื่องลุอิสรภาพด้วยอนิจจังนี้ เป็นคำบรรยายลำดับที่ ๔ ในชุด “ส่องทาง” เพื่อการพัฒนาตนและสังคมตามแนวพุทธธรรม ที่ทางมูลนิธิโกมลคีมทองได้จัดพิมพ์เผยแพร่ ด้วยความเชื่อมั่นและตระหนักในคุณค่าสาระทางความคิดของคำบรรยายครั้งสำคัญนี้

คำบรรยายเรื่องนี้ เรียบเรียงจากปาฐกถาประจำปี แสดงเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนเดียวของประเทศไทย ในโอกาสที่มีการอัญเชิญอัฐิธาตุกลับสู่ประเทศไทย ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นปาฐกถาครั้งประเดิมเริ่มแรก ที่มูลนิธิปรีดี พนมยงค์จัดขึ้น และยังจัดต่อมาทุกปีๆ

คำบรรยายนี้ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกรวมเล่มอยู่ในหนังสือ ปรีติธรรม และ ปรีดีนิวัติสัจจะคืนเมือง โดยให้ชื่อว่า “ความเป็นอนิจจังของสังขารกับอิสรภาพของสังคม” และคณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้คัดบางตอนมาพิมพ์โดยใช้ชื่อที่ท่านผู้บรรยายตั้งว่า “ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง” ต่อมาเรื่องลุอิสรภาพด้วยอนิจจังนี้ ก็ได้ตีพิมพ์เป็นภาคผนวกในหนังสือ ไตรลักษณ์ ของมูลนิธิพุทธธรรมอีกครั้งหนึ่ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้จึงเป็นการจัดพิมพ์แยกเล่มเฉพาะเป็นครั้งแรก และคงใช้ชื่อที่ท่านผู้บรรยายตั้งไว้นั้นเอง

คงจะไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า คำบรรยายนี้เป็นปาฐกถาภาษาไทยที่ดีที่สุดในรอบปี ๒๕๒๙ ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ผู้สนใจพุทธปรัชญาและปรัชญาวัตถุนิยม ถึงความแหลมคมและแยบคายในความคิดที่ท่านอธิบายถึงอิสรภาพ และกระบวนการนำไปสู่อิสรภาพอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง หนักแน่นและแม่นยำ ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ คำบรรยายนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักกิจกรรมและผู้สนใจการพัฒนาสังคม สมกับเจตนารมณ์ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่พยายามนำอิสรภาพสู่สังคมไทย ด้วยความรู้เท่าทันในความเป็นอนิจจังของสังขารทั้งหลายตามความเป็นจริงตามสภาววิสัย

สำหรับท่านที่พอใจปาฐกถานี้ และต้องการจะนำไปแจกจ่ายญาติมิตรที่จะพึงได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ กรุณาติดต่อกับทางมูลนิธิฯ โดยตรงเพื่อส่วนลดพิเศษ สำหรับการซื้อคราวละมากๆ มูลนิธิขออนุโมทนาขอบคุณ และมีความภูมิใจที่ได้ช่วยกันเผยแพร่ปาฐกถาอันมีคุณค่าชิ้นนี้ร่วมกัน

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐

คำอนุโมทนา

มูลนิธิโกมลคีมทอง มีฉันทะที่จะเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้อุตสาหะรวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายในโอกาสต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วขออนุญาตพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เฉพาะเล่มนี้ให้ชื่อว่า ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง ผู้เขียนไม่ขัดข้องเพราะเป็นการช่วยกันเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ อันจะอำนวยประโยชน์ ทั้งในทางวิชาการและในการเจริญกุศลธรรม

สิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง ได้มอบให้เปล่าแก่ผู้จัดพิมพ์ในแต่ละครั้ง เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทุกเล่มของผู้เขียน เท่าที่ได้พิมพ์แล้ว ไม่ว่าโดยบุคคลหรือสถาบันใด ทั้งนี้ ด้วยถือว่าความเจริญแพร่หลายแห่งธรรม และความงอกงามแห่งสัมมาปัญญา ที่อาจเกิดมีขึ้นจากธรรมทานนั้น จักเป็นผลสนองที่มีคุณค่าสูงสุด

ขออนุโมทนาต่อมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ได้มีฉันทะและวิริยะ ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในการบำเพ็ญประโยชน์ ตั้งต้นแต่พระดุษฎี เมธงฺกุโร ผู้เริ่มงานประมวลและจัดประเภทข้อเขียนคำบรรยายเหล่านั้น อันเกื้อกูลแก่การจัดพิมพ์ของมูลนิธิ ขอกุศลกรรมร่วมกันนี้ จงอำนวยผลเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน ตลอดกาลนาน

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐

1ปาฐกถาธรรม ของ พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาส “วันปรีดี พนมยงค์” เดิมจะแสดงตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม แต่เนื่องจากความไม่สะดวก จึงเลื่อนมาแสดงในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2สังขารในความหมายที่ ๑
3สังขารในความหมายที่ ๒
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง