ศิลปศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ศิลปศาสตร์แนวพุทธ1

ขอเจริญพร ท่านคณบดี ท่านอาจารย์ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพขอแสดงมุทิตาจิต คือ แสดงความยินดีต่อคณะศิลปศาสตร์ ในโอกาสที่มีอายุครบ ๒๗ ปี ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร ที่ว่ายาวนานนี้ก็ว่าไปตามความรู้สึก คือ เป็นความรู้สึกต่อตัวเลขจำนวน แต่ถ้าว่าตามความรู้สึกต่อเหตุการณ์ละก็ รู้สึกว่าไม่นานเลย เหมือนกับไวๆ นี้เอง เพราะว่าการตั้งคณะศิลปศาสตร์นั้น อยู่ในช่วงระยะเวลาที่อาตมภาพอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอยู่ในสถานที่ ที่พอจะรับทราบเหตุการณ์เกี่ยวกับการก่อตั้งได้ และมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ในแง่ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ จึงเป็นเรื่องใกล้ๆ เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกเกี่ยวกับกาลเวลา ส่วนการที่ได้แสดงความยินดีนั้น มีความหมายอย่างน้อย ๒ ประการคือ

๑. ยินดีในแง่ที่ว่า คณะศิลปศาสตร์นี้ เมื่อได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ก็ได้เจริญงอกงามมาตามลำดับ ผ่านลุล่วงพ้นอุปสรรคต่างๆ อยู่มาได้จนกระทั่งถึงวันนี้

๒. ในเวลาที่ผ่านมา ๒๗ ปีนี้ คณะศิลปศาสตร์ได้ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ทำประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก ในทางการศึกษา การที่ได้ใช้เวลาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ควรแสดงมุทิตาจิต

วันนี้ ทางคณะได้นิมนต์ให้พูดเรื่อง ศิลปศาสตร์ และก็เติมคำว่า แนวพุทธ เข้าไปด้วย ทีนี้ การมาพูดเรื่องศิลปศาสตร์ในที่ประชุมนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องหรือเป็นเจ้าของวิชาเอง ดังชื่อคณะก็บอกชัดอยู่แล้วว่า คณะศิลปศาสตร์ ก็เท่ากับว่าเอาคนที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่องศิลปศาสตร์ มาพูดให้ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นเจ้าการในเรื่องศิลปศาสตร์ฟัง จึงเป็นคล้ายกับว่าจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะฉะนั้น คงจะต้องพูดในแง่เป็นการประดับปัญญาบารมี คือ ถือว่าท่านผู้ฟังนั้นเป็นผู้มีปัญญาบารมีอยู่แล้ว ผู้พูดก็มาพูดเพียงว่าประดับปัญญาบารมี ทำให้ปัญญาของท่านงดงามขึ้น หรือว่ารุงรังยิ่งขึ้นก็แล้วแต่ หมายความว่า ถ้าประดับไม่ดีก็กลายเป็นรุงรัง


ความหมาย ขอบเขต
และความเป็นมาของศิลปศาสตร์

ชื่อที่ตั้งไว้ว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธ” นี้ เป็นคำที่แปลก คงจะมีการถามกันว่า “มีด้วยหรือศิลปศาสตร์แนวพุทธ?” “ในพุทธศาสนามีศิลปศาสตร์หรืออย่างไร?” หรืออย่างน้อยก็ถามว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร?”

เพื่อจะไม่ให้ต้องสงสัยกันมาก ตอนนี้ ก็ขอให้ความหมายสั้นๆ ไว้ก่อนว่า ศิลปศาสตร์แนวพุทธ ในที่นี้ต้องการให้หมายความว่า เป็นการศึกษาศิลปศาสตร์ตามแนวทางที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ที่รู้ ตื่น และเบิกบานด้วยปัญญา ถ้าจะให้ชัดกว่านั้นก็คือ เป็นศิลปศาสตร์ที่ศึกษาในแนวทางที่ถูกต้อง จนกระทั่งทำให้ผู้ที่ศึกษานั้นกลายเป็นพุทธขึ้นมาเลย ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่บรรลุจุดหมายสูงสุด

ความหมายของศิลปศาสตร์

เมื่อได้ให้ความหมายสั้นๆ ของคำว่า “ศิลปศาสตร์แนวพุทธ” ไปแล้ว ก็ต้องหวนกลับมาตั้งต้นที่คำว่าศิลปศาสตร์กันใหม่ ก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป ก็มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำว่า อะไรเรียกว่าศิลปศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คือวิชาการประเภทไหนบ้าง เพื่อจะให้มีความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่องถ้อยคำ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจร่วมกันในเรื่องถ้อยคำแล้ว จะพูดอะไรต่อไปก็ยาก

“ศิลปศาสตร์”นี้ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต แยกเป็น ศิลฺป กับ ศาสฺตฺร หรือ พูดง่ายๆ ว่า ศิลป+ศาสตร์ เมื่อตัดแยกคำออกอย่างนี้แล้ว จะมาอธิบายคำว่าศิลฺป กับ ศาสฺตฺร ต่อไปอีก คงเป็นเรื่องยืดยาว แล้วทั้งหมดนั้น ก็ดูจะไม่เกี่ยวกับชื่อศิลปศาสตร์ของคณะนี้ด้วย

ถ้าจะลัดเรื่องให้ตรงทีเดียว ก็ต้องพูดไปตามความที่เป็นมา ซึ่งปรากฏว่า คำว่า ศิลปศาสตร์ที่เราใช้ในกรณีนี้นั้น เป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นมาในสมัยใหม่นี้เอง เพื่อให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แก่คำว่า Liberal Arts เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงความหมายของคำว่าศิลปศาสตร์ ในที่นี้ เราจะมาพูดถึงความหมายในภาษาไทยแท้ๆ หรือแม้แต่ตามหลักภาษาเดิมที่เป็นบาลีสันสกฤต ก็คงไม่ได้ จะต้องพูดกันตามความหมายของศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เราต้องการบัญญัติให้ตรงกันนั้น คือคำว่า Liberal Arts ว่าคืออะไร แล้วเราก็ต้องเข้าใจความหมายของศิลปศาสตร์ตามนั้น เพราะคำว่าศิลปศาสตร์นั้นเป็นศัพท์บัญญัติ เหมือนการเข้าใจความหมายของคำภาษาไทยหลายคำ ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นศัพท์วิชาการที่บัญญัติขึ้นใหม่ เช่น คำว่าปรัชญา เราบัญญัติขึ้นใหม่สำหรับคำว่า Philosophy เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่าปรัชญาว่าเป็นอะไร ก็ต้องไปดูว่า Philosophy คืออะไร ไม่ใช่ไปดูความหมายของคำว่า ปฺรชฺา เดิมในภาษาสันสกฤต

นี่ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อคำว่าศิลปศาสตร์เป็นคำที่บัญญัติขึ้นสำหรับคำว่า Liberal Arts ก็ต้องกลับไปดูว่า Liberal Arts นั้นคืออะไร แล้วจึงจะมีความเข้าใจร่วมกันได้ ตอนนี้แหละที่จะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือ ตอนที่มาพูดถึงความหมายของคำว่า Liberal Arts แต่ถึงอย่างไรก็เลี่ยงไม่ได้ จึงขอทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน

Liberal Arts เป็นชื่อเรียกวิชาการ หรือความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนกันหมวดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามระบบการจัดแยกประเภทวิชาตามแบบตะวันตก มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันโบราณ ถ้าแปลเฉพาะตัวศัพท์เอง Liberal เดิมแปลว่า free คือ เสรี หรือ อิสระเสรี Arts ก็แปลว่า ศิลปะ รวมกันเป็น “ศิลปเสรี” แต่คำว่า Arts ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งใช้ในความหมายของศิลปะ อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน มันหมายถึงวิชาการที่เล่าเรียนศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้น Liberal Arts เขาจึงแปลว่า “วิชาการสำหรับเสรีชน” อันนี้คือความหมายเดิม และในสมัยกรีกนั้น คำว่า Liberal Arts ก็ใช้คู่กับคำว่า Servile Arts ซึ่งแปลว่าวิชาการสำหรับคนที่เป็นข้าทาส เพราะว่าในสมัยนั้นกรีกแบ่งคนเป็นชนชั้น คือ มีพวกเสรีชน แล้วก็มีชนชั้นข้าทาส บางทีก็เรียก Servile Arts หรือ วิชาการสำหรับข้าทาสนี้ว่า Practical Arts แปลว่า วิชาการภาคปฏิบัติหรือลงมือทำ

เป็นอันว่า ในสมัยกรีกโบราณ ได้แบ่งวิชาการออกเป็น ๒ พวก อย่างที่ว่ามานี้ ในยุคนั้นคนที่เป็นปราชญ์สำคัญก็คือ เพลโต และอริสโตเติ้ล ท่านทั้งสองนี้เป็นผู้ให้ความหมายที่เป็นสาระสำคัญแก่คำว่า Liberal Arts ให้หมายถึงวิชาสำหรับฝึกฝนพัฒนา ให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญา และศีลธรรม โดยเฉพาะในความหมายที่แคบเข้ามาก็มุ่งให้มีความชำนาญในการใช้ภาษาแสดงออก สื่อสาร รู้จักพูด และคิดเหตุผลได้ดี นี้เป็นความหมายที่นักปราชญ์กรีกในสมัยโน้นได้พูดไว้

วิชาที่ตรงข้าม เป็นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแบ่งชนชั้นด้วย ก็คือ Servile Arts หรือ Practical Arts ซึ่งเป็นวิชาจำพวกใช้ฝีมือ และแรงกาย ได้แก่งานอาชีพประเภทต่างๆ

เพื่อขยายความในเรื่องนี้ เขาบอกว่า การที่จะเป็น Liberal Arts ได้นั้น จะต้องมีหลักสำคัญ ๓ ประการ หรือจะเรียกว่าเป็นความหมายสำคัญของ Liberal Arts ที่เรามาบัญญัติกันว่า “ศิลปศาสตร์” นี้ก็ได้ หลักสำคัญ ๓ ประการที่กล่าวไว้ในสมัยกรีก คือ

๑. เป็นวิชาที่เหมาะสมสำหรับเสรีชน คือสำหรับชนชั้นสูง พวกผู้ดี พวกที่จะเป็นผู้นำของสังคม

๒. เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญาอย่างสูง คือ ในการที่จะศึกษาเล่าเรียน ต้องใช้สติปัญญาสูง ไม่ใช่ใช้แต่แรงงานฝีมือไปฝึกฝนเอาเท่านั้น ถ้าใช้แค่แรงงานฝีมือฝึกฝนเอา ก็จะเป็นประเภทที่ ๒ เรียกว่า Servile Arts หรือ Practical Arts ซึ่งเป็นวิชาชั้นต่ำ

๓. เป็นวิชาการที่ยกระดับจิตใจของผู้เรียน และผู้ปฏิบัติ ทำให้จิตใจ สมองและสติปัญญาสูงขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงให้สิ่งตอบแทน เป็นความสุขสะดวกสบายทางวัตถุเท่านั้น ต่างจากวิชาชีพทั้งหลาย ซึ่งโดยมากมุ่งแสวงหาผลตอบแทนทางด้านวัตถุ ให้ได้ความสะดวกสบายต่างๆ ที่เรียกว่า ผลประโยชน์ แต่วิชาพวก Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์นี้ จะต้องมีลักษณะที่ยกระดับจิตใจด้วย

เมื่อเทียบกับวิชา Liberal Arts ที่เป็นอย่างนี้แล้ว ฝ่ายตรงข้าม คือ Servile Arts ก็มีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ๓ ข้อ คือ

๑. เป็นวิชาสำหรับชนชั้นข้าทาส คนที่ใช้แรงงาน ใช้ฝีมือ

๒. เป็นวิชาที่ไม่ต้องใช้สติปัญญา ความสามารถ ใช้แค่แรงงานฝีมือฝึกเอา

๓. เป็นวิชาการที่ไม่ได้ยกระดับจิตใจมนุษย์ เป็นเพียงให้ความสุขสะดวกสบายทางวัตถุ หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น

นี่เป็นการแบ่งวิชาการของคนในสมัยกรีก ซึ่งในบางแง่บางมุมก็ยังใช้ได้แม้กระทั่งปัจจุบัน คือ ถ้าเราแยกความหมายในแง่ที่เกี่ยวกับชนชั้นออกไปแล้ว ก็คิดว่าความหมายอื่นๆ ยังใช้ประโยชน์ได้มาก หลักสำคัญทั้ง ๓ ข้อ ยังมีประโยชน์ในการที่จะพิจารณาเรื่องวิชาศิลปศาสตร์ แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน

เนื้อหาและขอบเขตของศิลปศาสตร์

ในด้านตัววิชาการ ในสมัยกรีกเดิมก็ยังไม่ได้กำหนดจำนวนแน่นอน ว่าศิลปศาสตร์คือวิชาการอะไรบ้าง จนกระทั่งก่อนคริสต์ศักราช ๑๐๐ ปี หรือ ๑ ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช จึงได้เริ่มต้นจัดให้มีวิชาศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts ทั้ง ๗ ซึ่งกลายเป็นประเพณีในวัฒนธรรมตะวันตก เรียกว่า the Seven Liberal Arts ดังมาปรากฏชัดเจนมากในสมัยกลางของยุโรป ที่ได้แบ่งวิชา Liberal Arts นั้น ออกเป็น ๒ หมวด คือ

หมวดที่ ๑ เรียกว่า Trivium แปลว่า วิชาหมวด ๓ หรือ ตรีบท ได้แก่วิชาไวยากรณ์ (รวมวิชาวรรณคดี) ตรรกศาสตร์ และวาทศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาชั้นต้น ต่อมามีการให้ degree และนำไปสู่ bachelor degree ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า ปริญญาตรี

หมวดที่ ๒ เรียกว่า Quadrivium แปลว่า วิชาหมวด ๔ หรือ จตุบท ได้แก่วิชา เลขคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และดนตรี นำไปสู่ปริญญา master degree

นี้เป็นการจัดแบ่งประเภทวิชา ที่ก้าวหน้ามาตามกาลเวลาจนถึงยุคสมัยกลาง (the Middle Ages) อย่างไรก็ตาม ในสมัยกลางของยุโรปโดยเฉพาะตอนต้นที่เรียกว่ายุคมืด (the Dark Ages) การศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ได้เสื่อมโทรมหยุดนิ่ง ชะงักงัน ไม่ก้าวหน้าและมีการปิดกั้นในทางสติปัญญา จนถึงยุคสมัย Renaissance จึงได้มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการกันขึ้นใหม่ และมีการขยายความหมายของคำว่า Liberal Arts ให้กว้างขึ้น ได้ความหมายอย่างง่ายๆ ไม่จำกัดเฉพาะ ๗ อย่าง แต่หมายถึงวิชาการทุกอย่างที่ให้ความรู้ในลักษณะที่เป็นการศึกษาแบบทั่วๆ ไป ซึ่งมิใช่เป็นวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ คือ เป็น General Education อันนี้เป็นความหมายที่ใกล้กันมากกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน

ในที่สุดพอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ Liberal Arts ก็กระจายขยายกว้างออกไป บางทีก็ให้ความหมายโดยแจกแจงเป็นวิชา ได้แก่วิชาจำพวกวรรณคดี ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ให้เรียนเป็นฐานของการศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ที่จะลงลึกเฉพาะด้านต่อไป เป็นวิชาการที่มุ่งให้ความรู้ทั่วไป และพัฒนาความสามารถทางปัญญา ตรงข้ามกับวิชาชีพและเทคนิคต่างๆ ในปัจจุบันนิยมจัดพวกศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts นี้เป็น ๓ หมวดวิชาใหญ่ๆ หรือ ๓ สาขา คือ

๑. หมวดมนุษยศาสตร์ หรือ The Humanities ได้แก่วิชา วรรณคดี ภาษา ปรัชญา ประณีตศิลป์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ และดนตรี เป็นต้น

๒. หมวดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ (Natural) Sciences and Mathematics ได้แก่วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เลขคณิต เรขาคณิต เป็นต้น

๓. หมวดสังคมศาสตร์ หรือ the Social Sciences เช่น วิชาสังคมวิทยา รัฐศาสตร์ (การปกครอง) กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

อันนี้เป็นการแบ่งวิชาที่มาจัดกันขึ้น โดยเอาไปเทียบกับ Liberal Arts หรือ ศิลปศาสตร์ การที่นักวิชาการบางพวกมาจัดแบ่งเป็น ๓ หมวดอย่างนี้ ก็เป็นความนิยมขึ้นมาในระยะหลัง

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทราบว่า นักศึกษาทุกคนเมื่อเข้าเรียนใหม่ๆ จะต้องเริ่มต้นโดยการเข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ ในคณะศิลปศาสตร์ เป็นการเรียนร่วมกันของนักศึกษาใหม่ทุกคน เท่ากับว่าเอาศิลปศาสตร์เป็นวิชาการพื้นฐาน คือ เป็นพื้นฐานของการเรียนวิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่อไป ในกรณีนี้เราจะได้ความหมายที่เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ทั้ง ๒ แง่คือ

๑. เป็นการจัดแบ่งวิชาการเป็น ๒ ประเภท คือ วิชาการประเภทพื้นฐานทั่วไป กับวิชาการประเภทวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ

๒. เอาวิชาการประเภทพื้นฐานทั่วไป มาเรียนเป็นพื้นเริ่มต้น ก่อนที่จะไปเรียนวิชาชีพและวิชาเฉพาะ

การให้นักศึกษามาเรียนร่วมกันนี้เป็นผลดี นอกจากในแง่วิชาการก็คือ การได้มารู้จักสังสรรค์คุ้นเคยในฐานะผู้ร่วมสถาบันเดียวกัน แม้ว่าจะแยกย้ายไปเรียนในคณะต่างๆ ต่อไปภายหลัง ก็เคยมีชีวิตร่วมกัน ศึกษาร่วมกันในคณะศิลปศาสตร์นี้ คณะศิลปศาสตร์จึงเท่ากับเป็นที่รวม เป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกคน ตอนนี้ขอยุติความหมายของศิลปศาสตร์อย่างที่เราบัญญัติตามวิชาการของตะวันตก

ศิลปศาสตร์ในสายวัฒนธรรมตะวันออก

ความจริง คำว่าศิลปศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยมาแต่เดิมก็มี ถ้าเราไม่เอาศิลปศาสตร์ไปผูกมัดกับคำจากตะวันตก คือไม่เอาไปพูดในฐานะเป็นศัพท์บัญญัติที่แปลจาก Liberal Arts ก็จะเห็นว่า ที่จริงแล้วทางตะวันออกก็มีศิลปศาสตร์เหมือนกัน ในสมัยโบราณเราพูดถึงวิชาการต่างๆ ที่ได้ศึกษากันมา เช่น ในคัมภีร์อย่างราชนีติ และโลกนิติ เป็นต้น ก็มีการกล่าวถึงศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ แสดงว่าคำว่า “ศิลปศาสตร์” นี้ มีในรากฐานของวัฒนธรรมสายตะวันออกด้วย

ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนี้ ที่จริงไม่ได้เรียกศิลปศาสตร์ ตัวศัพท์แท้ๆ เรียกแค่ศิลปะเท่านั้น คือเรียกว่า สิปฺป ในภาษาบาลี และ ศิลฺป ในภาษาสันสกฤต ศิลปะนั้นเป็นวิชาการอยู่ในตัวของมันเอง คือเรียกวิชาการทั้งหมดว่าเป็นศิลปะ ซึ่งก็แปลกที่ไปตรงกับภาษาอังกฤษ ที่ว่าในสมัยโบราณนั้นฝรั่งก็เรียกวิชาการต่างๆ ที่ศึกษาว่า Arts เท่านั้น เพิ่งจะมีคำว่า Sciences ขึ้นมาในตอนหลังนี้เอง แต่ก่อนโน้นวิชาการที่เรียนกันเป็น Arts ทั้งนั้น จึงมาตรงกับฝ่ายตะวันออกที่เรียกวิชาการที่ศึกษาว่า “ศิลปะ” เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป ในความหมายเดิมจึงไม่ใช่เป็นศิลปะอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับความงาม แต่เป็นเรื่องของวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนทั้งหลายทั้งหมด

เป็นอันว่าทางตะวันออกในสมัยโบราณเรียกวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนกันว่า สิปฺป หรือ ศิลฺป มีศิลปะที่นิยมเรียนกันทั้งหมดเรียกว่า ศิลปะ ๑๘ ประการ แม้แต่พระพุทธองค์ของเราก็มีประวัติว่า ก่อนที่จะได้ออกบรรพชาก็ได้ทรงเล่าเรียนจบศิลปะ ๑๘ ประการ ซึ่งเรามาเรียกกันว่าศิลปศาสตร์

ทำไมศิลปะจึงกลายมาเป็นศิลปศาสตร์ คำว่า ศาสตร์ ที่ต่อท้ายศิลปะนั้น แปลว่า ตำรา ถ้าเป็นบาลีก็เป็น สิปฺปสตฺถ คำว่า ศาสตร์ ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า สตฺถ ซึ่งแปลว่า ตำรา สิปฺป แปลว่า วิชาการที่ศึกษาเล่าเรียน สตฺถ แปลว่า ตำรา เพราะฉะนั้น สิปฺปสตฺถ ก็แปลว่าตำราที่บรรจุวิชาการต่างๆ แต่ไปๆ มาๆ คำว่า สตฺถ หรือตำรา มีความหมายแปรไป กลายเป็นตัวความรู้ไปเสียเอง ผลที่สุดคำว่าศาสตร์ก็ได้ความหมายเป็นวิชาความรู้เหมือนกัน

เมื่อชักจะยุ่งนุงนังและสับสน ตอนหลังก็มีการบัญญัติหรือทำความเข้าใจกันใหม่ ทำให้คำว่า “ศิลปศาสตร์” หรือ “สิปฺปสตฺถ” มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. คำว่าศิลปศาสตร์ หรือ สิปฺปสตฺถ ในความหมายที่สืบจากเดิม คือ เป็นตำราว่าด้วยวิชาความรู้ที่จะศึกษาเล่าเรียนซึ่งมี ๑๘ ประการ ในแนวทางของวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะสายอินเดีย

๒. คำว่า ศิลปศาสตร์แยกออกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ศิลปะ และ ศาสตร์ ใกล้กับความหมายของคำว่า Arts and Sciences อย่างที่นิยมจัดประเภทวิชาการกันในสายตะวันตกยุคปัจจุบัน

ในสมัยหลังๆ ที่มีการแยกศิลปศาสตร์ ออกเป็นศิลป กับ ศาสตร์ นี้ ก็ได้มีการกำหนดความหมายแยกให้ต่างจากกันด้วย เช่น มีการจำกัดความ “ศิลป” ว่าเป็นวิชาการที่มุ่งต่อความงาม หรือเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับการใช้หรือแสดงฝีมือ ส่วน “ศาสตร์” หมายถึง วิชาการที่มุ่งต่อความจริง

สำหรับศิลปะ ๑๘ ประการ หรือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสายวัฒนธรรมตะวันออกนั้น เท่าที่พบในตำราเก่าๆ เขียนไว้ลักลั่น สับกันบ้าง เพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็มีหลายอย่างที่ตรงกัน และมีบางอย่างที่คงจะคลาดเคลื่อนไปเพราะกาลเวลาล่วงไปยาวนาน จะยกเอามากล่าวไว้สักชุดหนึ่งเป็นตัวอย่าง ได้แก่วิชานิติศาสตร์ โบราณคดี แพทย์ ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ การประพันธ์ นาฏศิลป์ คำนวณ การบริหารร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับกฎธรรมเนียมต่างๆ วิชาช่างเครื่องยนต์ การยิงธนู ตำรับพิชัยสงคราม มนต์ (วิชาความรู้การอันทำให้เกิดมงคล) และความรู้ทั่วไป ที่กล่าวนี้เป็นคำแปลจากภาษาบาลี-สันสกฤต

เพื่อเป็นความรู้ประกอบ สำหรับประดับปัญญาบารมี จะขอนำชื่อวิชาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ที่เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มาแสดงไว้สักชุดหนึ่ง คือ

๑. สูติ ความรู้ทั่วไป

๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียมต่างๆ

๓. สังขยา การคำนวณ

๔. โยคยันตร์ การช่างยนต์

๕. นีติ นีติศาสตร์

๖. วิเสสิกา ความรู้การอันทำให้เกิดมงคล

๗. คันธัพพา วิชานาฏศิลป

๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย

๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู

๑๐. ปุราณา โบราณคดี

๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์

๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์

๑๓. โชติ ดาราศาสตร์

๑๔. มายา วิชาพิชัยสงคราม

๑๕. ฉันทสา การประพันธ์

๑๖. เกตุ วาทศิลป์

๑๗. มันตา วิชามนต์

๑๘. สัททา ไวยากรณ์

ศิลปศาสตร์ แบบตะวันออก หรือแบบตะวันตก

มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ในสมัยโบราณนี้ หรือถ้าจะเรียกตามคำเดิมแท้ๆ ว่า ศิลปะ ๑๘ ประการนี้ ถ้าเทียบกับการจัดแบ่งประเภทวิชาการแผนปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่า แม้ว่าหลายอย่างเข้าเกณฑ์ที่จะเรียกว่าเป็นวิชาศิลปศาสตร์ อย่างที่จัดกันว่าเป็นวิชาพื้นฐาน แต่อีกหลายอย่างเป็นจำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะ กล่าวได้ว่า คำว่าศิลปศาสตร์ หรือที่เดิมเรียกว่าศิลปะนั้น ในวัฒนธรรมสายอินเดียแต่เดิมมาเป็นคำเรียกวิชาการที่นิยมนับถือกันว่า สูงหรือสำคัญโดยทั่วไป การแยกประเภทคงจะไม่เหมือนกับในวัฒนธรรมตะวันตก และในแง่ที่เกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของคน สังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออกในสมัยนั้น ก็ไม่เหมือนกันในขณะที่สังคมกรีกแบ่งคนเป็นพวกเสรีชน กับคนชั้นข้าทาส แต่สังคมอินเดียแบ่งเป็น ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร การแบ่งชนชั้นที่ต่างกัน ย่อมมีผลต่อความแตกต่างทางการศึกษาด้วย

ข้อสังเกตนี้เป็นเครื่องเสริมย้ำความที่ว่า เรื่องศิลปศาสตร์ที่เราจะพูดกันในที่นี้ จะต้องว่าไปตามความหมายของศิลปศาสตร์ ในฐานะเป็นศัพท์ที่บัญญัติสำหรับ Liberal Arts ตามคติแห่งการจัดแบ่งประเภทวิชาการแบบตะวันตก ที่เรานำมาใช้ในปัจจุบัน การนำเรื่องศิลปศาสตร์แบบตะวันออก อย่างสมัยโบราณมาพูดไว้ในที่นี้ ถือได้ว่าเป็นเพียงการบรรยายประดับความรู้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้สังเกตไว้พร้อมกันด้วยว่า การที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า ในสายวัฒนธรรมตะวันออก จะไม่มีการศึกษาวิชาการชนิดที่เป็นพื้นฐาน แท้จริงแล้ว การศึกษาพื้นฐานเช่นนั้น เป็นสิ่งที่เน้นย้ำมากในวัฒนธรรมสายตะวันออก โดยเฉพาะในคติแห่งพระพุทธศาสนา แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมย่อมหมายถึงความแตกต่างแห่งการจัดระบบความคิด และบัญญัติทางภาษาด้วย สาระแห่งศิลปศาสตร์อย่างสมัยใหม่ที่พูดกันในที่นี้ อาจปรากฏในชื่ออื่นในระบบความคิดของตะวันออก

เพราะฉะนั้น แม้ว่าต่อไปนี้จะพูดถึงเรื่อง ศิลปศาสตร์ตามบัญญัติอย่างตะวันตก หรืออย่างสมัยใหม่ แต่สาระทางความคิด ก็ใช้ได้สำหรับการศึกษาวิชาการอย่างตะวันออกด้วยเช่นกัน หรืออาจจะเป็นไปในทางกลับกันด้วยซ้ำ คือ เป็นการกล่าวถึงสาระแห่งการศึกษาตามแนวคิดแบบตะวันออก ในโฉมหน้าหรือภายในรูปแบบของการจัดประเภทอย่างตะวันตก

อย่างไรก็ตาม สาระตามแนวคิดแบบตะวันออกที่ว่านั้น ก็มิใช่จะผิดแผกแตกต่างเป็นคนละเรื่องออกไปเลย เพราะเบื้องหลังโฉมหน้าและรูปแบบที่แตกต่างนั้น ก็มีสาระอย่างเดียวกันอันเป็นสากล คือ ความเป็นการศึกษาของมนุษย์ หรือการศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของชีวิตและสังคม และจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานอันเดียวกัน กล่าวคือ สัจจธรรม ดังจะได้กล่าวข้างหน้าต่อไป


การศึกษาศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน

ตอนแรกได้เริ่มบรรยายเกี่ยวกับถ้อยคำเพื่อให้เห็นความเป็นมาของคำว่าศิลปศาสตร์ แล้วต่อมาก็ได้ยุติที่คำว่าศิลปศาสตร์อย่างที่ใช้ในความหมายปัจจุบัน คือ ที่ใช้สำหรับเรียกวิชาการ อย่างที่กำหนดให้เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ คือ เป็นวิชาจำพวก Liberal Arts เป็นอันว่าเราก็หวนกลับมาหาความหมายในปัจจุบันตามแนวคิดที่รับมาจากตะวันตก ซึ่งหมายถึงการศึกษาเล่าเรียนวิชาการที่เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะเล่าเรียนวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม การที่พูดว่าเป็นวิชาพื้นฐานนั้น คำว่า วิชาพื้นฐาน ก็เป็นคำที่น่าสงสัยว่าจะมีความหมายอย่างไร ที่ว่าเป็นพื้นฐานของการศึกษาวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น เป็นพื้นฐานอย่างไร

มีหลายคนทีเดียวเข้าใจคำว่าพื้นฐานในแง่ที่ว่าเป็นวิชาเบื้องต้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเรียนวิชาชั้นสูง คือวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นวิชาที่สูงขึ้นไป การเข้าใจเช่นนี้ เป็นการมองอย่างง่ายเกินไป

ที่จริง คำว่า วิชาพื้นฐาน มีความหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือเป็นวิชาที่เป็นพื้นฐานรองรับวิชาการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การเล่าเรียนวิชาอื่นๆ มั่นคง เป็นไปได้ ถูกทิศถูกทาง โดยมีผลจริงและมีผลดีตามความมุ่งหมาย หมายความว่า ถ้าไม่มีวิชาการเหล่านี้เป็นพื้นฐานแล้ว วิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาจะไม่มีความมั่นคง จะไม่ได้ผลดี ไม่ได้ผลจริงตามความมุ่งหมาย ตลอดจนอาจจะพูดว่า วิชาพื้นฐานนั้น เป็นวิชาการซึ่งให้ความหมายที่แท้จริงแก่การเรียนวิชาการอื่นๆ ทีเดียว

ถ้ามองในความหมายแง่ที่ ๒ นี้ การเป็นวิชาพื้นฐานนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดพื้นฐานเสียแล้ว การศึกษาวิชาอื่นๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ ก็เท่ากับขาดรากฐาน ง่อนแง่น คลอนแคลน เลื่อนลอย ไม่มีเครื่องรองรับ แล้วก็จะไม่สัมฤทธิผลตามความมุ่งหมายของมัน

ที่ว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน โดยมีความหมายต่างๆ อย่างน้อย ๒ ประการนี้ ก็ต้องเน้นในความหมายที่ ๒ ซึ่งที่จริงแล้วเรียกได้ว่าเป็นความหมายที่แท้จริงของมัน และเป็นความหมายที่ทำให้การเป็นพื้นฐานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญของการเป็นวิชาพื้นฐานนี้มีอย่างไรบ้าง ขอให้มองดูในแง่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์
กับวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างบัณฑิต

ก่อนอื่นขอให้ระลึกไว้ในใจว่า วิชาศิลปศาสตร์มีอะไรบ้าง ลองทบทวนกัน วิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่วิชา วรรณคดี ศาสนา ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ (อารยธรรม) ศิลปะ (ประณีตศิลป์) สังคมวิทยา การปกครอง (รัฐศาสตร์) เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย (นิติศาสตร์) จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น วิชาเหล่านี้มีจำนวนเกือบจะเท่ากับวิชาศิลปศาสตร์โบราณ ๑๘ ประการ

เบื้องแรกขอให้ดูความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างวิชาศิลปศาสตร์ กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพว่า วิชาสองหมวดนี้ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ตามที่เราให้การศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าวิชาพื้นฐานเป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต คนจะเป็นบัณฑิตหรือไม่อยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์ ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้ว จะไม่สามารถสร้างความเป็นบัณฑิตได้

ถ้าอย่างนั้น วิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ มีไว้สำหรับทำอะไร ในเมื่อวิชาศิลปศาสตร์เป็นวิชาสำหรับสร้างบัณฑิตแล้ว หน้าที่ของวิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ นั้น ก็คือ เป็นวิชาสำหรับสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต หมายความว่า เราจะต้องทำคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราก็ให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์แก่บัณฑิต สำหรับเอาไปใช้ทำงานหรือทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของวิชา หรือกิจกรรมนั้นๆ วิชาการสองพวกนี้จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับบัณฑิตจะไปใช้ทำงาน

ตอนแรกนั้นเรายังไม่มีบัณฑิต เราจะต้องสร้างคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาก่อน บัณฑิตนั้นหมายถึงคนมีสติปัญญา มีคุณธรรม และความดีงามอื่นๆ พร้อมอยู่ในตัว กล่าวคือมีสติปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว มีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ได้พัฒนาแล้ว คนที่ได้พัฒนาแล้วเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นบัณฑิต แม้ถึงคนที่พัฒนาจวนจะสมบูรณ์ หรืออยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็อนุโลมเรียกว่าบัณฑิตได้ บัณฑิตนี้มีความเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม มีสติปัญญา ที่จะไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ที่จะไปทำหน้าที่ของตนเองต่อชีวิตของตน ต่อสังคม และต่อโลก แปลอย่างสั้นว่า บัณฑิตคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

แต่บัณฑิตนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะไปทำงาน คือจะต้องใช้วิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เรียกว่าวิชาชำนาญพิเศษเป็นเครื่องมือ จะเห็นว่า วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นี้เป็นเครื่องมือจริงๆ มันไม่ได้ให้อะไรมากมาย ให้แต่ความถนัดจัดเจนเฉพาะด้าน เพราะเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นเครื่องมือเฉพาะ

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราให้เพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เขาก็อาจใช้อุปกรณ์ไปในทางที่ผิดพลาด หรือเลวร้าย ทำการที่ก่อผลร้าย เป็นโทษแก่สังคมและแก่เพื่อนมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราอาจให้การศึกษาไปโดยกลายเป็นอย่างที่คนโบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” ซึ่งหมายความว่า วิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น มีอุปมาเสมือนเป็นดาบ หรือจะเป็นอุปกรณ์อื่นก็ได้ ซึ่งเมื่อให้ไปแล้วอาจจะนำไปใช้ในทางที่ดีหรือเลวก็ได้ ดังนั้น ในการให้การศึกษาแก่ผู้เข้าเรียน เราจะต้องสร้าง ๒ อย่าง คือ

๑. สร้างความเป็นบัณฑิต

๒. สร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์

วิชาการที่จะสร้างความเป็นบัณฑิตก็คือ วิชาพื้นฐาน ได้แก่วิชาประเภทศิลปศาสตร์นี้ ขอให้ไปวิเคราะห์ดูเอาเองว่าจริงหรือไม่

ศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐาน เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต โดยพัฒนาคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ส่วนวิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพเป็นวิชาการที่สร้างเครื่องมือ หรือสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต เพื่อผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น จะได้ใช้ความเป็นบัณฑิตของตนทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต และสังคมได้อย่างแท้จริง หรือมีความสามารถ และมีประสิทธิภาพในการที่จะทำงานที่ตนประสงค์ให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์

วิชาศิลปศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ทำคนให้เป็นคน ทำให้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นผู้มีความสามารถ และมีความพร้อมที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้วิชาชีพ และวิชาชำนาญเฉพาะด้าน ในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

อนึ่ง วิชาศิลปศาสตร์แต่ละอย่างนั้น นอกจากเป็นวิชาพื้นฐานแล้ว ยังอาจเลือกเอามาศึกษาเป็นวิชาเฉพาะ หรือเป็นวิชาชีพได้ด้วย โดยศึกษาให้มีชำนาญพิเศษจำเพาะในวิชานั้นๆ ในกรณีที่เลือกแยกออกมาศึกษาเพื่อความชำนาญพิเศษ หรือเพื่อเป็นวิชาชีพอย่างนั้น ก็จัดเข้าในจำพวกวิชาที่เป็นอุปกรณ์สำหรับบัณฑิตจะนำไปใช้ดำรงชีวิตและสร้างสรรค์ทำประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการพูดถึงจุดหมายปลายทางระยะยาวจนถึงจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเรียนจบอุดมศึกษาแล้วก็เป็นบัณฑิต ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นบัณฑิตก็ด้วยศิลปศาสตร์โดยมีวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นอุปกรณ์

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายในระหว่างเพื่อสร้างนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม วิชาศิลปศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิชาพื้นฐานนั้น มิใช่จะทำหน้าที่สร้างสรรค์บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาตลอดกระบวนการพัฒนาบุคคลแล้วเท่านั้น แม้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ วิชาศิลปศาสตร์ก็ทำหน้าที่อย่างสำคัญตลอดกระบวนการศึกษานั้นด้วย

ในระหว่างกระบวนการศึกษา ก่อนที่จะจบเป็นบัณฑิตนี้เราเป็นอะไร? เราเป็นนักศึกษา อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือกระบวนการพัฒนา ในระหว่างนี้ วิชาการประเภทไหนสร้างความเป็นนักศึกษา? วิชาจำพวกศิลปศาสตร์นี้แหละ เป็นวิชาที่สร้างความเป็นนักศึกษา

ความเป็นนักศึกษาก็คือความเป็นบุคคลผู้พร้อมที่จะไปเล่าเรียนวิชาการต่างๆ และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเล่าเรียนวิชาการเหล่านั้น เมื่อผู้เรียนมีความเป็นนักศึกษาแล้ว เขาจึงเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาการทั้งหลาย เช่น วิชาชีพ และวิชาเฉพาะทั้งหลายอย่างถูกต้องและได้ผลดี การเป็นผู้พร้อมที่จะเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมีความหมายกว้างทีเดียว

ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นนักศึกษา คือเป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนั้น สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ก็คือ ความมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน เป็นธรรมดาว่า คนเราจะต้องมีแรงจูงใจก่อนที่จะศึกษาเล่าเรียน แรงจูงใจ ในการศึกษาเล่าเรียนมี ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ และสถานะทางสังคม โดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นทางผ่าน หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การมีอาชีพ รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ประเภทที่ ๒ คือ ความใฝ่รู้ความรักวิชาการนั้นๆ อยากจะรู้มีความสนใจใฝ่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากรู้ความจริงของวิชาการนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และอยากทำให้ผลดีเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของวิชาการนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น คนที่จะเป็นครู เรียนครูเพื่ออะไร ถ้าเรียนด้วยแรงจูงใจประเภทที่ ๑ ก็คือ เรียนเพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง ส่วนแรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือ รักความเป็นครู รักวิชาและรักการทำหน้าที่ของครู อยากจะฝึกอบรมสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้อยากจะรู้วิชาการต่างๆ ที่จะไปสอน และรักที่จะให้ความรู้แก่ผู้อื่น

การที่จะศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ มุ่งไปยังผลโดยตรงของสิ่งที่เราจะทำ แรงจูงใจที่ถูกต้องตรงตามธรรมชาติ สำหรับการศึกษาเล่าเรียนนั้นก็คือ ความใฝ่รู้ความรักวิชาการนั้นๆ ที่เราจะไปศึกษา

การสอนวิชาพื้นฐานนั้นมีความประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อสร้างความเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน คือ ทำให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา รักวิชาการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมให้เขาเป็นคนที่เรียนเป็น จึงจะได้ความรู้จริง การที่จะเรียนเป็นก็ต้องรู้จักคิดเป็น ค้นคว้าเป็น คือต้องเป็นคนใฝ่รู้ชอบค้นคว้า และต้องรู้วิธีค้นคว้า จึงต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นคนที่เรียกได้ว่า เป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน

วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาการสำหรับสร้างคนให้เป็นนักศึกษา คือ ให้เป็นผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะศึกษาเล่าเรียน เมื่อเขามีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้ว เขาก็จะสามารถไปเล่าเรียนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างได้ผลดี และเล่าเรียนได้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อเขาจะได้ไปพัฒนาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ตนเองและแก่สังคม ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ตามความมุ่งหมายของวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ มิใช่เล่าเรียนเพียงเพื่อหาผลประโยชน์อย่างเดียวในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางที่ผิดพลาด

รวมความที่เป็นสาระสำคัญในตอนนี้ว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่ ถ้ามองในแง่จุดหมายระยะยาว ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นบัณฑิต หรือถ้ามองช่วงสั้นในระหว่างกระบวนการ ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นนักศึกษา ส่วนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้น ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต และเป็นสิ่งที่นักศึกษาผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้วนั้นจะมาศึกษาเล่าเรียน

พูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐาน

ก) มีจุดหมายในระหว่าง เพื่อสร้างนักศึกษา คือ ผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการพัฒนาตน และในการเล่าเรียนฝึกฝนวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย

ข) มีจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างบัณฑิต คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่จะนำวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ ไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

องค์ประกอบ ๓ ประการของความเป็นบัณฑิต

บัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการศึกษาตามหลักแห่งวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานนั้น จะมีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดังต่อไปนี้

๑. เป็นผู้มีปัญญา รู้สัจจธรรม สอดคล้องกับจุดหมายอันดับแรกของการศึกษา กล่าวคือ การที่เราเล่าเรียนศึกษาสิ่งต่างๆ ก็เพื่อที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ

๒. เมื่อรู้สัจจธรรมด้วยปัญญาแล้ว ก็ปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญาที่รู้สัจจธรรมนั้นมาดำเนินชีวิตของตนเอง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดผลเกื้อกูลไร้โทษ การดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นจริยธรรม พูดง่ายๆ คือเมื่อปฏิบัติถูกต้องตามสัจจธรรมให้เกิดผลดี ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรม

๓. เมื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง คือทำตามหลักจริยธรรมแล้ว ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ ถึงจุดหมาย เป็นบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาได้ พ้นทุกข์ พบความสุข และบรรลุอิสรภาพ

เท่าที่กล่าวมา จะเห็นว่า วิชาศิลปศาสตร์ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ มันเป็นวิชาพื้นฐานในฐานะที่รองรับวิชาการอื่นๆ ไว้ให้มีความหมายและมีผลที่แท้จริง ฉะนั้น ในการสอนวิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนี้ จึงมีคติอย่างหนึ่งซึ่งคู่เคียงกับการสอนวิชาเฉพาะว่า “สอนวิชาชีพวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์”

แง่ที่ ๒ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์
ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี

องค์ประกอบ ๓ แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์

การที่มนุษยชาติ จะดำรงอยู่ด้วยดีในโลกนี้ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ด้วยดี ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า องค์ประกอบเหล่านั้นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง (ชีวิต)

๒. สังคม (หมู่มนุษย์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน)

๓. ธรรมชาติแวดล้อม (ระบบนิเวศ)

การที่มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดีในโลกนี้ได้นั้น องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้จะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในลักษณะที่เป็นความกลมกลืนและสมดุล ในทางตรงข้าม ถ้าองค์ประกอบทั้งสามนี้ขัดแย้งกัน ไม่เกื้อกูลกัน เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทำลายซึ่งกันและกัน และไม่มีความสมดุล ก็จะเกิดผลร้ายแก่ระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ แล้วก็จะเป็นผลร้ายแก่มนุษย์ทุกคน ทั้งแต่ละบุคคลจนกระทั่งถึงมนุษยชาติทั้งหมด

ปัญหาปัจจุบัน คือ เรากำลังสูญเสียสมดุลในระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการนี้ และกำลังวิตกกันว่ามนุษยชาติอาจถึงกับพินาศสูญสิ้นไป ทั้งนี้เหตุปัจจัยก็เนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง

เรื่องนี้จะมาสัมพันธ์กับศิลปศาสตร์อย่างไร ขอให้พิจารณาต่อไป ก่อนอื่นจะต้องรู้ตระหนักว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกมนุษย์สมัยปัจจุบัน ตามปกตินั้นองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ องค์ประกอบทั้งสามอย่างนั้น กำลังอยู่ในภาวะที่มีปัญหาอย่างร้ายแรง ถึงขั้นที่เสี่ยงภัยต่อความอยู่รอดของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่สมบูรณ์เป็นปกติสุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในระยะยาว จะต้องให้องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างของการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น ประสานกลมกลืนสมดุลกัน ได้แก่ มนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

๑. มนุษย์ นั้นก็ยังแยกออกไปเป็นส่วนประกอบ ๒ อย่างคือ กาย กับ ใจ

๒. สังคม นอกจากหมู่มนุษย์แล้ว ก็รวมไปถึงวัฒนธรรม และระบบการต่างๆ สำหรับจัดสรรการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วย

๓. ธรรมชาติ นอกจากพืชสัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งปวงแล้ว ก็ครอบคลุมถึงสิ่งไม่มีชีวิตทั่วไป ที่ชีวิตเหล่านั้นต้องพึ่งพาอาศัยด้วย

ในส่วนของตัวมนุษย์เอง ชีวิตก็ต้องหมายถึงทั้งกายและใจรวมกัน ไม่ใช่มองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว และกายกับใจนั้นจะต้องสัมพันธ์ประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีสมดุลด้วย แล้วกายกับใจนั้นก็ไปสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ในลักษณะที่ประสานเกื้อกูลและมีสมดุล เช่น มนุษย์ต้องมีสุขภาพดี ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เมื่อสุขภาพกายดีก็ช่วยให้จิตใจสุขสบายได้ง่าย จึงควรต้องมีสุขภาพกายที่ดีไว้ก่อน แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอและยังไม่แน่นอน จิตใจก็จะต้องมีสุขภาพดี ดีงาม มีคุณธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้เคลื่อนไหวได้คล่อง สบายในท่ามกลางสังคม โดยมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น อยู่กับธรรมชาติได้ สามารถซาบซึ้งและมีความสุขกับธรรมชาติ

แต่ปัจจุบันโลกกำลังประสบปัญหามากจากความสัมพันธ์ที่ไม่ประสานเกื้อกูลและขาดความสมดุล ระหว่างองค์ประกอบทั้งสามอย่างนั้น ซึ่งทำให้องค์ประกอบแต่ละอย่าง เกิดความกระทบกระเทือนขัดข้องระส่ำระสายและเสื่อมโทรม แล้วส่งผลย้อนกลับมาให้ระบบการดำรงอยู่ทั้งหมดนั้นระส่ำระสาย และมนุษย์เองนั่นแหละที่ประสบอันตรายร้ายแรง ถ้าไม่ถึงกับสูญสิ้นพินาศไป ก็เสี่ยงต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีต่อไปได้ยาก ขอยกตัวอย่าง

ปัญหาที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

ในด้านปัญหาทางจิตใจ มนุษย์ในปัจจุบันมีความเครียดมาก ความเครียดกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งทางด้านการแพทย์ ทางด้านจิตวิทยา และทางอาชญาวิทยา ตลอดจนวิชาอื่นๆ หลายอย่าง

ในแง่ของการแพทย์นั้น ก็เห็นกันว่า ความเครียดเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เช่น โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ในแง่สังคม เมื่อมนุษย์ระบายความเครียดออกมา หรือติดต่อเกี่ยวข้องกัน ในขณะที่อยู่ในภาวะที่มีอารมณ์เครียด ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน และเรื่องอาจขยายใหญ่โต จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหมู่ชนก็ได้

อีกด้านหนึ่ง คนที่มีความเครียดในใจจำนวนมาก หาทางออกด้วยการหันไปหาสิ่งเสพติด ตั้งแต่สุรา ไปจนถึงโคเคน อย่างที่กำลังเป็นปัญหาหนักอยู่ในอเมริกาขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบกว้างไกล เป็นปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม ตั้งแต่การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึงปัญหาอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ในทางกลับกัน สังคมใหญ่ที่มีความสับสนวุ่นวายมาก มีการแข่งขันกันมาก ก็ส่งผลสะท้อนกลับต่อจิตใจของบุคคล ทำให้มนุษย์มีความเครียดมาก เมื่อมนุษย์เครียดก็ส่งผลย้อนมาสู่สังคมอีก สังคมก็ยิ่งสับสนวุ่นวายเดือดร้อน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางคุณธรรมในใจของคน เช่น ความโลภ ความเกลียดชัง เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการเบียดเบียน การแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน กลายเป็นปัญหาแก่สังคมอีกเหมือนกัน เมื่อมนุษย์ขาดคุณธรรมและไม่มีความยับยั้งชั่งใจ เกิดความอยากได้ผลประโยชน์และละโมบมาก บางทีก็ไปทำลายสภาพแวดล้อม เพื่อหาผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อธรรมชาติแวดล้อมถูกทำลาย ก็เกิดปัญหาตีกลับมายังมนุษย์อีกทั้งปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และปัญหาสังคม

ธรรมชาติแวดล้อมในปัจจุบัน กำลังเสื่อมโทรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาสภาพแวดล้อมอาจจะมาในรูปของสารเคมีต่างๆ ที่เป็นพิษ เช่น สารเคมีในยาฆ่าแมลง ซึ่งติดหรือซึมแทรกอยู่ในพืชในผัก มนุษย์กินพืชผักนั้นก็ตาม สัตว์บางอย่างกินพืชผักนั้น หรือกินแมลงที่ถูกสารเคมีนั้นแล้วมนุษย์เอาสัตว์นั้นมากินก็ตาม มนุษย์ดื่มน้ำที่มีสารเคมีนั้นละลายปนอยู่ก็ตาม สารเคมีนั้นก็กลับมาทำลายร่างกายมนุษย์ ทำให้เป็นโรคอีก สารเคมีบางอย่างก็ทำให้เป็นมะเร็ง หรือทำให้เป็นโรคอะไรอื่นบางอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้เป็นคนอ่อนแอ หรือชาวบ้านที่ไม่รู้จักระมัดระวังตัว ใช้สารเคมีโดยเฉพาะยาฆ่าแมลงไม่ถูกต้องตามวิธีการ ตายไปก็ไม่น้อย

มองไปในบรรยากาศ ก็มีอากาศเสีย คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ออกจากโรงงานบ้าง รถยนต์บ้าง ลอยขึ้นไป ทำให้อากาศเสีย เป็นมลภาวะ ทำให้เกิดมีฝนน้ำกรด (acid rain) ขึ้นมา ฝนน้ำกรดนี้ก็ไปทำลายป่า ทำลายน้ำในทะเล และทำลายปลาและสัตว์น้ำในทะเลเหล่านั้น แล้วส่งผลกลับมาแก่มนุษย์ทำให้เสียสุขภาพและสูญเสียแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ อย่างน้อยก็ทำให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่รื่นรมย์ ไม่น่าอยู่อาศัย

อีกด้านหนึ่ง ชั้นโอโซน (ozone layer) ในบรรยากาศก็มีช่องโหว่กว้างขึ้นๆ ระยะนี้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่อง ozone layer กันตั้งหลายครั้ง ประชุมกันอย่างหนักเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ ถึงขั้นที่อาจจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นไปก็ได้

พร้อมกันนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นไปสะสมอยู่มากในชั้นบรรยากาศ ก็ทำให้เกิดปัญหา ที่เรียกว่า greenhouse effect ทำให้อากาศบนผิวโลกอุ่นขึ้นมา ทำให้อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นก็อาจจะไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายลงมาน้ำทะเลก็สูงขึ้น เกิดปัญหาว่าน้ำอาจจะท่วมโลกก็ได้ นอกจากนั้น เมื่อความร้อนในบรรยากาศสูงขึ้น ก็ทำให้น้ำในทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย น้ำทะเลเป็นมวลสารขนาดใหญ่มหึมา พอมีความร้อนขึ้นมาก็ขยายตัว เมื่อน้ำในทะเลขยายตัวระดับน้ำสูงขึ้น ก็น่ากลัวว่าบ้านเมืองชายฝั่งทะเลจะถูกท่วม ต่อไปอาจจะจมอยู่ใต้ทะเลก็ได้

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมีมากมายเหลือเกิน

รวมความว่า ปัจจุบันนี้เรากำลังประสบปัญหาเนื่องจากการขาดสมดุลขององค์ประกอบ ๓ ประการของการดำรงอยู่ของมนุษย์ มนุษย์ที่มีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากขาดคุณธรรมก็ตาม หรือเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมและสภาพแวดล้อม ในเวลาเดียวกัน สังคมที่วุ่นวายมีปัญหาก็ส่งผลย้อนกลับมาหาบุคคล และส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ส่วนธรรมชาติเมื่อมีปัญหาก็ส่งผลร้ายแก่มนุษย์

พึงสังเกตว่า ปัญหาแต่ละเรื่องแต่ละด้านในขณะนี้นั้นล้วนแต่เป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ถึงขั้นที่จะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นได้ทั้งนั้น โรคกายที่เกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ เช่นจากความเครียดก็มี เกิดจากปัญหาสังคม เช่น ความประพฤติเบี่ยงเบนจากศีลธรรมก็มี รวมทั้งโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคร่างกายที่ร้ายแรงมาก เป็นที่หวั่นวิตกกันว่า แม้แต่โรคทางกายก็อาจจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นได้

ในทางจิตใจ ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีปัญหาทางโรคจิต โรคประสาทเพิ่มขึ้นมากมาย จนกระทั่งมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฆ่าตัวตายเดี๋ยวนี้ เป็นคนหนุ่มคนสาวมากขึ้นด้วย ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่นประเทศอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายมาก เป็นที่น่าประหลาดใจ ทำให้เห็นว่าปัญหาจิตใจนี้อาจจะนำไปสู่ความพินาศสูญสิ้นของมนุษย์ก็ได้

นอกจากนั้น ในแง่ปัญหาสังคม มนุษย์ก็ขัดแย้งกันมาก และมนุษย์ก็ได้พัฒนาอาวุธสำหรับประหัตประหารกัน จนกระทั่งสามารถทำอาวุธที่มีความร้ายแรงมากคือ อาวุธนิวเคลียร์ และคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็กลัวกันมากว่าสงครามนิวเคลียร์อาจจะเกิดขึ้น มนุษยชาติอาจจะสูญสิ้น ไม่ต้องพูดถึงปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งเสพติด ปัญหาความยากไร้ ปัญหาอบายมุขต่างๆ และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมโดยทั่วไป ซึ่งเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น แทนที่จะลดน้อยหรือเบาลง กลับเพิ่มมากและรุนแรงยิ่งขึ้น

เป็นอันว่า มนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในสังคมที่เจริญอย่างสูงแล้วนี้ สามารถที่จะพินาศสูญสิ้นได้ ด้วยเหตุปัจจัยมากมายเกี่ยวกับองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา

วิถีทางที่จะแก้ปัญหา

ในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ เราจะต้องพัฒนามนุษย์ คือ พัฒนาตัวคน ซึ่งก็คือ ต้องให้การศึกษาทางด้านวิชาศิลปศาสตร์ เพราะเหตุว่าการศึกษาวิชาพื้นฐานเหล่านี้เมื่อดำเนินไปอย่างถูกต้องก็คือ การทำให้มนุษย์พัฒนาสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจเหตุปัจจัยในธรรมชาติ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติและสังคม เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนให้ถูกต้องในโลก

เราจะต้องอาศัยการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ ที่เรียนกันอย่างถูกต้อง มาเป็นเครื่องมือฝึกสอนให้มนุษย์รู้เข้าใจเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ ต้องสอนให้มนุษย์รู้จักตนเอง รู้จักธรรมชาติ และรู้จักสังคม แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อรักษาสมดุล และความสัมพันธ์ที่ประสานเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการ

การสอนศิลปศาสตร์ที่ถูกต้อง จะต้องให้เกิดผลที่กล่าวมานี้เป็นประการสำคัญ

แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา
ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไร?

กาลเวลาเกิดจากอะไร กาลเวลาเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีกาลเวลา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้ตรงกับหลักสำคัญในทางพุทธศาสนา ที่เรียกว่า หลักอนิจจัง ซึ่งแสดงความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ จึงมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย ที่ว่าไม่เที่ยงไม่คงที่นั้น คือเกิดดับอยู่เสมอ สืบทอดต่อเนื่องกันไป ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ขึ้นต่อปัญญาของมนุษย์ที่จะเข้าใจได้ อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก

ทำอย่างไรกฎธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลง หรือหลักอนิจจังจะมาสัมพันธ์กับมนุษย์ ในลักษณะที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ และในลักษณะที่มนุษย์จะทำอะไรๆ กับมันได้? คำตอบก็คือ การที่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ มันจึงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์ และมนุษย์จึงทำอะไรๆ กับมันได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญา และมนุษย์ก็สามารถที่จะมีปัญญานั้น

ดังนั้น ถ้ามนุษย์พัฒนาปัญญาขึ้นมา จนรู้เข้าใจถึงความจริงของธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลง รู้เข้าใจถึงธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง และศึกษาให้รู้ถึงเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะใช้ความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาสร้างสรรค์ หันเห และปฏิบัติต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมของตนได้ นี้เป็นจุดสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับปัญญาของมนุษย์

ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นไปต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อจะกำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เกิดเป็นกาลเวลาเป็นยุคสมัยขึ้น โดยเอามาเทียบกับขณะที่มนุษย์ดำรงอยู่เป็นหลัก เรื่องของมนุษย์ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็เรียกว่าเป็นปัจจุบัน ถอยหลังไปก็เป็นอดีต ถ้ามองไปข้างหน้าก็เป็นอนาคต

โดยนัยนี้ ความดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคมอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นกับเงื่อนไขของกาลเวลานี้ด้วย คือ เหตุปัจจัยจะแสดงผลต้องอาศัยกาลเวลา และความเป็นเหตุเป็นผลกันนั้นก็ปรากฏออกมาในรูปของความเปลี่ยนแปลง เรื่องของมนุษย์ก็จึงต้องมาสัมพันธ์กับเรื่องของกาลเวลา และปัญญาของมนุษย์ก็จะต้องมาหยั่งรู้เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กับกาลเวลา ตามที่ปรากฏในรูปของความเปลี่ยนแปลงนั้น

มนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไรต่อกาลเวลาและ
ความเปลี่ยนแปลง?

เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้ โดยเข้าใจชีวิตของตนเอง เข้าใจสังคม และเข้าใจธรรมชาติแวดล้อมในแง่ของความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ภายในกรอบของกาลเวลาแล้ว มนุษย์ก็จะมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ คือของโลกและชีวิตนี้อย่างกว้างขวาง และชัดเจนขึ้น นี้เป็นอีกแง่หนึ่งของการที่จะเข้าใจโลกและชีวิต และการที่จะสัมพันธ์กับโลกและชีวิตนั้นอย่างถูกต้อง

แม้จะได้บอกแล้วว่า องค์ประกอบของการดำรงอยู่ด้วยดี มี ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม แต่นั่นก็เป็นเพียงองค์ประกอบล้วนๆ ลอยๆ เหมือนอยู่นิ่งๆ เราจะยังไม่เห็นอะไรชัดเจน ถ้าไม่มององค์ประกอบทั้งสามนั้น ในภาวะของความเปลี่ยนแปลงโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา พอเรามองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ว่าในช่วง ๓ กาลนี้ ความสืบทอดต่อๆ มาขององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้เราจะเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

วิชาศิลปศาสตร์นี้ขอให้ไปดูเถิด จะเป็นวิชาที่ให้เรารู้เรื่องของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ตามเงื่อนไขของกาลเวลาทั้ง ๓ นี้ ตัวอย่าง เช่น

วิชาประวัติศาสตร์: ให้เรารู้อารยธรรมของมนุษย์ ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

วิชาปรัชญา: ให้เราใช้สติปัญญา ศึกษาสืบค้นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ สืบมาจากอดีต จนถึงปัจจุบัน และเล็งอนาคต

วิชาศาสนา: ให้เราปฏิบัติตามวิถีทางที่เชื่อว่าจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีในโลกในปัจจุบันนี้ และมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้าในอนาคต

ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งให้เกิดความรู้ที่จะทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ กับความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขของกาลเวลานี้อย่างถูกต้อง ทำให้มนุษย์มีความรู้เข้าใจเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง สามารถ “หยั่งรู้ถึงอดีต แล้วก็รู้เท่าปัจจุบัน และรู้ทันอนาคต” อันนี้เป็นความประสงค์ของการศึกษาศิลปศาสตร์ประการหนึ่ง เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้และเข้าใจโลกนี้ดีแล้ว ก็จะปรับตัวได้ดี มนุษย์จะต้องมีการปรับตัว การปรับตัวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง และกาลเวลา การที่เราจะปรับตัวได้ถูกต้อง ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งรู้เข้าใจเท่าทันความเปลี่ยนแปลง คนไม่มีความรู้ในสภาพที่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถปรับตัวได้

สังคมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมภายนอกเข้ามา มีการกระทบทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้ศึกษาศิลปศาสตร์หากเข้าถึงวิชาการก็จะหยั่งรู้ในสิ่งเหล่านี้ จะศึกษาโดยเข้าใจความหมายและมีจุดมุ่งหมาย ศึกษาโดยรู้ความเป็นมาและความสืบทอดต่อเนื่อง รู้เท่าทันสภาพความเปลี่ยนแปลง รู้เหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง รู้ข้อดีและข้อเสีย เช่น รู้จักวัฒนธรรมที่เข้ามาว่า มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร ดีชั่ว มีคุณโทษอย่างไร รู้จักคิดพิจารณา ไม่ตื่นไปตาม ก็ปรับตัวได้ดี

ส่วนคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีการพัฒนาตน ไม่รู้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ก็จะถูกความเปลี่ยนแปลงกระทำเอา โดยตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว กลายเป็นหุ่นถูกชักถูกเชิด เป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง แต่หากได้ศึกษาอย่างถูกต้องแล้ว จะกลับเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง คือ รู้จักถือเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดคุณประโยชน์ ไม่เป็นผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม และสามารถเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง

การศึกษามีความมุ่งหมายประการหนึ่ง คือไม่ให้คนเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง แต่ให้เป็นผู้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ คือ ให้เป็นอิสระอยู่เหนือการถูกกระทบกระแทกชักพาโดยความเปลี่ยนแปลง และกลับนำความรู้เท่าทัน ต่อเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้น มาชี้นำจัดสรรความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตนได้

ขณะนี้ สังคมของเรากำลังประสบปัญหาคือ เป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง เราถูกสิ่งที่เข้ามากระทบจากภายนอก เช่น วัฒนธรรมจากตะวันตกเป็นต้น หลั่งไหลเข้ามา แล้วเราไม่รู้เท่าทันก็ตั้งตัวไม่ติด จึงเป็นไปต่างๆ ตามที่มันจะบันดาลให้เป็น ไม่สามารถจะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงได้

การรู้จักความเปลี่ยนแปลง หมายรวมถึงการรู้จักกาลเวลาและยุคสมัย ศิลปศาสตร์นั้นแล่นร้อยโยงกาลสมัยตลอดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โยงกาลทั้งสามเข้าด้วยกัน หยั่งถึงอดีต รู้เท่าปัจจุบัน รู้ทันอนาคต และด้วยความหยั่งรู้เท่าทันอย่างนี้ ก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์คือ เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์

จะเป็นคน “ทันสมัย” จะต้องทำอย่างไร?

คนจำนวนมากเข้าใจคำว่า “ทันสมัย” หรือ “ทันเหตุการณ์” ในความหมายที่ว่า มีอะไรเกิดขึ้นฉันก็รู้ เขามีอะไรใช้ใหม่ๆ ฉันก็ได้ใช้อย่างนั้น เขาทำอะไรแปลกใหม่ฉันก็ได้ทำอย่างนั้น เขานิยมกันอย่างไรฉันก็ได้ทำตามนิยมอย่างนั้น มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก ฉันรู้ฉันมีฉันรับได้เร็วไว คนจำนวนมากเข้าใจว่าอย่างนี้คือทันสมัย ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ “แฟชั่น” เขามีอะไร นิยมอะไรกัน ฉันก็ได้ก็มีอย่างนั้น ได้ทำตาม ได้เป็นไปตามอย่างนั้นด้วย การที่ทันสมัยอย่างนี้เป็นการทันสมัยที่แท้จริงหรือเปล่า ขอให้เรามาศึกษาความหมายของคำว่าทันสมัย

ถ้าเราเติมคำว่า “เท่า” เข้าไปข้างหน้าอีกหน่อย จะช่วยให้ความหมายชัดขึ้นไปอีกนิดว่า “เท่าทันสมัย” แต่ก็ยังไม่พอ ถ้าเติม “รู้” เข้าไปด้วยจึงจะเต็มสมบูรณ์ คือกลายเป็น “รู้เท่าทันสมัย” หรือ แม้จะตัด “เท่า” ออกเหลือแค่รู้ทันสมัยก็ยังดี “รู้ทันสมัย” นี้หมายความว่า ไม่ใช่แค่เป็นไปตามสมัยอย่างที่ว่า เขาเกิดมีอะไรขึ้นมาก็เป็นไปตามนั้นเท่านั้น การที่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เป็นไปตามนั้นนี้เรามักจะเข้าใจว่าทันสมัยแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ ไม่ได้มีความรู้ทันอะไรเลย ที่ว่ารู้ทันสมัยนั้นจะต้องรู้เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น เรื่องนี้มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เกิดขึ้นแล้วมีคุณและโทษอย่างไร อย่างนี้จึงจะเรียกว่า รู้ทันสมัย คนที่รู้เท่าทันสมัยจะต้องรู้อย่างนี้

ทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะทำให้เป็นนายเหนือกาลสมัย แต่คนที่ทันสมัยในความหมายแรกจะกลายเป็นทาสของสมัย ความเป็นทาสของสมัยจะเห็นได้ในความทันสมัยอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป คือถูกปลุกถูกปั่นให้วิ่งไปตาม ให้โดดโลดเต้นไปตาม

คนที่เขารู้เท่าทันสมัยพอสมควร เขาสามารถหาผลประโยชน์จากคนทันสมัยประเภทที่ ๑ ได้ เช่น คนที่รู้ว่าความนิยมของโลกนี้จะเป็นอย่างไร ต่อไปข้างหน้าคนจะนิยมกันอย่างไร แนวโน้มของสังคมทั่วไปตอนนี้กำลังเป็นอย่างไร เขาอาจไปออกแบบกำหนดแฟชั่นทำอะไร เอามาโฆษณา ล่อให้คนพวกนี้วิ่งโลดเต้นไปตามได้ คนที่ทำเช่นนี้ก็มีความรู้เท่าทันสมัยในระดับหนึ่ง แต่นำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในทางสนองความเห็นแก่ตัว ส่วนความรู้เท่าทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม คือการที่เรารู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มันคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร มีคุณและโทษอย่างไร ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว เราจะเป็นนายของกาลสมัยได้ และเราก็จะสามารถหันเหเบี่ยงเบนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษ และเสริมสร้างสิ่งที่เป็นคุณ

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่สนองค่านิยมแล้วจะถูกต้องเป็นคุณประโยชน์เสมอไป คนที่รู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ เท่านั้นจึงจะเลือกสรรจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างมีผลดีที่แท้จริง แก่ชีวิตและสังคม ถ้าไม่มีความรู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ แล้ว การศึกษาก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น

ถ้าการศึกษา เป็นเพียงการทำให้เป็นคนทันสมัยในความหมายที่ ๑ ก็เท่ากับว่า การศึกษานั้นทำคนให้เป็นทาสของกาลเวลา หรือเป็นทาสของยุคสมัยและคอยตามเขาอยู่เรื่อยไปเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นความทันสมัยที่ไม่ประกอบด้วยความรู้ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ยิ่งกว่านั้น บางคนว่า มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก เขารู้ก่อนใคร เขาทำก่อนคนอื่น เขาเป็นคนนำสมัย แต่ที่จริงนั้น เขาตามฝรั่ง เขาตามแบบที่อื่นอยู่แท้ๆ จะเรียกว่านำสมัยได้อย่างไร

ความทันสมัยและนำสมัยที่แท้ จะต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะ ทัน นั้นก็คือการรู้ทัน และ นำ ก็คือ เป็นต้นคิด เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง

วิชาศิลปศาสตร์ที่ถูกต้องตามความหมาย จะทำให้เราเป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ตลอดจนนำสมัย นำเหตุการณ์ในความหมายที่ถูกต้อง ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้เกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

รวมความว่า ความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่ ๑ นั้น มีลักษณะหรืออาการที่สำคัญ ๒ อย่างคือ ประการที่หนึ่ง ไม่ประกอบด้วยความรู้ไม่ได้ศึกษาสืบค้นให้เห็นเหตุปัจจัย เหตุผลและคุณโทษของเรื่องนั้นๆ ประการที่สอง เป็นผู้คอยตาม หรือถูกชักจูงปลุกปั่นให้เป็นไปอย่างนั้นๆ อย่างที่เรียกง่ายๆ ว่าตกเป็นทาสของยุคสมัย

ส่วนความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่สอง ก็มีลักษณะ ๒ อย่างที่ตรงกันข้าม คือ

ประการที่ ๑ ประกอบด้วยความรู้เป็นการรู้ทันหรือรู้เท่าทัน หยั่งเห็นลงไปถึงเหตุปัจจัยของเรื่องนั้นๆ คุณและโทษของสิ่งหรือการกระทำนั้นๆ และ

ประการที่ ๒ เป็นอิสระอยู่เหนือความนิยม หรือความเป็นไปนั้น ไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นให้วิ่งตามไป แต่ตรงข้ามกลับใช้ความรู้ในเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น มาจัดสรรดำเนินการนำทางการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปด้วยปัญญา ที่จะให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม เป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคม เรียกได้ว่า เป็นนายของยุคสมัยหรือเป็นนายของเหตุการณ์

ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นและไหลเวียนแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่ที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลนี้ คนที่ทันสมัยเพียงแต่รู้เหตุการณ์ตามข่าวทางสื่อมวลชนได้รวดเร็วทันควัน เกิดอะไรขึ้นก็รู้ไปตามนั้น คนทันสมัยแม้จะทันข่าว แต่ไม่รู้ทัน อาจถูกยุให้คล้อยตามข่าวนั้นได้ ถ้าผู้เสนอข่าวมีความประสงค์ที่เป็นเจตนาแอบแฝง อย่างน้อยแม้จะไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นไป ก็มีความเชื่อโดยไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ เชื่อเรื่อยเปื่อยและอาจจะเป็นคนขยายข่าวอย่างที่เรียกว่าเป็นกระต่ายตื่นตูม

ส่วนพวกรู้เท่าทันก็จะศึกษาสอบสวนข่าวพิจารณาไตร่ตรองสืบค้นให้ถึงต้นสาย หาเหตุปัจจัยวิเคราะห์สืบสาวให้รู้ความจริงที่แท้แล้ว ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เกิดผลดีที่แท้จริงและป้องกันผลร้ายได้ จะนำสมัย แก้ไขเหตุการณ์ได้ นี้คือการเป็นนายของข่าวสารข้อมูล นี้เป็นความหมายในด้านความสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ซึ่งก็เป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่งของวิชาศิลปศาสตร์ ที่จะให้เกิดประโยชน์นี้

แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ

รู้เขา รู้เรา คืออย่างไร?

การมองในแง่เทศะ คือ พิจารณาเรื่องราวนั้นๆ โดยสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ที่ตั้ง หรือแหล่งแห่งที่ เช่น มองว่าภายในหรือภายนอก มองในแง่สังคมไทยกับสังคมต่างประเทศ หรือมองในแง่ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมอื่น

การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมเหล่านี้ จะต้องให้รู้จักตนเอง รู้จักสังคมของตนเอง รู้จักวัฒนธรรมของตนเอง ว่าเป็นมาสืบต่ออย่างไร อยู่ในสภาพอย่างไร และรู้จักวัฒนธรรมอื่น รู้จักสังคมอื่นว่าเขาเป็นมาอย่างไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไร

การศึกษาศิลปศาสตร์จะต้องให้ได้ประโยชน์ ในทางที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ตนอยู่ร่วม และมีส่วนรับผิดชอบ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกมาก จะต้องมีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับความเป็นมา เป็นไป ตลอดจนสภาพที่เป็นอยู่ รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อดีข้อเสีย ข้อเด่นข้อด้อยของวัฒนธรรมเหล่านั้น ยิ่งในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมไทยถูกทอดทิ้ง ละเลย เพิกเฉย เราก็ยิ่งจะต้องใช้สติปัญญาศึกษาให้มาก

ในขั้นของการมองในแง่เทศะนี้ การมองในแง่ก่อนๆ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ คือพิจารณาองค์ประกอบทั้งสามของการดำรงอยู่ด้วยดีด้วย และพิจารณาสืบสาวเหตุปัจจัยโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย เพื่อให้รู้เข้าใจเทศะ คือ ถิ่นฐาน ชุมชน สังคม ตลอดจนวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้องชัดเจน

เราต้องรู้จักตนเอง ซึ่งหมายถึงว่าต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริง อะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไข ควรทิ้ง หรือควรเสริมเพิ่มขึ้นมา

ในแง่ของวัฒนธรรมอื่น ก็ต้องรู้จักว่าที่เขาเจริญนั้นเป็นอย่างไร แยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่า ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ กันส่วนอื่นที่ไม่เป็นความเจริญออกไป อะไรเป็นความเสื่อม ท่ามกลางภาพของความเจริญนั้น และสืบค้นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้นๆ ของเขา

ไม่ใช่เห็นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เมื่อยอมรับกันหรือนิยมกันแล้วว่า อันนี้เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว ก็ต้องว่าดีและรับเอาไปเสียหมด ซึ่งจะกลายเป็นว่าไม่ได้ใช้สติปัญญากันเลย ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อนิยมกันว่าสังคมอเมริกันปัจจุบันเป็นสังคมที่เจริญสูงพัฒนามาก ก็ต้องมองดูว่าที่ว่าเจริญนั้นเขาเจริญในส่วนไหน และส่วนนั้นเจริญมาได้อย่างไร และถ้าจะค้นหาว่าอเมริกาเจริญมาได้อย่างไร ก็ต้องมองย้อนไปในอดีต ไม่ใช่มองเดี๋ยวนี้ ถ้าใครมองว่าอเมริกาเจริญแล้ว ไปคว้าเอาสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มาทำตามโดยไม่ได้เลือกเฟ้นให้ดี อาจจะต้องผิดหวังและกลายเป็นการสร้างโทษก่อผลร้ายให้แก่สังคมของตนเอง

ถ้าจะเอาตัวอย่างจากเขามาถือตาม จะต้องพิจารณากลั่นกรอง เริ่มต้นดูว่าส่วนไหนเป็นคุณส่วนไหนเป็นโทษ ที่ว่าเจริญนั้น ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญและส่วนนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรในอดีต และส่วนไหนในปัจจุบัน จะนำอเมริกาไปสู่ความเสื่อมความพินาศในอนาคต เราแยกได้หรือเปล่า

ถ้าไม่รู้จักแยก อะไรมาจากประเทศเจริญก็รับหมดด้วยความตื่นเต้น อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช้สติปัญญา โดยเฉพาะไม่ใช่ผู้ที่ชื่อว่าได้ศึกษาศิลปศาสตร์

จะรู้เขาจริง ต้องรู้ถึงเหตุปัจจัย

นักศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ไม่มองเฉพาะสิ่งปัจจุบันที่จะนำไปสู่ผลในอนาคต แต่มองด้วยว่าสิ่งที่เป็นผลในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยอะไรมาจากอดีต

ทำไมอเมริกามีผลปรากฏที่เราเรียกว่าความเจริญ ก็ต้องไปสืบค้นดูในอดีต ซึ่งจะทำให้ต้องหยั่งลงไปถึงการศึกษาประวัติความเป็นมาของสังคมอเมริกัน ว่าทำไมอเมริกาจึงเจริญขึ้นมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ถ้ามองดูเฉพาะปัจจุบันจะปะปนพร่าไป เพราะสังคมอเมริกันปัจจุบัน กลายเป็นสังคมบริโภคไปแล้ว

คนที่จะทำสังคมของตนให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องมีนิสัยผลิต ความเป็นนักผลิตนี้ เกิดขึ้นในอเมริกามานานมากแล้ว ถ้าจะดูอเมริกาในแง่นี้ จะต้องมองถอยหลังไป ๗๐-๘๐ ปี หรือร้อยกว่าปี และถ้าจะมองให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องย้อนไปถึงบรรพบุรุษของคนอเมริกันในยุโรป เช่น ในอังกฤษ มองย้อนอดีตตลอด ๒๐๐ ปี รวมความว่าจะต้องพิจารณา ๒ ขั้น

ขั้นที่ ๑ ความเจริญแบบสังคมอุตสาหกรรมอย่างอเมริกันนั้น เราควรจะรับเอาจริงหรือไม่ มันดีแน่หรือเปล่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ขั้นที่ ๒ ถ้ามันดีเราจะเอา หรือแม้จะเสียบ้างแต่จะต้องเอา ก็ต้องเลือกให้ได้ส่วนดี

แล้วก็ต้องศึกษาสังคมของอเมริกา ตลอดเวลา ๗๐-๘๐ ปี หรือ ร้อยกว่าปีมาแล้ว เอารากฐานเก่ามาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้เขาเจริญด้วยอุตสาหกรรม ไม่ใช่ไปเอาสภาพแบบนักบริโภคปัจจุบันมาใช้ ซึ่งที่จริงเป็นตัวสลายอุตสาหกรรม

พร้อมกันนั้น อะไรที่เป็นส่วนเสีย อะไรที่เป็นบทเรียนจากเขา ก็ต้องศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเดินซ้ำรอยความผิดพลาดของเขานั้น

สำหรับประเทศที่เขามีวัฒนธรรมของตัวเอง สืบทอดกันมาจากอดีตนั้น ในปัจจุบันเขาอาจจะมีสิ่งที่เป็นภาพปรากฏในด้านอื่น ที่ต่างจากวัฒนธรรมซึ่งสืบมาแต่เดิมบ้างก็ได้ แต่สิ่งที่เขาสะสมปลูกฝังมาแต่เดิมยังไม่หมดไป ซึ่งจะต้องแยกให้ดี ดังเช่น ความเป็นนักบริโภคในปัจจุบันกับการเป็นผู้ผลิตที่สืบมาจากอดีต

ปัจจุบันนี้ สังคมอเมริกันเขาเรียกว่าเป็นสังคมที่ฟุ่มเฟือย แต่ความเป็นผู้ฟุ่มเฟือยนั้น เป็นสภาพการเสวยผลของสิ่งที่สร้างสรรค์สะสมสืบมาแต่อดีต เมื่อมองลึกลงไปเบื้องหลัง ก็จะเห็นนิสัยแห่งความเป็นนักผลิต ซึ่งสะสมกันมานานแล้ว เป็นเหตุจากอดีต รวมทั้งการสั่งสมนิสัยรักงาน ความใฝ่รู้ ความประหยัด เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ต้องสร้างมาแต่อดีตในระยะเวลายาวนาน และยังคงเหลือเร้นอยู่ มิได้หายหมดไป

ที่ว่ารู้เขา รู้เรานั้น รู้ไปเพื่ออะไร?

การวิเคราะห์อย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรู้จักตนและรู้จักผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น เป็นทั้งความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ และเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ ขอให้สำรวจตรวจสอบวิชาศิลปศาสตร์ดู จะเห็นว่าประกอบด้วยวิชาการที่มีเนื้อหาสาระทำนองนี้ นี่คือการมองในแง่เทศะ หากทำได้ตามนี้แล้วเราก็จะ

๑. ไม่หลงตนเอง แต่ก็ไม่ลืมตนเอง (ลืมในแง่ว่าละเลยทอดทิ้ง) คนจำนวนมาก ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่เข้าใจความเป็นมาเป็นไป และความหมายที่แท้จริง พวกหนึ่งก็สละละทิ้งเลย ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ยึดมั่นหลงใหลตัวเองว่า ถ้าเป็นไทยละก็จะต้องดีทั้งนั้น จะเอาแต่ศรัทธา คือ เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วยึดมั่นกันไป เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จะต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นด้วยปัญญาว่าส่วนใดดีส่วนใดไม่ดี และมีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร

๒. ไม่หลงใหลตื่นตามผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ปฏิเสธไปหมด นี่ก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักเขาตามที่เป็นจริง ไม่ยึดมั่นยืนทื่อ แต่ก็ไม่เลียนแบบตื่นตามอย่างไร้สติปัญญา

ปัญหาของเราปัจจุบันนี้ก็คือ พวกหนึ่งยึดมั่นยืนทื่ออยู่ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลียนแบบเขาดุ่ยไป ทั้งสองอย่างนี้กลายเป็นปัญหาของสังคมไทย เราควรศึกษากันจริงๆ และศึกษาความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาเรื่องของเราแล้ว เห็นส่วนใดดีที่ตนมีก็มีความมั่นใจในตนเอง

ปัจจุบันนี้เรากำลังพูดกันมากถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น พูดกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังสูญสลาย แล้วเราก็บอกกันว่าเราจะต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น อันนี้ก็เป็นนิมิตดีอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยใช้สติปัญญาอย่างถูกต้อง ถ้าเราเห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกต้องแท้จริง เห็นประโยชน์เห็นคุณค่า แล้วเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง และเกิดความชัดเจนกับตนเองว่าควรจะทำอะไรอย่างไร ในเวลาเดียวกัน เราก็สามารถที่จะศึกษาสังคมอื่น และวัฒนธรรมอื่น โดยแยกแยะเลือกรับเอาส่วนที่ดีจากภายนอกมาเสริมให้กับตนเองและปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ การรู้จักเลือกรับจากภายนอก ก็จะมาประสานกับการรู้จักสืบทอดของดีในภายใน ทำให้เกิดประโยชน์ที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่สังคม

แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนา
ศักยภาพของมนุษย์

ศิลปศาสตร์เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา

การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นี้ เป็นความหมายตามปกติธรรมดาอยู่แล้วของการศึกษาศิลปศาสตร์ เพราะว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาประเภทให้การศึกษาที่แท้จริง เรียกได้ว่า เป็นตัวเนื้อแท้ของการศึกษา หรือว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นเนื้อเป็นตัวที่แท้ของการศึกษา ส่วนวิชาการอย่างอื่น จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของการฝึกปรือเพิ่มเสริมความชำนาญ เฉพาะด้านเฉพาะอย่างในการดำรงชีพ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือในการที่จะไปทำการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรบางเรื่องบางอย่างให้แก่สังคม เป็นการพิเศษออกไป

ความหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาก็คือ เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จะเห็นว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาจำพวกที่จะพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ความรู้จักคิด ความสามารถสื่อสาร ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้คือรับรู้ได้ รับรู้เป็น และรู้จักเรียนรู้ คนที่จะพัฒนามีการศึกษาได้นั้นจะต้องเรียนรู้จนกระทั่งเกิดความรอบรู้อย่างที่ว่ารับรู้เรียนรู้แล้วก็รอบรู้ยิ่งกว่านั้น จะต้องสามารถสื่อความหมายถ่ายทอดแก่ผู้อื่นอย่างได้ผลด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ต้องอาศัยการฝึกฝนพัฒนา และจำเป็นต้องพัฒนา เพราะเป็นส่วนสำคัญของความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง

พูดรวบรัดว่า ความพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งอื่นคนอื่นได้โดยทั่วไป การรู้จักความดี รู้จักความงาม การที่จะมีชีวิตอันเป็นสุข อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเนื้อหาสาระของวิชาศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จึงมีศูนย์รวมอยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์เป็นทั้งเครื่องพัฒนาและเครื่องมือรับใช้
ศักยภาพของมนุษย์

นอกจากวิชาศิลปศาสตร์จะเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพของมนุษย์แล้ว มันยังมีความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือมันเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพ เสร็จแล้วก็มาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพ เมื่อเราพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ขึ้นมาแล้วเราก็เอาสิ่งที่ใช้พัฒนาศักยภาพนั่นแหละมารับใช้ศักยภาพของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์ทำให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเรียนศิลปศาสตร์อย่างถูกต้อง โดยเข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายแล้วนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณค่าของมัน มิฉะนั้นก็จะมีการเรียนรู้ศิลปศาสตร์แต่พอโก้ๆ ไป กลายเป็นการเรียนรู้อย่างเลื่อนลอย ไม่เกิดประโยชน์สมคุณค่าของมัน

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง เช่นวิชาภาษา เราเรียนภาษาต่างๆ เริ่มด้วยภาษาแรกของเราคือภาษาไทย ซึ่งทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายกับคนอื่นได้ แล้วเราก็พัฒนาตัวเองในความสามารถที่จะสื่อความหมายถ่ายทอดกับคนอื่นนี้ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นในการพูดและการเขียนเป็นต้น

ต่อมา เราไปเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อเราเรียนภาษาอื่นเราก็ขยายศักยภาพของเรา ในการที่จะสื่อสารถ่ายทอดรับรู้เรียนรู้และแสดงออกได้มากขึ้นไปอีก สมมติว่า เราไปเรียนภาษาอังกฤษ พอเราได้ภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา เราก็รับรู้ได้กว้างขวางขึ้น เรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น สื่อสารถ่ายทอดได้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก

ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษไม่เป็น เราไม่เข้าถึงความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็อาจจะเรียนเพียงด้วยความรู้สึกโก้ว่า ได้รู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของฝรั่ง เป็นภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว พอเรียนด้วยความรู้สึกว่า เป็นการเรียนภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเรียนนั้น และขาดความรู้ตระหนักต่อความมุ่งหมายของการเรียนภาษา ก็จะเรียนอย่างขาดจุดหมาย เลื่อนลอย และทำให้เกิดปม คือ ปมด้อย และปมเด่น

ปมด้อย คือความรู้สึกว่าเราได้เรียนภาษาของประเทศที่เจริญกว่า มองวัฒนธรรมของเราว่าด้อย แล้วเราก็เกิดความรู้สึกที่เป็นปมด้อยในตัวเองว่า เราเป็นคนที่ด้อย แล้วไปรู้ภาษาของคนที่เจริญ มีความรู้สึกแฝงลึกอยู่ในใจ โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ว่าสังคมของฝรั่งเจริญ สังคมของเราด้อย วัฒนธรรมของเขาเจริญ วัฒนธรรมของเรานี้ด้อย

ส่วนปมเด่น ก็คือ พอมาเทียบกับพวกคนไทยด้วยกันเอง เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเด่น เพราะว่าในขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของเราด้อยนั้น ตัวเรานี้เป็นผู้ที่รู้ภาษาที่เด่น รู้วัฒนธรรมที่เด่นของคนที่เจริญแล้ว

ผลของการเรียนภาษาอังกฤษก็ออกมา ในแง่ความรู้สึกว่า เรานี้เด่นในหมู่พวกที่ด้อย แล้วก็ไปด้อยในพวกที่เด่น ก็กลายเป็นปมขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะด้อยในพวกที่เด่น หรือจะเด่นในพวกที่ด้อย ก็เป็นปมทั้งนั้น และก็ย่อมเป็นปัญหา อย่างน้อยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมเท่าที่ควรจะเป็น และการเรียนภาษาอังกฤษนั้นก็จะไม่ก้าวหน้าไปได้มาก

แต่ถ้าเรารู้ตระหนักในความหมาย และความมุ่งหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็จะเรียนภาษาอังกฤษในฐานะเป็นวิชาที่พัฒนาศักยภาพ และรับใช้ศักยภาพของเรา ตอนที่ว่าขยายศักยภาพนี่ชัดแล้ว เพราะเราสามารถรับรู้ข่าวสาร เรียนรู้แล้วก็ถ่ายทอดสื่อสารได้กว้างขวางขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้ว มันจะเป็นเครื่องมือสำหรับรับใช้ศักยภาพของเราที่ขยายออกไปนั้น ในความหมายที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ภาษาอังกฤษนั้นเป็นเครื่องมือรับใช้เราในการที่จะก้าวออกไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่สังคมตะวันตกได้สั่งสมถ่ายทอดต่อกันมาได้อย่างมากมาย ขุมปัญญา ขุมอารยธรรมตะวันตกนั้น บัดนี้เราสามารถเข้าถึงได้แล้ว เราก็อาศัยความรู้ในภาษาอังกฤษนั้น ไปเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากขุมปัญญา และขุมอารยธรรมตะวันตกนั้นมา เราก้าวออกไปศึกษาวิเคราะห์วิจัยเขาได้ ไม่ใช่เพียงแต่ตื่นเต้นที่ได้รู้ภาษาอังกฤษ วิชาภาษาอังกฤษมีความหมายที่มาเปิดช่องทางให้เราเข้าใจถึงสังคมของเขา วัฒนธรรมของเขา วิทยาการของเขา เราก็ใช้เครื่องมือนี้ในการที่จะไปเรียนรู้ไปสืบค้น ไปดึง ไปเอาสิ่งที่เขาสะสมนั้นมา เพื่อนำเอามาใช้ประกอบในการที่จะสร้างสรรค์สังคมของเราได้

ประการที่ ๒ เรามีดีอะไร เรามีสิ่งที่ดีในวัฒนธรรมของเราซึ่งเป็นคุณค่า มีภูมิปัญญาที่เป็นของไทยสะสมไว้ซึ่งวัฒนธรรมอื่นไม่มี เรารู้แล้วเราก็มีความมั่นใจ พอเราได้ภาษาอังกฤษมา เราก็มีเครื่องมือรับใช้ที่จะถ่ายทอดสิ่งดีที่เรามีอยู่นี้แก่คนอื่น นำไปบอกแก่คนอื่น เผยแพร่สิ่งดีในภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราให้เขาได้รับรู้กว้างขวางออกไปได้

อันนี้ เป็นการเอาภาษามาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของเราซึ่งขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง การเรียนภาษาอังกฤษที่มีความหมายถูกต้องควรจะเป็นอย่างนี้

แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาปัญญา
ที่เป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ และการเข้าถึงอิสรภาพ

ปัญญาในฐานะแกนกลางของการพัฒนาศักยภาพ

ในศักยภาพของมนุษย์นั้น สิ่งที่เป็นแกนกลางที่เราต้องการแท้จริงคืออะไร แกนกลางแห่งศักยภาพของมนุษย์ที่เราต้องการแท้จริงคือ ปัญญา ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่ทำให้เรารู้ความจริงของธรรมชาติ ทำให้เราเข้าถึงสัจจธรรม

เมื่อเราเข้าถึงสัจจธรรม รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว เราก็จะได้เอาความรู้ในความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น เมื่อเรารู้เหตุปัจจัย รู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ถูกต้องแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง รวมทั้งปฏิบัติต่อชีวิตถูกต้องด้วย เราก็แก้ปัญหาได้ถูกต้อง คือแก้ปัญหาสำเร็จ และทำอะไรๆ ได้สำเร็จ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ

เราพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ขึ้นมามากมาย ก็เป็นตัวประกอบ เป็นบริวารแวดล้อมปัญญานี้ ปัญญาเป็นตัวแท้ที่ต้องการ เป็นแก่นเป็นแกนแท้จริง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ที่เราศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ก็เพื่อให้รู้เรื่องเหตุปัจจัย ภายในเงื่อนไขของกาลเวลา รู้ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมาซึ่งสืบต่อจากอดีต ถึงปัจจุบัน และส่งทอดไปยังอนาคต โดยรู้ในแง่เทศะ ทั้งตัวเองและผู้อื่น สังคมนี้และสังคมอื่น แล้วจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เป็นความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ จะเห็นว่าตัวแกนของเรื่องที่พูดมาทั้งหมดนั้น ก็คือการรู้และที่ว่ารู้นั้น ก็คือปัญญา

คิดเป็นและคิดชัดเจน เป็นสาระของการพัฒนาปัญญา

ทีนี้ การที่จะเข้าถึงตัวปัญญาที่แท้จริงได้นั้น ก็จะต้องมีปัจจัยที่เราย้ำเน้นกันมากในปัจจุบัน คือการคิดเป็น เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เมื่อมาถึงตัวปัญญาที่แท้นี้แล้วเราจะต้องมาเน้นในเรื่องคุณลักษณะสำคัญที่ต้องการของปัญญา คือ การคิดเป็น

นอกจากคิดเป็นแล้วจะต้องเน้นเพิ่มขึ้นอีกว่า การคิดได้ชัดเจนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะถึงแม้จะบอกว่าคิดเป็น แต่ถ้าคิดไม่ชัดเจน การคิดเป็นนั้นก็ไม่สมบูรณ์และไม่เกิดประโยชน์เต็มที่

การคิดชัดเจนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบัน สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารข้อมูลมาก มีทั้งข่าวสารข้อมูลที่เกะกะรกรุงรัง เป็นขยะข้อมูล และข่าวสารข้อมูลซึ่งเป็นตัวเนื้อแท้ที่ต้องการ คนที่ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักใช้ปัญญา ไม่รู้จักพินิจพิจารณา คือไม่รู้จักสืบสวนค้นคว้า ไม่รู้จักเลือกสรร ตัวเองตกอยู่ท่ามกลางกองข้อมูล ก็เก็บเอาขยะข้อมูลมาใช้แล้วก็เกิดความผิดพลาด ไม่สำเร็จผลที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เริ่มต้นจะต้องมีความสามารถในการที่จะเลือกรับข้อมูล เมื่อเลือกเฟ้นข้อมูลก็ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และได้ความรู้จริง เมื่อมีความรู้จริงก็สามารถที่จะคิดให้ชัดเจน

การคิดชัดเจนนี้ก็มีเป็นขั้นเป็นตอน ตอนแรกคิดชัดเจนเป็นเรื่องๆ และคิดชัดเจนในแต่ละเรื่อง ปรากฏการณ์ทั้งหลายโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ปรากฏการณ์หนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ จะประกอบด้วยกรณีหรือเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างหรือหลายเรื่องมาประมวลกันขึ้น เมื่อชัดเจนในเรื่องย่อยแต่ละเรื่องแล้ว จากนั้นก็จะต้องมีภาพรวมที่ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง

การจะได้ภาพรวมที่ชัดเจน ก็เกิดจากการคิด เห็น เข้าใจ ชัดเจนในเรื่องที่เป็นส่วนย่อยแต่ละส่วน ความชัดเจนในแต่ละส่วนก็ต้องอาศัยการรู้จักคิดอย่างมีระเบียบวิธี โดยเฉพาะการวิเคราะห์องค์ประกอบ และการสืบสาวเหตุปัจจัย เมื่อความรู้ในแต่ละส่วนแต่ละอันชัดเจนแล้ว ก็มาโยงเข้าหากัน เมื่อโยงเข้าจากส่วนแต่ละส่วนที่ชัดเจนก็ได้ภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น

คนที่พลาดตั้งแต่ขั้นข้อมูล คือเลือกข้อมูลไม่เป็นแล้วไม่รู้จักค้นคว้าสืบสวนข้อมูล ก็ไม่ได้ความรู้จริงแล้วก็คิดไม่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เมื่อคิดไม่ชัดเจนในแต่ละเรื่องแล้วก็โยงเข้ามาในสภาพที่พร่าและสับสน ก็ได้ภาพรวมที่ไม่ถูกต้องไม่ชัดเจน ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการฝึกฝนในเรื่องความคิด ในการใช้ปัญญา และในการพัฒนาปัญญาให้มาก อันนี้คือจุดที่เป็นหัวใจ ซึ่งในที่สุดแล้วการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์จะมาเน้นที่จุดนี้ คือที่การพัฒนาปัญญาของมนุษย์ การที่จะให้เกิดความรู้จริง การที่จะคิดได้ชัดเจน แล้วผลที่สุดก็เห็นรอบด้าน

หมายความว่า เมื่อศึกษาเรื่องราว หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่ใช่เห็นในแง่มุมเดียว แต่เห็นรอบด้าน แต่ไม่ใช่เห็นรอบด้านชนิดพร่าและสับสน จะต้องเป็นการเห็นรอบด้าน ที่เกิดจากความชัดเจนในแต่ละเรื่อง แต่ละด้าน แล้วมาโยงกันเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

การพัฒนาปัญญามีจุดหมายเพื่ออิสรภาพ

ปัญหาพื้นฐานของชีวิตและของมนุษย์ทั้งหมด ได้แก่ความติดขัดคับข้องบีบคั้น ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ที่คำเดิมใช้ว่า “ทุกข์”

ขยายความว่า มนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อสืบต่อชีวิตและสังคมของตน ก็จึงต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ชีวิตของตนเองไปทีเดียว เมื่อไม่รู้หรือยังไม่รู้จักว่า สิ่งนั้นๆ คืออะไร เป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้ที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ไม่ลุล่วงผ่านพ้นปลอดโปร่งไป แต่กลายเป็นว่าเกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้น เป็นปัญหาขึ้น หรือเรียกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ รวมพูดสั้นๆ ว่า เพราะไม่รู้ความจริงของโลกและชีวิต จึงทำให้เกิดความทุกข์

ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา เพื่อให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย จนเข้าถึงความจริง เมื่อรู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลาย คือรู้ความจริงของชีวิตและโลกนี้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ไม่เกิดความติดขัดบีบคั้น แก้ปัญหาได้ หรือไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็เกิดความลุล่วงทะลุปรุโปร่งปลอดพ้นไป เป็นอิสระ ซึ่งจะเรียกว่าอิสรภาพ หรือภาวะไร้ทุกข์ก็ได้ เมื่อถึงภาวะนี้ มนุษย์จึงจะมีความสุขที่แท้จริง จึงเห็นได้ว่า อิสรภาพ การดับปัญหาได้ หรือภาวะลุล่วงปลอดพ้นปัญหา หรือภาวะไร้ทุกข์ เป็นจุดหมายของชีวิต และเป็นจุดหมายของมนุษย์ทั้งหมด และก็จึงเป็นจุดหมายของการพัฒนาปัญญาด้วย การศึกษาศิลปศาสตร์ในความหมายที่เป็นแก่นที่สุด จึงหมายถึงการพัฒนาปัญญา เพื่อให้เข้าถึงอิสรภาพนี้ และวิชาต่างๆ ในศิลปศาสตร์ ก็เป็นองค์ประกอบด้านต่างๆ ของกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ แต่จะต้องปฏิบัติต่อวิชาศิลปศาสตร์อย่างถูกต้องด้วย การพัฒนาปัญญาจึงจะเกิดขึ้น และจึงจะได้ความรู้ตามเป็นจริง ที่จะนำไปสู่อิสรภาพได้

ศิลปศาสตร์เพื่อการพัฒนาปัญญาที่ได้ผล

เพราะฉะนั้น ความสามารถในการแสวงหาความรู้โดยเลือกรับข้อมูลให้ได้ความรู้จริงนี้ เป็นความสำคัญประการที่ ๑ ความสามารถในการคิดให้ชัดเจนในแต่ละเรื่องเป็นความสำคัญประการที่ ๒ และสุดท้าย ความสามารถในการโยงความรู้และความคิดแต่ละด้านเข้ามาหากันให้เกิดภาพรวมที่ชัดเจนเป็นความสำคัญประการที่ ๓ ที่จะต้องเน้นไว้ นี้เป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ ในส่วนที่เป็นแก่นเป็นแกนคือ การพัฒนาปัญญา

เรื่องนี้ได้พูดมา ๖ แง่ ๖ ด้านด้วยกัน มาถึงแง่สุดท้าย ก็เป็นแง่ที่เป็นแก่นและเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษาศิลปศาสตร์

ปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาศักยภาพนั้น ตัวแก่นตัวแกนอยู่ที่ปัญญา ยิ่งมาอยู่ในยุคของข่าวสารข้อมูลด้วยแล้ว ปัญญาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะปัญญาเป็นตัวทำงานต่อข่าวสารข้อมูล ตั้งแต่รับเข้ามา จนกระทั่งเอาออกไปใช้ อย่างถูกต้องสำเร็จผล

ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ข่าวสารข้อมูลได้เพิ่มขึ้นมามากมายอย่างท่วมท้น และแพร่ไปอย่างรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าคนไม่รู้จักปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ก็จะถูกข้อมูลนั้นท่วมทับครอบงำเอา ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ได้แล้วก็จะกลายสภาพเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือเป็นผู้ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล เช่นเดียวกับที่เป็นผู้ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง

ในทางที่ถูก เราจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการศึกษา ให้ตัวเรากลายมาเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล รวมทั้งเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง ให้ถึงขั้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น ในขณะที่สังคม กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล และก็ปรากฏว่า มีความไม่พร้อมเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลดังกล่าว โดยมีปัญหาต่างๆ มากมาย เนื่องจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้าการศึกษาศิลปศาสตร์ จะเพียงแค่มาช่วยให้คนยุคปัจจุบันมีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทั้งในการผลิต นำเสนอ หรือเผยแพร่ และในการรับ บริโภค หรือใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักเลือกคัด ประมวล จัดสรร รู้จักวิเคราะห์สืบสาว สามารถคิดได้ชัดเจน และมองเห็นรอบด้าน ด้วยอาศัยแรงจูงใจใฝ่รู้แจ้งจริง ใฝ่สร้างสรรค์ และด้วยการใช้ปัญญา ที่มุ่งจะเข้าถึงความจริงแท้โดยซื่อตรง และที่จะใช้ความรู้ในความจริงนั้นสร้างประโยชน์สุข ด้วยความปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง ถ้าทำได้แม้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าการศึกษาศิลปศาสตร์ได้ทำหน้าที่ของมันแล้วอย่างสมคุณค่า และได้ทำประโยชน์แก่สังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แล้วอย่างคุ้มค่า

วิชาศิลปศาสตร์ ดังเช่น ปรัชญา เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้อง จะเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา ด้วยการฝึกให้รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการได้ผลตามความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์นั้น แต่บางที เราก็เผลอลืมการปฏิบัติเพื่อความมุ่งหมายนี้ไปเสีย เช่น เมื่อเรียนปรัชญา ก็มักจะมัวมุ่งแต่มองดูเขา ถกเถียงกัน หรือก้าวพรวดเข้าร่วมการถกเถียงด้วยท่าทีดังว่าตนได้เข้าร่วมกับฝ่ายโน้นหรือฝ่ายนี้ แทนที่จะหยิบยกเอาประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง และความคิดของผู้ถกเถียงมาวิเคราะห์สืบสาวอย่างทั่วถึงตลอดสาย และรอบด้าน ให้ได้ทั้งความเข้าใจชัดเจนในประเด็น การเข้าถึงความคิดของผู้ถกเถียงทุกฝ่าย พร้อมทั้งมีข้อเสนอทางความคิดที่แตกต่อออกไปใหม่ของตนเอง ซึ่งทำให้มีการพัฒนาปัญญาของตนเอง และทำให้เกิดพัฒนาการทางปัญญาของสังคม ไปพร้อมกับการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์

การศึกษาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาปัญญาในความหมายที่กล่าวมานี้ขึ้นให้ได้ จึงจะเป็นการเรียนการสอนที่ถูกต้อง และจึงจะบรรลุความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ แล้วเมื่อนั้น ความเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล ไม่ใช่ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล ความเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง มิใช่ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง จึงจะสำเร็จผลเป็นความจริงขึ้นได้


สาระและจุดหมายของศิลปศาสตร์

รากฐานร่วมของศิลปศาสตร์

เป็นอันว่า ในที่นี้ ขอพูดไว้ ๖ แง่ด้วยกัน ในเรื่องที่ว่าเรามองการศึกษาศิลปศาสตร์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่าสำคัญๆ ทั้งนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างไร ถ้ามีการศึกษากันอย่างถูกต้องแล้ว ศิลปศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้จะเป็นวิชาซึ่งทำหน้าที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ในแง่จุดหมายปลายทาง เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต และอย่างน้อยในระหว่างกระบวนการของการศึกษา ก็เป็นวิชาที่สร้างนักศึกษา

วิชาศิลปศาสตร์ทั้งหมด แม้จะมีหลายอย่าง ดังที่โบราณว่ามี ๑๘ ประการ หรือนับตามที่จัดแบ่งกันในปัจจุบันก็เกือบจะถึง ๑๘ ประการ ถ้าแยกย่อยออกไปเป็นรายวิชาก็เกินกว่า ๑๘ ประการ อย่างที่คณะศิลปศาสตร์นี้แยกเป็น courses ต่างๆ สงสัยว่าจะถึงหรือจวนถึง ๔๐ - ๕๐ courses นับว่ามากมายด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ศิลปศาสตร์ที่มากมายเหล่านั้นก็ต้องโยงมาบรรจบกันได้ โยงกันที่ไหน จุดรวมอยู่ที่อะไร ตอบว่า มันโยงมาหาและบรรจบกันที่รากฐานของมัน รากฐานของศิลปศาสตร์ทั้งหมดคืออะไร ก็คือ สัจจธรรม

โดยนัยนี้ ศิลปศาสตร์ ถึงจะแตกแขนงเป็นวิชาการต่างๆ มากมายหลายประการก็ตาม แต่ในที่สุดมันก็มารวมลงที่รากฐานของมันเป็นอันเดียว คือ การมีสัจจธรรมเป็นรากฐาน และดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สัจจธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา ดังนั้นหลักการทั้งหมดจึงมาบรรจบกัน ที่สิ่งซึ่งเป็นแก่นแท้ของการศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การที่จะต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ศิลปศาสตร์จนถึงรากฐานคือสัจจธรรม

ความสำเร็จของศิลปศาสตร์ อยู่ที่สัจจะ จริยะ และศิลปะ

เราพูดถึงรากฐานของศิลปศาสตร์ ว่าได้แก่สัจจธรรม เมื่อเรารู้สัจจธรรม ก็คือรู้สิ่งที่เป็นแกนและเป็นรากฐานของศิลปศาสตร์ ดังนั้น เมื่อศึกษาศิลปศาสตร์แต่ละอย่าง จึงต้องศึกษาให้ถึงแก่น ให้ถึงเนื้อตัว ให้ถึงสาระของมัน คือ ให้ถึงสัจจธรรม เมื่อรู้สัจจธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร เมื่อเกิดปัญญารู้ในสัจจธรรมแล้ว นำความรู้นั้นมาใช้ ก็ปฏิบัติต่อชีวิต ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบตัว ต่อธรรมชาติ ต่อสังคมโดยถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักความจริงธรรมดาว่า คนจะปฏิบัติต่อสิ่งใดได้ถูกต้องก็จะต้องรู้จักสิ่งนั้น เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลกถูกต้อง ต่อชีวิตถูกต้อง ต่อประสบการณ์ต่างๆ ต่อสถานการณ์ต่างๆ ถูกต้อง

การนำความรู้ในสัจจธรรมมาใช้ ซึ่งทำให้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั้นเอง คือ สิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม

อนึ่ง ในการที่ปฏิบัติอย่างนั้น การที่เรามีความถนัดจัดเจนคล่องแคล่วในการปฏิบัติ คือสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ ซึ่งแทรกอยู่ในศิลปศาสตร์ ความเป็นศิลปะในศิลปศาสตร์ ถ้าไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นก็ยากที่จะทำให้ศิลปศาสตร์นั้นเกิดผลที่ต้องการได้

ความเป็นศิลปะ ก็ดังได้บอกแล้วว่า ได้แก่ ความถนัดจัดเจนแคล่วคล่อง ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ ดังนั้น คนที่มีศิลปะก็จึงสามารถที่จะนำเอาความรู้มาใช้ปฏิบัติให้เกิดผล ตรงข้ามกับคนบางคนซึ่งทั้งที่รู้แต่ไม่มีศิลปะ ทำแล้วก็ไม่เกิดผลที่ต้องการหรือไม่ได้ผลดี

ศิลปะนี้เป็นตัวแทรกสำคัญ สำหรับใช้คู่กันกับจริยธรรม จริยธรรมเป็นตัวการนำความรู้มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตตามวัตถุประสงค์ ส่วนศิลปะก็คือความแคล่วคล่องชำนิชำนาญจัดเจนในการปฏิบัติ ที่จะให้การใช้ความรู้สำเร็จผลอย่างนั้น

แต่จะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ศิลปะนั้นจะต้องให้มาคู่กันกับจริยธรรม หรือจะต้องให้มีจริยธรรมมาด้วยเสมอไป คือ จะต้องใช้ศิลปะโดยมีจริยธรรมกำกับ หรือให้ศิลปะเป็นเครื่องเสริมจริยธรรมนั่นเอง เพราะถ้าใช้ศิลปะโดยไม่มีจริยธรรม ความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายของวิชาการนั้นๆ หรือกิจกรรมนั้นๆ แต่อาจจะถูกใช้ให้บิดเบือนเบี่ยงเบนจากความมุ่งหมายแท้จริง ที่เป็นสัจจธรรมกลายเป็นการกระทำเพื่อสนองความเห็นแก่ตัว และเพื่อการทำลายในรูปต่างๆ ที่พูดสั้นๆ ว่า เพื่อสนองโลภะ โทสะ และโมหะ หรือตัณหา มานะ และทิฏฐิไปก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ศิลปศาสตร์จะสำเร็จประโยชน์ตามความหมาย ตามเนื้อหาสาระ และตามความมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิผล ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาจนเข้าถึงสัจจธรรม แล้วปฏิบัติถูกต้องโดยเป็นไปตามจริยธรรม และลงมือจัดทำอย่างมีศิลปะ

ขอพูดถึงจริยธรรมอีกนิดว่า จริยธรรมเป็นแกนร้อยประสาน นำทางศิลปศาสตร์ทั้งหมดให้ดำเนินไปสู่จุดหมาย เพราะว่าจริยธรรมเป็นตัวทำการที่นำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม การที่จะนำความรู้ในสัจจธรรมมาปฏิบัติ ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นแหละ เป็นแกนร้อยประสานศิลปศาสตร์ทุกวิชาเข้าด้วยกัน

หมายความว่า ศิลปศาสตร์ทั้งหมดมีแกนร้อยอันเดียวกัน คือการปฏิบัติให้ถูกต้องในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม ซึ่งก็คือจริยธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนั้น จริยธรรมจึงเป็นตัวนำทิศทางของศิลปศาสตร์ทั้งหมด นี้คือความสำคัญของจริยธรรม ส่วนศิลปะก็แทรกอยู่ในนี้

ผู้บรรลุจุดหมายหรือผลผลิตสุดท้ายของศิลปศาสตร์

เมื่อรู้ความจริง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามความรู้นั้น และมีความแคล่วคล่องจัดเจนในการปฏิบัติ ก็ได้ผลที่ต้องการ ศิลปศาสตร์ก็อำนวยคุณค่าที่แท้จริง คือ แก้ปัญหาของมนุษย์ และแก้ปัญหาของสังคมได้ ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นมา พ้นปัญหา พ้นทุกข์ ประสบความสุข มีอิสรภาพ การที่มนุษย์เข้าถึงอิสรภาพนี้แหละ เป็นจุดหมายขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้และสูงสุดที่ต้องการของชีวิต

สาระสำคัญ ๓ อย่างที่กล่าวมานี้คือ คุณสมบัติของบัณฑิต คนที่ศึกษาจบจริงๆ จะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ

๑. มีปัญญา รู้ถึงสัจจธรรม

๒. ใช้ความรู้นั้นดำเนินชีวิต โดยปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมด้วยจริยธรรม โดยมีศิลปะ และ

๓. เข้าถึงจุดหมายของชีวิต คือแก้ปัญหาได้ พ้นทุกข์ พ้นปัญหา ประสบอิสรภาพ

คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ประกอบกันเข้าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นบัณฑิตที่แท้ บัณฑิตนี้เราเรียกอีกอย่างหนึ่งในขั้นที่สูงว่าเป็น “พุทธ” ในพระพุทธศาสนา คำว่า “บัณฑิต” นั้นบางครั้งเป็นศัพท์ใช้แทนกันได้กับคำว่า “พุทธ” ผู้ที่เป็นบัณฑิตที่แท้จริงก็เป็นพุทธด้วย คำว่าพุทธนั้น ไม่ใช่ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น พุทธนั้นแบ่งเป็น ๓ ประเภทก็ได้ เป็น ๔ ประเภทก็ได้

๑. ผู้ที่ค้นพบสัจจธรรมได้ด้วยตนเอง ด้วยปัญญาของตนเอง ด้วยการพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง จนเข้าถึงสัจจธรรมด้วยตนเอง และเมื่อค้นพบแล้วก็ประกาศสัจจธรรมนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เราเรียกว่า “พระสัมมาสัมพุทธ”

๒. ผู้ที่ค้นพบด้วยตนเองแล้ว ไม่ได้ทำหน้าที่ในการที่จะเผยแพร่สั่งสอนแก่ผู้อื่น เราเรียกว่า “ปัจเจกพุทธ”

๓. ผู้ที่รู้ตามเมื่อเข้าใจคำสอนคำประกาศของพระสัมมาสัมพุทธแล้ว ก็เป็นพุทธเหมือนกัน เรียกว่า “สาวกพุทธ” หรือ “อนุพุทธ” คือผู้ตรัสรู้ตาม และ

๔. บางครั้งท่านเรียกแม้แต่คนที่ยังศึกษาอยู่ ยังไม่หมดกิเลส แต่มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธประกาศไว้เป็นอย่างดี ว่าเป็นพุทธประเภทหนึ่ง เรียกว่า “สุตพุทธ” จัดเป็นบัณฑิต แล้วก็จะพัฒนาไปเป็นพุทธที่แท้ในที่สุดได้ด้วย

นี่ก็เป็นความหมาย ที่มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง ของหัวข้อที่พูดไว้แต่เบื้องต้นจนถึงข้อสุดท้าย การเรียนการสอนศิลปศาสตร์ จะเป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริงจนปรากฏคุณค่า และให้สำเร็จผล ตามวัตถุประสงค์ของความเป็นศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง ก็ด้วยวิธีการศึกษา โดยมีความเข้าใจดังที่กล่าวมานั้น

ศิลปศาสตร์นำสู่รุ่งอรุณของการศึกษา

เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้องแล้ว แม้จะเป็นการเรียนการสอนที่เรียกว่าขั้นพื้นฐานหรือเป็นชั้นเบื้องต้น แต่ที่จริงแล้วกลับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะเป็นการศึกษาที่จะอำนวยผล มีอิทธิพลต่อการเรียนวิชาที่เรียกว่าชั้นสูงต่อไปโดยตลอด

ถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมไว้ดี ด้วยศิลปศาสตร์แล้ว เราจะไม่เป็นผู้พร้อมและไม่มีทัศนคติที่ถูกต้อง ในการที่จะไปศึกษาเล่าเรียนวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ เช่น มีแรงจูงใจที่ผิดในการศึกษา ไม่ศึกษาไปเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อพัฒนาสังคม แต่ศึกษาไปสนองเพิ่มความเห็นแก่ตัว ศึกษาโดยขาดความใฝ่รู้ศึกษาโดยไม่รู้วิธีคิด ศึกษาโดยคิดไม่เป็น ศึกษาโดยเรียนไม่เป็น ศึกษาโดยไม่รู้จักค้นคว้าหาความแจ้งจริง กลายเป็นการศึกษาที่ผิดพลาดไป และไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ไม่นำไปสู่การที่จะรู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ตลอดจนนำความรู้วิชาชีพ และวิชาเฉพาะที่เป็นอุปกรณ์นั้น ไปใช้ในทางที่ผิดพลาด เป็นโทษแก่ชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ศิลปศาสตร์จึงมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะเรียน ทำให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการเรียน และทำให้สามารถใช้วิชาที่เป็นอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์ที่ศึกษาอย่างถูกต้อง วิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาชีพและวิชาเฉพาะที่เรียกว่าชั้นสูงนั้น ก็จะไม่เกิดผลเกิดคุณค่าอำนวยประโยชน์อย่างแท้จริง บางทีก็อาจจะเกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมดังที่ได้กล่าวมา

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดขึ้น และเป็นเครื่องวัดผลการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์เองด้วย ว่าได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องนั้น แม้จะได้กล่าวถึงไปแล้วบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่มีโอกาสจะแจกแจงอธิบายในที่นี้ได้ จึงจะแสดงไว้เพียงเป็นเรื่องแทรก และระบุไว้แต่เพียงหัวข้อ พอเป็นเชื้อสำหรับการวิเคราะห์และค้นคว้าต่อไป

ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษานี้ เป็นหลักธรรมที่เรียกชื่อว่า รุ่งอรุณของการศึกษา แต่เพราะมิใช่จะเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการศึกษาเท่านั้น ยังเป็นความพร้อม และท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อคน ต่อสัตว์ ต่อสิ่งทั้งหลายทั่วไปทั้งหมดด้วย จึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม แสดงไว้แต่เพียงหัวข้อ ๗ ประการ ดังนี้

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี คือ การรู้จักเลือกสรรและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเอื้ออำนวยความรู้จริงและการสร้างสรรค์ความดีงาม

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย คือ มีวินัยในการดำเนินชีวิต หรือรู้จักจัดระเบียบชีวิต เช่น รู้จักใช้เวลาแบ่งเวลา รักษาวินัยของชุมชนและสังคม และรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมให้เรียบร้อยเกื้อกูล รวมทั้งความประพฤติดีงามสุจริต ไม่เบียดเบียนก่อเวรภัยแก่สังคม เรียกสั้นๆ ว่า มีศีล

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ การรักความจริง รักความดีงาม ที่แสดงออกเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ คือ มีความมั่นใจในศักยภาพของตนที่พัฒนาได้ หรือในฐานะเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีจิตสำนึกในการศึกษา มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มที่จนถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพ

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล คือ มีความเชื่อถือ แนวความคิดความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ ดีงามถูกต้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ตื่นตัว และกระตือรือร้นในการเรียนรู้พัฒนาตน และเร่งรัดจัดทำการต่างๆ ไม่ปล่อยปละละเลย หรือเฉื่อยชา เรียกง่ายๆ ว่า ไม่ประมาท

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก รู้จักมองหาคุณค่าและเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ สถานการณ์ และประสบการณ์ทุกอย่าง คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัยให้เข้าถึงความจริง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และก็เป็นหน้าที่ของการศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา ที่จะต้องสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ หรือรุ่งอรุณของการศึกษานี้ ให้มีขึ้นในผู้เรียน ซึ่งก็คือการสร้างความเป็น นักศึกษา นั่นเอง และคุณสมบัติที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาเหล่านี้ทั้งหมด ก็มีจุดรวมอยู่ที่การพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญาเป็นแกนกลางของการปลูกฝังคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด

ถ้าหันหลังย้อนไปดูความหมาย และความมุ่งหมายของ Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ ตามที่ปราชญ์กรีกสมัยโบราณได้แสดงไว้ จะเห็นว่า ถ้าตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นของปราชญ์กรีกออกไปแล้ว แนวความคิดทั่วไปจะสอดคล้องกัน เข้ากันได้กับเนื้อหาสาระที่ได้กล่าวมาในที่นี้ คือ ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญาและยกระดับจิตใจของผู้เรียน ทำให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม

สำหรับความหมาย ในด้านที่เป็นการแบ่งแยกชนชั้น ดังที่ปราชญ์กรีกว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาการสำหรับเสรีชน ตรงข้ามกับวิชาประเภทแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นวิชาการสำหรับชนชั้นข้าทาสนั้น ก็อาจจะดัดแปลงเสียใหม่ โดยตัดความคิดเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นออกไปเสียทั้งหมด แล้วให้ความหมายที่เป็นไปตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่า อิสรภาพเป็นจุดหมายของชีวิต

เมื่อตกลงตามนี้แล้ว ก็จะได้ความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับหลักธรรมว่า ทุกคนควรจะพัฒนาตนให้เข้าถึงอิสรภาพ ซึ่งพูดให้เข้ากับคำศัพท์ที่ใช้ในที่นี้ว่า ทุกคนควรพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน

เสรีชน ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หมายถึงบุคคลทุกคนที่ได้พัฒนาปัญญา จนบรรลุจุดหมายสูงสุดเข้าถึงอิสรภาพแล้ว ซึ่งเรียกว่าเป็น บัณฑิต ในความหมายว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือในขั้นสูงสุด เรียกว่าเป็น พุทธ ในความหมายว่า เป็นผู้เข้าถึงปัญญาอันสูงสุดเต็มบริบูรณ์แห่งการพัฒนาศักยภาพ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเป็นเสรีชนที่แท้จริง เพราะได้บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์

ศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้ เป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่ง คือเป็นวิชาการสำหรับคนทุกคน ที่จะได้ศึกษาเพื่อพัฒนาตนให้เป็นเสรีชน หรือเป็นบุคคลผู้เข้าถึงอิสรภาพ และศิลปศาสตร์ในความหมายอย่างนี้แหละจะเป็นศิลปศาสตร์ที่มีความหมาย และความมุ่งหมายสมบูรณ์ ตามหลักแห่งพุทธธรรม

ในที่นี้อาจให้ความหมายแบบประมวลความ ซึ่งเป็นการประสานแนวความคิดของตะวันตก เข้ากับหลักแห่งพุทธธรรมได้ดังนี้ว่า

ศิลปศาสตร์ คือวิชาการที่ต้องใช้ความสามารถทางสติปัญญา เป็นเครื่องพัฒนาสติปัญญา และยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้เข้าถึงอิสรภาพเป็นเสรีชน ผู้เพียบพร้อมด้วยความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและจริยธรรม ซึ่งจะเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง

ความผิดพลาดของอดีตที่รอการแก้ไข

ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ถือกันว่าโลกได้เจริญเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาอย่างสูง แต่สังคมก็ประสบปัญหาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงยิ่งกว่าแต่ก่อน จนถึงกับกล่าวกันว่า สังคมมนุษย์เดินทางผิดพลาด การพัฒนาล้มเหลว และอารยธรรมของมนุษย์ติดตัน ปัญหาและความเสื่อมโทรมต่างๆ ที่เกิดมีในยุคที่พัฒนามากแล้วนี้ รุนแรงถึงขนาดที่อาจนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศสูญสิ้นก็ได้ นับเป็นภัยที่ร้ายแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

การที่การพัฒนาผิดพลาดล้มเหลว ย่อมหมายถึงความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการทั้งหลายด้วย และความผิดพลาดล้มเหลวของวิชาการต่างๆ ก็บ่งชี้ไปถึงความผิดพลาดล้มเหลวของการศึกษา และถ้าการศึกษาที่ผ่านมาผิดพลาดล้มเหลว การศึกษาศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั้งหลายก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงทีเดียว จึงจะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบสภาพการเรียนการสอนศิลปศาสตร์กันใหม่ จะต้องมีการปรับปรุงการศึกษา และการปรับปรุงในวงการทางวิชาการโดยทั่วไป ตลอดจนระบบและกระบวนการพัฒนาสังคมทั้งหมด

ดังเป็นที่ยอมรับกันแล้วในระดับโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้เริ่มต้นความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนาใหม่แล้ว โดยได้ประกาศตามข้อเสนอขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ UNESCO ให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม (World Decade for Cultural Development)

สหประชาชาติได้แถลงถึงความผิดพลาด ของการพัฒนาในสมัยที่ผ่านมา ซึ่งได้มุ่งความขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ ในกระบวนการพัฒนา และประกาศให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาใหม่ โดยให้ยึดวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

จุดที่น่าสนใจในที่นี้ คือตัวเหตุปัจจัยว่า อะไรเป็นจุดอ่อน เป็นข้อบกพร่อง ที่ทำให้การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้ผิดพลาดไป จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

ในที่นี้ ขอเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่สำคัญในวงวิชาการ และในกระบวนการพัฒนา ที่การศึกษาจะต้องตรวจสอบและปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานทั่วไปจะต้องรับผิดชอบ และควรจะเข้ารับบทบาทเป็นผู้นำในการแก้ไขปรับปรุง

จุดอ่อน และข้อบกพร่องสำคัญของยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาจะต้องรู้เข้าใจและแก้ไขปรับปรุง ที่เป็นข้อสำคัญขอเสนอไว้ดังนี้

๑. วิชาการทั้งหลายที่มากมายนั้น เป็นเหมือนกิ่งก้านที่แตกออกจากลำต้นหนึ่งเดียว และมีรากเหง้าเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวว่ามีรากฐานเดียวกันคือ สัจจธรรม การที่แตกแขนงออกไป ก็เพื่อเจาะลึกความจริงให้ชัดเจนลงไปในแต่ละด้าน จะได้ทำหน้าที่หรือทำงานเช่นแก้ปัญหาแต่ละด้านๆ นั้นได้เต็มที่ แต่จะต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอว่า การที่จะให้ได้ความจริงเป็นสัจจธรรมที่สมบูรณ์ และแก้ปัญหาของมนุษย์ได้แท้จริง วิชาการเหล่านั้น จะต้องเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันและประสานงานกัน อย่างที่เรียกว่าแยกแล้วโยง เพราะวัตถุประสงค์เดิมแท้ในการแยกออกไป ก็เพื่อช่วยกันหาความจริงด้านต่างๆ มาประกอบเป็นภาพรวมของความจริงที่สมบูรณ์

แต่ในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า หรือการพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อวิชาการต่างๆ แตกแขนงออกไปแล้ว ก็มุ่งดิ่งตรงไปข้างหน้าในด้านของตนๆ มีความก้าวหน้าไปไกลมากในแต่ละด้าน ทำให้พรมแดนแห่งความรู้ขยายกว้างออกไปมากมาย พร้อมกับที่กิจการของมนุษย์ ซึ่งสนองรับความรู้ของวิชาการด้านนั้นๆ ไปใช้ทำงาน ก็ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านของตนออกไปอย่างรวดเร็วและน่าอัศจรรย์ จนมีลักษณะเด่นที่เรียกว่า เป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง

แต่ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้า แบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางนั้น มนุษย์แทบไม่รู้ตัวว่า หลักการเดิมข้อใหญ่ได้ถูกละเลย มองข้าม หรือหลงลืมไป คือการแยกเพื่อโยงให้เห็นชัดเจนสมบูรณ์ วิชาการและกิจการที่เนื่องกันกับวิชาการเหล่านั้น มองความจริงและดำเนินกิจกรรมมุ่งเฉพาะแต่ในด้านของตนๆ ไม่มาเชื่อมโยงบรรจบและไม่ประสานงานกัน

มนุษย์มาเริ่มรู้ตัวถึงความผิดพลาดขึ้นในขณะนี้ ก็เพราะได้เกิดปัญหามากมาย และร้ายแรง เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าเฉพาะด้านที่ติดตันทั้งในด้านการที่จะเข้าถึงความรู้จริงในสัจจธรรม และในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมมนุษย์ เพราะวิชาการเฉพาะด้าน แต่ละอย่างมองเห็นความจริงเฉพาะในแง่ด้านนั้นๆ และในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น ไม่ทั่วตลอด

เมื่อมองเห็นความจริงไม่รอบด้าน ก็ไม่ได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริง คือไม่เข้าถึงสัจจธรรม และกิจการที่เนื่องกับวิชาการเหล่านั้น เมื่อปฏิบัติไปตามความรู้ของวิชาการนั้น ให้สำเร็จผลในด้านของตนตามประสงค์ แต่ไม่รู้ตัวว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง ที่เป็นโทษในด้านอื่นที่นอกขอบเขตความรู้หรือความสนใจของตน ล้ำเข้าไปในแดนของวิชาการและกิจการอื่นๆ อย่างน้อยการแก้ปัญหาก็เป็นเพียงการแก้เป็นจุดๆ หย่อมๆ ไม่ครบ ไม่ทั่วถึง แก้ปัญหาไม่หมด ก็คือแก้ปัญหาไม่สำเร็จแท้จริง หรือแก้ด้านนี้ แต่กลายเป็นก่อปัญหาใหม่ด้านโน้น สร้างสรรค์ด้านหนึ่งเฉพาะหน้าในวงแคบ แต่กลายเป็นทำลายอีกด้านหนึ่งในวงกว้างและระยะยาว

ปัจจุบันนี้ วิชาการเฉพาะอย่างเหล่านั้นเจริญก้าวหน้าถึงขีดสูงสุด สภาพที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้ก็ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาและรุนแรง จนมนุษย์ในสังคมที่พัฒนาแล้วต้องหันมาทบทวนตรวจสอบวิชาการ และกิจการต่างๆ ของตน และเริ่มพบสาเหตุดังได้กล่าวมานั้น และเกิดความตื่นตัวขึ้นในบางกลุ่มบางแห่งที่จะหาหนทางใหม่ในการแสวงหาความรู้และดำเนินกิจการต่างๆ ดังเช่นที่แนวความคิดแบบองค์รวม (holism) ได้เฟื่องฟูขึ้น

ในสภาพเช่นนี้ ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน เป็นศูนย์รวมของวิชาการต่างๆ ควรจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานวิชาการและกิจการต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความรู้สมบูรณ์ที่เป็นสัจจธรรม และสามารถแก้ปัญหาสร้างสรรค์ความเจริญที่กลมกลืนและสมดุล ไม่ก่อผลกระทบในทางร้ายพ่วงมาในรูปต่างๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศิลปศาสตร์โดยพื้นเดิมอยู่แล้วที่จะมีบทบาทเช่นนี้ ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับสัจจธรรม

๒. ในยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านที่ว่ามานั้น แม้แต่จริยธรรมก็ได้ถูกมองให้เป็นวิชาการอย่างหนึ่ง และเป็นกิจกรรมประเภทหนึ่ง ต่างหากจากวิชาการและกิจการอย่างอื่นๆ แทนที่จะเข้าใจตามเป็นจริงว่า จริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ติดอยู่ด้วยกัน หรือซึมซ่านอยู่ในวิชาการและกิจกรรมทุกอย่างและทุกขณะของมนุษย์ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับน้ำเลี้ยงในต้นไม้ที่ซึมซ่านไปหล่อเลี้ยงกิ่งก้านทุกส่วนของมัน ดำรงความมีชีวิตของต้นไม้นั้นไว้ หรือพูดให้ถูกต้องตรงแท้กว่านั้นอีก ก็คือ การเจริญเติบโต และทำหน้าที่อย่างถูกต้องขององค์ประกอบแต่ละส่วนของต้นไม้ ที่ทำให้ต้นไม้นั้นมีชีวิตงอกงามอยู่ต่อไป

จริยธรรม ก็คือ อาการของการกระทำ หรือลักษณะของการปฏิบัติในวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ที่ถูกต้องดีงามตรงตามคุณค่าของมันนั่นเอง จึงไม่อาจแยกออกต่างหากจากวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ได้

อย่างน้อยที่สุดหรืออย่างพื้นฐานที่สุด จริยธรรมก็คือการปฏิบัติในเรื่องของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ ในทางที่จะให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม ตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ เช่น วิชาการแพทย์มีความมุ่งหมายเพื่อบำบัดโรค ช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคมีสุขภาพดี จริยธรรมในกรณีนี้ก็คือ การปฏิบัติของแพทย์หรือปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่มุ่งช่วยให้คนเจ็บไข้หายโรคและมีสุขภาพดี ความขาดจริยธรรมเกิดขึ้นเมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ใช้วิชาการแพทย์เป็นเครื่องมือมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทำลายผู้อื่นในรูปใดรูปหนึ่ง

จริยธรรมเป็นตัวคุม และเป็นเครื่องนำทางให้วิชาการและกิจการนั้นๆ เกิดผลดีตามความมุ่งหมายของมัน หรือเป็นตัวการปฏิบัติ ที่ทำให้ความรู้ในสัจจธรรมเกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นคู่กันกับสัจจธรรม และเมื่อคู่กับสัจจธรรม ก็คู่กับวิชาการต่างๆ ทุกอย่างที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมด้วย

ในยุคที่ผ่านมา สังคมประสบปัญหาอย่างหนักเนื่องจากการปฏิบัติ ที่ไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายที่แท้ของวิชาการหรือกิจการนั้นๆ วิชาการและกิจการต่างๆ ถูกบิดเบนไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ สนองความเห็นแก่ตัวบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือเบียดเบียนทำลายกันบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาบ้าง

การที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ จะต้องกำจัดความผิดพลาดของอดีตในข้อนี้ให้ได้ คือจะต้องเข้าใจความหมายของจริยธรรมให้ถูกต้อง และให้การศึกษาชนิดที่สร้างสรรค์จริยธรรมขึ้นมาผนึกผสานไว้ด้วยในเนื้อตัวของวิชาการทั้งหลาย เพื่อคุมและนำทางให้การปฏิบัติในเรื่องของวิชาการนั้นๆ เป็นไปเพื่อผลดีตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของมัน การศึกษาส่วนที่จะทำหน้าที่นี้โดยตรง ก็คือ ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม

๓. ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น มักถูกมองแยกต่างหากจากกัน ในลักษณะที่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องตรงกันข้าม เป็นคู่แข่งแย้งกัน ไปด้วยกันไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง หรือจะต้องแย่งชิงกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่จะคอยเพ่งจ้องเอาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ระแวงระวังกลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ กลัวผลประโยชน์จะถูกแย่งชิงไป ตลอดจนมีความคิดที่จะกีดกันผู้อื่นออกไป เป็นการเสริมย้ำความรู้สึกเห็นแก่ตัวให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อาการที่เป็นอย่างนี้ เกิดจากความขาดการศึกษาที่จะทำให้รู้ตระหนักถึงความจริงที่ลึกลงไป ซึ่งเป็นพื้นฐานยิ่งกว่านั้นว่า ทั้งตนและผู้อื่นนั้นมีจุดรวมร่วมกัน คือความเป็นชีวิต หรือแม้แต่แคบเข้ามาคือความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ที่เป็นคุณค่าแท้จริงนั้นคือประโยชน์ที่เกื้อกูลแก่ชีวิต ประโยชน์ต่อชีวิตเป็นประโยชน์อย่างเป็นกลางๆ เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ประโยชน์ของชีวิต ทำให้ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เนื่องอยู่ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตย่อมเกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ในแง่นี้ สิ่งที่เป็นผลดีแก่ตนเอง ก็เป็นผลดีแก่ผู้อื่นด้วย คือดีสำหรับชีวิตของเขา ก็ดีสำหรับชีวิตของเราด้วย

ประโยชน์แก่ชีวิต หรือประโยชน์แก่มนุษย์อย่างนี้ เป็นประโยชน์พื้นฐานที่มีคุณค่าเสมอกัน ทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น การศึกษาที่แท้จริงมุ่งให้คนเข้าถึงประโยชน์อย่างนี้ และให้ช่วยกันสร้างสรรค์ส่งเสริมประโยชน์อย่างนี้ ซึ่งเป็นสาระของระบบความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ส่วนประโยชน์ตนและประโยชน์ของคนอื่น ชนิดที่เป็นการแบ่งแยก ต้องแย่งต้องแข่งกันนั้น เป็นเรื่องที่ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังใน ๒ ระดับ เพื่อรักษาไว้ ซึ่งระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเกื้อกูลกันนั้น

ระดับที่ ๑ คือ ระดับประโยชน์ซ้อน หรือประโยชน์ชั้นนอก พยายามไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตน เป็นไปโดยขัดแย้ง หรือกระทบกระทั่งบั่นทอนทำลายประโยชน์ของผู้อื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ และ

ระดับที่ ๒ ที่สำคัญกว่านั้น คือระดับประโยชน์พื้นฐาน จะต้องไม่ให้การแสวงหาประโยชน์ตนนั้น เป็นการทำลายก่อความเสียหายต่อประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ จะเป็นไปอย่างพอดี ไม่สุดโต่ง ก็ต่อเมื่อเป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา โดยมีความรู้เท่าทันธรรมดาแห่งโลกสันนิวาสประกอบอยู่ด้วย

คนที่เข้าใจตระหนักในเรื่องประโยชน์ของชีวิตหรือประโยชน์ของมนุษย์ที่เป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว จะสามารถเข้าใจได้ต่อไปถึงระบบความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกันในวงกว้างออกไป ที่เป็นระบบใหญ่ครบถ้วนสมบูรณ์ คือจะรู้ตระหนักถึงความเป็นประโยชน์ที่เนื่องกัน และความประสานเกื้อกูลอย่างอิงอาศัยกันระหว่างชีวิตกับสังคม และกับธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อใดคำนึงถึงประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์อย่างเป็นกลางๆ เมื่อนั้นก็จะได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น พร้อมกันไปอย่างเป็นอันเดียว โดยไม่มีการแบ่งแยก และพร้อมกันนั้น ประโยชน์ของชีวิต หรือประโยชน์ของมนุษย์ ก็จะโยงไปหาสังคมและธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม และประโยชน์ของธรรมชาติแวดล้อมด้วย เพราะมองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและมีผลกระทบต่อกัน แล้วมนุษย์ก็จะมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่เป็นประโยชน์พื้นฐาน คือประโยชน์ร่วมกันของระบบความสัมพันธ์ของชีวิต สังคม และธรรมชาติทั้งหมด

มนุษย์จะมีความรู้เข้าใจว่า การรักษาและส่งเสริมประโยชน์พื้นฐาน เป็นการทำให้เกิดผลเกื้อกูลแก่องค์ประกอบทุกส่วน ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่นั้น ทำให้ทั้งระบบและทุกองค์ประกอบดำรงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้มาก และเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาร้ายแรงที่สังคมและโลกทั้งหมดกำลังประสบอยู่ ดังที่ได้เริ่มตื่นตัวรู้กันขึ้นแล้ว และเป็นปัญหาซึ่งการศึกษาที่แท้จะต้องเป็นเจ้าบทบาทในการแก้ไข วิชาการที่จะทำให้การศึกษาส่วนนี้ทำหน้าที่สำเร็จผลได้ก็คือ วิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนั่นเอง ข้อนี้ก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมอีกอย่างหนึ่ง

คำฝากแด่อาจารย์ศิลปศาสตร์

ศิลปศาสตร์ ที่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน ก็เพราะเป็นที่รองรับไว้ซึ่งวิชาการอื่นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เรียกว่าวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ โดยเป็นหลักประกันที่จะให้วิชาการเหล่านั้นบังเกิดผลดี สมตามความมุ่งหมายที่มนุษย์ได้จัดให้มีวิชาการเหล่านั้นขึ้น และความเป็นพื้นฐานนั้น ยังมีความหมายต่อไปอีกด้วยว่า เป็นการแผ่กว้างออกไปอย่างทั่วถึง เพื่อทำหน้าที่ในการรองรับให้สำเร็จ เพราะสิ่งที่จะเป็นพื้นฐานรองรับสิ่งอื่นได้ ก็จะต้องแผ่ออกไปให้มีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอและทั่วถึง ที่จะให้สิ่งซึ่งตนเองรองรับนั้นตั้งอาศัยอยู่ และทำกิจของมันได้

ความแผ่กว้างทั่วถึงของศิลปศาสตร์ ที่เป็นวิชาพื้นฐานนี้ หมายถึง การแผ่ไปกว้างทั่วถึงเรื่องราวของโลกและชีวิตทั้งหมด ทั้งเรื่องของมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ทั้งความเป็นไปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งใกล้และไกล ทั้งภายในและภายนอก ทั้งเรื่องของตนเอง และเรื่องของผู้อื่น ทั้งเรื่องรูปธรรมและเรื่องนามธรรม ทั้งเรื่องวัตถุและเรื่องจิตใจ ฯลฯ กว้างขวาง หลากหลาย และมากมาย แต่ก็ไม่พร่ามัวสับสน เพราะมีหลักการที่เป็นทั้งแกนและเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตของการทำหน้าที่ ที่จะให้ภาพรวมที่กว้างขวางครอบคลุม และหยั่งลึกทั่วตลอด อันจะให้เกิดความชัดเจน ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมให้สำเร็จ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความโปร่งโล่ง ปลอดพ้นความบีบคั้นติดขัดคับข้อง บรรลุภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ขอย้ำในที่สุดว่า การเข้าถึงศิลปศาสตร์ ไม่ใช่การรู้วิชานั้นๆ แต่เพียงข้อมูล แต่ต้องเข้าถึงสาระของมัน เมื่อเข้าถึงสาระของศิลปศาสตร์แล้วก็จะทำให้เราไปศึกษาวิชาอื่นที่เรียกว่าวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างเข้าถึงสาระของวิชานั้นๆ ด้วย

ความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ อยู่ที่การประจักษ์แจ้งสัจจธรรม เกิดมีจริยธรรม และได้ความมีศิลปะ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้หลุดพ้นปลอดโปร่ง ไปถึงภาวะไร้ทุกข์ ประสบสันติสุขและอิสรภาพ

ดังนั้น เราจะต้องเรียนให้เข้าถึงสัจจธรรมโดยมีจริยธรรมและมีศิลปะ หรือพูดให้สั้นที่สุดว่า เรียนให้ได้สัจจะ จริยะ และศิลปะ เราจะไม่ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์และแม้วิชาต่างๆ ทั้งหลายอย่างเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา

ถ้าเรียนไม่เป็น ศิลปศาสตร์จะเป็นเพียงข้อมูลที่ไร้ชีวิตชีวา เป็นข้อมูลสำหรับเอามาท่องจำแล้วก็ไปถ่ายเทออกในเวลาสอบ เวลาเรียนก็ท่องไว้ จำข้อมูลเก็บไว้ รอไว้พอถึงเวลาสอบก็ไปถ่ายออก ก็จบ สอบผ่านไปแล้วก็เลิก อย่างนี้ศิลปศาสตร์ก็ไม่มีความหมาย

ศิลปศาสตร์จะเกิดคุณค่าที่แท้จริง ก็ต้องทำดังที่กล่าวมา จึงได้พูดแต่ต้นว่า การที่จะให้วิชาศิลปศาสตร์ เกิดผลที่แท้จริงแก่ผู้เรียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้สอนที่เข้าถึงวิชาศิลปศาสตร์อย่างแท้จริง คือสอนวิชาศิลปศาสตร์อย่างเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของมัน เข้าถึงเนื้อตัวสาระของศิลปศาสตร์แล้ว จึงจะเป็นผู้สามารถที่จะมาสร้างนักศึกษาได้ และทำให้นักศึกษาเหล่านั้นเติบโตพัฒนาขึ้นไป เป็นบัณฑิตในที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงได้พูดไว้ว่า “จะสอนวิชาชีพและวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์” ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวมานี้

จึงขอให้ผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลาย มาช่วยกันสอนวิชาศิลปศาสตร์ โดยทำคนที่เรียนให้เป็นนักศึกษา แล้วก็เติบโตพัฒนาขึ้นไป ถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นบัณฑิต แม้กระทั่งเป็นพุทธ ซึ่งเป็นเสรีชนที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ เพื่อจะได้บังเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขแก่บุคคล และสังคมตามวัตถุประสงค์

อาตมภาพได้พูดมา ในเรื่องวิชาศิลปศาสตร์ตามแนวพุทธ ก็เป็นเวลาพอสมควร คิดว่า ได้เสนอความคิดเห็นสำหรับประดับปัญญาบารมีดังที่ได้กล่าวมา ถ้าประดับดีก็เกิดความงาม ถ้าประดับไม่ดีก็กลายเป็นสิ่งรุงรัง แล้วแต่ว่าที่พูดมานี้จะทำให้งามหรือรุงรัง ถ้าหากเป็นสิ่งรุงรังก็ทิ้งไป ถ้าเป็นสิ่งที่งามก็นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เสริมปัญญาบารมีที่มีอยู่แล้วนั้นให้งดงามยิ่งขึ้น

ขอถือโอกาสนี้ อวยพรแด่ทุกท่าน ในฐานะที่วันนี้เป็นวันดีเป็นวันสิริมงคลของคณะศิลปศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีอายุครบ ๒๗ ปี รอดพ้นภยันตรายอุปสรรคทั้งหลาย และประสบความเจริญงอกงามสืบมา ขอให้คณะศิลปศาสตร์เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งกุศลเจตนา ความดีงาม และประโยชน์ทั้งหลายที่ท่านได้บำเพ็ญไปแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นบุญกุศล ที่จะเกิดผลงอกเงยแก่ชีวิตของนักศึกษาทั้งหลาย

ขอให้บุญกุศลเหล่านั้น จงอำนวยอานิสงส์ให้เกิดความสุขความเจริญแก่ทุกๆ ท่าน โดยประสบจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะทำหน้าที่เพื่ออำนวยวิชาศิลปศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา เพื่อสันติสุขของชีวิตและสังคม ตลอดกาลนาน เทอญ

1คำบรรยาย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ ครบรอบ ๒๗ ปี วันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๔ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง